นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
Group Blog
 
All blogs
 
เทวภูมิ - ดาวดึงส์

ตาวติงสภูมิ

วจนัตถะ เตตฺตีส ชนา นิพฺพตฺตนฺติ เอตฺถาติ เตตฺตึสา “ภูมิอันเป็นที่เกิดของบุคคลจำนวนหนึ่ง ๓๓ คน ฉะนั้น จึงได้ชื่อว่า เตตติงสะ” เตตฺตึส เอว นิรุตฺตินเยน ตาวตึสา คำว่า เตติงสะ นั้นเหละเรียกว่า ตาวติงสะ (ดาวดึงส์) โดยการแผลงคำตามหลักนิรุตติ(ไวยากรณ์)

ตามวจนัตถะทั้ง ๒ ข้อข้างต้นนี้ พึงทราบว่า เทวภูมิชั้นที่สองที่เรียกว่า ตาวติงสะนั้น มีความหมายว่าภูมิอันที่เกิดแห่งคน ๓๓ คน เหตุที่ทำให้เกิดการเรียกชื่อเทวภูมิชั้นนี้ว่า ตาวติงสะนั้น มีเรื่องที่จะเล่าพอเป็นสังเขปว่า

ในอดีตกาลครั้งหนึ่ง มีหมู่บ้านหมู่หนึ่งชื่อว่า มจลคาม ณ หมู่บ้านนี้มีคนอยุ่กลุ่มหนึ่ง เรียกตัวเองว่า คณะสหบุญญการี ซึ่งแปลว่า คณะทำบุญร่วมกัน คณะนี้มีอยู่ ๓๓ คนด้วยกันเป็นชายทั้งหมด คนที่เป็นหัวหน้าคณะชื่อว่า มฆมานพ ชายทั้ง ๓๓ คนนี้ช่วยกันทำความสะอาดถนนหนทางที่อยู่ในบริเวณหมู่บ้านนั้น และเมื่อถนนแห่งใด ชำรุดทรุดโทรมช่วยกันซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ขึ้นให้เรียบร้อย เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายแก่ผู้คนที่อาศัยสัญจรไปมา พร้อมกับตั้งโรงสำหรับเก็บน้ำเพื่อให้ประชาชนที่ผ่านไปมาทางนั้นได้อาศัยดื่มกิน และสร้างศาลาขึ้นที่หนทาง ๔ แพร่ง เพื่อให้ประชาชนทั้งหลายได้พักอาศัย ครั้นเมื่อชายทั้ง ๓๓ คนเหล่านี้ได้สิ้นชีวิตลงแล้ว ก็ได้ไปบังเกิดใน เทวภูมิชั้นที่สอง มฆมานพนั้นได้ไปบังเกิดเป็นพระอินทร์ ส่วนอีก ๓๒ คนได้บังเกิดเป็นเทวดาชั้นผู้ใหญ่ด้วยกันทุกคน ชื่อว่า ปชาปติ วรุณะ อีสานะ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้แหละเทวภูมิชั้นที่สองนี้ จึงมีนามว่า เตตตึสะ

การที่เรียก เตตฺตึส เป็น ตาวตึส นี้ เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงรูปโดยนัยแห่งไวยากรณ์เท่านั้น (ส่วนความหมายยังคงเหมือนเดิม) โดยมีกระบวนการแปลงรูปศัพท์ดังนี้ คือ แปลง เต เป็น ตาว, ลบ ต ออก, คงตึสไว้ตามเดิม สำเร็จรูปเป็นตาวตึส อีกนัยหนึ่ง แปลง เอ เป็นอา, คง ต ไว้ตามเดิม, แปลง ต ตัวที่ ๒ เป็น ว, คงตึสไว้ตามเดิม สำเร็จรูปเป็น ตาวตึส

มีปัญหาอยู่ว่า ในจักรวาลอื่นๆ นอกจากจักรวาลที่เราอยู่นี้ ก็มีเทวภูมิชั้นที่สองอยู่ด้วยเหมือนกัน ฉะนั้น เทวภูมิชั้นที่สองที่อยู่ในจักรวาลอื่นๆ นั้น จะมีชื่อว่าตาวตึงสะเหมือนกันหรือไม่? ข้อนี้แก้ว่า เทวภูมิชั้นที่ ๒ ที่อยู่ในจักรวาลอื่นๆก็มีชื่อว่าตาวติงสะเหมือนกัน แต่เป็นชนิดรุฬหีสัญญา (ชื่อที่มีความหมายไม่ตรงกับความเป็นจริง) หมายความว่า ขอยืมชื่อเทวภูมิชั้นที่สองที่อยู่ในจักรวาลของเรานี้ไปตั้งเป็นชื่อขึ้น

วจนัตถะและคำอธบาย “ตาวตึส” อีกนัยหนึ่ง

ตาว ปฐมํ ตึสติ ปาตุภวตีติ ตาวตึโส “พื้นแผ่นดินใดปรากฏขึ้นในโลกเป็นครั้งแรกก่อนพื้นแผ่นดินอื่นๆ ฉะนั้น พื้นแผ่นดินนั้น จึงชื่อว่า ตาวติงสะ”

อธิบายว่า เมื่อโลกถูกทำลายลงจนหมดสิ้นแล้ว ก็ได้มีการเริ่มสร้างโลกใหม่ขึ้นอีก โดยมีฝนตกลงมาอย่างหนัก ฝนนั้นตกลงมาจนท่วมเต็มพื้นที่ที่โลกถูกทำลาย ในชั้นแรกน้ำฝนนั้นใสสะอาด ครั้นต่อมาเป็นเวลานาน น้ำนั้นก็ค่อยๆ เกิดเป็นตะกอนขุ่นเข้าๆ ทุกที จนกลายเป็นก้อนดินขึ้น แล้วน้ำนั้นก็ค่อย ๆ ลดแห้งลงไปตามลำดับ จนปรากฏเห็นพื้นแผ่นดินโผล่ขึ้น พื้นแผ่นดินที่ปรากฏเห็นขึ้นก่อนนี้ก็คือ ยอดเขาสิเนรุ ซึ่งเป็นที่อยู่ของเทวดาชั้นที่สองนั้นเอง ฉะนั้น พื้นแผ่นดินนี้จึงเรียกว่า ตาวติงสะ แปลว่าพื้นแผ่นดินที่ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งเราเรียกว่า ดาวดึงส์ นั้นเอง

แผ่นดินชั้นดาวดึงส์ที่ตั้งอยู่บนยอดเขาสิเนรุนี้ ถ้าวัดโดยตรงลงมา จนถึงตอนกลางของภูเขา อันเป็นที่อยู่ของเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาแล้ว มีระยะห่างกันสี่หมื่นสองพันโยชน์ และจากชั้นจาตุมหาราชิกาลงมาจนถึงแผ่นดินที่มนุษย์อยู่ มีระยะห่างกันอีกสี่หมื่นสองพันโยชน์ รวมระยะความสูงจากยอดเขาสิเนรุลงมาจนถึงพื้นมนุษย์โลกนี้ มีความสูงแปดหมื่นสี่พันโยชน์

ระยะห่างกันจากชั้นดาวดึงส์ขึ้นไปถึงชั้นยามาก็ดี จากชั้นยามาขึ้นไปถึงชั้นดุสิตก็ดี จากชั้นดุสิตขึ้นไปถึงชั้นนิมมานนรติก็ดี และจากชั้นนิมมานรตีขึ้นไปจนถึงชั้นปรนิมมิตวสวัตติก็ดี ทั้ง ๕ ชั้นนี้มีระยะห่างเท่าๆกัน คือ ห่างกันชั้นละสี่หมื่นสองพันโยชน์ไปตามลำดับ

บนยอดเขาสิเนรุนี้มีลักษณะกลม วัดโดยความกว้างแล้วมีความกว้างแปดหมื่นสี่พันโยชน์เท่ากับความสูง มีพระนครชื่อว่า สุทัสสนะ ตั้งอยู่ตรงกลางภูเขา พระนคร สุทัสสนะนี้มีความกว้างหนึ่งหมื่นโยชน์ มีกำแพงล้อมรอบ ๔ ด้าน ด้านหนึ่งๆ มีประตู ๒๕๐ ประตู รวมทั้ง ๔ ด้านมีประตูหนึ่งพันประตู

พื้นแผ่นดินบนยอดเขาสิเนรุ สำเร็จไปด้วยรัตนะทั้ง ๗ ส่วนด้านข้างๆ คือ ตามไหล่เขาทั้ง ๔ ด้านนั้น ทางทิศตะวันออกเป็นเงิน ทางทิศตะวันตกเป็นแก้วผลึกทางทิศเหนือเป็นทอง ทางทิศใต้เป็นแก้วมรกต ฉะนั้น ผู้ที่อยู่ในเทวภูมิชั้นนี้ จะเหยียบย่างลงไปในที่ใด เท้าก็จะไม่กระทบกับพื้นดินเลย

สีของน้ำมหาสมุทร สีของต้นไม้ สีพื้นนภากาศ ที่อยู่ในทวีปหนึ่งๆ นั้น ย่อมมีสีไม่เหมือนกัน ทั้งนี้เป็นเพราะว่า บรรดาสีของเหล่านี้ต้องอาศัยเกิดมาจากแสงของแก้วรัตนะต่างๆ ที่อยู่ตามไหล่เขาสิเนรุนั้นเอง สำหรับชมพูทวีปนั้น ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของภูเขาสิเนรุและไหล่เขาสิเนรุทางทิศใต้นี้ล้วนแต่เป็นแก้วมรกต ฉะนั้น แสงของมรกตจึงฉายส่องจับพื้นมหาสมุทรและท้องอากาศ ตลอดจนต้นไม้ต่างๆ ที่อยู่ในด้านนี้ ปรากฏเป็นสีเขียวไปด้วย

ทางด้านอุตตรกุรุทวีปนั้น น้ำในมหาสมุทร ท้องฟ้า และใบไม้ต่างๆ เป็นสีทอง เพราะอุตตรกุรุทวีปนั้นตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเขาสิเนรุ และไหล่เขาทางด้านนั้นสำเร็จไปด้วยทอง ฉะนั้น สีของน้ำ สีท้องฟ้า และสีใบไม้จึงมีสีทองไปด้วย

ทางด้านปุพพวิเทหทวีปนั้น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของภูเขาสิเนรุ ซึ่งทางด้านนั้นสำเร็จไปด้วยเงิน ฉะนั้น สีของน้ำในมหาสมุทร สีของท้องฟ้าและสีใบไม้ต่างๆ ในทวีปนั้นจึงมีสีเงินไปด้วย

ทางด้านอปรโคยานทวีป ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของภูเขาสิเนรุ ไหล่เขาด้านนั้นสำเร็จด้วยแก้วผลึก ฉะนั้น น้ำในมหาสมุทร ท้องฟ้า และใบไม้ต่างๆ จึงมีสีเป็นแก้วผลึกเช่นเดียวกัน

เทวดาที่อยู่ในชั้นดาวดึงส์นั้นมีอยู่สองพวก คือ พวกภุมมัฏฐเทวดา และ อากาสัฏฐเทวดา ภุมมัฏฐเทวดา ได้แก่ พระอินทร์และเทวดาชั้นผู้ใหญ่ ๓๒ องค์ พร้อมด้วยบริวารทั้งหมด เทพอสูร ๕ จำพวกที่อยู่ใต้ภูเขาสิเนรุนี้ ก็อยู่ในจำพวกภุมมัฏฐเทวดาเหมือนกัน

อากาสัฏฐเทวดา ได้แก่ เทวดาที่อยู่ในวิมานลอยกลางอากาศ ตั้งแต่ยอดเขาสิเนรุตลอดไปจนจรดขอบเขาจักรวาล บางวิมานก็เป็นวิมานว่าง ยังไม่มีเทวดามาอยู่ก็มี

ในท่ามกลางพระนครสุทัสสนะ มีปราสาทเวชยันต์ อันเป็นที่อยู่ของท้าวสักกะ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระนคร มีสวนดอกไม้ชื่อว่า สวนนันทวัน กว้างพันโยชน์ ภายในสวนมีสระโบกขรณีอยู่ ๒ สระ ชื่อว่า มหานันทา สระหนึ่ง ชื่อว่า จูนันทา สระหนึ่งรอบบริเวณสระกับขอบสระปูลาดดด้วยแผ่นศิลา เป็นที่สำหรับนั่งพักผ่อนแผ่นศิลาที่ปูรอบอยู่บริเวณสระใด ก็เรียกแผ่นศิลานั้นไปตามชื่อของสระนั้นๆ

ทางทิศตะวันตกมีสวนจิตรลดา กว้าง ๕๐๐ โยชน์ มีสระโบกขรณีอยู่ ๒ สระ ชื่อว่า วิจิตรา สระหนึ่ง จูฬจิตรา สระหนึ่ง

ทางทิศเหนือมีสวนชื่อว่า สวนมิสสกวัน กว้าง ๕๐๐ โยชน์ มีสระโบกขรณีอยู่ ๒ สระ ชื่อว่า ธัมมา สระหนึ่ง สุธัมมา สระหนึ่ง

ทางทิศใต้มีสวนชื่อว่าสวนผารุสกวัน กว้าง ๗๐๐ โยชน์ มีสระโบกขรณีอยู่ ๒ สระ ชื่อว่า ภัททา สระหนึ่ง สุภัททา สระหนึ่ง

สวนทั้ง ๔ แห่งนี้ เป็นสถานที่สำหรับเที่ยวพักผ่อนรื่นเริงของเทวดาทั้งหลายที่

ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระนครสุทัสสนะ มีสวน ๒ แห่ง แห่งหนึ่ง ชื่อว่า สวนปุณฑรีกะ ไม่ปรากฏว่ากว้างเท่าใด อีกแห่งหนึ่งชื่อว่า สวนมหาวันกว้าง ๗๐๐ โยชน์ สวนทั้ง ๒ แห่งนี้ ที่สวนปุณฑรีกะมีต้นปาริฉัตรหรือปาริชาต สูง ๑๐๐ โยชน์ มีกิ่งก้านสาขาใหญ่กว้าง ๕๐ โยชน์ เมื่อถึงคราวมีดอก ก็ส่งกลิ่นหอมไปไกลได้ ๑๐๐ โยชน์ ภายใต้ต้นปาริฉัตรมีแท่นปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ แท่นนี้กว้าง ๕๐ โยชน์ ยาว ๖๐ โยชน์ หนา ๑๕ โยชน์ มีสีแดงเหมือนดอกชบา มีลักษณะยึดหยุ่น คือยุบลงได้ในขณะนั่งและฟูขึ้นเป็นปกติในขณะที่ลุกขึ้น มีศาลาเป็นที่ประชุมฟังธรรมชื่อว่า ศาลาสุธัมมา มีเจดีย์แก้วมรกตที่เรียกว่า พระจูฬามณี สูง ๑๐๐ โยชน์ ภายในองค์พระเจดีย์บรรจุพระเขี้ยวแก้วข้างขวาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระเกศาที่พระองค์ทรงตัดทิ้งในตอนที่เสด็จออกบรรพชา

อนึ่ง สวนมหาวันนั้น เป็นที่ประทับสำราญพระราชอิริยาบถของท้าวสักกเทวราชมีสระโบกขรณีกว้างหนึ่งโยชน์ ชื่อว่า สุนันทา มีวิมานหนึ่งพัน



------------------------------------------------

อิฏฐารมณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในชั้นดาวดึงส์

เทพยดาทั้งหลายที่ได้มาบังเกิดในชั้นดาวดึงส์นี้ ล้วนแต่เป็นผู้ไดเสวยทิพยสมบัติ อันเป็นผลที่ได้รับมาจากกุสลกรรมในอดีตภพ ฉะนั้น อารมณ์ต่างๆ ที่ได้รับในชั้นดาวดึงส์นี้ จึงล้วนแต่เป็นอารมณ์ที่ดีงามทั้งนั้น เทวดาผู้ชายนั้นมีรูปร่างลักษณะอยู่ในวัยที่มีอายุราว ๒๐ ปี ส่วนเทวดาผู้หญิงก็มีรูปร่างอยู่ในวัยที่มีอายุราว ๑๖ ปีเหมือนกันทุกๆ องค์ ความชราคือ ผมหงอก ฟันหัก ตามัว หูตึง เนื้อหนังเหี่ยวย่น เหล่านี้ไม่มี มีแต่ความสวยงามเป็นหนุ่มเป็นสาวตลอดไป

พยาธิ คือความเจ็บไข้ก็ไม่มี อาหารที่เป็นเครื่องอุปโภคก็เป็นชนิดละเอียดเป็นสุธาโภชน์ ด้วยเหตุนี้ภายในร่างกายจึงไม่มีอุจจาระ ปัสสาวะ เทวดาผู้หญิงก็ไม่มีประจำเดือนและไม่ต้องมีครรภ์ ส่วนภุมมัฏฐเทพธิดาบางองค์นั้น มีประจำเดือนและมีครรภ์ เหมือนกับมนุษย์หญิงธรรมดา

ธรรมดาบุตรและธิดาทั้งหลายในเทวโลกนั้น จะได้บังเกิดเหมือนมนุษย์นั้นหามิได้ แต่บุตรธิดาเหล่านั้น ย่อมบังเกิดในตักแห่งเทวดาทั้งหลาย ถ้าแลนางฟ้าทั้งหลายจะบังเกิดเป็นบาทบริจาริกา ก็ย่อมบังเกิดขึ้นในที่นอน เทวดาที่เป็น พนักงานตกแต่งประดับอาภรณ์วิภูษิต เครื่องทรงเป็นต้นนั้น ย่อมบังเกิดล้อมรอบที่นอน ถ้าจะเป็นไวยาวัจจกรนั้นย่อมบังเกิดขึ้นภายในวิมาน ดังมีสาธกบาลีแสดงไว้ในลักกปัญหสุตตันตอรรถกถา และมูลปัณณาสอรรถกถาว่า เทวานํ ธีตา จ ปุตฺตา จ องฺเก นิพฺพตฺตนฺติ ปาทปริจาริกา อิตฺถิโย สยเน นิพฺพตฺตนฺติ ตาสํ มณฺฑนปสาธน การิกา เทวตา สยนํ ปริวาเรตฺวา นิพฺพตฺตนฺติ เวยฺยาวจฺจกรา อนฺโตวิมาเน นิพฺพตฺตนฺติ.

เมื่อเทวดาทั้งหลาย ไปบังเกิดขึ้นภายในวิมานของเทวดาองค์หนึ่งองค์ใดแล้ว ย่อมเป็นอันว่าเทวดาหรือนางฟ้าก็ตามที่บังเกิดขึ้นใหม่นั้น ต้องเป็นบริวารของเทวดาผู้เป็นเจ้าของวิมานนั้นๆ โดยที่เทวดาองค์อื่นๆ จะมาวิวาทแย่งชิงเอาไปไม่ได้เลย ถ้าเทพบุตรก็ดีหรือเทพธิดาก็ดี บังเกิดขึ้นภายนอกระหว่างกลางเขตแดนวิมานต่อวิมานแล้วเทวดาที่เป็นเจ้าของวิมานนั้น ก็บังเกิดการวิวาทแก่กัน เพื่อแย่งชิงเอาเทวดาทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นใหม่นั้นมาเป็นกรรมสิทธิของตน ถ้าต่างฝ่ายต่างไม่สามารถจะตัดสินใจได้ว่าเทวดาที่บังเกิดขึ้นใหม่นั้นจะเป็นของใครได้แล้วก็พากันไปสู่สำนักแห่งท้าวสักกเทวราชผู้เป็นอธิบดีใหญ่กว่าเทวดาทั้งปวง ถ้าวิมานของเทวดาองค์ใดอยู่ใกล้กว่ากัน ท้าวสักกะเทวราชก็พิพากษาให้เป็นของเทวดาองค์นั้น ถ้าเทวดาผู้บังเกิดใหม่ปรากฏขึ้นในที่ท่ามกลางเสมอกันแห่งวิมานของเทวดา ๒ องค์ เทวดาที่บังเกิดใหม่นั้น เล็งแลดูวิมานของเทวดาองค์ใด ท้าวสักกะก็พิพากษาให้เป็นของเทวดาองค์นั้น ถ้าเทวดาผู้บังเกิดใหม่ มิได้ดูแลซึ่งวิมานหนึ่งวิมานใด แล้วท้าวสักกะก็พิพากษาให้เป็นของพระองค์เสียเอง เพื่อตัดความวิวาทแห่งเทวดาทั้งหลายเสีย เทวดาบางองค์ก็มีนางฟ้าเป็นบาทบริจากา ๕๐๐ บ้าง ๗๐๐ บ้าง ๑๐๐๐ บ้าง เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า เทวดาที่ไม่มีวิมานอยู่โดยเฉพาะของตนก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก และในเทวโลกนี้ก็เป็นไปคล้ายๆกับในมนุษยโลกคือมีการทะเลาะวิวาทกัน และมีผู้พิพากษาตัดสินความเช่นกัน

เทพบุตรและเทพธิดาที่อยู่ในเทวโลกนี้ ก็มีการไปมาหาสู่เยี่ยมเยียนซึ่งกันและกัน เช่นเดียวกับมนุษยโลก จะพึงรู้ได้จากเรื่องเทพบุตรที่เป็นนักเล่นดนตรีองค์หนึ่งชื่อว่าปัญจสิขะ เทพบุตรองค์นี้ ชำนาญในการดีดพิณที่มีชื่อว่าเพลุวะ และชำนาญในการขับร้องมีความรักใคร่ในสูริยวัจฉสาเทพธิดา ซึ่งเป็นธิดาของเทวดาผู้ใหญ่องค์หนึ่งชื่อว่าติมพรุเทพบุตร

วันหนึ่ง ปัญจสิขะเทพบุตรได้ไปหาสูริยวัจฉสาเทพธิดา และได้ติดพิณขับร้องมีใจความว่า

ยํ เม อตฺถิ กตํ ปุญฺญํ อรหนฺเตสุ ตาทิสุ
ตํ เม สพฺพงฺคกลฺยาณิ ตยา สทฺธึ วิปจฺจตํ.

แปลความว่า แน่ะ นางที่มีเรือนร่างที่งดงาม กุศลใดๆ
ที่ข้าพเจ้าได้เคยสร้างสมมาแล้วต่อพระอรหันต์ที่มีคุณต่างๆ
ขอกุศลนั้นๆ จงเป็นผลสำเร็จแก่ข้าพเจ้า และแม่นางทุก
ประการเทอญ

แต่เทพธิดาสุรนวัจฉสานั้น ได้รักใคร่กันกับสิขันติเทพบุตร ซึ่งเป็นบุตรของมาตุลีเทพบุตร เมื่อทั้ง ๒ ฝ่ายมีความรักไม่ตรงกันเช่นนี้ ท้าวโลกีย์เทวราชทรงพิจารณาเห็นว่า ปัญจสิขเทพบุตรเป็นผู้มีความดีความชอบ และทำคุณประโยชน์ ให้แก่พระองค์มาก จึงตัดสินพระทัยยกสูริยวัจฉสาเทพให้แก่ปัญจสิขเทพบุตร

เทพธิดาบางองค์มีวิมานอยู่โดยเฉพาะๆ ของตนแล้วแต่ยังขาดคู่ครอง ก็ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายในความเป็นอยู่ของตน ไม่มีความเบิกบานและร่าเริงเหมือนกับเทพธิดาที่มีคู่ครองทั้งหลาย ส่วนเทพธิดาที่มีคู่ครอง ต่างก็ชวนกันไปแสวงหาความสุขสำราญในสถานทั้ง ๔ แห่ง พร้อมด้วยบริวารของตน

อนึ่ง บริวาร วิมาน และรูปารมณ์ต่างๆ อันเป็นสมบัติของเทพยดาทั้งหลายนั้น มีความสวยงามยิ่งหย่อนกว่ากันและกัน แล้วแต่กุศลกรรมที่ตนได้สร้างสมไว้ ฉะนั้น รัศมีที่ซ่านออกจากร่างกายและอาภรณ์ภูษาที่เป็นเครื่องประดับเครื่องทรงของเทพบุตรเละเทพธิดาทั้งหลาย พร้อมทั้งวิมานอันเป็นที่อยู่ของตนๆนั้น บางองค์ก็มีรัศมีสว่าง ๑๒ โยชน์ ถ้าองค์ใดมีบุญมาก ก็มีรัศมีสว่างถึง ๑๐๐ โยชน์ ดังมีสาธกบาลีแสดงไว้ในอรรถกถาแห่งทีฆนิกายมหาวรรคว่า

ยา สา .สพฺพเทวตานํ วตฺถาลงฺการวิมานสรีรานํ
ปภา ทฺวาทสโยชนานิ ผรติ, มหาปุญฺญานํ ปน สรีรปฺปภา
โยชนสตํ ผรติ

มีปัญหาว่า บรรดาเทวดาทั้ง ๖ ชั้นนี้ จะแลเห็นซึ่งกันและกันได้หรือไม่?

ข้อนี้วิสัชนาว่า เทวดาที่อยู่ในชั้นเบื้องบนย่อมเห็นเทวดาที่อยู่ชั้นต่ำกว่าตนได้ แต่เทวดาที่อยู่ชั้นต่ำจะเห็นเทวดาที่อยู่สูงกว่าตนไม่ได้ เพราะธรรมดาเทวดาที่อยู่ชั้นสูงๆ นั้นมีร่างกายละเอียดมากกว่าเทวดาที่อยู่ชั้นต่ำ นอกจากเทวดาที่อยู่ชั้นเบื้องบนนั้นจะเนรมิตร่างกายให้หยาบขึ้น เทวดาที่อยู่ต่ำกว่าจึงจะเห็นได้ ทั้งนี้เป็นไปตามลำดับชั้นกันดังมี สาธกบาลีแสดงไว้ในอรรถกถาแห่งฑีฆนิกายมหาวรรคว่า

เหฏฺฐา เหฏฺฐา หิ เทวตา อุปรูปริเทวานํ โอฬาริกํ
กตฺวา มาปิตเมว อตฺตภาวํ ปสฺสิตํ สกโกนฺติ

ในระหว่างมนุษย์และเทวดาก็เช่นเดียวกัน มนุษย์จะไม่
สามารถมองเห็นเทวดาได้ เพราะเทวดามีรูปร่างละเอียด
นอกจากเทวดานั้นจะเนรมิตรูปให้หยาบ พวกมนุษย์จึงจะ
สามารถเห็นได้

อนึ่ง ได้กล่าวไว้แล้วตอนต้นว่า อารมณ์ต่างๆ ที่อยู่ในชั้นดาวดึงส์นี้ล้วนแต่เป็นอิฏฐารมณ์ทั้งสิ้น และบรรดาเทพบุตรเทพธิดาที่อยู่ในชั้นนี้ก็เป็นเสวยแต่ทิพยสมบัติเครื่องทรง และอาภรณ์ ตลอดจนร่างกายก็เป็นทิพย์ ไม่มีสิ่งโสโครกปฏิกูลที่จะไหลออกจากทวารทั้ง ๙ เลย ซึ่งต่างกับพวกมนุษย์ที่เต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูลต่างๆ ที่ไหลออกจากทวารทั้ง ๙ อยู่เสมอ เทวดาทั้งหลาย เมื่อได้กลิ่นมนุษย์เข้าแล้วจะมีความรู้สึกอย่างไร?

ตอบว่า เทวดาทั้งหลายเมื่อได้กลิ่นมนุษย์ที่อยู่ห่างกันถึง ๑๐๐ โยชน์ในขณะใดขณะนั้นจะรู้สึกเหมือนกับได้กลิ่นสุนัขเน่า แม้แต่พระเจ้าจักรพรรดิ์ ซึ่งในวันหนึ่งมีการสรงน้ำ ๒ ครั้ง เปลี่ยนฉลองพระองค์ ๓ ครั้ง และทรงลูบไล้พระวรกายด้วยสุสุคนธรส อันดีเลิศเช่นนี้แล้วก็ตาม ถ้าเทวดาทั้งหลายได้กลิ่นของพระเจ้าพักรพรรดิ์ที่อยู่ในระยะห่างกัน ๑๐๐ โยชน์ในเวลาใด ก็เหมือนกับได้กลิ่นสุนัขเน่าที่เอามาผูกติดอยู่ที่คอฉะนั้น ดังมีสาธกบาลีแสดงไว้ในอรรถกถาแห่งฑีฆนกายมหาวรรคว่า

ทิวสสฺส ทฺวิกฺขตฺตํ นฺหาตฺวา วตฺถานิ ติกฺขตฺตํ
ปริวตฺเตตฺวา อลงฺกตปฏิมณฺฑิตานํ จกฺกวาตฺติอาทีนมฺปิ
มนุสฺสานํ คนฺโธ โยชนสเต ฐิตานํ เทวตานํ กณฺเฐ
อาสตฺตกุณปํ วิย พาธติ

ความงามวิจิตรงดงาม และความสุขที่เป็นทิพยสมบัติในชั้นดาวดึงส์นี้ไม่สามารถจะบรรยายให้หมดสิ้นได้ สมบัติต่างๆ ที่มีอยู่ในมนุษยโลก จะเป็นสมบัติของพระเจ้าจักรพรรดิ์หรือของราชเศรษฐี คหบดีก็ตาม ก็ไม่อาจจะเอามาเปรียบเทียบกับเทวสมบัติซึ่งเป็นของทิพย์ได้

อิฏฐารมณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในชั้นดาวดึงส์นั้น อิฏฐารมณ์ที่มีอยู่ในสวนนันทวันเป็นอิฏฐารมณ์ที่ดีเลิศ ยิ่งกว่าอิฏฐารมณ์ที่มีอยู่ในสถานที่ต่างๆ ทั้งหมดในชั้นดาวดึงส์ เพราะว่าถ้าเทพบุตรหรือเทพธิดาองค์ใดเกิดโสกะปริเทวะพิไรรำพันกลัวความตายที่จะได้รับอยู่นั้น ถ้าได้เข้าไปยังสวนนันทวันแล้ว ความโสกะปริเทวะเหล่านั้นก็หายสิ้นไป ฉะนั้น เทวดาองค์ใดหรือมนุษย์องค์ใดก็ตาม ถ้ายังไม่เคยเข้าไปในสวนนันทวันแล้ว จัดว่าบุคคลนั้นยังไม่รู้ถึงความสุขที่ดีเลิศที่มีอยู่ในชั้นดาวดึงส์ ดังมีสาธกบาลีแสดงไว้ในพระบาลีสคาถาวรรคสังยุตว่า

น เต สุขํ ปชานนฺติ เย น ปสฺสนฺติ นนฺทนํ
อาวาสํ นรเทวานํ ติทสานํ ยสฺสสินํ.

แปลความว่า บุคคลเหล่าใดยังไม่เคยชมสวนนันทวัน อัน
เป็นสถานที่หย่อนใจของเทพบุตรเทพธิดาทั้งหลายซึ่งเป็นผู้มีบุญ
มีความสวยงาม มีบริวารมากในชั้นดาวดึงส์นี้บุคคลนั้นได้ชื่อว่า
เป็นผู้ที่ยังไม่สมบูรณ์ต่อการเสวยความสุขในกามคุณที่มีอยู่ใน
เทวภูมิชั้นนี้

อนึ่ง สวนนันทวันนี้มิใช่มีอยู่แต่เฉพาะชั้นดาวดึงส์แห่งเดียวเท่านั้น ในเทวภูมิชั้นอื่นๆก็มีเช่นเดียวกันทุกชั้น สำหรับเหตุผลในการตั้งชื่อสวนว่านันทวันนั้น ในเทวภูมิชั้นอื่นๆ ก็มีเช่นเดียวกันทุกชั้น สำหรับเหตุผลในการตั้งชื่อสวนว่านันทวันนั้น ก็เพราะว่าเป็นสถานที่ที่น่ายินดีน่าเพลิดเพลินนั้นเอง ดังมีสาธกบาลีแสดงไว้ในอรรถกถาแห่งฑีฆนิกายมหาวรรคว่า สพิเพสุ เทวโลเกสุ หิ นนฺทวนํ อตฺถิเยว

ในสารัตถทีปนีฏีกาแสดงไว้ว่า ในบรรดาสวน ๖ แห่ง ที่มีอยู่ในชั้นดาวดึงส์นี้มีต้นไม้ทิพย์อยู่ทุกๆสวน สวนหนึ่งๆ มีต้นไม้ทิพย์นี้อยู่พันต้น ดังมีบาลีแสดงว่า

ตํ ปน ทิพฺพรุกฺขสหสฺสปฏิมณฺฑิตํ ตถา นนฺทวนํ ผารุสกวนญฺจ

ภายในสวนจิตรดามีต้นไม้เครือเถาชื่อว่า อาสาวตี หนึ่งพันปีของชั้นดาวดึงส์นี้จึงจะมีผลครั้งหนึ่ง ข้างในมีน้ำเรียกว่าน้ำทิพย์ น้ำทิพย์ที่อยู่ข้างในผลไม้นี้แหละเป็นสุราของพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ เทวดาองค์ใดได้ดื่มแล้วจะเกิดความมึนเมา และฤทธิ์ของความเมานี้ทำให้หลับไปเป็นเวลานานถึง ๔ เดือน จึงจะสร่างความเมา ดังมีสาธกบาลีแสดงไว้ในพระบาลีชาดกและพระบาลีอปทาน ว่า
อาสาวตี นาม ลตา ชาตา จิตฺตลตาวเน
ตสฺสา วสฺสสหสฺเสน เอกํ นิพฺพตฺตเต ผลํ.

แปลความว่า เครือเถาทิพย์ที่เรียกว่า อาสาวตีนี้ มีอยู่
ในสวนจิตรดาและเครือเถาทิพย์หนึ่งพันปีจึงจะมีผลครั้งหนึ่ง
ดอกเครือเถานี้ก็เป็นดอกไม้ทิพย์

เรื่องพระอินทร์ที่มีนามว่าสักกะ

วจนัตถะของคำว่า สักกะ, สกฺกจฺจํ ทานํ ททาตีติ สกฺโก ที่เรียกว่า ท้าวสักกะ เพราะว่ามีการบริจาคทานโดยเคารพ หรืออีกนัยหนึ่ง

อสุเร เชตํ สกฺกุณาตีติ สกฺโก ที่เรียกว่า ท้าวสักกะ เพราะว่าสามารถเอาชัยชนะต่อพวกอสูรได้

ท้าวสักกเทวราช หรือที่เรียกกันว่าท้าวโลกีย์อมรินทร์นี้ เป็นผู้ปกครองเทพยดาและชั้นดาวดึงส์และเทพยดาชั้นจาตุมหาราชิกา เทวภูมิทั้งสองนี้ เทวภูมิดาวดึงส์เป็นที่อยู่ของท้าวโกลีย์อมรินทร์ มีปราสาททองเป็นที่ประทับชื่อว่า เวชยันต์ สูงหนึ่งพันโยชน์ ที่ปราสาทเวชยันต์ นี้มีเสาธงปักอยู่โดยรอบ เสาธงนี้ประดับด้วยรัตนะทั้ง ๗ สูง ๓๐๐ โยชน์มีราชรถเป็นที่สำหรับทรงของท้าวโลกีย์ ชื่อว่า เวชยันต์เช่นเดียวกัน ตอนหน้าราชรถเป็นที่นั่งของสารถีคือมาตุลีเทพบุตร ที่นั่งนี้ยาว ๕๐ โยชน์ ตอนกลางเป็นที่ประทับของท้าวโลกีย์ ยาว ๕๐ โยชน์ ตอนท้ายยาว ๕๐ โยชน์ รวมความยาวของราชรถเวชยันต์ยาว ๑๕๐ โยชน์ ส่วนกว้าง ๕๐ โยชน์ วัดโดยรอบตัวราชรถแล้วได้ ๔๐๐ โยชน์ บัลลังก์ที่ประทับภายในราชรถสำเร็จด้วยรัตนะทั้ง ๗ สูง ๑ โยชน์ กว้าง ๑ โยชน์ กั้นด้วยเศวตฉัตรใหญ่ ๓ โยชน์ มีม้าสินธพอาชาไนยพร้อมด้วยเครื่องประดับสำหรับเทียมราชรถ ๑๐๐๐ ตัว ม้าสินธพอาชาไนยนั้นไม่ใช่เป็นสัตว์ดิรัจฉาน เป็นเทพยดาในชั้นดาวดึงส์นั้นเองเนรมิตกายขึ้น

บางครั้งท้าวสักกเทวราชก็ทรงช้างเป็นพาหนะ ช้างทรงนี้ชื่อว่า เอราวัณ ไมใช่ช้างดิรัจฉาน เป็นช้างที่สำเร็จขึ้นด้วยการเนรมิตกายของเทพยดาในชั้นดาวดึงส์ ในเมื่อท้าวสักกเทวราชมีความประสงค์จะทรงช้าง ดังมีสาธกบาลีแสดงไว้ในสารัตถะทีปนีฏีกาว่า

สกฺกสฺส ปน เอราวโณ นาม หตฺถี ทิยฑฺฒ
โยชฺนสติโก, โสปิ เทวปุตฺโตเยว, น หิ เทวโลกสฺมึ
ติรจฺฉานคตา โหนฺติ.

ช้างเอราวัณนี้มีร่างใหญ่ ๑๕๐ โยชน์ มีเศียร ๓๓ เศียร เศียรหนึ่งๆ มีงา ๗งา รวม ๓๓ เศียรมีงา ๒๓๑ งา งาหนึ่งๆ ยาว ๕๐ โยชน์ในงาข้างหนึ่งๆ มีสระโบกขรณี ๗ สระ รวม ๒๓๑ งา มีสระโบกขรณี ๑,๖๑๗ สระโบกขรณี สระหนึ่งๆมีกอบัว ๗ กอ รวม ๑,๖๗๑ สระ มีกอบัว ๑๑,๓๑๙ กอ กอบังกอหนึ่งๆมีดอกบัว ๗ ดอก รวม ๑๑,๓๑๙ ดอก ดอกบัวดอกหนึ่งๆมี กลีบ ๗ กลีบ รวม ๗๙,๒๓๓ ดอก มีกลีบ ๕๕๔,๖๓๑ กลีบ กลีบหนึ่งๆมีเทพธิดา ๗ องค์ รวม ๕๔๔,๖๓๑ กลีบ มีเทพธิดา ๓,๘๘๒,๔๑๗ องค์ เทพธิดาทั้งหมดนี้กำลังฟ้อนรำถวายท้าวสักกะเทวราชให้ทอดพระเนตรอยู่ภายในงาช้าง ๒๓๑ งาซึ่งมีความยาวงาละ ๕๐ โยชน์นั้นเอง

บนกระพองหัวช้างเอราวัณ หัวที่อยู่ตรงกลางนั้นชื่อว่า สุทัสสนะ มีมณฑปสูง ๑๒ โยชน์ กว้าง ๕๐ โยชน์ ข้างในมณฑปมีบัลลังก์แก้วมณีกว้าง ๑ โยชน์ เป็นที่ประทับของท้าวสักกะ รอบๆ มณฑปมีธงปักไว้ในระยะชิดๆกัน ธงผืนหนึ่งๆยาว ๑ โยชน์ มีกระดิ่งใบโพธิ์แขวนไว้ที่ปลายคันธงทุกๆ คัน เมื่อเวลาต้องลมมีเสียงปรากฏออกมาเหมือนกับเสียงพิณ

ท้าวสักกเทวราชนี้ ถึงแม้ว่าจะมีจักษุทั้งสองเหมือนกันกับจักษุของเทพยดาทั้งหลายก็จริง แต่จักษุของท้าวสักกะนั้นสามารถแลเห็นสิ่งต่างๆ ได้ไกลมากเท่ากับตาพันดวง ฉะนั้น จึงได้ชื่ออีกนัยหนึ่งว่า ท้าวสหัสสนัย ดังมีสาธกบาลีแสดงไว้ในสรภังคชาดกอรรถภถาว่า

สหสฺสเนตฺตานํ เทวานํ ทสฺสนูปจาราติกฺกมน-
สมตฺโถติ สหสฺสเนตฺโตติ.

อนึ่ง ผู้ที่จะเป็นพระอินทร์ได้นั้นต้องประกอบด้วยคุณธรรม ๗ ประการคือ

๑. เลี้ยงบิดามารดา
๒. เคารพต่อผู้ใหญ่ในตระกูล
๓. กล่าววาจาอ่อนหวาน
๔. ไม่กล่าวคำส่อเสียด
๕. ไม่มีความตระหนี่
๖. มีความสัตย์
๗. ระงับความโกรธไว้ได้

ดังมีสาธกบาลีแสดงไว้ในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค และเอกนิบาตชาดกอรรถกถา ดังนี้ว่า

มาตาเปตฺติภรํ ชนฺตํ กุเล เชฏฺฐาปจายินํ
สณฺหํ สขิลสมฺภาสํ เปสุเณยฺยปฺปหายินํ

มจฺเฉรวินเย ยุตฺตํ สจฺจํ โกธาภิภํ นรํ
ตํ เว เทวา ตาวตีสา อาหุ สป์ปุริโส อิติ.

เรื่องเกี่ยวกับศาลาสุธัมมา

ในตอนต้นได้แสดงมาแล้วว่า ดาวดึงส์เทวภูมิชั้นนี้มีสถานที่ที่สวยสดงดงามต่างๆ เช่น พระนครสุทัสสนะ สวนสาธารณะ ๔ แห่ง และสวนพิเศษอีก ๒ แห่ง คือสวนปุณฑริกะสวนมหาวัน ซึ่งสวนมหาวันนั้นเป็นสวนที่สำหรับพักผ่อนสำราญพระทัยของ ท้าวสักกเทวราช เหล่านี้จัดเป็นสถานที่อำนวยความสำราญในส่วนโลกียวิสัยเท่านั้น ส่วนสวนปุณฑริกะนั้นเป็นสวนพิเศษที่มีความสำคัญมากกว่าสวนอื่นๆ เพราะเป็นที่ตั้งแห่ง ปูชนียสถานสำคัญต่างๆ เช่น พระจุฬามณี พระแท่นปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ภายใต้ต้นปาริฉัตรที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เคยเสด็จขึ้นไปประทับแสดงพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ และศาลาสุธัมมาเทวสภา ซึ่งเป็นสถานที่ที่เทวดาทั้งหลายมาประชุมฟังธรรม

ต่อไปนี้ จะได้แสดงถึงเรื่องเกี่ยวกับศาลาสุธัมมาโดยเฉพาะดังนี้คือ ศาลาสุธัมมานี้เป็นสถานที่ที่เทพบุตรและเทพธิดาทั้งหลายที่สนใจในธรรม พากันมาประชุมฟังธรรม และสนธนาธรรมกัน ณ ที่นี้ โดยมีท้าวอมรินทราธิราช(พระอินทร์) เป็นประธาน ศาลา สุธัมมานี้สำเร็จด้วยรัตนะทั้ง ๗ มีความสูง ๕๐๐ โยชน์ กว้าง ๓๐๐ โยชน์ วัดโดยรอบศาลาได้ ๑,๒๐๐ โยชน์ พื้นของศาลาสำเร็จด้วยแก้วผลึก เสาสำเร็จด้วยทอง เครื่องบนมีชื่อคาน ระแนง หลังคา เพดาน เป็นต้น เหล่านี้สำเร็จด้วยรัตนะทั้ง ๗ หลังคามุงด้วยแก้วอินทนิล บนเพดานและตามเสาประดับด้วยลวดลายต่างๆ ซึ่งสำเร็จด้วยแก้วประพาฬ ช่อฟ้าสำเร็จด้วยเงิน ภายในศาลา ตรงกลางตั้งธรรมาสน์สำหรับแสดงธรรมสูง ๑ โยชน์ สำเร็จด้วยรัตนะทั้ง ๗ กั้นด้วยเศวตฉัตรสูง ๓ โยชน์ ข้างๆธรรมาสน์เป็นที่ประทับของท้าวโกลีย์เทวราช ถัดจากนั้นเป็นที่ประทับของเทวดาชั้นผู้ใหญ่ ๓๒ องค์ มีท้าวปชาปติ ท้าววรุณะ ท้าวอีสานะ เป็นต้นโดยลำดับ ถัดต่อไป เป็นที่นั่งของเทวดาผู้ใหญ่องค์อื่นๆ และเทวดาผู้น้อยทั่วไป ศาลาสุธัมมานี้ตั้งอยู่ข้างๆต้นปาริฉัตร

ต้นปาริฉัตรนี้ ออกดอกปีละ ๑ ครั้ง เมื่อเวลาใกล้จะมีดอก ใบจะมีสีนวล เมื่อเทวดาทั้งหลายแลเห็นใบปาริฉัตรตกสีนวลแล้ว ต่างองค์ก็มีความยินดี ด้วยว่า อีกไม้ช้าแล้วก็จะได้พากันชมดอกปาริฉัตร แล้วก็คอยเฝ้ามาเวียนดูอยู่เสมอ เมื่อถึงคราวออกดอกแล้วใบนั้นก็ล่วงลงหมดสิ้น มีแต่ดอกออกสะพรั่งไปหมด สีของดอกปาริฉัตรนี้มีสีแดง ฉายแสงเป็นรัศมีแผ่ไปเป็นปริมณฑลกว้าง ๕๐๐ โยชน์ ส่งกลิ่นหอมไปตามลมได้ ๑๐๐ โยชน์ ดอกปาริฉัตรนี้ไม่จำเป็นต้องขึ้นไปเก็บบนต้นหรือใช้ไม้สอยแต่อย่างใด มีลมชื่อว่ากันตนะ ทำหน้าที่พัดให้ดอกนั้นหล่นลงมาเอง และเมื่อดอกหล่นลงมาแล้วก็ไม่ต้องใช้ภาชนะมีผอบเป็นต้นมาคอยรองรับ มีลมชื่อว่าสัมปฏิจฉนะ ทำหน้าที่รองรับดอกไม้นั้นให้ร่วงลงสู่พื้นได้ ต่อจากนั้น มีลมชื่อว่าปเวสนะ ทำหน้าที่พัดเอาดอกไม้ให้ล่วงลงสู่พื้นได้ ต่อจากนั้น มีลมชื่อว่าปเวสนะ ทำหน้าที่พัดเอาดอกไม้นั้นให้เข้าไปในศาลาสุธัมมา ลงชื่อว่าสัมมิชชนะก็ทำหน้าที่คอยพัดเอาดอกเก่าออกไป และลมชื่อว่าสันถกะ ก็ทำหน้าที่จัดดอกไม้นั้นให้เป็นระเบียบเรียบร้อยไม่ให้รวมกันเป็นกองดังนี้

ระเบียบการประชุมฟังธรรมที่ในศาลาสุธัมมานั้น เมื่อถึงเวลาประชุมฟังธรรมเทศนาท้าวอมรินทราธิราชก็ทรงเป่าสังข์ชื่อว่า วิชยุตตระ สังข์นี้มีความยาวประมาณ ๑๒๐ ศอก เสียงสังข์ดังก้องกังวาลไปทั้งภายในและภายนอกพระนครสุทัสสนะ และเสียงของสังข์ที่เป่าครั้งหนึ่งๆนั้น ดังปรากฏอยู่นานถึง ๔ เดือนของมนุษย์

เมื่อเทพบุตรและเทพธิดาทั้งหลายที่อยู่ในชั้นดาวดึงส์นี้ เมื่อได้ยินเสียงสังข์ดังก้องกังวานขึ้นต่างพากันมาสู่ ณ ที่ศาลา รัศมีที่ออกจากร่างกายและแสงของเครื่องทรงเครื่องประดับก็ส่องสว่างไปทั่วทั้งศาลา เมื่อท้าวโลกีย์เทวราชทรงเป่าสังประกาศแก่ปวงเทพยดาทั้งหลายแล้ว ท้าวเธอพร้อมด้วยมเหสีทั้ง ๔ องค์ ก็เสด็จออกจากปราสาทเวชยันต์ขึ้นทรงช้างเอราวัณ มีเทพยดาห้อมล้อมตามเสด็จประมาณ ๓ โกฏิ ๖ ล้านองค์ ไปสู่ศาลาสุธัมมา สำหรับผู้แสดงธรรมนั้น ได้แก่พรหมชื่อว่าสนังกุมาระ ได้เสด็จลงมาแสดงเสมอ แต่บางครั้งท้าวโลกีย์ก็ทรงแสดงเอง หรือเทพบุตรองค์ใดที่มีความรู้ในธรรมดีก็เป็นผู้แสดงได้

อนึ่ง ศาลาสุธัมมานี้มิใช่จะมีอยู่แต่ในชั้นดาวดึงส์ชั้นเดียวเท่านั้น แม้ในเทวโลกเบื้องบนอีก ๔ ชั้นก็มีศาลาสุธัมมาเช่นเดียวกัน

เรื่องพระอินทร์ทรงบำเพ็ญกุศลในพระพุทธศาสนา

พระอินทร์หรือท้าวสักกะเทวราชผู้เป็นใหญ่กว่าเทวดาทั้งปวงในชั้นดาวดึงส์นี้ ระหว่างที่พระศาสนาของพระสมณโคดมยังไม่อุบัติขึ้นนั้น ความสวยงาม รัศมีและวิมานก็ด้อยกว่าเทพยดาชั้นผู้ใหญ่บางองค์ คงมีแต่อำนาจความเป็นใหญ่อย่างเดียว ต่อมาเมื่อศาสนาของพระสมณโคดมได้อุบัติขึ้นแล้ว ความสวยงามของวิมานและรัศมีของท้าวสักกะจึงมีบริบูรณ์เต็มที่ ทั้งนี้เป็นด้วยอำนาจของกุศลกรรมที่ท้าวเธอได้มาถวายทาน แด่พระมหากัสสปเถระเจ้า ดังมีเรื่องว่า

ขณะที่พระอินทราธิราชเสวยทิพสมบัติอยู่ในชั้นดาวดึงส์นั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นเทพยดาชั้นผู้ใหญ่บางองค์มีรัศมีและวิมานสวยงามมากกว่าพระองค์ซึ่งเป็นใหญ่กว่า จึงทรงนึกในพระทัยว่า เพราะเหตุใดเทวดาพวกนี้ จึงมีรัศมีและวิมานสวยงามมากกวา พระองค์ก็ทรงทราบได้ว่าการที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า เทวดาพวกนี้ได้สร้างกุศลไว้ในพระพุทธศาสนาในขณะที่ศาสนาดำรงอยู่ ฉะนั้น กุศลกรรมอันใด ที่บุคคลได้ทำไว้ ในเวลาที่ยังมีพระพุทธศาสนา กุศลอันนั้น ย่อมมีอานิสงส์ไพบูลย์ยิ่งกว่ากุสลกรรมที่ทำในเวลา ที่ว่างจากพระพุทธศาสนา สำหรับพระองค์ที่มีรัศมีน้อย มีวิมานที่สวยงามน้อยกว่านั้น ก็เพราะว่ากุศลกรรมที่พระองค์ได้ทำไว้นั้นเป็นไปในเวลาที่ว่างจากพระพุทธศาสนา เมื่อทรงทราบดังนี้แล้ว ก็พยายามคอยหาโอกาสที่จะทรงสร้างกุศลในพระพุทธศาสนาให้จงได้

อยู่มาวันหนึ่ง พระองค์ทรงเล็งทิพยเนตรเป็นพระมหากัสสปเถระเจ้า ออกจากนิโรธสมาบัติ และกำลังจะไปโปรดคนที่ยากจน ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง เมื่อพระองค์ทรงทราบดังนี้แล้วก็มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะคอยหาโอกาสที่จะทำบุญในพระพุทธศาสนามานานแล้ว จึงชวนนางสุชาดามเหสีเสด็จลงสู่มนุษยโลกพร้อมด้วยสุธาโภชน์ สำหรับถวายแก่พระมหาเถระเจ้า เมื่อลงมาถึงมนุษยโลกแล้ว ก็เนรมิตองค์เป็นคนชราสองคนผัวเมียทอผ้าอยู่ในกระท่อมอยู่ต้นทางที่พระมหาเถระจะผ่านมา

เมื่อพระมหากัสสปเถระเจ้าออกจากนิโรธสมาบัติแล้ว ก็ตั้งใจว่าจะไปโปรดคนที่ยากจนในหมู่บ้านแห่งนั้น จึงจัดแจงครองจีวรและอุ้มบาตรเดินมา เมื่อถึงหมู่บ้านนั้นแล้วก็เข้าไปหยุดยืนอยู่ที่หน้าบ้านๆแรกที่ถึง สมเด็จอมรินทราธิราชแปลงเมื่อแลเห็น พระมหาเถระเจ้าหยุดยืนที่หน้าประตูกระท่อมของตนก็รีบออกมา แล้วบอกให้นางสุชาดายกเอาอาหารมาให้เพื่อจะได้ใส่บาตร นางสุชาดาก็ยกเอาสุธาโภชน์ที่เตรียมมานั้นมาให้แก่พระสามี องค์อัมรินทร์จึงยกเอาสุธาโภชน์นั้นใส่ลงในบาตรของพระมหาเถระเจ้า

ในชั้นแรก พระมหาเถระเจ้าไม่ได้พิจารณารู้ว่าสองสามีภรรยาผู้ใส่บาตรนี้เป็นพระอินทร์และพระมเหสี คิดว่าเป็นคนยากจนธรรมดาเหมือนกับคนอื่นๆ ต่อเมื่อรับเอาอาหารที่พระอินทร์ถวายแล้ว กลิ่นของอาหารนั้นมาสัมผัสจมูก ท่านก็รู้ได้ทันทีว่านี่ไม่ใช่อาหารธรรมดา แต่เป็นอาหารทิพย์ และชายชราและภรรยานั้นก็มิใช่คนธรรมดา แท้จริงเป็นพระอินทร์และมเหสีปลอมแปลงมา พระมหาเถระรู้ดังนั้นแล้วก็ต่อว่าพระอินทร์ขึ้นว่า ในการที่อาตมาภาพมาโปรดสัตว์ ณ ที่นี้ มิได้ตั้งใจมาโปรดผู้ที่มีบุญอยู่แล้วเช่นองค์อัมรินทร์นี้ อาตมาภาพตั้งใจจะมาโปรดคนยากคนจน เหตุไฉน ท่านจึงมาทำเช่นนี้ พระอินทร์จึงบอกว่าข้าพองค์ก็เป็นคนยากจนเหมือนกัน เพราะถึงแม้ว่าข้าพองค์จะเป็นใหญ่อยู่ในชั้นดาวดึงส์ก็จริงอยู่ แต่ว่ารัศมีก็ดี วิมานก็ดี ของข้าพระองค์นั้น ยังด้อยกว่าเทวดาองค์อื่นๆ บางองค์มากนัก ทั้งนี้ก็เพราะว่า ข้าพระองค์ไม่ได้ทำกุศลในเวลาที่มีพระพุทธศาสนานั้นเอง มาบัดนี้ ข้าพระองค์ได้มาพบกับพระผู้เป็นเจ้าแล้ว จึงต้องการสร้างกุศลในศาสนา เพื่อให้รัศมีแห่งกายและวิมาน ของข้าพระองค์ได้มีความสว่างรุ่งโรจน์อย่างบริบูรณ์ด้วยเหตุนี้แหละ ข้าพระองค์จึงต้องแปลงปลอมตนมากระทำดังนี้

อาศัยการถวายทานแก่พระขีณาสวะมหากัสสปเถระแล้ว เมื่อพระอินทร์กลับขึ้นไปสู่ดาวดึงส์เทวโลกนั้น รัศมีกายของพระองค์ และรัศมีแห่งวิมานก็ปรากฏสว่างรุ่งโรจน์ สวยงามบริบูรณ์เต็มที่ด้วยประการดังนี้


เรื่องท้าวสักกเทวราชเป็นโสดาบัน
และในอนาคตจะได้มาเป็นพระเจ้าจักพรรดิ์ในมนุษยโลก

ท้าวสักกเทวราชพระองค์นี้ เมื่อได้ทรงฟังพระธรรมเทศนาจากพระผู้มีพระภาคเจ้า ในเรื่องพรหมชาลสูตรจบลงแล้ว ท้าวเธอก็ได้สำเร็จเป็นโสดาบัน และจะอยู่ในดาวดึงส์พิภพตลอดจนสิ้นอายุ และเมื่อจุติจากดาวดึงส์แล้ว ก็จะได้มาบังเกิดเป็นพระเจ้าจักพรรดิ์ในมนุษยโลก จะได้สำเร็จเป็นสกทาคามีเป็นลำดับที่ ๒ เมื่อสิ้นชีพจากมนุษย์ แล้วก็ไปบังเกิดในชั้นดาวดึงส์อีก และได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีเป็นลำดับที่ ๓ เมื่อสิ้นอายุในภพดาวดึงส์จะได้ไปบังเกิดในชั้นสุทธาวาสตั้งแต่ชั้นอวิหาเป็นต้นไป จนถึงชั้นอกนิฏฐา และปรินิพพานในชั้นนั้น เรื่องที่แสดงมานี้ มีมาในสักกปัญหสูตร พระบาลีมหาวรรคและอรรถกถา


เรื่องอสุรินทราหู

ในชั้นดาวดึงส์เทวโลกนี้ ยังมีเทพยดาองค์หนึ่งชื่อว่า อสุรินทราหู มีกายสูงใหญ่กว่าเทพยดาทั้งหลายที่มีอยู่ในเทวโลกทั้ง ๖ ชั้น ร่างกายแห่งอสุรินทราหูนั้นมีความสูง ๑,๘๐ โยชน์ ระหว่างไหล่ทั้งสองกว้าง ๑,๒๐๐ โยชน์ รอบตัวใหญ่ ๖๐๐ โยชน์ ฝ่ามือฝ่าเท้าใหญ่ ๒๐๐ โยชน์ จมูกใหญ่ ๓๐๐ โยชน์ ปากกว้าง ๓๐๐ โยชน์ องคุลีหนึ่งๆยาว ๕๐ โยชน์ ระหว่างลูกตาทั้งสองห่างกัน ๕๐ โยชน์ หน้าผากกว้าง ๓๐๐ โยชน์ ศีรษะใหญ่ ๙๐๐ โยชน์ ความสูงใหญ่ของอสุรินทราหูนี้ ถ้าหากลงไปในมหาสมุทรอันลึกล้ำนั้น น้ำในมหาสมุทรจะท่วมเพียงแค่เข่า ดังมีสาธกบาลีแสดงไว้ในสุตตันตมหาวัคคอรรถกถาว่า

ราหู อสุรินฺโท ปน ปาทนฺตโต ยาว เกสนฺติ
โยชนานํ จตฺตาริสหสฺสานิ อฏฺฐ จ สตินิ โหนฺติ ตสฺส
ทุวินฺนํ พาหานํ อนฺตรํ ทฺวาทสโยชนสติกํ, พหลตฺเถน
ฉโยชนสติกํ, หตฺถปาทตลานิ ปุถุงโต ทฺวิโยชนสตานิ,
ติโยชนสติกา นาสิกา, ตถา มํ เอเกกํ องฺคุลิปพฺพํ
ปญฺญาสโยชนํ, ตถา ภมุกนฺตรํ, นลาฏํ ติโยชนสติกํ, สีสํ
นวโยชนสติกํล ตสฺส มหามุทฺทํ โอติณฺณสฺส คมภีรํ
อุทกํ ชานุมาณํ โหติ.

มีประวัติเกี่ยวกับความสูงใหญ่ของอสุรินทราหูกับอิทธิฤทธิ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า อสุรินทราหูนี้เสวยศิริสมบัติเป็นอุปราชอยู่ในพิภพอสูรกายภายใต้เขาพระสิเมรุ เมื่อได้ฟังกิตติคุณแห่งสมเด็จพระมหากรุณาสัมมาสัมพุทธเจ้าในสำนักแห่งเทพยดาทั้งปวง ได้เห็นเทพยดาทั้งปวงพากันไปสู่สำนักสมเด็จพระพุทธองค์ ก็มาดำริว่าเรานี้มีกายอันสูงใหญ่จะไปสู่สำนักสมเด็จพระพุทธองค์อันมีร่างกายเล็กน้อยและจะก้มตัวลงแลดูสมเด็จพระพุทธองค์นั้น เรามิอาจก้มตัวลงได้อสุรินทราหูดำริฉะนี้แล้วก็มิได้ไปสู่สำนักสมเด็จพระพุทธองค์อยู่มาในกาลวันหนึ่งอสุรินทราหูได้ฟังเทพยดาทั้งปวงสรรเสริญพระเดชพระคุณแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหาที่สุดมิได้ จึงคิดว่าสมเด็จพระพุทธเจ้านั้นจะประเสริฐเป็นประการใดหนอ เทพยดาจึงสรรเสริญเยินยอยิ่งนัก เราจะพยายามไปดูสักครั้งหนึ่งแต่กว่าจะก้มจะกราบมองดูอย่างไรหนอจึงจะแลเห็นองค์สมเด็จพระศาสดาจารย์ ดำริฉะนี้แล้ว อสุรินทราหูก็ปรารภที่จะมาสู่สำนักสมเด็จพระมหาศาสดาผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระกรุณา

ในกาลครั้งนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาค ก็ทรงทราบอัธยาศัยแห่งอสุรินทาราหู พระองค์จึงทรงดำริว่า ราหูจะมาสู่สำนักตถาคตในครั้งนี้ ตถาคตจะสำแดงอิริยาบถยืนหรือจะสำแดงอิริยาบถนั่ง หรือจะสำแดงอิริยาบถเดิน อิริยาบถนอน เป็นประการใด จึงทรงพระปริตกต่อไปว่า บุคคลที่ยืนหรือนั่งถึงจะต่ำก็ปรากฏดุจดังว่าสูง เหตุนี้ตถาคตควรจะสำแดงซึ่งอิริยาบถไสยาสน์แก่อสุรินทราหู ให้อสุรินทราหูเห็นตถาคตในอิริยาบถนอนนี้เถิด เมื่อทรงดำริฉะนี้แล้ว ก็มีพระพุทธฏีกาตรัสสั่งแก่พระอานนท์ว่า

“ดูกรอานนท์ เธอจงตกแต่งเตียงบรรทมแห่งตถาคต
ภายในบริเวณใกล้แห่งพระคันธกุฏีนี้เถิด ตถาคตจะบรรทมใน
สถานที่นั้น”

พระอานนท์รับพระพุทธฏีกาแล้ว ก็ตกแต่งเตียงที่บรรทมแห่งสมเด็จพระผู้มีพระภาคในบริเวณแห่งพระคันธกุฏี สมเด็จพระพุทธองค์ทรงสำเร็จสีหไสยาสน์บรรทม ในสถานที่นั้น
ฝ่ายอสุรินทราหู เมื่อมาถึงสำนักสมเด็จพระพุทธองค์แล้ว ต้องเงยหน้าขึ้นแลดูสมเด็จพระพุทธเจ้า ประดุจหนึ่งทารกแหงนดูดวงจันทร์ในอากาศ สมเด็จพระบรมโลกนาถจึงมีพุทธฏีกาตรัสถามว่า

“ดูกรอสูรินทราหู ท่านมาแลดูตถาคตนี้เห็นเป็นประการ
ใดบ้าง ?”

อสุรินทราหูจึงทูลตอบว่า

“ขอเดชะทรงพระมหากรุณากระหม่อมฉันนี้ไม่ทราบเลยว่า
พระพุทธองค์นี้ทรงพระเดชพระคุณอันล้ำเลิศประเสริฐดังนี้ กระ
หม่อมฉันนี้สำคัญว่าเมื่อมาแล้วจักมิอาจที่จะก้มลงได้ ฉะนั้น
กระหม่อมฉันจึงเพิกเฉยอยู่ มิได้มาสู่สำนักพระองค์”

“ดูกรอสุรินทราหู เมื่อตถาคตบำเพ็ญพระบารมีทั้งปวง
นั้น ตถาคตจะได้ก้มหน้าย่อท้อต่อต่อที่จะบำเพ็ญพระบารมีนั้น
หามิได้ ตถาคตเงยหน้าขึ้นแล้วก็บำเพ็ญพระบารมีทั้งปวง
มิได้หดหู่ย่อท้อเลย ด้วยเหตุนี้ บุคคลผู้ปรารถนาจะแลดู
ตถาคตนี้จะต้องก้มหน้าลงแลดูเหมือนอย่างท่านคิดนั้นหา
มิได้”

มีพุทธฏีกาตรัสฉะนี้แล้ว ก็โปรดประทานพระธรรมเทศนาแก่อสุรินทราหู อสุรินทราหู ก็ยอมรับนับถือสมเด็จพระพุทธองค์เป็นที่พึ่งในกาลครั้งนั้น

การแสดงเทวดาชั้นดาวดึงส์ จบ

(อ้างอิงจาก : ปรมัตถโชติกะ มหาอภิธัมมัตถสังคหฎีกา วิถีมุตตสังคหะ)


Create Date : 07 กันยายน 2554
Last Update : 7 กันยายน 2554 14:18:46 น. 3 comments
Counter : 2549 Pageviews.

 
ภาษาสวยมากค่ะ
แต่คงต้องกลับมาอ่านหลายรอบอยู่ เพราะใช้สมาธิมาก
ขออนุญาติแชร์ลิ้งค์นี้ลง FB ให้เพื่อนๆ ได้อ่านนะคะ


โดย: DeLoveRr วันที่: 7 กันยายน 2554 เวลา:2:45:45 น.  

 
ด้วยความยินดี และอนุโมทนาสาธุครับ


โดย: ชาวมหาวิหาร วันที่: 7 กันยายน 2554 เวลา:15:34:34 น.  

 
อนุโมทนากับชาวมหาวิหารด้วยค่ะ ที่นำมาให้ได้อ่าน
เคยไปเห็นมาแล้ว แต่ไม่เคยทราบว่าจะไปหาอ่านที่ไหน
ได้จากที่ตัวเองเคยเห็น ดีใจจังค่ะ ที่มีที่มาที่ไป
ตรงกับในพระอภิธรรมได้บรรยายไว้ และยังมีโอกาส
ได้ทราบเรื่องราวอื่นๆ เพิ่มเติมอีก เป็นการเพิ่มศรัทธา
ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ภพ ภูมิต่างๆ นั้น มีอยู่จริงค่ะ


โดย: สติมา วันที่: 7 กันยายน 2554 เวลา:16:54:17 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ชาวมหาวิหาร
Location :
Germany

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 16 คน [?]




Thepathofpurity.com
Friends' blogs
[Add ชาวมหาวิหาร's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.