ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
<<
มกราคม 2564
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
4 มกราคม 2564
 
All Blogs
 
สมณะ

"สมณะ" หรือ "ศรมัณ"
Samana or Sramana
คำว่า "สมณะ" ในรูปภาษาสันสกฤต คือ "ศฺรมณ" (Sramana) และในรูปภาษาบาลี คือ "สมณ" (Samana) แปลว่า ผู้สงบกิเลส
อินเดียเต็มไปด้วยสำนักปรัชญาและศาสนามาตั้งแต่สมัยโบราณ แม้ว่าสังคมอินเดียสมัยโบราณจะมีพราหมณ์เป็นผู้ก่อตั้งสำนักสอนหนังสือหลัก แต่ในช่วงก่อนยุคสมัยกลางของอินเดียเล็กน้อย ก็มีกลุ่มนักบวชที่เรียกชื่อเป็นภาษาบาลีว่า "สมณะ" หรือ "ศรมัณ" ในภาษาสันสกฤต อยู่หลายกลุ่ม กลุ่มสมณะเหล่านี้ ไม่เชื่อไม่ศรัทธาในระบบความเชื่อของพราหมณ์เดิมที่บันทึกอยู่ในคัมภีร์พระเวท ไม่เชื่อในระบบวรรณะ ฯลฯ
แต่เดิมนั้น พวกพราหมณ์ไม่นิยมออกบวชเพราะถือว่าใครก็ตามที่ปฏิบัติตามหน้าที่ของแต่ละวรรณะก็จะไปเกิดในสวรรค์โดยอัตโนมัติ แต่เหล่าสมณะไม่เห็นด้วยและพากันออกบวช สาเหตุที่ออกบวชก็เพราะเห็นว่าไม่มีทางที่จะค้นพบสัจธรรมจากคัมภีร์พระเวทหรือจากการใช้ชีวิตอยู่ในเมือง ดังนั้น ศาสนาของพวกสมณะจึงเป็นทางเลือกใหม่ที่ทำให้อินเดียหลากหลายไปด้วยความเชื่อทางศาสนาและปรัชญามากยิ่งขึ้น
เหล่าสมณะที่แสวงหาโมกษะ (บาลีว่า "โมกขะ") ทางหลุดพ้นจากทุกข์สมัยพุทธกาลนั้นมีหลายกลุ่ม ที่พบในวรรณคดีบาลีและสันสกฤตมีชื่อเรียกต่างกันหลายอย่าง กล่าวคือ อาชีวก นิครนถ์ มุณฑสาวก ชฎิล ปริพาชก มาคัณฑิกะ เตทัณฑิกะ อวิรุทธกะ โคตมกะ เทวธัมมิกะ สันยาสี ยติ ภิกษุ เป็นต้น ส่วนในวรรณคดีของศาสนาเชน มีปรากฏ 5 กลุ่มหลัก กล่าวคือ พวกนิครนถ์ พวกศากยะ พวกดาบส พวกไคริกะ และพวกอาชีวก กลุ่มผู้ออกบวชเหล่านี้เรียกรวมๆ กันว่า พวกสมณะทั้งหมด ดังจะเห็นได้ว่าเรามีศัพท์ว่า "สมณะ-พราหมณ์" ปรากฏบ่อยๆ ในพระไตรปิฎกบาลี เพราะกลุ่มสมณะและพราหมณ์มักแข่งขันกัน
กลุ่มสมณะ คือ กลุ่มปัญญาชนที่ไม่เห็นด้วยกับปรัชญาหรือศาสนาของพราหมณ์ในคัมภีร์พระเวท สองกลุ่มนี้จึงโต้คารมกันบ่อยๆ และพระสาวกของพระพุทธเจ้าจำนวนมากก็เคยเป็นพราหมณ์มาก่อน พอได้เห็นโลกุตรธรรมของพระพุทธศาสนาก็หันมาเป็นสาวกของพระพุทธองค์ก็มี
น่าสังเกตว่ากลุ่มผู้คนที่ต้องการแสวงหาโมกษะทางดับทุกข์เหล่านี้ล้วนเป็นกลุ่มผู้ชายเป็นหลัก และเริ่มต้นจากการอภิปรายเพื่อแสวงหาความจริงกันขณะเป็นคฤหัสถ์ก่อน ต่อมาจึงค่อยๆ ทดลองปฏิบัติกันและพัฒนากลุ่มขึ้นมาในรูปนักบวชที่เสียสละบ้านช่อง ละทิ้งญาติมิตร ไปอยู่ตามป่าตามเขา ริมฝั่งแม่น้ำ ฯลฯ ที่มีวัตรปฏิบัติชัดเจนกันอีกที ซึ่งตรงกับสำนวนภาษาบาลีในพระไตรปิฎกว่า
อคารสฺมา อนคาริยํ ปพฺพชิตา แปลได้ว่า ออกจากเรือนมาบวชเป็นนักบวชที่ไม่มีเรือน
คนเหล่านี้จะมีหลายกลุ่มหลายพวก แต่ละกลุ่มก็จะมีญาติโยมซึ่งเป็นคฤหัสถ์คอยอุปัฏฐากประจำเพราะไม่ได้ทำมาหากิน จึงจำเป็นต้องมีคฤหัสถ์คอยอุปถัมภ์ในเรื่องอาหาร โดยนักบวชเหล่านี้จะสั่งสอนปรัชญาหรือหลักธรรมที่ตนเองค้นพบเป็นการตอบแทน
คัมภีร์สันสกฤตโบราณบางเล่มได้แบ่งวิถีชีวิตสังคมอินเดียตั้งแต่สมัยโบราณถึงก่อนพุทธกาลออกกว้างๆ 4 กลุ่ม กล่าวคือ พรหมจารี (นักศึกษา) คฤหัสถ์ (ผู้ครองเรือนและเลี้ยงชีพด้วยอาชีพต่างๆ) ภิกษุ และดาบส (บางเล่มเป็น "วานปรัสถ์" และ "สันยาสี" แทน) ในจำนวนนี้กลุ่มคฤหัสถ์ (ผู้ครองเรือน) จะเป็นฐานสนับสนุนให้กลุ่มสมณะทุกกลุ่ม (พฺรหฺมจารี คฤหสฺโถ ภิกฺษุรไวขานส อิติ เตษำ คฤหสฺโถ โยนิรปฺรชานนตฺวาทฺ อิตเรษามฺ)
ปกติคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนเหล่านี้จะประกอบอาชีพต่างๆ และอาจนับถือนักบวชต่างกลุ่มกัน แต่ที่เหมือนกันคืออยู่ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนหลักทางด้านอาหาร
ยถา วายุํ สมาศฺริตฺย วรฺตนฺเต สรฺวชนฺตวะ, ตถา คฤหสฺถมาศฺริตฺย วรฺตนฺเต สรฺเว อาศฺรมาะ
สัตว์ทั้งปวงอาศัยอากาศเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ฉันใด ผู้คนในอาศรมอื่นๆ ต้องอาศัยผู้ครองเรือน (คฤหัสถ์) ฉันนั้น
สำนักไหนมีชื่อเสียงมาก มีคฤหัสถ์สนับสนุนมาก สำนักนั้นก็อยู่ได้นาน
สมัยนั้น การเรียนหนังสือทำได้หลายวิธี เช่น ถ้านับถือคัมภีร์พระเวทของพวกพราหมณ์ก็เรียนในสำนักพราหมณ์ในเมือง เรียนในสำนักครูประจำตระกูลใหญ่ๆ ดังๆ ซึ่งเปิดสอนกุลบุตรกุลธิดาของตน เช่น สำนักปัญจาละซึ่งในสมัยอุปนิษัทก่อนพุทธกาลจะมีชื่อเสียงมาก หรือเรียนในสำนักอื่นๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ตามหมู่บ้านบ้าง หรือเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอย่างตักศิลาบ้าง ฯลฯ แล้วแต่ฐานะและโอกาส โดยเรียนกับผู้สอนซึ่งเรียกว่าอาจารย์บ้าง อุปาธยายะบ้าง คุรุบ้าง การไปศึกษาในสถานที่เหล่านี้เป็นวิถีปกติสำหรับวรรณะกษัตริย์ พราหมณ์ และแพศย์ ที่นับถือศาสนาพระเวท โดยปกติจะต้องจ่ายค่าเล่าเรียนตอบแทน แต่ก็มีประชาชนอีกจำนวนมากเรียนในสำนักสมณะกลุ่มต่างๆ ซึ่งสัญจรไปมาอยู่ไม่เป็นที่ กลุ่มสมณะเหล่านี้จะหยุดพักแรมเมื่อถึงฤดูฝน โดยกลุ่มสมณะนี้จะสอนชาวบ้านหรือคฤหัสถ์ฟรีๆ ถ้าชาวบ้านหรือกลุ่มคฤหัสถ์ขอให้พักแรมนานๆ ก็จะอยู่นานๆ

กลุ่มพระพุทธเจ้าและเหล่าสาวกของพระองค์ก็จัดเข้าในกลุ่มพวกสมณะ แต่เดิมก็ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งเพราะสมณะเป็นกลุ่มบรรพชิตที่เสียสละทรัพย์สมบัติทางโลกทุกอย่างแล้ว จึงต้องจาริกไปตามสถานที่ต่างๆ ไปเรื่อยๆ เพื่อหาเสนาสนะที่สัปปายะมากแล้วปฏิบัติธรรมตามที่ศาสดาของกลุ่มตนสอนเพื่อให้รู้จริงตาม ถ้าเป็นสมณะกลุ่มอื่นก็อาจปักหลักกับที่บ้าง จาริกไปตามที่ต่างๆ เพื่อสนทนากับหมู่นักบวชสำนักต่างๆ แลกเปลี่ยนความรู้กันเพื่อให้สติปัญญาแหลมคมขึ้น พระสงฆ์ผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าหลังจากออกบวชตามพระพุทธเจ้าแล้ว ก็สัญจรไปตามที่ต่างๆ ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งเหมือนสมณะกลุ่มอื่นๆ แต่หลักๆ ก็คือหาเสนาสนะสัปปายะที่ถูกจริตเพื่อการปฏิบัติธรรมที่เข้มข้นยิ่งขึ้น
______________________
หลักธรรมสร้างความเป็นสมณะในพระพุทธศาสนา
ศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาเก่าแก่และมีรากฐานมั่นคงในประเทศอินเดีย ผสมผสานอยู่ในวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ ของอินเดียอย่างกว้างขวาง ประกอบด้วยศาสนาเชนอีกศาสนาหนึ่ง ที่ถือการปฏิบัติเคร่งครัดด้วยการบำเพ็ญตบะเป็นพรหมจรรย์ตลอดชีวิต มีกำลังจูงใจผู้รักการปฏิบัติที่ขัดเกลาให้นิยมนับถืออยู่ไม่น้อย ติดตามด้วยนักบวชในนิกายต่างๆ อีกมากมาย
พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นบนพื้นฐานที่มีศาสนาลัทธิต่างๆ ปกคลุมอยู่แล้ว แต่ด้วยอานุภาพหลักคำสอนที่เหมาะสม อำนวยประโยชน์แก่ชีวิตในระดับต่างๆ นั่นเอง จึงเป็นเหตุให้ผู้ที่เคยนับถือศาสนาและลัทธิอื่นๆ อยู่ ได้หันวิถีชีวิตเข้าสู่ทางพระพุทธศาสนา
เป็นที่น่าสังเกตอย่างยิ่งว่านอกจากพระพุทธเจ้าจะทรงค้นพบหลักความจริงด้วยวิธีการบรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ศัพท์เฉพาะต่างๆ ส่วนใหญ่ก็ทรงใช้อย่างที่มีอยู่แล้วในยุคนั้น แต่ไม่ได้ทรงใช้ด้วยความหมายตามที่เขาเคยใช้กันมา ดูเหมือนว่าพระพุทธศาสนาไม่ถือว่าเป็นการเสียเกียรติเสียศักดิ์ศรีแต่อย่างใดในการที่ได้นำศัพท์ที่มีอยู่แล้วมาใช้  ถึงแม้ใครๆ จะกล่าวว่าเป็นการเลียนแบบเขาก็ตาม ความจริงการใช้ศัพท์เฉพาะที่แพร่หลายอยู่แล้วในวงการทั่วไปนั้นมีความสะดวกในการประกาศศาสนามากมาย เพราะไม่ต้องพยายามให้ผู้ฟังต้องจดจำคำใหม่ ทำหน้าที่แต่เพียงอธิบายใหม่ ให้ความหมายใหม่ ให้ความเข้าใจใหม่เท่านั้น จึงจัดว่าเป็นความฉลาดอย่างยิ่งประการหนึ่งในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม เพื่อผู้ศึกษาจะได้เห็นว่าชื่อเฉพาะต่างๆ นั้น พระพุทธเจ้าทรงให้ความหมายไว้อย่างไรบ้าง ดังนั้น จะได้นำชื่อเฉพาะต่างๆ มากล่าวประกอบการศึกษาตามสมควรต่อไป
     เทศน์ที่เล่าถึงการตรัสรู้และการโปรดสัตว์ของพระพุทธเจ้าโดยหลวงพ่อสดวัดปากน้ำ
พระพุทธเจ้าตรัสกับภิกษุทั้งหลายเป็นใจความว่า
“ใครๆ เขารู้จักเธอว่าเป็นสมณะ และพวกเธอก็ปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะ จึงควรสำเหนียกประพฤติธรรมสำหรับสร้างความเป็นสมณะ เพื่อจะได้ทำชื่อให้สมจริง ทำคำปฏิญาณให้สมจริง การบริโภคปัจจัย 4 ของชาวบ้าน ก็จักมีผลมาก มีอานิสงส์มาก การบวชจักไม่เป็นหมัน จักมีผล จักมีกำไร"
     ต่อจากนั้นได้ทรงแสดงธรรมสำหรับสมณะ 10 อย่าง คือ
     1.การมีความละอายและเกรงกลัวต่อความชั่ว
     2.มีกายกรรมบริสุทธิ์ เปิดเผย สำรวม ไม่ยกตนข่มท่าน
     3.มีวจีกรรมบริสุทธิ์ เปิดเผย สำรวม ไม่ยกตนข่มท่าน
     4.มีมโนกรรมบริสุทธิ์ เปิดเผย สำรวม ไม่ยกตนข่มท่าน
     5.เลี้ยงชีพอย่างบริสุทธิ์ เปิดเผย สำรวม ไม่ยกตนข่มท่าน
     6.สำรวจตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยมีสติกำกับอยู่เสมอ
     7.รู้จักประมาณในการบริโภค ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง
     8.ทำความเพียรเครื่องตื่นอยู่เสมอ ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง
     9.มีสติคือการระลึกได้ และสัมปชัญญะคือความรู้ตัวในทุกอิริยาบถ
     10.เสพเสนาสนะที่สงบสงัด ปฏิบัติสมาธิมีสติอยู่เฉพาะหน้า
     แล้วทรงแสดงสืบเนื่องต่อไปในเรื่องการละนิวรณ์ 5 อย่าง การเข้าฌานสมบัติจบลงด้วยการเป็นพระอรหันต์ดับกิเลสอาสวะทั้งปวง ต่อจากนี้ ได้ทรงปัญหาถามความหมายของศัพท์และตรัสตอบความหมายไปโดยลำดับดังจะเห็นได้ คือ
     1.เพระเหตุใดจึงเรียกว่า สมณะ เพราะระงับอกุศลบาปธรรมที่ทำให้มัวหมอง เป็นเหตุกระวนกระวายมีผลเป็นทุกข์
     2.เพราะเหตุใดจึงเรียกว่า พราหมณ์ เพราะชำระล้างอกุศลบาปธรรมเหล่านั้นได้
     3.เพราะเหตุใดจึงเรียกว่า นหาตกะ (ผู้สรงสนานแล้ว) เพราะชำระล้างอกุศลบาปธรรมเหล่านั้นได้
     4.เพราะเหตุใดจึงเรียกว่า เวทคู (ผู้เข้าถึงเวท) เพราะรู้แจ้งอกุศลธรรมเหล่านั้น
      5.เพราะเหตุใดจึงเรียกว่า โสตติยะ (ผู้ให้หลับแล้ว) เพราะทำให้อกุศลบาปธรรมเหล่านั้นหลับไปแล้ว
     6.เพราะเหตุใดจึงเรียกว่า อริยะ เพราะทำให้อกุศลบาปธรรมเหล่านั้นไกลจากตน
     7.เพราะเหตุใดจึงเรียกว่า อรหันต์ เพราะกำจัดอกุศลบาปธรรมเหล่านั้นได้หมดแล้ว
(มหาอัสสปุรสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์)
     เป็นที่น่าสังเกตว่า คำเหล่านี้เป็นที่นิยมใช้แพร่หลายมาแล้วทั้งสิ้น หมายถึงนักบวชที่มีอยู่ในลัทธิต่างๆ บ้าง หมายถึงพราหมณ์ในวรรณะพราหมณ์บ้าง หมายถึงผู้มีความเชื่อในเรื่องน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ถือว่าสามารถชำระสัตว์ให้บริสุทธิ์บ้าง หมายถึงผู้เข้าถึงพระเวทในศาสนาพราหมณ์เดิมบ้าง หมายถึงบุคคลที่ถือกันว่าเป็นผู้ประเสริฐ ซึ่งเรียกว่าอริยะ เรียกว่าอรหันต์บ้าง
     พระพุทธเจ้าทรงอธิบายใหม่ความหมายใหม่ โดยกำหนดคุณสมบัติขึ้นให้เหมาะสมกับชื่อ ไม่ใช่เพียงว่าเกิดในวรรณะพราหมณ์ก็จัดว่าประเสริฐ ไม่ใช่ว่าชื่ออริยะแต่มีพฤติกรรมฆ่าสัตว์เบียดเบียนสัตว์ และไม่ใช่เป็นพระอรหันต์จอมปลอมเพื่อให้ประชาชนเข้าใจผิดด้วยมุ่งลาภสักการะจากประชาชน ชื่อของคนกับพฤติกรรมมีลักษณะขัดแย้งกัน ขาดความสมเหตุสมผล เพราะไม่เป็นอย่างที่ควรจะเป็น การให้ความหมายศัพท์เหล่านี้ ส่วนใหญ่มีเหตุการณ์เป็นที่มาทั้งสิ้น ขอนำตัวอย่างมากล่าวประกอบเป็นบางเรื่อง ดังต่อไปนี้
     1.โดยปกติ พราหมณ์มีความเชื่อในเรื่องน้ำศักดิ์สิทธิ์ว่าสามารถชำระสัตว์ให้บริสุทธิ์จากบาปได้ ผู้ได้อาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ชำระบาปแล้วเรียกว่า นหาตกะ แปลว่า ผู้สรงสนานแล้ว
     พราหมณ์ผู้หนึ่งได้ไปเฝ้าสนทนากับพระพุทธเจ้า เมื่อได้เวลาก็ทูลลาพระพุทธเจ้า โดยกราบทูลว่าถึงเวลาที่จะไปสรงน้ำชำระบาปพร้อมกับเชิญชวนพระพุทธเจ้าเพื่อไปสรงสนานด้วยกัน พระพุทธเจ้าตรัสว่าพระองค์ก็สรงสนานอยู่แล้ว สรงสนานด้วยน้ำคือศีล เป็นการสรงสนานที่ร่างกายไม่ต้องเปียกน้ำ แต่ได้ความบริสุทธิ์สะอาดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง น้ำในแม่น้ำจะทำอะไรได้ ถ้าน้ำชำระสัตว์ให้บริสุทธิ์จากมลทินได้จริง พวกปูปลาเต่าหอยก็ต้องมีโอกาสไปสวรรค์ได้มากกว่ามนุษย์ ดังนั้น พระองค์ก็ชื่อว่า นหาตกะ คือ เป็นผู้สรงสนานอยู่แล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นการให้ความหมายที่คมคาย มีเหตุมีผลที่ใครๆ ก็คัดค้านไม่ได้
     2.ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปพบกับชายผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นเวลาที่ชายผู้นั้นกำลังหาปลาอยู่ พระพุทธเจ้าจึงตรัสถามว่า
“ท่านชื่ออะไร”
"ข้าพเจ้าชื่ออริยะ”
“ท่านชื่ออริยะหรือ เพราะเหตุใดท่านจึงกำลังเบียดเบียนสัตว์ อริยะนั้นควรเป็นผู้ไม่ทำบาป ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น คนเราไม่ชื่อว่าเป็นอริยะด้วยเหตุแต่เพียงว่าชื่ออริยะ”
     3.คำว่าอรหันต์เป็นคำที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นชื่อผู้หมดกิเลส ดำรงชีวิตด้วยปัจจัย 4 ที่บริสุทธิ์ เว้นขาดจากมิจฉาชีพและการหลอกลวงต่างๆ เป็นบุคคลที่ผู้แสวงบุญทั้งหลายต้องการได้เห็นเป็นยิ่งนัก เป็นผู้ที่อยู่ในฐานะปูชนียบุคคลอย่างแท้จริง เป็นมิ่งขวัญอันประเสริฐของบ้านเมือง เมื่อท่านอยู่ ณ ที่ใด ปวงชนเลื่อมใสต่างก็พร้อมกันไปสักการะบูชา แต่ในขณะเดียวกัน อรหันต์ก็เป็นฐานะที่ใครๆ ก็ต้องการเข้าถึงเป็นอย่างยิ่ง เมื่อการปฏิบัติยังไปไม่ทันกับความต้องการ จึงเป็นเหตุให้เกิดพระอรหันต์ปลอมขึ้น มีเรื่องเล่าประกอบดังต่อไปนี้
     โยคีท่านหนึ่งต้องการให้ประชาชนเข้าใจว่าตนเป็นพระอรหันต์ ด้วยมุ่งความเคารพนับถือและลาภสักการะ จึงพยายามที่จะให้คนทั่วไปเข้าใจว่าตนเองนั้นหายตัวได้ โยคีผู้นั้นจึงนำตุ่มน้ำมาซ่อนไว้ใต้อาศรม เมื่อประชาชนมาสักการะบูชาแล้วกลับไป ท่านก็หายตัวลงไปอยู่ในตุ่มใบนั้น เมื่อประชาชนเหล่านั้นกลับหลังมองมาทางอาศรมอีกครั้งหนึ่ง ไม่เห็นท่านโยคีในอาศรม ต่างก็พากันเข้าใจว่าท่านโยคีเป็นพระอรหันต์ มีฤทธิ์เดชหายตัวได้ เมื่อย้อนกลับมาดูก็หาไม่พบ  ต่างกล่าวขานต่อๆ กันไปว่า ท่านเป็นพระอรหันต์หายตัวได้  
     อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่จริงย่อมไม่ทนต่อการพิสูจน์ ต่อมาจึงได้มีผู้พยายามทำการพิสูจน์หาความจริงในเรื่องนี้ เมื่อท่านหายตัวไปแล้ว ก็ได้ทำการตรวจค้นทุกแห่งในบริเวณอาศรม ในที่สุดได้พบตุ่มใบหนึ่งภายใต้อาศรมนั้น ผู้พิสูจน์ถือท่อนไม้เข้าไปทุบจนตุ่มแตก ก็พบท่านโยคีลงไปนั่งอยู่ในตุ่ม
     การที่ท่านไม่ได้เป็นพระอรหันต์จริงก็ชัดเจนขึ้น ต่อมาประชาชนพากันเรียกท่านว่าอรหันต์ตุ่มตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ลาภสักการะที่เคยมีก็เสื่อมหายไป
     อีกเรื่องหนึ่งก็คล้ายๆ กัน ต่างกันแต่ว่าต้องการให้ประชาชนเข้าใจว่า เป็นพระอรหันต์ที่เหาะได้ สามารถผ่านกำแพงของสำนักโดยไม่ต้องออกทางประตู ด้วยวิธีการจับรากไทรโหนตัวไปลงนอกกำแพง
     ประชาชนพากันกล่าวขานว่า ท่านเป็นพระอรหันต์ที่เหาะได้ ลาภสักการะก็เพิ่มพูนขึ้นโดยลำดับ แต่ในที่สุดก็ไม่พ้นจากฝีมือของนักพิสูจน์ 
     เมื่อนักพิสูจน์ได้เฝ้าติดตามสังเกตมาจนเป็นที่แน่ชัด วันหนึ่งเมื่อท่านโยคีไม่อยู่ เขาก็แอบนำมีดขึ้นไปตัดรากไทร เหลือไว้แต่บางส่วน ท่านโยคียังมีความมั่นใจอย่างเดิม ไม่ได้สอบสวนพิจารณาให้รอบคอบ ก็เหนี่ยวรากไทรโหนตัวข้ามกำแพงอย่างที่เคยปฏิบัติ รากไทรก็ขาดลงมากลิ้งคลุกฝุ่นอยู่ข้างกำแพง ประชาชนก็รู้ความจริงว่าท่านไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ต่างก็พากันเรียกท่านว่าอรหันต์รากไทรตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา บริษัทลาภสักการะก็หายไป
     ตัวอย่างนี้แสดงว่า มีอยู่จำนวนไม่น้อยที่คนเราไม่มีคุณสมบัติสมจริงตามชื่อ พระพุทธเจ้าทรงแสดงคุณสมบัติที่เหมาะสมกับชื่อนั้นๆ และทรงมีวิธีการเพื่อให้บุคคลนั้นๆ เข้าถึงความหมายที่แท้จริงตามชื่อ
     ความหมายของสมณะและพราหมณ์ในระดับสูง สามารถศึกษาได้จากข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ดังต่อไปนี้
“เราไม่กล่าวความเป็นสมณะด้วยเพียงทรงผ้าสังฆาฏิ ด้วยเพียงเปลือยกาย ด้วยเพียงเอาฝุ่นมาทาตัว ด้วยเพียงการอยู่โคนต้นไม้ ด้วยเพียงการอยู่กลางแจ้ง ด้วยเพียงการสาธยายมนต์ ด้วยเพียงการทรงชฎาแบบฤๅษี”
“ถ้าการเป็นสมณะสำเร็จด้วยการทรงผ้าสังฆาฏิเป็นต้นแล้ว ญาติมิตรก็ชักชวนกันทรงผ้าสังฆาฏิกันได้ ผู้พิจารณาเห็นตนบริสุทธิ์ พ้นจากอกุศลบาปกรรม เกิดปีติปราโมทย์ มีจิตมั่นคงแผ่เมตตาไปทุกทิศ เปรียบเทียบเหมือนสระน้ำใสเย็นสนิท เป็นที่ลงอาบอย่างชื่นใจ คนเดินทางมาจาก 4 ทิศ ถูกความร้อนแผดเผา ลำบาก กระหายน้ำ มาถึงสระน้ำนั้นก็จำกัดความกระหาย ความกระวนกระวายได้ ผู้เช่นนี้เรียกว่าได้ปฏิบัติสมควรแก่สมณะ ไม่ว่าจะมาจากสกุล   กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ก็จัดว่าเป็นสมณะเสมอกัน"
(จูฬอัสสปุรสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณฌาสก์)
“ผู้ใดอดกลั้นต่อคำด่าว่า ต่อการทุบตี และการจองจำ มีขันติเป็นกำลัง ไม่ประทุษร้าย ผู้นั้นจัดว่าเป็นพราหมณ์”
“ผู้ใดไม่โกรธ มีศีล ฝึกฝนตนดีแล้ว ไม่ติดอยู่ในกามทั้งหลาย เหมือนน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัวใบบอน เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดบนปลายเหล็กแหลม ผู้นั้นจัดว่าเป็นพราหมณ์”
“ผู้ใดปล่อยวางอาชญาในสัตว์ทั้งหลาย ไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ผู้อื่นให้ฆ่า ไม่โกรธตอบในผู้ที่โกรธก่อน ดับอาชญาลงได้ ผู้นั้นจัดว่าเป็นพราหมณ์”
“ผู้ใดกล่าววาจาสัตย์ไม่มีโทษ ไม่ถือเอาสิ่งของผู้อื่น ไม่ว่าเป็นของยาวหรือของสั้น ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งงามหรือไม่งาม ซึ่งเจ้าของไม่ได้ให้ ผู้นั้นจัดว่าเป็น  พราหมณ์”
“ผู้ใดปราศจากมลทิน บริสุทธิ์ผ่องใสดังดวงจันทร์ ปราศจากความมัวเมา ไม่หลงงมงาย ข้ามสาครแห่งกิเลสได้ ผู้นั้นจัดว่าเป็น  พราหมณ์”
(วาเสฏฐสูตร ม.ม.)
     ข้อความพุทธพจน์เหล่านี้แสดงถึงความหมายของสมณะและพราหมณ์ในชั้นสูงสุด และแสดงถึงค่านิยมที่พระพุทธเจ้าทรงกำหนดไว้เสมอกัน ไม่ว่าจะเป็นสมณะ   หรือเป็นพราหมณ์ เป็นข้อความที่ชักจูงบุคคลให้ดำรงอยู่ในฐานะที่ควรจะเป็น ไม่ใช่เอาแต่รูปแบบของสำนักที่ตนสังกัดอยู่เท่านั้น แต่ให้อยู่กับเนื้อหาความเป็นจริงด้วย
     อย่างไรก็ตาม การพิจารณาความหมายแต่เพียงระดับเดียว ก็เป็นการไม่ถูกต้อง เช่นเดียวกับการที่จะเกณฑ์ให้ต้นไม้ทั้งป่ามีแต่แก่นอย่างเดียว ย่อมเป็นไปไม่ได้ แม้แต่หมู่ไม้แก่นก็เริ่มต้นด้วยการไม่มีแก่น ข้อสำคัญอยู่ในทิศทางของสมณะ ดำรงอยู่ในศีลที่มีมาในปาฏิโมกข์ ที่มีพุทธบัญญัติให้สวดทบทวนทุกกึ่งเดือน อันเป็นพรหมจรรย์ขั้นต้น ก็นับน่าเป็นการสมควรแล้ว อยู่ในทิศทางที่จะเติบโตด้วยแก่นในวันข้างหน้า นี้คือการกล่าวตามลำดับขั้นตอน การมีป่าไม้ไม่มีแก่น ยังดีกว่าไม่มีป่าไม้เสียเลย ถ้ามีไม้แก่นบ้างก็ดีกว่า และถ้ามีไม้แก่นมากเป็นดีที่สุด นี้คือสภาพความจริง ไม่มีต้นไม้ใดและป่าใดที่จะมีแต่แก่นล้วนๆ โดยไม่มีเปลือก ไม่มีกะพี้เสียเลย เพราะเป็นเรื่องที่ต้นไม้นั้นจะมีอยู่ไม่ได้ ผู้ศึกษาควรพิจารณาให้รอบคอบและให้ตลอดในเรื่องนี้
     เด็กที่จะเป็นสมณะในอนาคตจะถูกเรียกว่า "สามเณร" (Samanera) ซึ่งในรูปภาษาสันสกฤต คือ "ศฺรามเณร" (Sramanera) แปลว่า ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของสมณะ, ผู้เป็นเหล่ากอแห่งสมณะ
เรื่อง "สมณะ" (Samana) กับ "สามเณร" (Samanera) นี้ ทำให้นึกถึง "เจได" (Jedi) กับ "พาดาวัน" (Padawan) ในภาพยนตร์ Sci-Fi เรื่อง Star Wars ซึ่ง George Lucas เองก็ได้เอาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาญี่ปุ่นในยุคเฮอังที่พระญี่ปุ่นหยิบจับดาบซามูไรขึ้นมาต่อสู้ป้องกันตัว ซึ่งนำมาแต่งจนเป็นมหากาพย์จักรวาลโด่งดังไปทั่วโลก โดยพระญี่ปุ่นจับดาบซามูไรก็คือ "อัศวินเจได" (Jedi Knight) ส่วน "ฟอร์ซ" (Force) คือ "ฤทธิ์" (Rddhi) ที่เกิดจากการฝึกฝนสมาธิจนจิตเข้าถึงฌาน (Meditative)
หรืออย่าง "มุทรา" (Mudra) กับ "จักระ" (Chakra) ที่จีนกับญี่ปุ่นได้รับศาสตร์พวกนี้ของศาสนาพุทธที่ถูกเผยแพร่ขึ้นมาทางเหนือของอินเดียผ่านเส้นทางสายไหมไปเต็มๆ โดยมุทราและจักระสามารถเห็นได้ชัดที่สุดในการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องนารูโตะ (Naruto)
"มุทรา" (Mudra) ภาษาบาลีใช้ "มุททา" (Mudda) ส่วน "จักระ" (Chakra) ภาษาบาลีใช้ "จักกะ" (Cakka)
นอกจากนี้ วิชชาธรรมกายที่พระเถรวาทของไทยเราค้นพบก็เป็นเรื่องเล่าในฝั่งทางโน้นมาก ทั้งในพระไตรปิฎกวัชรยาน พระไตรปิฎกมหายาน ไม่ว่าจะในคำสอน เรื่องเล่า นิทาน นิยาย หรือแม้กระทั่งนวนิยายสมัยใหม่อย่างเรื่องรหัสลับหลังคาโลก หากใครเคยอ่านจะพบคำว่ากายทิพย์ พบคำว่าธรรมกาย พบวิธีการทำให้เป็นธรรมกาย ซึ่งการที่มีคำเหล่านี้ มีวิธีการเหล่านี้ไปปรากฏอยู่ในนวนิยาย แสดงให้เห็นว่าธรรมกายเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปของคนสมัยก่อน เรียกได้ว่ารู้กันทั่วบ้านทั่วเมือง
กล่าวง่ายๆ คือ ในช่วงหลังปีพุทธศักราช 500 ที่มีการแยกนิกายกันอย่างชัดเจนนั้น สายเหนือได้นำวิชชาธรรมกายไปฝึกฝนกันต่อ ส่วนทางสายใต้หรือเถรวาทเราได้นำคัมภีร์พระไตรปิฎกมานั่นเอง
ในพระสูตรสันสกฤตอย่างคัมภีร์อัษฏสาหัสริกา ปรัชญาปารมิตา กล่าวไว้ว่า
"ภิกษุทั้งหลาย พึงเห็นเราโดยการเข้าถึงธรรมกาย"
ต่อมา คัมภีร์จีนมหาปรินิรวาณสูตร (มหาปรินิพพานสูตร) กล่าวว่า
"ตถาคต คือ ธรรมกาย มีกายที่ไร้ขอบเขต เป็นกายเพชร" (กายแก้ว)
และในคัมภีร์อานาปานสมฤติสูตร (อานาปานสติสูตร) กล่าวไว้ว่า
" ใจควรถูกกําหนดไว้ตรงกลางกายในขณะหายใจ"
อย่างไรก็ดีเมื่อเวลาผ่านไป ไม่ว่าจะเป็นพุทธสายเหนือหรือพุทธสายใต้ ก็ไม่มีใครฝึกวิชชาธรรมกายได้อีก ทำให้เรื่องราวต่างๆ ที่มีผู้เคยปฏิบัติได้ในอดีต จึงกลับกลายมาเป็นเรื่องเล่าตามนิทาน นิยาย และนวนิยาย (ปรากฏมากในพุทธมหายาน เนื่องจากวิชชาธรรมกายไปเจริญที่มหายาน) จนกระทั่งหลวงพ่อสดวัดปากน้ำ (สมณะชาวไทยผู้ยิ่งใหญ่) ได้มาปฏิบัติธรรมเอาชีวิตเป็นเดิมพันจนค้นพบและฟื้นคืนวิชชานี้ขึ้นมาได้อีกครั้งในประเทศไทย
มีเรื่องที่อยากเล่าเรื่องหนึ่ง คือ ผู้รู้ในสายธรรมกายแต่โบราณเกือบร้อยปีได้ค้นพบในญาณทัศนะว่าผู้ที่สร้างโลกขึ้นมาเพื่อให้มนุษย์ได้อยู่อาศัยและสร้างบารมีสั่งสมนั้น คือ ภาคผู้เลี้ยงหรือพระจักรพรรดิ (พระทรงเครื่อง) โดยจะไปตรงกันกับพระอาทิพุทธเจ้าหรือพระวัชรธารพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าทรงเครื่อง) พระผู้สร้างทุกสรรพสิ่งในโลกตามคติพุทธศาสนาแบบทิเบต
ซึ่งศาสนาอันแท้จริงหนึ่งเดียวของพระจักรพรรดิผู้สร้างโลก คือ พระพุทธศาสนา
กล่าวคือ มนุษย์เราในโลกนี้เดิมแท้ต้องนับถือพระพุทธศาสนากันทุกคน การที่มีศาสนาอื่นๆ เกิดขึ้นก็เป็นเพราะมารเขาแทรกแซงทำให้เกิดความเห็นผิดๆ เป็นมิจฉาทิฏฐิขึ้นมานั่นเอง
นรก สวรรค์ รูปพรหม อรูปพรหม อายตนะนิพพาน ก็มีหนึ่งเดียว คือ ของศาสนาพุทธ
ฝรั่ง ไทย จีน แขก ฯลฯ ตายไปก็ขึ้นสวรรค์อันเดียวกัน ตกนรกอันเดียวกัน คือ ของศาสนาพุทธทั้งหมด
สำหรับภาษาในการสื่อสารของโลกหลังความตายนั้น คนทั่วไปจะเรียกกันว่าภาษาใจ แต่ในทางวิชชาธรรมกายพบลึกลงไปกว่านั้น คือ ถ้าเราต้องการจะสื่อสารกับใคร ก็เอาใจของเราไปซ้อนกับใจของเขา แล้วก็สื่อสารด้วยภาษาของเรา ไม่ว่าใครก็จะสามารถสื่อสารกับเราได้
สมมุติว่าเราสื่อสารกับฝรั่ง เราจะพบว่าเราพูดภาษาไทย ฝรั่งพูดภาษาไทย แต่วิญญาณของฝรั่งคนนั้นจะรู้สึกว่าเขาพูดภาษาฝรั่งของเขา และคนไทยก็พูดภาษาฝรั่งของเขา
นี่มิใช่เรื่องใหม่ แต่มีอยู่ในคำสอนหลวงพ่อสดวัดปากน้ำ ผู้ที่เจริญวิชชาธรรมกายถึงขั้นมรรคผลนิพพาน ย่อมสัมผัสรู้เห็นและเป็นได้ปกติ
พระเทพญาณมงคล (เสริมชัย ชยมงฺคโล) ท่านกล่าวว่า พระทิเบตเขาสามารถเข้าถึงธรรมกายได้ โดยเขาทำวิชชาไปจนถึงเหตุสุด แต่ไปต่อไม่ได้ แต่ก็ทำได้และทำกันมาเนิ่นนาน กล่าวคือ เขาทำสืบทอดกันมานานแล้วตั้งแต่ครั้งโบราณกาล แต่ไม่ได้เป็นหลักวิชชาที่บริบูรณ์เหมือนอย่างหลวงพ่อสด
หลวงป๋าเสริมชัยจึงไปสอนและแก้วิชชาให้เขา เขาปีติมากจนน้ำตาซึม ที่วิชชาก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและเห็นได้อย่างถูกต้องบริสุทธิ์สมบูรณ์
ดังนั้น พระทิเบตเองท่านก็เข้าถึงธรรมกายเป็นเหมือนกัน แล้วยิ่งได้หลวงป๋าเสริมชัยไปชี้ทาง เขาก็ยิ่งก้าวหน้าในธรรมมากยิ่งขึ้น
(พระอนุรุทธะ เอตทัคคะด้านทิพยจักขุญาณ ท่านเป็นผู้บุกเบิกประดิษฐานพระพุทธศาสนา ณ เส้นทางสายไหมเป็นองค์แรก)
หากศึกษาพระพุทธศาสนาทุกนิกายแบบลงลึกจริงๆ จะเห็นความเท่ของศาสนาพุทธ อย่างการ์ตูนเรื่อง Avatar The Last Airbender (เณรน้อยเจ้าอภินิหาร) ที่พวกฝรั่งเอาองค์ความรู้ของศาสนาพุทธกำลังภายในแบบจีนทิเบตไปทำ โดยมีพระเอกเป็นเณรชื่อแองก์ (安昂) อวตารผู้ควบคุมธาตุทั้ง 4 ได้แก่ ปฐพี (土) วารี (水) วายุ (气) และอัคคี (火) จัดว่าทำการ์ตูนออกมาได้มันและเท่มาก ทำเอาคนดูอยากเท่เหมือนเณรแองก์กันเป็นแถว แต่เสียดายตรงที่พลังควบคุมธาตุมาจากเต่าสิงห์ ถ้ามาจากการฝึกกสิณคงจะสนุกมากกว่านี้
(สันสกฤตใช้ "อวตาร" (Avatara) บาลีใช้ "โอตาร" (Otara) หมายถึง การข้ามลง, การจุติ)
พระสมณะผู้ทรงภูมิในสมัยโบราณอย่างยุคของพระเจ้าเมนันเดอร์ที่ 1 แห่งแบกเตรียตะวันออก ที่ถูกนำมาเขียนเป็นเรื่องราวใน "มิลินทปัญหา" นั้น จะชอบถือไม้ขักขระกัน อย่างพระนาคเสน สมณะในพุทธนิกายสรวาสติวาท ท่านก็ถือไม้ขักขระเช่นกัน แต่ถ้าจะให้เห็นภาพชัดที่สุด คือ พระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ หากค้นดูรูปของท่านตาม Google จะพบว่ามือท่านจะถือไม้ขักขระอยู่เสมอ
"ไม้ขักขระ" เป็นหนึ่งในอัฏฐารสบริขาร (十八物) หรือเครื่องใช้ 18 อย่างของพระภิกษุ (ระบุในพรหมชาลสูตรฝ่ายมหายาน) สำหรับใช้ถือมือขวาเวลาออกบิณฑบาต (มือซ้ายถือบาตร) เมื่อไปถึงบ้านโยม พระสงฆ์จะเขย่าขักขระ 3 ครั้งบอกว่าพระมาโปรดแล้ว ถ้าโยมยังไม่ออกมาจะเขย่าให้เกิดเสียงอีกเล็กน้อย (มูลสรวาสติวาทวินัยฉบับภาษาจีนว่าแค่ 2-3 ครั้ง แต่ทางทิเบตว่า 5 หรือ 7 ครั้ง) ถ้ายังไม่มีใครออกมาใส่บาตรก็จะเดินเลยไป ที่ท่านต้องใช้ขักขระเขย่าเช่นนี้เพราะพระวินัยห้ามเอ่ยปากขอ แต่จะให้ยืนรอโดยไร้จุดหมายก็คงจะลำบากพระเกินไป นอกจากนี้ท่านยังใช้เขย่าให้เกิดเสียงเวลาจาริก ให้สัตว์เล็กสัตว์น้อยหรือสัตว์ร้ายหลีกไป และใช้เป็นไม้เท้าช่วยค้ำยัน
ฝ่ายมหายานมีพระวินัยและพระสูตรรองรับการใช้ขักขระ เช่น มูลสรวาสติวาทวินัย พรหมชาลสูตร และขักขระสูตร (锡杖经 ) ในขักขระสูตรระบุว่า ไม้ขักขระถือเป็นพุทธประเพณี พระพุทธเจ้าในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ล้วนถือไม้เท้านี้ ไม้ขักขระสมัยพระกัสสปพุทธเจ้ามี 2 วง (หมายถึงสมมติสัตย์กับปรมัตถสัตย์) กับ 3 ห่วงเล็ก (หมายถึงพระไตรรัตน์) ส่วนขักขระสมัยพระโคตมพุทธเจ้ามี 4 วง (หมายถึงอริยสัจ 4 ) กับ 12 ห่วง (หมายถึงปฏิจจสมุปบาท 12 รอบ) และยังมีนัยอีกมาก ข้อปฏิบัติปลีกย่อยในการถือที่ละเอียดยิบขอละไว้ แต่โดยสังเขปก็คือจะสักแต่ว่าถือหรือวางไม่ได้เด็ดขาด
ฝ่ายเถรวาทที่พม่ายังเหลือพวกฤๅษีถือกันอยู่ โดยไว้ใช้เตือนโยมให้หลีกเวลาท่านเดินจงกรม ส่วนในไทยเองก็เห็นยังมีบางนิกายทางเหนือถือไม้เท้าซึ่งน่าจะสืบทอดมาจากไม้ขักขระนี่เอง เพราะในตำนานมูลศาสนาระบุว่า นิกายสวนดอกเคยถือไม้เท้าออกบิณฑบาต ครูบาศรีวิชัยที่ถือผสมกับนิกายยองก็ถือไม้เท้ายาวแต่ไม่มีพวงห่วงเหล็ก ซึ่งอาจจะถูกลดทอนจนหายไป เหมือนพระสงฆ์เกาหลีที่เป็นฝ่ายมหายาน แต่ไม่ค่อยถือขักขระแล้ว ท่านถือไม้เท้าไม่ยาวมาก เรียกว่าจูจังจา เวลาขึ้นเทศน์จะกระทุ้งกับธรรมาสน์แล้วตะคอกดังๆ นัยว่าให้ตื่นจากอวิชชา (บันลือสีหนาท) ที่จีนก็ยังใช้ไม้ขักขระกระทุ้งกับพื้น 3 ครั้งเวลาประกาศธรรมเช่นกัน
นอกจากนี้ ไม้ขักขระยังใช้ป้องกันตัวและแสดงวรยุทธได้ด้วย เช่น พระฌานาจารย์อิ่นฟง  แห่งพุทธนิกายเซน (ฌาน) สมัยราชวงศ์ถัง ท่านได้ใช้ขักขระปราบอู๋หยวนจี้ที่นำทัพกบฎต่อแผ่นดิน พระคุณเจ้าเห็นว่าสัตว์โลกจะเข่นฆ่ากันจึงแสดงวรยุทธด้วยการโยนขักขระขึ้นไปบนท้องฟ้า แล้วกระโจนขึ้นฟ้าตามไปลอยผ่านสมรภูมิทำให้ทหารทั้งสองฝ่ายตกตะลึงกันไม่อาจฆ่าฟันกันต่อ แต่พระคุณเจ้าเล็งเห็นว่าการแสดงครั้งนี้จะทำให้คนแห่แหนกันมาทำวุ่นวาย ท่านจึงปลีกวิเวกหนีไปภูเขา
_____________________
สามญฺเญ สมโณ ติฏฺเฐ
สมณะพึงตั้งอยู่ในภาวะแห่งสมณะ
............
.....................................................
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
https://abhinop.blogspot.com
https://abhinop.bloggang.com
.....................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love.
.....................................................




Create Date : 04 มกราคม 2564
Last Update : 4 มกราคม 2564 12:19:39 น. 2 comments
Counter : 1141 Pageviews.

 
ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love.


โดย: ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก วันที่: 4 มกราคม 2564 เวลา:12:23:12 น.  

 
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
//abhinop.blogspot.com
//abhinop.bloggang.com
..........................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


โดย: ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา:11:56:28 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.