Group Blog
 
<<
เมษายน 2549
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
17 เมษายน 2549
 
All Blogs
 

แนะนำชาดก ตอนที่3

ชาดกที่ยกมาวันนี้มาจากการไล่เรียงดูชาดกตามลำดับแล้วเลือกเอาที่ผมแน่ใจว่าเคยอ่านผ่านตาจากในหนังสือมุนีนาถทีปนีครับ เป็นเรื่องของขันติวาทีดาบส ซึ่งบำเพ็ญขันติบารมีอย่างอุกฤษฏ์ในพระชาตินั้น โดยอดกลั้นการถูกกระทำร้ายโดยการตัดแขนตัดขา แต่ก็ยังมีขันติในหทัยมิได้มีความพยาบาท ได้ทราบจากผู้รู้ท่านหนึ่งว่าอันรุกขธรรมคือธรรมของต้นไม้นั้น คือใครจะเด็ดใบก็เด็ดไป ใครจะหักกิ่งก็หักไป ใครจะโค่นก็โค่นไป ต้นไม้นั้นก็มิได้สะทกสะท้านเลย พระผู้มีพระภาคตรัสว่าถ้าแม้ต้นไม้นั้นจะรู้ทั่วสุภาษิตตลอดจนทุพภาษิตได้แล้ว พระองค์ยังจะกล่าวว่าต้นไม้นั้นเป็นพระโสดาบันเลยทีเดียว น่าสรรเสริญความรู้จริงของผู้รู้ท่านนั้นครับที่ประเทืองปัญญาผมมากๆ เมื่อท่านอ่านชาดกตอนนี้แล้วพึงตระหนักว่าพระผู้มีพระภาคในพระชาติที่ตรัสรู้นี้ได้อบรมพระบารมีมามากนับพระชาติไม่ถ้วน จะกล่าวไปไยว่าแม้ในชาดกนี้เพียงชาติเดียวก็ยากจะหาผู้เสมอเหมือนแล้ว พระองค์เมื่อตรัสรู้แล้วจึงทรงบริบูรณ์ด้วยพระปัญญาคุณและมีฤทธิ์อันประมาณมิได้ มิใช่เรื่องโกหกหรือกล่าวเกินความจริงครับ

พระสูตรในวันนี้ยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม 19 ขุททกนิกาย ชาดก ภาค 1 จตุกกนิบาตชาดก ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

****************************************
๒. ปุจิมันทวรรค
๑. ปุจิมันทชาดก
ว่าด้วยผู้รอบคอบ
[๕๔๒] แน่ะโจร ลุกขึ้นเถิด จะมัวนอนอยู่ทำไม ท่านต้องการอะไร ด้วยการ
นอน ราชบุรุษอย่าจับท่านผู้ทำโจรกรรมอันหยาบช้าทารุณในบ้านเลย.
[๕๔๓] ราชบุรุษทั้งหลายจ้องจับโจรผู้ทำโจรกรรมอันหยาบช้าทารุณในบ้าน ใน
เรื่องนั้น ธุระอะไรของปุจิมันทเทวดาผู้เกิดอยู่ในป่าเล่า?
[๕๔๔] ดูกรอัสสัตถเทวดา ท่านไม่รู้เหตุที่จะอยู่ร่วมกันไม่ได้ระหว่างเรากับโจร
ราชบุรุษทั้งหลาย จับโจรผู้ทำโจรกรรมอันหยาบช้าทารุณในบ้านได้แล้ว
จะเสียบโจรไว้บนหลาวไม้สะเดา ใจของเรารังเกียจในเรื่องนั้น.
[๕๔๕] บัณฑิตพึงรังเกียจสิ่งที่ควรรังเกียจ พึงป้องกันภัยที่ยังไม่มาถึงตัว พิจารณา
ดูโลกทั้ง ๒ เพราะภัยในอนาคต.
จบ ปุจิมันทชาดกที่ ๑.
๒. กัสสปมันทิยชาดก
ว่าด้วยรู้ตัวว่าผิดแล้วสารภาพผิด
[๕๔๖] ข้าแต่ท่านกัสสปะ เด็กหนุ่มจะด่าแช่ง หรือจะตีก็ตาม ด้วยความเป็น
เด็กหนุ่ม บัณฑิตผู้มีปัญญา ย่อมอดทนความผิดที่พวกเด็กทำแล้วทั้งหมด
นั้นได้.
[๕๔๗] ถ้าแม้สัตบุรุษทั้งหลาย วิวาทกัน ก็กลับเชื่อมกันได้สนิทโดยเร็ว ส่วน
คนพาลทั้งหลาย ย่อมแตกกันเหมือนภาชนะดิน เขาย่อมไม่ได้ความสงบ
เวรกันได้เลย.
[๕๔๘] ผู้ใด รู้โทษที่ตนล่วงแล้ว ๑ ผู้ใด รู้แสดงโทษ ๑ คนทั้งสองนั้น ย่อม
พร้อมเพรียงกันยิ่งขึ้น ความสนิทสนมของเขา ย่อมไม่เสื่อมคลาย.
[๕๔๙] ผู้ใด เมื่อคนเหล่าอื่นล่วงเกินกัน ตนเองสามารถจะเชื่อมให้สนิทสนม
ได้ ผู้นั้นแลชื่อว่า เป็นผู้ประเสริฐยิ่ง ผู้นำภาระไป ผู้ทรงธุระไว้.
จบ กัสสปมันทิยชาดกที่ ๒.
๓. ขันติวาทิชาดก
โทษที่ทำร้ายพระสมณะ
[๕๕๐] ข้าแต่ท่านผู้มีความเพียรมาก ผู้ใด ให้ตัดมือ ตัดเท้า หู และจมูกของท่าน
ท่านจงโกรธผู้นั้นเถิด อย่าได้ทำรัฐนี้ให้พินาศเสียเลย.
[๕๕๑] พระราชาพระองค์ใด รับสั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของอาตมภาพ ขอ
พระราชาพระองค์นั้น จงทรงพระชนม์ยืนนาน บัณฑิตทั้งหลาย เช่นกับ
อาตมภาพ ย่อมไม่โกรธเคืองเลย.
[๕๕๒] สมณะผู้สมบูรณ์ด้วยขันติ ได้มีมาในอดีตกาลแล้ว พระเจ้ากาสีรับคำ
สั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของสมณะผู้ตั้งอยู่ในขันติ.
[๕๕๓] พระเจ้ากาสีหมกไหม้อยู่ในนรก ได้เสวยวิบากอันเผ็ดร้อนของกรรมที่
หยาบช้านั้น.
จบ ขันติวาทิชาดกที่ ๓.
๔. โลหกุมภิชาดก
ว่าด้วยสัตว์นรกในโลหกุมภี
[๕๕๔] เมื่อโภคะทั้งหลายมีอยู่ เราทั้งหลายไม่ได้ให้ทาน ไม่ได้ทำที่พึ่งให้แก่
ตน เราจึงมีชีวิตเป็นอยู่ได้แสนยาก.
[๕๕๕] เมื่อเราทั้งหลายหมกไหม้อยู่ในนรก ตลอดหกหมื่นปีบริบูรณ์ โดย
ประการทั้งปวง เมื่อไรที่สุดจักปรากฏ?
[๕๕๖] ดูกรชาวเราเอ๋ย ที่สุดไม่มี ที่สุดจักมีแต่ที่ไหน ที่สุดจักไม่ปรากฏ ดูกร
ท่านผู้นิรทุกข์ เพราะในกาลนั้น ทั้งเรา และท่านได้กระทำบาปกรรม
ไว้แล้ว.
[๕๕๗] เราไปจากที่นี้ ได้กำเนิดมนุษย์ พอรู้จักภาษาแล้ว จักเป็นคนสมบูรณ์ไป
ด้วยศีล จักทำกุศลให้มากทีเดียว.
จบ โลหกุมภิชาดกที่ ๔.
๕. มังสชาดก
วาทศิลป์ของคนขอ
[๕๕๘] วาจาของท่านหยาบคายจริงหนอ ท่านเป็นผู้ขอเนื้อ วาจาของท่านเช่นกับ
พังผืด ดูกรสหาย เราจะให้พังผืดแก่ท่าน.
[๕๕๙] คำว่า พี่ชาย น้องชาย หรือพี่สาว น้องสาวนี้ เป็นอวัยวะของมนุษย์
ทั้งหลาย อันเขากล่าวกันอยู่ในโลก วาจาของท่านเช่นกับอวัยวะ ดูกร
สหาย เราจะให้เนื้ออวัยวะแก่ท่าน.
[๕๖๐] บุตรเรียกบิดาว่า พ่อ ย่อมทำให้หัวใจของพ่อหวั่นไหว วาจาของท่าน
เช่นกับหัวใจ เราจะให้เนื้อหัวใจแก่ท่าน.
[๕๖๑] ในบ้านของผู้ใด ไม่มีเพื่อน บ้านของผู้นั้น ก็เป็นเหมือนกับป่า วาจาของ
ท่านเช่นกับสมบัติทั้งมวล ดูกรสหาย เราจะให้เนื้อทั้งหมดแก่ท่าน.
จบ มังสชาดกที่ ๕.
๖. สสปัณฑิตชาดก
ผู้สละชีวิตเป็นทาน
[๕๖๒] ดูกรพราหมณ์ ข้าพเจ้ามีปลาตะเพียนแดงอยู่ ๗ ตัว ซึ่งนายพรานตก
เบ็ดขึ้นมาจากน้ำ เอาไว้บนบก ข้าพเจ้ามีอาหารอย่างนี้ ท่านจงบริโภค
อาหารนี้ แล้วเจริญสมณธรรมอยู่ในป่าเถิด.
[๕๖๓] อาหารของคนรักษานาคนโน้น ข้าพเจ้านำเอามาไว้ในกลางคืน คือ เนื้อ
ย่าง ๒ ไม้ เหี้ย ๑ ตัว และนมส้ม ๑ หม้อ ดูกรพราหมณ์ ข้าพเจ้า
มีอาหารอย่างนี้ ท่านจงบริโภคอาหารนี้ แล้วเจริญสมณธรรมอยู่ในป่าเถิด.
[๕๖๔] ผลมะม่วงสุก น้ำเย็น ร่มเงาอันเย็น เป็นที่รื่นรมย์ใจ ดูกรพราหมณ์
ข้าพเจ้ามีอาหารอย่างนี้ ท่านจงบริโภคอาหารนี้ แล้วเจริญสมณธรรม
อยู่ในป่าเถิด.
[๕๖๕] กระต่ายไม่มีงา ไม่มีถั่ว ไม่มีข้าวสาร ท่านจงบริโภคเราตัวสุกไปด้วย
ไฟนี้ แล้วเจริญสมณธรรมอยู่ในป่าเถิด.
จบ สสปัณฑิตชาดกที่ ๖.
๗. มตโรทนชาดก
ว่าด้วยร้องไห้ถึงคนตาย
[๕๖๖] ท่านทั้งหลาย ย่อมร้องไห้ถึงแต่คนที่ตายแล้วๆ ทำไมจึงไม่ร้องไห้ถึงคนที่
จักตายบ้างเล่า สัตว์ทุกจำพวกผู้ดำรงสรีระไว้ ย่อมละทิ้งชีวิตไปโดยลำดับ.
[๕๖๗] เทวดา มนุษย์ สัตว์จตุบาท หมู่ปักษีชาติ และพวกงู ไม่มีอิสระใน
สรีระร่างกายนี้ ถึงจะอภิรมย์อยู่ (ในร่างกาย) นั้น ก็ต้องละทิ้งชีวิตไป
ทั้งนั้น.
[๕๖๘] สุขและทุกข์ที่เพ่งเล็งกันอยู่ในหมู่มนุษย์ เป็นของแปรผัน ไม่มั่นคง
อยู่อย่างนี้ การคร่ำครวญ การร่ำไห้ ไม่เป็นประโยชน์เลย เพราะเหตุไร
กองโศกจึงท่วมทับท่านได้?
[๕๖๙] พวกนักเลง และพวกคอเหล้า ผู้ไม่ทำความเจริญ เป็นพาล ห้าวหาญ
ไม่มีความขยันหมั่นเพียร ไม่ฉลาดในธรรม ย่อมสำคัญบัณฑิตว่า
เป็นพาลไป.
จบ มตโรทนชาดกที่ ๗.
๘. กณเวรชาดก
ว่าด้วยหญิงหลายผัว
[๕๗๐] ท่านกอดรัดนางสามาด้วยแขน ที่กอชบามีสีแดงในวสันตฤดู เธอได้สั่ง
ความไม่มีโรคมาถึงท่าน.
[๕๗๑] ดูกรท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า ลมพึงพัดภูเขาไป ใครๆ คงไม่เชื่อถือ ถ้า
ลมจะพึงพัดเอาภูเขาไปได้ แม้แผ่นดินทั้งหมดก็พัดเอาไปได้ เพราะ
เหตุไร นางสามาตายแล้วจึงสั่งความไม่มีโรคมาถึงเราได้?
[๕๗๒] นางสามานั้นยังไม่ตาย และไม่ปรารถนาชายอื่น ได้ยินว่า นางจะมีผัว
เดียว ยังหวังเฉพาะท่านอยู่เท่านั้น.
[๕๗๓] นางสามาได้เปลี่ยนเราผู้ไม่เคยสนิทสนม กับสามีที่เคยสนิทสนมมานาน
เปลี่ยนเราผู้ยังไม่ทันได้ร่วมรัก กับสามีผู้เคยร่วมรักมาแล้ว นางสามาพึง
เปลี่ยนผู้อื่นกับเราอีก เราจักหนีจากที่นี้ไปเสียให้ไกล.
จบ กณเวรชาดกที่ ๘.
๙. ติตติรชาดก
ว่าด้วยบาปเกิดจากความจงใจ
[๕๗๔] ข้าพเจ้าเป็นอยู่อย่างนี้สบายหนอ และได้บริโภคอาหารตามชอบใจ แต่ว่า
ข้าพเจ้าตั้งอยู่ในระหว่างอันตรายแท้ ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ คติของ
ข้าพเจ้าเป็นอย่างไรหนอ?
[๕๗๕] ดูกรปักษี ถ้าใจของท่านไม่น้อมไปเพื่อกรรมอันเป็นบาป บาปย่อมไม่
แปดเปื้อนท่านผู้บริสุทธิ์ ไม่ขวนขวายกระทำบาปกรรม.
[๕๗๖] นกกระทาเป็นอันมากพากันมาด้วยคิดว่า ญาติของเราจับอยู่ นายพรานนก
ย่อมได้รับกรรม เพราะอาศัยข้าพเจ้า ใจของข้าพเจ้ารังเกียจอยู่ใน
เรื่องนั้น.
[๕๗๗] ถ้าใจของท่านไม่คิดประทุษร้าย กรรมที่นายพรานอาศัยท่านกระทำแล้วก็
ไม่ติดท่าน บาปย่อมไม่แปดเปื้อนท่านผู้บริสุทธิ์ มีความขวนขวายน้อย.
จบ ติตติรชาดกที่ ๙.
๑๐. สุจจชชาดก
ว่าด้วยภรรยาที่ดี
[๕๗๘] พระราชา เมื่อไม่ทรงพระราชทานภูเขาด้วยพระวาจา นับว่า ไม่พระราช-
ทานสิ่งที่ควรให้ง่ายหนอ เมื่อพระองค์ไม่พระราชทานอะไรเลย ก็ชื่อว่า
ไม่ทรงพระราชทานภูเขาด้วยพระวาจา.
[๕๗๙] คนฉลาดทำสิ่งใด ก็พูดถึงสิ่งนั้น ไม่ทำสิ่งใด ก็ไม่พูดถึงสิ่งนั้น บัณฑิต
ทั้งหลาย ย่อมรู้จักคนที่ไม่ทำดีแต่พูด.
[๕๘๐] ข้าแต่พระลูกเจ้า ขอนอบน้อมแด่ฝ่าพระบาท พระองค์ทรงประสบความ
พินาศ แต่พระทัยของพระองค์ยังทรงยินดีอยู่ในสัจจะ พระองค์ชื่อว่า
ดำรงมั่นอยู่ในสัจจธรรม.
[๕๘๑] หญิงใด เมื่อสามีขัดสนก็ขัดสนด้วย เมื่อสามีมั่งคั่งก็พลอยเป็นผู้มั่งคั่ง
มีชื่อเสียงด้วย หญิงนั้นแหละ นับว่า เป็นยอดภรรยาของเขา เมื่อมีเงิน
ก็ย่อมมีหญิงเป็นธรรมดา.
จบ สุจจชชาดกที่ ๑๐.
จบ ปุจิมันทวรรคที่ ๒.

*************************************************
อรรถกถา ขันติวาทิชาดก

ว่าด้วย โทษที่ทำร้ายพระสมณะ.

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุผู้มักโกรธรูปหนึ่ง จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า โย เต หตฺเถ จ ปาเท จ ดังนี้.
เรื่องได้กล่าวไว้แล้วในหนหลังนั่นแล.

ก็ในที่นี้ พระศาสดาตรัสกะภิกษุนั้นว่า เธอบวชในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ไม่โกรธ เพราะเหตุไร จึงกระทำความโกรธเล่า โบราณกบัณฑิตทั้งหลาย เมื่อเครื่องประหารตั้งพันตกลงบนร่างกาย เมื่อถูกเขาตัดมือ เท้า หู และจมูก ก็ยังไม่กระทำความโกรธแก่คนอื่น แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล พระเจ้ากาสีพระนามว่า กลาปุ ทรงครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี

ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ มีทรัพย์สมบัติ ๘๐ โกฏิ เป็นมาณพชื่อว่า กุณฑลกุมาร. เจริญวัยแล้ว ได้เล่าเรียนศิลปะทุกอย่างในนครตักกศิลา แล้วรวบรวมทรัพย์สมบัติตั้งตัว เมื่อบิดามารดาล่วงลับไป จึงมองดูกองทรัพย์แล้วคิดว่า ญาติทั้งหลายของเราทำทรัพย์ให้เกิดขึ้นแล้ว ไม่ถือเอาไปเลย แต่เราควรจะถือเอาทรัพย์นั้นไป จึงจัดแจงทรัพย์ทั้งหมด ให้ทรัพย์แก่คนที่ควรให้ด้วยอำนาจการให้ทาน แล้วเข้าไปยังป่าหิมพานต์ บวชยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยผลาผลไม้ อยู่เป็นเวลาช้านาน เพื่อต้องการจะเสพรสเค็มและรสเปรี้ยว จึงไปยังถิ่นมนุษย์ ถึงนครพาราณสีโดยลำดับ แล้วอยู่ในพระราชอุทยาน.

วันรุ่งขึ้น เที่ยวภิกขาจารไปในนคร ถึงประตูนิเวศน์ของเสนาบดี เสนาบดีเลื่อมใสในอิริยาบถของพระโพธิสัตว์นั้น จึงให้เข้าไปยังเรือนโดยลำดับ ให้บริโภคโภชนะที่เขาจัดไว้เพื่อตน ให้รับปฏิญญาแล้ว ให้อยู่ในพระราชอุทยานนั้น นั่นเอง.

อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้ากลาปุทรงมึนเมาน้ำจัณฑ์มีนางนักสนมห้อมล้อม เสด็จไปยังพระราชอุทยานด้วยพระอิสริยยศอันยิ่งใหญ่ ให้ลาดพระที่บรรทมบนแผ่นศิลาอันเป็นมงคล แล้วบรรทมเหนือตักของหญิงที่ทรงโปรดคนหนึ่ง หญิงนักฟ้อนทั้งหลายผู้ฉลาดในการขับร้อง การประโคม และการฟ้อนรำ ก็ประกอบการขับร้องเป็นต้น พระเจ้ากลาปุได้มีสมบัติดุจของท้าวสักกเทวราช ก็ทรงบรรทมหลับไป.

ลำดับนั้น หญิงเหล่านั้นพากันกล่าวว่า พวกเราประกอบการขับร้องเป็นต้น เพื่อประโยชน์แก่พระราชาใด พระราชานั้นก็ทรงบรรทมหลับไปแล้ว ประโยชน์อะไรแก่พวกเราด้วยการขับร้องเป็นต้น จึงทิ้งเครื่องดนตรีมีพิณเป็นต้นไว้ในที่นั้นๆ เอง แล้วหลีกไปยังพระราชอุทยาน ถูกดอกไม้ ผลไม้และใบไม้เป็นต้น ล่อใจจึงอภิรมย์อยู่ในพระราชอุทยาน.

ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์นั่งอยู่ ดุจช้างซับมันตัวประเสริฐ ยังเวลาให้ล่วงไปด้วยความสุขในบรรพชาอยู่ ณ โคนต้นสาละมีดอกบานสะพรั่งในพระราชอุทยานนั้น. ลำดับนั้น หญิงเหล่านั้นหลีกไปยังพระราชอุทยานแล้วเที่ยวไปอยู่ ได้เห็นพระโพธิสัตว์นั้นจึงกล่าวกันว่า มาเถิดท่านทั้งหลาย พระผู้เป็นเจ้าของพวกเราเป็นบรรพชิตนั่งอยู่ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง พวกเราจักนั่งฟังอะไรๆ ในสำนักของพระผู้เป็นเจ้านั้น ตราบเท่าที่พระราชายังไม่ทรงตื่นบรรทม จึงได้ไปไหว้นั่งล้อมแล้วกล่าวว่า ขอท่านโปรดกล่าวอะไรๆ ที่ควรกล่าวแก่พวกดิฉันเถิด.

พระโพธิสัตว์จึงกล่าวธรรมแก่หญิงเหล่านั้น.

ครั้งนั้น หญิงคนนั้นขยับตัวทำให้พระราชาตื่นบรรทม พระราชาทรงตื่นบรรทมแล้ว ไม่เห็นหญิงพวกนั้น จึงตรัสว่า พวกหญิงถ่อยไปไหน.

หญิงคนโปรดนั้นกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช หญิงเหล่านั้นไปนั่งล้อมดาบสรูปหนึ่ง.

พระราชาทรงกริ้วถือพระขรรค์ได้รีบเสด็จไปด้วยตั้งพระทัยว่า จักตัดหัวของชฎิลโกงนั้น.

ลำดับนั้น หญิงเหล่านั้นเห็นพระราชาทรงกริ้วกำลังเสด็จมา ในบรรดาหญิงเหล่านั้น หญิงคนที่โปรดมากไปแย่งเอาพระแสงดาบจากพระหัตถ์ของพระราชา ให้พระราชาสงบระงับ.

พระราชานั้นเสด็จไปประทับยืนในสำนักของพระโพธิสัตว์ แล้วตรัสถามว่า สมณะ แกมีวาทะว่ากระไร?

พระโพธิสัตว์ทูลว่า มหาบพิตร อาตมามีขันติวาทะ กล่าวยกย่องขันติ.

พระราชาตรัสว่า ที่ชื่อว่าขันตินั้น คืออะไร?

พระโพธิสัตว์ทูลว่า คือความไม่โกรธในเมื่อเขาด่าอยู่ ประหารอยู่ เย้ยหยันอยู่.

พระราชาตรัสว่า ประเดี๋ยว เราจักเห็นความมีขันติของแก.

แล้วรับสั่งให้เรียกเพชฌฆาตผู้ฆ่าโจรมา เพชฌฆาตนั้นถือขวานและแซ่หนามตามจารีตของตน นุ่งผ้ากาสาวะ สวมพวงมาลัยแดงมาถวายบังคมพระราชา แล้วกราบทูลว่า ข้าพระองค์จะทำอะไร พระเจ้าข้า?

พระราชาตรัสว่า เจ้าจงจับดาบสชั่วเยี่ยงโจรนี้ ฉุดให้ล้มลงพื้น แล้วเอาแซ่หนามเฆี่ยนสองพันครั้งในข้างทั้งสี่ คือข้างหน้า ข้างหลัง และด้านข้างๆ ทั้งสองด้าน.

เพชฌฆาตนั้นได้กระทำเหมือนรับสั่งนั้น.

ผิวของพระโพธิสัตว์ขาด หนังขาด เนื้อขาดโลหิตไหล.

พระราชาตรัสถามอีกว่า เจ้ามีวาทะว่ากระไร?

พระโพธิสัตว์ทูลว่า มหาบพิตร อาตมามีวาทะยกย่องขันติ ก็พระองค์สำคัญว่า ขันติมีในระหว่างหนังของอาตมา ขันติไม่ได้มีในระหว่างหนังของอาตมา. มหาบพิตร ก็ขันติของอาตมาตั้งอยู่เฉพาะภายในหทัย ซึ่งพระองค์ไม่อาจแลเห็น.

เพชฌฆาตทูลถามอีกว่า ข้าพระองค์จะทำอะไร?

พระราชาตรัสว่า จงตัดมือทั้งสองข้างของดาบสโกงผู้นี้.

เพชฌฆาตนั้นจับขวานตัดมือทั้งสองข้างแค่ข้อมือ. ทีนั้น พระราชาตรัสกะเพชฌฆาตนั้นว่า จงตัดเท้าทั้งสองข้าง. เพชฌฆาตก็ตัดเท้าทั้งสองข้าง โลหิตไหลออกจากปลายมือและปลายเท้า เหมือนรดน้ำครั่งไหลออกจากหม้อทะลุ ฉะนั้น.

พระราชาตรัสถามอีกว่า เจ้ามีวาทะว่ากระไร?

พระโพธิสัตว์ทูลว่า มหาบพิตร อาตมามีวาทะยกย่องขันติ ก็พระองค์สำคัญว่า ขันติมีอยู่ที่ปลายมือปลายเท้าของอาตมา ขันตินั่นไม่มีอยู่ที่นี้ เพราะขันติของอาตมาตั้งอยู่เฉพาะภายในหทัย อันสถานที่ลึกซึ้ง.

พระราชานั้นตรัสว่า จงตัดหูและจมูกของดาบสนี้.

เพชฌฆาตก็ตัดหูและจมูก ทั่วทั้งร่างกายมีแต่โลหิต.

พระราชาตรัสถามอีกว่า เจ้ามีวาทะกระไร?

พระโพธิสัตว์ทูลว่า มหาบพิตร อาตมามีวาทะยกย่องขันติ แต่พระองค์ได้สำคัญว่า ขันติตั้งอยู่เฉพาะที่ปลายหู ปลายจมูก. ขันติของอาตมาตั้งอยู่เฉพาะภายในหทัยอันลึก.

พระราชาตรัสว่า เจ้าชฎิลโกง เจ้าเท่านั้นจงนั่งยกเชิดชูขันติของเจ้าเถิด แล้วเอาพระบาทกระทืบยอด อก แล้วเสด็จหลีกไป.

เมื่อพระราชานั้นเสด็จไปแล้ว เสนาบดีเช็ดโลหิตจากร่างกายของพระโพธิสัตว์ แล้วเก็บรวบรวมปลายมือ ปลายเท้า ปลายหู และปลายจมูกไว้ที่ชายผ้าสาฎกค่อยๆ ประคองให้พระโพธิสัตว์นั่ง แล้วไหว้ ได้นั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง แล้วกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านจะโกรธ ควรโกรธพระราชาผู้ทำผิดในท่าน ไม่ควรโกรธผู้อื่น.

เมื่อจะอ้อนวอน จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-
ข้าแต่ท่านผู้มีความเพียรมาก ผู้ใดให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของท่าน ท่านจงโกรธผู้นั้นเถิด อย่าได้ทำรัฐนี้ให้พินาศเสียเลย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มหาวีร แปลว่า ผู้มีความเพียรใหญ่หลวง. บทว่า มา รฏฺฐํ วินสฺส อิทํ ความว่า ท่านอย่าทำกาสิกรัฐ อันหาความผิดมิได้ นี้ให้พินาศ.

พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
พระราชาพระองค์ใดรับสั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของอาตมภาพ ขอพระราชาพระองค์นั้น จงทรงพระชนม์ยืนนาน บัณฑิตทั้งหลายเช่นกับอาตมภาพ ย่อมไม่โกรธเคืองเลย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มาทิสา ความว่า บัณฑิตทั้งหลายผู้ประกอบด้วยกำลังแห่งขันติเช่นกับอาตมา ย่อมไม่โกรธว่าผู้นี้ด่า บริภาษ เย้ยหยัน ประหารเรา ตัดอวัยวะทำลายเรา.

ในกาลที่พระราชาเสด็จออกจากพระราชอุทยาน ลับคลองจักษุของพระโพธิสัตว์เท่านั้น มหาปฐพีอันหนาสองแสนสี่หมื่นโยชน์นี้ ก็แยกออกประดุจผ้าสาฎกทั้งกว้างทั้งแข็งแตกออก ฉะนั้น เปลวไฟจากอเวจีนรกแลบออกมาจับพระราชา เหมือนห่มด้วยผ้ากัมพลแดงที่ตระกูลมอบให้ พระราชาเข้าสู่แผ่นดินที่ประตูพระราชอุทยานนั่นเอง แล้วตั้งอยู่เฉพาะในอเวจีมหานรก.

พระโพธิสัตว์ก็ได้ทำกาละ ในวันนั้นเอง.

ราชบุรุษและชาวนครทั้งหลายถือของหอม ดอกไม้ ประทีป และธูป มากระทำฌาปนกิจสรีระของพระโพธิสัตว์.

ส่วนเกจิอาจารย์กล่าวว่า พระโพธิสัตว์กลับไปยังหิมวันตประเทศนั่นเอง คำของเกจิอาจารย์นั้นไม่จริง.

มีอภิสัมพุทธคาถาทั้งสองคาถา นี้อยู่ว่า :-
สมณะผู้สมบูรณ์ด้วยขันติได้มีมาในอดีตกาลนานแล้ว พระเจ้ากาสีได้รับสั่งให้ห้ำหั่นสมณะนั้นผู้ดำรงอยู่เฉพาะในขันติธรรม.

พระเจ้ากาสีหมกไหม้อยู่ในนรก เสวยวิบากอันเผ็ดร้อนของกรรม ที่หยาบช้านั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตีตมทฺธานํ แปลว่า ในอดีตกาลอันยาวนาน. บทว่า ขนฺติทีปโน ได้แก่ ผู้เพียบพร้อมด้วยอธิวาสนขันติ. บทว่า อเฉทยิ ได้แก่ รับสั่งให้ฆ่า. แต่พระเถระพวกหนึ่งกล่าวว่า มือและเท้าของพระโพธิสัตว์ต่อติดได้อีก. คำนั้นไม่จริงเหมือนกัน. บทว่า สมปฺปิโต ได้แก่ ตั้งอยู่เฉพาะแล้ว.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประกาศสัจจะ แล้วทรงประชุมชาดก ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุผู้ขี้โกรธบรรลุพระอนาคามิผล.

พระเจ้ากาสีพระนามว่า กลาปุ ในครั้งนั้น ได้เป็น พระเทวทัต
เสนาบดีในครั้งนั้น ได้เป็น พระสารีบุตร
ส่วนดาบสผู้มีวาทะยกย่องขันติในครั้งนั้น ได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาขันติวาทิชาดกที่ ๓

*******************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ




 

Create Date : 17 เมษายน 2549
0 comments
Last Update : 17 เมษายน 2549 20:05:46 น.
Counter : 393 Pageviews.


พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.