Group Blog
 
<<
เมษายน 2549
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
20 เมษายน 2549
 
All Blogs
 

แนะนำชาดก ตอนที่6

ชาดกในวันนี้เป็นเรื่องของธรรมเทวบุตรกับอธรรมเทวบุตรครับ ทั้งสองต่างเป็นเทวดา ธรรมเทวบุตรเที่ยวป่าวประกาศให้ชนทั้งหลายประพฤติกุศลกรรมบถ10ประการ อธรรมเทวบุตรเองก็ป่าวประกาศให้มนุษย์และเทวดาประพฤติอกุศลกรรมบถ หลายท่านทราบได้ว่าอธรรมเทวบุตรนั้นคือพระเทวทัตในสมัยพุทธกาลนั่นเอง ที่บังเกิดในยุคสมัยเดียวกับพระโพธิสัตว์ครั้งใดเป็นต้องเบียดเบียนพระโพธิสัตว์ทุกครั้งไป ครั้งนี้ต่างออกไปที่พระโพธิสัตว์เป็นเทวดาผู้มีฤทธิ์ไม่ด้อยกว่าอีกฝ่าย สองฝ่ายเขื่อมั่นในอุดมคติของตนต่างมาพบกันในระหว่างทาง ต่างฝ่ายมิได้หลีกทางแก่กัน พระโพธิสัตว์มิใช่ดื้อดึงหากแต่เคารพในธรรมว่าเป็นสิ่งประเสริฐจึงมิยอมหลีกทาง อธรรมเทวบุตรเชื่อมั่นในกำลังรบว่าไม่แพ้แก่ผู้ใดทั้งยังปรารถนาการหักหาญเอาชัยเป็นที่ยิ่ง ธรรมเทวบุตรมิปรารถนาการรบด้วยเห็นว่าอธรรมเทวบุตรใช้การรบเอาชนะเป็นวิสัยของผู้ไร้อาจารย์ที่เป็นบัณฑิตผู้ควรเคารพ ตนมีขันติ เคารพในธรรมคือความอดกลั้น จะยอมหลีกทางให้ อธรรมเทวบุตรบันดาลโทสะอันเป็นข้อห้ามแก่เทวดาที่จะจุติเพราะความโกรธรุนแรง ได้ตกจากราชรถไปสู่อเวจีมหานรก

ในสังคมยุคนี้ผมเห็นผู้คนกล้าประกาศธรรมอันเลวทรามของตนกันได้ออกหน้าออกตา ผมคิดว่าเราจะกล่าวธรรมอันบริสุทธิ์ เป็นที่พึ่งอันเที่ยงแท้ของผู้ไม่ประมาทบ้าง จะต้องไปอายใครครับ

พระสูตรในวันนี้ยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม 19 ขุททกนิกาย ชาดก ภาค 1 เอกาทสกนิบาตชาดก

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

***********************************************
๑. มาตุโปสกชาดก
ว่าด้วยเรื่องพญาช้างผู้เลี้ยงมารดา
[๑๔๙๓] ไม้อ้อยช้าง ไม้มูกมัน ไม้ช้างน้าว หญ้างวงช้าง ข้าวฟ่าง และลูก
เดือย งอกงามขึ้นแล้วเพราะพญาช้างนั้นพลัดพรากไป อนึ่ง ต้น
กรรณิการ์ทั้งหลายที่เชิงเขาก็เผล็ดดอกบาน.
[๑๔๙๔] พระราชา หรือพระราชกุมาร ประทับนั่งบนคอพญาช้างใด เป็นผู้ไม่มี
ความสะดุ้ง ย่อมกำจัดเสียซึ่งปัจจามิตรทั้งหลาย อิสรชนผู้ประดับ
ด้วยอาภรณ์อันงดงามผู้หนึ่ง ย่อมเลี้ยงดูพญาช้างนั้นด้วยก้อนข้าว.
[๑๔๙๕] ดูกรพญาช้างตัวประเสริฐ เชิญพ่อรับเอาคำข้าวเถิด อย่าผ่ายผอมเลย
ราชกิจมีเป็นอันมาก ท่านจะต้องทำราชกิจเหล่านั้น.
[๑๔๙๖] นางช้างนั้นเป็นกำพร้า ตาบอด ไม่มีผู้นำทางคงจะสดุดตอไม้ล้มลงตรง
ภูเขาจัณโฑรณะเป็นแน่.
[๑๔๙๗] ดูกรพญาช้าง นางช้างตาบอดหาผู้นำทางมิได้ คงจะสดุดตอไม้ล้มลงตรง
ภูเขาจัณโฑรณะนั้นเป็นอะไรกับท่านหรือ.
(เมื่อพราหมณ์เดินทางยืนขออยู่ บัณฑิตทั้งหลายไม่กล่าวควรว่าไป)
[๑๔๙๘] ข้าแต่พระมหาราชา นางช้างตาบอดไม่มีผู้นำทาง คงจะสดุดตอไม้ล้มลง
ตรงภูเขาชื่อจัณโฑรณะนั้น เป็นมารดาของข้าพระองค์.
[๑๔๙๙] พญาช้างนี้ย่อมเลี้ยงดูมารดา ท่านทั้งหลายจงปล่อยพญาช้างนั้นเสียเถิด
พญาช้างตัวประเสริฐจงอยู่ร่วมกับมารดา พร้อมด้วยญาติทั้งหลายเถิด.
[๑๕๐๐] พญาช้างอันพระเจ้ากาสีทรงปล่อยแล้ว พอหลุดจากเครื่องผูก พักอยู่
ครู่หนึ่ง ได้ไปยังภูเขา จากนั้นเดินไปสู่สระบัวอันเย็นที่เคยซ่องเสพมา
แล้วดูดน้ำด้วยงวงมารดมารดา.
[๑๕๐๑] ฝนอะไรนี้ไม่ประเสริฐเลย ย่อมตกโดยกาลที่ไม่ควรตก บุตรเกิดใน
ตนของเราเป็นผู้บำรุงเรา ไปเสียแล้ว.
[๑๕๐๒] เชิญท่านลุกขึ้นเถิด จะมัวนอนอยู่ทำไม ฉันผู้เป็นลูกของแม่มาแล้ว
พระเจ้ากาสีผู้ทรงพระปรีชาญาณ มีบริวารยศใหญ่หลวงทรงปล่อยมาแล้ว.
[๑๕๐๓] พระราชาพระองค์ใดทรงปล่อยลูกของเราผู้ประพฤติอ่อนน้อมต่อบุคคลผู้
เจริญทุกเมื่อ ขอพระราชาพระองค์นั้นจงทรงพระชนม์ยืนนาน ทรงบำรุง
แคว้นกาสีให้เจริญรุ่งเรืองเถิด.
จบ มาตุโปสกชาดกที่ ๑.
๒. ชุณหชาดก
ว่าด้วยการคบบัณฑิตและคบคนพาล
[๑๕๐๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน ขอพระองค์ทรงสดับคำของข้าพระองค์
ข้าพระองค์มาถึงในที่นี้ด้วยประโยชน์ในพระเจ้าชุณหะ ข้าแต่พระองค์ผู้
ประเสริฐกว่าสัตว์ ๒ เท้าทั้งหลาย เมื่อพราหมณ์เดินทางยืนขออยู่
บัณฑิตทั้งหลายไม่กล่าวว่า ควรไป.
[๑๕๐๕] ดูกรพราหมณ์ ข้าพเจ้ากำลังรอฟังอยู่ ท่านมาถึงในที่นี้ด้วยประโยชน์
อันใด จงบอกประโยชน์อันนั้น หรือว่าท่านปรารถนาประโยชน์อะไร
ในข้าพเจ้าจึงมาในที่นี้ เชิญท่านพราหมณ์บอกมาเถิด.
[๑๕๐๖] ขอพระองค์โปรดพระราชทานบ้านส่วย ๕ ตำบลแก่ข้าพระองค์ ทาสี
๑๐๐ คน โค ๗๐๐ ทองเนื้อดี ๑๐๐๐ แท่ง ขอได้ทรงโปรดประทาน
ภรรยาผู้พริ้มเพราแก่ข้าพระองค์ ๒ คน.
[๑๕๐๗] ดูกรพราหมณ์ ตบะอันมีกำลังกล้าของท่านมีอยู่หรือ หรือว่ามนต์ขลัง
ของท่านมีอยู่ หรือว่ายักษ์บางพวกผู้เชื่อฟังถ้อยคำของท่านมีอยู่ หรือ
ว่าท่านยังจำได้ถึงประโยชน์ที่ท่านทำแล้วแก่เรา?
[๑๕๐๘] ตบะของข้าพระองค์มิได้มี แม้มนต์ของข้าพระองค์ก็มิได้มี ยักษ์บางพวกผู้
เชื่อฟังถ้อยคำของข้าพระองค์ก็ไม่มี อนึ่ง ข้าพระองค์ก็จำไม่ได้ถึงประ-
โยชน์ ที่ข้าพระองค์ทำแล้วแก่พระองค์ ก็แต่ว่า เมื่อก่อนได้มีการพบปะ
กันเท่านั้นเอง.
[๑๕๐๙] ข้าพเจ้ารู้อยู่ว่า การเห็นนี้เป็นการเห็นครั้งแรก นอกจากนี้ข้าพเจ้าจำ
ไม่ได้ถึงการพบกันในครั้งใดเลย ข้าพเจ้าถามถึงเรื่องนั้น ขอท่านจง
บอกแก่ข้าพเจ้าว่า เราได้เคยพบกันเมื่อไรหรือที่ไหน?
[๑๕๑๐] ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พระองค์และข้าพระองค์ได้อยู่กันมาแล้วใน
เมืองตักกสิลา อันเป็นเมืองที่รื่นรมย์ของพระเจ้าคันธารราช พระองค์
กับข้าพระองค์ได้กระทบไหล่กันในความมืด มีหมอกทึบในนครนั้น ข้า
แต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน พระองค์และข้าพระองค์ยืนกันอยู่ในที่
ตรงนั้น เจรจาปราศรัยด้วยคำอันให้ระลึกถึงกันที่ตรงนั้นแล เป็นการ
พบกันแห่งพระองค์และข้าพระองค์ ภายหลังจากนั้นมิได้มี ก่อนแต่
นั้นก็ไม่มี.
[๑๕๑๑] ดูกรพราหมณ์ การสมาคมกับสัปบุรุษย่อมมีในหมู่มนุษย์บางครั้งบาง
คราว บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ทำการพบปะกัน ความสนิทสนม หรือ
คุณที่กระทำไว้แล้วในกาลก่อนให้เสื่อมสูญไป.
[๑๕๑๒] ส่วนคนพาลทั้งหลาย ย่อมทำการพบปะกัน ความสนิทสนม หรือคุณที่
เขาทำไว้ในกาลก่อนให้เสื่อมสูญไป คุณที่ทำไว้ในคนพาลทั้งหลาย ถึง
จะมากมายก็ย่อมเสื่อมไปหมด เพราะว่าคนพาลทั้งหลายเป็นคนอกตัญญู.
[๑๕๑๓] ส่วนนักปราชญ์ทั้งหลาย ย่อมไม่ทำการพบปะกัน ความสนิทสนม หรือ
คุณที่เขาทำไว้ในกาลก่อน ให้เสื่อมสูญไป คุณที่ทำไว้ในนักปราชญ์
ทั้งหลาย ถึงจะน้อยก็ย่อมไม่เสื่อมหายไป เพราะว่านักปราชญ์ทั้งหลาย
เป็นผู้มีความกตัญญูดี ข้าพเจ้าจะให้บ้านส่วย ๕ ตำบลแก่ท่าน ทาสี
๑๐๐ คน โค ๗๐๐ ทองเนื้อดี ๑๐๐๐ แท่ง และภรรยาผู้พริ้มเพรา ๒
คน มีชาติและตระกูลเสมอกัน แก่ท่าน.
[๑๕๑๔] ข้าแต่พระราชา การสมาคมกับสัตบุรุษย่อมเป็นอย่างนี้ ข้าแต่พระองค์
ผู้เป็นใหญ่ในกาสิกรัฐ ข้าพระองค์บริบูรณ์ไปด้วยสมบัติ มีบ้านส่วย
เป็นต้น เหมือนพระจันทร์ตั้งอยู่ท่ามกลางแห่งหมู่ดาวทั้งหลาย ฉะนั้น
การสังคมกับพระองค์นั่นแล เป็นอันว่าข้าพระองค์ได้แล้วในวันนี้เอง.
จบ ชุณหชาดกที่ ๒.
๓. ธรรมเทวปุตตชาดก
ว่าด้วยเรื่องธรรมชนะอธรรม
[๑๕๑๕] ดูกรอธรรมเทพบุตร ข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่ค้ายศ ไม่ค้าบุญ สมณะและพราหมณ์
สรรเสริญทุกเมื่อ ข้าพเจ้าเป็นผู้มีธรรม อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว
คู่ควรแก่หนทาง ท่านจงให้หนทางแก่เรา.
[๑๕๑๖] ดูกรธรรมเทพบุตร เราผู้ชื่อว่าอธรรมขึ้นสู่ยามแห่งอธรรมอันมั่นคง ไม่
เคยกลัวใคร มีกำลังเข้มแข็ง เราจะพึงให้ทางที่ไม่เคยให้ใครแก่ท่านใน
วันนี้ เพราะเหตุอะไรเล่า?
[๑๕๑๗] ธรรมแลปรากฏก่อน ภายหลังอธรรมจึงเกิดขึ้นในโลก เราเป็นผู้เจริญ
กว่า ประเสริฐกว่า ทั้งเก่ากว่า ขอจงให้ทางแก่เราเถิด น้องเอ๋ย.
[๑๕๑๘] เราจะไม่ให้หนทางแก่ท่าน เพราะการขอร้องหรือเพราะความเป็นผู้สมควร
ในวันนี้เราทั้งสองจงมารบกัน แล้วหนทางจะเป็นของผู้ชนะในการรบ.
[๑๕๑๙] เราผู้ชื่อว่าธรรม เป็นผู้ฤาชาปรากฏไปทั่วทุกทิศ มีกำลังมาก มียศประมาณ
ไม่ได้ ไม่มีผู้เสมอเหมือน ประกอบด้วยคุณทั้งปวง อธรรมเอ๋ย ท่าน
จักชนะได้อย่างไร?
[๑๕๒๐] เขาเอาฆ้อนเหล็กตีทองอย่างเดียว หาได้เอาทองตีเหล็กไม่ ถ้าหากว่าเรา
ผู้ชื่อว่าอธรรม ฆ่าท่านผู้ชื่อว่าธรรมในวันนี้ได้ เหล็กจะน่าดู น่าชมเหมือน
ทองคำ ฉะนั้น.
[๑๕๒๑] ดูกรอธรรมเทพบุตร ถ้าหากว่าท่านเป็นผู้มีกำลังในการรบไซร้ ผู้หลัก
ผู้ใหญ่ และครูของท่านมิได้มี เราจะย่อมให้หนทางอันเป็นที่รักด้วย
อาการอันไม่เป็นที่รักของท่าน ทั้งจะขออดทนถ้อยคำชั่วๆ ของท่าน.
[๑๕๒๒] อธรรมเทพบุตรได้ฟังคำนี้แล้ว ก็เป็นผู้มีศีรษะลงเบื้องต่ำ มีเท้าขึ้นเบื้อง
สูง ตกลงจากรถ รำพันเพ้อว่าเราปรารถนาจะรบก็ไม่ได้รบ อธรรม
เทพบุตรถูกตัดรอนเสียแล้ว ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้.
[๑๕๒๓] ธรรมเทพบุตรผู้มีขันติเป็นกำลัง มีจิตเที่ยงตรง มีกำลังมาก มีความบาก
บั่นอย่างแท้จริง ชำนะกำลังรบ ได้ฆ่าอธรรมเทพบุตรฝังเสียในแผ่นดิน
แล้ว ขึ้นสู่รถของตนไปโดยหนทางนั่นเทียว.
[๑๕๒๔] มารดา บิดา และสมณพราหมณ์ ไม่ได้รับความนับถือในเรือนของชน
เหล่าใด ชนเหล่านั้น ครั้นทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้ ตายไปแล้วย่อม
ต้องพากันไปสู่นรก เหมือนอธรรมเทพบุตรผู้มีศีรษะลงในเบื้องต่ำตกไป
แล้วฉะนั้น.
[๑๕๒๕] มารดา บิดา และสมณพราหมณ์ ได้รับความนับถือเป็นอย่างดีในเรือน
ของชนเหล่าใด ชนเหล่านั้น ครั้นทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้ ตายไปแล้ว
ย่อมพากันไปสุคติ เหมือนธรรมเทพบุตรขึ้นสู่รถของตนไปสู่เทวโลก
ฉะนั้น.
จบ ธรรมเทวปุตตชาดกที่ ๓.
๔. อุทยชาดก
ว่าด้วยบารมี ๑๐ ทัศ
[๑๕๒๖] ดูกรพระนาง ผู้มีพระวรกายงามหาที่ติมิได้ มีช่วงพระเพลากลมกล่อม
ทรงวัตถาภรณ์อันสะอาด เสด็จขึ้นสู่ปราสาทประทับนั่งอยู่พระองค์เดียว
ดูกรพระนางผู้มีพระเนตรงามดังเนตรนางกินนร หม่อมฉันขอวิงวอน
พระนาง เราทั้งสองควรอยู่ร่วมกันตลอดคืนหนึ่งนี้.
[๑๕๒๗] นครนี้มีคูรายรอบ มีป้อมแลซุ้มประตูมั่นคง มีหมู่ทหารถือกระบี่รักษา
ยากที่ใครๆ จะเข้าได้. ทหารของนักรบหนุ่มก็ไม่มีมาเลย เมื่อเป็นเช่นนี้
ท่านปรารถนามาพบข้าพเจ้าด้วยเหตุอะไรหนอ.
[๑๕๒๘] ดูกรพระนางผู้เลอโฉม หม่อมฉันเป็นเทพบุตรมาในตำหนักของพระนาง
ดูกรพระนางผู้เจริญ เชิญพระนางชื่นชมกับหม่อมฉันเถิด หม่อมฉัน
จะถวายถาดทอง อันเต็มด้วยเหรียญทองแก่นาง.
[๑๕๒๙] นอกจากเจ้าชายอุทัยแล้ว ข้าพเจ้าไม่พึงปรารถนาเทวดา ยักษ์ หรือมนุษย์
ผู้อื่นเลย ดูกรเทพบุตรผู้มีอานุภาพมาก ท่านจงไปเสียเถิด อย่ากลับมา
อีกเลย.
[๑๕๓๐] ความยินดีอันใดเป็นที่สุดของผู้บริโภคกาม สัตว์ทั้งหลายประพฤติไม่
สมควร เพราะเหตุแห่งความยินดีอันใด พระนางอย่าพลาดความยินดี
ในทางอันสะอาดของพระนางนั้นเลย หม่อมฉันขอถวายถาดเงิน อันเต็ม
ด้วยเหรียญเงินแก่พระนาง.
[๑๕๓๑] ธรรมดาชายหมายจะให้หญิงเอออวยด้วยทรัพย์ ย่อมประมูลราคาขึ้นจน
ให้พอใจ ของท่านตรงกันข้าม ท่านประมูลราคาโดยลดลงดังที่เห็น
ประจักษ์อยู่.
[๑๕๓๒] ดูกรพระนางผู้มีพระวรกายงาม อายุและวรรณะของหมู่มนุษย์ในมนุษย-
โลกย่อมเสื่อมลง ด้วยเหตุนั้นแล แม้ทรัพย์สำหรับพระนางก็จำต้อง
ลดลง เพราะวันนี้พระนางชราลงกว่าวันก่อน. ดูกรพระราชบุตรีผู้มี
พระยศ เมื่อหม่อมฉันกำลังเพ่งมองอยู่อย่างนี้ พระฉวีวรรณของพระนาง
ย่อมเสื่อมไป เพราะวันคืนล่วงไปๆ ดูกรพระราชบุตรีผู้มีปรีชา เพราะ
เหตุนั้น พระนางพึงประพฤติพรหมจรรย์เสียวันนี้ทีเดียว จะได้มี
พระฉวีวรรณงดงามยิ่งขึ้นอีก.
[๑๕๓๓] เทวดาทั้งหลายไม่แก่เหมือนมนุษย์หรือ เส้นเอ็นในร่างกายของเทวดา
เหล่านั้นไม่มีหรือ ดูกรเทพบุตร ข้าพเจ้าขอถามท่านผู้มีอานุภาพมาก
ร่างกายของเทวดาเป็นอย่างไร?
[๑๕๓๔] เทวดาทั้งหลายไม่แก่เหมือนมนุษย์ เส้นเอ็นในร่างกายของเทวดาเหล่า
นั้นไม่มี ฉวีวรรณอันเป็นทิพย์ของเทวดาเหล่านั้น ผุดผ่องยิ่งขึ้นทุกๆ
วัน และโภคสมบัติก็ไพบูลย์ขึ้น.
[๑๕๓๕] หมู่ชนเป็นอันมากในโลกนี้ กลัวอะไรเล่าจึงไม่ไปเทวโลกกัน ก็หนทาง
ไปเทวโลกบัณฑิตทั้งหลายกล่าวไว้หลายด้าน ดูกรเทพบุตรผู้มีอานุภาพ
มาก ข้าพเจ้าขอถามท่านว่า บุคคลตั้งอยู่ในหนทางไหน จึงจะไม่กลัว
ปรโลก?
[๑๕๓๖] บุคคลผู้ตั้งวาจา และใจไว้โดยชอบ ไม่กระทำบาปด้วยกาย อยู่ครองเรือน
อันมีข้าวและน้ำมาก เป็นผู้มีศรัทธา อ่อนโยน จำแนกแจกทาน รู้ความ
ประสงค์ ชอบสงเคราะห์ มีถ้อยคำกลมกล่อม อ่อนหวาน ผู้ตั้งอยู่ใน
คุณธรรมดังกล่าวมานี้ ไม่พึงกลัวปรโลก.
[๑๕๓๗] ข้าแต่เทพบุตร ท่านพร่ำสอนข้าพเจ้าเหมือนมารดาบิดา ข้าแต่ท่านผู้มีผิว
พรรณงามยิ่ง ข้าพเจ้าขอถาม ท่านเป็นใครหนอ มีร่างกายสง่างาม?
[๑๕๓๘] ดูกรพระนางผู้เลอโฉม ข้าพเจ้าเป็นพระเจ้าอุทัย มาในที่นี้เพื่อต้องการ
จะเปลื้องข้อผูกพัน ข้าพเจ้าบอกพระนางแล้ว จะขอลาไป ข้าพเจ้าพ้น
จากข้อผูกพันของพระนางแล้ว.
[๑๕๓๙] ข้าแต่พระลูกเจ้า ถ้าพระองค์เป็นพระเจ้าอุทัยเสด็จมา ณ ที่นี้เพื่อต้องการ
จะเปลื้องข้อผูกพันไซร้ ข้าแต่พระราชบุตร ขอเชิญพระองค์จงโปรด
พร่ำสอนหม่อมฉัน ด้วยวิธีที่เราทั้งสองจะได้พบกันอีกใหม่เถิด เพค๊ะ.
[๑๕๔๐] วัยล่วงไปเร็วยิ่งนัก ขณะก็เช่นนั้นเหมือนกัน ความตั้งอยู่ยั่งยืนไม่มี
สัตว์ทั้งหลายย่อมจุติไปแน่แท้ สรีระไม่ยั่งยืน ย่อมเสื่อมถอย ดูกร
พระนางอุทัย เธออย่าประมาท จงประพฤติธรรม. พื้นแผ่นดินทั้งสิ้น
เต็มไปด้วยทรัพย์ ถ้าพึงเป็นของๆ พระราชาพระองค์เดียว ไม่มีผู้อื่น
ครอบครอง ถึงกระนั้น ผู้ที่ยังไม่ปราศจากความกำหนัดก็ต้องทิ้งสมบัติ
นั้นไป ดูกรพระนางอุทัย เธออย่าประมาท จงประพฤติธรรม. มารดา
บิดา พี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาว ภรรยาและสามี พร้อมทั้งทรัพย์
แม้เขาเหล่านั้นต่างก็จะละทิ้งกันไป ดูกรพระนางอุทัย เธออย่าประมาท
จงประพฤติธรรม. ดูกรพระนางอุทัยเธอพึงทราบว่า ร่างกายเป็นอาหาร
ของสัตว์อื่นๆ พึงทราบว่าสุคติและทุคติในสงสารเป็นที่พักชั่วคราว
เธออย่าประมาท จงประพฤติธรรม.
[๑๕๔๑] เทพบุตรพูดดีจริง ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายน้อย ทั้งลำเค็ญ ทั้งนิดหน่อย
ทั้งประกอบไปด้วยทุกข์ หม่อมฉันจักสละสุรุธนนครแคว้นกาสีออกบวช
อยู่ลำพังผู้เดียว.
จบ อุทยชาดกที่ ๔.
๕. ปานียชาดก
ว่าด้วยการทำบาปแล้วรังเกียจบาปที่ทำ
[๑๕๔๒] อาตมภาพเป็นมิตรของชายคนหนึ่ง ได้บริโภคน้ำของมิตรที่เขาไม่ได้ให้
เพราะเหตุนั้นภายหลังอาตมภาพรังเกียจว่า เราทำบาปนั้นไว้แล้วอย่าได้
กระทำบาปอีกเลย เพราะเหตุนั้น อาตมภาพจึงออกบวช.
[๑๕๔๓] ความพอใจบังเกิดขึ้นแก่อาตมภาพ เพราะเห็นภรรยาของผู้อื่น เพราะ
เหตุนั้น ภายหลังอาตมภาพรังเกียจว่า เราได้ทำบาปนั้นไว้แล้วอย่าได้
กระทำบาปนั้นอีกเลย เพราะเหตุนั้นอาตมภาพจึงออกบวช.
[๑๕๔๔] ขอถวายพระพรมหาบพิตร โจรทั้งหลายจับโยมบิดาของอาตมภาพไว้ใน
ป่า อาตมภาพถูกโจรเหล่านั้นถาม รู้อยู่ได้แกล้งพูดถึงโยมบิดานั้นเป็น
อย่างอื่นไป เพราะเหตุนั้น ภายหลังอาตมภาพรังเกียจว่า เราได้ทำบาป
นั้นไว้แล้วอย่าได้ทำบาปนั้นอีกเลย เพราะเหตุนั้นอาตมภาพจึงออกบวช.
[๑๕๔๕] เมื่อพลีกรรมชื่อโสมยาคะปรากฏขึ้นแล้ว มนุษย์ทั้งหลายก็พากันกระทำ
ปาณาติบาต อาตมภาพได้ยอมอนุญาตให้แก่พวกเขา เพราะเหตุนั้น
ภายหลังอาตมภาพรังเกียจว่า เราได้ทำบาปนั้นไว้แล้วอย่าได้ทำบาปนั้น
อีกเลย เพราะเหตุนั้น อาตมภาพจึงออกบวช.
[๑๕๔๖] ในกาลก่อน ชนทั้งหลายในหมู่บ้านของอาตมภาพ สำคัญสุราและเมรัย
ว่าเป็นน้ำหวานจึงได้พากันดื่มน้ำเมา เพื่อความฉิบหายแก่ชนเป็นอันมาก
อาตมภาพยอมอนุญาตให้แก่เขา เพราะเหตุนั้น ภายหลังอาตมภาพ
รังเกียจว่าเราได้ทำบาปนั้นไว้แล้ว อย่าได้ทำบาปนั้นอีกเลย เพราะเหตุ
นั้น อาตมภาพจึงออกบวช.
[๑๕๔๗] น่าติเตียนแท้ ซึ่งกามเป็นอันมาก มีกลิ่นเหม็น มีเสี้ยนหนามมาก เราส้อง
เสพอยู่ ไม่ได้รับความสุขเช่นนั้น.
[๑๕๔๘] กามทั้งหลายมีความพอใจมาก สุขอื่นยิ่งกว่ากามไม่มี ชนเหล่าใดส้อง
เสพกามทั้งหลาย ชนเหล่านั้นย่อมเข้าถึงสวรรค์.
[๑๕๔๙] กามทั้งหลายมีความพอใจน้อย ทุกข์อื่นยิ่งกว่ากามไม่มี ชนเหล่าใด
ส้องเสพกามทั้งหลาย ชนเหล่านั้นย่อมเข้าถึงนรก.
[๑๕๕๐] เหมือนดาบที่ลับคมดีแล้วเชือด เหมือนกระบี่ที่ขัดดีแล้วแทง เหมือน
หอกที่พุ่งปักอก (เจ็บปานใด) กามทั้งหลายเป็นทุกข์ยิ่งกว่านั้น.
[๑๕๕๑] หลุมถ่านเพลิงลุกโพลงแล้ว ลึกกว่าชั่วบุรุษ ผาลที่เขาเผาร้อนอยู่ตลอดวัน
(ร้อนปานใด) กามทั้งหลายเป็นทุกข์ยิ่งกว่านั้น.
[๑๕๕๒] เหมือนยาพิษชนิดร้ายแรง น้ำมันที่เดือดพล่าน ทองแดงที่กำลังละลาย
คว้าง (ร้อนปานใด) กามทั้งหลายเป็นทุกข์ยิ่งกว่านั้น.
จบ ปานียชาดกที่ ๕.
๖. ยุธัญชยชาดก
ว่าด้วยการผนวชของเจ้าชายยุธัญชัยและยุธิฏฐิละ
[๑๕๕๓] หม่อมฉันขอถวายบังคมพระองค์ ผู้เป็นจอมทัพมีมิตรและอำมาตย์แวด
ล้อมแน่นขนัด ข้าแต่พระทูลกระหม่อม หม่อมฉันจักบวช ขอได้โปรด
ทรงพระอนุญาตเถิด.
[๑๕๕๔] ถ้าเธอยังบกพร่องด้วยกามทั้งหลาย ฉันจะเพิ่มเติมให้เต็ม ผู้ใดเบียด
เบียนเธอ ฉันจักห้ามปราม พ่อยุธัญชัยอย่าเพิ่งบวชเลย.
[๑๕๕๕] หม่อมฉันมิได้บกพร่องด้วยกามทั้งหลายเลย ไม่มีใครเบียดเบียนหม่อม
ฉัน แต่หม่อมฉันปรารถนาจะทำที่พึ่ง ที่ชราครอบงำไม่ได้ พระเจ้าข้า.
[๑๕๕๖] พระโอรสกราบทูลวิงวอนพระราชบิดา พระราชบิดาหรือก็ทรงวิงวอน
พระราชโอรส พ่อเอ๋ย ชาวนิคมพากันวิงวอนว่า ข้าแต่พระยุธัญชัย
อย่าทรงผนวชเลย.
[๑๕๕๗] ข้าแต่พระราชบิดาผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าทรงห้ามหม่อมฉันผู้จะ
บวชเลย อย่าให้หม่อมฉันมัวเมาอยู่ด้วยกามทั้งหลาย เป็นไปตามอำนาจ
ชราเลย พระเจ้าข้า.
[๑๕๕๘] ลูกเอ๋ย แม่ขอร้องเธอ แม่ขอห้ามเธอ แม่ปรารถนาจะเห็นเธอนานๆ
อย่าบวชเสียเลยนะพ่อยุธัญชัย.
[๑๕๕๙] น้ำค้างบนยอดหญ้า พระอาทิตย์ขึ้นก็ตกไปฉันใด อายุของมนุษย์ทั้งหลาย
ก็ฉันนั้น ขอทูลกระหม่อมแม่อย่าห้ามฉันเลย พระเจ้าข้า.
[๑๕๖๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมเสนา ขอได้โปรดรีบตรัสให้พระมารดาเสด็จขึ้น
สู่ยานนี้เสียเถิด พระมารดาอย่าได้ทรงทำอันตรายแก่หม่อมฉันผู้กำลัง
รีบด่วนเสียเลย.
[๑๕๖๑] ท่านทั้งหลายจงช่วยวิ่งเต้นด้วยเถิด ขอความเจริญจงมีแก่ท่านเถิด รัมม-
นครจักเปล่าเปลี่ยวเสียแล้ว พ่อยุธัญชัยพระเจ้าสัพพทัตทรงอนุญาต
แล้วละ.
[๑๕๖๒] เจ้าชายองค์ใดเป็นผู้ประเสริฐกว่ามนุษย์ทั้งหลาย ยังกำลังหนุ่มแน่น
เปล่งปลั่งดังทองธรรมชาติ เจ้าชายองค์นั้นมีกำลังแข็งแรง มีผ้านุ่งห่ม
ย้อมฝาดบวชแล้ว.
[๑๕๖๓] เจ้าชายทั้งสององค์ คือยุธัญชัยกับยุธิฏฐิละทรงละทิ้งพระราชมารดาและ
พระราชบิดาแล้ว ทางตัดเครื่องข้องแห่งมัจจุราช เสด็จออกผนวชแล้ว.
จบ ยุธัญชยชาดกที่ ๖.
๗. ทสรถชาดก
ว่าด้วยผู้มีปัญญาย่อมไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่เสียไปแล้ว
[๑๕๖๔] มานี่แน่ะ เจ้าลักษณ์และนางสีดาทั้งสองจงมาลงน้ำ พระภรตนี้กล่าว
อย่างนี้ว่า พระเจ้าทสรถสวรรคตเสียแล้ว.
[๑๕๖๕] พี่ราม ด้วยอานุภาพอะไรเจ้าพี่ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ควรเศร้าโศก ความ
ทุกข์มิได้ครอบงำพี่เพราะได้ทรงสดับว่า พระราชบิดาสวรรคตเล่า?
[๑๕๖๖] คนเราไม่สามารถจะรักษาชีวิต ที่คนเป็นอันมากพร่ำเพ้อถึง นักปราชญ์
ผู้รู้แจ้งจะทำตนให้เดือดร้อนเพื่ออะไรกัน?
[๑๕๖๗] ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ทั้งพาลทั้งบัณฑิต ทั้งคนมั่งมีทั้งคนยากจน ล้วนบ่าย
หน้าไปหามฤตยูทั้งนั้น.
[๑๕๖๘] ผลไม้ที่สุกแล้ว ก็พลันแต่จะหล่นลงเป็นแน่ ฉันใด สัตว์ทั้งหลายเกิดมา
แล้ว ก็พลันแต่จะตายเป็นแน่ ฉันนั้น.
[๑๕๖๙] เวลาเช้าเห็นกันอยู่มากคน พอถึงเวลาเย็นบางคนไม่เห็นกัน เวลาเย็น
เห็นกันอยู่มากคน พอถึงเวลาเช้าบางคนไม่เห็นกัน.
[๑๕๗๐] ถ้าผู้ที่คร่ำครวญหลงเบียดเบียนตนอยู่ จะพึงได้รับประโยชน์สักเล็กน้อย
ไซร้ บัณฑิตผู้มีปรีชาก็จะพึงทำเช่นนั้นบ้าง.
[๑๕๗๑] ผู้เบียดเบียนตนของตนอยู่ ย่อมซูบผอมปราศจากผิวพรรณ สัตว์ผู้ละไป
แล้วไม่ได้ช่วยคุ้มครองรักษา ด้วยการร่ำไห้นั้นเลย การร่ำไห้ไร้ประโยชน์.
[๑๕๗๒] คนฉลาดพึงดับไฟที่ไหม้เรือนด้วยน้ำ ฉันใด คนผู้เป็นนักปราชญ์ได้รับ
การศึกษามาดี มีปัญญาเฉลียวฉลาด พึงรีบกำจัดความโศกที่เกิดขึ้นโดย
ฉับพลัน เหมือนลมพัดปุยนุ่น ฉันนั้น.
[๑๕๗๓] คนๆ เดียวเท่านั้นตายไป คนเดียวเท่านั้นเกิดในตระกูล ส่วนการคบ
หากันของสรรพสัตว์ มีความเกี่ยวข้องกันเป็นอย่างยิ่ง.
[๑๕๗๔] เพราะเหตุนั้นแล ความเศร้าโศกแม้จะมากมายก็ไม่ทำจิตใจของนัก
ปราชญ์ ผู้เป็นพหูสูต มองเห็นโลกนี้และโลกหน้า รู้ทั่วถึงธรรมให้
เร่าร้อนได้.
[๑๕๗๕] เราจักให้ยศ และโภคสมบัติ แก่ผู้ที่ควรจะได้ จักทะนุบำรุงภรรยา
ญาติทั้งหลาย และคนที่เหลือ นี้เป็นกิจของบัณฑิตผู้ปรีชา.
[๑๕๗๖] พระเจ้ารามผู้มีพระศอดุจกลองทอง มีพระพาหาใหญ่ ทรงครอบครอง
ราชสมบัติอยู่ตลอด ๑๖,๐๐๐ ปี.
จบ ทสรถชาดกที่ ๗.
๘. สังวรชาดก
ว่าด้วยพระราชาผู้มีศีลาจารวัตรที่ดีงาม
[๑๕๗๗] ข้าแต่พระมหาราช พระราชาผู้เป็นจอมแห่งชน ทรงทราบถึงพระศีลา-
จารวัตรของพระองค์ ทรงยกย่องพระกุมารเหล่านี้มิได้สำคัญพระองค์ด้วย
ชนบทอะไรเลย.
[๑๕๗๘] เมื่อพระมหาราชาผู้สมมติเทพ ยังทรงพระชนม์อยู่หรือทิวงคตแล้วก็ตาม
พระประยูรญาติผู้เห็นประโยชน์ตนเป็นสำคัญ พากันยอมรับนับถือ
พระองค์.
[๑๕๗๙] ข้าแต่พระเจ้าสังวรราช ด้วยพระศีลาจารวัตรข้อไหน พระองค์จึงสถิตอยู่
เหนือพระเชฏฐภาดาผู้ทรงร่วมกำเนิดได้ ด้วยพระศีลาจารวัตรข้อไหน
หมู่พระญาติที่ประชุมกันแล้ว จึงไม่ย่ำยีพระองค์ได้?
[๑๕๘๐] ข้าแต่พระราชบุตร หม่อมฉันมิได้ริษยาสมณะทั้งหลายผู้แสวงหาคุณอัน
ใหญ่หลวง หม่อมฉันนอบน้อมท่านเหล่านั้นโดยเคารพ ไหว้เท้าของท่าน
ผู้คงที่.
[๑๕๘๑] สมณะเหล่านั้น ยินดีแล้วในคุณธรรมของท่านผู้แสวงหาคุณ ย่อมพร่ำ
สอนหม่อมฉันผู้ประกอบในคุณธรรม ผู้พอใจฟัง ไม่มีความริษยา.
[๑๕๘๒] หม่อมฉันได้ฟังคำของสมณะ ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่หลวง เหล่านั้นแล้ว
มิได้ดูหมิ่นสักน้อยหนึ่งเลย ใจของหม่อมฉันยินดีแล้วในธรรม.
[๑๕๘๓] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลเดินเท้า หม่อมฉันไม่
ตัดเบี้ยเลี้ยงและบำเหน็จบำนาญของจาตุรงคเสนาเหล่านั้นให้ลดน้อยลง.
[๑๕๘๔] อำมาตย์ผู้ใหญ่ และข้าราชการผู้มีปรีชาของหม่อมฉันมีอยู่ ช่วยกันบำรุง
พระนครพาราณสีให้มีเนื้อมาก มีน้ำดี.
[๑๕๘๕] อนึ่ง พวกพ่อค้าผู้มั่งคั่งมาแล้วจากรัฐต่างๆ หม่อมฉันช่วยจัดอารักขาให้
พ่อค้าเหล่านั้น ขอได้โปรดทราบอย่างนี้เถิด เจ้าพี่อุโบสถ.
[๑๕๘๖] ข้าแต่พระเจ้าสังวรราช ได้ยินว่า พระองค์ทรงครอบครองราชสมบัติแห่ง
หมู่พระญาติโดยธรรม พระองค์เป็นผู้มีพระปรีชาด้วย เป็นบัณฑิตด้วย
ทั้งทรงเกื้อกูลพระประยูรญาติด้วย.
[๑๕๘๗] ศัตรูทั้งหลายย่อมไม่เบียดเบียนพระองค์ผู้แวดล้อมไปด้วยพระประยูรญาติ
มองมูลด้วยรัตนะต่างๆ เหมือนจอมอสูร ไม่เบียดเบียนพระอินทร์
ฉะนั้น.
จบ สังวรชาดกที่ ๘.
๙. สุปปารกชาดก
ว่าด้วยทะเล ๖ ประการ
[๑๕๘๘] พวกมนุษย์จมูกแหลมดำผุดดำว่ายอยู่ พวกข้าพเจ้าขอถามท่านสุปปารกะ
ทะเลนี้ชื่ออะไร?
[๑๕๘๙] เมื่อท่านทั้งหลาย ผู้เป็นพ่อค้าแสวงหาทรัพย์ออกจากท่าชื่อภรุกัจฉะ ครั้น
เรือแล่นไปผิดทางมาถึงทะเลตอนนี้เขาเรียกกันว่า ขุรมาลี.
[๑๕๙๐] ทะเลนี้ ปรากฏเหมือนกองไฟและพระอาทิตย์ ข้าพเจ้าขอถามท่าน
สุปปารกะ ทะเลนี้ชื่ออะไร?
[๑๕๙๑] เมื่อท่านทั้งหลาย ผู้เป็นพ่อค้าแสวงหาทรัพย์ ออกจากท่าชื่อภรุกัจฉะ
ครั้นเรือแล่นไปผิดทางมาถึงทะเลตอนนี้เขาเรียกว่า อัคคิมาลี.
[๑๕๙๒] ทะเลนี้ปรากฏเหมือนนมส้มและนมสด พวกข้าพเจ้าขอถามท่าน
สุปปารกะ ทะเลนี้ชื่ออะไร?
[๑๕๙๓] เมื่อท่านทั้งหลาย ผู้เป็นพ่อค้าแสวงหาทรัพย์ ออกจากท่าชื่อภรุกัจฉะ ครั้น
เรือแล่นไปผิดทางมาถึงทะเลตอนนี้เขาเรียกกันว่า ทธิมาลี.
[๑๕๙๔] ทะเลนี้ปรากฏเหมือนหญ้าคาและข้าวกล้า พวกข้าพเจ้าขอถามท่าน
สุปปารกะ ทะเลนี้ชื่ออะไร?
[๑๕๙๕] เมื่อท่านทั้งหลาย ผู้เป็นพ่อค้าแสวงหาทรัพย์ ออกจากท่าชื่อภรุกัจฉะ ครั้น
เรือแล่นไปผิดทางมาถึงทะเลตอนนี้เขาเรียกกันว่า กุสมาลี.
[๑๕๙๖] ทะเลนี้ปรากฏเหมือนไม้อ้อ และไม้ไผ่ พวกข้าพเจ้าขอถามท่านสุปปารกะ
ทะเลนี้ชื่ออะไร?
[๑๕๙๗] เมื่อท่านทั้งหลาย ผู้เป็นพ่อค้าแสวงหาทรัพย์ ออกจากท่าชื่อภรุกัจฉะ ครั้น
เรือแล่นไปผิดทางมาถึงทะเลตอนนี้เขาเรียกกันว่า นฬมาลี.
[๑๕๙๘] เสียงน่ากลัวมาก น่าสยดสยอง ฟังเหมือนเสียงอมนุษย์ และทะเลนี้
ปรากฏเหมือนบึงและเหว พวกข้าพเจ้าขอถามท่านสุปปารกะ ทะเลนี้
ชื่ออะไร?
[๑๕๙๙] เมื่อท่านทั้งหลายผู้เป็นพ่อค้าแสวงหาทรัพย์ ออกจากท่าชื่อภรุกัจฉะ ครั้น
เรือแล่นไปผิดทางมาถึงทะเลตอนนี้เขาเรียกกันว่า พลวามุขี.
[๑๖๐๐] ตั้งแต่ข้าพเจ้าระลึกถึงตนได้ ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสา ข้าพเจ้าไม่เคยรู้สึก
แกล้งเบียดเบียนสัตว์แม้สักตัวหนึ่งเลย ด้วยสัจจวาจานี้ ขอเรือจงกลับ
ได้โดยสวัสดี.
จบ สุปปารกชาดกที่ ๙.
*****************************************************
อรรถกถา ธรรมเทวปุตตชาดก ว่าด้วย เรื่องธรรมชนะอธรรม

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภถึงการที่แผ่นดินสูบพระเทวทัต จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ยโสกโร ปุญฺญกโรหมสฺมิ ดังนี้.

ความย่อว่า ในครั้งนั้นพวกภิกษุสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า อาวุโสทั้งหลาย พระเทวทัตกลับเกรี้ยวกราดกับพระตถาคตเจ้า เลยถูกแผ่นดินสูบเสียแล้ว. พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบ จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่พระเทวทัตให้การประหารในชินจักรของเรา ถูกแผ่นดินสูบ แม้ในกาลก่อน เธอก็เคยให้ประหารในธรรมจักร ถูกแผ่นดินสูบบ่ายหน้าไปสู่อเวจีมหานรก ดังนี้แล้ว

จึงได้นำอดีตนิทานมาแสดงดังต่อไปนี้

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นเทพบุตรนามว่า ธรรม ในกามาวจรเทวโลก ส่วนพระเทวทัตเป็นเทพบุตรชื่อว่า อธรรม.

ในเทวบุตรทั้ง ๒ องค์นั้น ธรรมเทพบุตรประดับด้วยเครื่องอลังการอันเป็นทิพย์ ทรงรถทิพย์อันประเสริฐแวดล้อมไปด้วยหมู่เทวอัปสร เมื่อพวกมนุษย์บริโภคอาหารเย็นแล้ว นั่งสนทนากันอย่างสบาย ที่ประตูเรือนของตนๆ ก็สถิตอยู่ในอากาศ ณ คามนิคม ชนบทและราชธานี ในวันเพ็ญอันเป็นวันอุโบสถ ชวนหมู่ชนให้ถือมั่นซึ่งกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการว่า ท่านทั้งหลายจงงดเว้นจากอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ มีปาณาติบาตเป็นต้น พากันบำเพ็ญธรรม คือการบำรุงมารดาบิดา ทั้งสุจริตธรรม ๓ ประการทั่วกันเถิด เมื่อบำเพ็ญอยู่อย่างนี้ จักมีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า เสวยยศอันยิ่งใหญ่ ดังนี้ จึงกระทำประทักษิณชมพูทวีป.

ฝ่ายอธรรมเทพบุตร ชักชวนให้ถืออกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ โดยนัยมีอาทิว่า พวกเธอจงฆ่าสัตว์กันเถิด ดังนี้แล้ว จึงกระทำการเวียนซ้ายชมพูทวีป ลำดับนั้น รถของเทพบุตรเหล่านั้นได้มาพบกันในอากาศ. ต่อมาพวกบริษัทของเทพบุตรเหล่านั้นต่างถามกันว่า พวกท่านเป็นฝ่ายไหน พวกท่านเป็นฝ่ายไหนกัน. ต่างตอบกันว่า พวกเราเป็นฝ่ายธรรมเทพบุตร พวกเราเป็นฝ่ายอธรรมเทพบุตร จึงต่างพากันแยกทางหลีกเป็น ๒ ฝ่าย.

ฝ่ายธรรมเทพบุตร เรียกอธรรมเทพบุตรมากล่าวว่า สหายเอ๋ย เธอเป็นฝ่ายอธรรม ฉันเป็นฝ่ายธรรม หนทางสมควรแก่ฉัน เธอจงขับรถของเธอหลีกไป จงให้ทางแก่ฉันเถิด

แล้วกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า
ดูก่อนอธรรมเทพบุตร ฉันเป็นผู้สร้างยศ เป็นผู้สร้างบุญ สมณะและพราหมณ์พากันสรรเสริญทุกเมื่อ อธรรมเอ๋ย ฉันชื่อว่าเป็นฝ่ายธรรม เป็นผู้สมควรแก่หนทาง เป็นผู้อันเทวดาและมนุษย์พากันบูชา ท่านจงให้หนทางแก่ฉันเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยโสกโร ได้แก่ ฉันเป็นผู้สร้างยศให้แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แม้ในบทที่ ๒ ก็นัยนี้เหมือนกัน. บทว่า สทตฺถุโต คือ ได้รับความชื่นชมทุกเมื่อ สรรเสริญอยู่เป็นนิตย์.

ลำดับนั้น อธรรมเทพบุตรกล่าวว่า
ดูก่อนธรรมเทพบุตร เราผู้ชื่อว่าอธรรม ขึ้นสู่ยานแห่งอธรรม อันมั่นคงไม่เคยกลัวใคร มีกำลังเข้มแข็ง ธรรมเอ๋ย เราจะพึงให้ทางที่ไม่เคยให้ใครแก่ท่านในวันนี้ เพราะเหตุอะไรเล่า.

ธรรมแลปรากฏก่อน ภายหลังอธรรมจึงเกิดขึ้นในโลก เราเป็นผู้เจริญกว่า ประเสริฐกว่า ทั้งเก่ากว่า ขอจงให้ทางแก่เราเถิด น้องเอ๋ย.

เราจะไม่ให้หนทางแก่ท่าน เพราะการขอร้อง หรือเพราะความเป็นผู้สมควร ในวันนี้เราทั้งสองจงมารบกัน แล้วหนทางจะเป็นของผู้ชนะในการรบ.

เราผู้ชื่อว่า ธรรม เป็นผู้ลือชาปรากฏไปทั่วทุกทิศ มีกำลังมาก มียศประมาณไม่ได้ ไม่มีผู้เสมอเหมือนประกอบด้วยคุณทั้งปวง อธรรมเอ๋ย ท่านจะชนะได้อย่างไร.

เขาเอาค้อนเหล็กตีทองอย่างเดียว หาได้เอาทองมาตีเหล็กไม่ ถ้าหากว่า เราผู้ชื่อว่าอธรรม ฆ่าท่านผู้ชื่อว่าธรรม ในวันนี้ได้ เหล็กจะน่าดูน่าชมเหมือนทองคำฉะนั้น.

ดูก่อนอธรรมเทพบุตร ถ้าหากว่าท่านเป็นผู้มีกำลังในการรบไซร้ ผู้หลักผู้ใหญ่และครูของท่านมิได้มี เราจะยอมให้หนทางอันเป็นที่รักด้วยอาการอันไม่เป็นที่รักของท่าน ทั้งจะขออดทนถ้อยคำชั่วๆ ของท่าน.

คาถาทั้ง ๖ นี้ ท่านกล่าวไว้ด้วยสามารถเป็นคำโต้ตอบของเทพบุตรเหล่านั้นนั่นแล.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ส กิสฺส เหตุมฺหิ ตวชฺชทชฺชํ ความว่า ก็แล ข้าพเจ้านั้นชื่อว่า อธรรม ขึ้นรถอันเป็นยานของอธรรมแล้ว ไม่เคยกลัวต่อใคร มีกำลัง ธรรมเอ๋ย เหตุไรในวันนี้ ข้าพเจ้าจะให้ทางที่ไม่เคยให้ใครๆ แก่เจ้าเล่า.

บทว่า ปุพฺเพ ความว่า ธรรมคือกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการปรากฏแล้วในโลกนี้ก่อนทีเดียว ในกาลเริ่มปฐมกัป อธรรมเกิดขึ้นภายหลัง.

ด้วยบทว่า เชฏฺโฐ จ นี้ ธรรมกล่าวว่า เพราะความที่ธรรมบังเกิดก่อน ฉันจึงเจริญกว่า ประเสริฐกว่า เก่ากว่า ส่วนเธอเป็นน้อง เหตุนั้น เธอจงหลีกทางไป.

บทว่า นปิ ปาฏิรูปา ความว่า ข้าพเจ้าจะไม่ขอยอมให้หนทางแก่เจ้าเด็ดขาด จะด้วยคำขอร้อง ด้วยคำที่พูดสมควร ด้วยเหตุที่ควรให้หนทางทั้งนั้นแหละ.

บทว่า อนุสโฏ ความว่า ฉันมีชื่อเสียงแผ่ไปแล้ว เลื่องลือไปแล้ว ปรากฏเด่นทั่วทุกทิศ คือในทิศใหญ่ ๔ ทิศ ในทิศน้อย ๔ ทิศ. บทว่า โลเหน ได้แก่ ด้วยค้อนเหล็ก. บทว่า หญฺญติ แปลว่า จักฆ่าเสียให้ได้. บทว่า ยุทฺธพโล อธมฺม ความว่า ถ้าเธอเป็นผู้มีกำลังในการรบ.

บทว่า วุฑฺฒา จ คุรู จ ความว่า ถ้าท่านเหล่านี้เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ท่านเหล่านี้เป็นครู เป็นบัณฑิตของท่าน อย่างนี้ย่อมมีไม่ได้.

บทว่า ปิยาปฺปิเยน ความว่า ฉันเมื่อจะให้ทั้งด้วยอาการอันเป็นที่รัก ทั้งด้วยอาการอันไม่เป็นที่รัก ก็จะให้ทางอันเป็นที่รักแก่เธอ ด้วยอาการอันเป็นที่รัก.

ก็แล ในขณะที่พระโพธิสัตว์ กล่าวคาถานี้จบลงนั่นเอง อธรรมก็ไม่อาจจะดำรงอยู่บนรถได้ หกคะเมนตกลง ณ เบื้องปฐพี ครั้นปฐพีเปิดช่องให้ก็ไปบังเกิดในอเวจีมหานรกนั่นแล.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ
ได้ตรัสคาถาที่เหลือ ดังนี้ว่า
อธรรมเทพบุตรได้ฟังคำนี้แล้วก็เป็นผู้มีศีรษะลงเบื้องต่ำมีเท้าขึ้นเบื้องสูงตกลงจากรถ รำพันเพ้อว่า เราปรารถนาจะรบก็ไม่ได้รบ อธรรมเทพบุตรถูกตัดรอนเสียแล้ว ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้.

ธรรมเทพบุตร ผู้มีขันติเป็นกำลัง มีจิตเที่ยงตรง มีกำลังมาก มีความบากบั่นอย่างแท้จริง ชำนะกำลังรบได้ฆ่าอธรรมเทพบุตร ฝังเสียในแผ่นดินแล้ว ขึ้นสู่รถของตน ไปโดยหนทางนั่นแล.

มารดาบิดาและสมณพราหมณ์ไม่ได้รับความนับถือในเรือนของชนเหล่าใด ชนเหล่านั้น ครั้นทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้ ตายไปแล้ว ย่อมต้องพากันไปสู่นรก เหมือนอธรรมเทพบุตรมีศีรษะลงในเบื้องต่ำตกไปแล้ว ฉะนั้น.

มารดาบิดาและสมณพราหมณ์ ได้รับความนับถือเป็นอย่างดี ในเรือนของชนเหล่าใด ชนเหล่านั้น ครั้นทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้ ตายไปแล้ว ย่อมพากันไปสู่สุคติ เหมือนธรรมเทพบุตรขึ้นสู่รถของตนไปสู่เทวโลก ฉะนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยุทฺธตฺถิโก เว ได้แก่ เขามีความบ่นเพ้อดังนี้. ได้ยินว่า เขากำลังบ่นเพ้ออยู่นั่นแล ตกจมแผ่นดินไปแล้ว.

บทว่า เอตฺตาวตา ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อธรรมจมแผ่นดินไปเพียงใด อธรรมชื่อว่าถูกกำจัดแล้วเพียงนั้น.

บทว่า ขนฺติพโล ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อธรรมเทพบุตรจมแผ่นดินไปอย่างนี้แล้ว ธรรมเทพบุตรเป็นผู้มีกำลังคืออธิวาสนขันติ ชำนะพลรบฆ่าแล้วฝังไว้ในแผ่นดิน ให้ตกไป มีจิตแน่นอน เพราะเกิดความคิดขึ้น จึงขึ้นสู่รถของตน มีความบากบั่นอย่างแท้จริง ได้ไปตามหนทางนั่นแล.

บทว่า อสมฺมานิตา แปลว่า อันเขาไม่สักการะ. บทว่า สรีรเทหํ ความว่า ได้ทอดทิ้งกายกล่าวคือสรีระในโลกนี้เอง. บทว่า นิรยํ วชนฺติ ความว่า ชนเหล่านั้นผู้สมควรแก่สักการะ อันคนชั่วใดไม่สักการะในเรือน เหล่าคนชั่วเห็นปานนั้นย่อมหกคะเมนลงสู่นรก เหมือนอธรรมเทพบุตรเอาศีรษะตกลงไปเบื้องต่ำ ฉะนั้น. บทว่า สุคตึ วชนฺติ ความว่า เหล่าบัณฑิตผู้เป็นเช่นนั้น อันผู้ใดสักการะแล้ว ผู้นั้นย่อมไปสู่สุคติ เหมือนธรรมเทพบุตรขึ้นสู่รถรบไปเทวโลก ฉะนั้น.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่ใช่แต่ในบัดนี้อย่างเดียวเท่านั้น แม้ในกาลก่อน พระเทวทัตก็กราดเกรี้ยวโต้กับเรา ถูกแผ่นดินสูบไปแล้ว

จึงทรงประชุมชาดกว่า
อธรรมเทพบุตรในกาลนั้น ได้เป็น พระเทวทัต
แม้บริษัทของอธรรมเทพบุตรนั้นก็ได้เป็น บริษัทของพระเทวทัต
ส่วนธรรมเทพบุตร ก็คือ เราตถาคต นั่นเอง
ส่วนบริษัทได้มาเป็น พุทธบริษัท นี้นั่นแล.

จบอรรถกถาธรรมเทวปุตตชาดกที่ ๓

*************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ




 

Create Date : 20 เมษายน 2549
0 comments
Last Update : 20 เมษายน 2549 21:00:14 น.
Counter : 372 Pageviews.


พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.