Group Blog
 
 
เมษายน 2556
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
3 เมษายน 2556
 
All Blogs
 
ปกเกล้าปกกระหม่อม (2)


อังคารที่แล้วเป็นวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2556 ได้เล่าเรื่องของ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ผู้มีพระชนมชีพ

“ระหกระเหิน” ผันผวน มีขึ้นมีลง มีทุกข์มีสุข และอาภัพเป็นตอนแรก

ภาษาไทยคำว่า “อาภัพ” แปลว่าเคราะห์ร้ายตกทุกข์ได้ยาก

ลำบาก น่าเห็นใจ แต่ต้องไม่ลืมว่า

พระองค์ท่านทรงเป็นพระราชามหากษัตริย์

ถ้าว่าถึงพระราชอำนาจแล้วก็นับว่าทรงเป็น “สมบูรณาญาสิทธิราชย์”

หรือแอบโซลุทโมนากี ดังนั้นจะอาภัพอะไรกันนักหนา

คำตอบคือทรงเลือกที่จะอาภัพ ดีกว่าจะอยู่อย่างถูกตำหนิว่าอาธรรม์

ดังที่มีพระราชกระแสว่า “ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วก็เท่ากับเป็นตัวหุ่น

ช่วยเหลือคนพวกหนึ่งสำหรับกดขี่ราษฎร” และ “ถ้ารัฐบาล

ทำอะไรที่ไม่ถูกใจคน ข้าพเจ้าก็ถูกติเตียนว่า “ทำไมปล่อยให้ทำไปได้

ทำไมไม่ห้าม” ซึ่งเป็นของที่น่ารำคาญเต็มทน” และใครจะว่า

การต้องสละราชสมบัติและการเสด็จนิราศร้าง “บ้านเกิดเมืองนอน”

ไปประทับจนสวรรคตอยู่ในต่างแดนเป็นการเสื่อมพระเกียรติยศ

แต่ก็มีพระราชดำริแน่วแน่แล้วว่า “ข้าพเจ้ามีความเสียใจเป็นอย่างยิ่ง

ที่ไม่สามารถจะยังประโยชน์ให้แก่ประชาชน

และประเทศชาติของข้าพเจ้าต่อไปได้

ตามความตั้งใจและความหวังซึ่งรับสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ”

ดังนั้น “ไม่ควรดำรงอยู่ในราชสมบัติสืบต่อไปเพราะไม่มีประโยชน์”

ข้อนี้ถ้าพิจารณาแบบมองเหรียญว่ามี 2 ด้าน ก็อาจกล่าวได้ว่า

ทรงยอมที่จะอาภัพและเสื่อมพระเกียรติยศในขณะนั้นเพราะ

“ข้าพเจ้าเบื่อหน่ายต่อการเมืองเต็มที...ข้าพเจ้ารู้สึกว่าข้าพเจ้า

เป็นผู้ที่ต้องรับบาปรับความซัดทอดและรับผิดชอบโดย

ไม่มีอำนาจเลยที่จะเหนี่ยวรั้งการกระทำของรัฐบาล

หรือของรัฐสภามิได้เลย” สถานการณ์อย่างนี้ใครไม่โดนเข้าเอง

เห็นจะจินตนาการตามได้ยาก มีแต่คนที่เคยตกอยู่ใน “แรงเงา”

ถึงจะรู้ว่ามีทางเลือกจะจัดการกับตนเองอยู่ 3-4 ทางเท่านั้น คือ

1. ปล่อยว่างวางเฉยลอยตัวจะเป็นปูกรรเชียงไปเรื่อย ๆ

หรืออะไรก็แล้วแต่

2. สุขภาพจิตเสียเครียดหนักจนกลายเป็นคนล้มป่วยไปเลย

3. ปลิดชีพตนเองหนีปัญหา และ

4. อย่างนี้ต้องลาออก!

ผมไม่ต้องการจะสรุปว่าใครเป็น ต้นเหตุ ใครเป็นคนผิด

และใครเป็นคนถูก เพราะเรื่องอย่างนี้อาจมีข้อเท็จจริงที่คนรุ่นเราไม่รู้

ทั้งยังขึ้นอยู่กับการตีความประวัติ ศาสตร์ หลายเหตุการณ์

จึงมี “ช่องว่าง” “ความเข้าใจผิด” “ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์”

“การขาดการรอมชอมประนีประนอม” “การไม่มีกาวใจ” แทรกอยู่ด้วย

เรื่องจึงบานปลายจนกลายเป็นความแตกหัก แต่เมื่อพิจารณาจาก

การตัดสินพระทัยแล้วคงต้องใช้คำของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ

กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ที่ตรัสอย่างกัลยาณชนและละมุนละม่อม

สมเป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ที่รัฐบาลเองก็ยอมฟังว่า

“ปรากฏแน่ในพระหฤทัยว่ารัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

โดยมากรู้สึกแน่ใจว่าไม่จำเป็นต้องประนีประนอมต่อพระองค์

ไม่ว่าในเรื่องใด ๆ พอใจที่จะขัดพระราชดำริเสียทุกอย่าง...

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะมีอะไรเหลือนอกจากความขึ้งเคียดแก่กัน

อันเป็นธรรมดาที่พระมหากษัตริย์ขัดกับรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรนั้น

ไม่ว่าในประเทศใดย่อมไม่เป็นสิ่งดีสำหรับประเทศนั้น”

กโลบาย “ล้มเจ้า” จึงทำได้หลายอย่างดังที่เห็นได้ในหลายประเทศ

ไม่ใช่แค่เอาอาวุธออกมาขู่

แต่ยังรวมถึงการจ้วงจาบใส่ไคล้ดูหมิ่นดูแคลน

และการปล่อยให้เกิดความขัดแย้ง “ขึ้งเคียดแก่กัน”

จนฝ่ายหนึ่งทนไม่ได้อีกด้วย

รัชกาลที่ 7 ประสูติเมื่อวันพุธที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2436

เวลานั้นสมเด็จพระบรมชนกนาถ รัชกาลที่ 5 ครองราชย์มาแล้ว 25 ปี

เป็นปีฉลองรัชดาภิเษก สมเด็จพระบรมราชชนนียังทรงเป็น

พระนางเจ้า พระวรราชเทวี มีพระเชษฐภคินีคือพี่สาว

ร่วมพระครรภ์เดียวกัน 2 พระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพาหุรัดมณีมัย

และสมเด็จเจ้าฟ้าหญิง (ยังไม่มีพระนาม)

แต่ก็สิ้นพระชนม์แล้วทั้ง 2 พระองค์

มีพระเชษฐาร่วมพระครรภ์ 6 พระองค์ แต่สิ้นพระชนม์แล้ว 2

พระองค์คือสมเด็จเจ้าฟ้าชายตรีเพชรุตม์ธำรง

และสมเด็จเจ้าฟ้าชายศิริราชกกุธภัณฑ์ ขณะประสูติจึงเหลือพระเชษฐา

คือพี่ชายร่วมพระครรภ์เพียง 4 พระองค์

วันนั้นโหรไหนก็ไม่กล้าพยากรณ์ว่าวันหนึ่งพระองค์ท่าน

จะได้เป็นพระมหากษัตริย์ เพราะตามกฎเกณฑ์การสืบราชสมบัติแล้ว

พระเชษฐาทั้ง 4 พระองค์ล้วนมีสิทธิก่อน

และถ้าพระองค์ใดสิ้นพระชนม์ไปก่อน

พระโอรสของพระเชษฐาพระองค์นั้นลงไปอีก 1 ชั้น

ยังจะขึ้นมามีสิทธิแทนที่ก่อนจะย้อนไปถึงพระเชษฐาพระองค์ถัดไป

แล้วเมื่อใดราชสมบัติจึงจะตกมาถึง “น้องนุชสุดท้อง” ได้เล่า

นี่ยังไม่ว่าถึงพระสุขภาพของพระองค์เอง

ซึ่งประชวรออด ๆ แอด ๆ มาตลอด

เมื่อประสูตินั้น รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานพระนามว่า

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ชเนศร

มหาราชาธิราช จุฬาลงกรณนาถวโรรส อุดมยศอุกฤษฐศักดิ์

อุภัยปักษนาวิล อสัมภินชาติพิสุทธิ์ มหามกุฎราชพงศบริพัตร

บรมขัตติยมหารัชฎาภิษิณจนพรรโษทัย มงคลสมัยสมากร

สถาวรวรัจฉริยคุณ อดุลยราชกุมาร ทรงศักดินา 40,000

พระนามยาว ๆ เช่นนี้เป็นธรรม เนียมของการตั้งชื่อสมัยก่อน

ไม่ได้มีเจตนาจะให้จำยากและไม่ควรมีใครอุตริจำ เพราะเอาเข้าจริง

ก็ไม่มีใครเรียกจนจบครบทุกวรรคตอนหรอกครับ แต่เขาต้องการ

จะสรุปเอาคุณลักษณะทั้งหลายและความคาดหมายทำนองให้ศีลให้พร

แก้เคล็ดเอาไว้ในชื่อเท่านั้น เคยเห็นพระนามทรงกรมของ

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีคำที่แปลว่าเป็น “ไกด์ทัวร์”

“นักประวัติศาสตร์” “นักโบราณคดี” “นักปกครอง” อยู่ด้วย

ซึ่งถูกกับพระนิสัยและความถนัด แม้แต่พระนามของสมเด็จ

เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ก็มีคำที่แปลได้ว่า

“เป็นลูกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

(จุฬาลงกรณ์)” “เป็นผู้ที่เกิดมาในตระกูลบริสุทธิ์

ที่มีพ่อและแม่ทั้งสองฝ่ายเป็นเจ้า”

“ประสูติมาในมหามงคลสมัยที่พระบรมราชชนกครองราชย์ได้ 25 ปี”

“เป็นผู้มีสติปัญญาฉลาดหลักแหลมอย่างยั่งยืนมั่นคง”

พระนามยาว ๆ อย่างนี้ชาววังเรียกสั้น ๆ ว่า “ทูลกระหม่อมเอียดน้อย”

หรือ “ทูลกระหม่อมฟ้าน้อย” กันทั้งนั้น ถ้าจะออกพระนามเป็นทางการ

ก็เรียกว่าสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ คำว่า “เดชน์”

ไม่ได้สะกดว่า “เดช” จึงไม่ได้แปลว่าเดชานุภาพ เดช หรืออำนาจ

แต่แปลว่าลูกศรหรือพระแสงศรซึ่งเป็นอาวุธของพระผู้เป็นเจ้า

พระราชโอรสธิดาของรัชกาลที่ 5 ที่ประสูติจาก

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ

(ต่อมาเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง

หรือแม่ของรัชกาลที่ 6 และ 7)

ล้วนมีพระนามที่แปลว่าอาวุธของเทพยดาหรือเครื่องประดับทั้งสิ้น

พระองค์แรกคือสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพาหุรัดมณีมัย แปลว่ากำไล

พระองค์ที่ 2 คือ สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ

แปลว่าสายฟ้าหรือเพชร (ต่อมาเป็นรัชกาลที่ 6)

พระองค์ที่ 3 คือสมเด็จเจ้าฟ้าชายตรีเพชรุตม์ธำรง แปลว่าตรี (สามง่าม)

พระองค์ที่ 4 คือสมเด็จเจ้าฟ้าชายจักรพงษ์ภูวนาถ แปลว่าจักร

พระองค์ที่ 5 คือสมเด็จเจ้าฟ้าชายศิริราชกกุธภัณฑ์

แปลว่าเครื่องใช้ของพระราชา

พระองค์ที่ 6 เป็นสมเด็จเจ้าฟ้าหญิง (ไม่ทันมีพระนาม)

พระองค์ที่ 7 คือสมเด็จเจ้าฟ้าชายอัษฎางค์เดชาวุธ

แปลว่าอาวุธ 8 ประการ

พระองค์ที่ 8 คือสมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฑาธุชธราดิลก แปลว่าปิ่น

พระองค์ที่ 9 คือสมเด็จเจ้าฟ้าชายประชา ธิปกศักดิเดชน์ แปลว่าลูกศร

ทีนี้รู้แล้วใช่ไหมครับว่า ถนนพาหุรัด ถนนตรีเพชร ถนนจักรพงษ์

โรงพยาบาลศิริราช ถนนอัษฎางค์ ตั้งตามชื่อใคร

เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปก มีพระชนมายุได้ 12 พรรษา

ได้ทรงโสกันต์ (โกนจุก) สมัยก่อนผู้ชายโกนจุกตอนอายุ 12-13 ปี

ผู้หญิงโกนจุกตอนอายุ 11-12 ปี โกนจุกแล้วถือว่าเป็นหนุ่มเป็นสาว

บางคนแต่งงานเลยด้วยซ้ำ ถ้าเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าชายก็จะมีชื่อ

เพิ่มเป็นพิเศษเรียกว่า “ทรงกรม” สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปก

ได้ทรงกรมเป็นกรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ปีถัดมาจึงเสด็จออก

ไปศึกษาที่โรงเรียนอีตันในประเทศอังกฤษ และประทับอยู่ยาวร่วม 10 ปี

การใช้พระชนมชีพอยู่ในอังกฤษครั้งนั้นเป็นไปเพื่อการศึกษา

การศึกษาซึ่งเป็นเหตุให้ทรงเรียนรู้อะไรหลายอย่าง

ที่จะทรงนำกลับมาใช้งานจนถึงทรงสามารถ

ตอบโต้กับคณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

ทรงตอบโต้กับรัฐบาลและทรงตอบโต้กับรัฐสภา

อันกลายเป็นที่มาของพระราชบันทึกทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ที่นักรัฐศาสตร์และนักนิติศาสตร์พลาดไม่ได้ แต่น่าจะไม่ทรงคาดคิดว่า

วันหนึ่งใน พ.ศ.2484 คืออีก 35 ปีต่อไปท่ามกลางเสียงระเบิด

เสียงปืน เสียงเครื่องบินกระหึ่ม และควันสงคราม

พระองค์จะเสด็จมาสวรรคตที่นี่!

พูดถึงการทรงกรมแล้ว เป็นธรรมเนียมเจ้านายแต่โบราณ

ถ้าประสูติเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าชาย จะทรงกรมเมื่อโสกันต์แล้ว

ถ้าเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงก็ต้องรอให้มีพรรษามากกว่านั้น

แต่ถ้าเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชาย

การทรงกรมจะมีเมื่อทรงเข้าทำราชการและมีผลงานปรากฏ

ส่วนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงนั้นด้วยความที่ผู้หญิง

ไม่ได้ทำราชการจึงมีน้อยพระองค์ที่จะได้ทรงกรม

การทรงกรมเท่ากับการรับรองว่าเป็นผู้ใหญ่

พอจะปกครองบังคับบัญชาผู้คนได้แล้ว เหมือนกับว่าเป็นอธิบดี

กรมอะไรสักกรมหนึ่ง ดูใหญ่โตมีอำนาจดี แต่ว่าไปแล้ว

ก็เหมือนศักดินานั่นแหละคือพอเป็นเกียรติยศว่ามีนากี่ไร่

เอาเข้าจริงไม่ได้นามาครอบครองสักไร่ การเป็นเจ้านายทรงกรม

ก็ได้แต่ชื่อกรม ต่อไปก็ออกพระนามตามกรม

ไม่ต้องเรียกพระนามเดิมยาวๆ สามวาสองศอก

แต่ไม่ได้มีข้าน้ำคนหลวงในสังกัดหรอก สู้อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล

อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ไม่ได้

นั่นเขามีข้าราชการซี 1 ถึงซี 9 อยู่ใต้ปกครองจริง ๆ

ย้ายคนก็ได้ ให้สองขั้นก็ได้

รัชกาลก่อน ๆ จะทรงตั้งพระนามกรมออกไปทางว่าเป็นเทวดา

เช่น กรมพระพิทักษ์เทเวศร กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์

แต่รัชกาลที่ 5 ทรงตั้งพระนามพระราชโอรสธิดาตามชื่อเมืองสำคัญ

คงเป็นอย่างที่อังกฤษมีปรินซ์ ออฟ เวลส์ ดุค ออฟ

วินเซอร์ ดุค ออฟ เอดินเบอระ ของไทยจึงมีกรมขุนศรีธรรมราชฯ

กรมหลวงชุมพรฯ กรมหลวงเพชรบุรีฯ กรมหลวงราชบุรีฯ

กรมพระจันทบุรีฯ กรมพระยาชัยนาทฯ เป็นต้น

รัชกาลที่ 7 ทรงรับกรมครั้งแรกเป็นกรมขุนสุโขทัยธรรมราชา

(ต่อไปได้เลื่อนเป็นกรมหลวง) มานึกอีกทีจะว่าไม่มีใครคาดคิดว่า

ต่อไปพระองค์จะได้ทรงรับราชสมบัติก็ไม่เชิง เพราะเมื่อรัชกาลที่ 5

พระราชทานพระนามครั้งแรกก็โปรดฯ ให้เป็น “ประชาธิปก”

แปลว่าผู้ปกครองและเป็นใหญ่ในหมู่ประชาชน

ครั้นพอทรงกรมได้ก็ได้ทรงเป็น “ธรรมราชา”

ทำให้ผมนึกไปถึงครั้งสมเด็จพระ เจ้าตากสินทรงเลื่อนเจ้าพระยาจักรี

เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยาผู้นี้

ก็ได้เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 1 จริง ๆ เสียด้วย.

..................

วิษณุ เครืองาม



อ้างอิงจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันอังคารที่ 8 มกราคม 2556


Create Date : 03 เมษายน 2556
Last Update : 3 เมษายน 2556 20:51:59 น. 0 comments
Counter : 1261 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ART19
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]





ความเสมอภาคที่แท้จริง คือ
การที่ทุกคนต้องมีหน้าที่
การทำหน้าที่ของตนเอง
จะเป็นสิ่งที่กำหนดว่า
เราควรได้รับอะไร แค่ไหน
Friends' blogs
[Add ART19's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.