Group Blog
 
<<
เมษายน 2549
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
18 เมษายน 2549
 
All Blogs
 

แนะนำชาดก ตอนที่4

ชาดกวันนี้เป็นเรื่องสมัยพระศรีศากยมุนีโคดมเสวยพระฃาติเป็นพญาลิง ได้สละชีวิตเพื่อช่วยบริวารลิงจำนวน80000ตัวให้พ้นจากอันตรายเมื่อพระราชาผู้ปรารถนามะม่วงจากต้นที่ให้ผลรสโอชา ซึ่งบรรดาลิงกำลังพากันบริโภคอยู่ พระโพธิสัตว์ได้อาศัยตนและเถาวัลย์เป็นทางให้บริวารลิงหนีภัยจากพระราชาไปได้ ด้วยเหตุอันแสดงถึงปัญญาและความเสียสละนี้ แม้พระราชาก็ทรงสรรเสริญครับ

พระสูตรยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม 19 ขุททกนิกาย ชาดก ภาค 1 สัตตกนิบาต ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

**********************************************
๒. คันธารวรรค
๑. คันธารชาดก
พูดคำมีประโยชน์เขาโกรธไม่ควรกล่าว
[๑๐๔๓] ท่านสละหมู่บ้านอันบริบูรณ์ถึงหมื่นหกพันตำบล และคลังที่เต็มไปด้วย
ทรัพย์มาแล้ว บัดนี้ ทำไมยังมาทำการสะสมเพียงก้อนเกลืออีกเล่า?
[๑๐๔๔] ท่านสู้สละคันธารวิสัย อันบริบูรณ์ด้วยทรัพย์มากมาย เลิกการสั่งสม
มาแล้ว บัดนี้ ทำไมยังมาสอนข้าพเจ้าให้สั่งสมในที่นี้อีกเล่า?
[๑๐๔๕] ดูกรท่านวิเทหดาบส ข้าพเจ้าย่อมกล่าวแต่คำที่เป็นธรรม ข้าพเจ้าไม่พอ
ใจกล่าวคำที่ไม่เป็นธรรม เมื่อข้าพเจ้ากล่าวคำที่เป็นธรรมอยู่ บาปย่อม
ไม่เข้ามาติดอยู่เลย.
[๑๐๔๖] บุคคลอื่นได้รับความโกรธเคือง เพราะถ้อยคำอย่างใดอย่างหนึ่ง ถึงหาก
ถ้อยคำนั้นจะมีประโยชน์มาก บัณฑิตก็ไม่ควรกล่าว.
[๑๐๔๗] บุคคลทำกรรมที่ไม่สมควร เมื่อถูกตักเตือนอยู่ จะโกรธเคืองก็ตาม ไม่
โกรธเคืองก็ตาม หรือจะทิ้งเสียเหมือนโปรยข้าวลีบก็ตาม เมื่อข้าพเจ้า
กล่าวคำที่เป็นธรรมอยู่ บาปย่อมไม่เข้าติดอยู่เลย.
[๑๐๔๘] ถ้าสัตว์เหล่านี้ไม่พึงมีปัญญาของตนเอง หรือไม่พึงได้ศึกษาวินัยดีแล้ว
ชนเป็นอันมากก็จะเที่ยวไป เหมือนกระบือตาบอดเที่ยวไปในป่า ฉะนั้น.
[๑๐๔๙] ก็แลบุคคลบางพวกในโลกนี้ ได้ศึกษาวินัยมาเป็นอย่างดีในสำนักอาจารย์
เพราะฉะนั้น เขาทั้งหลาย จึงมีวินัยอันอาจารย์แนะนำแล้ว เป็น
นักปราชญ์ มีจิตตั้งมั่นดี เที่ยวไป.
จบ คันธารชาดกที่ ๑.
๒. มหากปิชาดก
ว่าด้วยคุณธรรมของหัวหน้า
[๑๐๕๐] ดูกรพระยาลิง ท่านได้ทอดตัวเป็นสะพาน ให้ลิงเหล่านี้ข้ามไปได้ จนมี
ความสวัสดี ท่านเป็นอะไรกับลิงเหล่านั้น หรือว่าลิงเหล่านั้นเป็นอะไร
กับท่าน?
[๑๐๕๑] ข้าแต่พระองค์ผู้ปราบศัตรู ข้าพระองค์เป็นใหญ่ เป็นนายฝูง ปกครองหมู่
ลิงเหล่านั้น เมื่อเขาเหล่านั้นถูกความโศกครอบงำ เกรงกลัวพระองค์.
[๑๐๕๒] ข้าพระองค์ได้กระโจนไปชั่วระยะร้อยลูกธนู เอาเถาวัลย์ผูกกับตอไม้ไผ่
ข้างหนึ่ง ผูกที่สะเอวข้างหนึ่ง.
[๑๐๕๓] กระโจนกลับมายังต้นมะม่วง เหมือนลมตัดอากาศ แต่ไม่ถึงต้นมะม่วง
นั้น ข้าพระองค์เอามือมาทั้งสองเหนี่ยวกิ่งมะม่วงไว้.
[๑๐๕๔] ร่างกายของข้าพระองค์ถูกกิ่งไม้ และเถาวัลย์คร่าไปมา ดุจสายพิณที่เขา
ขึงตึงเครียด ฉะนั้น พวกบริวารพากันไต่ข้าพระองค์ไปได้รับความสวัสดี.
[๑๐๕๕] ข้าพระองค์จะถูกจองจำ หรือถูกฆ่า ก็ไม่ครั่นคร้ามเดือดร้อนอย่างไร
เพราะข้าพระองค์ได้นำความสุขมาให้แก่หมู่ลิงที่ยกย่องให้ข้าพระองค์เป็น
ใหญ่.
[๑๐๕๖] ข้าแต่พระราชาผู้ปราบปรามศัตรู ข้าพระองค์จะแสดงข้ออุปมาถวายพระ-
องค์ ขอพระองค์จงสดับ ธรรมดาพระราชามหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชา
สามารถ พึงแสวงหาความสุขให้แก่รัฐ สัตว์พาหนะ ทหาร และ
พลเมืองถ้วนหน้ากัน.
จบ มหากปิชาดกที่ ๒.
๓. กุมภการชาดก
เหตุให้ประพฤติภิกขาจาริยวัตร
[๑๐๕๗] อาตมภาพได้เห็นมะม่วงอันงอกงามออกช่อและผลเขียวไปทั้งต้น ใน
ระหว่างป่ามะม่วง เวลากลับ อาตมภาพได้เห็นมะม่วงต้นนั้นหักย่อยยับ
เพราะผลเป็นเหตุ จึงได้เที่ยวประพฤติภิกขาจาริยวัตร.
[๑๐๕๘] นางนารีคนหนึ่งสวมกำไรมือหินคู่หนึ่ง เกลี้ยงกลม อันนายช่างผู้
ชำนาญทำแล้วไม่มีเสียงดัง เพราะอาศัยข้างที่สอง จึงเกิดมีเสียงดังขึ้น
ได้ อาตมภาพได้เห็นอย่างนี้ จึงได้เที่ยวประพฤติภิกขาจาริยวัตร.
[๑๐๕๙] นกจำนวนมากพากันล้อมลุมตามจิก ตีนกตัวหนึ่งซึ่งกำลังคาบก้อนเนื้ออยู่
ได้ก้อนเนื้อแล้วบินไป เพราะอาหารเป็นเหตุ อาตมภาพได้เห็นอย่างนี้
จึงได้เที่ยวประพฤติภิกขาจาริยวัตร.
[๑๐๖๐] อาตมภาพได้เห็นวัวหนึ่งตัวอยู่ในท่ามกลางฝูง มีวลัยเป็นเครื่องประดับ
ประกอบด้วยสีสรรและกำลังมาก ได้ขวิดเอาวัวตัวหนึ่งตาย เพราะกาม
เป็นเหตุ อาตมภาพได้เห็นอย่างนี้ จึงได้เที่ยวประพฤติภิกขาจาริยวัตร.
[๑๐๖๑] พระเจ้ากรันฑกะของชาวกลิงครัฐ พระเจ้านัคคชิของชาวคันธารรัฐ
พระเจ้าเนมิราชของชาววิเทหรัฐ และพระเจ้าทุมมุขะของชาวปัญจาลรัฐ
ทั้งสี่พระองค์นี้ต่างพากันทรงละรัฐออกผนวช หาความห่วงใยมิได้.
[๑๐๖๒] แม้พระราชาเหล่านั้นทุกๆ พระองค์ เปรียบด้วยเทพเจ้า มาพร้อมหน้ากัน
ย่อมสง่างามไปด้วยคุณ เหมือนไฟอันงามสว่างไสวฉะนั้น ดูกรนางภัควิ
แม้เราเองจะสละกามทั้งหลายตามส่วนของตนๆ แล้วจะออกบวชเที่ยว
ไปแต่ผู้เดียว.
[๑๐๖๓] เวลานี้เท่านั้น เวลาอื่นจากนี้เป็นไม่มี ภายหลังบุคคลผู้สอนดิฉันจะไม่มี
ข้าแต่ท่านผู้มีส่วนความดี แม้ดิฉันก็จะขอพ้นจากมือของบุรุษเที่ยวไป
ผู้เดียว ดังนางนกที่พ้นจากมือของบุรุษ ฉะนั้น.
[๑๐๖๔] เด็กสองคนนั้นย่อมรู้จักว่านี่ข้าวดิบ นี่ข้าวสุก และรู้จักว่านี่เค็ม นี่ไม่
เค็ม ดิฉันเห็นอย่างนี้แล้วจึงออกบวช ท่านจงประพฤติภิกขาจาริยวัตร
เถิด ถึงดิฉันก็จะประพฤติภิกขาจาริยวัตรเช่นเดียวกัน.
จบ กุมภการชาดกที่ ๓.
๔. ทัฬหธรรมชาดก
ว่าด้วยความกตัญญู
[๑๐๖๕] เมื่อข้าพเจ้าเป็นสาว ได้ทำลายช้างศัตรูนำกิจนั้นไป ได้ช่วยถอนลูกศรที่
เสียบอยู่ที่พระอุระ วิ่งตลุยไล่เหยียบย่ำข้าศึกไปในเวลารบ ยังทำให้
พระเจ้าทัฬหธรรมราชาพอพระทัยไม่ได้.
[๑๐๖๖] พระราชาคงไม่ทราบความเพียรพยายามของข้าพเจ้า ความดีความชอบใน
สงคราม และการเป็นทูตเดินส่งข่าวสาส์นเป็นแน่.
[๑๐๖๗] ข้าพเจ้าไม่มีพวกพ้อง ไร้ที่พึ่งอาศัย จักต้องตายแน่ๆ ยังมิหนำซ้ำพระ
ราชทานข้าพเจ้าให้แก่ช่างหม้อ ไว้สำหรับขนโคมัย.
[๑๐๖๘] คนบางคนในโลกนี้ ยังมีความหวังอยู่เพียงใด ก็ยังคบหากันอยู่เพียง
นั้น เมื่อประโยชน์ที่หวังสิ้นไป คนพาลทั้งหลายย่อละทิ้งเขา เหมือน
พระมหากษัตริย์ทอดทิ้งช้างพังโอฏฐิพยาธิ ฉะนั้น.
[๑๐๖๙] ผู้ใดอันคนอื่นทำความยินดีให้แก่ตนก่อน ช่วยเหลือกิจให้สำเร็จทุกอย่าง
แล้ว ไม่รู้สึก ประโยชน์ทั้งหลายของบุคคลผู้ช่วยเหลือนั้น ย่อมพินาศ
ไปหมด.
[๑๐๗๐] ผู้ใดอันคนอื่นทำความดีให้แก่ตนก่อน ช่วยเหลือกิจให้สำเร็จทุกอย่าง
แล้ว ย่อมรู้สึก ประโยชน์ทั้งหลายของบุคคลผู้ช่วยเหลือนั้น ย่อมเจริญ
ทวีขึ้น.
[๑๐๗๑] เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงขอพูดกะท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย มาประ
ชุมกันอยู่ ณ ที่นี้มีประมาณเท่าใด ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย
ประมาณเท่านั้น ขอท่านทุกคนจงเป็นผู้มีกตัญญู ท่านทั้งหลายจักประ
ดิษฐานอยู่ในสวรรค์ตลอดกาลนาน.
จบ ทัฬหธรรมชาดกที่ ๔.
๕. โสมทัตตชาดก
ว่าด้วยความเศร้าโศกถึงผู้เป็นที่รัก
[๑๐๗๒] พ่อโสมทัตช้างมาตังคะ แต่ก่อนเคยออกมาต้อนรับเราผู้กลับจากป่าแต่ที่
ไกล บัดนี้ ไปไหนเสียเล่า เราจึงไม่เห็น?
[๑๐๗๓] โธ่เอ๋ย นี่พ่อโสมทัตนั้นแน่แล้ว มานอนตายอยู่ที่พื้นแผ่นดิน ดัง
หน่อเถาย่างทรายที่บุคคลเด็ดทิ้งฉะนั้น พ่อโสมทัตกุญชรชาติตายเสีย
แล้วหนอ.
[๑๐๗๔] การที่ท่านมาเศร้าโศกถึงผู้ที่ตายไปแล้วนั้น เป็นการไม่ดีงามแก่ท่านผู้
ออกบวช เป็นสมณะพ้นวิเศษแล้ว.
[๑๐๗๕] ดูกรท้าวสักกะ มนุษย์หรือสัตว์เดียรัจฉานก็ตาม ย่อมเกิดความรักใคร่
กันฝังอยู่ในใจ เพราะการอยู่ร่วมกันโดยแท้ อาตมภาพจึงไม่อาจอด
กลั้น ความเศร้าโศกถึงผู้ที่เป็นที่รักใคร่นั้นได้.
[๑๐๗๖] สัตว์เหล่าใดร้องไห้รำพันเพ้อถึงผู้ที่ตาย สัตว์เหล่านั้นก็ต้องตายเหมือน
กัน ดูกรฤาษี เพราะเหตุนั้น ท่านอย่าร้องไห้เลย สัตบุรุษกล่าวการ
ร้องไห้ ของบุคคลผู้ร้องไห้ถึงผู้ที่ตายไปแล้วว่าไร้ผล.
[๑๐๗๗] ดูกรท่านผู้ประเสริฐ บุคคลผู้ตายไปแล้ว จะพึงกลับเป็นขึ้นอีกเพราะการ
ร้องไห้แน่แล้ว เราทั้งหมดก็มาประชุมร้องไห้ถึงญาติของกันและกันเถิด.
[๑๐๗๘] อาตมภาพถูกไฟคือความโศกแผดเผา มหาบพิตรมาช่วยดับความกระวน
กระวายทั้งหมดให้หายได้ เหมือนบุคคลเอาน้ำดับไฟไหม้เปรียงฉะนั้น.
มหาบพิตร ได้ถอนลูกศรอันปักแน่น อยู่ในหัวใจของอาตมภาพออกแล้ว
เมื่ออาตมภาพถูกความโศกครอบงำ มหาบพิตรก็ได้บรรเทาความโศกถึง
บุตรนั้นเสียได้. ดูกรท้าวสักกะ อาตมภาพนั้นเป็นผู้มีลูกศรคือความโศก
เศร้าอันมหาบพิตรถอนออกแล้ว หายโศก ใจไม่ขุ่นมัว จะไม่เศร้า
โศก จะไม่ร้องไห้ต่อไป เพราะได้ฟังคำของมหาบพิตร.
จบ โสมทัตตชาดกที่ ๕.
๖. สุสีมชาดก
ว่าด้วยพระเจ้าสุสีมะออกผนวช
[๑๐๗๙] เมื่อก่อนผมดำเกิดบนศีรษะอันเป็นประเทศที่สมควร ดูกรสุสิมะ วันนี้
ท่านเห็นผมเหล่านั้นกลายเป็นสีขาวแล้ว จงประพฤติธรรมเถิด เวลานี้
เป็นการสมควรจะประพฤติพรหมจรรย์แล้ว.
[๑๐๘๐] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ผมหงอกของหม่อมฉันเอง ไม่ใช่ของพระองค์
หม่อมฉันถอนออกจากศีรษะของหม่อมฉันเอง หม่อมฉันได้ทูลคำเท็จ
ด้วยคิดจะทำประโยชน์แก่ตน ขอพระองค์จงทรงพระราชทานความผิดให้
สักครั้งหนึ่งเถิด เพคะ.
[๑๐๘๑] ข้าแต่พระราชาผู้เป็นจอมประชาชน พระองค์ยังหนุ่ม มีพระโฉมชวนพิศ
ยังทรงตั้งอยู่ในปฐมวัย มีพระฉวีวรรณงาม ดังใบกล้วยมีนวลอ่อนๆ
เมื่อแรกขึ้นฉะนั้น ขอเชิญพระองค์ดำรงราชสมบัติอยู่ก่อนเถิด เชิญ
ทอดพระเนตรหม่อมฉันก่อน อย่าทรงทำให้หม่อมฉันเป็นหม้ายไร้ที่พึ่ง
เสียเลย เพคะ.
[๑๐๘๒] เราได้เห็นนางกุมารีรุ่นสาวมีฉวีวรรณอันเกลี้ยงเกลา ร่างกายงาม ทรวด
ทรงเฉิดฉายอ่อนละมุนละไม เหมือนเถากาลวัลลี เมื่อต้องลมอ่อนรำเพย
พัด ก็โอนเอนไปมา เข้าไปใกล้ชายดั่งยั่วยวนใจชายอยู่.
[๑๐๘๓] สมัยต่อมา เราได้เห็นนารีคนนั้นถึงความชรามีอายุล่วงไป ๘๐-๙๐ ปี
ถือไม้เท้าสั่นงันงก มีกายคดน้อมลงดุจกลอนเรือน เดินก้มหน้าอยู่.
[๑๐๘๔] เรากำลังตริตรองถึงความพอใจและโทษของรูปทั้งหลายนั้นแลอยู่ จึงหลีก
ออกไปนอนอยู่ท่ามกลางที่นอนแต่ผู้เดียว เราพิจารณาเห็นว่า แม้เราเอง
ก็จักต้องเป็นอย่างนั้นบ้าง จึงมิได้ยินดีในการอยู่ในเรือนเลย ถึงเวลาที่
เราจะประพฤติพรหมจรรย์แล้ว.
[๑๐๘๕] ความยินดีของบุคคลผู้อยู่ครอบครองเรือนนี้แหละ เป็นเชือกเครื่องเหนี่ยว
รั้งไว้ ธีรชนตัดเชือกนี้แล้ว หาความอาลัยใยดีมิได้ ละทิ้งกามสุขแล้ว
ออกบวช.
จบ สุสีมชาดกที่ ๖.
๗. โกฏสิมพลิชาดก
ว่าด้วยการระวังภัยที่ยังไม่มาถึง
[๑๐๘๖] เราได้จับนาคราชยาวถึงพันวามาแล้ว ท่านยังทรงนาคราชนั้นและเราซึ่งมี
กายใหญ่ไว้ได้ ไม่หวั่นไหว.
[๑๐๘๗] ดูกรโกฏสิมพลีเทพบุตร ก็ท่านทรงนางนกตัวเล็กนี้ ซึ่งมีเนื้อน้อยกว่า
เรา กลัวหวั่นไหวอยู่ เพราะเหตุอะไร?
[๑๐๘๘] ดูกรพระยาครุฑ ท่านมีเนื้อเป็นภักษาหาร นกนี้มีผลไม้เป็นภักษาหาร
นางนกนี้จักไปจิกกินพืชเมล็ดต้นไทร เมล็ดต้นกร่าง เมล็ดต้นมะเดื่อ
และเมล็ดต้นโพธิ แล้วมาถ่ายวัจจะลงบนค่าคบไม้ของเรา.
[๑๐๘๙] ต้นไม้เหล่านั้นจักเจริญงอกงามขึ้น ไม่มีลมมากระทบข้างของเราได้ ต้น
ไม้เหล่านั้นจักปกคลุมเรา ทำเราไม่ให้เป็นต้นไม้ไปเสีย.
[๑๐๙๐] ต้นไม้ทั้งหลายแม้ชนิดอื่น เป็นหมู่ไม้มีรากประกอบด้วยลำต้นมีอยู่ นก
ตัวนี้นำเอาพืชมาถ่ายไว้ ทำให้พินาศ.
[๑๐๙๑] เพราะว่าต้นไม้ทั้งหลายมีต้นไทรเป็นต้น งอกงามขึ้นปกคลุมไม้ซึ่งเป็นเจ้า
ป่า แม้ที่มีลำต้นใหญ่ได้ ดูกรพระยาครุฑ เหตุนี้แหละ เราได้มองเห็น
ภัยในอนาคต จึงได้หวั่นไหว.
[๑๐๙๒] นักปราชญ์พึงรังเกียจสิ่งที่น่ารังเกียจ พึงระวังภัยที่ยังไม่มาถึง นักปราชญ์
ย่อมพิจารณาดูโลกทั้งสอง เพราะภัยในอนาคต.
จบ โกฏสิมพลิชาดกที่ ๗.
๘. ธูมการีชาดก
เศร้าโศกเพราะได้ใหม่ลืมเก่า
[๑๐๙๓] พระเจ้ายุธิฏฐิละผู้ทรงพอพระทัยในธรรม ได้ตรัสถามวิธูรบัณฑิตว่า ดูกร
พราหมณ์ ท่านรู้บ้างไหมว่า ใครผู้เดียวเศร้าโศกเป็นอันมาก?
[๑๐๙๔] พราหมณ์วาเสฏฐโคตรผู้เป็นใหญ่ในฝูงแพะมากด้วยกัน ไม่เกียจคร้านทั้ง
กลางคืนกลางวัน เมื่ออยู่ในป่า ได้ก่อไฟให้เกิดควัน.
[๑๐๙๕] ชะมดทั้งหลายถูกเหลือบยุงรบกวน ก็พากันเข้าไปอาศัยอยู่ในสำนักของ
พราหมณ์ธูมการีตลอดฤดูฝน เพราะกลิ่นควันของพราหมณ์นั้น.
[๑๐๙๖] พราหมณ์นั้นเอาใจใส่อยู่กับพวกชะมด ไม่เอาใจใส่ถึงพวกแพะ ว่าจะ
มาเข้าคอกหรือไม่มา แพะของเขาเหล่านั้นได้หายไป.
[๑๐๙๗] พอถึงสารทสมัย และในป่ามียุงซาลงแล้ว พวกชะมดก็พากันเข้าไปสู่
ภูเขาทางที่กันดาร และต้นแม่น้ำทั้งหลาย ฯ
[๑๐๙๘] พราหมณ์เห็นพวกชะมดหนีไปหมด และแพะทั้งหลายหายไป ก็ซูบผอม
มีผิวพรรณซูบซีด เป็นโรคผอมเหลือง.
[๑๐๙๙] เป็นอย่างนี้แหละ ผู้ใดละเลยคนเก่าเสียมากระทำความรักกับคนใหม่
ผู้นั้นเป็นคนเดียว เศร้าโศกอยู่มาก เหมือนพราหมณ์ธูมการี ฉะนั้น.
จบ ธูมการีชาดกที่ ๘.
๙. ชาครชาดก
ว่าด้วยผู้หลับและตื่น
[๑๑๐๐] ในโลกนี้ ใครเป็นผู้หลับในระหว่างสัตว์ทั้งหลายผู้ตื่นอยู่ ใครเป็นผู้ตื่น
ในระหว่างสัตว์ทั้งหลายผู้หลับอยู่ ใครหนอรู้แจ้งปัญหาข้อนี้ ใครหนอจะ
แก้ปัญหาข้อนั้นของเราได้?
[๑๑๐๑] ข้าพเจ้าเป็นผู้หลับในระหว่างสัตว์ทั้งหลายผู้ตื่นอยู่ ข้าพเจ้าเป็นผู้ตื่นใน
ระหว่างสัตว์ทั้งหลายผู้หลับอยู่ ข้าพเจ้ารู้แจ้งปัญหาข้อนั้นของท่าน จะ
แก้ปัญหาข้อนั้นของท่านได้.
[๑๑๐๒] ท่านเป็นผู้หลับในระหว่างสัตว์ทั้งหลายผู้ตื่นอยู่อย่างไร ท่านเป็นผู้ตื่นใน
ระหว่างสัตว์ทั้งหลายผู้หลับอยู่อย่างไร ท่านรู้แจ้งปัญหาข้อนี้อย่างไร
ท่านจะแก้ปัญหาข้อนี้ของข้าพเจ้าอย่างไร?
[๑๑๐๓] ดูกรเทวดา ข้าพเจ้าตื่นอยู่ในระหว่างสัตว์ทั้งหลายผู้หลับอยู่ด้วยความ
ประมาท ไม่รู้ทั่วถึงธรรม ๒ ประการ คือ สัญญมะ ๑ ทมะ ๑.
[๑๑๐๔] ดูกรเทวดา ข้าพเจ้าหลับอยู่ในระหว่างพระอริยเจ้าทั้งหลายผู้สละราคะ
โทสะ และอวิชชา ตื่นอยู่.
[๑๑๐๕] ข้าพเจ้าเป็นผู้หลับในระหว่างสัตว์ทั้งหลายผู้ตื่นอยู่อย่างนี้ ข้าพเจ้าเป็นผู้
ตื่นในระหว่างสัตว์ทั้งหลายผู้หลับอยู่อย่างนี้ ข้าพเจ้ารู้แจ้งปัญหาข้อนี้
อย่างนี้ ข้าพเจ้าแก้ปัญหาของท่านอย่างนี้.
[๑๑๐๖] ถูกแล้ว ท่านเป็นผู้หลับในระหว่างสัตว์ทั้งหลายผู้ตื่นอยู่ เป็นผู้ตื่นอยู่ใน
ระหว่างสัตว์ทั้งหลายผู้หลับอยู่ ท่านรู้แจ้งปัญหาข้อนั้นของข้าพเจ้าถูก
แล้ว ท่านแก้ปัญหาข้อนั้นของข้าพเจ้าดีแล้ว.
จบ ชาครชาดกที่ ๙.
๑๐. กุมมาสปิณฑชาดก
ว่าด้วยอานิสงส์ถวายขนมกุมมาส
[๑๑๐๗] ได้ยินว่า การทำสามีจิกรรมในพระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อว่าอโนมทัสสี มี
คุณไม่น้อยเลย เชิญดูผลแห่งก้อนขนมกุมมาสแห้ง ไม่มีรสเค็ม. ส่งผล
ให้เราได้ช้าง ม้า วัว ทรัพย์ ข้าวเปลือกเป็นอันมากนี้ ตลอดทั้งแผ่น
ดินทั้งสิ้น และนางนารีเหล่านี้เปรียบด้วยนางอัปสร เชิญดูผลแห่งก้อน
ขนมกุมมาส.
[๑๑๐๘] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ผู้มีอัธยาศัยเป็นกุศล ผู้บำรุงรัฐให้เจริญ
พระองค์ตรัสคาถาเพลงขับเสมอๆ ขอพระองค์ผู้มีพระทัยเปี่ยมด้วยปีติ
อันแรงกล้า ได้โปรดตรัสบอกใจความแห่งคาถาเพลงขับที่หม่อมฉันทูล
ถามนั้นเถิด.
[๑๑๐๙] เราเกิดในตระกูลหนึ่งในนครนี้แหละ เป็นลูกจ้างทำงานให้คนอื่น ถึง
จะเป็นลูกจ้างทำการงานเลี้ยงชีวิต แต่เราก็มีศีลสังวร. วันนั้นเราออก
ไปทำงาน ได้เห็นสมณะ ๔ รูป ผู้ประกอบไปด้วยอาจาระและศีล เป็นผู้
เยือกเย็น ไม่มีอาสวะ.
เรามีจิตเลื่อมใสในสมณะเหล่านั้น จึงนิมนต์ให้ท่านนั่งบนอาสนะที่ลาด
ด้วยใบไม้แล้ว ได้ถวายขนมกุมมาสแก่ท่านด้วยมือของตน. ผลแห่งกุศล
กรรมนั้นของเราเป็นเช่นนี้ เราจึงได้เสวยราชสมบัตินี้ อันมีแผ่นดินแผ่
ไพศาลไปด้วยสมบัติทุกชนิด.
[๑๑๑๐] ข้าแต่พระองค์ผู้มีอัธยาศัยเป็นกุศล พระองค์ทรงประทานเสียก่อน จึงค่อย
เสวยเอง พระองค์อย่าทรงประมาทในบุญทั้งหลายมีทานเป็นต้น พระองค์
จงทรงยังจักร ๔ มีการอยู่ในประเทศอันสมควรเป็นต้นให้เป็นไป อย่าได้
ทรงตั้งอยู่ในอธรรมเลย จงทรงดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรมเถิด.
[๑๑๑๑] ดูกรพระราชธิดาของพระเจ้าโกศลผู้เลอโฉม เรานั้นจักประพฤติตามทางที่
พระอริยเจ้าประพฤติมาแล้วนั้นแลเสมอๆ พระอรหันต์ทั้งหลายเป็นที่
พอใจของเราแท้ เราปรารถนาจะได้เห็นท่าน.
[๑๑๑๒] ดูกรนางเทวีผู้เป็นพระราชธิดาที่รักของพระเจ้าโกศล เจ้างดงามอยู่ใน
ท่ามกลางหมู่นารี เปรียบเหมือนนางเทพอัปสรฉะนั้น เจ้าได้ทำกรรมดี
งามอะไรไว้ เจ้าเป็นผู้มีผิวพรรณผุดผ่องอย่างนี้ เพราะกรรมอะไร?
[๑๑๑๓] ข้าแต่พระมหากษัตริย์ หม่อมฉันเป็นทาสีทำการรับใช้ของตระกูลกฏุมพี
เป็นผู้สำรวมระวัง เป็นอยู่โดยธรรม มีศีล มีความเห็นชอบธรรม.
คราวนั้น หม่อมฉันมีจิตโสมนัส ได้ถวายอาหารที่เป็นส่วนของหม่อม
ฉัน แก่พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้กำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ ด้วยมือตนเอง
ผลแห่งกรรมนั้นของหม่อมฉัน เป็นเช่นนี้.
จบ กุมมาสปิณฑชาดกที่ ๑๐.
๑๑. ปรันตปชาดก
ลางบอกความชั่วและภัยที่จะมาถึง
[๑๑๑๔] ความชั่วและภัยจักมาถึงเรา เพราะกิ่งไม้ไหวคราวนั้น จะเป็นด้วยมนุษย์
หรือเนื้อทำให้ไหว ก็ไม่ปรากฏ.
[๑๑๑๕] ความกระสันถึงนางพราหมณีผู้หวาดกลัวซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก จักทำให้เรา
ผอมเหลือง เหมือนกิ่งไม้ทำนายปรันตปะให้ผอมเหลือง ฉะนั้น.
[๑๑๑๖] ภรรยาที่รักของเราอยู่ในบ้านเมืองพาราณสี มีรูปงาม จักเศร้าโศกถึงเรา
ความเศร้าโศกจักทำให้นางผอมเหลือง เหมือนกิ่งไม้ทำนายปรันตปะให้
ผอมเหลือง ฉะนั้น.
[๑๑๑๗] หางตาที่เจ้าชำเลืองมาก็ดี การที่เจ้ายิ้มแย้มก็ดี เสียงที่เจ้าพูดก็ดี จักทำ
เราให้ผอมเหลือง เหมือนกิ่งไม้ทำนายปรันตปะให้ผอมเหลือง ฉะนั้น.
[๑๑๑๘] เสียงกิ่งไม้นั้นได้มาปรากฏแก่ท่านแล้ว เสียงนั้นชะรอยจะมาบอกท่านได้
แน่แล้ว ผู้ใดสั่นกิ่งไม้นั้น ผู้นั้นได้มาบอกเหตุนั้นแน่แล้ว.
[๑๑๑๙] การที่เราผู้โง่เขลาคิดไว้ว่า กิ่งไม้ที่มนุษย์ หรือเนื้อทำให้ไหวในคราวนั้น
ได้มาถึงเราเข้าแล้ว ฯ
[๑๑๒๐] ท่านได้รู้ด้วยประการนั้นแล้ว ยังลวงฆ่าพระชนกของเราแล้ว เอากิ่งไม้
ปกปิดไว้ บัดนี้ ภัยจักตกมาถึงท่านบ้างละ.
จบ ปรันตปชาดกที่ ๑๑.
จบ คันธารวรรคที่ ๒.

******************************************
อรรถกถา มหากปิชาดก

ว่าด้วย คุณธรรมของหัวหน้า

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภญาตัตถจริยา คือการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อพระญาติ แล้วจึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า อตฺตานํ สงฺกมํ กตฺวา ดังนี้.

เรื่องจักมีแจ่มชัดใน ภัททสาลชาดก.

ก็ในกาลครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายตั้งเรื่องสนทนากันขึ้นในธรรมสภาว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงบำเพ็ญญาตัตถจริยา. พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เธอทั้งหลายนั่งสนทนากันด้วยเรื่องราวอะไร? เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่าด้วยเรื่องชื่อนี้ ดังนี้แล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่เฉพาะในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน ตถาคตก็บำเพ็ญญาตัตถจริยาเหมือนกัน แล้วได้ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในกำเนิดกระบี่ เติบโตแล้วถึงพร้อมด้วยส่วนยาวและส่วนกว้างสูงล่ำสัน มีกำลังวังชามาก มีพละกำลังเท่ากับช้าง ๕ เชือก มีฝูงกระบี่ ๘ หมื่นตัวเป็นบริวาร อาศัยอยู่ที่ถิ่นดินแดนหิมพานต์.

ณ ที่นั้นได้มีต้นอัมพะ คือมะม่วง ที่คนทั้งหลายเรียกว่า ต้นนิโครธ มีกิ่งก้านสาขาแผ่กว้าง มีใบดกหนา ร่มเงาหนา สูงเทียมยอดเขา อาศัยฝั่งแม่คงคา. ผลของมันหวานหอมคล้ายกับกลิ่นและรสผลไม้ทิพย์ ผลใหญ่มากประมาณเท่าหม้อใบใหญ่ๆ. ผลของกิ่งๆ หนึ่งของมันหล่นลงบนบก อีกกิ่งหนึ่งหล่นลงน้ำที่แม่คงคา. ส่วนผลของ ๒ กิ่งหล่นลงที่ท่ามกลางใกล้ต้น.

พระโพธิสัตว์ เมื่อพาฝูงกระบี่ไปกินผลไม้ที่ต้นนั้นคิดว่า สักเวลาหนึ่ง ภัยจักเกิดขึ้นแก่พวกเรา เพราะอาศัยผลไม้ต้นนี้ที่หล่นลงในน้ำ แล้วจึงให้ฝูงกระบี่กินผลไม้ของกิ่งบนยอดที่ทอดไปเหนือน้ำ ด้วยไม่ให้เหลือแม้แต่ผลเดียว ตั้งแต่เวลาผลเท่าแมลงหวี่ ในเวลาออกช่อ.

แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น ผลสุกผลหนึ่งที่ซ่อนอยู่ในรังมดแดง ฝูงวานรแปดหมื่นตัวมองไม่เห็น หล่นลงไปในน้ำ ติดที่ข่ายด้านบนของพระเจ้าพาราณสี ผู้ทรงให้ขึงไว้ทั้งด้านบนและด้านล่าง แล้วทรงกีฬาน้ำ. ในเวลาที่พระราชาทรงเล่นตอนกลางวันแล้วตอนเย็นเสด็จกลับ พวกชาวประมงพากันกู้ข่าย เห็นผลไม้สุกผลนั้น แล้วไม่รู้ว่าผลไม้นี้มีชื่อโน้น จึงนำไปถวายพระราชาให้ทอดพระเนตร.

พระราชาตรัสถามว่า นี่ผลอะไรกัน?

ชาวประมง ข้าพระพุทธเจ้าไม่ทราบ พระพุทธเจ้าข้า.

พระราชา ใครจักทราบ?

ชาวประมง พรานไพร พระพุทธเจ้าข้า.

พระราชารับสั่งให้เรียกพรานไพรมา ตรัสถามแล้ว ก็ทรงทราบว่า เป็นผลมะม่วงสุก แล้วทรงใช้พระแสงกริชเฉือน ให้พรานไพรรับประทานก่อน ภายหลังก็เสวยด้วยพระองค์เอง. พระราชทานให้พระสนมบ้าง อำมาตย์บ้างรับประทานกัน. รสของผลมะม่วงสุกแผ่ซาบซ่านไปทั่วพระสรีระทั้งสิ้นของพระราชา.

พระราชานั้นทรงติดพระทัยในความยินดีชอบใจในรส ได้ตรัสถามพวกพรานไพรถึงที่อยู่ของต้นไม้นั้น เมื่อพวกเขาทูลว่า ที่ฝั่งแม่น้ำในท้องถิ่นดินแดนแห่งหิมพานต์ จึงรับสั่งให้คนจำนวนมากต่อเรือขนาน แล้วได้เสด็จทวนกระแสน้ำขึ้นไป ตามทางที่พวกพรานไพรทูลชี้แนะ แต่พวกพรานไม่ได้ทูลบอกกำหนดว่า สิ้นเวลาเท่านี้วัน. ถึงที่นั้นตามลำดับแล้ว พวกพรานไพรจึงทูลพระราชาว่า นี่คือต้นไม้ที่ประเสริฐ พระพุทธเจ้าข้า. พระราชารับสั่งให้จอดเรือไว้ที่แม่น้ำแล้ว มีมหาชนห้อมล้อมเสด็จดำเนินไป ณ ที่นั้นด้วยพระบาท ทรงให้ปูที่บรรทมที่ควงไม้ เสวยผลมะม่วงสุก แล้วเสวยพระกระยาหารมีรสเลิศนานาชนิดเสร็จแล้วก็บรรทม. ราชบุรุษทั้งหลายวางยามแล้วก่อกองไฟไว้ทุกทิศ.

เมื่อมนุษย์ทั้งหลายหลับกันแล้ว พระมหาสัตว์จึงได้ไปกับด้วยบริษัทในเวลาเที่ยงคืน. วานร ๘๐,๐๐๐ ตัวพากันไต่ไปกินผลมะม่วงสุกจากกิ่งหนึ่งไปยังกิ่งหนึ่ง. พระราชาทรงตื่นบรรทม ทรงเห็นฝูงกระบี่ จึงทรงปลุกให้คนทั้งหลายตื่นขึ้น แล้วรับสั่งให้เรียกพวกแม่นธนูมา แล้วตรัสว่า พรุ่งนี้สูเจ้าทั้งหลายจงพากันล้อมยิงพวกวานรเหล่านั้น ที่กินผลไม้โดยไม่ให้มันหนีไป. พรุ่งนี้ฉันจะกินผลมะม่วงและเนื้อวานร. พวกแม่นธนูทูลรับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ แล้วพากันยืนล้อมต้นไม้แล้วขึ้นลูกศรไว้.

พวกวานรได้เห็นพวกเขากลัวภัยคือความตาย ไม่อาจหนีไปได้ จึงพากันเข้าไปหาพระมหาสัตว์ ยืนสั่นสะท้านอยู่พลางถามว่า ข้าแต่สมมุติเทพ พวกคนแม่นธนูยืนล้อมต้นไม้ด้วยหมายใจว่า พวกเราจักยิงลิงตัวที่หนีไป พวกเราจักทำอย่างไรกัน? พระโพธิสัตว์ปลอบใจฝูงวานรว่า สูเจ้าทั้งหลายอย่ากลัว ฉันจักให้ชีวิตแก่พวกเธอ แล้วได้วิ่งขึ้นกิ่งไม้กิ่งที่ชี้ไปตรงๆ แล้วไต่กิ่งที่ชี้ไปตรงหน้าแม่น้ำคงคา กระโดดจากปลายกิ่งนั้น เลยที่ประมาณชั่วร้อยคันธนูไปตกลงที่ยอดพุ่มไม้พุ่มหนึ่ง ลงจากพุ่มไม้นั้นแล้ว กำหนดอากาศระยะทางไว้ว่า ที่ๆ เรามาประมาณเท่านี้ แล้วกัดเครือหวายเถาหนึ่งที่โคนแกะกาบออกแล้ว กะช่วงระยะไว้ ๒ ช่วงนี้ คือ ช่วงระยะเท่านี้จักผูกต้นไม้ช่วงระยะเท่านี้ จักขึงไปในอากาศ แต่ไม่ได้กะช่วงระยะสำหรับผูกสะเอวของตน.

เขาลากเอาเครือหวายเถานั้นไปผูกเส้นหนึ่งไว้ที่ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ผูกเส้นหนึ่งไว้ที่สะเอวของตน กระโดดไปสู่สถานที่ประมาณชั่วร้อยคันธนูโดยเร็ว เหมือนเมฆถูกลมพัดหอบไปฉะนั้น เพราะไม่ได้กะช่วงระยะที่ผูกสะเอวไว้ จึงไม่อาจจะขึงต้นไม้ได้จึงเอามือทั้ง ๒ ยึดกิ่งมะม่วงไว้ให้แน่นแล้ว ได้ให้สัญญาณแก่ฝูงวานรว่า สูเจ้าทั้งหลายจงเหยียบหลังฉันไต่ไปอย่างปลอดภัย ตามเครือหวายโดยเร็ว.

วานร ๘ หมื่นตัวไหว้ขอขมาพระมหาสัตว์แล้วได้ไปอย่างนั้น. ฝ่ายพระเทวทัตครั้งนั้นเป็นลิงอยู่ในจำนวนลิงเหล่านั้น คิดว่า นี้เป็นเวลาที่จะได้เห็นหลังศัตรูของเราแล้ว จึงขึ้นกิ่งไม้สูงให้เกิดกำลังเร็ว แล้วตกลงบนหลังของพระมหาสัตว์ กระโดดลงเหยียบหลังพระมหาสัตว์ด้วยกำลังเร็ว หัวใจของพระมหาสัตว์แตก เกิดเวทนามีกำลังแรงกล้าขึ้น.

ฝ่ายลิงเทวทัตนั้น ทำพระมหาสัตว์นั้นให้ได้รับเวทนาแล้วก็หลีกไป. พระมหาสัตว์ได้อยู่ลำพังตัวเดียว. พระราชาบรรทมยังไม่หลับ ทอดพระเนตรเห็นกิริยาที่พวกวานร และพระมหาสัตว์กระทำทุกอย่างแล้ว ทรงบรรทมพลางดำริว่า วานรตัวนี้เป็นสัตว์เดียรฉาน ได้ทำความสวัสดีแก่บริษัททีเดียว โดยมิได้คำนึงถึงชีวิตของตน.

เมื่อสว่างแล้ว พระองค์ทรงพอพระทัยต่อพระมหาสัตว์ ทรงดำริว่า เราไม่ควรให้ขุนกระบี่นี้พินาศไป เราจักให้เอาขุนกระบี่นั้นลงมาปฏิบัติรักษา แล้วได้รับสั่งให้จอดเรือขนานไว้ภายในแม่น้ำคงคา ทรงให้ผูกกรงไว้บนนั้นแล้วให้ค่อยๆ ยกขุนกระบี่ลงมา แล้วรับสั่งให้คลุมผ้ากาสาวพัสตร์บนหลัง ให้อาบน้ำในแม่น้ำคงคา ให้ดื่มน้ำอ้อย ให้เอาน้ำมันที่เจียวแล้วพันครั้ง ชะโลมบนหลัง ให้ปูหนังแพะบนที่นอนแล้ว ทรงให้ขุนกระบี่นั้นนอนบนที่นอนนั้น
พระองค์เองประทับนั่งบนอาสนะต่ำ ได้ตรัสคาถาที่ ๑ ว่า :-

ดูก่อนขุนกระบี่ ท่านได้ทอดตัวเป็นสะพานให้เหล่าวานรข้ามไปโดยสวัสดี ท่านเป็นอะไรกับวานรเหล่านั้น และวานรเหล่านั้นเป็นอะไรกับท่าน ?

คาถานั้นมีเนื้อความว่า ดูก่อนขุนกระบี่ผู้เจริญ ท่านทำตนให้เป็นสะพานคือยกตนให้เป็นคาน แล้วสละชีพให้ฝูงวานรเหล่านี้ข้ามไปโดยสวัสดี คือให้ข้ามไปโดยเกษม. ท่านได้เป็นอะไรกับพวกเขาหรือพวกเขาเหล่านี้ ได้เป็นอะไรกับท่าน หรือวานรเหล่านี้เป็นอะไรกับเรา.

พระโพธิสัตว์ได้สดับคำนั้นแล้ว เมื่อจะตักเตือนพระราชา จึงกล่าวคาถาที่เหลือว่า :-

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงปราบข้าศึก ข้าพระองค์เป็นพญาวานรผู้เป็นใหญ่ ปกครองฝูงวานรเหล่านั้น เมื่อพวกเขาถูกความโศกครอบงำ หวาดกลัวพระองค์.

ข้าพระองค์ได้ทะยานพุ่งตัว ที่มีเครื่องผูก คือเถาวัลย์ผูกสะเอวไว้แน่น ไปจากต้นไม้ต้นนั้น ชั่วระยะร้อยคันธนูที่ปลดสายแล้ว

กลับมาถึงต้นไม้เหมือนเมฆถูกลมหอบไปฉะนั้น แต่ข้าพระองค์นั้นไปไม่ถึงต้นไม้นั้น จึงได้ใช้มือจับกิ่งไม้ไว้.

พวกวานรได้พากันเอาเท้าเหยียบข้าพระองค์นั้น ผู้ถูกกิ่งไม้และเถาวัลย์รั้งไว้จนตึง เหมือนสายพิณที่ขึงตึง แล้วไต่ไปโดยสวัสดี.

การผูกมัดไว้ จึงไม่เผาลนข้าพระองค์ให้เดือดร้อน ผู้ฆ่าก็จักไม่ให้ข้าพระองค์เดือดร้อน เพราะข้าพระองค์ได้นำความสุขมาให้เหล่าวานรที่ให้ข้าพระองค์ครองความเป็นใหญ่.

ข้าแต่พระราชาผู้ทรงปราบข้าศึก ข้าพระองค์จะยกอุปมาถวายพระองค์ ขอพระองค์จงทรงสดับข้ออุปมานั้น ธรรมดากษัตริย์ผู้เป็นพระราชา ทรงพระปรีชาสามารถ ควรแสวงหาความสุขให้แก่รัฐ ยวดยานพาหนะ กำลังพล และนิคมทั่วหน้ากัน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เตสํ ได้แก่วานร ๘ หมื่นตัวเหล่านั้น. บทว่า ภีตานนฺเต ความว่า ผู้หวาดกลัวพระองค์ผู้ทรงประทับยืนสั่งการให้ยิง. พระยาวานรร้องเรียกพระราชาว่า อรินทมะ. บทว่า วิสฺสฏฺฐธนุโน สตํ ความว่า ผู้กระโดดพุ่งตัวไปในอากาศถึงที่ประมาณชั่วร้อยคันธนูที่ยกขึ้นวัด. บทว่า ตโต ความว่า จากต้นไม้ต้นนี้ คือจากที่ที่กระโดดไป. บทว่า อปรปาเทสุ ความว่า ที่เบื้องหลังเท้า.

คำว่า อปรปาเทสุ นี้ ท่านกล่าวหมายถึงบั้นเอว. เพราะว่าพระโพธิสัตว์ผูกเถาวัลย์นั้นไว้ที่บั้นเอวให้มั่นแล้ว ยันพื้นดินด้วยเท้าหลังทยานไปสู่อากาศด้วยกำลังเร็วของลม. บทว่า นุณฺโณ รุกฺขมุปาคมึ ความว่า ข้าพระองค์พุ่งไปด้วยลมของตนที่ให้เกิดกำลังเร็ว เหมือนกับก้อนเมฆถูกลมหอบไปฉะนั้น คือเป็นผู้พุ่งไปด้วยกำลังเร็วของตน เหมือนก้อนเมฆที่ถูกลมหอบลอยไปตามลมฉะนั้น แล้วได้กลับมาถึงต้นมะม่วงนี้.

บทว่า อปฺปภวํ มีเนื้อความว่า ข้าพระองค์นั้นไปไม่ถึงต้นไม้ยังขาดอยู่ประมาณช่วงตัว จึงใช้มือจับกิ่งไม้นั้นไว้. บทว่า วีณายตํ ความว่า ข้าพระองค์มีร่างกายถูกกิ่งไม้และเครือหวายเหนี่ยวรั้งไว้ เหมือนสายพิณที่ขึงจนตึงฉะนั้น. บทว่า สมนุกฺกมนฺตา ความว่า เหล่าวานรที่ข้าพระองค์อนุญาตแล้ว ไหว้ข้าพระองค์ขอขมาแล้ว ใช้เท้าไต่ คือเหยียบไปโดยสวัสดี ไม่มีขาดเลย.

บทว่า ตํ มํ น ตปฺปตี พนฺโธ ความว่า การผูกด้วยเถาวัลย์นั้น ก็ไม่ทำให้ข้าพระองค์เดือดร้อนเลย ถึงบัดนี้ ความตายก็ไม่ทำให้ข้าพระองค์เดือดร้อน เพราะเหตุไร?

บทว่า สุขมาหริตํ เตสํ ความว่า ข้าแต่มหาราช เพราะเหตุที่วานรเหล่านั้นพูดว่า ท่านผู้นี้จักบำบัดทุกข์แม้ที่เกิดขึ้นแก่พวกเราแล้วบำรุงสุขให้ได้แล้ว จึงได้พากันแต่งตั้งให้ข้าพระองค์เป็นใหญ่. ฝ่ายข้าพระองค์ก็พูดเหมือนกันว่า เราจักบำบัดทุกข์ที่เกิดขึ้นให้สูเจ้าทั้งหลาย แล้วจึงได้กลายเป็นหัวหน้า คือพญาของวานรเหล่านั้น.

วันนี้ ข้าพระองค์ได้บำบัดมรณทุกข์นั้น แล้วนำความสุขมาให้พวกวานรเหล่านั้นแล้ว ด้วยเหตุนั้น การผูกมัดไว้จึงไม่เผารนข้าพระองค์ให้เดือดร้อน เพชฌฆาตคือมรณะก็จักไม่ยังข้าพระองค์ให้เดือดร้อน.

บทว่า เอสา เต อุปมา ความว่า ข้าแต่มหาราช นี้คือข้ออุปมาการกระทำที่ข้าพระองค์จะได้ถวายแก่พระองค์. บทว่า ตํ สุณาหิ ความว่า เพราะเหตุนั้น ขอพระองค์จงทรงสดับคำตักเตือน ที่ข้าพระองค์กำลังถวายพระองค์โดยทรงเทียบเคียงกับอุปมานี้.

บทว่า รญฺญา รฏฺฐสฺส มีอธิบายว่า ข้าแต่มหาราช ธรรมดาพระราชาผู้ไม่ทรงบีบคั้นแว่นแคว้นราษฎร เหมือนหีบอ้อยเลย ทรงละการลุอำนาจอคติ ผูกใจเขาอยู่ด้วยสังคหวัตถุธรรม ๔ อย่าง ทรงดำรงอยู่ในราชธรรม ๑๐ ประการ แล้วทรงสละชีวิตของตนเหมือนข้าพระองค์ แล้วควรแสวงหา คือเสาะหาความสุขเท่านั้น แก่แว่นแคว้นทั้งสิ้น ยานพาหนะที่เทียมแล้วมีรถและเกวียนเป็นต้นที่ชื่อว่า ยวดยานกำลังพล กล่าวคือพลเดินเท้า และแก่นิคม กล่าวคือนิคมและชนบททั่วหน้ากันด้วยพระดำริว่า เราจักมีประโยชน์อะไรสำหรับท่านราษฎรทั้งหลาย ปราศจากความหวาดกลัว หน้าร้อนเปิดประตูได้ ญาติและมิตรทั้งหลายห้อมล้อมแล้ว ให้บุตรหลานชื่นใจ ลมเย็นโชยมา รับประทานอาหารซึ่งเป็นของตนตามชอบใจ ควรเป็นผู้พร้อมพรั่งด้วยความสุขกายสบายใจ.

บทว่า ขตฺติเยน ปชานตา ความว่า ก็พระราชานี้ผู้ได้พระนามว่า กษัตริย์ เพราะทรงเป็นผู้ยิ่งใหญ่แห่งเกษตร คือเจ้าของที่นา ควรเป็นผู้ทรงปรีชา คือทรงสมบูรณ์ด้วยพระปรีชาญาณเกินคนที่เหลือ.

มหาสัตว์ เมื่อตักเตือนและพร่ำสอนพระราชาอย่างนี้อยู่ก็ได้ถึงแก่กรรม.

พระราชาตรัสเรียกอำมาตย์มาแล้วตรัสว่า เธอทั้งหลายจงทำสรีรกิจของขุนกระบี่นี้ให้เหมือนสรีรกิจของพระราชา แม้ในฝ่ายใน อิตฺถาคารํปิ คือเรือนนางสนม ห้องพระมเหสี ก็ทรงบังคับว่า เธอทั้งหลายจงพากันนุ่งห่มผ้าแดง สยายผม มีหัตถ์ถือประทีปด้าม ห้อมล้อมขุนกระบี่ไปป่าช้า.

อำมาตย์ทั้งหลายตั้งเชิงตะกอนด้วยฟืนเท่าลำเกวียน เผาศพมหาสัตว์ ทำนองเดียวกับถวายพระเพลิงพระราชา. แล้วได้ถือกระโหลกศีรษะไปสู่สำนักพระราชา. พระราชาทรงให้สร้างเจดีย์ไว้ที่ป่าช้าของมหาสัตว์ให้ตามประทีป บูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น แล้วทรงให้เลี่ยมกระโหลกศีรษะด้วยทองคำ วางไว้ที่ปลายหลาว ให้สร้างไว้ข้างหน้า ทรงบูชาอยู่ด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น จึงเสด็จไปเมืองพาราณสี ให้ตั้งไว้ที่ประตูพระราชวัง แล้วทรงให้ตระเตรียมพระนคร กระทำการบูชาธาตุตลอด ๗ วัน.

ต่อมา พระองค์ก็ทรงให้รับเอาธาตุนั้นมาสร้างเจดีย์ไว้ บูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น ตลอดพระชนม์ชีพ ทรงดำรงอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ บำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น ครองราชสมบัติโดยธรรม แล้วได้มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจธรรมทั้งหลาย แล้วทรงประชุมชาดกไว้ว่า.
พระราชาในครั้งนั้น ได้แก่ พระอานนท์ ในบัดนี้
ลิงวายร้ายได้แก่ พระเทวทัต
บริษัททั้งหลายได้แก่ พุทธบริษัท
ส่วนขุนกระบี่ ได้แก่ เราตถาคต ฉะนี้แล.

จบอรรถกถามหากปิชาดกที่ ๒

*****************************************
ขอบตุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ




 

Create Date : 18 เมษายน 2549
0 comments
Last Update : 18 เมษายน 2549 20:15:19 น.
Counter : 388 Pageviews.


พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.