นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
Group Blog
 
All blogs
 
เทวภูมิ - จาตุมหาราชิกา

จาตุมหาราชิกาภูมิ

วจนัตถะ

๑. จตฺตาโร มหาราชาโน จตุมหาราชา “เทวดาเป็นเจ้ายิ่งใหญ่ ๔ องค์ ชื่อ จตุมหาราช”

จตุมหาราชเทวดา ๔ องค์นั้น คือ ๑. ท้าวธตรัฏฐะ ๒. ท้าววิฬุหกะ ๓. ท้าววิรูปักขะ ๔. ท้าวกุเวระ หรือ ท้าวเวสสุวัณ


เทวดา ๔ องค์นี้ อาศัยอยู่ตอนกลางของภูเขาสิเนรุซึ่งสูงเท่ากันกับยอดเขายุคันธร ดังนี้

๑. ท้าวธตรัฏฐะ อยู่ทางด้านตะวันออกของภูเขาสิเนรุ เป็นผู้ปกครองคันธัพพ
เทวดาทั้งหมด
๒. ท้าววิรุฬหกะ อยู่ทางด้านใต้ของภูเขาสิเนรุ เป็นผู้ปกครองกุมภัณฑเทวดา
ทั้งหมด (เทวดาท้องใหญ่โต)
๓. ท้าววิรูปักขะ อยู่ทางด้านตะวันตกของภูเขาสิเนรุ เป็นผู้ปกครองนาค
เทวดาทั้งหมด
๔. ท้าวกุเวระ หรือ ท้าวเวสสุวัณ อยู่ทางด้านเหนือของภูเขาสิเนรุ เป็น
ผู้ปกครองยักขเทวดาทั้งหมด

ดังมีสาธกบาลีแสดงไว้ในพระบาลีมหาวรรคแห่งสุตตันตปิกก และปรมัตถทีปนี สังคหมหาฏีกา ดังนี้
ปุริมํ ทิสํ ธตรฏฺโฐ ทกฺขิเณน วิรุฬฺหโก
ปจฺฉิเมน วิรูปกฺโข กุเวโร อุตฺตรํ ทิสํ
จตฺตาโร เต มหาราชา สมนฺตา จตุโร ทิสา.

(พระบาลีมหาวรรค)

แปลความว่า ท้าวธตรัฏฐะอยู่ทางทิศตะวันออกของภูเขา
สิเนรุ ท้าววิรุฬหกะอยู่ทางทิศใต้ ท้าววิรูปักขะอยู่ทางทิศตะ
วันตก ท้าวกุเวระอยู่ทางทิศเหนือ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์
นั้น อยู่โดยรอบทั้ง ๔ ทิศของภูเขาสิเนรุ

ตตฺถ ธตรฏฺโฐ คนฺธพฺพานํ ราชา โหติ, วิรุฬฺหโก
กุมฺภณฺฑานํ, วิรูปกฺโข นาคานํ, กุเวโร ยกฺขานํ

(ปรมัตถทีปนีสังคหมหาฏีกา)

แปลความว่า ในจำนวนท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์นั้น
ท้าวธตรัฏฐะเป็นเจ้าแห่งคันธัพพเทวดาทั้งหลาย ท้าววิรุฬหกะ
เป็นเจ้าแห่งกุมภัณฑ์ทั้งหลาย ท้าววิรูปักขะเป็นเจ้าแห่ง
พญานาคทั้งหลาย ท้าวกุเวระเป็นเจ้าแห่งยักษ์ทั้งหลาย

ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์นี้ เป็นผู้รักษามนุษย์โลกด้วย ฉะนั้น จึงเรียกว่าท้าวจตุโลกบาล ดังมีสาธกบาลีแสดงไว้ในเนตติอรรถกถาว่า โลกํ ปาเลนฺตีติ โลกปาลา, จตฺตาโร มหาราชาโน แปลความว่า เทวดาที่เป็นผู้รักษามนุษย์โลก ชื่อว่าเทวดาโลกบาล ได้แก่ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ นั้นเอง, ผู้ที่มีความรูความเข้าใจในโลกียปกรณ์ ต่างๆ เรียกท้าวจาตุโลกบาลทั้ง ๔ องค์ นี้ว่า อินทะ ยมะ วรุณะ กุเวระ ดังมีสาธกบาลีแสดงไว้ในเนตติอรรถกถา ว่า โลกิยา ปน อินฺทยมวรุณกุเวรา โลกปาลาติ วทนฺติ แปลความว่า ส่วนบุคคลที่เข้าใจในโลกียปกรณ์นั้น เรียกเทวดาโลกบาลทั้ง ๔ องค์ นี้ว่า อินทะ ยมะวรุณะ กุเวระ ดังนี้

๒. จตูสุ มหาราเชสุ ภตฺติ เอเตสนฺติ จาตุมหาราชิกา “เทวดาทั้งหลายที่ ชื่อว่า จาตุมหาราชิกะ เพราะเหตุว่ามีหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติรับท้าวมหาราชทั้ง ๔” อธิบายว่า เทวดาที่อยู่ในชั้นจาตุมหาริกาทั้งหมดนี้ เป็นบริวารอยู่ภายให้อำนาจของท้าวมหาราชทั้ง ๔ ด้วยเหตุนี้ เทวดาเหล่านี้ จึงได้ชื่อว่า จาตุมหาราชิกะ, อีกนัยหนึ่ง มีวจนัตถะว่า จตุมหาราเช ภวาติ จาตุมหาราชิกา เทวดาทั้งหลาย ที่ชื่อว่า จาตุมหาราชิกะ เพราะเหตุว่าเกิดขึ้นในสถานที่ที่ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ปกครองอยู่

อธิบายว่า สถานที่ซึ่งท้าวมหาราชทั้ง ๔ ปกครองนั้น ตั้งอยู่ตอนกลางของภูเขาสิเนรุสูงเสมอกันกับเขายุคันธรลงมาจนถึงพื้นแผ่นดินที่มนุษย์อยู่ และบริเวณที่เสมอกันกับยอดเขายุคันธรนั้น มีอาณาเขตแผ่ออกไปในอากาศจรดขอบจักรวาล และภูเขาสัตตบรรพ์ ตลอดทั่วมหาสมุทรทั้งหมด อาณาเขตที่ท้าวจาตุมหาราชปกครองอยู่นี้ชื่อว่า จาตุมหาราชิกาภูมิ ดังมีวจนัตถะว่า จาตุมหาราชิกานํ นิวาสาติ จาตุมหาราชิกา ที่อยู่ของท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ พร้อมกับเทวดาทั้งหลายที่เป็นบริวาร ชื่อว่า จาตุมหาราชิกาภูมิ


เทวดาที่อยู่ใต้อำนาจการปกครองของท้าวจตุมหาราช

๑. ปัพพตัฏฐเทวดา เทวดาที่อาศัยอยู่ตามภูเขา
๒. อากาสัฏฐเทวดา เทวดาที่อาศัยอยู่ในอากาศ
๓. ขิฑฑาปโทสิกเทวดา เทวดาที่จุติ เพราะมัวเพลิดเพลินในการเล่นกีฬาจนลืมบริโภคอาหาร
๔. มโนปโทสิกเทวดา เทวดาที่จุติเพราะความโกรธ
๕. สีตวลาหกเทวดา เทวดาที่ทำให้อากาศเย็นเกิดขึ้น
๖. อุณหวลาหกเทวดา เทวดาที่ทำให้อากาศร้อนเกิดขึ้น
๗. จันทิมเทวปุตตเทวดา เทวดาที่อยู่ในพระจันทร์
๘. สุรยเทวปุตตเทวดา เทวดาที่อยู่ในพระอาทิตย์

ดังมีสาธกบาลีแสดงไว้ในสัมโมหวิโนทนีอรรถกถาว่า

จาตุมหาราชิกา นาม สิเนรุปพฺพตสฺส เวมชฺเฌ โหนฺติ,
ปพฺพตฏฺฐาปิ อากาสฏฺฐาปิ, เตสํ ปรมฺปรา จกฺกวาฬปพฺพตํ
ปตฺตา, ขิฑฺฑาปโทสิกา มโนปโทสิกา สีตวลาหกา
อุณฺหวลาหกา จนฺทิมเทวปุตฺโต สุริยเทวปุตฺโตติ เอเต
สพฺเพปิ จาตุมหาราชิกเทวโลกฏฺฐกา เอว.

แปลความว่า สถานที่อยู่ของท้าวจาตุมมหาราชทั้ง ๔ นั้น
ตั้งอยู่ระหว่างกลางของภูเขาสิเนรุ ตั้งแต่ตอนกลางของภูเขา
สิเนรุลงมาจนถึงมนุษยโลกนั้น มีเทวดาอยู่ ๒ พวกคือพวก
ที่อยู่บนเขา และพวกที่อยู่ในอากาศ ที่อยู่ของเทวดาเหล่านี้
อยู่ติดต่อกันไปจนถึงภูเขาจักรวาลโดยรอบ เทวดาชั้น
จาตุมหาราชิกานี้มีอยู่หลายพวกด้วยกัน ขิฑฑาปโทสิกเทวดา
มโนปโทสิกเทวดา สีตวลาหกเทวดา อุณหวลาหกเทวดา
จันทิมเทวบุตร สุริยเทวบุตร ทั้งหลายเหล่านี้ ก็จัดเข้าอยู่ใน
พวกจาตุมหาราชิกาภูมินั้นเอง

เทวดาทั้งหลายที่อยู่ในชั้นจาตุมหาราชิกาภูมิ มีอยู่ ๓ พวก คือ

๑. ภุมมัฏฐเทวดา เทวดาที่อยู่บนพื้นแผ่นดิน
๒. รุกขัฏฐเทวดา เทวดาที่อยู่บนต้นไม้
๓. อากาสัฏฐเทวดา เทวดาที่อยู่ในอากาศ

๑. ภุมมัฏฐเทวดา ได้แก่ เทวดาที่อาศัยอยู่ตามสถานที่ต่างๆ เช่น ภูเขา แม่น้ำ มหาสมุทร ใต้ดิน บ้าน เจดีย์ ศาลา และซุ้มประตู เป็นต้น ส่วนท้าวมหาราชทั้ง ๔ กับเทวดาบางองค์ที่อยู่ตอนกลางของภูเขาสิเนรุโดยรอบนั้นมีปราสาทเป็นวิมานของตนโดยเฉพาะๆ สำหรับกุมมัฏฐเทวดาอื่นๆ ที่ไม่มีวิมานเป็นที่อยู่ของตนโดยเฉพาะนั้น ถ้าเทวดาองค์ใดไปอาศัย บ้าน ภูเขา มหาสมุทร แม่น้ำอยู่ก็ถือว่าสถานที่นั้นๆเป็นวิมานของตน

๒. รุกขัฏฐเทวดา มีอยู่ ๒ จำพวก คือ จำพวกหนึ่งมีวิมานอยู่บนต้นไม้ อีจำพวกหนึ่งอยู่บนต้นไม้แต่ไม่มีวิมาน ดังมีสาธกบาลีแสดงไว้ในสารัตถทีปนีฏีกาว่า

รุกฺขทิพฺพวิมาเนติ จ สาขฏฺฐกวิมานํ สนฺธาย วุตฺตํ,
รุกฺขสฺส อุปรินิพฺพตฺตํ หิ วิมานรุกฺขปฏิพนฺธิตา รุกฺข-
วิมานนฺติ วุจฺจติ สาขฏฺฐกวิมานํ ปน สพฺพสาขสนฺนิสฺสิตํ
หุตฺวา ติฏฺฐติ.

แปลความว่า คำว่า รุกขทิพวิมาน นั้น หมายเอาวิมาน
ที่ตั้งอยู่บนยอดของต้นไม้ จริงอยู่ วิมานที่ปรากฏอยู่บนยอด
ต้นไม้นี้เรียกว่ารุกขวิมาน เพราะตั้งติดกันกับต้นไม้ ส่วน
สาขัฏฐกวิมานนั้น เป็นวิมานที่อาศัยตั้งอยู่บนสาขาของต้นไม้
ทั่วไป

๓. อากาสัฏฐเทวดา เทวดาจำพวกนี้มีวิมานเป็นที่อยู่ของตนเองโดยเฉพาะ เช่น พระอาทิตย์ พระจันทร์ และดาวทั้งหลาย ที่เราเห็นกันอยู่นั้นก็คือวิมานอันเป็นที่อยู่ของอากาสัฏฐเทวดาทั้งหลายนั้นเอง ทั้งภายในและภายนอกของวิมานนั้น ประกอบไปด้วย รัตนะ ๗ อย่าง อันบังเกิดขึ้นด้วยอำนาจกุศลกรรม คือ แก้วมรกต แก้วมุกดา แก้วประพาฬ แก้วมณี แก้ววิเชียร เงิน ทอง บรรดาวิมานทั้งหลายนี้ บางวิมานก็ประกอบด้วยรัตนะ ๒ บางวิมานก็ประกอบด้วยรัตนะ ๓- ๔ – ๕ -๖ และบางวิมานก็ประกอบด้วยรัตนะทั้ง ๗
สุดแท้แต่กุศลที่ตนได้สร้างไว้ และวิมานเหล่านี้ก็ลอยหมุนเวียนไปรอบๆ เขาสิเนรุอยู่เป็นนิจ

บางปกรณ์กล่าวไว้ว่า เทวดาชั้นจาตุมหาราชิกามี ๒ จำพวก คือ ภุมมัฏฐเทวดา และอากาสัฏฐเทวดา ส่วนรุกขัฎฐเทวดานั้นจัดเข้าอยู่ในจำพวกภุมมัฏฐเทวดา ดังมีสาธกบาลีแสดงไว้ในธัมมบทอรรถกถา พุทธวังสอรรถกถาและสคาถาวุคคสังยุตตอรรถกถาและฏีกาว่า

๑. ภูมิตเล รุกฺขคจฺฉปพฺพตาทีสุ ภุมฺมฏฺฐา เทวตา.
(ธัมมบทอรรถกถา)
๒. ภุมฺมติ ภูมฏฺฐปาสาณปพฺพตาวนรุกฺขาทีสุ ฐิตา.
(พุทธวังสอรรถกถา)
๓. ภุมฺมาติ ภูมิวาสิโน.
(สคาถาวัคคสังยุตตตอรรถกถา)
๔. ภูมิวาสิโนติ ภูมิปฏิลทฺธวุตฺติโน, เอเตน รุกฺขปพฺพตนิวาสิโนปิ คหิตาโหนฺติ.
(สคาถาวัคคสังยุตตฏีกา)


-----------------------------------------------------

เทวดาที่มีใจโหดร้าย

เทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาที่มีใจโหดร้าย มีอยู่ ๔ จำพวก คือ

๑. ยักโข ยักขินี ได้แก่ เทวดายักษ์ ชาย หญิง
๒. คันธัพโพ คันธัพพีได้แก่ เทวดาคันธัพพะ ชาย หญิง
๓. กุมภัณโฑ กุมภัณฑีได้แก่ เทวดากุมภัณฑ์ ชาย หญิง
๔. นาโค นาคี ได้แก่ เทวดานาค ชาย หญิง



๑. ยักษ์ มี ๒ จำพวก คือ จำพวกหนึ่งมีรูปร่างสวยงามและมีรัศมี เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่คน พวกนี้เป็นเทวดายักษ์ อีกพวกหนึ่งมีรูปร่างน่าเกลียด ไม่มีรัศมี พวกนี้เป็นดิรัจฉานยักษ์

เทวดายักษ์นี้ บางทีก็มีความพอใจในการเบียดเบียนสัตว์นรกให้เดือดร้อน ฉะนั้น เมื่อมีจิตคิดอยากจะเบียดเบียนสัตว์นรกขึ้นมาในเวลาใด เวลานั้นก็เนรมิตตัวเป็นนาย นิรบาลลงไปสู่นิรยโลก เที่ยวลงโทษสัตว์นรกเหล่านั้นตามความพอใจของตน หรือเมื่อมีความต้องการอยากจะกินสัตว์นรกขึ้นมา ก็เนรมิตตัวขึ้นมาเป็นแร้งยักษ์ กายักษ์ แล้วก็พากับจับสัตว์นรกเหล่านั้นกินเสีย เทวดายักษ์เหล่านี้อยู่ในความปกครองของท้าวกุเวระ หรือท้าวเวสสุวัณ

๒. คันธัพพเทวดา ได้แก่ เทวดาที่ถือกำเนิดอยู่ภายในต้นไม้ที่มีกลิ่นหอม และอาศัยอยู่ตลอดไป ถึงแม้ต้นไม้นั้นจะผุพัง หรือถูกพายุพัดล้มลง หรือถูกคนมาตัดเอาไป สร้างบ้าน สร้างกุฏิ สร้างเรือเหล่านี้แล้วก็ตาม คันธัพพเทวดาเหล่านี้ก็ไม่ยอมละทิ้งที่อยู่ของตน คงอาศัยติดอยู่กับต้นไม้นั้นเรื่อยๆ ไปฉะนั้น บ้านเรือนใด กุฏิใด หรือเรือลำใดที่มีคันธัพพเทวดาอาศัยสิงอยู่นั้น บางคราวคันธัพพเทวดานี้จะแสดงตนให้ปรากฏแก่ผู้อาศัยอยู่ในสถานที่นั้นๆ หรือถ้าไม่แสดงตนให้ปรากฏก็มักจะทำการรบกวนให้อุปสรรคต่างๆ เกิดขึ้นแก่ผู้อาศัยอยู่นั้น เช่น ให้เกิดการเจ็บป่วยขึ้น หรือทำอันตรายแก่ทรัพย์สมบัติของบุคคลนั้นๆ ให้พินาศไป เป็นต้น เทวดาพวกนี้แหละที่เราเรียกกันว่า นางไม้หรือแม่ย่านางเรือนั้นเอง ดังมีวจนัตถะว่า ปฏิสนฺธิวเสน คนฺธรุกฺเขสุ อปฺเปนฺติ อุปคจฺฉนฺตีติ คนฺธพฺพา “เทวดาทั้งหลายมีชื่อว่า คันธัพพะ เพราะย่อมเข้าถึงด้วยการถือปฏิสนธิในต้นไม้ที่มีกลิ่นหอม”

คันธรุกขคันธัพพเทวดา

เทวดาคันธัพพะที่เกิดในต้นไม้ที่มีกลิ่นหอม มี ๑๐ จำพวก คือ

๑. มูลคันธัพพะ เกิดอยู่ในรากไม้
๒. สารคันธัพพะ เกิดอยู่ในแก่นไม้
๓. เผคคุคันธัพพะ เกิดอยู่ในเนื้อไม้
๔. ตจคันธัพพะ เกิดอยู่ในเปลือกไม้
๕. ปปฏิกคันธัพพะ เกิดอยู่ในตะคละไม้
๖. รสคันธัพพะ เกิดอยู่ในน้ำหอม
๗. ปัณณคันธัพพะ เกิดอยู่ในใบไม้
๘. ปุปผคันธัพพะ เกิดอยู่ในดอกไม้
๙. ผลคันธัพพะ เกิดอยู่ในผลไม้
๑๐. กันทคันธัพพะ เกิดอยู่ในเง่าใต้ดิน

เทวดาคันธัพพทั้ง ๑๐ จำพวกนี้ เรียกว่า กัฏฐยักขะ

ความแตกต่างกันในที่อาศัยของคันธัพพเทวดา และรุกขัฏฐเทวดา คือ รุกขัฏฐเทวดานี้อาศัยต้นไม้อยู่เช่นเดียวกันกับคันธัพพเทวดา แต่ต่างกันในการอาศัยโดยที่รุกขัฏฐเทวดาที่อาศัยต้นไม้อยู่นั้น ถ้าต้นไม้ที่ตนอาศัยอยู่ล้มตายลงหรือมีคนมาตัดไปแล้วรุกขัฏฐเทวดาก็ย้ายไปอาศัยต้นไม้อื่นอยู่ต่อไป ซึ่งตรงกันข้ามกับคันธัพพเทวดา ดังที่ได้แสดงมาแล้วนั้น

คันธัพพเทวดาพวกหนึ่งที่เกิดขึ้นในร่างกายของมนุษย์ คือคันธัพพเทวดาที่เป็นหญิงบางจำพวก ได้เคยทำอกุศลกรรมไว้ในอดีตชาติ ฉะนั้น จึงได้มาเกิดในร่างกายของมนุษย์หญิง คันธัพพเทวดาหญิงพวกนี้ในคัมภีร์เวท เรียกชื่อว่า โยคินี ส่วนหญิงที่ถูกคันธัพพเทวดามาอาศัยเกิดนี้ ท่านก็เรียกหญิงนี้ว่าโยคินีเหมือนกัน ซึ่งชาวโลกเรียกกันว่าคนผีสิง

คนที่ถูกผีเข้าสิงนี้ มีอยู่ ๒ จำพวก คือ พวกที่ ๑ คือพวกที่ถูกคันธัพพเทวดามาอาศัยเกิดตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ของมารดา พวกที่ ๒ คือพวกที่คันธัพพเทวดามาอาศัยเกิดเมื่อเจริญเติบโตแล้ว และหญิงที่ถูกคันธัพพเทวดาสิงอยู่นี้ เมื่อเกิดความไม่พอใจผู้ใดผู้หนึ่งขึ้นแล้วก็ใช้คันธัพพเทวดาที่อยู่ในร่างกายของตน ให้ไปทำความเดือดร้อนประทุษร้ายแก่บุคคลที่ตนไม่ชอบอยู่นั้นต่างๆนานา แล้วแต่จะมีโอกาสเหมาะเวลาใด

หญิงที่ถูกคันธัพพเทวดาเข้าสิงอยู่นี้ ในเวลาปกติ ความเป็นอยู่ เช่น การกินอาหาร การทำกิจการต่างๆ ก็เหมือนกันกับคนธรรมดานั้นเอง แต่เมื่อถึงเวลาวันเพ็ญพระจันทร์ขึ้นเต็มดวง ด้วยอำนาจของคันธัพพเทวดาที่สิงอยู่ในร่ากายนั้น ทำให้หญิงนี้ออกเที่ยวแสวงหาอาหารในเวลากลางคืน ในขณะที่กำลังเที่ยวหาอาหารอยู่นั้น ก็มีแสงเป็นประกายออกมาจากร่างกายด้วยออทธิฤทธิ์ของคันธัพพเทวดา ฉะนั้น คันธัพพเทวดานี้จึงมีชื่อว่า ชุณหา แปลว่า เทวดามีความสว่าง ดังมีวจนัตถะว่า ชุสนฺติ ทิพฺพนฺตีติ ชุณฺหา “คันธัพพเทวดาชื่อว่า ชุณหา เพราะเป็นผู้ทำแสงสว่างให้ปรากฏขึ้น” คำว่า โยคินี ชุณหา ผีสิง ทั้งสามคำนี้มีความหมายอย่างเดียวกัน, ก็คันธัพพเทวดาทั้งหมดที่ได้กล่าวแล้วนี้ อยู่ใต้อำนาจการปกครองของท้าวธตรีฏฐะ

๓. กุมภัณฑเทวดา เป็นเทวดาจำพวกหนึ่งที่เรียกกันว่า รากษส มีลักษณะรูปร่างพุงใหญ่ ตาพองโตสีแดง มีที่อยู่สองแห่ง คือในมนุษยโลก แห่งหนึ่งและในนิรยโลกแห่งหนึ่ง

กุมภัณฑเทวดาที่อยู่ในมนุษยโลก มีหน้าที่รักษาป่า ภูเขา ต้นไม้ สระโบกขรณี แม่น้ำ พุทธเจดีย์ แก้วรัตนะ ต้นยาที่ประเสริฐ ต้นไม่ที่มีดอกหรือไม้หอม เช่นภูเขาเวปุลละที่มีแก้วมณี และต้นมะม่วงที่เรียกว่า อัพภัณตระ เป็นต้น สถานที่ต่างๆ ที่กุมภัณฑเทวดาดูแลรักษาอยู่นั้น ถ้าหากว่ามีผู้ใดล่วงล้ำเข้าไปในบริเวณที่ตนดูแลรักษา ซึ่งท้าวจาตุมหาราชกำหนดไว้นั้น กุมภัณฑเทวดาก็จับเอาบุคคลนั้นกินได้โดยไม่มีโทษ ดังมีวจนัตถะแสดงไว้ว่า “รตนาทีนิ รกฺขิตฺวา อสนฺติ ภกฺขนฺตีติ รกฺขสา” “เทวดาผู้รักษาสมบัติต่างๆมี แก้วมณี เป็นต้น ซึ่งถ้าผู้ใดมาเอาไปย่อมจับผู้นั้นกินเสียเรียกว่ารากษส”, ส่วนพวกกุมภัณฑเทวดาที่อยู่ในนิรนโลกนั้น ก็ได้แก่ นายนิรยบาลรากษส การากษส สุนัขรากษส แร้งรากษสนั้นเอง ที่มีหน้าที่คอยลงโทษสัตว์นรก และจับสัตว์นรกกิน, สำหรับนายนิรยบาลยักษ์ กายักษ์ สุนัขยักษ์ แร้งยักษ์ ที่ได้แสดงมาแล้วเป็นพวกเทวดายักษ์ กุมภัณฑเทวดาเหล่านี้ อยู่ในความปกครองของท้าววิรุฬหกะ

๔. นาคเทวดา มีกำเนิด ๒ อย่าง คือ กำเนิดสุนธระ และกำเนิดภุมมเทวะมีที่อยู่ ๒ แห่ง คือ อยู่ใต้ดินธรรมดาแห่งหนึ่ง อยู่ใต้ภูเขาแห่งหนึ่ง นาคเทวดาที่อาศัยอยู่ในสถานที่ ๒ แห่งนี้ ชื่อว่า ปฐวีเทวดา

นาคเทวดาทั้งหลายนี้ บางคราวก็มีการสนุกสนานรื่นเริงด้วยการเล่นต่างๆ และในขณะที่นาคเทวดากำลังเล่นกีฬาสนุกสนานอยู่นั้น มีความกระเทือนแรงมากจนเกิดแผ่นดินไหวขึ้นได้ แต่ไม่ใช่เป็นทุกครั้งไป เพราะบางทีแผ่นดินไหวขึ้นด้วยอำนาจของเหตุอื่นก็มี

นาคเทวดานี้มีวิชาเกี่ยวด้วยเวทมนต์คาถาต่างๆ ในพรหมชาลสูตรแสดงชื่อของเวทมนต์คาถานี้ว่า วัตถุวิชา หรือภูมิวิชา นาคเทวดาเหล่านี้ เมื่อขณะที่ท่องเที่ยวไปในมนุษย์โลก บางทีก็ไปในสภาพร่างกายเดิมของตน บางทีก็เนรมิตเป็นคน เป็นสุนัขเสือ หรือราชสีห์เที่ยวไป นาคเทวดาพวกนี้ มีอัธยาศัยจิตใจชอบในกางลงโทษพวกสัตว์นรก เช่นเดียวกันกับพวกยักขเทวดาทั้งหลาย ฉะนั้น ในบางคราวก็ลงไปสู่นิรยโลกเพื่อลงโทษพวกสัตว์นรก และเนรมิตตัวเป็นแร้งยักษ์ สุนัขยักษ์ แล้วเที่ยวจับสัตว์นรกเหล่านั้นกิน

เทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาที่มีใจโหดร้าย ๔ จำพวกตามที่กล่าวมาแล้วนี้ มิใช่แต่จะเที่ยวเบียดเบียนสัตว์พวกอื่นให้เดือดร้อนเท่านั้น ถึงแม้ว่าในจำพวกเดียวกันก็มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกันให้เดือดร้อนอยู่เสมอเช่นเดียวกัน ฉะนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจปกครองอยู่ จึงได้จัดตั้งหัวหน้าขึ้นเพื่อคอยดูแล ห้ามปรามไม้ให้ไปเที่ยวเบียดเบียนสัตว์อื่นๆ และวิวาทซึ่งกันและกัน
บางคราวที่ในมนุษยโลกมีคนตายมากจนผิดปกติ ถ้ามีการจัดตั้งเครื่องสังเวยและบูชาท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ แล้ว อันตรายต่างๆที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนั้นก็จะค่อยทุเลาลง ดังมีสาธกบาลีแสดงไว้ในพระบาลีเปตวัตถุว่า

จตฺตาโร จ มหาราเช โลกปาเล ยสฺสิเน
กุเวรํ ธตรฏฺฐญฺจ วิรูปกฺขํ วิรุฬฺหกํ
เต เจว ปูชิตา โหนฺติ ทายกา จ อนิปฺผลา.

แปลความว่า ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์ คือ ท้าวกุเวระ
ท้าวธตรัฏฐะ ท้าววิณุปักขะ ท้าววิรุฬหกะนี้ มิยศและบริวาร
มาก เป็นผู้รักษาคุ้มครองมนุษย์ทั้งหลาย ผู้ใดทำการบูชาท่าน
ด้วยอามิสบูชาต่างๆ แล้ว ผู้นั้นย่อมไม่เสียผลในการบูชานั้น
โดยจะได้รับความสุขความสบายเป็นเครื่องตอบแทน

สรุปความว่า เทวดานั้นจาตุมหาราชาทั้งหมดนั้น มีอยู่ด้วยกันหลายจำพวกเช่น บางพวกมีร่างกายสวย บางพวกไม่สวย บางพวกมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา บางพวกไม่เลื่อมใส บางพวกชอบเบียดเบียนสัตว์อื่น บางพวกชอบรักษาศาสนา รักษาโลก รักษาสถานที่ต่างๆ รักษาแก้วรัตนะ เหล่านี้ เป็นต้น
การแสดงความเป็นไปต่างๆ ของเทวดาชั้นจาตุมหราชิกานี้ มีมาในอรรถกถาฏีกาแห่งพระอภิธรรม อรรถกถาแห่งทีฆนิกาย อรรถกถาแห่งชาดก และคัมภีร์พระเวท

การแสดงเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา จบ


(อ้างอิงจาก : ปรมัตถโชติกะ มหาอภิธัมมัตถสังคหฎีกา วิถีมุตตสังคหะ)



Create Date : 07 กันยายน 2554
Last Update : 21 มิถุนายน 2555 15:42:01 น. 2 comments
Counter : 2980 Pageviews.

 

อนุโมทนาสาธุครับ

กัลยาณมิตร......เป็นทั้งหมดของ ...พรหมจรรย์ ครับ


โดย: shadee829 วันที่: 22 สิงหาคม 2555 เวลา:23:15:16 น.  

 
สาธุ


โดย: MM (ongchai_maewmong ) วันที่: 14 ตุลาคม 2555 เวลา:15:52:14 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ชาวมหาวิหาร
Location :
Germany

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 16 คน [?]




Thepathofpurity.com
Friends' blogs
[Add ชาวมหาวิหาร's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.