Group Blog
 
<<
เมษายน 2549
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
21 เมษายน 2549
 
All Blogs
 

แนะนำชาดก ตอนที่7

ชาดกวันนี้เป็นเรื่องของจันทกินนรกับจันทกินรีครับ ผมอ่านชาดกนี้จากหนังสือมุนีนาถทีปนีของท่านพระพรหมโมลีเมื่อราวสิบปีที่แล้ว แม้จะทราบอยู่ว่าพระชาตินี้ของพระโพธิสัตว์ทรงถูกธนูจากพระราชาซึ่งหมายปองจันทกินรี ก็ย่อมเป็นการสร้างสมบารมีครั้งสำคัญของพระองค์ แต่ว่าผมอ่านถึงจริยาของจันทรกินรีในครั้งนั้นแล้วบอกเลยว่าประทับใจมากๆครับ คิดว่าทุกท่านที่อ่านก็คงประทับใจเช่นกันครับ

ได้แนะนำเรื่องชาดกเล่มแรกมาแล้วถึงเจ็ดตอนด้วยกัน สัปดาห์หน้าจะเริ่มชาดกเล่มที่สองครับ ซึ่งเนื้อหาแต่ละตอนจะยาวขึ้นจนแทบไม่ต้องอ่านในอรรถกถา ซึ่งหมายถึงว่าพระสูตรเดียวก็มีความยาวไม่น้อย ดังนั้นเมื่อยกพระสูตรมาแสดงแล้วก็จะยกมาพระสูตรเดียว จะไม่ยกมาทั้งวรรคครับ

ประเด็นที่ว่าเนื้อหานี้อาจอาศัยความในหนังสือมุนีนาถทีปนีมากไปบ้างนั้น ขอเรียนว่าเนื้อหาในหนังสือมุนีนาถทีปนีนั้นมีรายละเอียดของการบำเพ็ญตนเพื่อบรรลุพุทธภูมิ มีเนื้อหาที่น่าสนใจที่ท่านควรหามาอ่านครับ ส่วนชาดกนั้นท่านยกมา30ตอน กับพระเวสสันดรชาดกซึ่งเป็นพระชาติสุดท้ายรวมเป็น31ชาดก ซึ่งผมขอแนะนำว่าถ้าท่านสนใจเรื่องแนวนี้จริงๆ ควรหาหนังสือของท่านพระพรหมโมลีมาอ่านทุกเล่มครับ โดยเฉพาะหนังสือวิมุตติรัตนมาลี และถ้ามีเวลาควรอ่านอรรถกถาชาดกให้ครบทุกตอนครับ เพราะอ่านได้ไม่ยากและเท่าที่ทราบมีเนื้อหาเป็นคติทุกตอนไม่ด้อยกว่ากันเลยครับ

พระสูตรในวันนี้ยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม 19 ขุททกนิกาย ชาดก ภาค 2 ปกิณณกนิบาตชาดก ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

*******************************************
๑. สาลิเกทารชาดก
ว่าด้วยนกแขกเต้าเลี้ยงพ่อแม่
[๑๘๗๒] ข้าแต่ท่านโกสิยะ นาข้าวสาลีบริบูรณ์ดี แต่นกแขกเต้าทั้งหลายพากัน
มากินเสีย ข้าพเจ้าขอคืนนานั้นให้แก่ท่าน เพราะข้าพเจ้าไม่อาจจะห้าม
นกแขกเต้าเหล่านั้นได้ ก็ในนกแขกเต้าเหล่านั้น มีนกแขกเต้าตัวหนึ่ง
งามกว่าทุกๆ ตัว กินข้าวสาลีตามต้องการแล้วยังคาบเอาไปด้วยจะงอย
ปากอีก.
[๑๘๗๓] เจ้าจงดักบ่วงพอที่จะให้นกนั้นติดได้ แล้วจงจับนกนั้นทั้งยังเป็นมาให้
เราเถิด.
[๑๘๗๔] ฝูงนกเหล่านั้นกิน และดื่มแล้ว ย่อมพากันบินไป เราผู้เดียวติดบ่วง
เราทำบาปอะไรไว้?
[๑๘๗๕] ดูกรนกแขกเต้า ท้องของเจ้าเห็นจะใหญ่กว่าท้องของนกเหล่าอื่นเป็น
แน่ เจ้ากินข้าวสาลีตามต้องการแล้ว ยังคาบเอาไปด้วยจะงอยปากอีก?
ดูกรนกแขกเต้า เจ้าจะบรรจุฉางในป่าไม้งิ้วนั้นให้เต็มหรือ หรือว่า
เจ้ากับเรามีเวรกันมา สหายเอ๋ย เราถามเจ้าแล้ว ขอเจ้าจงบอกแก่เรา
เถิด เจ้าฝังข้าวสาลีไว้ที่ไหน?
[๑๘๗๖] ข้าพเจ้ากับท่านมิได้มีเวรกัน ฉางของข้าพเจ้าก็ไม่มี ข้าพเจ้านำเอาข้าว
สาลีของท่านไปถึงยอดงิ้วแล้ว ก็เปลื้องหนี้เก่า ให้เขากู้หนี้ใหม่ และ
ฝังขุมทรัพย์ไว้ที่ป่างิ้วนั้น ข้าแต่ท่านโกสิยะ ขอท่านจงทราบอย่างนี้
เถิด.
[๑๘๗๗] การให้กู้หนี้ของท่านเป็นเช่นไร และการเปลื้องหนี้ของท่านเป็นเช่นไร
ท่านจงบอกวิธีฝังขุมทรัพย์ แล้วท่านจะหลุดพ้นจากบ่วงได้?
[๑๘๗๘] ข้าแต่ท่านโกสิยะ บุตรน้อยทั้งหลายของข้าพเจ้ายังอ่อน ขนปีกยังไม่
ขึ้น บุตรเหล่านั้นข้าพเจ้าเลี้ยงมาแล้ว เขาจักเลี้ยงข้าพเจ้าบ้าง เพราะ
เหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงชื่อว่าให้บุตรเหล่านั้นกู้หนี้ มารดาและบิดาของ
ข้าพเจ้าแก่เฒ่าล่วงกาลผ่านวัยไปแล้ว ข้าพเจ้าคาบเอาข้าวสาลีไปด้วย
จะงอยปาก เพื่อท่านเหล่านั้น ชื่อว่าเปลื้องหนี้ที่ท่านทำไว้ก่อน อนึ่ง
นกเหล่าอื่นที่ป่าไม้งิ้วนั้น มีขนปีกอันหลุดหมดแล้ว เป็นนกทุพพล-
ภาพ ข้าพเจ้าต้องการบุญ จึงได้ให้ข้าวสาลีแก่นกเหล่านั้น บัณฑิต
ทั้งหลายกล่าวการทำบุญนั้นว่า เป็นขุมทรัพย์. การให้กู้หนี้ของข้าพเจ้า
เป็นเช่นนี้ การเปลื้องหนี้ของข้าพเจ้าเป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้าบอกการฝัง
ขุมทรัพย์ไว้เช่นนี้ ข้าแต่ท่านโกสิยะ ขอท่านจงทราบอย่างนี้เถิด.
[๑๘๗๙] นกตัวนี้ดีจริงหนอ เป็นนกมีธรรมชั้นเยี่ยม ในมนุษย์บางพวกยังไม่มี
ธรรมเช่นนี้เลย. เจ้าพร้อมด้วยญาติทั้งมวล จงกินข้าวสาลีตามความ
ต้องการเถิด ดูกรนกแขกเต้า เราขอเห็นเจ้าแม้อีกต่อไป การที่ได้เห็น
เจ้าเป็นที่พอใจของเรา.
[๑๘๘๐] ข้าแต่ท่านโกสิยะ ข้าพเจ้าได้กิน และดื่มแล้วในที่อยู่ของท่าน ท่าน
เป็นที่พึ่งพำนักของพวกเราทุกวันคืน ขอท่านจงให้ทานในท่านที่มีอาชญา
อันวางแล้ว และจงเลี้ยงดูมารดาบิดาผู้แก่เฒ่าแล้วด้วย.
[๑๘๘๑] วันนี้ สง่าราศรีเกิดขึ้นแก่เราแล้วหนอ ที่เราได้เห็นท่านผู้เป็นยอดแห่ง
ฝูงนก เพราะได้ฟังคำสุภาษิตของนกแขกเต้า เราจักทำบุญให้มาก.
[๑๘๘๒] โกสิยพราหมณ์นั้น มีใจเบิกบานร่าเริงผ่องใส จัดแจงข้าวและน้ำไว้
แล้ว เลี้ยงดูสมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย ให้อิ่มหนำสำราญด้วยข้าว
และน้ำ.
จบ สาลิเกทารชาดกที่ ๑.
๒. จันทกินนรชาดก
ว่าด้วยนางจันทกินนรี
[๑๘๘๓] ดูกรนางจันทา ชีวิตของพี่ใกล้จะขาดอยู่แล้ว พี่กำลังเมาเลือด จันทาเอ๋ย
พี่เห็นจะละชีวิตไปแม้ในวันนี้ ลมปราณของพี่กำลังจะดับ. ชีวิตของพี่
กำลังจะจม ความทุกข์กำลังเผาผลาญหัวใจพี่ พี่ลำบากยิ่งนัก ความโศก
ของพี่ครั้งนี้เป็นความโศกยิ่งใหญ่กว่าความโศกเหล่าอื่น เพราะเหตุแห่ง
เจ้าจันทาผู้จะเศร้าโศกถึงพี่โดยแท้. พี่จะเหี่ยวแห้ง เหมือนต้นหญ้า
ที่ถูกทิ้งไว้บนแผ่นหินร้อน เหมือนต้นไม้มีรากอันขาด พี่จะเหือดหาย
เหมือนแม่น้ำที่ขาดห้วง ความโศกของพี่ครั้งนี้เป็นความโศกยิ่งใหญ่
กว่าความโศกเหล่าอื่น เพราะเหตุแห่งเจ้าจันทาผู้จะเศร้าโศกถึงพี่โดยแท้.
น้ำตาของพี่ไหลออกเรื่อยเหมือนน้ำฝนที่ตกลงที่เชิงบรรพต ไหลไปไม่
ขาดสาย ฉะนั้น ความโศกของพี่ครั้งนี้เป็นความโศกยิ่งใหญ่กว่าความ
โศกเหล่าอื่น เพราะเหตุแห่งเจ้าจันทาผู้จะเศร้าโศกถึงพี่โดยแท้.
[๑๘๘๔] พระราชบุตรใด ยิงสามีผู้เป็นที่ปรารถนาของเรา เพื่อให้เป็นหม้ายที่
ชายป่า พระราชบุตรนั้นเป็นคนเลวทรามแท้ สามีของเรานั้นถูกยิงแล้ว
นอนอยู่บนพื้นดิน. พระราชบุตรเอ๋ย มารดาของท่านจงได้รับสนอง
ความโศกในดวงหทัยของข้าผู้เพ่งมองดูกินนรผู้สามีนี้. ชายาของท่านจง
ได้รับสนองความโศกในดวงหทัยของข้าผู้เพ่งมองดูกินนรผู้สามีนี้. พระ-
ราชบุตรเอ๋ย ท่านได้ฆ่ากินนรผู้ไม่ประทุษร้าย เพราะความรักใคร่ในเรา
ขอมารดาของท่านอย่าได้พบเห็นบุตร และสามีเลย. ท่านได้ฆ่ากินนรผู้
ไม่ประทุษร้าย เพราะความรักใคร่ในเรา ขอชายาของท่านจงอย่าได้พบ
เห็นบุตร และสามีเลย.
[๑๘๘๕] ดูกรนางจันทา ผู้มีนัยน์ตาบานดังดอกไม้ในป่า เธออย่าร้องไห้ อย่า
เศร้าโศกเลย เธอจักได้เป็นอัครมเหสีของฉัน มีเหล่านารีในราชสกุล
บูชา.
[๑๘๘๖] พระราชบุตร ถึงแม้ว่าเราจักต้องตาย แต่เราจักไม่ขอยอมเป็นของท่าน
ผู้ฆ่ากินนรสามีของเราผู้มิได้ประทุษร้าย เพราะความรักใคร่ในเรา.
[๑๘๘๗] แนะนางกินนรีผู้ขี้ขลาด มีความรักใคร่ต่อชีวิต เจ้าจงไปสู่ป่าหิมพานต์
เถิด มฤคอื่นๆ ผู้บริโภคกฤษณาและกะลำพัก จักยังรักใคร่ยินดีต่อเจ้า.
[๑๘๘๘] ข้าแต่กินนร ภูเขาเหล่านั้น ซอกเขาเหล่านั้น และถ้ำเหล่านั้นตั้งอยู่ ณ
ที่นั้น ฉันไม่เห็นท่านในที่นั้นๆ จะกระทำอย่างไร? ข้าแต่กินนร เมื่อ
ฉันไม่เห็นท่านที่เทือกเขา ซึ่งเราเคยร่วมอภิรมย์กัน จะกระทำอย่างไร
ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่แผ่นผาอันลาดด้วยใบไม้เป็นที่น่า
รื่นรมย์ พวกมฤคร้ายไม่กล้ำกลาย จะทำอย่างไร? ข้าแต่กินนร เมื่อ
ฉันไม่เห็นท่านที่แผ่นผาอันลาดด้วยดอกไม้ เป็นที่น่ารื่นรมย์ พวก
มฤคร้ายไม่กล้ำกลาย จะทำอย่างไร? ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่าน
ที่ลำธารอันมีน้ำใสไหลอยู่เรื่อยๆ มีกระแสเกลื่อนกล่นไปด้วยดอก
โกสุม จะกระทำอย่างไร? ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขา
หิมพานต์อันมีสีเขียว น่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร? ข้าแต่กินนร
ฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์มีสีเหลืองอร่าม น่าดูน่าชม จะกระทำ
อย่างไร? ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์อันมีสีแดง
น่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร? ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอด
เขาหิมพานต์อันสูงตระหง่าน น่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร? ข้าแต่
กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์อันมีสีขาว น่าดูน่าชม
จะกระทำอย่างไร? ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์
อันงามวิจิตร น่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร? ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่
เห็นท่านที่เขาคันธมาทน์อันดารดาษไปด้วยยาต่างๆ เป็นถิ่นที่อยู่ของ
หมู่เทพเจ้า จะกระทำอย่างไร? ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ภูเขา
คันธมาทน์อันดารดาษไปด้วยโอสถทั้งหลาย จะกระทำอย่างไร?
[๑๘๘๙] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ผู้เป็นเจ้า ฉันขอไหว้เท้าทั้งสองของท่าน ผู้มีความ
เอ็นดู มารดาสามีผู้ที่ดิฉันซึ่งเป็นกำพร้าปรารถนายิ่งนักด้วยน้ำอมฤต ดิฉัน
ได้ชื่อว่า เป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยสามีผู้เป็นที่รักยิ่งแล้ว.
[๑๘๙๐] บัดนี้ เราทั้งสองจักไปเที่ยวสู่ลำธาร อันมีกระแสสินธุ์อันเกลื่อนกล่น
ด้วยดอกโกสุม ดารดาษไปด้วยบุปผชาติต่างๆ เราทั้งสองจะกล่าววาจา
เป็นที่รักแก่กันและกัน.
จบ จันทกินนรชาดกที่ ๒.
๓. มหาอุกกุสชาดก
ว่าด้วยสัตว์ ๔ สหาย
[๑๘๙๑] พวกพรานชาวชนบท พากันมัดคบเพลิงอยู่บนเกาะ ปรารถนาจะกินลูก
น้อยของเรา ข้าแต่พญาเหยี่ยว ท่านจงบอกมิตรและสหาย จงแจ้ง
ความพินาศแห่งหมู่ญาติของเรา.
[๑๘๙๒] ข้าแต่พญานกออก ท่านเป็นนกผู้ประเสริฐกว่านกทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอ
ยึดท่านเป็นที่พึ่ง พวกพรานชาวชนบทปรารถนาจะกินลูกน้อยของ
ข้าพเจ้า ขอท่านจงช่วยให้ข้าพเจ้าได้รับความสุขเถิด.
[๑๘๙๓] บัณฑิตทั้งหลาย ผู้แสวงหาความสุขทั้งในกาลและมิใช่กาล ย่อมทำบุคคล
ให้เป็นมิตรสหาย ดูกรเหยี่ยว ฉันจะกระทำประโยชน์อันนี้แก่ท่านจง
ได้ ที่จริงอริยชนย่อมกระทำกิจให้แก่อริยชน.
[๑๘๙๔] กิจอันใด ที่อริยชนผู้มีความอนุเคราะห์จะพึงกระทำแก่อริยชน กิจอันนั้น
ชื่อว่า อันท่านกระทำแล้ว ขอท่านจงรักษาตัวเถิด อย่ารีบร้อนไปนัก
เลย เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ เราก็จะได้ลูกคืนมาเป็นแน่.
[๑๘๙๕] ฉันกระทำการรักษาป้องกันนั้น แม้ถึงตัวจะตายก็มิได้สะดุ้งเลย แท้จริง
สหายทั้งหลายผู้ยอมสละชีวิต กระทำเพื่อสหายทั้งหลาย นี่เป็นธรรมดา
ของสัตบุรุษทั้งหลาย.
[๑๘๙๖] นกออกตัวนี้ซึ่งเป็นอัณฑชะ ได้กระทำกรรมที่ทำได้แสนยาก เพื่อ
ประโยชน์แก่ลูกเหยี่ยว ตั้งแต่ยามครึ่งจนถึงเที่ยงคืนไม่หยุดหย่อน.
[๑๘๙๗] แท้จริง คนบางพวก ถึงจะเคลื่อนคลาดพลาดพลั้งจากการงานของตน
ก็ยังตั้งตัวได้ด้วยความอนุเคราะห์ของมิตรทั้งหลาย พวกลูกทั้งหลาย
ของข้าพเจ้าเดือดร้อน ข้าพเจ้าจึงรีบมาหาท่านเพื่อขอให้เป็นที่พึ่งอาศัย
ดูกรเต่าผู้เป็นสหาย ขอท่านช่วยบำเพ็ญประโยชน์แก่ข้าพเจ้าเถิด.
[๑๘๙๘] บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมทำบุคคลให้เป็นมิตรสหายด้วยทรัพย์ ข้าวเปลือก
และด้วยตน ดูกรเหยี่ยว ข้าพเจ้าจะกระทำประโยชน์นี้แก่ท่านให้จงได้
เพราะอริยชนย่อมทำกิจแก่อริยชน.
[๑๘๙๙] คุณพ่อครับ ขอคุณพ่อจงมีความขวนขวายน้อยอยู่เฉยๆ เถิด บุตรย่อม
บำเพ็ญสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อบิดา ผมเองจักป้องกันลูกทั้งหลายของ
พญาเหยี่ยว จักบำเพ็ญประโยชน์เพื่อคุณพ่อ.
[๑๙๐๐] ลูกเอ๋ย บุตรพึงบำเพ็ญสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อบิดา นี่เป็นธรรมของ
สัตบุรุษทั้งหลายโดยแท้แล พวกพรานทั้งหลายแลเห็นพ่อผู้มีกายอันใหญ่
โต ที่ไหนเลยจะเบียดเบียนลูกทั้งหลายของพญาเหยี่ยวได้.
[๑๙๐๑] ข้าแต่พญาราชสีห์ผู้ประเสริฐด้วยความแกล้วกล้า สัตว์และมนุษย์เมื่อ
ตกอยู่ในภัยแล้ว ย่อมเข้าไปหาผู้ประเสริฐ พวกบุตรของข้าพเจ้าเดือด
ร้อน ข้าพเจ้าจึงรีบมาหาท่านเพื่อขอให้ท่านเป็นที่พึ่งอาศัย ท่านเป็น
เจ้านายของข้าพเจ้า ขอท่านได้โปรดช่วยให้ข้าพเจ้าได้รับความสุขด้วย
เถิด.
[๑๙๐๒] ดูกรพญาเหยี่ยวผู้สหาย ฉันจะบำเพ็ญประโยชน์นี้เพื่อท่านให้จงได้ เรา
มาไปด้วยกัน เพื่อกำจัดหมู่ศัตรูของท่านนั้นเสีย วิญญูชนรู้ว่าภัยเกิดขึ้น
แก่มิตร จะไม่พยายามเพื่อคุ้มครองมิตรอย่างไรได้.
[๑๙๐๓] บุคคลพึงคบมิตรสหายและเจ้านายไว้ เพื่อได้รับความสุข เรากำจัดศัตรู
ได้ด้วยกำลังแห่งมิตร เป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยบุตรทั้งหลาย บันเทิงอยู่
เหมือนเกราะที่บุคคลสวมแล้ว ป้องกันลูกศรทั้งหลายได้ ฉะนั้น.
[๑๙๐๔] ลูกน้อยทั้งหลายของเรา เปล่งเสียงอันจับใจร้องรับเราผู้ร้องหาอยู่ ด้วย
การกระทำของพญาเนื้อผู้เป็นมิตรสหายของตน ซึ่งมิได้หนีไป.
[๑๙๐๕] แนะเธอผู้ต้องการสิ่งที่น่าปรารถนา บัณฑิตได้มิตรสหายแล้ว ย่อม
ปกปักรักษาบุตร ปศุสัตว์ และทรัพย์ไว้ได้ ฉัน บุตร และสามีของ
ฉันด้วย เป็นผู้พร้อมเพรียงกัน เพราะความอนุเคราะห์ของมิตรทั้งหลาย.
บุคคลผู้มีพระราชาและมีมิตรผู้กล้าหาญ สามารถจะบรรลุถึงประโยชน์
ได้เพราะสหายเหล่านี้ ย่อมมีแก่ผู้มีมิตรธรรมอันบริบูรณ์ บุคคลผู้มีมิตร-
สหาย มียศ มีตนอันสูงส่ง ย่อมบันเทิงใจอยู่ในโลกนี้ด้วย.
[๑๙๐๖] ข้าแต่พญาเหยี่ยว มิตรธรรมทั้งหลายแม้ผู้ที่ยากจนก็ควรทำ ดูซิท่าน
เราพร้อมด้วยหมู่ญาติเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ด้วยความอนุเคราะห์ของ
มิตร นกตัวใด ผูกมิตรไว้กับผู้กล้าหาญมีกำลัง นกตัวนั้น ย่อมมีความสุข
เหมือนฉันกับเธอ ฉะนั้น.
จบ มหาอุกกุสชาดกที่ ๓.
๔. อุททาลกชาดก
ว่าด้วยจรณธรรม
[๑๙๐๗] ชฎิลเหล่าใดครองหนังเสือพร้อมทั้งเล็บ ฟันเขลอะ รูปร่างเลอะเทอะ
ร่ายมนต์อยู่ ชฎิลเหล่านั้นเป็นผู้รู้การประพฤติตบะ และการสาธยาย
มนต์นี้ ในความเพียรที่มนุษย์จะพึงทำกัน จะพ้นจากอบายได้ละหรือ?
[๑๙๐๘] ข้าแต่พระราชา ถ้าบุคคลเป็นพหูสูต ไม่ประพฤติธรรม ก็จะพึงกระทำ
กรรมอันลามกทั้งหลายได้ แม้จะมีเวทตั้งพัน อาศัยแต่ความเป็นพหูสูต
ยังไม่บรรลุจรณธรรม จะพ้นจากทุกข์ไปไม่ได้เลย.
[๑๙๐๙] แม้บุคคลผู้มีเวทตั้งพัน อาศัยแต่ความเป็นพหูสูตนั้น ยังไม่บรรลุ
จรณธรรมแล้ว จะพ้นจากทุกข์ไปไม่ได้ อาตมภาพย่อมสำคัญว่า เวท
ทั้งหลายก็ย่อมไม่มีผล จรณธรรมอันมีความสำรวมเท่านั้นเป็นความจริง.
[๑๙๑๐] เวททั้งหลายจะไม่มีผลก็หามิได้ จรณธรรมอันมีความสำรวมนั่นแลเป็น
ความจริง แต่บุคคลเรียนเวททั้งหลายแล้ว ย่อมได้รับเกียรติคุณ ท่าน
ผู้ฝึกฝนตนด้วยจรณธรรมแล้วย่อมบรรลุถึงสันติ.
[๑๙๑๑] บุตรที่เกิดแต่มารดา บิดา และเผ่าพันธุ์ใด อันบุตรจะต้องเลี้ยงดู
อาตมภาพเป็นคนๆ นั้นแหละ มีชื่อว่าอุททาลกะ เป็นเชื้อสายของ
วงศ์ตระกูลโสตถิยะแห่งท่านผู้เจริญ.
[๑๙๑๒] ดูกรท่านผู้เจริญ บุคคลเป็นพราหมณ์ได้อย่างไร เป็นพราหมณ์เต็มที่
ได้อย่างไร ความดับรอบจะมีได้อย่างไร ผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรม บัณฑิตเรียก
ว่ากระไร?
[๑๙๑๓] บุคคลเป็นพราหมณ์ ต้องบูชาไฟเป็นนิตย์ ต้องรดน้ำ เมื่อบูชายัญต้อง
ยกเสาเจว็ด ผู้กระทำอย่างนี้จึงเป็นพราหมณ์ผู้เกษม ด้วยเหตุนั้น
ชนทั้งหลายจึงได้พากันสรรเสริญว่า เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม.
[๑๙๑๔] ความหมดจด ย่อมไม่มีด้วยการรดน้ำ อนึ่ง พราหมณ์จะเป็นพราหมณ์
เต็มที่ด้วยการรดน้ำก็หาไม่ ขันติและโสรัจจะย่อมมีไม่ได้ ทั้งผู้นั้นจะ
เป็นผู้ดับรอบก็หามิได้.
[๑๙๑๕] ดูกรท่านผู้เจริญ บุคคลเป็นพราหมณ์ได้อย่างไร และเป็นพราหมณ์เต็มที่
ได้อย่างไร ความดับรอบจะมีได้อย่างไร ผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรม บัณฑิตเรียก
ว่ากระไร?
[๑๙๑๖] บุคคลผู้ไม่มีไร่นา ไม่มีพวกพ้อง ไม่ถือว่าเป็นของเรา ไม่มีความหวัง
ไม่มีบาปคือความโลภ สิ้นความละโมบในภพแล้ว ผู้กระทำอย่างนี้ ชื่อว่า
เป็นพราหมณ์ผู้เกษม เพราะเหตุนั้น ชนทั้งหลายจึงได้พากันสรรเสริญ
ว่า ผู้ตั้งอยู่ในธรรม.
[๑๙๑๗] กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คนจัณฑาล คนเทหยากเยื่อทั้งปวง
เป็นผู้สงบเสงี่ยม ฝึกฝนตนแล้ว ย่อมดับรอบได้ทั้งหมด เมื่อคนทุกๆ
คนเป็นผู้เย็นแล้ว ยังจะมีคนดี คนเลวอีกหรือไม่?
[๑๙๑๘] กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คนจัณฑาล คนเทหยากเยื่อทั้งปวง
เป็นผู้สงบเสงี่ยม ฝึกฝนตนแล้ว ย่อมดับรอบได้ทั้งหมด เมื่อคนทุกๆ
คนเป็นผู้เย็นแล้ว ย่อมไม่มีคนดี คนเลวเลย.
[๑๙๑๙] กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คนจัณฑาล คนเทหยากเยื่อทั้งปวง
เป็นผู้สงบเสงี่ยม ฝึกฝนตนแล้ว ย่อมดับรอบได้ทั้งหมด เมื่อคนทุกๆ
คนเป็นผู้เย็นแล้ว ย่อมไม่มีคนดี คนเลวเลย เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านชื่อ
ว่า ทำลาย ความเป็นเชื้อสายแห่งตระกูลโสตถิยะ จะประพฤติเพศ
พราหมณ์ที่เขาสรรเสริญกันอยู่ทำไม.
[๑๙๒๐] วิมานที่เขาคลุมด้วยผ้ามีสีต่างๆ กัน เงาแห่งผ้าเหล่านั้นย่อมเป็นสีเดียว
กันหมด สีที่ย้อมนั้นย่อมไม่เกิดเป็นสี ฉันใด ในมนุษย์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้น
เมื่อใด มาณพบริสุทธิ์ เมื่อนั้น มาณพเหล่านั้นเป็นผู้มีวัตรดี เพราะรู้
ทั่วถึงธรรม ย่อมละชาติของตนได้.
จบ อุททาลกชาดกที่ ๔.
๕. ภิสชาดก
ว่าด้วยผู้ลักเอาเหง้ามัน
[๑๙๒๑] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงได้ม้า
วัว เงิน ทอง และภรรยาที่น่าชอบใจ จงพร้อมพรั่งด้วยบุตรและภรรยา
มากมายเถิด.
[๑๙๒๒] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงได้ทัด
ทรงระเบียบ ดอกไม้ ลูบไล้กระแจะจันทน์ แคว้นกาสี จงเป็นผู้
มากไปด้วยบุตร จงกระทำความเพ่งเล็งอย่างแรงกล้าในกามทั้งหลายเถิด.
[๑๙๒๓] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงเป็น
คฤหัสถ์มีธัญชาติมากมาย สมบูรณ์ด้วยเครื่องกสิกรรม มียศ จงได้บุตร
ทั้งหลาย มั่งมีทรัพย์ ได้กามคุณทุกอย่าง จงอยู่ครองเรือนอย่างไม่เห็น
ความเสื่อมเลย.
[๑๙๒๔] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจง
ปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์บรมราชาธิราช มีกำลัง มียศศักดิ์ จงครอบ
ครองแผ่นดินมีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขตเถิด.
[๑๙๒๕] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงเป็น
พราหมณ์มัวประกอบในทางทำนายฤกษ์ยาม อย่าได้คลายความยินดีใน
ตำแหน่ง ท่านผู้เป็นเจ้าแคว้น ผู้มียศ จงบูชาผู้นั้นไว้เถิด.
[๑๙๒๖] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอชาวโลกทั้งมวล
จงสำคัญผู้นั้นว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญเวทมนต์ทั้งปวง ผู้เรืองตบะ ชาว
ชนบททั้งหลายทราบดีแล้ว จงบูชาผู้นั้นเถิด.
[๑๙๒๗] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงครอบ
ครองบ้านส่วย อันพระราชาทรงประทานให้ เป็นบ้านที่มั่งคั่ง สมบูรณ์
ด้วยเหตุ ๔ ประการ ดุจท้าววาสวะพระราชทานให้ อย่าได้คลายความ
ยินดีจนกระทั่งถึงความตายเถิด.
[๑๙๒๘] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงเป็น
นายบ้าน บันเทิงอยู่ด้วยการฟ้อนรำขับร้องในท่ามกลางสหาย อย่าได้
รับความพินาศอย่างใดอย่างหนึ่งจากพระราชาเลย.
[๑๙๒๙] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ หญิงใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้พระมหา-
กษัตริย์ผู้ทรงเป็นเอกราช ทรงปราบปรามศัตรูได้ทั่วพื้นปฐพี ทรงสถาปนา
ให้หญิงนั้นเป็นยอดสตรีจำนวนพัน ขอหญิงนั้นจงเป็นมเหสีผู้ประเสริฐ
กว่านางสนมทั้งหลายเถิด.
[๑๙๓๐] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ หญิงใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้หญิงนั้น
จงเป็นทาสีไม่สะดุ้งสะเทือน กินของดีๆ ในท่ามกลางคนทั้งปวงที่มา
ประชุมกันอยู่ จงเที่ยวโอ้อวดลาภอยู่เถิด.
[๑๙๓๑] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงได้
เป็นเจ้าอาวาสในวัดใหญ่ๆ จงเป็นผู้ประกอบนวกรรมในเมืองกชังคละ
จงกระทำหน้าต่างตลอดวันเถิด.
[๑๙๓๒] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ช้างเชือกใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ช้าง
เชือกนั้น จงถูกคล้องด้วยบ่วงบาศตั้งร้อย จงถูกนำออกจากป่าอันน่า
รื่นรมย์มายังราชธานี จงถูกทิ่มแทงด้วยประตักและสับด้วยขอเถิด.
[๑๙๓๓] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ลิงตัวใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ลิงตัว
นั้นมีพวงดอกไม้สวมคอ ถูกเจาะหูด้วยดีบุก ถูกเฆี่ยนด้วยไม้เรียว
เมื่อฝึกหัดให้เล่นงู เข้าไปใกล้ปากงู ถูกมัดตระเวนเที่ยวไปตามตรอก
เถิด.
[๑๙๓๔] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ผู้ใดแกล้งกล่าวถึงของที่ไม่หายว่าหายก็ดี หรือผู้ใด
สงสัยคนใดคนหนึ่งก็ดี ขอให้ผู้นั้นจงได้บริโภคกามทั้งหลาย จงเข้าถึง
ความตายอยู่ในท่ามกลางเรือนเถิด.
[๑๙๓๕] สัตว์ทั้งหลายในโลก ย่อมพากันเที่ยวแสวงหากามใด เป็นสิ่งที่น่า
ปรารถนา น่าใคร่ น่ารัก น่าฟูใจของสัตว์เป็นอันมาก ในชีวโลกนี้
เพราะเหตุไร ฤาษีทั้งหลายจึงไม่สรรเสริญกามเลย.
[๑๙๓๖] ดูกรท่านผู้เป็นจอมภูต เพราะกามนั่นแล สัตว์ทั้งหลายจึงถูกประหาร
ถูกจองจำ เพราะกามทั้งหลาย ทุกข์และภัยจึงเกิดเพราะกามทั้งหลาย
สัตว์ทั้งหลายจึงประมาทลุ่มหลงกระทำกรรมอันเป็นบาป สัตว์เหล่านั้น
มีบาป จึงประสบบาปกรรม เมื่อตายไปแล้วย่อมไปสู่นรก เพราะเห็น
โทษในกามคุณดังนี้ ฤาษีทั้งหลายจึงไม่สรรเสริญกาม.
[๑๙๓๗] ข้าแต่ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ข้าพเจ้าจะทดลองดูว่า ฤาษีเหล่านี้ยัง
น้อมไปในกามหรือไม่ จึงถือเอาเหง้ามันที่ฝั่งน้ำไปฝังไว้บนบก ฤาษี
ทั้งหลายเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีบาป นี้เหง้ามันของท่าน.
[๑๙๓๘] ดูกรท้าวสหัสนัยน์เทวราช ฤาษีเหล่านั้นมิใช่นักฟ้อนของท่าน และมิใช่
ผู้ที่ท่านจะพึงล้อเล่น ไม่ใช่พวกพ้องและสหายของท่าน เพราะเหตุไร
ท่านจึงมาดูหมิ่นล้อเล่นกับฤาษีทั้งหลาย?
[๑๙๓๙] ข้าแต่ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ผู้มีปัญญากว้าง ท่านเป็นอาจารย์และ
เป็นบิดาของข้าพเจ้า ขอเงาเท้าของท่านจงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้าผู้พลั้ง-
พลาด ขอได้โปรดอดโทษครั้งหนึ่งเถิด บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่มีความ
โกรธเป็นกำลัง.
[๑๙๔๐] การที่พวกเราได้เห็นท้าววาสวะผู้เป็นจอมภูต นับเป็นราตรีเอกของพวก
เราเหล่าฤาษีซึ่งอยู่กันด้วยดี ท่านผู้เจริญ ทุกคนจงพากันดีใจเถิด เพราะ
ท่านพราหมณ์ได้เหง้ามันคืนแล้ว.
[๑๙๔๑] เราตถาคต สารีบุตร โมคคัลลานะ กัสสปะ อนุรุทธะ ปุณณะและ
อานนท์ เป็น ๗ พี่น้อง ในครั้งนั้น อุบลวรรณาเป็นน้องสาว ขุชชุตตรา
เป็นทาสี จิตตคฤหบดีเป็นทาส สาตาคีระเป็นเทวดา ปาลิเลยยกะเป็น
ช้าง มธุทะผู้ประเสริฐเป็นวานร กาฬุทายีเป็นท้าวสักกะ ท่านทั้งหลาย
จงทรงชาดกไว้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ ภิสชาดกที่ ๕.
๖. สุรุจิชาดก
ว่าด้วยพระเจ้าสุรุจิ
[๑๙๔๒] ดิฉันถูกเชิญมาเป็นพระอัครมเหสีคนแรกของพระเจ้าสุรุจิตลอดเวลาหมื่น
ปี พระเจ้าสุรุจินำดิฉันมาผู้เดียว ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ดิฉันนั้นมิได้
รู้สึกเลยว่า ได้ล่วงเกินพระเจ้าสุรุจิผู้เป็นจอมประชาชนชาววิเทหรัฐ
ครองพระนครมิถิลา ด้วยกาย วาจา หรือใจ ทั้งในที่แจ้งหรือในที่ลับ
เลย ข้าแต่พระฤาษี ด้วยการกล่าวคำสัตย์จริงนี้ ขอบุตรจงเกิดเถิด
เมื่อดิฉัน กล่าวคำเท็จ ขอศีรษะของดิฉันจงแตก ๗ เสี่ยง.
[๑๙๔๓] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ดิฉันเป็นที่พอใจของพระภัสดา พระชนนี และ
พระชนกของพระภัสดาก็เป็นที่รักของดิฉัน พระองค์ท่านเหล่านั้นทรง
แนะนำดิฉัน ตลอดเวลาที่พระองค์ท่านยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ดิฉันนั้น
ยินดีในความไม่เบียดเบียน มีปกติประพฤติธรรมโดยส่วนเดียว มุ่ง
บำเรอพระองค์ท่านเหล่านั้นโดยเคารพ ไม่เกียจคร้านทั้งกลางคืนกลางวัน
ข้าแต่พระฤาษี ด้วยการกล่าวคำสัตย์จริงนี้ ขอบุตรจงเกิดเถิด เมื่อดิฉัน
กล่าวคำเท็จ ขอศีรษะของดิฉันจงแตก ๗ เสี่ยง.
[๑๙๔๔] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ความริษยาหรือความโกรธ ในสตรีผู้เป็นพระราช-
เทวีร่วมกัน ๑๖,๐๐๐ คน มิได้มีแก่ดิฉันในกาลไหนๆ เลย ดิฉันชื่นชม
ด้วยความเกื้อกูลแก่พระราชเทวีเหล่านั้น และคนไหนที่จะไม่เป็นที่รัก
ของดิฉันไม่มีเลย ดิฉันอนุเคราะห์หญิงผู้ร่วมพระสามีทั่วกันทุกคน ใน
กาลทุกเมื่อ เหมือนอนุเคราะห์ตน ฉะนั้น ข้าแต่พระฤาษี ด้วยการกล่าว
คำสัตย์จริงนี้ ขอบุตรจงเกิดเถิด เมื่อดิฉันกล่าวคำเท็จ ขอศีรษะของ
ดิฉันจงแตก ๗ เสี่ยง.
[๑๙๔๕] ดิฉันเลี้ยงดูทาสกรรมกร ซึ่งจะต้องเลี้ยงดูและชนเหล่าอื่นผู้อาศัยเลี้ยง
ชีวิต โดยเหมาะสมกับหน้าที่ ดิฉันมีอินทรีย์อันเบิกบานในกาลทุกเมื่อ
ข้าแต่พระฤาษี ด้วยการกล่าวคำสัตย์จริงนี้ ขอบุตรจงเกิดเถิด เมื่อดิฉัน
กล่าวคำเท็จ ขอศีรษะของดิฉันจงแตก ๗ เสี่ยง.
[๑๙๔๖] ดิฉันมีฝ่ามืออันชุ่ม เลี้ยงดูสมณพราหมณ์ และแม้วณิพกเหล่าอื่น ให้อิ่ม
หนำสำราญด้วยข้าวและน้ำทุกเมื่อ ข้าแต่พระฤาษี ด้วยการกล่าวคำสัตย์
จริงนี้ ขอบุตรจงเกิดเถิด เมื่อดิฉันกล่าวคำเท็จ ขอศีรษะของดิฉันจง
แตก ๗ เสี่ยง.
[๑๙๔๗] ดิฉันเข้าอยู่ประจำอุโบสถ อันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ตลอดดิถี
ที่ ๑๔,๑๕ และดิถีที่ ๘ แห่งปักษ์ และตลอดปาฏิหาริยปักษ์ ดิฉัน
สำรวมแล้วในศีลทุกเมื่อ ข้าแต่พระฤาษี ด้วยการกล่าวคำสัตย์จริงนี้
ขอบุตรจงเกิดเถิด เมื่อดิฉันกล่าวคำเท็จ ขอศีรษะของดิฉันจงแตก ๗
เสี่ยง.
[๑๙๔๘] ดูกรพระราชบุตรีผู้เรืองยศงดงาม คุณอันเป็นธรรมเหล่าใด ในพระองค์
ที่พระองค์แสดงแล้ว คุณอันเป็นธรรมเหล่านั้นมีทุกอย่าง พระราชโอรส
ผู้เป็นกษัตริย์ สมบูรณ์ด้วยพระชาติ เป็นอภิชาตบุตร เรืองพระยศ เป็น
พระธรรมราชาแห่งชนชาววิเทหะ จงอุบัติแก่พระนาง.
[๑๙๔๙] ท่านผู้มีดวงตาน่ายินดี ทรงผ้าคลุกธุลี สถิตอยู่บนเวหาอันไม่มีสิ่งใดกั้น
ได้กล่าววาจาเป็นที่พอใจจับใจของดิฉัน ท่านเป็นเทวดามาจากสวรรค์
เป็นฤาษีผู้มีฤทธิ์มาก หรือว่าเป็นใครมาถึงที่นี้ ขอท่านจงกล่าวความจริง
ให้ดิฉันทราบด้วย.
[๑๙๕๐] หมู่เทวดามาประชุมกันที่สุธรรมาสภา ย่อมกราบไหว้ท้าวสักกะองค์ใด
ข้าพเจ้าเป็นท้าวสักกะองค์นั้น มีดวงตาพันหนึ่ง มายังสำนักของท่าน
หญิงเหล่าใดในเทวโลก เป็นผู้มีปกติประพฤติสม่ำเสมอ มีปัญญา มีศีล มี
พ่อผัวแม่ผัวเป็นเทวดา ยำเกรงสามี เทวดาทั้งหลายผู้มิใช่มนุษย์ มาเยี่ยม
หญิงเช่นนั้น ผู้มีปัญญา มีกรรมอันสะอาด เป็นหญิงมนุษย์ ดูกรนางผู้
เจริญ ท่านเกิดในราชสกุลนี้ พรั่งพร้อมไปด้วยสิ่งที่น่าปรารถนาทุกอย่าง
ด้วยสุจริตธรรมที่ท่านประพฤติดีแล้วในปางก่อน ดูกรพระราชบุตรี ก็
แหละ ข้อนี้เป็นชัยชนะในโลกทั้งสองของท่าน คือ การอุบัติในเทวโลก
และเกียรติในชีวิตนี้ ดูกรพระนางสุเมธา ขอให้พระนางจงมีสุข ยั่งยืน
นาน จงรักษาธรรมไว้ในตนให้ยั่งยืนเถิด ข้าพเจ้านี้ ขอลาไปสู่ไตรทิพย์
การพบเห็นท่าน เป็นการพบเห็นที่ดูดดื่มใจของข้าพเจ้ายิ่งนัก.
จบ สุรุจิชาดกที่ ๖.

(ยังมีต่อ)




 

Create Date : 21 เมษายน 2549
0 comments
Last Update : 22 เมษายน 2549 10:12:57 น.
Counter : 406 Pageviews.


พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.