" การเป็นผู้ให้ ย่อมสุขใจ กว่าการเป็นผู้รับ "
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2553
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
6 พฤศจิกายน 2553
 
All Blogs
 
ลูกคุณเป็น "แอสเพอร์เกอร์ซินโดรม" หรือไม่






ถ้าพูดถึง ”เด็กออทิสติก” คงจะเป็นคำที่คุ้นหูและนึกภาพออกว่ามีลักษณะอาการเป็นอย่างไร แต่ถ้าเอ่ยถึง “แอสเพอร์เกอร์ซินโดรม” (Asperger"s Syndrome) แล้ว หลายครอบครัวอาจไม่คุ้นชิน ขณะที่บางครอบครัวอาจจะต้องรู้จักกับชื่อนี้เป็นอย่างดี

ลักษณะของ “แอสเพอร์เกอร์ซินโดรม” นี้ “นพ.จอม ชุมช่วย” จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ ให้ข้อมูลไว้น่าสนใจว่า เมื่อปี พ.ศ. 2483 มีการรายงานถึงกลุ่มอาการผิดปกติทางพฤติกรรม และพัฒนาการของเด็ก โดยคุณหมอฮานส์ แอสเพอร์เกอร์ (Hans Asperger) เป็นผู้ค้นพบลักษณะของกลุ่มอาการดังกล่าว

คนไข้ส่วนใหญ่ที่พบ จะเป็นเด็กผู้ชายที่มีความเฉลียวฉลาด และมีระดับสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนด้านภาษาสามารถพูดคุยสื่อสารปกติได้เช่นกัน แต่เด็กเหล่านี้จะมีปัญหาในด้านทักษะการเข้าสังคม ร่วมกับการมีพฤติกรรมหมกมุ่น และมีความสนใจซ้ำซาก จึงตั้งภาวะนี้ว่า “แอสเพอร์เกอร์ซินโดรม” ตามชื่อของเขา

สำหรับสาเหตุของโรคแอสเพอร์เกอร์ นพ.จอม เล่าว่า ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่มีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านเชื่อว่า มีหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม แต่ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด ขณะเดียวกันในปัจจุบันยังไม่มียาใดที่ใช้รักษาอาการเหล่านี้ให้หายเป็นปกติ แต่พบว่าเด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่ เมื่อได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และให้ความรู้ความเข้าใจกับพ่อแม่ รวมทั้งทางโรงเรียน ในเรื่องการปรับตัว และปรับพฤติกรรมของเด็ก ก็สามารถช่วยให้เด็กอยู่ร่วมในสังคมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

ทั้งนี้ จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่นได้อธิบาย และให้คำแนะนำถึงพฤติกรรม รวมไปถึงลักษณะอาการของเด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ

1. ด้านภาษา คือ เด็กกลุ่มนี้ จะมีการพูด และทักษะการใช้ภาษาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งเด็กอาจพูดถูกหลักไวยากรณ์ แต่ไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาที่ลึกซึ้ง หรือความหมายโดยนัยที่แฝงอยู่ เช่น มุกตลก คำเปรียบเปรย และคำประชดประชันต่างๆ เป็นต้น





2. ด้านสังคม จะสังเกตได้ว่าเมื่อเด็กต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ อาจมีพฤติกรรมการแสดงออกที่ดูแปลกกว่าเด็กวัยเดียวกัน เช่น ไม่ค่อยมองหน้า หรือสบตาเวลาพูดคุย ชอบแยกตัวอยู่คนเดียว ไม่ค่อยสนใจบุคคลรอบข้าง เล่นกับเด็กคนอื่นไม่ค่อยเป็น ไม่รู้จักการทักทาย พอเจอปุ๊บอยากถามอะไร อยากรู้อะไรก็จะพูดโพล่งออกมา ไม่มีการเกริ่นนำ ถามเรื่องที่สนใจโดยไม่เสียเวลา และไม่ค่อยรู้จักกาลเทศะ เรื่องที่พูดคุยมักเป็นเรื่องของตนเองมากกว่าเรื่องอื่นๆ ไม่แสดงความใส่ใจ หรือสนใจเรื่องราวของคนอื่น ขาดความเข้าใจหรือเห็นใจผู้อื่น และมักชอบพูดซ้ำๆ เรื่องเดิมๆ ที่ตนเองสนใจ

3. ด้านพฤติกรรม เด็กจะมีความสนใจเฉพาะเรื่อง และชอบทำอะไรซ้ำๆ เช่น ถ้าเขามีความสนใจอะไรก็จะสนใจมากจนถึงขั้นหมกมุ่น โดยเฉพาะกับเรื่องที่ค่อนข้างมีความซับซ้อน และอาจเป็นเรื่องที่คนอื่นไม่สนใจ เช่น แผนที่โลก วงจรไฟฟ้า ยี่ห้อรถยนต์ ดนตรีคลาสสิค ไดโนเสาร์ ระบบสุริยจักรวาล เป็นต้น โดยความสนใจเหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา ในบางรายมีความไวต่อสิ่งเร้าที่มาจากภายนอกค่อนข้างมากกว่าคนทั่วไป

อย่างไรก็ดี นพ.จอม ระบุต่อว่า โดยทั่วไป เด็กที่มีภาวะดังกล่าว จะมีสติปัญญาดี มีความสามารถในการช่วยเหลือตนเองในเรื่องต่างๆ ที่ต้องทำในชีวิตประจำวันอยู่ในขั้นพอใจ ซึ่งบางคนอาจมีปัญหาสมาธิสั้น หรือปัญหาการจัดลำดับเรื่องราวต่างๆ แต่โดยรวมแล้วเด็กเหล่านี้จะมีระดับสติปัญญาที่เป็นปกติ หรืออาจจะดีกว่าปกติด้วยซ้ำ





กระนั้น ครอบครัวถือว่ามีบทบาทสำคัญที่ต้องช่วยกันดูแล รวมทั้งต้องทำความเข้าใจกับปัญหา และศึกษาวิธีแก้ไขปัญหา เรียนรู้ทักษะต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน หากเด็กได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างเหมาะสม ทั้งในการพัฒนาด้านสังคม และพฤติกรรม เด็กจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขต่อไป

นอกจากนี้ จิตแพทย์เด็ก ได้ให้ข้อแนะนำสำหรับพ่อแม่ในการช่วยเด็กที่มีภาวะเป็นแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม อย่างเหมาะสม ดังนี้

- พ่อแม่ควรเล่นกับเด็ก โดยเอาความสนใจของเด็กเป็นที่ตั้ง แล้วค่อยๆ ขยายความสนใจเหล่านั้นไปในแง่มุมอื่นๆ โดยมีเป้าหมายที่จะแบ่งปันความสนใจ และอารมณ์ซึ่งกันและกัน

- สนทนากับเด็กด้วยคำง่ายๆ ชัดเจน และถ้าเป็นตัวอย่างก็ควรเป็นสิ่งของในสถานการณ์จริงหรือรูปภาพ จะทำให้เด็กเข้าใจง่าย และเกิดการเรียนรู้ได้เร็ว

- สร้างบรรยากาศในการทำกิจกรรมให้รู้สึกสบายๆ ไม่เครียด มีความอบอุ่นและเป็นกันเอง

- ในการเล่นหรือการเรียนของเด็ก ควรจัดเป็นกลุ่มเล็กๆ เพื่อให้เด็กได้คุ้นเคยกับกฎระเบียบของกลุ่มเล็กก่อน ก่อนให้เด็กเข้าในกลุ่มใหญ่

- การใช้คำสั่งกับเด็กต้องมีความสม่ำเสมอ คงเส้นคงวาไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย

- สนับสนุนให้เด็กเข้าเรียนร่วม ช่วยให้สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นได้

- สนับสนุนกิจกรรมหลากหลายเพื่อให้เด็กได้มีประสบการณ์ใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้เพื่อลดความสนใจและความเคยชินที่ซ้ำซาก

พร้อมกันนี้ เมื่อสอบถามไปยังผู้ปกครองของนักเรียนชั้น ป.6 รายหนึ่ง ซึ่งเปิดเผยว่า เมื่อรู้ว่าลูกเป็นโรคแอสเพอร์เกอร์ ยอมรับว่ามีความทุกข์พอสมควร เพราะลูกไม่ชอบเข้าสังคม ไม่พูดคุยกับใคร ไม่ร่วมทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ บางทีก็ไม่ยอมส่งการบ้าน ทำให้ถูกครูตี และครูเข้าใจผิดว่าเป็นเด็กดื้อ ซึ่งจริงๆ แล้วเขาป่วย เด็กแอสเพอร์เกอร์จะมีความอ่อนไหวมาก เวลาที่เขารักใครก็จะรักจริง ชอบทำอะไรก็จะทำแบบสุดโต่ง ดังนั้นจะต้องทำความเข้าใจและช่วยเหลือเขา

“ที่ผ่านมาตัวเองพยายามดูแลเขาโดยยอมที่จะลาออกจากงาน และกว่าจะเข้าใจลูกก็ใช้เวลานานพอสมควร นอกจากนี้การทำงานร่วมกับครู แพทย์ และโรงเรียนจะเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะช่วยเหลือเด็กได้ วันนี้พยายามที่จะดึงเอาจุดเด่นๆของเขา คือการเล่านิทานออกมาเพื่อส่งเสริมให้เขาเกิดความภาคภูมิใจ ซึ่งเขาก็ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะเป็นนักเขียนและนักแปลที่มีชื่อเสียงให้ได้” ผู้ปกครองที่มีลูกเป็นแอสเพอร์เกอร์เล่า

ถึงอย่างไรเสีย “แอสเพอร์เกอร์” ไม่ใช่ภาวะที่รุนแรง แต่เป็นภาวะที่มีผลต่อการแสดงออกทางพฤติกรรม ทางที่ดีการให้ความรักความเข้าใจ และสนับสนุนเด็กอย่างถูกต้องเหมาะสม ทั้งนี้พ่อแม่จะต้องคอยศึกษาหาความรู้ และมีเวลาดูแลลูกอย่างใกล้ชิด เพื่อสังเกตว่า ความถนัด และสิ่งที่เด็กมีความสามารถนั้นคืออะไร แล้วจึงค่อยส่งเสริม



ที่มาจาก //www.healthcorners.com/new_read_article.php?category=generalhealth&id=2702


Create Date : 06 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 6 พฤศจิกายน 2553 15:16:14 น. 0 comments
Counter : 507 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

อลิซ ในดินแดนไม่มหัศจรรย์
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




การเป็นผู้ให้ ย่อมสุขใจกว่าการเป็นผู้รับ : )
Friends' blogs
[Add อลิซ ในดินแดนไม่มหัศจรรย์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.