Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2549
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
2 มิถุนายน 2549
 
All Blogs
 
แนะนำชาดกว่าด้วยการเกิดเป็นมนุษย์เป็นเรื่องยาก-1

วันนี้นำชาดกเมื่อครั้งพระผู้มีพระภาคทรงเสวยพระชาติเป็นพญานาคจัมเปยยมาแสดงครับ ที่มาของเรื่องคือในพระชาติหนึ่ง พระองค์ได้ทรงเห็นนาคสมบัติว่าทรงด้วยสมบัติและฤทธิ์เป็นที่น่าอัศจรรย์มิได้ด้อยกว่าความเป็นเทวดา ทรงมีจิตโลภไปโดยมิได้ทันคิดว่านาคสมบัตินั้นยังเป็นเพศเดียรัจฉาน เมื่อเป็นดังนี้ พระองค์ได้ทรงถือกำเนิดเป็นพญานาคนามจัมเปยย ทรงอาลัยในความเป็นมนุษย์ด้วยเหตุที่มีแต่ในเพศของมนุษย์เท่านั้น ความบริสุทธิ์และความสำรวมในธรรมของการสร้างบารมีจึงจะมีได้ พญานาคจัมเปยยนี้จึงมักขึ้นไปรักษาศีลอุโบสถบนโลกมนุษย์โดยมิได้ทำร้ายผู้ใด เหล่ามนุษย์โดยมากพบพญานาคผู้มีฤทธิ์แต่ปราศจากความดุร้ายก็สักการะ กระทั่งวันหนึ่งมีหมองูมาจับเอาพญานาคไปโดยพญานาคนั้นมิได้ทรงขัดขืน พระเจ้าอุคคเสนราชได้รับการวิงวอนจากนางนาคสุมนาผู้เป็นนาคกัญญาของพญานาคจัมเปยยจึงมีพระราชดำรัสให้ปล่อยพญานาคจัมเปยยนั้นเป็นอิสระ พญานาคก็ได้ตอบแทนโดยพาพระเจ้าอุคคเสนราชไปชมนาคสมบัติในนาคพิภพที่พญานาคนั้นครอบครอง พระเจ้าอุคคเสนราชทรงทอดพระเนตรเห็นสมบัติมากมายและนางกัญญาผู้งดงามทั้งหลายก็ได้ตรัสชมเชย ครั้นแล้วได้รับเอาสมบัติมีค่ามากมายไปเป็นสิ่งตอบแทนจากพญานาตจัมเปยย ความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างมนุษย์กับพญานาคในครั้งนั้นก็มีขึ้นด้วยเหตุนี้ครับ

ชาดกนี้แสดงถึงแนวคิดว่าการเกิดเป็นมนุษย์นั้น ถ้าดูในมุมมองของการฝึกฝนตนเองถึงอย่างไรก็ยังดีกว่าการเป็นพญานาคผู้เรืองฤทธิ์ เพราะว่าสามารถทำความดีเช่นบุญกุศล การรักษาศีลอุโบสถ ตลอดจนการบวชเรียนเพื่อความสำรวมและการทำจิตให้บริสุทธิ์ได้โดยไม่ลำบากเท่ากับการเป็นนาค ซึ่งนาคจะมารักษาศีลบนโลกมนุษย์ก็ย่อมเป็นที่หวาดกลัวเสียโดยมาก

ชาดกนี้มาจากเรื่องที่ 10 จากพระสุตตันตปิฎก เล่ม 19 ขุททกนิกาย ชาดก ภาค 1 วิสตินิบาตชาดก ครับ และคงเป็นชาดกสุดท้ายที่ผมจะกล่าวถึงครับ วันจันทร์จะเป็นเรื่องในพระสูตรเล่มที่ 21 ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

**********************************************
๑๐. จัมเปยยชาดก

บำเพ็ญตบะเพื่อต้องการเกิดเป็นมนุษย์

[๒๑๘๐] ท่านเป็นใคร งามผ่องใสดุจสายฟ้า และอุปมาเหมือนดาวประจำรุ่ง เรา
ไม่รู้จักท่านว่า เป็นเทวดาหรือคนธรรพ์ หรือเป็นหญิงมนุษย์?

[๒๑๘๑] ข้าแต่พระมหาราชา หม่อมฉันหาใช่เทวดา คนธรรพ์ หรือหญิงมนุษย์ไม่
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเป็นนางนาคกัญญา อาศัยเหตุอย่างหนึ่ง
จึงได้มาในพระนครนี้.

[๒๑๘๒] ดูกรนางนาคกัญญา ท่านมีอาการเหมือนคนมีจิตฟั่นเฟือน มีอินทรีย์อัน
เศร้าหมอง หยาดน้ำตาไหลออกจากเบ้าตาทั้งสองของท่าน อะไรของ
ท่านหาย หรือว่าท่านปรารถนาอะไรจึงได้มาในเมืองนี้ เชิญท่านบอกเถิด?

[๒๑๘๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน มหาชนเขาร้องเรียกสัตว์ใดว่า อุรค-
ชาติผู้มีเดชสูง มหาชนเขาร้องเรียกสัตว์นั้นว่า นาค บุรุษคนนี้จับนาค
นั้นมาต้องการเลี้ยงชีพ นาคนั่นแหละเป็นสามีของหม่อมฉัน ขอพระ-
องค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดปล่อยนาคนั้นเสียจากที่คุมขังเถิด เพคะ.

[๒๑๘๔] ดูกรนางนาคกัญญา นาคราชนี้ประกอบไปด้วยกำลังอันแรงกล้า ไฉนจึง
มาถึงเงื้อมมือของชายวณิพกได้เล่า เราจะใคร่รู้ถึงการที่นาคราชถูกกระทำ
จนถูกจับมาได้ ขอท่านจงบอกความข้อนั้นแก่เราเถิด?

[๒๑๘๕] แท้จริง นาคราชนั้นประกอบด้วยกำลังอันแรงกล้า พึงทำแม้นครให้เป็น
ภัสมธุลีไปได้ แต่เพราะนาคราชนั้น เคารพ นบนอบธรรม ฉะนั้น จึงได้
บากบั่นบำเพ็ญตบะ.

[๒๑๘๖] ข้าแต่พระราชา นาคราชอธิษฐานรักษาอุโบสถในดิถีที่ ๑๔ และดิถีที่ ๑๕
นอนอยู่ใกล้ทางสี่แพร่ง บุรุษหมองูจับนาคราชนั้นมาต้องการเลี้ยงชีพ
นาคราชนี้เป็นสามีของหม่อมฉัน ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรด
ปล่อยนาคราชนั้นจากที่คุมขังเถิด เพคะ.

[๒๑๘๗] สนมนารีถึงหมื่นหกพันนาง ล้วนสวมใส่กุณฑลแก้วมณี บรรดาลวารี
เป็นห้องไสยาสน์ แม้สนมนารีเหล่านั้นก็ยึดถือนาคราชนั้นเป็นที่พึ่ง.
ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดปล่อยนาคราชนั้นโดยธรรม ปราศจาก
กรรมอันสาหัสเถิด ด้วยบ้านส่วยร้อยบ้าน ทองร้อยแท่ง และโคร้อย
ตัว ขอนาคราชผู้ต้องการบุญ จงเหยียดกายตรงเที่ยวไป จงพ้นจากที่
คุมขังเถิด เพคะ.

[๒๑๘๘] เราจะปล่อยนาคราชนี้ไปโดยธรรม ปราศจากกรรมอันสาหัส ด้วยบ้านส่วย
ร้อยบ้าน ทองคำร้อยแท่ง โคร้อยตัว นาคราชผู้ต้องการบุญ จงเหยียด
กายตรงเที่ยวไป จงพ้นจากที่คุมขัง.

ดูกรนายพราน ฉันจะให้ทอง ๑๐๐ แท่ง กุณฑลแก้วมณีราคามาก บัลลังก์
สี่เหลี่ยมสีดังดอกผักตบ ภรรยารูปงาม ๒ คน และโคอุสุภะ ๑๐๐ ตัว
แก่ท่าน ขอนาคราชตัวต้องการบุญ จงเหยียดกายตรงเที่ยวไป จงพ้นจาก
ที่คุมขังเถิด.

[๒๑๘๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน แม้จะมิทรงพระราชทานสิ่งไรเลย
เพียงแต่รับสั่งให้ปล่อยเท่านั้น ข้าพระพุทธเจ้าก็จะปล่อยนาคราชนั้น
จากที่คุมขังทันที ขอนาคราชตัวต้องการบุญ จงเหยียดกายตรงเที่ยวไป
จงพ้นจากที่คุมขังเถิด.

[๒๑๙๐] จัมเปยยนาคราชหลุดพ้นได้แล้ว จึงกราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระเจ้า
กาสิกราช ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายบังคมพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้ทรง
ผดุงกาสิกรัฐให้รุ่งเรือง ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายบังคมพระองค์ ข้าพระ-
พุทธเจ้าประนมอัญชลีแด่พระองค์ ขอเชิญเสด็จทอดพระเนตรนิเวศน์
ของข้าพระพุทธเจ้าเถิด พระเจ้าข้า.

[๒๑๙๑] ดูกรนาคราช แท้จริง คนทั้งหลายเขากล่าวถึงเหตุที่มนุษย์จะพึงคุ้นเคย
กับอมนุษย์ว่า พึงคุ้นเคยกันได้ยาก ก็ถ้าท่านขอร้องเราถึงเรื่องนั้น เรา
ก็อยากจะไปดูนิเวศน์ของท่าน.

[๒๑๙๒] ข้าแต่พระราชา ถึงแม้ว่า ลมจะพึงพัดภูเขาไปก็ดี พระจันทร์ และพระ
อาทิตย์จะพึงเผาผลาญแผ่นดินก็ดี แม่น้ำทุกสายพึงไหลทวนกระแสก็ดี
ถึงกระนั้น ข้าพระพุทธเจ้าก็จะไม่กล่าวคำเท็จเลย. ข้าแต่พระราชา ท้องฟ้า
จะทำลายไป ทะเลจะเหือดแห้งไป มหาปฐพีมีนามว่าภูตธราและพสุนธรา
จะพึงม้วนได้ เมรุบรรพตอันหนาแน่นด้วยศิลาจะพึงถอนไปทั้งราก ถึง
กระนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจะไม่กล่าวคำเท็จเลย.

[๒๑๙๓] ดูกรนาคราช แท้จริง คนทั้งหลายเขากล่าวถึงเหตุที่มนุษย์จะพึงคุ้นเคย
กับอมนุษย์ว่า พึงคุ้นเคยกันได้ยาก ก็ถ้าท่านขอร้องเราถึงเรื่องนั้น เรา
ก็อยากจะไปดูนิเวศน์ของท่าน.

[๒๑๙๔] ท่านเป็นผู้มีพิษร้ายแรงยิ่ง มีเดชมาก ทั้งโกรธง่าย ท่านหลุดพ้นจากที่
คุมขังไปได้ก็เพราะเหตุแห่งเรา ท่านควรจะรู้คุณที่เราทำให้แก่ท่าน.

[๒๑๙๕] ข้าพระพุทธเจ้าถูกคุมขังอยู่ในกระโปรง เกือบจะถึงความตาย จักไม่รู้จัก
อุปการคุณที่พระองค์ทรงกระทำแล้วเช่นนั้น ก็ขอให้ข้าพระพุทธเจ้าจง
หมกไหม้อยู่ในนรกอันแสนร้ายกาจ อย่าได้รับความสำราญกายสักหน่อย
หนึ่งเลย.

[๒๑๙๖] คำปฏิญาณของท่านนั้น จงเป็นคำสัตย์จริง ท่านอย่าได้มีความโกรธ อย่า
ผูกโกรธไว้ อนึ่ง ขอสุบรรณทั้งหลายจงละเว้นนาคสกุลของท่านทั้งมวล
เหมือนไฟในฤดูร้อน ฉะนั้น.

[๒๑๙๗] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน พระองค์ทรงเอ็นดูนาคสกุล เหมือน
มารดาผู้เอ็นดูบุตรคนเดียวผู้เป็นสุดที่รัก ฉะนั้น. ข้าพระพุทธเจ้ากับ
นาคสกุล จะขอกระทำเวยยาวฏิกกรรมอย่างยอดยิ่งแด่พระองค์.

[๒๑๙๘] เจ้าพนักงานรถ จงตระเตรียมราชรถอันงามวิจิตร จงเทียมอัสดรอันเกิด
ในกัมโพชกรัฐซึ่งฝึกหัดอย่างดีแล้ว และเจ้าพนักงานช้างจงผูกช้างตัว
ประเสริฐทั้งหลาย ให้งามไปด้วยสุวรรณหัตถาภรณ์ เราจะไปดูนิเวศน์
ของนาคราช.

[๒๑๙๙] พนักงานเภรี ตะโพน บัณเฑาะว์ และแตรสังข์ของพระเจ้าอุคคเสนราช
มาพร้อมหน้ากัน พระราชาทรงแวดล้อมด้วยสนมนารี เสด็จไปในท่าม
กลางหมู่สนมนารีงามสง่ายิ่งนัก.

[๒๒๐๐] พระเจ้ากาสีวัฒนราช ได้ทอดพระเนตรเห็นภูมิภาคอันงามวิจิตรลาดแล้ว
ด้วยทรายทองทั้งสุวรรณปราสาทก็ปูลาดไปด้วยแผ่นกระดานแก้วไพฑูรย์.
พระองค์เสด็จเข้าไปสู่นิเวศน์ของจัมเปยยนาคราชอันประดับประดาแล้ว
งามโอภาสดุจแสงพระอาทิตย์ มีรัศมีดังสายฟ้าในกลุ่มเมฆ พระเจ้า
กาสิกราชทรงทอดพระเนตรจนทั่วนิเวศน์ของจัมเปยยนาคราช อันดาดาษ
ไปด้วยรุกขชาตินานาชนิด หอมฟุ้งไปด้วยกลิ่นทิพย์ต่างๆ เมื่อพระเจ้า
กาสิกราชเสด็จเข้าไปในนิเวศน์ของจัมเปยยนาคราช ทิพยดนตรีก็บรรเลง
และเหล่านางนาคกัญญาต่างก็ฟ้อนรำขับร้องถวาย. พระเจ้ากาสิกราช
เสด็จขึ้นนิเวศน์ ซึ่งมีหมู่นางนาคกัญญาตามเสด็จ ทรงพอพระทัยประทับ
นั่งบนพระแท่นทองอันมีพนัก ไล้ทาด้วยแก่นจันทน์ทิพย์.

[๒๒๐๑] พระเจ้ากาสิกราชนั้น ครั้นเสวยสมบัติและทรงรื่นรมย์อยู่ในนาคพิภพ
นั้นแล้ว ได้ตรัสถามจัมเปยยนาคราชว่า วิมานอันประเสริฐของท่าน
เหล่านี้ มีรัศมีดังพระอาทิตย์งามผุดผ่อง วิมานเช่นนี้ไม่มีในมนุษยโลก
ดูกรพญานาคราช ท่านบำเพ็ญตบะธรรมเพื่อประโยชน์อะไร? นาง
นาคกัญญาเหล่านั้นล้วนสวมใส่กำไลทอง นุ่งห่มเรียบร้อย มีนิ้วมือกลม
กลึง ฝ่ามือฝ่าเท้าแดงงาม ผิวพรรณไม่ทราม พากันยกทิพยปานะถวาย
ให้พระองค์ทรงเสวย เหล่านารีเช่นนี้จะได้มีอยู่ในมนุษยโลกก็หาไม่
ดูกรพญานาคราช ท่านบำเพ็ญตบะธรรมเพื่อประโยชน์อะไร? อนึ่ง มหา
นทีอันชุ่มชื่น ดาษดื่นไปด้วยปลาที่มีเกล็ดนานาชนิด มีนกเงือกร่ำร้อง
อยู่อึงมี่ มีท่าราบเรียบ แม่น้ำเช่นนี้จะได้มีอยู่ในมนุษยโลกก็หาไม่ ดูกร
พระยานาคราช ท่านบำเพ็ญตบะธรรมเพื่อประโยชน์อะไร? ฝูงนก
กระเรียน ฝูงนกยูง ฝูงหงส์ และฝูงนกดุเหว่าทิพย์ ร่ำร้องเสียงไพเราะ
จับใจ ต่างก็โผผินบินจับอยู่บนต้นไม้ ทิพยสกุณาเช่นนี้จะได้มีใน
มนุษยโลกก็หาไม่ ดูกรพญานาคราช ท่านบำเพ็ญตบะธรรมเพื่อ
ประโยชน์อะไร? ต้นมะม่วง ต้นสาละ หมากเหม้าควาย ต้นหว้า
ต้นราชพฤกษ์ และแคฝอย ผลิตดอกออกผลเป็นพวงๆ ทิพยรุกขชาติ
เช่นนี้จะได้มีอยู่ในมนุษยโลกก็หาไม่ ดูกรพระยานาคราช ท่านบำเพ็ญ
ตบะธรรมเพื่อประโยชน์อะไร? อนึ่ง ทิพยสุคนธ์รอบๆ สระโบกขรณี
เหล่านี้ หอมฟุ้งอยู่เป็นนิตย์ ทิพยสุคนธ์เช่นนี้จะได้มีอยู่ในมนุษยโลก
ก็หาไม่ ดูกรพญานาคราช ท่านบำเพ็ญตบะธรรมเพื่อประโยชน์อะไร?

[๒๒๐๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน ข้าพระพุทธเจ้าบำเพ็ญตบะธรรม
เพราะเหตุแห่งบุตรทรัพย์ หรือแม้เพราะเหตุแห่งอายุก็หาไม่ แต่เพราะ
ข้าพระพุทธเจ้าปรารถนากำเนิดมนุษย์ ฉะนั้น จึงได้บากบั่นบำเพ็ญตบะ
ธรรม.

[๒๒๐๓] ท่านมีดวงเนตรแดง มีรัศมีส่องแสงสว่าง ประดับตกแต่งแล้ว ปลงเกสา
และมัสสุแล้ว ประพรมด้วยจุรณ์จันทน์แดง ฉายแสงไปทั่วทิศ ดัง
คนธรรพราช ฉะนั้น. ท่านเป็นผู้ประกอบด้วยเทวฤทธิ์ มีอานุภาพมาก
เพรียบพร้อมไปด้วยสรรพกามารมณ์ ดูกรพระยานาคราช เราขอถาม
เนื้อความนี้กะท่าน มนุษยโลกประเสริฐกว่านาคพิภพนี้ ด้วยเหตุไร?

[๒๒๐๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน เว้นมนุษยโลกเสียแล้ว ความบริสุทธิ์
หรือความสำรวมย่อมไม่มีเลย ข้าพระพุทธเจ้าบำเพ็ญตบะธรรมด้วยตั้งใจ
ว่า เราได้กำเนิดมนุษย์แล้วจักทำที่สุดแห่งชาติและมรณะได้.

[๒๒๐๕] ชนเหล่าใด มีปัญญา เป็นพหูสูต ตรึกตรองเหตุการณ์ถี่ถ้วนมาก ชน
เหล่านั้น ควรคบหาแท้ทีเดียว ดูกรพระยานาคราช เราได้เห็นนางนาค
กัญญาทั้งหลายของท่าน และตัวท่านแล้ว จักทำบุญให้มาก.

[๒๒๐๖] ชนเหล่าใด มีปัญญา เป็นพหูสูต ตรึกตรองเหตุการณ์ถี่ถ้วนมาก ชน
เหล่านั้นควรคบหาแท้ทีเดียว ข้าแต่พระมหาราชา พระองค์ได้ทอดพระ-
เนตรเห็นนางนาคกัญญา และตัวข้าพระพุทธเจ้าแล้ว ขอจงทรงบำเพ็ญ
บุญให้มากเถิด.

[๒๒๐๗] กองเงิน และกองทองของข้าพระพุทธเจ้านี้มากมาย สูงประมาณเท่า
ต้นตาล พระองค์จงรับสั่งให้พวกราชบุรุษขนไปจากนาคพิภพนี้ แล้วจง
รับสั่งให้สร้างพระราชวังด้วยทองคำ ให้สร้างกำแพงด้วยเงินเถิด. นี้
กองแก้วมุกดาอันเจือปนด้วยแก้วไพฑูรย์ห้าพันเล่มเกวียน พระองค์
จงรับสั่งให้ราชบุรุษขนไปจากนาคพิภพนี้ แล้วให้ลาดลง ณ ภูมิภาค
ภายในพระราชฐาน ภูมิภาคภายในพระราชฐานก็จักปราศจากเปือกตม
และละอองธุลี. ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ ผู้ทรงพระปรีชาอันล้ำเลิศ
ขอพระองค์โปรดเสวยราชสมบัติ ครอบครองพระนครพาราณสีอันมั่งคั่ง
สมบูรณ์ สง่างามล้ำเลิศ ดุจทิพยวิมานเห็นปานฉะนี้เถิด พระเจ้าข้า.

จบ จัมเปยยชาดกที่ ๑๐.

*************************************************
อธิบายจากอรรถกถาดังนี้ครับ

อรรถกถา จัมเปยยชาดก ว่าด้วย บำเพ็ญตบะเพื่อต้องการเกิดเป็นมนุษย์ พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภอุโบสถกรรม ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า กา นุ วิชฺชุริวาภาสิ ดังนี้. ความพิสดารว่า ในกาลนั้น พระบรมศาสดาตรัสว่า ดูก่อนอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย การที่ท่านทั้งหลายอยู่รักษาอุโบสถกรรมเป็นความดี โบราณกบัณฑิตทั้งหลายละนาคสมบัติแล้วอยู่รักษาอุโบสถกรรมเหมือนกัน อุบาสกอุบาสิกาเหล่านั้นทูลอาราธนา จึงทรงนำอดีตนิทานมาตรัสดังต่อไปนี้ ในอดีตกาล พระราชาทรงพระนามว่า พระเจ้าอังคติราช เสวยราชสมบัติอยู่ในอังครัฐราชธานี ในระหว่างแคว้นอังคะและมคธะต่อกันมีแม่น้ำชื่อจัมปานที ได้มีนาคพิภพอยู่ใต้แม่น้ำจัมปานทีนั้น. พระยานาคราชชื่อว่าจัมเปยยะ ครองราชสมบัติในนาคพิภพนั้น. (โดยปกติ พระราชาแห่งแคว้นทั้งสองเป็นศัตรูกระทำยุทธชิงชัยแก่กันและกันเนืองๆ ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ) บางครั้งพระเจ้ามคธราชยึดแคว้นอังคะได้ บางครั้งพระเจ้าอังคราชยึดแคว้นมคธได้. อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้ามคธราชกระทำยุทธนาการกับพระเจ้าอังคราช ทรงปราชัยต่อยุทธสงคราม เสด็จขึ้นม้าพระที่นั่งหลบหนีไปถึงฝั่งจัมปานที พวกทหารพระเจ้าอังคราชติดตามไปทันเข้า จึงทรงพระดำริว่า เราโดดน้ำตายเสียดีกว่าตายในเงื้อมมือของข้าศึกดังนี้แล้ว จึงโจนลงสู่แม่น้ำ พร้อมทั้งม้าพระที่นั่ง. ครั้งนั้น จัมเปยยนาคราชเนรมิตมณฑปแก้วไว้ภายในห้วงน้ำ แวดล้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก ดื่มมหาปานะอยู่. ม้าพระที่นั่งกับพระเจ้ามคธราชจมน้ำดิ่งลงไป เฉพาะพระพักตร์แห่งพระยานาคราช. พระยานาคราชเห็นพระราชาทรงเครื่องประดับตกแต่งก็บังเกิดความสิเนหา จึงลุกจากอาสนะทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์อย่าทรงหวาดกลัวเลย แล้วอัญเชิญให้พระราชาประทับนั่งบนบัลลังก์ของตน ทูลถามถึงเหตุที่ดำน้ำลงมา. พระเจ้ามคธราชตรัสเล่าความตามเป็นจริง ลำดับนั้น จัมเปยยนาคราชปลอบโยนพระเจ้ามคธราชให้เบาพระทัยว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์อย่าทรงหวาดกลัวเลย ข้าพระพุทธเจ้าจัก ช่วยจัดการให้พระองค์เป็นเจ้าของทั้งสองรัฐ ดังนี้แล้ว เสวยยศอันยิ่งใหญ่อยู่ ๗ วัน ในวันที่ ๘ จึงออกจากนาคพิภพพร้อมด้วยพระเจ้ามคธราช. พระเจ้ามคธราชทรงจับพระเจ้าอังคราชได้ด้วยอานุภาพของพระยานาคราช แล้วตรัสสั่งให้สำเร็จโทษเสีย เสวยราชสมบัติในสองรัฐสีมามณฑล. นับแต่นั้นมา ความวิสาสะคุ้นเคยระหว่างพระเจ้ามคธราชกับพระยานาคราชก็ได้กระชับมั่นคงยิ่งขึ้น. พระเจ้ามคธราชให้สร้างรัตนมณฑปขึ้นที่ฝั่งจัมปานที แล้วเสด็จออกกระทำพลีกรรมแก่พระยานาคราชด้วยมหาบริจาคทุกๆ ปี. แม้พระยานาคราชก็ออกจากนาคพิภพมารับพลีกรรมพร้อมด้วยมหาบริวาร. มหาชนพากันมาเฝ้าดูสมบัติของพระยานาคราช.

กาลครั้งนั้น พระบรมโพธิสัตว์เกิดในตระกูลเข็ญใจไปที่ฝั่งน้ำพร้อมด้วยราชบริษัท เห็นสมบัติของพระยานาคราชนั้นแล้วก็เกิดโลภเจตนา ปรารถนาจะได้สมบัตินั้น จึงทำบุญให้ทานรักษาศีล พอจัมเปยยนาคราชทำกาลกิริยาไปได้ ๗ วันก็จุติไปบังเกิดเหนือสิริไสยาสน์ ณ ห้องอันมีสิริในปราสาทที่อยู่ของจัมเปยยนาคราชนั้น. สรีระร่างกายของพระบรมโพธิสัตว์ได้ปรากฏใหญ่โต มีวรรณะขาวราวกะพวงดอกมะลิสด. พระโพธิสัตว์เห็นดังนั้นก็เกิดวิปฏิสารคิดไปว่า อิสริยยศในฉกามาวจรสวรรค์ เป็นเสมือนข้าวเปลือกที่เขาโกยกองเก็บไว้ในฉางได้มีแก่เรา ด้วยผลแห่งกุศลที่เราทำไว้ เราสิกลับมาถือปฏิสนธิในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานนี้ ประโยชน์อะไรที่เราจะมีชีวิตอยู่ดังนี้แล้วเกิดความคิดที่จะตาย. ลำดับนั้น นางนาคมาณวิกาชื่อว่า สุมนา เห็นพระมหาสัตว์นั้นแล้วดำริว่า ชะรอยจักเป็นสัตว์ผู้มีอานุภาพมากมาเกิดแน่ดังนี้แล้วจึงให้สัญญาแก่นางนาคมาณวิกาทั้งหลาย นางนาคมาณวิกาเหล่านั้นทั้งหมดต่างถือนานาดุริยสังคีต มากระทำการบำเรอขับกล่อมพระมหาสัตว์ นาคพิภพที่สถิตของพระมหาสัตว์นั้น ได้ปรากฏเสมือนพิภพแห่งท้าวสักกเทวราช. มรณจิต(คือจิตที่คิดอยากตาย) ของพระมหาสัตว์ก็ดับหายไป. พระมหาสัตว์เจ้าละเสียซึ่งสรีระของงู ทรงประดับเครื่องสรรพาลังการ ประทับเหนือพระแท่นบรรทม. นับจำเดิมแต่นั้นมา พระอิสริยยศก็ปรากฏแก่พระมหาสัตว์เจ้ามากมาย. เมื่อพระมหาสัตว์เจ้าเสวยนาคราชสมบัติอยู่ในนาคพิภพนั้น ในเวลาต่อมาก็เกิดวิปฏิสาร คิดว่า ประโยชน์อะไรด้วยกำเนิดดิรัจฉานนี้แก่เรา เราจักอยู่รักษาอุโบสถกรรม พ้นจากอัตภาพนี้ไปสู่ดินแดนมนุษย์ จักได้แทงตลอดสัจจธรรม กระทำที่สุดแห่งทุกข์ดังนี้ นับจำเดิมแต่นั้นก็ทรงรักษาอุโบสถกรรมอยู่ในปราสาทนั้นทีเดียว พวกนางมาณวิกาตกแต่งกายงดงามพากันไปยังสำนักของพระมหาสัตว์นั้น ศีลของพระมหาสัตว์ก็วิบัติทำลายอยู่เนืองๆ. จำเดิมแต่นั้น พระมหาสัตว์เจ้าจึงออกจากปราสาทไปสู่พระอุทยาน. นางนาคมาณวิกาเหล่านั้นก็ติดตามไปแม้ในพระอุทยาน อุโบสถศีลของพระมหาสัตว์ก็แตกทำลายอยู่ร่ำไป. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เจ้าทรงจินตนาการว่า ควรที่เราจะออกจากนาคพิภพนี้ไปยังมนุษยโลกอยู่รักษาอุโบสถ. นับแต่นั้นมาเมื่อถึงวันอุโบสถ พระองค์ก็ออกจากนาคพิภพไปยังมนุษยโลก (ทรงประกาศ)สละร่างกายในทานมุขว่า ใครจะมีความต้องการอวัยวะของเรามีหนังเป็นต้นก็จงถือเอาเถิด ใครต้องการจะทำให้เราเล่นกีฬางูก็จงกระทำเถิด แล้วคู้ขดขนดกายนอนรักษาอุโบสถอยู่ที่ยอดจอมปลวกใกล้มรรคา แถบปัจจันตชนบทแห่งหนึ่ง. ชนทั้งหลายเดินผ่านไปมาในหนทางใหญ่เห็นพระโพธิสัตว์เจ้าแล้ว พากันบูชาด้วยเครื่องสักการะมีของหอมเป็นต้นแล้วหลีกไป. ชาวปัจจันตชนบทไปพบแล้วคิดว่า คงจักเป็นนาคราชผู้มีมหิทธานุภาพ จึงจัดทำมณฑปขึ้นเบื้องบน ช่วยกันเกลี่ยทรายรอบบริเวณ แล้วบูชาด้วยสักการะมีของหอมเป็นต้น จำเดิมแต่นั้นมา มนุษย์ทั้งหลายก็เลื่อมใสในพระมหาสัตว์เจ้า ทำการบูชาปรารถนาบุตรบ้าง ปรารถนาธิดาบ้าง. แม้พระมหาสัตว์เจ้าทรงรักษาอุโบสถกรรม ถึงวันจาตุททสี และปัณณรสี ดิถี ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำก็มานอนอยู่เหนือจอมปลวก ต่อในวันปาฏิบทแรมค่ำหนึ่ง จึงกลับไปสู่นาคพิภพ. เมื่อพระมหาสัตว์เจ้ารักษาอุโบสถอยู่อย่างนี้ เวลาล่วงไปเนิ่นนาน. อยู่มาวันหนึ่ง นางสุมนาอัครมเหสีทูลถามพระมหาสัตว์ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ พระองค์เสด็จไปยังมนุษยโลกเข้าอยู่รักษาอุโบสถศีลนั้น ความจริงมนุษยโลกน่ารังเกียจ มีภัยรอบด้าน หากว่าภัยจะพึงบังเกิดแก่พระองค์ เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกหม่อมฉันจะพึงรู้ได้ด้วยนิมิตอย่างไร ขอพระองค์จงตรัสบอกนิมิตอย่างนั้น แก่พวกหม่อมฉันด้วยเถิด. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์จึงนำนางสุมนาเทวีไปยังขอบสระมงคลโบกขรณี แล้วตรัสว่า ดูก่อนพระนางผู้เจริญ ถ้าหากใครๆ จักประหารทำให้เราลำบากไซร้ น้ำในสระโบกขรณีนี้จักขุ่นมัว ถ้าพญาครุฑจับเอาไป น้ำจักเดือดพลุ่งขึ้นมา ถ้าหมองูจับเอาไป น้ำจักมีสีแดงเหมือนโลหิต พระโพธิสัตว์ตรัสบอกนิมิต ๓ ประการแก่นางสุมนาเทวีอย่างนี้แล้ว ทรงอธิษฐานจาตุททสีอุโบสถ เสด็จออกจากนาคพิภพไปมนุษยโลก นอนเหนือจอมปลวก ยังจอมปลวกให้งดงามด้วยรัศมีแห่งสรีรกาย แม้สรีรกายของพระมหาสัตว์นั้นก็ปรากฏขาวสะอาดผุดผาดดังพวงเงิน ท่อนพระเศียรเบื้องบนคล้ายคลุมไว้ด้วยผ้ากัมพลแดง.

อนึ่ง ในชาดกนี้ สรีรกายของพระโพธิสัตว์มีขนาดเท่าศีรษะคันไถ ในภูริทัตตชาดก มีขนาดเท่าลำขา. สังขปาลชาดกมีขนาดเท่าเรือโกลนลำหนึ่ง. กาลครั้งนั้น มีมาณพชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่งไปเมืองตักกศิลา เรียนอาลัมภายนมนต์ในสำนักของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เดินทางกลับบ้านของตนโดยผ่านมรรคานั้น เห็นพระมหาสัตว์เจ้าแล้วคิดว่า เราจักจับงูนี้บังคับให้เล่นกีฬา ในคามนิคมราชธานีทั้งหลาย ยังทรัพย์ให้เกิดขึ้นดังนี้แล้ว จึงหยิบทิพโอสถ ร่ายทิพมนต์ ไปยังสำนักของพระมหาสัตว์เจ้า จำเดิมแต่พระมหาสัตว์เจ้าสดับทิพมนต์แล้ว เกิดอาการเหมือนซี่เหล็กร้อนยอนเข้าไปในพระกรรณทั้งสอง เบื้องพระเศียรปวดร้าวราวกะถูกเหล็กสว่านไช. พระมหาสัตว์เจ้าทรงรำพึงว่า นี่อย่างไรกันหนอ จึงยกพระเศียรขึ้นจากวงภายในขนดแลไป ได้เห็นหมองู แล้วดำริว่า พิษของเรามากมาย ถ้าเราโกรธแล้วพ่นลมจมูกออกไป สรีระของหมองูนี้จักย่อยแหลกไปเหมือนกองเถ้า แต่เมื่อทำเช่นนั้น ศีลของเราก็จักด่างพร้อย เราจักไม่แลดูหมองูนั้น ท้าวเธอจึงหลับพระเนตรทั้งสอง ทอดพระเศียรไว้ภายในขนด พราหมณ์หมองูเคี้ยวโอสถแล้วร่ายมนต์พ่นน้ำลาย ลงที่สรีรกายของพระมหาสัตว์ ด้วยอานุภาพแห่งโอสถและมนต์ เรือนร่างของพระมหาสัตว์ในที่ซึ่งถูกน้ำลายรดแล้วๆ ปรากฏเป็นเสมือนพองบวมขึ้น ครั้งนั้น พราหมณ์หมองูจึงฉุดหางพระมหาสัตว์ลากลงมาให้นอนเหยียดยาว บีบตัวด้วยไม้กีบแพะทำให้ทุพพลภาพ จับศีรษะให้มั่นแล้วบีบเค้น พระมหาสัตว์จึงอ้าปากออก. ทีนั้นพราหมณ์หมองูจึงพ่นน้ำลายเข้าไปในปากของพระมหาสัตว์ แล้วจัดการพ่นโอสถและมนต์ ทำลายพระทนต์จนหลุดถอน ปากของมหาสัตว์เต็มไปด้วยโลหิต. พระมหาสัตว์สู้อดกลั้นทุกขเวทนาเห็นปานนี้ เพราะกลัวศีลของตัวจะแตกทำลาย ทรงหลับพระเนตรนิ่งมิได้ทำการเหลียวมองดู. แม้พราหมณ์หมองูนั้นยังคิดว่า เราจักทำนาคราชให้ทุพพลภาพ ดังนี้ จึงขึ้นเหยียบย่ำร่างกายของพระมหาสัตว์ตั้งแต่หางขึ้นไป คล้ายกับจะทำให้กระดูกแหลกละเอียดไป แล้วม้วนพับอย่างผืนผ้า ขยี้กระดูกให้ขยายเช่นอย่างคลายเส้นด้ายให้กระจาย จับหางทบทุบเช่นอย่างทุบผ้า สกลสรีรกายของพระมหาสัตว์แปดเปื้อนไปด้วยโลหิต พระมหาสัตว์นั้นสู้อดกลั้นมหาทุกขเวทนาไว้. ครั้นพราหมณ์หมองูรู้ว่า พระมหาสัตว์อ่อนกำลังลงแล้ว จึงเอาเถาวัลย์มาถักทำเป็นกระโปรง ใส่พระมหาสัตว์ลงไปในกระโปรงนั้นแล้ว นำไปสู่ปัจจันตคามให้เล่นท่ามกลางมหาชน. พราหมณ์หมองู ปรารถนาจะให้แสดงท่วงทีอย่างใดๆ ในประเภทสีมีสีขียวเป็นต้น และสัณฐานทรวดทรงกลมหรือสี่เหลี่ยมเป็นต้น หรือขนาดเล็กใหญ่เป็นต้น พระมหาสัตว์เจ้าก็กระทำท่วงทีนั้นๆ ทุกอย่าง ฟ้อนรำทำพังพานได้ตั้งร้อยอย่างพันอย่าง. มหาชนดูแล้วชอบใจให้ทรัพย์แก่พราหมณ์เป็นอันมาก เพียงวันเดียวเท่านั้นได้ทรัพย์ตั้งพันและเครื่องบริขารราคานับเป็นพัน แต่ชั้นแรกพราหมณ์หมองูคิดไว้ว่า เราได้ทรัพย์สักพันหนึ่งแล้วก็จักปล่อยไป แต่ครั้นได้ทรัพย์จำนวนเท่านั้นแล้วคิดเสียว่า ในปัจจันตคามแห่งเดียว เรายังได้ทรัพย์ถึงขนาดนี้ ในสำนักพระราชาและมหาอำมาตย์ คงจักได้ทรัพย์มากมาย จึงซื้อเกวียนเล่มหนึ่งกับยานสำหรับนั่งสบายเล่มหนึ่ง บรรทุกของลงในเกวียน แล้วนั่งบนยานน้อยพร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก บังคับพระมหาสัตว์ให้เล่นในบ้านและนิคมเป็นต้นโดยลำดับไป แล้วคิดว่า เราจักให้นาคราชเล่นถวายในสำนักของพระเจ้าอุคคเสนแล้วก็จักปล่อยดังนี้ แล้วก็เดินทางต่อไป

(ยังมีต่อ)


Create Date : 02 มิถุนายน 2549
Last Update : 2 มิถุนายน 2549 19:55:40 น. 0 comments
Counter : 276 Pageviews.

พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.