ฝึกสร้างบารมีกับกายใจ

บารธรรมเป็นสมบัติ
ภายในที่ใครก็แย้งไม่ได้



ฝึกสร้างบารมีกับกายใจ


การที่เราได้ทำอะไรบ่อยๆ จะกลายเป็นอุปนิสัย โกรธบ่อยๆ ก็เป็นนิสัยเครียด หัวเราะบ่อยๆ ก็เป็นนิสัยร่าเริ่ง แจ่มใสแล้วบ่อยๆ เข้าก็กลายเป็นอุปนิสัย ที่เรียกว่า “สันดาน” ติดตามตัวเราไป โดยผ่านกิจวัตร ความคุ้นเคยที่ทำ กิจกรรมที่เราทำซ้ำ ๆ จะกลายเป็นนิสัย ถ้าเราให้ “ใจที่ดีคุมกาย” บ่อยๆ ก็จะทำให้เราสบงกาย เย็นใจได้อย่างคาดไม่ถึง


ถ้าเราใช้ “นิสัยคุมใจ” บ่อยๆ ทำซ้ำ ๆ จะกลายเป็นอุปนิสัยร้าย ทำร้ายจิตใจไปเอง ถ้าเป็นฝ่ายดีเรียกว่า “สร้างบารมี” ถ้าเป็นฝ่ายร้ายเรียกอีกว่า “สันดานชั่ว” ตรงนี้เราต้องเลือกเอง ใครเลือกแทนเราไม่ได้ พยายามฝึกใจเราให้เป็นที่นิสัยรักดี มีเมตตาเสมอแล้วเราจะพบกับสุขภาพที่ดี จิตใจที่เป็นสุข


อุปนิสัยคือ “พื้นฐานของชีวิต” ที่เกิดจากความผูกพันกับการดำเนินชีวิตโดยตรง ถ้าเราฝึก “เคารพสิทธิความเป็นมนุษย์ จะทำให้เราไม่โง่” เพราะเป็นคุณธรรมพื้นฐานแห่งความดี ด้วยการสร้างศีล สมาธิ ปัญญา ให้พร้อมในใจตัวเอง


ถ้าเรามี “วินัยต่อตนเอง ต่อสิ่งของ ต่อบุคคล ต่อเหตุการณ์” เราจะประสบความสำเร็จในชีวิต อย่างมหัศจรรย์ ไม่เชื่อลองทำดูสิ เพราะชีวิตที่เป็นสุข มันไม่สำคัญว่า เราจะก้าวไปได้ไกลแค่ไหนบนวัตถุนิยม แต่สิ่งที่สำคัญคือ “เราจะต้องก้าวบนความถูกต้องทุกก้าว” จึงเป็นบารมีความดีนั่นเอง


การฝึกฝนตนเองเพื่อสร้างบารมีผ่านห้องนอน ผ่านชีวิตก่อนนอน เริ่มต้นขณะชีวิตตื่นนอน “สร้างนิสัยสัมมาทิฐิ” ตื่นเช้าทำอารมณ์ให้ยิ้มแย้ม แจ่มใส พับผ้า จัดที่นอนอย่างมีสติ ทำให้ใจมี ศีล สมาธิ ปัญญา สะอาด สว่าง สงบ เย็นจากความโลภ โกรธ หลง ความสุขมันจะเกิดทันที


เมื่อถึงเวลาไปห้องอาหาร ฝึก “นิสัยรู้จักประมาณตน” ในการทานข้าวร่วมกัน แบ่งปันกัน คุยกันรู้และตรวจสอบความเป็นอยู่ของทุกคนอย่างมีสติเสมอ เอาใจใส่กันรู้ว่า ทุกคนทำงานมาเหนื่อย ฝึกพูดจาไพเราะ นิสัยไม่โอ้อวด เกินจริง ตรงนี้แหละเป็นบ่อเกิดแห่งความดีที่คนส่วนใหญ่ลืมไป จงคิดเสมอว่า “ถ้าเราพลาดโอกาสสักครั้ง อย่าไปร้องไห้เสียใจไป เพราะน้ำตามันจะบดบังโอกาสของเราไปหมด” น่าคิดนะ


ขณะแต่งกาย ให้ฝึกมหาวิริยะคือ “ความอดทนชั้นสูง” ในการใช้เวลา รู้จักเสียทรัพย์ให้น้อยในการซื้อเสื้อผ้า รู้จักแต่งกายตามกาลเทศะ ตามสภาพการเป็นอยู่ เท่ากับเราฝึกการยอมรับความจริงที่เรากำลังเผชิญอยู่อย่างอดทนมีสติ


เมื่อถึงเวลาทำงานให้ฝึกใช้ “มหาปัญญา” คือ ใคร่ควรงานอย่างรอบคอบมีระบบ มีเหตุ มีผล รู้เรื่องทรัพย์สิน ทุกอย่างสามารถตรวจสอบได้ ฝึกให้รู้เรื่องคนว่า “ทุกคนต้องปฏิบัติตามกติกา กฏระเบียบร่วมกันอย่างชัดเจน” ตามระบบงาน มีแผนชัดเจน


เปิดโอกาสตัวเอง ในการที่จะแสวงหาความดี ในการทำบุญกุศล จะทำให้เรารู้ว่า “ผู้ชนะสงครามภายในได้ จึงจะได้ชื่อว่า ผู้ชนะที่แท้จริง” สามารถรบกับความโลภ โกรธ หลงที่อยู่ในใจเราได้อย่างองอาจ จิตใจไม่สั่นคอนตรงนี้เป็นการสั่งสมบารมี


ว. ปัญญาวชิโร






Free TextEditor




 

Create Date : 15 พฤศจิกายน 2553    
Last Update : 15 พฤศจิกายน 2553 12:33:36 น.
Counter : 390 Pageviews.  

เวลาเป็นสิ่งธรรมดา... อย่าให้มันฆ่าชีวิตเรา

จงใช้เวลาทุกๆ นาทีอย่างมีค่า
แล้วคุณจะไม่เสียใจทีหลัง



เวลาเป็นสิ่งธรรมดา... อย่าให้มันฆ่าชีวิตเรา


วันนี้ผู้เขียนสวดมนต์เสร็จตามปกติ แล้วนั่งสมาธิสักครู่หนึ่ง จึงมานั่งพิจารณาธรรมเกี่ยวกับเวลาที่ว่า “๒๔ ชั่วโมงของวันนี้ เป็นคนละเวลากับ ๒๔ ชั่วโมงของเมื่อวานนี้” ฟังดูง่ายๆ แต่กลับไม่มีใครคิดหาความจริงให้กับจิตใจได้สักคนเดียว เพราะพวกเราพากันหลงเวลาหาตัวเองไม่พบว่า ต้องการอะไรแน่


ความจริงมันคือ อะไรกันแน่... เวลานี่เป็นอะไรที่แปลกดีจัง ที่ได้เก็บเอาเรื่องราวรอบๆ ตัวเรามาคิดพิจารณา ทุกวันมี ๒๔ ชั่วโมงเท่ากัน แต่สำหรับชีวิตทุกวินาทีของแต่ละวัน กลับไม่เคยเหมือนกันเลย บางทีอาจคิดได้ว่า “ผู้ที่ยิ่งรู้น้อย...ยิ่งอยากจะพูดมาก แต่คนรู้มาก กลับไม่อยากพูด” คิดๆ ก็แปลกดี


ลองคิดไปอีกว่า “ปัญหา คือ ครู ของชีวิต บทแรก” เกิดมาก็มีปัญหาแล้ว คือ พูดไม่ได้ เดินไม่ได้ ได้แต่ร้องกับนอนเท่านั้น “เราจะเป็นครูแห่งชีวิตที่ดี มีคุณภาพได้ จำเป็นต้องผ่านความยากลำบากของชีวิตมาเสียก่อน” จนกระทั่งรู้สึกได้ว่า ความยากลำบากไม่ใช่เรื่องลำบาก แต่มันเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต ที่เราต้องอดทนอย่างจริงจัง “ขอให้ไว้ใจ ได้ใจ ทำใจ มั่นใจว่า เราจะอดทนสู้กันทุกปัญหา” เพื่อการอยู่อย่างธรรมดาได้ โดยไม่ต้องทุกข์ใจ


นาฬิกากลมๆ มีเข็มสั้น เข็มยาว เข็มวินาที เข็มสั้นเดินได้ ๑๒ ชั่วโมงต่อรอบเหมือนกัน เข็มยาว เดินได้ หนึ่งชั่วโมงต่อรอบ แต่ทุกรอบที่เข็มวินาทีหมุนกลับมาที่เดิม “กลับไม่เคยเอาเวลาเดิมกลับมาได้เลย แม้แต่ครั้งเดียว” ลองคิดดูสิว่า “เรามักจะรอเวลา... แต่เวลาไม่เคยรอใคร” หลายคนอาจลืมไป พอคิดต่อไปอีกชีวิตเราก็มีรอบหนึ่งเหมือนนาฬิกา แต่รอบของชีวิตจบแล้ว มองกลับมาไม่เห็น จบแล้วหายไปเลย ไม่เหมือนเข็มนาฬิกา เพราะ “เวลาฆ่าชีวิต ไม่ใช่เรานั่งฆ่าเวลา” ลองคิดดีๆ


เมื่อวานตอนนี้เรากำลังทำอย่างหนึ่ง คิดอย่างหนึ่ง แต่ตอนนี้เรากลับทำอีกอย่างหนึ่ง รู้ถึงความสุขของเมื่อวานอย่างประหลาด อาจส่งผ่านมาสู่วันนี้ไม่ได้ ความทุกข์ของเมื่อวานก็อาจส่งผ่านมาถึงวันนี้ไม่ได้ ถ้าใจเราปรับเปลี่ยนอารมณ์ให้สงบ เย็นได้ บางที “อุปสรรคเปรียบเสมือนแสงส่องทางสู่ความสำเร็จ” อย่างอัศจรรย์ที่ไม่อาจมองข้ามได้


อย่าใส่ใจกับความทุกข์ ในอดีต จงปล่อยวางความสุขของอดีตออกไป แล้วอยู่กับปัจจุบัน ตอนนี้จะได้ไม่ต้องผิดหวังกับความทุกข์ที่ผ่านเข้ามา และจะได้ไม่ต้องเสียดายความสุขที่ผ่านเลยไป ขอบคุณเข็มนาฬิกาที่ทำให้คิดได้ เตือนใจเราได้ ขอบคุณเวลาที่เตือนเราอยู่ตลอดเวลาด้วยการแสดงให้ดูว่า “เวลาไม่เคยหยุดอยู่กับที่” หน้าที่ของเวลาคือ เดินไปข้างหน้า พร้อมกับฆ่าเวลาแห่งชีวิตเราไปด้วย


ขอบคุณความสุขที่ผ่านเข้ามาในชีวิตที่ให้รอยยิ้ม ความอิ่มเอิบใจ แต่ก็จะลืมเสียไม่ได้ที่ว่า “ขอบคุณความทุกข์ที่ผ่านเข้ามาให้เราได้เข้าใจอะไรหลายๆ อย่างมากขึ้น” เพราะถ้าเราไม่มีความทุกข์ คงไม่สามารถทำให้เราเข้มแข็งได้ขนาดนี้


เรามีชีวิตอยู่ได้ขนาดนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก แหละแล้วสิ่งสำคัญที่สุดตอนนี้คงถึงเวลาที่ต้องอยู่กับ “ขณะปัจจุบันตอนนี้ อย่างมีสติ” ซะที เพื่อจะเป็น ๒๔ ชั่วโมงของวันนี้ที่มีค่าในใจเรา เป็นคนละเวลากับ ๒๔ ชั่วโมงของเมื่อวานที่ผ่านมาแล้วเรียกคืนไม่ได้


ว. ปัญญาวชิโร






Free TextEditor




 

Create Date : 11 พฤศจิกายน 2553    
Last Update : 11 พฤศจิกายน 2553 10:03:25 น.
Counter : 1417 Pageviews.  

เข้าใจธรรม จึงปฏิบัติใจได้

มองดูธรรมะ เรียนธรรมะ
ช่วยเราไม่ได้
ถ้าเราไม่ปฏิบัติตามธรรมะ




เข้าใจธรรม จึงปฏิบัติใจได้


มีคุณป้าท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนเธอเคยคิดว่า คนที่ปฏิบัติธรรมแล้วจะต้องกลายเป็นคนดีทุกกระเบียดนิ้ว โกรธไม่เป็น ไม่ดื้อรัน ไม่พูดคำหยาบ ใบหน้าสงบเรียบเฉยมีความสุข พอพระอาจารย์บอกว่า “การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เพื่อที่จะกลายเป็นต้นไม้หรือก้อนหิน” ท่านว่าปฏิบัติให้รู้ ให้เข้าใจเพียงแค่ “เกิดอะไรขึ้นกับกาย-ใจ” ให้คอยตามรู้ไปเฉยๆ รู้แล้ววางลง แค่ว่ามันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ไม่ต้องไปแทรกแซง แต่ทั้งหมดนี้ ถ้าเป็นอกุศล ไม่ควรให้มันล้นออกมาทางวาจา ถ้าโกรธแล้ว รู้ว่าโกรธ แต่ไม่ให้ไปด่าเขา ไม่ไปตีเขา วางลงให้ได้


คนปฏิบัติธรรมจึงไม่มีฟอร์ม ภายในรู้สึกอย่างไรก็แสดงออกมาอย่างนั้น ภายนอกไม่ได้ดูผิดแผกไปจากมนุษย์ธรรมดาใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อเธอปฏิบัติธรรมรู้สึกหงุดหงิดง่าย อ่อนไหวง่ายมากๆ ทำเอาไม่มีกะจิตกะใจ สนใจจะตามรู้กายใจ ไม่กี่วันก่อนใจมันเลยไปคว้าเอาเรื่องเก่าๆ ที่ช้ำใจมาคิด พอพิจารณาอีกทีว่า “ในโลกนี้ที่เขาฉลาดกว่าเราก็มี โง่กว่าเราก็มี รวยกว่าเราก็มี จนกว่าเราก็มี สวยหล่อกว่าเรา อย่าเย่อหยิ่งทะนงตนหรือโศกเศร้าเสียใจไปเลย เพราะมันเป็นสิ่งเห็นง่ายๆ แต่ทำให้เป็นธรรมดายาก” แต่ทำได้จึงเป็นสุข


คุณป้าบอกว่า ถ้าใจคิดถึงเป็นเรื่องทุกที คิดเรื่องหนึ่งก็โยงไปอีกเรื่องหนึ่ง ทั้งโกรธ ทั้งน้อยใจเสียใจ แล้วก็บ่นๆ ในใจแล้วเขียนเป็นข้อความให้เพื่อนรักคนหนึ่งที่เธอคิดว่า จะให้เขารับรู้ทางอีเมลล์ แต่ใจฉุกคิดว่า ตอนนี้เรากำลังอารมณ์ไม่ดี สิ่งที่เขียนออกไปอาจจะอ่านดูไม่ดีเลย อย่าเพิ่งส่งไป เซฟไว้ก่อน แล้วตอนอารมณ์ดีมาอ่านอีกที อาจจะไม่อยากส่งแล้วก็ได้ เพื่อนจะได้ไม่ลำบากใจด้วย ใจเริ่มคิดแปลกๆ เพราะการเขียนระบายเรื่องราว มันก็ประหลาดดี ที่ทำให้ใจคนเราฉุกคิดได้ แล้วปรับใจได้อย่างประหลาด...! ระงับอารมณ์เสียได้ การเขียนออกมาเป็นตัวหนังสือมันเปลี่ยนพฤติกรรมได้เหมือนกัน


ตอนเย็น ความรู้สึกรุนแรงอย่างเมื่อตอนเช้าที่เขียนอีเมล์ไปนั้น มันไม่อยู่แล้ว ลองกลับไปอ่านเมล์ที่เขียนไว้ให้เพื่อนอีกทีแล้วอยากเป็นลม ความรู้สึกที่ได้จากการอ่านมันแตกต่างจากจุดประสงค์ คนละเรื่องเลย ประหลาดใจจริงๆ ว่า อารมณ์ตอนนั้น มันเกิดขึ้นได้อย่างไร...?


 เธอรู้สึกเหมือนเขียนอะไรประจานตัวเอง คิดเล็กคิดน้อยสุดๆ คนอ่านจะรู้สึกยังไงว่า แล้วก็เสียใจ แต่โชคดียังไม่ได้ส่งไป ทำให้คิดได้ว่า “เวลาอกุศลเกิด” อย่าให้ล้นออกทางกาย ทางวาจา ตอนนั้นก็แบบว่าสติหลุดลอย ไม่ฟังเสียงแล้ว ขอให้ได้เขียนไประเบิดอารมณ์ไปก่อน ขอให้ได้ตามใจกิเลสที่มันอาละวาดอยู่สักพัก แล้วก็ได้เรื่องทำให้มองเห็นจิตใจตัวเองมากขึ้น อย่าลืมวิธีการเขียนออกมาระบายความเครียดดีกว่าเก็บความเครียดไว้ จะทำให้เรารู้อารมณ์ของเราในแต่ละขณะได้


ว. ปัญญาวชิโร






Free TextEditor




 

Create Date : 07 พฤศจิกายน 2553    
Last Update : 7 พฤศจิกายน 2553 16:58:28 น.
Counter : 388 Pageviews.  

สูงสุด... ล้วนคืนสู่สามัญ

อย่าคิดเกินจริง
ชีวิตจะยิ่งบ้า



สูงสุด... ล้วนคืนสู่สามัญ


วันนี้ผู้เขียนนั่งพิจารณาธรรมะที่ว่า ความพอดีเป็นสุขอย่างยิ่ง ความเป็นธรรมดาเป็นชีวิตที่เรียบง่าย แต่เป็นได้แล้วสบายอย่างคาดไม่ถึง มันเป็นเรื่องของการทำใจให้ถูกจังหวะเวลา ความถูกต้องเป็นเรื่องของสัจธรรม ความคิดที่เป็นสุขมันคือ วิธีคิดดีๆ ที่สมควรฝึกให้เกิดขึ้นเป็นประจำคือ ความคิดว่า “พอ... คิดให้รู้จักพอ... ทำให้พอดีที่สุด” ผู้ที่รู้จักพอจะเป็นผู้ที่มีความ เบา สบายใจ ไม่โกรธง่าย เป็นสุขอย่างคาดไม่ถึง ไม่เชื่อลองปฏิบัติดูสิ แล้วเราจะเป็นสุข เพราะว่า “สูงสุด..ล้วนคืนสู่สามัญ ใยต้องดิ้นรนให้เป็นทุกใจด้วยเร่า” ลองคิดดีๆ


ส่วนผู้ที่ไม่รู้จักพอจะเป็นผู้เร่าร้อน กังวล แม้นั่งเฉยๆ อยู่ก็ยังเร้าร้อน แสวงหาไม่หยุดยั้ง... “ความไม่รู้จักพอมีอยู่ได้แม้ในผู้เป็นใหญ่เป็นโต” มั่งมีมหาศาลแค่ไหน ส่วนความรู้จักพอก็มีได้แม้ในเด็กน้อย ในผู้ที่ยากจนต่ำต้อย ที่ฝึกใจตามทางสายกลาง “ยินดีในสิ่งที่ตนได้ พอใจในสิ่งที่ตนมี” ช่างสุขจริงๆ ทั้งนี้เพราะความพอเป็นเรื่องของใจที่ไม่เกี่ยวกับฐานะภายนอกที่เขายกย่องกัน ที่เต็มไปด้วยความหลอกลวง สร้างภาพ คนรวยที่ไม่รู้จักพอก็เป็นคนจนอยู่เสมอ คนที่รู้จักพอ..ก็เป็นคนมั่งมีอยู่ตลอดเวลาลองสังเกตดู


อะไรบ้า...อะไรกล้า


คนที่ฝึกจิตให้เป็นแล้ว รู้เท่าทันกิเลส ตัณหา จึงพ้นทุกข์ได้ ลองดู ตัวอย่าง... แบบชาวบ้านทำ คิด ดูบ้างสิ เพื่อจะเข้าใจอะไรขึ้นมาบ้างว่า อย่างไหนถูก-ผิดกันแน่ “คนรวยสุดกลับจนสุด มีเกียรติสูงสุดกลับเหมือนไม่มีเกียรติ” คิดต่างกันอย่างไร


คุณตุ้ม... เล่าให้ผู้เขียนฟังแบบปริศนานิดๆ ว่า วันนี้ได้เห็น “ชายบ้าเดินตลาดแต่เช้าตรู่ดูปกติ ตรงข้ามชายหนุ่มกล้าฟาดปากขี้เมา” แล้วอันไหนบ้า อันไหนดีกันแน่


คุณตุ้มเล่าว่า วันนี้สึกรู้แปลกๆ นึกถึงรสชาติอาหาร เกิดความอยากจะกินปลาทอดขมิ้น เขาจึงตั้งใจตื่นตั้งแต่ตีสี่กว่าๆ ลุกไปเดินเล่นออกกำลังที่ตลาดสดมีของขายเยอะมาก ราคาถูกมากๆ เป็นพวกอาหารสดจริงๆ เขานำมาขายส่งตอนเช้าๆ ทำให้คนขยันได้ซื้อของสดไว้กินเอง ได้รับรสชาติแท้แบบธรรมชาติ


ในตลาดยิ่งเดิน ยิ่งเห็นวัตถุดิบมากมาย นึกถึงหน้าพ่อแม่ น้อง ตัวเอง ยิ่งมีเมนูขึ้นมาในใจ น่องไก่ผัดใบยี่หร่า หัวปลาต้มยำบนหม้อไฟ ปลาราดพลิก ฯ เลยปล่อยใจไปเรื่อยๆ รู้สึกตัวอีกทีตีห้ากว่าๆ ข้าวของเต็มมือเสียแล้ว ถือแทบไม่ไว้เลย พอดีเพื่อนสาวคนหนึ่งที่คุ้นกันมาก ก็โทรเข้ามาเธอเพิ่งกลับจากเที่ยวกลางคืน โทรมาบอกบางสิ่ง


คุณตุ้มพยายามบอกว่า ของเยอะมาก... เต็มไม้เต็มมือไปหมด คุยไม่ถนัด แต่เธอคงกลุ้มใจ อย่างฟุ้งซ่านไม่ฟังเลยพูดว่า แฟนเธอเจ๋งมาก เก่งจริงๆ ไม่กลัวใคร มีคนเมาเดินชนเธอในผับ แฟนเธอตามไปฟาดปากขี้เมาถึงในห้องน้ำออกมาเลือดโชกกำปั้นเลย กล้ามาก สะใจจริงๆ ไอ้ขี้เมาคงรู้สำนึกไปเลย


แล้วเธอก็ถามว่า ตุ้มอยู่ไหน เขาตอบว่า เดินซื้อกับข้าวไปทำอาหาร เสียงตวาดดังมาตามสายทันที
“คุณจะบ้าเหรอไง ตื่นแต่เช้าไปซื้อกับข้าวมาทำอาหาร ประสาทหรือเปล่า” โอ้...! นึกว่า นอนอยู่บนเตียงเสียอีก


ตุ้มตอบว่า “อือ ความบ้าผมทำให้คนในบ้านอิ่ม ความกล้าแฟนคุณ ทำให้คนเจ็บอาจติดคุกได้” ตกลงว่า อันไหนดีกว่ากัน “คนบ้าหรือคนกล้า” บางทีอยู่ที่วิสัยทัศน์ของคนมอง และจากมุมมองตรงไหน มันบ่งบอกถึงตัวคนมองเช่นกัน จิตใจดีแค่ไหน... นี่เป็นธรรมะให้คิดเองแบบงานวิฉัยธรรมของคนรุ่นใหม่


ว.ปัญญาวชิโร






Free TextEditor




 

Create Date : 29 ตุลาคม 2553    
Last Update : 29 ตุลาคม 2553 15:18:41 น.
Counter : 703 Pageviews.  

บันทึกความดีที่หัวใจ

ชีวิตเรา ไม่มีลิขิตได้ดีกว่า
ตัวเราเอง



บันทึกความดีที่หัวใจ


วันนี้ผู้เขียนได้เดินไปตามถนน ในเขตบ้านสลัมใกล้วัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ภาพที่เห็น คือ คนจนตามสลัมมันช่างรันทดใจจริงๆ เพราะเมื่อสองวันก่อน ได้มีโอกาสไปเยี่ยมบ้านเศรษฐีมา ทำให้เกิดการเปรียบเทียบชีวิตบนโลกนี้ระหว่างคนรวยกับคนจนว่า มันช่างต่างกันเหมือนฟ้ากับเหวจริงๆ แต่ผู้เขียนได้เรียนรู้ว่า... “ความเอาใจใส่มีเยื่อใยในความเอื้ออาทรต่อกันนั้น เพียบพร้อมสำคัญกว่าความบริบูรณ์ด้วยเงินตราเสียอีก” เพราะจริงๆ แล้วความสุขนั้น อยู่ที่เราเข้าใจกันต่างหาก เพราะชีวิตมีสิ่งที่เหมือนกันตรงกินอาหารที่ละมือเหมือนกัน แล้วก็หิวเหมือนกัน


เราลองคิดดูสิว่า “คุณค่าของชีวิต มิได้อยู่ที่เราจะมีชีวิตอยู่ได้นานแค่ไหน... หากแต่อยู่ที่เราจะใช้วันเวลาเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์อย่างไร...?” นี่คือความสำคัญของชีวิต เพราะต้องแยกความสุขทางกาย กับความสุขทางใจออกจากกัน ความสุขทางกายต้องใช้วัตถุนิยม แต่เป็นสุขชั่วคราว ส่วนความสุขทางกายต้องใช้ “ศีล สมาธิ ปัญญา” เป็นตัวสร้างความสุขใช้ที่มองไม่เห็น แต่เป็นสุขถาวร


ความดีใครๆ ก็รู้ ใครๆ ก็อยากจะทำ ถ้าเปรียบความดีเสมือนดอกไม้ในจิตใจของเรา หากเราทำความดีคนเดียว ดอกไม้ก็บานเพียงในใจเราคนเดียว “แต่เมื่อใดก็ตามที่เราพร้อมใจกันทำความดี ก็เท่ากับว่า ดอกไม้ได้บานสะพรั่งในใจเราทุกคน เมื่อถึงเวลานั้น โลกและชีวิตจะสวยงามเพียงใด” ลองๆ คิดดูสิ


มองชีวิตให้มีค่ากว่าสมบัติ


ความสำคัญของชีวิต “มันไม่สำคัญว่า มีทรัพย์มากหรือน้อย แต่สิ่งสำคัญ คือต้องใช้ให้น้อยต่างหาก” ชีวิตจึงจะมีเหลือมากกว่าขาด ทำตัวให้ง่ายๆ เป็นธรรมดา เป็นปกติ ใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นชีวิตก็จะเป็นปกติ “คนที่มีความสุขที่สุด มิใช่คนที่มีทรัพย์มากที่สุด แต่เป็นคนที่ต้องการน้อยที่สุดต่างหาก” ยิ่งมีความต้องการน้อยลง สมบัติที่มีอยู่เดิม ก็ดูเหมือนมีมากขึ้น ใจก็ยิ่งสุขมากขึ้น


ถ้าดูให้ดีความสุข คือ “ความทุกข์ของชีวิต” ที่น้อยลง บางครั้งเหมือนการมองผ่านกระจก “หากกระจกใสสะอาดเหมือนจิตใจที่สะอาด” เมื่อมองสิ่งใดย่อมมีแต่ความสุข ปราศจากความขุ่นมัว เพราะใจเราตั้งไว้ดีแล้ว


หากกระจกขุ่นมัวเหมือนใจที่โสมม เมื่อมองสิ่งใด แม้เป็นสิ่งเดียวกันก็มีแต่ความทุกข์ใจ จงจำไว้ว่า “ความสุขอยู่ไม่ไกล เพียงเช็ดกระจกให้ใส เช็ดใจให้สะอาดเท่านั้นเอง” ทุกข์อยู่ที่ใจ ทุกข์ของใครก็ของมันรักษากันเอง ขัดเกลากันเอง ไม่มีใครขัดใจเราให้สะอาดแทนเราได้


ว. ปัญญาวชิโร






Free TextEditor




 

Create Date : 23 ตุลาคม 2553    
Last Update : 23 ตุลาคม 2553 10:43:37 น.
Counter : 457 Pageviews.  

1  2  
 
 

samuellz
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ชอบชีวิตอิสระที่สุด
รักทุกคนที่มีธรรมะ
[Add samuellz's blog to your web]

MY VIP Friend


 
 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com