ติดตาม twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด

บทวิเคราะห์คดีแอปเปิล vs ซัมซุง

[27-สิงหาคม-2555] Blognone ลงข่าวเกี่ยวกับคดีนี้ไปเยอะมากๆ แล้ว (ขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมเขียนด้วย) รายละเอียดย้อนกลับไปอ่านกันเองในข่าวเก่านะครับ บทความนี้จะเน้นไปที่ผลกระทบถัดจากนี้ต่อทั้งสองบริษัท และวงการไอทีในภาพรวมครับ เนื่องจากประเด็นมีเยอะ ผมจะใช้วิธีเขียนแบบ bullet เพื่อไม่ให้ประเด็นตีกัน

ที่มาของภาพประกอบ: //allthingsd.com

กระบวนการของคดี

  • ถ้าวัดกันตามกระบวนการจริงๆ คดียังไม่จบ ความคืบหน้าล่าสุดขณะที่เขียนเป็น การลงมติของคณะลูกขุน (ตามกระบวนการยุติธรรมของสหรัฐ) หลังจากนี้ไปจะยังมีขั้นตอนของศาล-ผู้พิพากษาที่จะพิจารณามติของคณะลูกขุน อีกทีหนึ่ง และถ้าศาลมีความเห็นตามคณะลูกขุน ก็มีประเด็นเรื่องค่าเสียหายและการบังคับคดีที่ต้องพิจารณาอีกด้วย (ศาลนัดช่วงปลายเดือนกันยายน ระหว่างนี้ก็สงบศึกรอไปก่อนเดือนนึง)
  • ซัมซุงยังมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ และตามข่าวที่ออกมาซัมซุงก็แสดงตัวชัดเจนว่าเตรียมยื่นอุทธรณ์ (BBC) ดังนั้นคดีจะลากยาวออกไปอีก (ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อซัมซุงมากกว่าแอปเปิล)

การตัดสินของคณะลูกขุน

อันนี้เป็นความเห็นของผมเอง ซึ่งคงไม่ตรงกับหลายคนและก็คงตรงกับบางคน

  • ถ้าถามว่าซัมซุงลอกแอปเปิลหรือเปล่า คำตอบของผมคือ "ลอก" ชัดเจนแน่นอน พูดได้เต็มปากว่าลอก ดังนั้นซัมซุงแพ้ไม่น่าแปลกใจ
  • แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือสิทธิบัตรที่ซัมซุงฟ้องกลับแอปเปิล ลูกขุนกลับตัดสินว่าแอปเปิลไม่ละเมิดทั้งหมด ซึ่งต่างไปจากกรณีของเกาหลีใต้อยู่มาก ผมยังไม่ได้อ่านรายละเอียดของเอกสารจากคณะลูกขุน ยังวิจารณ์ไม่ได้ว่าปัจจัยหรือเหตุผลของคำตัดสินคืออะไร

ผลกระทบต่อซัมซุง

  • ต่อให้ศาลตัดสินว่าซัมซุงแพ้คดี มันอาจมีผลกระทบในเชิงลบต่อซัมซุงไม่เยอะอย่างที่คิด (ถ้าไม่นับเรื่องเสียหน้า-ภาพลักษณ์) เพราะค่าเสียหาย 1 พันล้านดอลลาร์ ถือว่าจิ๊บมากสำหรับบริษัทอย่างซัมซุงที่มีกำไร 18.3 พันล้านดอลลาร์ต่อปี (ตัวเลขของปี 2011)
  • ส่วนการสั่ง "ห้ามขายมือถือของซัมซุงในสหรัฐ" (ถ้าศาลสั่งบังคับคดีแบบนี้) ก็ไม่มีผลอะไรมากนัก เพราะช่องว่างของกระบวนการกฎหมายที่ล่าช้า ไล่ไม่ทันรอบของการออกรุ่นมือถือที่เร็วกว่ามาก แถมกรณีของซัมซุงคนแถวนี้คงรู้อยู่แล้วว่าซอยรุ่นย่อย ออกรุ่นอัพเกรดบ่อยแค่ไหน (ซึ่งในแง่ผลิตภัณฑ์คือคนละตัวกัน) ต่อให้ตัวเก่าถูกสั่งห้ามขาย ผมเชื่อว่าบางทีคำสั่งศาลยังไม่ออก เราก็เห็นรุ่นใหม่ออกมาแล้วด้วยซ้ำ
  • ในระยะหลังๆ เราเริ่มเห็นซัมซุงฉีกแนวทางการออกแบบผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้ต่างไปจากแอ ปเปิลมากขึ้น (ซึ่งต่างไปจากสถานการณ์ในปี 2010 มาก) เมื่อบวกกับผลของคดีนี้จะทำให้ซัมซุงมีความเสี่ยงจะโดนฟ้องในลักษณะเดียวกัน น้อยลง
  • ส่วนที่กระทบจริงๆ คงเป็นสิทธิบัตรบางตัวที่ครอบคลุมการทำงานของซอฟต์แวร์ ซึ่งตรงนี้มันมีวิธีเลี่ยงเยอะ เช่น ถอดฟีเจอร์นั้นๆ ออกไปก่อน (HTC ใช้วิธีนี้) แล้วเพิ่มกลับเข้ามาแบบเงียบๆ ผ่านแอพหรือเลี่ยงไปใช้วิธีอื่นที่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว

ผลกระทบต่อแอปเปิล

  • เอาเข้าจริงแล้ว นอกจาก "ชัยชนะ" แอปเปิลแทบไม่ได้ประโยชน์อะไรจากคดีนี้มากนัก
  • เงิน 1 พันล้านดอลลาร์ ก็ถือว่าจิ๊บมากสำหรับบริษัทที่มีกำไร 26 พันล้านดอลลาร์แบบแอปเปิล (ตัวเลขปี 2011)
  • เป้าหมายหลักของแอปเปิลคือสกัดความร้อนแรงของซัมซุงในตลาดสมาร์ทโฟน (ที่แซงเป็นเบอร์หนึ่งของโลกไปหลายไตรมาสแล้ว) ซึ่งคดีนี้คงช่วยให้ซัมซุงสะดุดเล็กๆ ในอเมริกาเท่านั้น โลกมือถือยังมีตลาดอื่นๆ อีกมาก และอย่างที่เขียนไปแล้วว่าแบรนด์ซัมซุงติดตลาดไปแล้ว เมื่อซัมซุงออกมือถือรุ่นใหม่ๆ มาอีก มันก็ยังขายดีอยู่ ผู้บริโภคไม่ได้เลิกซื้อมือถือซัมซุงเพราะแพ้คดีสักหน่อย

ผลกระทบต่อวงการสมาร์ทโฟน

  • อย่าลืมว่าคดีนี้เกิดขึ้นในสหรัฐ ครอบคลุมเฉพาะมือถือที่วางขายในสหรัฐเท่านั้น
  • ตัวระบบปฏิบัติการ Android อาจต้องปรับเปลี่ยนฟีเจอร์บางอันที่อยู่ในสิทธิบัตรออก โดยหลักแล้วคงเป็นเรื่อง UI ซึ่งผมคิดว่าในทางปฏิบัติมีวิธีเลี่ยงได้เยอะ และแน่นอนว่าไม่กระทบกับเวอร์ชัน international แต่อย่างใด (เราจะเห็นการแยกรุ่นสินค้าเวอร์ชันสหรัฐ-นอกสหรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ จากคดีนี้)
  • ผู้ผลิตมือถือ Android บางรายอาจยอมจ่ายเงินค่าใช้งานสิทธิบัตรให้กับแอปเปิลบ้าง เพื่อป้องกันปัญหาถูกฟ้องร้อง
  • แต่สิ่งที่น่าจะเกิดมากกว่าคือ การจับมือผนึกกำลังระหว่างผู้ผลิตมือถือ Android แล้วฟ้องแอปเปิลด้วยสิทธิบัตรที่มีอยู่ในมือ เหมือนกับที่กูเกิลสั่งโมโตโรลาฟ้องแอปเปิลไปแล้ว และเป็นไปได้เหมือนกันว่าเราอาจได้เห็นกูเกิลฟ้องแอปเปิลตรงๆ หรือกลับทิศกันก็ได้
  • โลกสมาร์ทโฟนจะอยู่ภายใต้ "สงครามนิวเคลียร์" อย่างที่สตีฟ จ็อบส์พูดเอาไว้
  • ผมไม่เห็นด้วยกับความเห็นว่า Windows Phone ได้ประโยชน์จากคดีนี้ เพราะผู้ผลิตมือถืออาจหันมาทำ Windows Phone เพิ่มขึ้นบ้างเพื่อลดความเสี่ยง แต่อย่างที่เขียนไปแล้วว่าตลาดไม่สนใจเรื่องนี้อยู่แล้ว สุดท้ายมันขึ้นกับไมโครซอฟท์เองมากกว่าว่าจะสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดึงดูดได้มาก น้อยแค่ไหน

สรุป

  • แอปเปิลชนะคดี แต่หยุด Android ไม่ได้อย่างที่หวัง อาจเรียกว่าแทบไม่กระทบเลยด้วยซ้ำ (ออก iPad Mini มายังมีผลมากกว่ามาก)
  • ซัมซุงจะใช้วิธีซื้อเวลาไปเรื่อยๆ ผ่านการอุทธรณ์ เพื่อลดผลกระทบจากการบังคับคดีต่อผลิตภัณฑ์ในปัจจุบัน
  • ถ้าให้สรุปภาพรวมของคดี คงต้องใช้คำว่า "แอปเปิลชนะอย่างถูกต้อง บนระบบสิทธิบัตรที่ผิดเพี้ยน" คือในแง่กฎหมายแล้ว แอปเปิลไม่ได้ทำอะไรผิดเลย และใช้ประโยชน์จากระบบสิทธิบัตรของสหรัฐได้เต็มที่มากๆ
  • แต่ระบบสิทธิบัตรของสหรัฐเองก็มีปัญหามากเช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขในระยะยาว และความดังของคดีนี้น่าจะช่วยให้สาธารณชนเข้าใจปัญหาของระบบสิทธิบัตรมาก ขึ้นเยอะ
  • การแก้ระบบสิทธิบัตรไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีคนเสียประโยชน์เยอะแน่นอน (เจ้าของสิทธิบัตรเดิมๆ ที่จดไปแล้วทั้งหมด) ซึ่งภายใต้ระบบสิทธิบัตรแบบปัจจุบัน อนาคตที่เป็นไปได้มากที่สุดก็คงเป็นการไล่ฟ้องกันเละเทะ มากกว่าที่เห็นในปัจจุบันอีกหลายเท่าครับ
  • ไม่ว่าจะเกลียดกันเพียงไหน ซัมซุงจะยังผลิตชิ้นส่วนให้แอปเปิลต่อไปเหมือนเดิม กูเกิลจะยังทำแอพให้ iOS ต่อไปเช่นเดิม (รอดู Google Maps/YouTube for iOS ได้เลย) หรือเยอะกว่าเดิมด้วยซ้ำ

ขอบคุณเนื้อหา และภาพประกอบ
บทความโดย:




Create Date : 28 สิงหาคม 2555
Last Update : 28 สิงหาคม 2555 10:02:33 น. 0 comments
Counter : 1700 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ข่าวดี
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]










ติดตามข้อมูลของเว็บทาง twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด







Online Users


New Comments
[Add ข่าวดี's blog to your web]