Movieworm
 
 

ชัยชนะของเรื่องธรรมดา (ชื่อธรรมดาๆ บนนามบัตรธรรมดาๆ ใบหนึ่ง)

"ถ้าแกรักหนัง แกต้องคุยกับผู้ชายคนนี้"

เป็นคำพูดของผู้หญิงคนหนึ่งหลังจากที่เธอยื่นนามบัตรใบหนึ่งให้ผม

เป็นผู้หญิงคนเดียวกันกับที่ผมบังเอิญเจอหน้าโรงหนังหลายครั้งตอนผมไปดูหนัง โดยที่หลายต่อหลายครั้งนั้น เราทั้งสองต่างก็ไปดูหนังเดียว เราเจอกันบ่อยเข้าจนความบังเอิญกลายเป็นความคุ้นเคย อาจเพราะเราต่างก็ชอบดูหนังคนเดียว และด้วยความบังเอิญอีกเหมือนกันที่ผมเป็นคนชอบดูงานศิลปะ และเธอเองก็บังเอิญเป็นเจ้าของหอศิลป์ เราจึงบังเอิญได้เจอและได้ทำความรู้จักกันอย่างเป็นทางการอีกครั้งอย่างไม่น่าเชื่อ

จากนั้นความคุ้นเคยก็เลยกลายเป็นความสนิทสนม และจากการพูดคุยกันหลายต่อหลายครั้ง เลยทำให้ต่างก็รู้ว่าเราเป็นคนรักและคลั่งไคล้ 'การดูหนัง' แบบเข้าเสันเหมือนๆ กัน ด้วยเหตุนี้เอง ที่เมื่อไหร่ที่เราเจอกัน บทสนทนาก็จะไม่พ้นการพูดคุยถึงหนังกันอย่างเมามันและออกรสอยู่ร่ำไป และเมื่อใดที่มีโปรแกรมหนังดีๆ แปลกๆ ที่หาดูได้ยาก เธอก็มักจะส่งข่าวบอกผมเสมอ อาจเพราะด้วยเหตุนี้เองที่เธอยื่นนามบัตรใบนัั้นให้ผม

ครั้งแรกที่ผมได้เห็นชื่อของเขาบนนามบัตร ผมยอมรับว่ามันไม่ค่อยกระตุ้นความสนใจผมสักเท่าไหร่
อาจเพราะตอนนั้นผมยังหลงไหลกับ หว่องการ์ไว, เควนติน ทารันติโน, แดนนี บอยล์ และ เป็นเอก รัตนเรือง อยู่ (ตอนนี้ก็ยังเป็น แต่น้อยลงเยอะแล้ว)

"ใครวะ?" เป็นคำแรกที่ผมนึกขึ้นในใจหลังจากที่ได้อ่านชื่อของเขา

หลังจากนั้นก็เธออีกนั่นแหละ ที่เป็นคนคะยั้นคะยอแกมบังคับให้ผมดูหนังเรื่องแรกของเขา
'ดอกฟ้าในมือมาร' เป็นชื่อของหนังเรื่องนั้น

"หนังอะไรวะเนี่ย!" เป็นคำแรกที่ผมอุทานขึ้นมาในใจหลังจากได้ดูมันจบ ค่าที่มันไม่มีสเปเชียลเอฟเฟ็กต์หวือหวา บทสนทนาที่คมคาย มุมถ่ายภาพอันเก๋ไก๋ การตัดต่อเร้าใจ การแสดงระดับเทพยดา และตัวละครที่เท่บาดตาเหมือนหนังเรื่องอื่นๆ ที่ผมเคยดูมา มันกลับเป็นเรื่องราวของคนธรรมดาๆ หน้าตาบ้านๆ ในต่างจังหวัดอันแสนจะกันดารและน่าเบื่อ ครั้งแรกที่ดูผมถึงกับหลับไปด้วยซ้ำ!!! พร้อมกับนึกในใจว่าทีหลังจะไม่เชื่อเจ๊อีกแล้ว

จนกระทั่งหนัง 'สุดสเน่หา' กับ 'สัตว์ประหลาด!' ของเขาไปคว้าสองรางวัลเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์นั่นแหละ ความสนใจของผมถึงหันเหกลับไปหาชื่อนั้นอีกครั้ง จนต้องไปขวนขวายหาหนังสองเรื่องนั้นของเขามาดู แล้วก็เป็นอีกครั้งที่ผมหลับคาหนังทั้งสองเรื่อง!!! แต่ก็ยังนึกปลอบใจตัวเองแบบตื้นเขินว่า เอาน่า อย่างน้อยๆ กูก็ดูหนังรางวัลกับเขาเหมือนกันนาเว๊ย!

หลังจากนั้นความสนใจของผมเบี่ยงเบนไปจากเขาไปหลงไหลได้ปลื้มเหล่าบรรดาคนทำหนังประเทศนอกอีกหลายต่อหลายคนอย่าง คลินต์ อีสต์วูด, อัลฟองโซ กัวรอง, พอล โธมัส แอนเดอร์สัน, คริสโตเฟอร์ โนแลน หรือแม้กระทั่ง ปีเตอร์ ชาน, พัก ชาน วุก, ชุนจิ อิวาอิ, ฮิโรคาสุ โคริเอดะฯลฯ....

….จนกระทั่งวันหนึ่ง ผมบังเอิญมีโอกาสได้ไปสัมภาษณ์พูดคุยกับเขาเนื่องจากภาระหน้าที่ในการทำงานนิตยสารเล่มหนึ่ง และวันนั้นเองที่คำตอบ ความคิด และทัศนคติของเขาช่วยไขข้อข้องใจของผมที่มีต่อหนังของเขาไปได้อยู่มากโข จนผมสัญญากับตัวเองว่า จะลองให้โอกาสกับหนังของเขาดูอีกสักตั้งหนึ่ง

แล้วอีกไม่นานวันหลังจากนั้นโอกาสที่ว่าก็มาถึง ในรอบปฐมทัศน์ของหนังอีกเรื่องของเขา 'แสงศตวรรษ'

หนังอะไรวะเนี่ย! เป็นคำอุทานในใจคำแรกคำเดิมหลังจากที่ฉากแรกในหนังของเขาปรากฎขึ้นบนจอ แต่ความหมายของมันแตกต่างจากความหมายของคำอุทานในครั้งแรกแบบหน้ามือเป็นหลังเท้า ประสบการณ์ในการดูหนังวันนั้นเปลี่ยนความคิดของผมที่มีต่อหนังของเขาโดยสิ้นเชิง! ทุกๆ เรื่องราว ทุกๆ ภาพ ทุกๆ คำพูด ทุกๆ บทสนทนา ทุกๆ ความเคลื่อนไหวของหนัง ตรึงผมอยู่ได้ตั้งแต่วินาทีแรกจนวินาทีสุดท้าย

ตั้งแต่ฉากแรกๆ ใน 'เพลงสรรเสริญภาพยนตร์' ไปจนถึงฉากท้ายๆ ของหนังที่เป็นภาพท่อของเครื่องดูดควันสีดำสนิทบนจอกับความมืดอันลึกล้ำราวกับจะดูดวิญญาณคนดูเข้าไปข้างในรูอันลึกลับของมัน ยังคงติดตรึงตาผมมาจนถึงทุกวันนี้

และเวลานั้นเอง ผมเพ่ิงจะมาเข้าใจว่า ทำไมผู้หญิงคนนั้นถึงอยากให้ผมดูหนังของผู้ชายคนนี้นักหนา
เพราะมันทำให้ผมค้นพบว่า ด้วยการ 'เปิดใจ' เท่านั้น ผมจึงจะสามารถสัมผัสและรับรู้ได้ว่า ในหนังของเขามี 'ชีวิต' และมันเป็น 'ชีวิต' อย่างที่ผมไม่เคยพบเจอมาก่อนในโลกมายาใบนี้ และมันทำให้ผมต้องกลับไปหวนหาเหล่าบรรดาหนังเรื่องก่อนๆ หน้าของเขากลับมาดูอีกครั้ง และเพลิดเพลินกับวิถีอันเรียบเฉื่อย เงียบงัน งดงาม ที่ไร้การเร้าอารมณ์ในหนังของเขาได้อย่างสนิทใจในที่สุด

อีกอย่าง มันทำให้ผมได้รับรู้คำตอบด้วยตัวเองในวันนั้นเองว่า การจะดูหนังของเขาให้สัมฤทธิ์ผลที่สุด จะต้องดูในโรงภาพยนตร์เท่านั้น

แต่ความยินดีในการค้นพบครั้งนั้นก็ต้องหยุดลงโดยสิ้นเชิงในเวลาไม่นานนัก เพราะผมและคนที่ดูหนังในรอบนั้น เป็นคนกลุ่มสุดท้ายที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ในฉบับสมบูรณ์ในประเทศไทย!

'แสงศตวรรษ' ของเขา ประสบชะตากรรมอันเลวร้ายจากความคับแคบของกองเซ็นเซอร์เมืองไทย และลงเอยด้วยการฉายในประเทศในฉบับที่ถูกย่ำยีจนยับเยิน...

นอกจากจะเป็นคนทำหนังที่ใส่ใจกับการบอกเล่าเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ธรรมดา ของคนธรรมดาสามัญ ที่ไม่ได้รับการเหลียวแลใส่ใจในสังคม อย่างในเรื่องราวที่สะท้อนวิถีชีวิตของคนต่างจังหวัดในชนบทของประเทศไทยใน 'ดอกฟ้าในมือมาร' หรือเรื่องราวของคนต่างด้าว คนชายขอบใน 'สุดสเน่หา' และเรื่องราวความรักของคนรักร่วมเพศอันแปลกแยกจากขนบ ที่เล่าผ่านนิทานปรัมปราของชายสองคนใน 'สัตว์ประหลาด!' อีกทั้งเรื่องราวของหมอหนุ่มสาวในเมืองเล็กๆ ที่ราวกับจะเป็นการจำลองภาพเสมือนของชีวิตบุพการีของเขาใน 'แสงศตวรรษ'

เขายังเป็นนักต่อสู้เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในวงการภาพยนตร์และวงการสร้างสรรค์ตัวยงคนหนึ่งอีกด้วย จากกรณีที่กระทรวงวัฒนธรรมมีการจัดสรรงบประมาณอย่างไม่เป็นธรรม โดยมีการมอบเงินให้กับหนังเรื่องหนึ่งมากจนน่าเคลือบแคลง เขาก็เป็นคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาเป็นตัวตั้งตัวตีในการเรียกร้อง คัดค้าน และตรวจสอบความไม่เป็นธรรมในครั้งนี้ ทั้งๆ ที่เขาเองก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับประโยชน์จากการจัดสรรครั้งนี้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย การต่อสู้เรียกร้องของเขาครั้งนี้จึงไม่ได้เป็นลุกขึ้นมาการต่อสู้ให้กับตัวเอง แต่เป็นการต่อสู้เพื่อส่วนรวม เพื่อผู้ที่เสียเปรียบและด้อยโอกาส เพื่อวงการภาพยนตร์อย่างแท้จริง

ผมบังเอิญได้มีโอกาสพูดคุยกับเขา ก่อนที่เขาจะไปร่วมงานประกาศรางวัลในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ครั้งล่าสุด ในฐานะที่หนังเรื่องล่าสุดของเขา 'ลุงบุญมีระลึกชาติ' ได้เข้ารอบประกวดสายหลักในเทศกาลภาพยนตร์ครั้งนี้ และมีโอกาสอย่างยิ่งที่จะได้รับรางวัลสูงสุดของเทศกาลนี้ แต่เขาเองกลับปรารภอย่างถ่อมตัวว่าไม่มีความคาดหวัง และไม่เคยคิดว่าตัวเองจะได้รับรางวัลใดๆ ในเทศกาลครั้งนี้ คิดแต่เพียงว่าอยากรีบไปฉาย ไปทำหน้าที่ของตัวเอง แล้วก็กลับบ้าน กลับมาพักผ่อน และทำงานของเขาต่อไป ก็เท่านั้น

แต่ลึกๆ ในใจของผมกลับมีความหวังและเชื่อเหลือเกินว่าเขามีโอกาสที่จะได้รางวัลครั้งนี้ ผมเชื่อว่าคนที่รักหนังของเขาทุกคนก็มีความเชื่อและความหวังเช่นนั้นเหมือนกัน

แล้วเขาก็ไม่ทำให้พวกเราผิดหวังจริงๆ

การขนะรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม หรือ รางวัลปาล์มทองคำ ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ปีล่าสุดของ 'ลุงบุญมีระลึกชาติ' ครั้งนี้ จึงไม่ได้เป็นแค่การคว้ารางวัลใหญ่ระดับโลกเป็นครั้งแรกของคนไทยในเวทีสากลของคนทำหนังเพียงคนเดียว ไม่ได้เป็นแค่ความสุขความภูมิใจที่เพื่อนร่วมชาติไปสร้างชื่อเสียงในระดับโลกให้กับประเทศของเรา

แต่มันเป็นเสมือนดั่งของขวัญที่มอบให้กับคนทำหนัง คนดูหนัง และคนรักหนังอิสระ หนังทดลอง หนังนอกกระแส หนังเล็กๆ ที่ถูกภาครัฐ นายทุน และคนดูหนังกระแสหลักบ้านเราเหยียบย่ำ ทำร้าย และดูถูกดูแคลนเสมอมา

และชัยชนะครั้งนี้เปรียบเสมือนดั่งแสงสว่างเล็กๆ ที่ส่องประกายเข้ามาในความสิ้นหวังความมืดมนอนธกาลของบ้านเมืองเราในยามนี้

ตอนนี้ผมไม่รู้ว่านามบัตรใบนั้นหายไปไหนแล้ว แต่ผมยังจำชื่อบนนามบัตรใบนั้นได้ติดตา
ชื่อบนนามบัตรใบนั้นเขียนเอาไว้ว่า 'อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล'




 

Create Date : 25 พฤษภาคม 2553   
Last Update : 25 พฤษภาคม 2553 2:49:21 น.   
Counter : 390 Pageviews.  


Syndromes of thai Movie หนัง กิน ศิลปะ และเรื่องน่าเบื่อของ 'เจ้ย' อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ตอน 3

นิตยสาร Freeform ฉบับที่ 13 2007

ต่อจาก
//www.bloggang.com/mainblog.php?id=movieworm&month=24-05-2010&group=3&gblog=21

FF: คุณเจ้ยสร้างหนังเพื่ออะไร แล้วต้องการให้ใครดูหนังของเราบ้าง?
เจ้ย : มันเหมือนกับว่า มันเป็นพลังงานที่ทำให้เราอยู่ได้ เพราะตอนนี้ชีวิตมันคือหนังเลยไง คือตอนนี้มันเป็นสื่อที่เราสนใจอยู่ไง ต่อไปมันอาจจะ เป็นหนังสือ หรือเป็นว่าเป็นภาพถ่ายอะไรไป แต่ตอนนี้มันเป็นเรื่องของการถ่ายทอดภาพเคลื่อนไหว เพราะมีหนังเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เราอยู่ได้ไปด้วย ทำนองนั้น ถ้าอย่างนั้นแล้วมันก็คือสิ่งที่ทำให้ตัวเองหายใจอยู่ได้ตลอด(หัวเราะ) เราถือว่ามันคืองานศิลปะอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการถ่ายทอดอารมณ์บางอย่างในการที่อยู่กรุงเทพฯ ยุคนี้ พ.ศ. นี้

FF: คนประเภทไหนนะ ที่จะมาตีตั๋วดูหนังของอภิชาติพงศ์?
เจ้ย : เราไม่ได้คิดหวังตั้งแต่ต้นแล้ว ใครจะมาดูก็ได้ มันอยู่ที่ว่าคุณจะเชื่อมต่อกับมันได้มากแค่ไหนแค่ไหน ซึ่งมันไม่ใช่สำหรับคนไทยอย่างเดียว หรือต่างชาติอย่างเดียว มันสำหรับคนทั้งโลกน่ะ

FF: รู้ตัวตั้งแต่เมื่อไหร่ว่าอยากทำหนัง
เจ้ย : เอ่อ...น่าจะเป็นช่วงมัธยมตอนที่มีหนังของสปิลเบิร์ก และจอร์จ ลูคัสเข้ามา เราชอบมาก ชอบพวกอีที ชอบพวกอะไรต่างๆ รู้สึกอยากเข้าไปอยู่ในโลกนั้น เพราะขอนแก่นมันไม่มีอะไรไง มันเป็นที่ที่เราได้หลบหนีเข้าไป เป็นโลกอื่นสำหรับเรา แล้วตอนเด็กๆ ที่บ้านก็จะฉายหนังอาทิตย์ละครั้ง เป็นหนังแปดมิลลิเมตร ทุกคนในบ้านจะมานั่งดูกัน มันเป็นช่วงที่มีความสุขมาก เลยทำให้เราสนใจหนังมาตั้งแต่เด็กๆ

FF: คุณเจ้ยเรียนจบมาทางสถาปัตย์ แล้วก็จบมาทางไฟน์อาร์ต จากชิคาโก้ ไม่เคยเผลออยากเป็นอย่างอื่นที่นอกจากการเป็นผู้กำกับหนังบ้างเลยหรือ
เจ้ย : ก็...อยากเป็นผู้กำกับอย่างเดียวนะ คือรู้ตั้งนานแล้วว่าอยากทำหนัง คือจริง ๆ แล้วตอนนั้นไม่รู้ด้วยว่าผู้กำกับคืออะไรด้วยซ้ำ เรารู้สึกว่าแปลกใจมาก เวลาที่ถามเพื่อนหลายๆ คนเขาก็ไม่มีคำตอบ ว่าอยากจะทำอะไรในชีวิต ถึงแม้ตอนนี้ก็ตาม เขาก็ยังไม่มีคำตอบ แต่เรารู้ว่าเราอยากทำหนังตั้งแต่เด็กๆ แล้ว และก็ตอนที่เราเรียนคลาสจิตวิทยา แล้วอาจารย์ถามในชั้นเรียนว่าเราอยากทำอะไรในอนาคต เราก็ตอบว่าอยากทำหนัง อาจารย์ก็บอกว่า อืม...อภิชาติพงศ์ เธอกลับเข้ามาอยู่ในโลกของความเป็นจริงหน่อยนะ

FF: สมัยไหนเนี่ย?
เจ้ย : สมัยเรียนสถาปัตย์ฮะ ซึ่งมันก็เลยเป็นแรงผลักอีกอันนึงว่า อาจารย์คนนี้เชื่อไม่ได้ เราต้องพิสูจน์ว่าอาจารย์คนนี้ผิด อ้าว! มีอย่างที่ไหนล่ะ เป็นอาจารย์ก็ต้องสนับสนุน ต้องกระตุ้นเด็กสิ ไม่ใช่มากั๊กกัน แล้วตอนเด็กๆ ก็จะแอนตี้ทุกอย่าง แอนตี้อาจารย์ แอนตี้ระบบ แอ็นตี้อะไรต่างๆ ตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่ แต่เก็บเอาไว้ข้างใน ตอนนั้นก็ไว้ผมยาวไปตามเรื่อง คือมันเป็นช่วงที่ฮอร์โมนเปลี่ยน(หัวเราะ) เราพยายามจะทำอะไรก็ได้ ที่ทำให้รู้สึกว่าได้ต่อต้านอะไรสักหน่อย ซึ่งตอนนั้นมันมีอะไรหลายอย่างเหลือเกินที่ให้ต่อต้าน ตอนนี้ก็ยังไม่เปลี่ยนหรอกนะ แต่มันนิ่งขึ้นเท่านั้นเอง

FF: พอรู้ว่าอยากทำหนังแล้ว ได้ลงมือทำอะไรบ้างเพื่อให้ได้เป็นอย่างที่ฝัน?
เจ้ย : ตอนนั้นมีคณะสถาปัตย์เปิดขึ้นมา เราก็ชอบสถาปัตย์นะ เรารู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่เชื่อมโยงกัน คือเรา………วิชาเคมีมากๆ แต่ชอบวิทยาศาสตร์ ชอบชีวะ มันก็เป็นการเชื่อมโยงกันมาว่า สถาปัตย์มันเป็นศาสตร์ที่อยู่ตรงกลางระหว่างศิลป์และวิทย์ เราก็เลยสนใจ ก็คิดว่า เออ! แค่ห้า ปีว่ะ ก็เลยไปเรียนดู แล้วตอนนั้นก็รู้สึกแอนตี้จุฬาฯด้วยไง

FF: ทำไมจุฬาฯ มันเป็นอย่างไรหรือ ทำไมถึงต้องแอนตี้ (พอดีในทีมสัมภาษณ์ของเรา มีศิษย์เก่าจุฬาฯ อยู่ด้วยคนหนึ่ง เราว่าเขาก็โอเคนะ ถึงจะติงต๊องบ้างบางที ฮ่าฮ่า)
เจ้ย : มันเป็นแค่ความรู้สึกของเด็กน่ะครับ ในแง่ที่ผู้ใหญ่บอกว่าทุกคนควรจะจบจากจุฬาฯ นะ จบมาจะได้มีงานที่ดี คือเรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ไง

FF: แล้วตอนนี้ยังแอนตี้จุฬาฯ อยู่ไหม
เจ้ย : นิดๆ นะ แต่ว่าก็ยอมรับแหละ ว่ามันเป็นระบบที่ดี เพื่อนเราก็อยู่จุฬาฯ อาจารย์ที่ชอบพอกันก็อยู่ที่จุฬาฯยอมรับว่ามันเป็นระบบของสังคมไทยไปแล้ว แต่เรารู้สึกนะ ว่ามันอยู่ที่ตัวคนเรียนด้วยแหละ ว่าจะรับเอาอะไรไปได้ คือเราต้องค้นคว้าเองโดยไม่ต้องคอยให้ครูมาป้อนไม่ว่าคุณจะเรียนที่ไหนก็ตาม อย่างที่ชิคาโก้นี่เขาไม่ได้ป้อนอะไรให้เราเลยนะ เขาให้คิดเองและจะเน้นคุยกันในเรื่องของทฤษฎีและจิตวิทยามากกว่า

FF: ตอนแรกพ่อแม่อยากให้คุณเจ้ยเป็นอะไร
เจ้ย : เขาก็อยากให้เป็นหมอ แต่เขาก็ไม่ได้บังคับอะไร มันเป็นเรื่องที่ยากและใหญ่มากที่จะไปเรียนทำหนัง และตอนนั้นสถาปนิกก็เป็นอาชีพค่อนข้างจะฮิตในระดับหนึ่ง และเราก็ไม่ได้ต่อต้านอะไร เรียนก็ได้ ตอนนั้นมันมีซูโม่ (กลุ่มซูโม่สำอางค์)ไง แล้วเขาหว่านล้อมเราว่า พวกซูโม่นี่ไงเรียนสถาปัตย์ เห็นไหมทำได้หนังด้วย ทำหนังทีวีออกจะตลก อะไรอย่างงี้ (หัวเราะกันครืน) ซึ่งตอนนั้นเราก็ชอบไง ชอบซูโม่ ชอบหนังสือไปยาลใหญ่ ชอบอ่าน มันก็ดูเป็นอาชีพที่น่าจะสนุกดี

FF: แล้วได้มีโอกาสได้ทำงานทางด้านสถาปัตยกรรมไหม
เจ้ย : ได้ทำบ้าง ก็น่าสนใจนะ คือมันเป็นงานที่ทดลองอะไรได้เยอะ โดยเฉพาะที่เมืองไทย

FF: แล้วพอถึงตอนที่ได้ทำหนังแล้ว มีปัญหากับพ่อแม่บ้างไหม
เจ้ย : มีๆ ทะเลาะกันบ่อยมากเลยตอนนั้น พอมองกลับไปตอนนั้นปั๊บ โอ๊ย... เรารู้สึกชั่วร้ายมากเลย แต่เราก็รู้สึกว่าเป็นช่วงหนึ่งของชีวิตไง ที่เด็กมันต้องกบฏอะไรอย่างเงี้ย แต่ว่าตอนนี้เขาก็เข้าใจ

FF: สุดท้ายก็เข้าใจ?
เจ้ย : เข้าใจ เพราะว่าเราไม่ได้พึ่งเขาว่างั้นเถอะ เรายืนได้ด้วยตัวเอง แค่นี้เขาก็พอใจแล้วล่ะ

FF: พ่อแม่ดูหนังคุณเจ้ยรู้เรื่องหรือเปล่า
เจ้ย : เขาไม่ดู! (หัวเราะครืน) คือเค้าดูช่องสาม แม่ติดละครช่องสาม มันก็คนละสไตล์ล่ะนะ เราก็ไม่ได้คาดหวังให้เค้ามาเข้าใจ

FF: ถ้าพวกเขาได้ดูคุณเจ้ยคงต้องอธิบายกันเยอะ?
เจ้ย : เออ ประมาณนั้น แบบว่ามันเป็นคนละอาชีพน่ะ คนละสาย เขาก็ไม่เข้าใจว่ามันเป็นยังไง มันเป็นอาชีพแบบไหน

FF: แล้ววันหนึ่งคิดจะทำหนังสำหรับพวกเขาไหม
เจ้ย : นี่ไง เรื่องใหม่นี่ไง (หัวเราะ)

FF: แล้วคิดว่าเขาจะดูรู้เรื่องไหม
เจ้ย : เอ่อ...อาจจะไม่นะ อาจจะไม่ แต่ว่าเราก็คงจะไม่เปลี่ยนตัวเอง เพราะว่าเขาเนี่ยอยากให้เราทำหนังอย่างช่องสาม ช่องเจ็ด คือถ้าเราเป็นคุณอย่างคุณบอยถกลเกียรติ (วีรวรรณ) ได้เนี่ย เขาจะดีใจมาก(หัวเราะกันทั้งวง) จริงๆ แต่เราก็พยายามอธิบายว่ามันไม่ช่ายยย เราทำไม่ได้ เราไม่ถนัด อย่างนี้

FF: เขาเคยถามเหมือนกันใช่ไหมว่าทำไมไม่ทำแบบนั้น
เจ้ย : ใช่ๆ เราก็บอกว่า ตัวเองก็ผ่าตัดไม่ได้เหมือนกันนั่นแหละ ก็เป็นหมอเด็กน่ะ มันก็คนละสายอะไรเงี้ย คือมันไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางนั้นไง

FF: (หัวเราะกันทั้งวง) ปากจัดจัง แต่เขาก็รู้ใช่ไหม ว่าคุณเจ้ยกำลังทำหนังเกี่ยวกับพวกเขาอยู่
เจ้ย : รู้ครับรู้ เพราะได้คุยกันไง คุยกันว่าจะทำ เขาก็มีพูดมาว่า ต้องแฮปปี้เอนดิ้งนะ ต้องอะไรยังงั้น (หัวเราะกันร่วน) ก็น่ารักน่ะ เป็นพ่อแม่ที่น่ารัก

FF: แล้วการไปเรียนที่ชิคาโก้นี้คือไปเรียนหนังเลยเหรอครับ
เจ้ย : เรียนอาร์ต แต่ว่าทุกอย่างมันก็รวมๆ กัน ไมเคิลก็จบจากที่เดียวกัน คือเขาจะมองว่าการแสดงคือศิลปะ หนังก็เป็นศิลปะอะไรอย่างนี้

FF: การไปเรียนเมืองนอกเนี่ย คิดว่ามันมีส่วนกับการเปลี่ยนแปลงชีวิต หรือมีส่วนช่วยสนับสนุนในวิชาชีพของคุณเจ้ยไหม
เจ้ย : ค่อนข้างนะ จุดหลักเลย มันทำให้เรามองตัวเองได้กว้างขึ้น ทำให้เรามองเมืองไทยในอีกมุมมองหนึ่ง ว่าเรา
เป็นใครมาจากไหน แล้ววงการศิลปะของโลกมันกำลังเดินไปในจุดไหน ค่อนข้างจะเปลี่ยนเรามากเหมือนกัน

FF: การศึกษาที่นั่นดีกว่าบ้านเราไหม
เจ้ย : อืมม์... ดีไม่ดีมันเป็นเรื่องของคนเรียนนะ มันเถียงไม่ได้ว่าที่นั่นมันมีความเปิดกว้างทางด้านความคิด แต่บ้านเรามันก็มีข้อดีอยู่ ในแง่ของสังคมบางอย่าง เออ แบบว่า เมืองไทยมันจี๊ดน่ะ มันต้องกลับมา กลับมาเพื่อที่จะมาท้าทาย เพื่อที่จะมาเปลี่ยน เพื่อที่จะมากลืนอยู่ในเมืองไทยให้ได้ คือถ้าอยู่เมืองนอกคงไม่มีแรงบันดาลใจ และอีกอย่างก็คือที่นั่นมันมีคนทำหนังเยอะมากไง เรารู้สึกว่าเมืองไทยเป็นที่ที่พิเศษ เป็นที่ที่พอเรามาแล้วเรารู้สึกว่ามันเป็นขุมทรัพย์ จะพูดไงดีละ คือมันเป็นที่ที่เราอยู่แล้วต่างชาติเห็น เออ เห็นความสำคัญของเรา

FF: เพราะถ้าเราอยู่ที่โน่นเราอาจจะถูกกลืน
เจ้ย : ใช่ ใช่

FF: คุณเจ้ยคิดอย่างไรกับวงการภาพยนตร์ในประเทศเรา ที่ยังไม่มีการจัดเรท หรือมีการจัดกลุ่มอายุคนดู ได้จริงๆ สักที เพราะมันน่าจะมีตั้งนานแล้ว
เจ้ย : เรื่องนี้ก็โยงกับ ‘สุดสเน่หา’เหมือนกันนะ เพราะว่าเราก็ไม่อยากให้หนังเราฉายให้ทุกคนดู เพราะมันไม่ดีสำหรับเด็ก เราจำได้ว่ามีหนังอยู่เรื่องหนึ่งที่เราดู แล้วมันมีฉากเซ็กซ์ แต่เราไม่ได้ไปกลัวที่ภาพเซ็กซ์นะ แต่เราไปกลัวที่ภาพของความรุนแรง ซึ่งมันรุนแรงมาก มันเลยเป็นเหมือนฝันร้าย เรารู้สึกว่า เด็กมันก็ควรได้รับการปกป้องเหมือนกัน ใช่ไหม แต่ว่าบ้านเรามันไม่ป้องกันเลย มันเอาความรุนแรงมาขาย เลือดสาด อย่างนี้ เรารู้สึกว่าเด็กรุ่นใหม่มันเปลี่ยนไป มันกลายเป็นว่า มันมีภูมิต้านทานที่ไม่ดีไป

FF: เหมือนกับเห็นนมไม่ได้ แต่ว่ามีภาพยิงกันไส้แตกได้
เจ้ย : อะไรทำนองนั้น... แต่เซ็กซ์ก็เหมือนกันนะ มันเซ็นสิทีฟสำหรับเด็กไง เรารู้สึกว่ามันน่าจะมีระบบเซ็นเซอร์อย่างจริงจังว่า อายุเท่านี้ เท่านี้ แต่มันก็อยู่ที่ความละโมบของคนที่ ที่...

FF: คนที่กลัวว่าถ้ามีการจัดเรทจะทำให้หนังเสียรายได้ไปเยอะ?
เจ้ย : ใช่ คิดว่านะ คิดว่าอาจจะเป็นอย่างนั้น หรืออาจเพราะความขี้เกียจไม่อยากทำระบบใหม่รึเปล่า แต่ว่ามันก็ไม่นะ ทำไมเค้าไม่คิดถึงครอบครัวของเขาบ้างล่ะ แล้วมันน่าจะเป็นจุดขายด้วยซ้ำ เป็นการปรู๊ฟว่า นี่เป็นหนังสำหรับครอบครัวนะ หนังเรื่องนี้สำหรับวัยรุ่น โอ้ยอยากดูจังเลย ได้เรทอาร์เนี่ย ต้องวิ่งเข้าไปดูแล้ว (หัวเราะ) มันก็คนละมุมมอง แต่ตอนนี้เด็กมัน... น่ากลัวว่ะ มันรุนแรง

FF: คุณเจ้ยเชื่อไหม ว่าหนังที่ได้รางวัลต้องเป็นหนังดี?
เจ้ย : ไม่ๆ ไม่เลย เพราะว่าผมเคยเป็นกรรมการบ่อย หนังที่ได้รางวัลสูงสุดเนี่ย จะค่อนข้างเป็นหนังหน่อมแน้ม คือ
ส่วนใหญ่กรรมการแต่ละคนจะมีตัวเต็งในใจอยู่แล้ว และมันจะต้องทะเลาะกัน แล้วมันจะไม่มีหรอก หนังที่ดีจริงๆ คนจะด่ากันสุดฤทธิ์เลย เฮ้ย! อันนี้เกลียดมาก อันนี้ชอบมาก เพราะฉะนั้นเขาก็จะ โอเค โอเคเอาอันที่ชอบกลาง ๆ ก็แล้วกัน (หัวเราะกันครืนใหญ่)

FF: ถึงว่า…แล้วคุณเจ้ยรู้สึกอย่างไรกับการที่ตัวเองได้รับรางวัล?
เจ้ย : ดีฮะ (หัวเราะเสียงดัง) มันเป็นเรื่องของอะไรที่… ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ทำเพื่อมัน แต่ว่ามันเป็นหนึ่งในกลไกที่ทำให้หนังเราได้ฉาย เพราะบ้านเรามันไม่มีวัฒนธรรมเป็นเทศกาลที่รุนแรงเท่าต่างประเทศ เหมือนอย่างโปรตุเกส หรือว่าบัวโนสไอเรสในอาเจนติน่าเนี่ย เขาจะมีวัฒนธรรมที่ค่อนข้างแรง มีเทศกาลหนังอะไรแบบนี้ รางวัลมันเป็นตัวผลักให้หนังเราไปเจอคนได้มากขึ้น มันก็ได้ประโยชน์ในในแง่นั้น

FF: ผู้กำกับไทยที่คุณเจ้ยชอบพูดถึงบ่อยๆ คือคุณเชิด ทรงศรี ชอบเขาตรงไหนหรือ
เจ้ย : ชอบในตัวตนของเขาจริงๆ เราก็ไม่ได้รู้จักเขาหรอกนะ แต่ว่าพอได้คุยกับเขา ได้เจอเขา ก็เลยรู้สึกถึงตัวเอง
ด้วยไง ว่าแก่แล้วเราอยากเป็นอย่างนี้บ้าง ที่เขามั่นใจมาก มีความนิ่ง และก็มีความเชื่อในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ ยังทำหนังอยู่ แต่อีกใจหนึ่งมันก็เป็นความกลัวด้วยว่า เฮ้ย! เราไม่อยากเป็นอย่างเขา ในแง่ที่แบบว่า เขาต้องพยายามดิ้นรนที่จะหาเงินมาเพื่อสร้างหนังใหม่ตลอด หรือว่าตามเทคโนโลยีไม่ทัน แต่ตอนที่เขาทำหนังเรื่อง ‘ข้างหลังภาพ’ ล่าสุดเนี่ย มันก็ยังเป็นเหมือนกับหนังที่เขทำในสมัยก่อน เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย! เท่ว่ะ ดีๆ ชอบเรื่องนั้นมาก เหมือนกับเขาเป็นฮีโร่สำหรับเราในระดับนึง ที่เขายังอยู่ได้ ไม่หนีไปญี่ปุ่นหรือหนีไปไหนอะไรยังนี้ (หัวเราะ)

FF: ไม่ถูกระบบเปลี่ยน?
เจ้ย : อืม ใช่ๆ

FF: คุณเจ้ยไปเป็นกรรมการตัดสินการประกวดหนังบ่อยๆ พอจะเห็นแนวโน้มของเด็กหน้าใหม่ที่มีแววเจ๋งๆ มากน้อยแค่ไหน
เจ้ย : อืมมม... เด็กไทยทำหนังดีนะถ้าเทียบจริงๆ น่ะ อันนี้หมายถึงเราเทียบกับต่างประเทศนะ เด็กไทยน่าสนใจมาก ที่หน่อมแหน่มนี่คือสิงคโปร์ (หัวเราะกันครืน) แล้วก็ฮ่องกง แต่เกาหลีจะดี แล้วก็ญี่ปุ่น และไทยก็น่าสนใจ หนังไทยมันดิบดีนะเราว่า

FF: คุณเจ้ยเป็นกรรมการให้ที่ไหนบ้างครับ?
เจ้ย : ก็เป็นที่ฮ่องกง ก็ที่ฮ่องกง (Hong Kong Independence Film Festival) และตอนเป็น ก็ให้รางวัลเด็กไทยด้วยกันเอง (หัวเราะครืน) คือมันดี ปฏิเสธไม่ได้ (หัวเราะ) แล้วก็ที่เกาหลี ที่ปูซานฟิล์มเฟลติวัล (Pusan Film Festival) และก็เป็นที่รัสเซียด้วย ที่แวนคูเวอร์ อืม...หลายที่เหมือนกันนะ ที่ไปทะเลาะกับเค้า

FF: ไปทะเลาะอะไรกับเขา?
เจ้ย : ก็คือมันต้องถกกันนะ มันต้องสู้เพื่อหนังที่เราชอบอะไรอย่างนี้

FF: ประเทศไหนที่มีงบประมาณสำหรับเทศกาลหรือการประกวดพวกนี้มากที่สุด อย่างรัสเซียเราว่าเขาดูเหมือนจะลำบากๆ หน่อย จริงๆ เขามีทุนสนับสนุนพวกนี้เยอะไหม?
เจ้ย : ไม่ค่อยนะครับ หนังรัสเซียเนี่ยแย่มากๆ ในช่วงหลังๆ อืมม์ นอกจากเกาหลีแล้ว ถ้าไม่พูดถึงตัวหนัง พูดถึงแต่เทศกาลก็คือที่โรมนะฮะ ดีมากๆ

FF: ตอนที่คุยกันช่วงแรก คุณเจ้ยบอกว่าเด็กเดี๋ยวนี้ มันกินเยอะ บริโภคนิยมกันเยอะ อยากทราบมุมมองของคุณเจ้ยต่อเรื่องนี้เพิ่มอีกหน่อย
เจ้ย : อืมม์...พูดไปก็เหมือนคนแก่ขี้บ่นนะ(หัวเราะ) แต่มันก็จริงไง เรามองอย่างนั้นจริงๆ เราก็รู้สึก เฮ้ย! เราก็แก่แล้วนะ เริ่มบ่นเหมือนพ่อแล้ว คือเราไปมาหลายประเทศไง แล้วเราเทียบกัน คือการใช้ชีวิตของเด็กมันก็ต้องวนเวียนกับเรื่องพวกนี้ สิ่งเสพติด เซ็กซ์ อะไรอย่างนี้ ถึงเรารู้สึกว่ามันเรื่องหนึ่งของชีวิตที่มันสวยงาม แต่ว่าบ้านเรามันแคบมากไง เราก็เลยเป็นห่วงว่ามันไม่มีทางเลือกอื่น แล้วก็อีกอย่างหนึ่งคือเสียงด้วย มลภาวะทางเสียงในกรุงเทพฯ มันเยอะมาก ตอนนี้เด็กมันอยู่นิ่งไม่ได้แล้ว เพราะมันมีเสียงเยอะ ถ้าสังเกตดีๆ นะ เพราะเราทำหนัง เราค่อนข้างจะชอบฟังเสียงไง ตอนนี้ไปที่ไหน มันไม่มีที่เงียบแล้ว ไปตามจังหวัดเล็กๆ ก็เปิดกันลั่นเลยอ่ะ รู้สึกว่ามันหาความสงบได้ยาก รู้สึกว่าคนมันชินกับเสียง ขนาดเราไปสวนจตุจักรมันยังมีเพลงเปิดให้ฟังเลยอ่ะ(หัวเราะ) ทั้งที่เราไปพักผ่อน

FF: คนในเมืองหลวงทนอยู่กับความเงียบไม่ได้?
เจ้ย : ใช่ แต่เราก็คิดอยู่นะ ว่ามันผิดหรือเปล่า อาจจะ….เพราะมันเป็นเรื่องของเด็ก เขาเป็นวัยรุ่นไง เขาอาจจะต้องอยู่กับเสียงนะ คิดว่าอย่างนั้น

FF: แล้วในแง่การค้นหาตัวตนของเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่คุณเจ้ยได้สัมผัสมา เป็นยังไงบ้าง เค้าสนใจที่จะค้นหาความหมายของชีวิต หรือตัวตนของตัวเองบ้างรึเปล่า
เจ้ย : อืมม์...ก็ดีขึ้นในแง่ที่ผมรู้สึกว่าหนังของเขาจะพูดเรื่องส่วนตัวมากขึ้น ถ้าเป็นเด็กยุคก่อน อย่างรุ่นผมเนี่ย หรือรุ่นพิมพกา (โตวีระ) เนี่ย จะพูดเรื่องสังคม จะสะท้อนเรื่องสังคมเยอะ คือทำหนังเป็นสัญลักษณ์เยอะ หนังช่วงนั้นก็มีสัญลักษณ์เยอะ ซึ่งพอมาในยุคนี้ จะพูดถึงเรื่องเรื่องส่วนตัว เรื่องเซ็กซ์ เรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อน เรื่องอะไร ซึ่งเรารู้สึกว่ามันสะท้อนได้ดีกว่าด้วยซ้ำ

FF: คุณเจ้ยมองว่า การที่คนรุ่นใหม่หมกหมุ่นตรงนี้เป็นสิ่งที่ดีใช่ไหม
เจ้ย : ดีฮะดี ให้ถ่ายทอดออกมา เพราะว่ามันมีตอนที่ผมเรียนที่ชิคาโก้เนี่ย เด็กเค้าก็ทำอันหนึ่งเป็นเซ็กซ์จ๋าเลย แล้วก็มีคนประท้วง ว่ามันอุจาด แล้วหนังสือพิมพ์ก็ลงวุ่นวาย แล้วอาจารย์ก็มาปกป้อง อาจารย์เขาบอกว่า ก็เด็กมันยี่สิบ จะให้มันคิดอะไร มันคือกระจก ศิลปะมันคือกระจก เราว่าเออ มันก็คือกระจกน่ะนะ (หัวเราะ)

FF: เห็นนักวิเคราะห์สังคมหลายคน ชอบพูดว่า คนในยุคนี้คิดถึงแต่เรื่องของตัวเอง หรือเด็กสมัยนี้หมกหมุ่นอยู่แต่กับตัวเอง ไม่สนใจสังคม มันขัดๆ กันไหม
เจ้ย : ผมว่ามันเป็นสิ่งที่ดี ถ้าเขาถ่ายทอดนะ เขาจะเขียนหรือเขาจะทำอะไรก็ตาม มันคือการสร้างสรรค์ เราไม่ควรจะไปตัดสินว่ามันเป็นงานที่แย่มากๆ หรืออะไร ถ้าเขาอยากทำอย่างงี้น่ะ ไม่ใช่ว่า เฮ้ย! หนังมีจู๋ไม่ได้ เสียภาพพจน์เมืองไทย แล้วทำไม มึงไม่มีจู๋เหรอ แทนที่จะห้ามเด็กไม่ควรทำเรื่องเซ็กซ์ ก็ควรที่จะผลักดันเค้ามากกว่า ว่า เฮ้ย! อยากทำอะไรๆ อย่านี้ แล้วให้เขาได้เรียนรู้เอง ล้มเอง หรืออะไรเอง แล้วพอโตขึ้นไปแล้ว เริ่มมีสิ่งอื่นมากระทบเค้า การเมืองมันเริ่มเข้ามากระทบกับชีวิตเขาอย่างเงี้ย เขาจะเริ่มคิดแล้ว ขอให้เขามีความสุขที่จะแสดงออกในสิ่งที่เขาประสบ พอโตขึ้น เซ็กซ์มันก็จะค่อยๆ หายไปตามธรรมชาติของคน หรือว่าพอมีเรื่องการเมืองเข้ามากระทบ ทำให้เขาอยู่ไม่ได้ เขาก็จะสะท้อนมันออกมาเอง

FF: บางทีหมิ่นเหม่มากไปก็ไม่ดีนะ ควรมีขอบเขตไหม​?
เจ้ย : ควรนะ ควร ะ เราแค่รู้สึกว่า หลายอย่างในสังคมบ้านเราที่กักเขาไว้ ทำให้เขาไม่รู้จะไปแสดงที่ไหน มองง่ายๆ อย่างกระเทยในบ้านเรา ทำไมมึงแรดอย่างนี้(หัวเราะกันลั่น) ที่เมืองนอกก็ไม่แรดขนาดนี้นะ คือเรารู้สึกว่าเค้าโดนกดไง เขาก็เลยต้องแสดงตัวออกมา แล้วก็ถูกทำให้กลายเป็นตัวตลกด้วยในสื่อ คือกระเทยกลายเป็นตัวตลก เป็นคนใช้ เป็นอะไรที่แต่งหน้าเละๆ หรือว่าผู้ชายมาแต่งเป็นกระเทย ซึ่งคนดูก็รู้ว่ามึงเป็นผู้ชายน่ะ คือมันกลายเป็น Object ที่เอามาเคลือบไว้น่ะ เอาความเป็นกระเทยมาเคลือบผู้ชาย เพื่อที่จะขาย ก็คือมันเหมือนถูกกดดันอยู่แล้ว เขาก็เลยต้องเป็นอย่างนี้ ทำนองนี้ มันน่าเศร้าไง เออ เพราะยิ่งกดมันยิ่งไม่ดีน่ะ

FF: เด็กบ้านเราเนี่ย บางที บางคน บางกลุ่ม เขาก็อ่อนไหวเกินเหตุนะ อย่างสอบเกรดไม่ดีเนี่ย ก็กระโดดตึกฆ่าตัวตายไปแล้ว อย่างการที่เราสนับสนุนให้เด็กรุ่นใหม่แสดงตัวตนออกไปเยอะๆ บ้างครั้งฟีดแบ็กที่กลับมาเนี่ย มันค่อนข้างแรง และด้วยความเป็นเด็กมันอาจไม่มีภูมิต้านทานกับฟีดแบ็กทีกลับเข้ามาเหล่านี้ คุณเจ้ยมีอะไรที่แนะนำพวกเจ้ย : เขาไหมว่า จะต้องสั่งสมภูมิต้านทาน หรือจะต้องรับมือกับปัญหาพวกนี้อย่างไรบ้าง?
เจ้ย : เราว่า มันต้องรู้จักแยกแยะน่ะ มันอยู่ที่ผู้ใหญ่ด้วยแหละ มันต้องมีหนังสือ มีสื่อดีๆ อะไรอย่างนี้ เพราะตอนนี้ผู้ใหญ่ก็แย่แล้วน่ะ พูดไม่ถูก คือภาพในทีวีหรือภาพอะไรนี้ มันแย่ตามๆ ไปเป็นลูกโซ่กันน่ะ เรารู้สึกว่าเด็กๆ ในสมัยนี้มันต้องรู้จักคิดเองในระดับหนึ่ง ซึ่งผมยังเชื่อว่ายังมีคนที่รับผิดชอบอยู่ ในเรื่องของห้องสมุด หรือในสื่ออะไรก็ให้เค้าคิดเอง ไม่งั้นมันจะเหมือนกับเราไปกดไม่ให้มันพุ่งไปข้างหน้า คือสังคมมันจะต้องถูกท้าทายตลอดน่ะ

FF: อย่างหนังเกาหลี หรือว่ากระแสวัฒนธรรม ดาราเกาหลีที่ได้รับความนิยมในบ้านเราคุณเจ้ยมีความคิดเห็นอย่างไร ที่มันมาครอบงำคนไทยมากมายขนาดนี้?
เจ้ย : ก็ทึ่งนะ ทึ่งว่ารัฐบาลเขาเอาจริงเนอะ แล้วก็เรื่องของการตลาด ซึ่งบางทีหนังมันเน่ามากเลยนะ มันก็ดีนะครับ ทุกอย่างมันเปิดน่ะดีแล้ว อืมม์... มันเป็นแค่กระแสหนึ่งที่เข้ามาและมันก็จะผ่านไป ผมรู้สึกนะ คืออย่างน้อยเราเองก็รู้สึกถึงการต่อต้านนิดนึง ว่าเขาทำได้ แล้วทำไมเราทำไม่ได้ เหมือนแต่ก่อนที่ผมชอบหนังไต้หวัน ว่าทำไมเราทำไม่ได้ ผมเลยถึงกลับมาทำ เกาหลีก็เหมือนกัน ตอนแรกบ้านเราอาจจะลอกหนังเกาหลี แบบว่าหน้าเนียนอะไรแบบนี้ (หัวเราะ) มันก็เป็นเรื่องของการลอกเพื่อที่จะพัฒนา

FF: เรียกว่าลอกเลียนแบบสร้างสรรค์ ไม่ได้สิ้นคิดใช่ไหม?
เจ้ย : ใช่ๆ อืมม์... แต่มันมีอยู่แล้วนะ สิ้นคิดเนี่ย (หัวเราะกันทั้งวง) แต่ว่ามันจำเป็นที่ต้องทำไป เพราะวัฒนธรรมไทยมันก็คือการก๊อปปี้สิ่งต่างๆ ของคนอื่นเขามาเป็นของเราเอง

FF: เกาหลีที่คุณเจ้ยเคยสัมผัสมานี่ เขาชื่นชมบ้านเราในแง่ไหนบ้าง หรืออย่างความเป็นไทย
เจ้ย : อือ... ไม่น่ามีนะ แต่ว่าอือ มันก็จะเป็นด้านคลิเช่ เป็นอาหาร หรืออะไรอย่างนี้ เพราะมันเป็นเรื่องของการตลาดมากกว่า

FF: แล้วในวงการศิลปะล่ะเป็นอย่างไรบ้าง
เจ้ย : วงการศิลปะนี่เป็นคนละเรื่องเลย เพราะว่ามีหลายชื่อที่เป็นที่รู้จักในเมืองนอก อย่างฤกษ์ฤทธิ์ (ตีระวนิช) นี้ ที่ไปโด่งดังในเมืองนอก แต่เมืองไทยไม่รู้จัก เพราะเมืองไทยมันไม่มีราก แต่ว่าต่อไปมันน่าจะดี เพราะคนยอมรับนะนับถืออย่าง ฤกษ์ฤทธิ์, สุธี (คุณาวิชยานนท์) ที่เขาได้รับการยอมรับ โดยที่ไม่ต้องเอาช้างไปขายน่ะ (หัวเราะกันครืนใหญ่)

FF: ตัวคุณเจ้ยเองมีบทบาทในวงการศิลปะด้วย
เจ้ย : ตอนนี้ก็ทำอินสตอลเลชั่น (ศิลปะจัดวาง) แต่ส่วนใหญ่มันจะเชื่องโยงกับหนังของเรา ที่เราทำก็คือเป็นการนำเอากระบวนการในการทำหนังมาทำเป็นงานอินสตอลเลชั่น ก็ใช้ทีมเดียวกัน

FF: จัดแสดงไปหลายครั้งหรือยัง
เยอะฮะ เยอะ

FF: เคยแสดงที่บ้านเราไหม
เจ้ย : แสดงเดี่ยวไม่เคย เคยแต่แสดงกลุ่ม ที่ผ่านมาก็เป็นที่ศิลปากรกับจุฬาฯ

FF: อยากให้วงการหนังไทยในอนาคตเป็นอย่างไรบ้าง
เจ้ย : อยากให้วงการหนังไทยของเราดีขึ้น อยากให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนคนทำหนังไทยและบุคลากรที่เกี่ยวกับหนังไทยบ้าง คุณโดม (สุขวงศ์) เนี่ยน่าสงสารที่สุดในโลก หอภาพยนตร์ไทยกับวงการภาพยนตร์ไทยเนี่ย ได้ขี้ตีนเกาหลีก็โอเคแล้ว (หัวเราะกันสนั่น)

FF: คำถามสุดท้ายแล้ว (พวกเราชอบถามทุกคนแหละ) อยากถามว่าถ้าคุณเจ้ยตายไปแล้ว อยากให้คนข้างหลังพูดถึง อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล อย่างไรบ้าง
เจ้ย : ไม่ดีกว่ามั้ง (หัวเราะ) ไม่ต้องพูดถึง เดี๋ยวมันจะเหมือนกับว่า ตายไปไม่มีความสุขเหรอ ที่ต้องมาให้ใครพูดถึงตามหลังอย่างนั้น ไม่ต้องพูดถึงเลยดีกว่า




 

Create Date : 24 พฤษภาคม 2553   
Last Update : 24 พฤษภาคม 2553 20:54:56 น.   
Counter : 488 Pageviews.  


Syndromes of thai Movie หนัง กิน ศิลปะ และเรื่องน่าเบื่อของ 'เจ้ย' อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ตอน 2

นิตยสาร Freeform ฉบับที่ 13 2007

ต่อจาก
//www.bloggang.com/mainblog.php?id=movieworm&month=24-05-2010&group=3&gblog=20

FF: เหมือนหนังของคุณเจ้ยเป็นยาขมหรือเปล่า
เจ้ย : อืมม์...ไม่นะ เพราะว่า เอ่อ...จะพูดยังไงดี เราว่าหนังเราน่ะบันเทิงนะ (หัวเราะครืน ทั้งคนถามคนตอบ) แต่ว่าบันเทิงคนละแบบ ‘สุดเสน่หา’ อาจจะมีสิทธิ์ขมมาก แต่ว่า ‘แสงศตวรรษ’ เรื่องใหม่เนี่ย เรารู้สึกว่า เฮ้ย! ดูแล้วมีความสุขจังเลย หลายคนพูดกัน

FF: แต่มันก็ไม่ใช่ความบันเทิงในแบบขนมหวาน?
เจ้ย : ใช่ ใช่ เหมือน เหมือนอัลโมโดวาร์ เรื่องใหม่ (Volver) เนี่ย ก็ดูสนุกใช่มะ แต่ยังไงมันก็ไม่แมสอยู่ดี มันไม่ใช่มุมกว้าง มันคือความสนุกเฉพาะกลุ่มอะไรอย่างนี้ ให้ชาวบ้านมาดูเค้าอาจจะแบบ….เหวอ

FF: ความบันเทิงในมุมมองของคุณเจ้ยคืออะไรหรือ สมมุติถ้าคุณเจ้ยไม่ได้เป็นผู้กำกับหนัง แต่เป็นคนดูหนังธรรมดาทั่วไป ความบันเทิงแบบที่อภิชาติพงศ์อยากจะพบในหนังคืออะไร
เจ้ย : ของเราเองเหรอ มันคงเป็นเหมือนได้เดินไปกับผู้กำกับมั้ง เรามีความรู้สึกว่า ถ้าคนที่ชินกับหนังเราน่ะ เขาจะไม่ได้คิดถึงเรื่องแล้ว เขาจะคิดถึงสไตล์ แล้วก็คิดถึงอารมณ์ที่มันจะออกมา เขาจะต้องการมุ่งไปด้านไหน แล้วถ้ามันไม่ถึงเรื่องแล้ว ถ้ามันชินกับสัตว์ประหลาดแล้วเนี่ย มันจะมันมากนะ มันจะสนุก ที่หลายๆ คนได้ดูไปแล้ว ‘แสงศตวรรษ’ เรื่องนี้ฟีดแบกดีกว่าสัตว์ประหลาดมาก หนังเรื่องใหม่ของเราเนี่ย

FF: 'สัตว์ประหลาด!' ตอนนั้นกระแสเกย์มันยังไม่มาหรือเปล่า ถ้ากลับมาฉายตอนนี้จะดีขึ้นไหม
เจ้ย : ส่วนตัวเราไม่ได้มองว่ามันเป็นหนังเกย์นะ โอเค ตัวเราเป็นเกย์ใช่มะ แต่ว่าเราค่อนข้างสร้างสรรค์บทนะ มันเป็นเรื่องของความพลัดพรากมากกว่า มันเป็นเรื่องของอารมณ์ล้วนๆ คือ คนที่เดินในป่า มันไม่ใช่แค่เดินในป่า มันเป็นการสะท้อนมากกว่า

FF: กระแสเกย์ในบ้านเรา มันคงเป็นผลมาจากกระแสจากหนังเรื่อง ‘Brokeback Mountain’ ซึ่งจริงๆ แล้ว มันก็คงไม่ใช่หนังเกย์ แต่มันเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ของมนุษย์เราที่มีตัวละครหลักเป็นเกย์เท่านั้น เพียงแต่บางคนไปตีความว่ามันเป็นหนังเกย์ แล้วที่นี้พอมันประสบความสำเร็จ คนยอมรับหนังเกย์ได้มาก คนก็เลยทำหนังเกย์ตามๆ กันออกมา อย่างผีกระเทยที่ว่ากัน เรามองว่ามันก็คงเป็นผลพวงจากกระแสนี้ด้วยเหมือนกันนะ
เจ้ย : อืมม์... ถ้ามันเป็นด้านการตลาด มันก็คงใช่

FF: ในช่วงนั้น คนที่ไม่ชอบหนังสัตว์ประหลาดเพราะเขาค่อนข้างแอนตี้กับความเป็นเกย์ ด้วยหรือเปล่า?
เจ้ย : อืมม์...ก็ไม่เชิงนะ แต่ว่าเราก็ไม่ได้เข้าไปดูข้างใน เห็นบอกว่าเข้าไปดูกันเป็นคู่ๆ ผู้ชายกับผู้ชายอะไรเงี้ย แต่ตัวเราว่ามันไม่ใช่ประเด็นนะ

FF: เราไม่ได้มุ่งหวังอย่างนั้นใช่ไหม
เจ้ย : ใช่ครับ ก็คือเหมือนกับว่าเราทำเสร็จปุ๊บ มันเหมือนมีชีวิตของมันเอง ซึ่งผมไม่ได้มาลุ้นไง ว่าเฮ้ย! อาทิตย์แรกจะได้กี่ล้าน เพราะเราไม่ใช่นายทุนที่ลงทุน แล้วมันไม่ใช่สตูดิโอไทยด้วย คือจุดประสงค์ของเราที่ทำหนัง ถือว่าสำเร็จนะก็คือทำจบ แล้วก็แสดงอารมณ์อย่างที่เรารู้สึก แล้วโปรดิวเซอร์ก็แฮปปี้ เราแฮปปี้ เราไม่ได้โกหกใคร ซึ่งทุกเรื่องที่ผ่านมาเนี่ย โปรดิวเซอร์แฮปปี้มาก คือหมายความว่า เอ่อ... ถ้าเขามองในอีกมุมหนึ่ง เขาคงไม่แฮปปี้แล้วล่ะ เพราะหนังไม่ทำเงิน แต่ว่ากลุ่มที่เราทำกันมา มันจะประมาณว่า เฮ้ย! ชีวิตนี้มาทำอะไรอย่างนี้บ้าง แบบนี้

FF: มีเคยคนบอกว่าหนังของคุณเจ้ยไม่ใช่หนัง แต่เป็นเหมือนสารคดี เป็นสารคดีกึ่งหนัง หรือหนังกึ่งสารคดี คุณเจ้ยมีปัญหาตรงนี้บ้างไหม
เจ้ย : ไม่ ไม่มีปัญหานะ มันเป็นลักษณะของคำนิยาม ที่คนพยายามตีกรอบมากกว่า อืมม์... เรารู้สึกว่ามันยิ่งดีด้วยซ้ำ ที่ทำให้คนรู้สึกว่าว่า เฮ้ย! หนังมันคืออะไร ให้คนได้ตั้งคำถาม แต่ในขณะเดียวกันเราไม่อยากตอบคนดู... ที่รู้สึกผิดมากกับสุดเสน่หา คือแบบว่ามันต้องคัดคนดูในระดับหนึ่ง เหมือนกับว่า จะเข้าไปในร้านพิซซ่า ไม่ได้มีส้มตำขายนะ ข้างในเนี่ย หรือร้านส้มตำไม่มีพิซซ่าขายข้างใน มันถึงต้องเปิดโรงน้อยๆ ไง

FF: อย่างคุณเจ้ยบอกเมื่อกี้ว่า ถ้าหนังเรื่องสุดเสน่หา หรือสัตว์ประหลาดไปฉายที่เมเจอร์ ก็ไม่ไปดู แสดงว่าคุณเจ้ย เลือกโรงที่จะฉายด้วย?
เจ้ย : ใช่ๆ มันแปลก เพราะว่ารู้สึกเลยนะ เหมือนกับว่าโรงมันมีผลนะ สถาปัตยกรรมมันมีผลในแง่ที่มันเข้าไปแล้วมันมีไฟ มันมีสีอย่างนี้ เราก็ เฮ้ย มันแบบว่ามันไม่เหมาะกับหนังเราว่ะ เราก็แปลกๆ แต่ว่าในขณะที่พอไปฉายที่ต่างประเทศนี่มันมีโรงเฉพาะของมัน แล้วมันมีกลุ่มคนที่แบบว่า...โดยเฉพาะฝรั่งเศส มันเป็นโรงเล็กๆ แล้วกลุ่มคนก็จะมากันทุกอาทิตย์ มาคุยกันหน้าโรง มันเป็นสภากาแฟมากกว่า อย่างนี้ เราก็เพิ่งรู้สึกเหมือนกันว่าโรงหนังมันมีผลกับจิตวิญญาณของคนก่อนที่จะเข้าดูมากเหมือนกัน

FF: มันเหมือนเหมือนเป็น Site Specific หรือ การเจาะจงใช้สถานที่อย่างหนึ่ง
เจ้ย : เออ อะไรอย่างนี้ (หัวเราะ)

FF: แล้วโรงโปรดของคุณ เจ้ยในเมืองไทยนี่โรงอะไร
เจ้ย : ถ้าเป็นเมืองไทย เราก็ไปดูหนังบันเทิงอีกแบบหนึ่งอย่างนี้ ก็ดูได้หมดทุกโรง

FF: หนังเรื่องล่าสุดที่ดูคือเรื่องอะไร
เจ้ย : เรื่องล่าสุดหรือครับ เอ่อ...ดูดีวีดี (หัวเราะ) เรื่อง ‘Children of Men’ ฮะ ดีมากเลย เสียดายที่มันไม่ได้เข้าฉายในบ้านเรา แล้วก็เรื่องล่าสุดที่ไปดูในโรง ก็ไปดูเรื่อง ‘Volver’ ที่ลิโด้

FF: ขอกลับมาที่เรื่องการทำหนังของคุณเจ้ยอีกนิดนึงนะ ถ้ามีดารามายืนเรียงแถวให้เลือกไปแสดงได้โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเงินหรือเวลา คุณเจ้ยจะเลือกใครไปแสดงบ้าง
เจ้ย : ชอบหลายคนนะ ชอบคุณพิสมัย ชอบสินจัย (หงษ์ไทย) อุ้ม (สิริยากรพุกขะเวส) ก็ชอบนะ อืม...ประมาณนี้แหละ

FF: ดาราเหล่านี้ จะมีโอกาสได้เล่นหนังคุณเจ้ยบ้างไหม
เจ้ย : มันยากไง เพราะว่ามันไม่พร้อมทั้งคู่น่ะ เราก็ไม่ได้ให้เงินเขาเยอะขนาดนั้น เขาก็ไม่ได้ให้เวลาเราได้เยอะขนาดนั้น อืมม์...แล้วก็กลัวๆๆ กลัวดาราเดินออก เพราะว่าบางทีเราก็เขี้ยวเหมือนกัน

FF: ไม่ใช่ว่ากลัววิธีการแสดง หรือภาพติดตาของเขาหรือครับ
เจ้ย : กลัวด้วย คือคนที่เราชอบเนี่ย เรารู้สึกว่าเขาแสดงดีด้วย แต่ว่าเรารู้สึกว่า เรากลัวอย่างนึงที่ว่า เขามีภาพพจน์ คนดูมีภาพพจน์ของเขาแล้วอ่ะ ถึงว่าเราเองก็ตาม เราก็คงกำกับหนังได้ไม่เต็มร้อย เพราะเขาเป็นดารา

FF: ซึ่งมันจะไม่เหมาะกับหนัง?
เจ้ย : ใช่ เพราะงั้นสิ่งที่ทำได้ก็คือ เล่นเป็นตัวเขาเองน่ะ คือเล่นเป็นนักแสดง พิสมัยก็คือพิสมัยไปอยู่ในหนังของเรา ก็มีคนมาขอลายเซ็นไปตามเรื่อง

FF: แต่จะไม่เอามาเป็นตัวละคร?
เจ้ย : คงยาก ถ้าเป็นดารา แต่ตอนนี้คุยกับดาราญี่ปุ่นคนหนึ่ง เขาสนใจหนังเรา เขาก็เป็นนักแสดง แต่ว่าเราไม่มีภาพเขาไง เพราะว่าเขาไปมีภาพที่ญี่ปุ่น เขาชื่อ ฮิเดโตชิ นิชิจิม่า เขาเป็นพระเอกเรื่อง Dolls ของ คิตาโน่ ซึ่งเรากำกับได้ไม่ขัดเขิน เพราะว่าเราไม่มีภาพเขา แล้วก็ตอนนี้ก็เริ่มตกลงกัน แล้วก็คุยกับเขาแล้ว เขามีอะไรลึกกว่าที่เขาเล่นเยอะมาก

FF: เวลาคุณเจ้ยทำงาน อย่างคิดบท คิดพล็อต ใช้วิธีจด สเก็ตซ์ หรือว่านั่งแล้วก็เขียนบทออกมาเลย
เจ้ย : จะรวมๆ กันนะ คือจะพกสมุดโน้ตอย่างเงี้ย (หยิบสมุดโน้ตให้ดู) แล้วก็จะจดๆๆๆอยู่ตลอดเวลา เวลามีอะไรน่าสนใจ

FF: เวลาคิดงาน คุณเจ้ยมักจะคิดเป็นซีน คิดเป็นฉาก เป็นภาพ หรือเป็นคำ
เจ้ย : ก็คิดทุกแบบนะ เรามักจะเอาเรื่องราวจากรอบๆ ตัวมาใช้ อย่างเวลาที่เราเดินบนถนน แล้วมันมีสีแดงหยดใส่เสื้อเรา เราก็...เอ๊ะ? มันเลือดนี่ แล้วพอดมดู มันเป็นกลิ่นน้ำมันเครื่องนี่หว่า คือมันมีโมเมนต์อย่างเงี้ย หรือว่าเวลาไปวิ่งที่สวนจตุจักร แล้วแฟนที่วิ่งด้วยเขาบอกเราว่า รู้ไหมต้นไม้นี้...ชื่อต้นอะไร จำไม่ได้แล้ว มันมีฮอร์โมนเพศหญิงอยู่ด้วย ข้างในมันเหมือนฮอร์โมนของคนเลย ซึ่งเรารู้สึกว่ามันน่าสนใจ ก็รีบกลับมาเขียนอะไรอย่างนี้ฮะ หรือเชียงใหม่มันมีหมอกตอนนี้ หรือว่าเรื่องสวนสัตว์เชียงใหม่อะไรอย่างนี้ เราก็จดๆ บางทีก็ดูเว็บ แล้วก็ก็อปปี้จากบางกอกโพสท์จากอะไร แล้วก็ทำเป็นข้อมูลไป

FF: ดาราเหล่านี้ จะมีโอกาสได้เล่นหนังคุณเจ้ยบ้างไหม
เจ้ย : มันยากไง เพราะว่ามันไม่พร้อมทั้งคู่น่ะ เราก็ไม่ได้ให้เงินเขาเยอะขนาดนั้น เขาก็ไม่ได้ให้เวลาเราได้เยอะขนาดนั้น อืมม์...แล้วก็กลัวๆๆ กลัวดาราเดินออก เพราะว่าบางทีเราก็เขี้ยวเหมือนกัน

FF: ไม่ใช่ว่ากลัววิธีการแสดง หรือภาพติดตาของเขาหรือครับ
เจ้ย : กลัวด้วย คือคนที่เราชอบเนี่ย เรารู้สึกว่าเขาแสดงดีด้วย แต่ว่าเรารู้สึกว่า เรากลัวอย่างนึงที่ว่า เขามีภาพพจน์ คนดูมีภาพพจน์ของเขาแล้วอ่ะ ถึงว่าเราเองก็ตาม เราก็คงกำกับหนังได้ไม่เต็มร้อย เพราะเขาเป็นดารา

FF: ซึ่งมันจะไม่เหมาะกับหนัง?
เจ้ย : ใช่ เพราะงั้นสิ่งที่ทำได้ก็คือ เล่นเป็นตัวเขาเองน่ะ คือเล่นเป็นนักแสดง พิสมัยก็คือพิสมัยไปอยู่ในหนังของเรา ก็มีคนมาขอลายเซ็นไปตามเรื่อง

FF: แต่จะไม่เอามาเป็นตัวละคร?
เจ้ย : คงยาก ถ้าเป็นดารา แต่ตอนนี้คุยกับดาราญี่ปุ่นคนหนึ่ง เขาสนใจหนังเรา เขาก็เป็นนักแสดง แต่ว่าเราไม่มีภาพเขาไง เพราะว่าเขาไปมีภาพที่ญี่ปุ่น เขาชื่อ ฮิเดโตชิ นิชิจิม่า เขาเป็นพระเอกเรื่อง Dolls ของ คิตาโน่ ซึ่งเรากำกับได้ไม่ขัดเขิน เพราะว่าเราไม่มีภาพเขา แล้วก็ตอนนี้ก็เริ่มตกลงกัน แล้วก็คุยกับเขาแล้ว เขามีอะไรลึกกว่าที่เขาเล่นเยอะมาก

FF: เวลาคุณเจ้ยทำงาน อย่างคิดบท คิดพล็อต ใช้วิธีจด สเก็ตซ์ หรือว่านั่งแล้วก็เขียนบทออกมาเลย
เจ้ย : จะรวมๆ กันนะ คือจะพกสมุดโน้ตอย่างเงี้ย (หยิบสมุดโน้ตให้ดู) แล้วก็จะจดๆๆๆอยู่ตลอดเวลา เวลามีอะไรน่าสนใจ

FF: เวลาคิดงาน คุณเจ้ยมักจะคิดเป็นซีน คิดเป็นฉาก เป็นภาพ หรือเป็นคำ
เจ้ย : ก็คิดทุกแบบนะ เรามักจะเอาเรื่องราวจากรอบๆ ตัวมาใช้ อย่างเวลาที่เราเดินบนถนน แล้วมันมีสีแดงหยดใส่เสื้อเรา เราก็...เอ๊ะ? มันเลือดนี่ แล้วพอดมดู มันเป็นกลิ่นน้ำมันเครื่องนี่หว่า คือมันมีโมเมนต์อย่างเงี้ย หรือว่าเวลาไปวิ่งที่สวนจตุจักร แล้วแฟนที่วิ่งด้วยเขาบอกเราว่า รู้ไหมต้นไม้นี้...ชื่อต้นอะไร จำไม่ได้แล้ว มันมีฮอร์โมนเพศหญิงอยู่ด้วย ข้างในมันเหมือนฮอร์โมนของคนเลย ซึ่งเรารู้สึกว่ามันน่าสนใจ ก็รีบกลับมาเขียนอะไรอย่างนี้ฮะ หรือเชียงใหม่มันมีหมอกตอนนี้ หรือว่าเรื่องสวนสัตว์เชียงใหม่อะไรอย่างนี้ เราก็จดๆ บางทีก็ดูเว็บ แล้วก็ก็อปปี้จากบางกอกโพสท์จากอะไร แล้วก็ทำเป็นข้อมูลไป
FF: อีกเรื่องนึงที่น่าสนใจก็คือวิธีการตั้งชื่อหนังของคุณเจ้ย เรารู้สึกว่าคุณเจ้ยตั้งชื่อหนังภาษาไทยได้ไพเราะทุกเรื่องเลย ตั้งเองทั้งหมดเลยใช่ไหม
เจ้ย : ตั้งเองครับ

FF: จากมุมมองของเราคนทำหนังสือเขียนหนังสือ ดูเหมือนว่าคุณเจ้ยจะเป็นคนที่ชอบหนังสือ แล้วก็มีรสนิยมที่ดีมากในเรื่องการเลือกใช้ภาษา ปกติอ่านหนังสือเยอะไหม
เจ้ย : เยอะครับ ความจริงนิยายไทยก็อ่านไม่เยอะนะครับ แต่ว่าที่บ้านนี่เขาจะชอบกันมาก แล้วเราคงจะดูปกเอา

FF: ที่บ้านอ่านอะไรกันครับ
เจ้ย : เยอะมากเลยครับ ‘ดอกไม้สด’ แล้วก็พวก ‘พระอภัยมณี’ มีหมดเลย แล้วก็พวก ‘มาลัย ชูพินิจ’ หรืออะไรที่มันเป็นคลาสสิก ซึ่งสมัยก่อนเรื่องพวกนี้แต่งดีมากๆ แล้วชื่อเรื่องก็สุดยอด ประมาณว่า โอ้โห! คิดได้ไง

FF: อย่างชื่อหนังของคุณเจ้ยเรื่องล่าสุด ‘แสงศตวรรษ’ นี่ก็ตั้งได้เพราะมาก
เจ้ย : แสงศตวรรษเนี่ย พยายามทำให้มันส่ง ให้มันถึงหนังน่ะฮะ เพราะว่าหนังเป็นในเรื่องของปัจจุบัน และอนาคตด้วย เป็นสิ่งที่ดีๆ เป็นแสง

FF: ชื่อนี่มักจะมาก่อนหรือหลังจากทำหนังเสร็จ
เจ้ย : แล้วแต่ครับ ถ้าเป็นแสงศตวรรษนี่มาที่หลัง เพราะแสงศตวรรษนี่มันด้นพอสมควรในแง่ที่ถ่ายไปแล้วครึ่งเรื่องแล้วก็หยุด เดือนครึ่งก็เขียนบทภาคสองอะไรอย่างนี้ แล้วระหว่างที่ทำก็เขียนบท แล้วก็นั่งพิมพ์ๆ กลางคืน คุยกับผู้ช่วยอะไรอย่างนี้ แล้วก็สี่ทุ่มเอาไปของเธอพรุ่งนี้ อะไรอย่างนี้ อ้า! เป็นอย่างนี้ ก็สนุก คือ มีโปรดิวเซอร์ที่เข้าใจมากๆ ที่ใจดีมากๆ ไม่เข้ามาวุ่นวายเลย

FF: ทีมงานนี้เป็นทีมงานที่ทำด้วยกันมาตั้งแต่แรกๆ เลยหรือเปล่าครับ
เจ้ย : ใช่ ๆ ๆ

FF: ไม่มีทะเลาะกันเลยใช่ไหม?
เจ้ย : มี!... (หัวเราะ) มีเยอะๆ

FF: ทำงานด้วยกันมาหลายปีแล้ว เหนียวแน่นมากเหมือนกันนะ
เจ้ย : อืมม์...ใช่ๆ (หัวเราะ)

FF: เส้นทางในการเป็นผู้กำกับของคุณเจ้ยนี่ถือว่าราบรื่นดีไหม
เจ้ย : ราบรื่นนะ ราบรื่น อย่างหนึ่งคือเราไม่โกหกใครไง เราไม่ได้ไปโม้ว่า เฮ้ย เราจะทำหนังให้คุณให้ได้ร้อยล้านอะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้นคนที่เขาเข้ามา ก็คือคนที่เค้าชื่นชอบในสิ่งที่เราทำ มันเหมือนกับทีมงาน เราก็ปฏิบัติกับเขาอย่างที่เราอยากให้เขาปฏิบัติกับเรา บางทีเราก็ถามทุกคนนะ ถามเด็กยกของ ว่าหนังควรจะเป็นยังไง เอ๊ะ! คิดไม่ออกแล้ว ช่วยหน่อย ส่วนใหญ่จะเป็น Brain Strom หลาย ๆ อย่าง แต่ว่าคนที่ไม่ถูกกับเราก็มีนะ ทำด้วยกันไม่ได้ ก็ออกจากโปรดักชั่นไปก็หลายคน มันก็เป็นธรรมชาติ

FF: คุณเจ้ยทำขั้นตอนการตัดต่อหนังด้วยตัวเองด้วยหรือเปล่า ดูเหมือนบ้านเราจะมีปัญหาเรื่องนี้เยอะเหมือนกัน
เจ้ย : มีมือตัดต่อคู่บุญน่ะครับ เขาทำมาตั้งแต่ ‘สุดเสน่หา’ แล้ว คือเหมือนเราล้มลุกคลุกคลานมาด้วยกัน แล้วเขาก็จะรู้เลยว่าอย่างนี้เราไม่ชอบ แต่ว่าบางฉากที่เขาไม่ไหว เขาก็จะโยนมาให้เรา เอาไปตัด เดี๋ยวนี้มันมีตัดในคอมพ์ แล้วเราก็โยนไปให้เขา แล้วก็มาเทียบกัน

FF: คุณเจ้ยเวลาคุมกองถ่ายนี่ดุไหม
เจ้ย : เอ่อ... ดูเหมือนไม่ดุ แต่ดุนะ มันเหมือนมีรังสี (หัวเราะ) มีรังสีอมหิต โหดเหมือนกัน ก็สงสารนักแสดงเหมือนกัน แต่บางครั้งเราก็สื่อสารกับนักแสดงยากเหลือเกิน บางทีเราพูดไม่เป็น เราไม่ใช่คนช่างพูดมากไง ซึ่งผู้ช่วยสำคัญมาก ผู้ช่วยเขาจะมีจิตวิทยา เขารู้ว่าเราอยากได้อะไร อืมม์... แล้วนักแสดงก็จะลำบาก ถ้าบางทีเราบอกว่า เฮ้ย! เล่นให้เป็นธรรมชาติหน่อยดิ เค้าก็จะบอกว่า เอ๊ะ? ธรรมชาติแบบไหนวะ ถ้าเจอสถานการณ์นี้จะทำยังไง ซึ่งใจเราเองก็ เฮ้ย! กูก็ไม่รู้เหมือนกันว่ะ แต่ว่าเราก็อยากดูเหมือนกันว่าเขาจะตีโจทย์นี้ออกมาอย่างไร (หัวเราะ)

FF: หมายถึงว่าความเป็นธรรมชาติที่เราเห็นในหนังของคุณเจ้ย มันถูกจัดการขึ้นมาใช่ไหม
เจ้ย : ปนกันฮะ ปนกัน มันจะเป็นในเรื่องของการถ่ายหนังด้วยบางที บางทีมันเป็นการสะกิดคนดูด้วยว่า เฮ้ย! คุณกำลังดูหนังอยู่นะ คุณกำลังหนังอยู่ อย่างเรื่องล่าสุดเนี่ยชัดเลย คือมันเป็นการทำภาพยนตร์ นักแสดงบางครั้งมองกล้องด้วยซ้ำ บางทีหันมามองกล้องเลย คือเราก็ลองให้คนดูเห็น แล้วนักแสดงบางครั้งเราก็เข้มงวดมากมาก ถึงขั้นที่ว่าตรงนี้ผิดนะ ห้ามมาทางนี้ แต่บางครั้งเราก็ปล่อย มีบทให้ แบบว่าให้เป็นมู้ดนี้นะ แต่ว่าถ้าเหมือนบทนี่ผิดนะตัวเอง(หัวเราะ) อย่าพูดให้เหมือนอย่างงี้ เขาก็คิดหนักแล้วว่าจะทำยังไง

FF: มีคนที่เลิกแสดงไปกลางคันไหม
เจ้ย : ไม่มีฮะ ไม่มี ก็ไมเคิลนี่แหละเกือบ (หัวเราะกันครืนใหญ่)

FF: เวลาความเห็นไม่ตรงกันระหว่างคุณเจ้ยกับคุณไมเคิล ตอนนั้นตัดสินกันยังไง?
เจ้ย : ผมรู้สึกว่าเค้าจะกลัวผมนะ ผมจะพยายามคูล พยายามไม่พูดมาก แล้วเขาก็จะไปวีนใส่คนอื่น(หัวเราะเสียงดัง) แต่ถ้ามากไป ไม่ไหวแล้ว เราก็ “ไมเคิล!” (เรียกชื่อเสียงดัง) แต่ก็เข้าใจเขานะ เพราะเวลาออกมาแล้วมันดูสวยไง พอดูตอนตัดต่อแล้ว ไมเคิลดูสวยนะ เพราะมันจู้จี้มาก มันเลยสวยอะไรอย่างนี้ (หัวเราะ)

FF: คุณไมเคิลเคยให้สัมภาษณ์เราว่าหนังของเขาไม่ใช่หนัง แต่เป็นมูฟวิ่ง พิคเจอร์
เจ้ย : ฮะฮะ มันพูดเหมือนมีสาระ แต่ไม่มีสาระ (หัวเราะกันครืน) คือคำมันสวยว่ะ แต่พอมาคิดจริงๆ แล้วมันไม่รู้เรื่องไง ไอ้มูฟวิ่ง พิคเจอร์ นี่ก็เหมือนกัน มันคืออะไรวะ (หัวเราะ)

FF: ช่วงนี้มีพวกเด็กวัยรุ่น หรือคนรุ่นใหม่ สนใจจะเป็นคนทำหนังกันเยอะ อย่างมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็จะเปิดสอนกันค่อนข้างเยอะ คุณเจ้ยมองความเคลื่อนไหวตรงนี้อย่างไรบ้าง
เจ้ย : อืมม์... มันดีนะ มันเหมือนกับที่เราพูดกันว่าสมัย ร. 1 ร. 2 ถ้ามีคนเขียนไดอารี่เนี่ย คือตอนนี้ทุกคนมันเขียนหนังสือไม่เป็นไง มันเล่าเรื่องด้วยภาพอะไรอย่างนี้ ก็คือกล้องเป็นเครื่องมือของเขา ที่เขาจะถ่ายทอด อย่างน้อยมันก็ยังดีกว่าไปห้างน่ะ คือเหมือนกับว่า มันจะดีจะเลว จะลอกหว่อง การ์ ไว’ จะลอกอะไร มันก็คือการเรียนรู้ที่จะเล่าอะไรด้วยภาพน่ะ อือ...แล้วต่อไปมันจะคงยิ่งปัจเจกมากขึ้น จนเรารู้สึกว่าหนังเรากลายเป็นหนังตลาดไปเลย หนังอภิชาติพงศ์เนี่ย เพราะว่าไอ้พวกนี้มันส่วนตัวมากๆ นะ มันทำเพื่อส่งให้แฟน หรือทำเพื่อส่งให้เพื่อนคนนี้ มันจะเป็นอะไรที่เฉพาะกลุ่มมากๆ

FF: คุณเจ้ย ฃมองว่าไอ้การทำหนังส่วนตัวนี่ มันจะเป็นเทรนด์หรือมันจะยิ่งขยายวงกว้างมากขึ้นใช่ไหมครับ ต่อไปหนังมันจะส่วนตัวมากขึ้น
เจ้ย : ใช่ ฮะ ใช่ เพราะมันจะไปกับเทคโนโลยี มันจะเข้าถึงตัวเลยน่ะ เหมือนเวลาเสิร์ชเว็บอยู่อย่างเงี้ย ผมชอบเล่นเกมไง บางทีอยู่ๆ เฮ้ย! ในเว็บไหงมันมีนินเทนโด้แทรกเข้ามาเฉยเลย มันรู้ได้ไงว่าเราชอบนินเทนโด้ คืออย่างนี้ ผมว่ามันจะเข้าถึงปัจเจกมากขึ้น

FF: แล้วฮอลลีวู้ดละครับ อนาคตคิดว่าเป็นยังไง
เจ้ย : ฮอลลีวู้ดก็ยังคงเป็นฮอลลีวู้ดเหมือนเดิมแหละครับ

FF: รายได้ต่อเรื่องมันอาจจะน้อยลงหรือเปล่า
เจ้ย : ไม่ๆ ฮอลลีวู้ดจะเป็นอีเว้นท์ ที่คนขาดไม่ได้ เดี๋ยวนี้ขาดไม่ได้แล้ว ซึ่งมันต้องลงทุนเป็นหลายพันล้าน ซึ่งเราว่าดี มันเป็นเอ็นเตอร์เทนเม้นต์อีกแบบหนึ่งที่มันต้องมีน่ะ

FF: มีผู้กำกับหนังฮอลีวู้ดคนไหนบ้างที่คุณเจ้ยชอบไหม
เจ้ย : ฮอลลีวู้ดเลยหรือครับ อย่างคลินท์ อีสต์วูด นี่เป็นฮอลลีวู้ดไหม

FF: เป็นนะ ชอบไหม?
เจ้ย : 
ชอบพอสมควรครับ แต่ไม่ชอบไอ้หนังต่อยมวยเรื่องล่าสุดที่เขาทำ

FF: แล้วสตีเว่น สปิลเบิร์ก ล่ะ
เจ้ย : เคยชอบนะ แต่ว่าตอนหลังเขาเหมือนท่านมุ้ยเลย (หัวเราะลั่น) คือจะทำไอ้ War of The World ใช่ไหม รู้สึกว่า เฮ้ย! แรกๆ มันสนุกนะ แต่หลังๆ เหมือนกับว่าจะทำซีเรียสไปถึงไหนวะ คือสนุกก็สนุกไปเลยเพ่!

FF: แล้วทิม เบอร์ตันล่ะ?
เจ้ย : ไม่ชอบ! ผมชอบเดวิด ลินซ์ มันเหมือนกับว่าเขาช๊อคเรามากเลย

FF: แล้วหนังออสการ์ปีนี้ล่ะชอบไหม?
เจ้ย : ชอบนะ มาร์ติน สกอร์เซซี ก็ชอบ แต่เรายังไม่ได้ดู The Departed และก็ไม่ได้ดูไอ้หนังฮ่องกง (Infernal Affair) แต่มีคนบอกว่ามันเหมือนกันเลย

FF: เขาว่าเขารีเมค
เจ้ย : รีเมคกับก็อปมันไม่เหมือนกันนะ แต่คนบอกว่าก๊อป (หัวเราะกันลั่น)

FF: ทำไมไม่ชอบทิม เบอร์ตันล่ะ เขาก็ดูน่าสนใจนะ
เจ้ย : คือเค้าก็ดีไง แต่เราว่า เราคงติดแค่ตัวเรามั้ง เราไม่ชอบหนังสไตล์นี้

FF: เหมือนเคยอ่านที่ไหนว่า เควนติน ทารันติโน่ ชอบหนังคุณเจ้ยมาก
เจ้ย : เควนตินกับฉีเคอะจะชอบ แล้วก็ทิลด้า สวินตัน

FF: เขาคอมเม้นต์หนังคุณเจ้ยว่าอย่างไรบ้าง
เจ้ย : เควนตินนี่ไม่ทราบเหมือนกันนะ แต่ว่าแต่ว่าฉีเคอะนี่ชอบมาก เค้าอีเมล์มา เมียเค้าเป็นผู้จัดการ แล้วเค้าก็อีเมล์มาทำนองว่า เออ ชอบหนังและก็ชอบตากล้องด้วย อะไรอย่างนี้ สนใจไหม เอาตากล้องไปถ่ายหนังของเขาไหม

FF: แล้วไปไหม
เจ้ย : พอดีตากล้องของผมขี้เกียจ (หัวเราะกันครืน) ชอบอยู่ในประเทศ (เออ! ดีนะ) แต่ที่ปิ๊งสุดๆ นี่คือ ทิลด้า
สวินตัน คือเราชอบเขาตั้งแต่ที่เขาเล่นหนังของ ดีเร็ค จาแมน แล้ว สุดยอด คือทำหนังแบบส่วนตัวมากๆ เรารู้สึกว่ามันมีค่าไง และก็ทิลด้าก็เล่นอยู่ในนั้นตั้งแต่เธอยังเด็กๆ แล้ว พอดีเราไปรู้จักกับเพื่อนของเขาซึ่งไปดู ‘สัตว์ประหลาด’ ด้วยกัน เขาเล่าให้ผมฟังว่า ทิลด้าจับมือเขาตลอดเวลา แล้วทิลด้าพอดูเสร็จแล้วเขาก็เขียนจดหมาย ซึ่งน่าจะเป็นบทความลงพิมพ์ที่ไหนก็ไม่รู้ คือเขียนให้ลูก อธิบายให้ลูกฟังว่า ทำไมแม่ถึงอยู่ในวงการหนัง แล้วเขาก็พูดๆ ไป แล้วก็มีกล่าวถึง ‘สัตว์ประหลาด’ ส่วนหนึ่งว่า หนังสมัยนี้ทำให้แม่หมดความเชื่อในภาพยนตร์แล้ว แต่พอได้ดูหนัง ‘สัตว์ประหลาด’ เนี่ย เหมือนกับว่าความเชื่อในภาพยนตร์มันกลับคืนมา (ขนลุกกันหมดเลย) เราก็เป็นประเภทบ้าดาราอยู่แล้ว

FF: โห! จริงเหรอ (หัวเราะ)
เจ้ย : คือเราก็ตื่นเต้นตามประสาคนทั่วไป แต่ก็เจอเยอะมากเลยนะตอนไปเทศกาลอะไรอย่างนี้ ก็ทำเป็นคูล ไม่เข้าไปขอลายเซ็น แต่ใจจริงแล้วอยากไปขอลายเซ็นมากๆ (หัวเราะกันลั่น) แต่ว่าทิลด้าเนี่ย ทำให้เรามั่นใจในหนังของเรามากขึ้นว่า เฮ้ย! อย่างน้อย มันก็มีผลกับอีกคนหนึ่งนะ ทำให้เรามันใจในสิ่งที่เราทำมากขึ้น

FF: แสดงว่าคุณเจ้ยก็ยังต้องการการยอมรับมากอยู่เหมือนกันนะ?
เจ้ย : เอ่อ...ในระดับหนึ่ง ใช่ ใช่ คือมันเป็นธรรมชาติของคน แต่ถ้าจะถามว่าแคร์ไหม ไม่แคร์! เราไม่ได้คิดถึงคนดูขนาดนั้น ที่จะมาเปลี่ยนหนังเราเนี่ยเป็นคนดูเอง บางทีเราก็ไม่อยาก ก็ไม่อยากแช่กล้องนานๆ เลย เฮ้ย! เบื่อแล้ว ถ้าตัวเองเบื่อแล้วเนี่ย คือไม่ดีแล้ว คือเบื่อแล้ว แช่นานไปแล้ว (หัวเราะ)

FF: แต่ยังหวังไหมว่าหนังที่ทำจะมีคนชอบมากขึ้น
ไม่นะ ไม่นะ ไม่ได้หวังขนาดนั้น แต่ดีใจเฉย ๆ ว่าถ้ามีคนที่เข้าใจได้ อะไรอย่างนี้

FF: มองว่าหนังของตัวเองมีความเป็นไทยอยู่หรือเปล่า?
เจ้ย : ไม่รู้ว่าความเป็นไทยคืออะไรไง (หัวเราะกันครืนใหญ่) ตอนที่ไปสัมมนาก็ เฮ้ย! มันคืออะไรวะ มันไม่มี สังคมไทยมันเป็นสังคมที่ไม่ค่อยมีระบบ แล้วก็ไม่มีออริจินอลมาตั้งแต่นานแล้ว อะไรก็เอาของเขามาหมด แต่ว่าทุกอย่างมันเป็นความมีเสน่ห์ของมันไง คือเอาอะไรหลายๆ อย่างทั้งอาหาร ทั้งการแต่งกายอะไรอย่างนี้ ประเทศไทยมันอยู่ได้เพราะความหลากหลายอันนี้แหละ เราเลยไม่รู้สึกไงว่าไทยมันคืออะไร เราไม่รู้ คิดว่ามันเป็นเรื่องของการไม่มีระบบมากกว่า อย่างจีนเนี่ยมันไม่มีระบบ แล้วสังคมมันเละมาก มันจะเป็นประเภทฉันจะเอา จะแข่งขันกัน เอาชนะกัน แต่ของไทยมันน่ารัก อย่างแม่ค้าขายของในตลาดริมทางเดินก็เละๆ อย่างนั้น แต่ว่าไม่ได้ก้าวร้าว ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน นี่คือสิ่งที่ผมชอบของไทย แล้วคนก็ยังอยู่กันได้ รถเมล์สาย 8 เนี่ย ขับนรกเลย แต่คนก็ยังนั่งกันได้ ถ้าเป็นเกาหลีนี่มันประท้วงเผารถแล้ว(หัวเราะ) แต่ว่าคนมันทน บางทีเราก็ทน บางทีเราก็รำคาญ แต่ว่ามันเป็นพลังบวกและลบที่ทำให้มันอยู่ในสังคมนี้ได้

FF: คุณเจ้ยมีผู้กำกับในดวงใจที่ให้อิทธิพลในการทำหนังของตัวเองไหมครับ
เจ้ย : ช่วงแรกที่เราทำหนังก็มี เราจะกรี๊ดพวกอับบาส เคียรอสตามิ อะไรพวกนี้ เป็นผู้กำกับหนังอิหร่าน ตอนอยู่ที่ชิคาโก้ เราไปดูหนังของอับบาสทุกเรื่องเลย เราคิดว่าถึงจะต่างเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม แต่กลับเชื่อมโยงกันได้ด้วยภาพยนตร์ รู้สึกว่านี่คือจุดเปลี่ยนของชีวิต แต่แค่ตอนนั้นนะ ไม่ใช่ตอนนี้ นี่เราก็เพิ่งได้เจอเคียรอสตามิตัวจริงที่เกาหลี มีคนแนะนำให้รู้จัก แล้วบอกว่าเราชอบหนังของเขามาก เขาก็ลุกขึ้นมากอดเรา(ยิ้ม) แล้วก็พวกหนังไต้หวันที่เค้าพูดถึงถึงความจริง เป็นเรียลลิซึ่ม แบบใหม่ อย่างพวกไฉ้หมิงเลี่ยงเนี่ย เราก็ติดสไตล์ของเขา หรืออย่าง เปโดร อัลโมโดวาร์ นี่ก็ชอบ เราชอบผู้กำกับที่มีเอกลักษณ์ ที่พอดูหนังของเขาแล้วรู้ว่าตัวคนทำเป็นยังไง เรารู้สึกว่าเราติดมาจากตรงนั้นพอสมควร แต่ว่าพอมาทำหนังแล้ว เรื่องหลังๆ เราก็รีแล็กซ์มากขึ้น อาจเป็นเพราะเรื่องที่พูดด้วย หนังของเรามันเป็นเรื่องสามัญ เป็นเรื่องของคนธรรมดาที่ไม่ได้โดดเด่นอะไร เป็นเรื่องที่คนมันมีความเลวความดี ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์น่ะ มันคือความงามเหมือนกันนะ

FF: หนังทุกเรื่องของคุณเจ้ยต้องมีป่า มีต้นไม้เยอะๆ
เจ้ย : ชอบๆ มันเป็นความชอบส่วนตัวไง เหมือนกับว่าเราชอบ แบบว่า เฮ้ย อยู่แล้วมันมีความสุข ตอนเวลาเราไปถ่าย ‘สุดเสน่หา’ แล้วเราต้องรอแดดไง พอไปนั่งแล้วมันเข้าไปในหัวใจ ความนิ่งของป่ามันทำให้เรามีสมาธิด้วยแล้วก็กลิ่น หลายๆ อย่าง แต่เรื่องหลังก็ไม่ป่าแล้วนะ (หัวเราะ)

FF: คุณเจ้ยเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติหรือเปล่า
เจ้ย : เชื่อ เชื่อในแง่ที่มันไม่เหนือธรรมชาติไปแล้วไง(หัวเราะ) คือเชื่อว่าตรงที่ว่ามันไม่ Supernatural มัน Natural ไง อย่างเรื่องวิญญาณอะไรอย่างนี้

FF: เคยเจอผีมาแล้วใช่ไหม
เจ้ย : เคยฮะ แต่ว่ามันเป็นวิญญาณมากกว่า

FF: ที่เมืองนอกหรือเมืองไทย?
เจ้ย : เมืองไทย เมืองนอกก็เคยเจอ

FF: ยังไงครับ เจอยังไง?
เจ้ย : มันเป็นลักษณะของกลิ่นมากกว่า เป็นกลิ่น คือผมทำงานอยู่ในห้องแอร์ชั้นสองไง แล้วมันมีกลิ่นธูป มันมีหมาหอนมาก่อน หมาหอนแบบผีน่ะ (หัวเราะ) แล้วมันหอนมาจากบ้านโน้น แล้วพอบ้านโน้นหยุด บ้านเราก็หอนต่อข้างล่าง แล้วอยู่ดีๆ มันก็มีกลิ่นธูปแล้ว มีลมด้วย มีลมหอบกลิ่นธูปวูบมา แล้วเราก็หันไปมองทันที ม่านมันไม่ขยับ มันไม่มีลมอยู่แล้ว มันอยู่ในห้องแอร์ เราก็มองไปทางนั้น แล้วหมาตรงนี้หยุด ตรงโน้นก็หอน แล้วมันก็หอนต่อๆ กันไปอีกที เราก็รู้สึกว่า โอ้! ใช่แล้ว คือมันอธิบายไม่ได้ไง เรารู้สึกว่ามันน่าจะเป็น แล้วก็เห็นที่ฝรั่งเศส เห็นผีผู้หญิง ฮะ เข้ามายืนอยู่ปลายเตียง

FF: เห็นเป็นตัว ๆ เลย?
เจ้ย : ฮะ เป็นตัวโปร่งใส แต่ว่าอยู่เมืองนอกนี่เราไม่กลัว ไม่รู้เป็นไร แต่อยู่เมืองไทยกลัว สงสัยถูกอำนาจมืดครอบงำ(หัวเราะ) แล้วผมก็ถามภาษาอังกฤษนะว่า คุณต้องการอะไร

FF: คุยด้วยกับผีเลยเหรอ
เจ้ย : ใช่ เพราะผมไม่กลัวตอนอยู่เมืองนอก เขาก็นิ่งมาก แล้วก็หายตัวไปเหมือนในหนังเลย ฟื้บ!...เฟดเอาท์ไป

FF: เจอผียังเหมือนซีนผีในหนังเลย มันเกี่ยวอะไรกันรึเปล่า?
เจ้ย : ไม่รู้นะ แต่เราคิดว่าวิญญาณเนี่ย คือถ้าเราตายไปแล้ว แล้วเราเกิดเป็นวิญญาณ เราก็คงลอกจากหนังผีที่เราเคยดูตอนเรามีชีวิตอยู่ (หัวเราะกันครืนใหญ่) เหมือนกับว่า จะทำยังไงดีวะ ที่จะปรากฏตัว คือถ้าปรากฏตัวแบบว่ายิ้มมา เล่นมาๆ อะไรอย่างนี้ คนก็จะไม่กลัว คนก็จะไม่รู้สึกถึงสิ่งที่ผีอยากจะสื่อสาร ผีอาจจะหน้าแตกได้ (คุณเจ้ยตั้งใจอธิบายอย่างจริงจัง เป็นหลักเป็นการ จนพวกเราคนฟังต้องพักเพื่อหัวเราะกันท้องคัดท้องแข็งไปเลย)

FF: เวลาไปถ่ายหนังข้างนอก ต้องบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไหม
เจ้ย : มี! มีทุกกอง เวลาเราไปที่ใหม่ๆ เราต้องจุดธูปไหว้

FF: ไม่ว่าหนังจะอาร์ตขนาดไหนก็ยังต้องบนใช่ไหม (หัวเราะ)
เจ้ย : บนสิ บน ยิ่งต้องบนหนักเลยกองเรา (หัวเราะ) อย่างน้อยก็เพื่อจิตใจด้วย ปลุกขวัญกำลังใจ เหมือนเราไหว้พระตอนก่อนนอนทุกคืนน่ะ บางทีมันไม่ได้เพื่อบนใคร แต่มันเพื่อตัวเราเอง มันเพื่อทำให้ใจเรานิ่ง ให้นอนหลับสนิท ที่บนก็เหมือนกัน มันเหมือนกับว่า ให้เรามีสมาธิตอนถ่ายทำ แต่มีเรื่องนึงมันก็แปลกนะ คือตอนไปเสี่ยงเซียมซีที่เจ้าพ่อเขาใหญ่ เขาเขียว ออกมาเจอห่วยเลย คือจะล้มเหลวทุกอย่าง เราก็ลองใหม่ ไม่เชื่อ ไม่เชื่อ ออกมาเบอร์เดิมโว้ย เราก็ โอเค! ขอใหม่นะเจ้าพ่อ ขอให้ดีๆ เราถวายของแล้วไง ก็ออกมาเบอร์เดิมอีก แล้ววันนั้นก็เละหมดเลย ถ่ายไม่ได้ เละหมดเลย

FF: ประมาณว่าไม่เชื่ออย่าลบหลู่?
เจ้ย : แต่เราเชื่อไง เราเชื่อ เราไม่ได้เชื่อเรื่องผีมาก แต่เราเชื่อว่าเป็นแค่พลังงานอะไรอย่างนี้

FF: แล้วเชื่อเรื่องชีวิตภพหน้าไหม
เจ้ย : เชื่อฮะ เชื่อๆ อย่างหนังเรื่องใหม่เนี่ย ก็พูดถึงการเวียนว่ายตายเกิด

FF: คุณเจ้ยนับถือศาสนาอะไรอยู่
เจ้ย : ก็น่าจะพุทธนะ เหมือนที่เราบอกไงว่า บางอย่างเราถูกโปรแกรมมาแล้ว เราเปลี่ยนไม่ได้

FF: คิดว่าตัวเองเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีไหม
เจ้ย : ก็น่าจะดีนะ เพราะว่าศีลห้านี่ก็พยายามจะไม่ละเมิดนะ แต่มันก็มีบ้างนิดๆ หน่อยๆ (หัวเราะ) แต่มันก็ไม่ได้แบบรุนแรง ด้วยสายงานอาชีพเราด้วยมั้ง ที่เราไม่จำเป็นต้องไปละเมิดกฎอะไร

ต่อ
//www.bloggang.com/viewdraft.php?id=movieworm&month=24-05-2010&group=3&gblog=22




 

Create Date : 24 พฤษภาคม 2553   
Last Update : 21 มิถุนายน 2553 0:05:24 น.   
Counter : 686 Pageviews.  


Syndromes of thai Movie หนัง กิน ศิลปะ และเรื่องน่าเบื่อของ 'เจ้ย' อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ตอน 1

นิตยสาร Freeform ฉบับที่ 13 2007

‘ดอกฟ้าในมือมาร’ ‘สุดเสน่หา’ หรือ ‘สัตว์ประหลาด!’ เหล่านี้เป็นรายชื่อหนังของผู้กำกับไทยรุ่นใหม่คนหนึ่ง ที่ได้ชื่อว่า เป็นคนทำหนังที่ไม่แคร์คนดูที่สุดของบ้านเรายุคนี้

บางคนได้ยินชื่อเหล่านี้แล้วอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยเท่าไรนัก หรือบางคนที่รู้จักก็อาจเบือนหน้าหนี และอาจเมินตั้งแต่ได้ยินชื่อเรื่อง มีบางคนที่เข้าไปดูแล้ว ต้องเดินออกจากโรงกลางคัน ทั้งๆ ที่หนังยังไม่ทันจะจบ

“ดูไม่รู้เรื่อง” คือคำปรามาสที่หนังของเขามักจะได้รับ “หนังอะไรวะ” คือความเห็นส่วนใหญ่ของคนที่เคยดูหนังของเขา อึ้ง, มืนตึ้บ และงุนงง คือปฏิกิริยาของคนส่วนใหญ่ที่ดูหนังของเขาจนจบ

แต่อย่าเพิ่งคิดว่ามันเป็นความเห็นของคนทั้งหมด เพราะยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่รักหนังของเขาเหลือเกิน และคนเหล่านี้นี่เอง ที่เบื่อหน่ายความซ้ำซากจำเจ และหลงรักเสน่ห์ในความแตกต่างในหนังของเขา โดยในจำนวนที่ว่านี้ ยังรวมไปถึงเหล่านักวิจารณ์ และกรรมการในเวทีประกวดหนังระดับโลกอีกด้วย ซึ่งรางวัล Un Certain Regard (รางวัลเกียรติยศที่เป็นการลงมติจากนักวิจารณ์ ผู้กำกับ และนักแสดง) จากเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส (Cannes Film Festival) ของหนังเรื่อง ‘สุดเสน่หา’ ซึ่งถูกจัดให้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดที่เคยฉายในเทศกาลนี้ โดยนิตยสาร Le Cahiers du Cinema และรางวัล Jury Prize ของหนังอย่าง ‘สัตว์ประหลาด!’ ซึ่งเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก ที่ได้รับเลือกในสายประกวดหลักจากเทศกาลเดียวกัน ก็เป็นหลักฐานชั้นดีอย่างหนึ่ง รวมถึงการได้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์สำคัญอื่นๆ อีกหลายแห่งทั่วโลก และยังติดโผหนึ่งในสิบหนังที่สถาบันต่างๆ เคยจัดอันดับหนังควรดูอยู่เสมอ หรือการได้รับคำวิจารณ์จากหนังสือพิมพ์นิวยอร์ค ไทม์ ว่าเป็นหนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์รุ่นใหม่ที่น่าสนใจที่สุดในยุคนี้ ก็คงเป็นการการันตีได้อย่างดีอีกเหมือนกัน

ล่าสุด เขายังได้ร่วมเป็นหนึ่งในหกผู้กำกับ ที่ได้รับการคัดเลือกให้ทำหนังสำหรับการเฉลิมฉลองวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 250 ปีของโมสาร์ท คีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ชาวออสเตรีย ภายใต้การดูแลของ ปีเตอร์ เซลลาร์ หนึ่งในศิลปินชั้นนำของโลก ซึ่งเชิญศิลปินแขนงต่างๆ อาทิ ดนตรี การแสดง โอเปร่า วรรณกรรม และภาพยนตร์ มาร่วมสร้างงานเพื่อการเฉลิมฉลองอันยิ่งใหญ่นี้โดยเฉพาะ โดยมีคอนเซ็ปต์อันมุ่งเน้นไปที่การนำเสนอแนวความคิดสร้างสรรค์ในผลงานของโมสาร์ทออกมา โดยเฉพาะงาน 3 ชิ้น สุดท้ายของเขาคือ The Magic Flute, La Clemenza di Tito และ Requiem โดยเขาเลือกที่จะนำเสนอเรื่องราวที่กล่าวถึงความทรงจำ โดยมองว่าชีวิตมนุษย์คือความมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง อันเป็นหัวใจหลักในผลงาน The Magic Flute ของโมสาร์ท ซึ่งนี่เองเป็นจุดเริ่มต้นของผลงานชิ้นล่าสุดของเขา ‘Syndromes and a Century’ หรือ ‘แสงศตวรรษ’ นั่นเอง

“ภาพยนตร์ที่ดีที่สุดแห่งปี 2549” “ภาพยนตร์อันลึกลับแห่งความทรงจำที่ซับซ้อนที่สุดของฤดูนี้” “ภาพยนตร์อันเปี่ยมมนต์เสน่ห์ ความสวยงาม และความพิลึกที่แสนพิเรนทร์” เป็นส่วนหนึ่งในหลากหลายคำวิจารณ์ที่มีต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ และ แสงศตวรรษยังเพิ่งได้รับรางวัลที่ 1 (Best Film) จากเทศกาลภาพยนตร์ Deauville Asian Film Festival ประเทศฝรั่งเศสมาสดๆ ร้อนๆ ซึ่งเทศกาลสำหรับหนังเอเชียที่สำคัญที่สุดเทศกาลหนึ่งในฝรั่งเศสเลย และเข้ารอบสุดท้ายในการประกวดของเทศกาลภาพยนตร์ที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่างเทศกาลภาพยนตร์เวนิสครั้งที่ 63 (Vanice Film Festival 63th)

เราชาวฟรีฟอร์มได้รับโอกาสให้เข้าไปพูดคุย และสัมภาษณ์ผู้กำกับคนเก่งที่ว่านี้ถึงในสตูดิโอส่วนตัวของเขา With a Little Help จากเพื่อนร่วมอาชีพอย่าง Bioscope (ซึ่งเป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายภาพยนตร์เรื่องแสงศตวรรษในประเทศไทยด้วย)
พวกเราห้าชีวิต ยกขบวนกันไปถึงบ้านกึ่งสตูดิโออันร่มรื่นของเขาในย่านลาดพร้าว ที่ข้างหน้าประดับด้วยตัวอักษรชื่อเก๋ว่า ‘คิก เดอะ แมชชีน’ ซึ่งเป็นการการันตีว่าเรามากันถูกที่แน่นอน หลังจากที่เราจอดรถและเคลื่อนขบวนผ่านประตูหน้าเข้าไป ผู้กำกับหนุ่มผมเกรียนของเราก็โผล่ออกมาทักทายพวกเราด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม และเชิญให้พวกเข้าไปนั่งรอกันในออฟฟิศที่ตกแต่งแบบสบายๆ ของเขา ซึ่งประดับประดาไปด้วยโปสเตอร์หนัง และตู้เย็นที่เต็มไปด้วยม้วนฟิล์ม

หลังจากจิบน้ำเย็นดับร้อนและแก้กระหายแล้ว บทสนทนาของพวกเรากับชายหนุ่มผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้กำกับหนังที่เอาแต่ใจตัวเองที่สุดของประเทศไทยในพ.ศ.นี้อย่าง ‘อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล’ หรือ 'คุณเจ้ย' ของพวกเรา ก็ได้เริ่มต้นขึ้น ณ.บัดนี้


FF: เราเคยเจอคนไทยมากกว่าสามคน ที่พูดว่าเขาทนดูหนังของ‘อภิชาติพงศ์’ไปจนจบเรื่องไม่ได้ ตัวคุณเจ้ยเอง เคยดูหนังเรื่องไหน แล้ว ต้องเดินออกจากโรงมากลางคันบ้างไหม
เจ้ย : มีๆๆ เออ ไอ้เรื่อง ‘วัยอลวน’ อันนึง ที่เดินออกเลย เรารับไม่ได้ ที่มีตัวละครเปลี่ยนใจไม่เป็นเกย์ในภายหลัง แล้วคนดูก็ชอบ ก็เฮ ชื่นชม

FF: รับไม่ได้เพราะอะไร เพราะความคิดในหนังมันไม่เข้าใจอะไรเลยหรือเปล่า?
เจ้ย : อืมม์... เราเองก็เป็นเกย์ใช่ไหม แต่เราก็ไม่ได้อะไรกับความเป็นเกย์มากมาย แต่แบบนี้มัน นะ แต่ว่าเรื่องนี้ตอนหลังต้องเข้าไปดูใหม่ แล้วที่เดินออกจากโรงก็มีเรื่องของทรนง ศรีเชื้อ เรื่อง ‘อมนุษย์’ คือ เพราะว่าเราเป็นแฟนทรนงไง แต่ก่อนนะ ‘กลกามแห่งความรัก’ หรือว่า ‘อุบัติโหด’ ชอบ ชอบมาก อุบัติโหดเนี่ยหนังสุดยอดของเมืองไทย ไอ้อมนุษย์เนี่ย เราเข้าไปดูแล้ว อู้หู มันแย่เหลือเกิน มันเหมือนกับว่าเขาถูกข่มขืนโดยสตูดิโอ เพราะว่าช่วงนั้นพวกสัตว์ประหลาดมันกำลังมาไง

FF: ‘สัตว์ประหลาด’ ของคุณเจ้ย ?
เจ้ย : ไม่ใช่ๆ (หัวเราะ) ไอ้พวกงูยักษ์หรืออะไรก็ตามแต่น่ะ แต่ว่าเราก็สนใจไง เพราะว่ามันเป็นทรนงไง แต่พอเข้าไปดูแล้วโอ้โห! น่ากลัวมาก มันไม่ใช่เค้าอีกแล้ว ซึ่งนี่ไงน่ากลัวก็ขนาดคนรุ่นนั้นยังโดนข่มขืนโดยสตูดิโอเลย

FF: ทำไมผู้กำกับไทยมักเป็นแบบนี้กันหมดเลย แรกๆ ทำหนังดีแต่เรื่องหลังๆ มาจะแย่ลง อย่างของคุณเป็นเอก รัตนเรือง คุณเจ้ยก็บอกว่า เรื่องแรกยังชอบอยู่ แต่พอมาเรื่องหลังๆ ไม่ค่อยชอบ ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร?
เจ้ย : เอ่อ...อย่างเป็นเอกนี่ คงจะเป็นเรื่องการหาแนวทางของเขาอยู่เหมือนกันนะ เป็นเอกนี่น่าสนใจมากในตัวเขาเอง เหมือนกับว่าเรารู้สึกว่าในยุคหลังๆ มาเขาเดินผิด อาจจะผิดแค่ The Invisible Waves น่ะ แล้วเรารู้สึกด้วยว่าเขารู้ตัวนะ อันนี้ส่วนตัวนะ (หัวเราะ) แต่ว่าเรื่องต่อไปน่ะน่าลุ้น อย่างงี้สิสนุก เพราะว่าเราได้ติดตามไง

FF: แต่ก็ยังไม่ถือว่าเขาเปลี่ยนไปด้วยระบบ
เจ้ย : ไม่ๆ เพราะมันเพิ่งเริ่ม เรากับเป็นเอก พวกนี้มันเพิ่งเริ่ม เรารู้สึกว่ามันน่าติดตาม

FF: ผู้กำกับหนังรุ่นใหม่ที่ ที่ประสบความสำเร็จในเรื่องรายได้และได้รับความนิยม ในบ้านเรามาก อย่างเช่น พวกกลุ่มผู้กำกับ ‘แฟนฉัน’ หรือ ‘เพื่อนสนิท ‘ หรืออย่าง ‘365 วันตามติดเด็กเอ็นท์ฯ’ คุณเจ้ยมีความคิดเห็นกับการทำงานของคนกลุ่มนี้อย่างไรบ้าง?
เจ้ย : แฟนฉัน เรายังไม่ได้ดู (หัวเราะครืนกันทั้งวง โห! เชยกว่า ‘ตั้ม’ วิศุทธิ์ พรนิมิต ที่เราเคยสัมภาษณ์ อีกนะ) แต่มีความรู้สึกว่าต้องดูไง ต้องดู แต่พวกนี้มีดีวีดีหมดเลยนะ

FF: ช่วงก่อนหน้านี้ บ้านเราก็มีหนังดีที่ฉายแล้วได้สตางค์ อย่างเรื่องเรื่อง ‘15 ค่ำฯ’ หรือว่าเรื่อง ‘โหมโรง’ คุณเจ้ยคิดอย่างไรกับหนังเหล่านี้บ้าง
เจ้ย : ไม่ชอบมากๆ (ตอบทันที) ไม่ชอบ ‘โหมโรง’ คือไม่ใช่ไม่ชอบมากๆ แค่ไม่ชอบ(หัวเราะกันอีกครืน ทั้งคนถามและคนตอบ) คือเรารู้สึกว่ามันทำร้ายเรื่องน่ะ อันนี้คือมุมมองของคนทำหนังนะ เหมือนมันทำร้ายความงามของดนตรี มันทำร้ายความงามของเรื่อง ซึ่งเรื่องสวยมากๆ อย่างบางฉาก โหย กล้องมาอย่างนี้เลย มาพึ้บ...แล้วก็ตัดเป็นแอ็คชั่นเลย เราก็แบบ ฮู้ย มันจะเอาใจคนดูกันไปถึงไหน อย่างนี้ ซึ่งบางทีเราอยากให้มันนิ่งๆ ไง อยากดูความงามของมือเค้า แบบกำลังดูอยู่ ตัดไปแล้วอะไรอย่างนี้ อันนี้คือส่วนตัวแล้ว เราก็เลยไม่ชอบ

FF: แล้วเรื่องคอนเซ็ปต์ หรือเนื้อหาของมันล่ะ?
เจ้ย : ชอบๆ ฮะ ชอบ อย่างน้อยมันเป็นมุมมองใหม่น่ะฮะ แต่ในเรื่องเทคนิคเราเสียดายไง มันข้ามจุดที่ศิลปินต้องเอาใจคนดูแล้วอ่ะ ‘เป็นชู้กับผี’ ก็เหมือนกัน เป็นชู้กับผีนี่ชอบนะ แต่ว่าดนตรีเนี่ยทำร้ายมากเลย

FF: ดนตรีทำไม่ดีเนี่ยก็แย่แล้วนะ นี่ถึงขนาดทำร้ายเลยหรือ?
เจ้ย : แต่เราชอบนะ ถ้าเทียบหนังไฮไลต์เมื่อปีที่แล้วเนี่ย ก็คือเป็นชู้กับผี แต่เหมือนกับว่าเค้าห่วงคนดูมากไปน่ะ เหมือนเค้ารู้สึกว่า เฮ้ย! ต้องช็อคแล้วว่ะ แล้วก็ ตูม! มีดนตรีเหมือนหนังเกาหลีน่ะ ซึ่งถ้ามันไม่มีดนตรีแล้วเห็นผีข้างหลังโผล่มา มันจะน่ากลัวกว่าเยอะเลย (หัวเราะกันอีกครืน) ไม่ต้องบอกเราก็ได้ อะไรอย่างนี้ เออ...ให้คนดูคิดเองบ้าง

FF: อาจจะเป็นเพราะว่าเขาเป็นผู้กำกับสายโฆษณามาก่อนหรือเปล่า
เจ้ย : เราว่าเขาไม่ตั้งใจหรอก เราว่าเขาต้องโดนอะไรสักอย่าง จากที่เรารู้จักเขานะ เพราะอย่าง ‘ฟ้าทลายโจร’ มันก็ไม่ใช่อย่างนี้

FF: คุณเจ้ยไม่คิดทำหนังผีบ้างหรือ เห็นสนใจเรื่องความเชื่อ หรือความเป็นพื้นบ้านพื้นเมืองเราค่อนข้างเยอะเหมือนกัน
เจ้ย : ก็สนใจอยู่เหมือนกันนะครับ แต่ว่ามันมีหลายเรื่องมากที่อยากทำ

FF: มีประเด็นไหนที่สนใจที่อยากจะหยิบยกขึ้นมาทำอีกบ้าง นอกจากเรื่องผี หรือเรื่องเกย์
เจ้ย : เกย์นี่ก็ทำ เรื่องใหม่ ก็มี...มันไม่เชิงเกย์หรอก อย่าง ‘สัตว์ประหลาด’ เราไม่ได้มองเกย์ว่ามันเป็น...จะพูดไงดี คือมันเป็นธรรมชาติมากกว่าสำหรับเรา

FF: ไม่ได้ชูประเด็นเกย์
เจ้ย : ใช่ คือมันเป็นอะไรที่คนรู้สึกได้ เรื่องความสัมพันธ์มันก็เป็นแค่ผู้ชายสองคนหรือหญิง สองคน อะไรอย่างนี้

FF: แล้วหนังเรื่อง Iron Pussy (หัวใจทรนง) ที่มีผู้ชายที่แต่งตัวเป็นผู้หญิงอะไรอย่างนี้?
เจ้ย : (หัวเราะ) Iron Pussy มันเป็นเรื่องของหนังเก่ามากกว่า ที่เป็นคอนเซ็ปต์ของหนัง

FF: ตอนทำสนุกไหม
เจ้ย : ถ้าให้พูดจริงๆ ไม่สนุกเลย เพราะไมเคิล (เชาวนาศัย) คุมยากมาก (หัวเราะกันลั่น) แล้วจะฆ่ากันตาย ทะเลาะ เหมือนในหนังเลย เอารองเท้าขว้างกัน (หัวเราะ) แล้วมันก็เป็นคนที่ โอย! ยุ่งยากมาก

FF: เราไปสัมภาษณ์คุณไมเคิล เขาบอกว่าเขาชอบทำงานกับคุณเจ้ยมาก เปรียบเทียบถึงขนาเว่า ทำให้เขารู้สึกเหมือนได้มีเซ็กส์กับคุณเจ้ยเลยนะ?
เจ้ย : นั่นแหละไมเคิล ไมเคิล แต่พอทำกันนี่แบบ โอย! นรกแตก (หัวเราะ) แต่ก็ฮือๆ ไปกับมันนะ

FF: แต่หนังสนุกมากเลยนะ เราชอบมากเลย (คุณเจ้ยยิ้มรับ) แล้วหนังเรื่องนี้มันมีความเป็นตัวใครเยอะกว่ากัน ระหว่างคุณเจ้ยกับคุณไมเคิล
เจ้ย : มันผสมกันมากกว่านะ คือบางคนบอกว่าไม่เหมือนหนังเราเลย แต่พอไปดูพวกงานอินสตอลเลชั่นของเรา (Installation ศิลปะติดตั้งจัดวาง) หรือพวกหนังสั้นของเราก็จะรู้สึกได้

FF: คิดจะทำงานร่วมกันอีกไหม
เจ้ย : ไม่รู้ (หัวเราะกันร่วน) ยังพูดไม่ได้ ยังพูดไม่ได้

FF: แล้วอย่างผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของคุณเจ้ย ‘แสงศตวรรษ’ (Syndromes and a Century) นี่ มีที่มาอย่างไรบ้าง?
เจ้ย : คือ...มันเริ่มมาจากเมื่อปีที่แล้ว มีโปรดิวเซอร์ติดต่อเรามาว่า ที่เวียนนาจะมีการเฉลิมฉลอง 250 ปี โมสาร์ท ซึ่งเขาให้ทุนทำหนัง สำหรับงานฉลองครั้งนี้หกเรื่อง เราก็ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในนั้น และในโจทย์ของการทำหนังครั้งนี้ ตัวเราเองก็ไม่อยากจะใส่ดนตรีโมสาร์ท หรือว่าทำอะไรที่มันตรงๆ อย่างนั้นในหนัง ซึ่งจริงๆ เราก็ไม่ใช่แฟนดนตรีคลาสสิกด้วย เราก็เลยพยายามจะดูว่าไอ้ Magic Flute หนึ่งในผลงานของเขา ซึ่งเราชอบในคอนเซ็ปต์ ที่มันพูดถึงเรื่องดีงามของความมหัศจรรย์ในชีวิตน่ะฮะ คือไอ้ ‘สัตว์ประหลาด’ ที่เคยทำเนี่ย มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะเป็นด้านมืด ที่เป็นเรื่องส่วนตัวของเราเหมือนกัน แต่ว่ามันมืดเหลือเกิน(หัวเราะ) ก็เลยอยากทำเรื่องที่ดีๆ เรื่องที่พูดถึงด้านบวกของชีวิต ด้านความงาม เราก็เลยนึกถึงพ่อแม่ เราก็เลยคิดจะทำเรื่องนี้ให้พ่อแม่ ได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตของเขา ซึ่งเป็นหมอ เราก็ทำขึ้นมา แต่ว่าตรงนี้มันก็คล้ายเป็นสปริงบอร์ด(จุดเริ่มต้น) เฉยๆ แต่ว่าพอถึงเวลาปุ๊ป มันเปลี่ยนไปแล้ว เป็นอะไรก็ไม่รู้ อะไรอย่างนี้(หัวเราะ) แต่ว่าจุดเริ่มมาจากพ่อแม่ แล้วก็การเจริญเติบโต แล้วก็มีการพูดถึงอนาคต

FF: ได้ยินมาว่าก่อนหน้านี้หนังเรื่องนี้ใช้ชื่ออื่นใช่ไหม?
เจ้ย : ฮะ ตอนแรกชื่อ ‘Intimacy’ แต่ว่าพอทำไปแล้วก็ เอ๊ะ! มันไม่ตรงแล้วน่ะ ก็เปลี่ยน ‘แสงศตวรรษ’ นี่เพิ่งมาทีหลังเลย คือเราดูเราก็ เอ้? มันจะมีอะไรที่เข้ากับความรู้สึกนี้ ก็เลยกลายเป็นชื่อนี้ไป

FF: แล้วหนังเรื่องนี้มันมีความเชื่อมโยงกับ Magic Flute ของโมสาร์ทตรงไหนบ้าง
เจ้ย : อย่างที่บอก มันจะเป็นเรื่องของความงาม ความรัก ไอ้ Magic Flute นี่มันพูดเรื่อง Magic in everyday life หรือ Magic in part of culture เรารู้สึกว่าเมืองไทยมันก็มีอะไรที่เหมือนความเชื่อบางอย่าง เรามองว่า แค่เราหายใจ แล้วเราก็ถือว่ามันมหัศจรรย์แล้ว ก็กำหนดตรงนี้ แต่ก็ไม่ได้เกี่ยวมันมาก ซึ่งมันไม่ใช่ประเด็นที่ต้องดูแล้วนึกถึงโมสาร์ท ซึ่งถ้าดูหนังทั้งหกเรื่องเนี่ย ก็จะเป็นแบบนี้ คือไม่พยายามพูดถึงตรงๆ คือมันเป็นแนวใหม่มากๆ อย่างที่เวียนนาที่เราไปเนี่ย พวกโอเปร่า พวกการแสดงอะไรอย่างนี้ มันไม่เกี่ยวกับโมสาร์ทเลย จะเกี่ยวกับธีมเฉยๆ Magic ก็ Magic จะพูดเรื่องการเหยียดผิว การรำลึกถึง อย่างในอุปรากรเรื่อง Requiem มันก็เป็นเรื่องของการย้อนนึกถึงอดีต และการบูชาคนที่ตายโดยที่ไม่มีชื่อบนหลุมศพอะไรอย่างเงี้ย พวกนั้นก็จะทำเป็นเรื่องความตาย

FF: เนื้อหาในหนัง ‘แสงศตวรรษ’ เป็นเรื่องจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม
เจ้ย : ไม่ครับ มันจะเป็นเรื่องที่ได้แรงบันดาลใจมาจากบุคคล แล้วพอผมเจอสถานที่ แล้วก็เจอนักแสดง บางทีเราก็เปลี่ยนไป คือผมรู้สึกว่าการทำหนังของผมมันจะเป็นเรื่อง Reaction ส่วนตัว ที่ออกต่อสิ่งต่างๆ หนังเรื่องนี้จะเป็นการทดลองนิดนึงในแง่ของสถาปัตยกรรม เปรียบเทียบเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสถาปัตยกรรมแบบเก่ากับแบบใหม่ เนื้อเรื่องจะซ้ำกัน แต่เปลี่ยนสถานที่เฉยๆ อยากให้คนดูรู้สึกถึงการที่มันวนเวียนแบบนี้ไปเรื่อยๆ ตัวละครจะพูดถึงความทรงจำ แล้วจินตนาการถึงอนาคตว่าชีวิตจะเป็นยังไง หรือชีวิตที่ผ่านมามีค่ายังไง เน้นเกี่ยวกับความสุขง่ายๆ ในชีวิต เช่น การคุย การเดิน มันเป็นสิ่งที่ผมสนใจมาตลอดอยู่แล้ว ผมสนใจมนุษย์ อยากรู้ว่าความเป็นมนุษย์คืออะไร อย่าง ‘สุดเสน่หา’ หรือ ‘สัตว์ประหลาด’ ก็พูดถึงความไร้สาระของชีวิต เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร ถึงเป็นคำถามที่ตอบไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ให้คนดูรู้สึกถึงความเป็นไปของชีวิต รู้สึกถึงความจริงของชีวิต

FF: เคยได้ยินมาว่าการทำหนังของคุณเจ้ยส่วนใหญ่เป็นการอิมโพรไวซ์ (ด้นสด) แล้วอย่างบทหรือพล็อต มีการเตรียมไว้ล่วงหน้าไหม?
เจ้ย : มีครับ มีแน่นอน ต้องมีเพื่อที่จะขอทุน แต่ว่ามันเป็นลักษณะตุ๊กตา แล้วก็เป็นคอนเซ็ปต์แกน ซึ่งมันไม่หนีไปไหน ตรงนี้ พอถึงเวลาเราเจอนักแสดง เจอโลเคชัน เจอคอมโพเซอร์ ทำให้หนังมันเปลี่ยนเทสต์ เปลี่ยนอะไรไป เพราะว่าบางทีเราแคสติ้ง แล้วเราเจอคนที่โดน เราชอบบุคลิก บางทีเราก็เปลี่ยนบทด้วยซ้ำ

FF: เรื่องนี้ใช้ทุนสร้างเท่าไหร่?
เจ้ย : ประมาณสามสิบล้านคร้บ

FF: แล้วทุนที่ขอได้สูงกว่าห้าสิบเปอร์เซ็นต์ไหม
เจ้ย : สูงกว่า ก็ได้ทุนทั้งหมดเลย ทุกเรื่องไม่เคยใช้เงินตัวเอง (หัวเราะ) เรื่องนี้(แสงศตวรรษ) ส่วนนึงเป็นของฟอร์ติสซิโม่ ฟิล์มสอีกส่วนนึงเป็นของฝรั่งเศสแอนนา แซนเดอร์ส ฟิล์มส์

FF: หนังใหญ่ไม่เคยใช้เงินตัวเอง แต่หนังสั้นก็ใช้เงินตัวเองใช่ไหมครับ
เจ้ย : ตอนแรกก็ทำฮะ แต่ช่วงหลังนี่ก็ไม่ได้ใช้ทุนตัวเองแล้ว พอได้รางวัลจากคานส์ คนก็รู้จักมากขึ้น ตอนทำหนังจะมีเซลส์เอเยนต์ เข้ามา ไม่ต้องไปหาเงินเองแล้ว ซึ่งถือว่าดีขึ้นมาก แฮปปี้แล้ว ก็กลายเป็นอาชีพที่...ตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าเป็นอาชีพนะ แต่ตอนหลังโอเคๆ (หัวเราะ) ก็มีเงินเข้ามาเรื่อยๆ

FF: คุณเจ้ยจัดหนังของตัวเองอยู่ใหนประเภทไหน
เจ้ย : มันก็คงเป็นหนังส่วนตัวล่ะมั้ง คือว่าตอนนี้มันถึงจุดที่เราไม่สนแล้วล่ะ ว่าคนดูจะเป็นยังไง เพราะว่าเรารู้สึกว่าบ้านเรามันขาดมากๆ ในความเป็นปัจเจก คือบ้านเรามันเดินทางในลักษณะของความเชื่อที่ว่าต้องไปด้วยกัน เรารู้สึกว่ามันน่ากลัว ซึ่งถ้าเรามองในอดีตแล้วเห็นภาพว่า ถ้าชาวบ้านในสมัยรัชกาลที่สองมานั่งเขียนไดอารี่ ว่ามันจะมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์แค่ไหน อย่างนี้ไง

FF: มันยากไหมที่จะอยู่ให้ได้ด้วยตัวเอง ในการทำหนังที่แปลกออกไปจากขนบของหนังไทยที่เป็นอยู่
เจ้ย : มันก็ค่อนข้างนะ คือมันคงไม่สามารถบอกได้ว่าต้องเป็นแพทเทิร์นนี้ แล้วเป็นวิธีเดียว มันก็เป็นทางนึง เราคิดว่าเราโชคดีที่เราเจอแต่คนซัพพอร์ตที่ดีๆ ที่เข้าใจว่าเราทำอะไรอยู่ พักหลังนี้ก็มีงานอินสตอลเลชั่น เข้ามาเยอะ แล้วก็หนังอาร์ต หนังใหญ่ก็สองปีครั้ง พยายามจะให้ได้อย่างนั้น

FF: อยากจะบอกอะไรเป็นพิเศษกับคนที่มาดูหนังของคุณเจ้ย หรืออยากให้เขาได้อะไรกลับไปบ้าง
เจ้ย : ไม่มีฮะ (ตอบทันที) คืออย่างที่บอก คือผมไม่แคร์ คือการดูหนังปกติเนี่ย มันเพื่อความบันเทิง เรามองว่าหนังเราก็บันเทิงเหมือนกัน แต่บันเทิงคนละแบบ ไม่บันเทิงแบบ ฮ่า ฮ่า ฮ่า ไม่ใช่ผีกระเทย ซึ่งบ้านเรากำลังต้องการ เหมือนกับว่า คนกลุ่มใหญ่กลุ่มนี้ต้องการ มันไม่ใช่ว่าต้องทำแบบนี้กันหมดเลย คือเรารู้สึกว่าความเป็นปัจเจกนี่มันสำคัญมากๆ ความเป็นแมสเนี่ย มันน่ากลัว

FF: พูดถึงหนังผีกระเทย มันเป็นยังไงหรือ?
เจ้ย : เราโอเคนะ คือหมายความว่า เราเชื่อว่าทุกคนควรจะทำหนังของตัวเอง แล้วก็ทำให้ดีที่สุด แต่ว่าไอ้ผีกระเทยเนี่ย บางทีมันไม่ดี มันเหมือนกับว่า มันไม่ได้สร้างอะไรใหม่ โอเค เพื่อเงินอย่างเดียวก็พอเข้าใจ แต่ว่าบางทีเนี่ย มันทำได้ดีกว่านี้ เพื่อเงินก็เป็นระดับที่ดีได้ บางทีแล้วเรารู้สึกว่า ทำหนังเอาใจคนดูได้ แต่ว่าอย่าดูถูกคนดู อย่าลากคนดูเข้าไปในจุดที่เขาไม่ต้องคิดอะไรเลย ซึ่งของเราก็เหมือนกัน เราก็มีกลุ่มคนดู แบบว่า เออ เฮ้ย! เราไม่ได้ดูถูกคนดูนะ เราพาไปอย่างนี้ แต่ว่า คนที่ไม่ชอบก็ไม่ชอบเลยเหมือนกัน คนที่ชอบก็ชอบ อืม...มันเป็นเหมือนกับว่า ทำไมคนไม่ไปด่านักเขียนภาพแอบสแทรคท์วะ เออ? ทำไมต้องมาด่าเราด้วย(หัวเราะ) หรือว่าถ้าไม่ชอบหนังผีกระเทย ทำไมไม่ด่า แล้วพอเราทำหนังแบบนี้ทำไมถูกด่า แต่เราก็ไม่แคร์แล้วไง แล้วก็แฮปปี้กับสิ่งที่เกิดขึ้น เหมือนกับว่า ถ้าเรารู้จักคนๆ นึง แล้วคนๆ นี้ป๊อบปูล่าร์มากเลย เพื่อนๆ รักทุกคนเลย เราจะไม่อยากคบคนๆ นี้ เราจะว่าคนๆ นี้มันน่ากลัว(หัวเราะ) มันต้องมีมุมมืดบ้าง เพราะฉะนั้น ถ้าหนังของเรามันมีเนกาตีฟฟีดแบคขึ้นมาเนี่ย เรารู้สึกว่ามันสมบูรณ์ เพราะว่าเราไม่สามารถที่จะเอาใจทุกคนได้

FF: ไม่คิดอยากทำหนังเอาใจคนดูสักเรื่องบ้างหรือ?
เจ้ย : ไม่ๆ ไม่เชิง คือทุกอย่างที่ทำ มันต้องเป็นสิ่งที่เราสนใจ ที่เราชอบ อย่างที่เราทำ ‘Iron กับไมเคิ่ล ก็คือเรารู้สึกว่าเราอยากทำ แต่ว่าตลาดไม่ตลาดเราไม่รู้ คือเหมือนกับว่ามันเป็นงานที่ทำจากใจเลย ก็คือหนังมันมีหลายแบบ เราไม่สามารถที่จะมาตีกรอบได้ ผู้กำกับหลายคนก็มีหลายแบบ ยิ่งเพิ่มการตีกรอบเข้าไป ว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันไม่เฮลตี้น่ะ ซึ่งมันจะทำให้สังคมมันนิ่ง ซึ่งเราชอบมากกับวัฒนธรรมการวิจารณ์ของเมืองนอกเนี่ย มันดี ไม่ว่าเค้าจะชมหรือสับก็ตาม แต่ว่าเมืองไทยรู้สึกว่าไม่ค่อยมีไง เวลาสับก็เอาความคิดส่วนตัวที่มันไม่ช่วยเราน่ะ บางทีก็เกรงใจกัน เหมือนกับว่ารู้จักกันไง เรารู้สึกว่า นักวิจารณ์ดีๆ ต้องช่วยคนทำหนังด้วย

FF: จากที่เคยได้ดูหนังของคุณเจ้ยมาหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ‘ดอกฟ้าในมือมาร’, ‘สุดเสน่หา’, ‘สัตว์ประหลาด’ หรือแม้แต่ ‘Iron Pussy’ เองเนี่ย เรามีความรู้สึกว่าคุณเจ้ยชอบเรื่องเก่าๆ หรือเรื่องชนบทของไทยมากเลย ?
เจ้ย : อืม...อาจจะเป็นเพราะว่าเราโตมากับเรื่องอย่างนี้น่ะ แต่ก่อนเราชอบพวกหนังอย่าง ‘เลือดสุพรรณ’ หรือว่า ‘แผ่นดินวิปโยค’ เรารู้สึกว่าเป็นมีเสน่ห์ แล้วพอเราโตขึ้นมา หนังมันเปลี่ยนไป หนังมันกลายเป็นภาษาเดียว ภาษาฮอลลีวู้ด ซึ่งมันไม่ผิด แต่ว่ามันเป็นก็อปปี้ แล้วก็เป็นก็อปปี้ที่ไม่ดีน่ะ (หัวเราะ) มันเป็นภาพเดียว เราก็ เฮ้ย! ไม่ดีเลย เราคิดถึงหนังพวกนั้นมากกว่า ไอ้หนังที่เราโตมาด้วยน่ะ เราว่ามันมีเสน่ห์นะ หนังคุณเชิด (ทรงศรี) หนังอะไรอย่างนี้ ความอลังการในหนังมันดึงให้เราเข้าไปในโลกใบนั้นอย่างง่ายดาย น่าเสียดายที่หนังสมัยนี้ดึงดูดเด็กด้วยความรุนแรง ความอิจฉา ไม่ได้ดึงด้วยศิลปะภาพยนตร์ ยุคเราคลาสสิกกว่าเยอะเลย แล้วก็เรารู้สึกว่า ช่วงนี้เราอยากจะทำ เหมือนกับว่าเราโหยหาลักษณะอย่างงั้นด้วย โหยหาความเรียบง่าย แต่ว่าเรื่องใหม่นี่ ก็คือต้องดูๆ (หัวเราะ) มันจะเปลี่ยนเป็นอีกรูปแบบนึง ซึ่งถึงขนาดเป็นไซไฟฯ อยู่นิดๆ ด้วย

FF: ภาษาของหนังคุณเจ้ยคืออะไร
เจ้ย : อืม...มันคือบุคลิก มันเป็นทุกอย่างเลยนะ เหมือนกับว่า ทางด้านภาพ ด้านการตัดต่อ ด้านการใช้ภาษา มันเหมือนเราอ่านงานของนักเขียนบางคนเนี่ย อุ๊ย! เราชอบจังเลย เหมือนเราได้สื่อสารกับเค้า แต่ว่าบางคนเราอ่านไปแล้วมันไม่มีเสียงของเค้าอ่ะ หนังก็เหมือนกัน ดนตรีก็เหมือนกัน บางทีเราดูงานบางคนแล้วมันไปเหมือนของคนโน้นคนนี้ เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ของเรา แต่ว่าบางอย่างที่เราอ่านหรือฟังแล้ว เออ! เหมือนเราได้สื่อสารกับเขาน่ะ

FF: คิดว่าหนังคุณเจ้ย เหมือนกับหนังไทยสมัยก่อนไหม อย่างการแอ็กติ้งหรือว่าวิธีการถ่ายภาพอะไรเหล่านี้ มันดูจะย้อนๆ ยุคอยู่เหมือนกัน
เจ้ย : ก็...ถ้าจะให้คิดถึงแผลเก่าหรืออะไร เราก็จำไม่ได้แล้วนะ มันอาจจะออกจากจิตใต้สำนึกมาโดยที่ไม่รู้ตัว แต่คงไม่น่ะ (หัวเราะ)

FF: ที่ไม่ใช้ดาราที่มีชื่อเสียงเลย แต่เลือกใช้นักแสดงโนเนมที่ไม่ได้เรียนการแสดงมาก่อน การแสดงในหนังของคุณเจ้ยก็เลยออกมาเหมือนไม่ได้แสดง ตรงนี้จงใจไหม?
เจ้ย : ไม่นะ มันเป็นธรรมชาติมากๆ เพราะว่าเค้าให้เวลากับเราเยอะไง เหตุที่เราไม่ใช้ดาราเพราะว่ามันแพง! (หัวเราะกันครืน) เพราะมันไม่มีเวลาให้เรา อยู่ได้ไม่กี่วัน เดี๋ยวเค้าต้องไปออกเกมโชว์แล้ว(หัวเราะครืนกันอีกรอบ) คือเค้าไม่ใช่ดารามืออาชีพไง บ้านเรามันไม่ค่อยมีดารามืออาชีพ เพราะว่าสังคมมันไม่เอื้อ กลไกมันไม่เอื้อให้เขาได้เป็นนักแสดงอย่างเดียว เขาไม่สามารถให้เวลาเราครึ่งปี ปีนึง เพื่อที่จะจมไปกับบทอะไรอย่างนี้

FF: อยากใช้เวลากับนักแสดงให้มากที่สุด?
เจ้ย : ใช่ๆ ซึ่งคนที่เราได้มานี่ เค้าก็มีงานประจำ แล้วบางคนอย่างตัวหลักเนี่ย เป็นพนักงานเก็บตังค์ทางด่วน(หัวเราะครืน ทั้งคนถามคนตอบ)

FF: แล้วไปหาคนพวกนี้เจอได้อย่างไร ขับรถขึ้นทางด่วนทุกวันก็เลยเจอใช่ไหม?
เจ้ย : (หัวเราะ) บนทางด่วนนี่เค้าก็อ่านหนังสือดาราภาพยนตร์กันไง(ร้องอ๋อกันใหญ่) เราลงตามหนังสือ แล้วก็ลงประกาศตามวิทยุ แล้วก็ลงทางเว็บ แล้วเราก็ไปแจกไปปลิวเองด้วย แล้วก็มีพวกเพื่อนๆ กันด้วย

FF: มีกลุ่มเป้าหมายเจาะจงหรือเปล่า ว่าจะต้องไปหาจากที่ไหน
ไม่มีฮะ ทุกกลุ่มฮะ พวกที่ได้มานี่ก็คละๆ กันไป

FF: ใช้เวลาฝึกการแสดงเยอะไหม ท่าทางเหมือนต้องใช้เวลามากกับเรื่องนี้มากเลย?
เจ้ย : เอ่อ...บัดเจ็ทเราก็ไม่ได้เอื้อตรงนั้น แต่เราก็พยายามออกไปที่ต่างๆ ไปหัวหิน ไป...

FF: จับเข้าค่ายฝึก
เจ้ย : อ้า...อะไรมาณนั้น คือไปเที่ยวด้วย ซึ่งเหมือนกับว่ามันสำคัญมาก เพราะมันจะไประเบิดไอ้กำแพง เราหว่างเรากับเค้า แล้วก็กำแพงระหว่างเค้ากับกล้องด้วย เชื่อไหม แค่บอกให้เดินไปตรงนี้ กินน้ำ แล้วก็เดินกลับมานั่งเนี่ย ยากมาก(หัวเราะ) ทำไม่ได้ คือถ้ามีกล้องมาจับ ยากมากกกกกก….(ลากเสียง) คนเราจะระลึกถึงการถูกมอง เราก็เอากล้องไปถ่าย ให้เดินทะเลมีคนดูอะไรอย่างงี้ ปล่อยให้เค้าชินไป

FF: นักแสดงใน ‘สุดเสน่หา’ ที่เขามีอะไรกันในเรื่องน่ะ คุณเจ้ยกำกับเขาแบบไหน?
เจ้ย : อย่างตัวที่เป็นป้าเจนเนี่ย เราก็อธิบายให้เขาฟัง แล้วเขาก็บอกว่าเขาเหมือนแม่เขามากกว่า จริงๆ เขาชื่อเจน แต่ว่าเขาบอกว่าแม่เขาชื่ออร เราก็อ้าว! ยังงั้นเปลี่ยนตัวละครเป็นชื่ออร เอาคนนั้นมาเป็นตัวแม่ แล้วก็พูดถึงบุคลิกว่าเขาเป็นคนที่โหยหาความไกล้ชิด ซึ่งเขาไม่ได้จากครอบครัว เราก็บอกว่าฉากที่ออกมา มันจะไม่รู้สึกโป๊ แต่มันรู้สึกเศร้ามากกว่านะ

FF: มีบางคนบอกว่า ฉากร่วมเพศฉากนี้เป็นการจงใจใส่เข้ามาเพื่อให้หนังไม่จืด
เจ้ย : อืมม์...มันก็ไม่น่านะ คือหมายความว่า มันเป็นกิจกรรมที่พูดถึงชีวิต การหลับนอน การกิน แล้วก็การสื่อสาร

FF: มันอยู่ในบทตั้งแต่แรกไหม หรือว่าเอามาใส่ไว้ทีหลัง
เจ้ย : อยู่...อยู่ตั้งแต่แรก คือตัวละครมันจะเป็นลักษณะแบบนี้ บางทีมันเป็นเรื่องการสื่อสารไง เป็นแค่ตัวแทนเป็น แค่วิญญาณ ที่มันล่องลอยเข้ามาในป่าเมืองไทย แล้วไอ้เรื่องโรคผิวหนังเนี่ย แค่การสื่อสารด้วยการสัมผัสก็ไม่ได้แล้ว อะไรอย่างนี้ ซึ่งคนเข้าใจผิดเยอะ แต่ว่ามันก็เป็นแค่คอนเซ็ปต์ของหนัง คือมันไม่ใช่หนังสำหรับทุกคนไง แล้วมันไปเปิดยี่สิบโรง อย่าง ‘สัตว์ประหลาด’ เราเปิดแค่สามโรง คือมันไม่ใช่ เราก็ติดใจ อย่างผมเองถ้าไปเมเจอร์ ผมก็ไม่ดูเรื่องนี้ คือดูไปผมก็เดินออก เพราะว่าบางทีมันต้องการสมาธิ หรือว่าต้องการสถานที่ของมัน แล้วก็ไอ้ดีวีดีที่ออกมาเนี่ย มันก็ไม่ตรงกับที่เราคิด เราก็สงสารคนซื้อเหมือนกัน เพราะว่ามันโดนเซ็นเซอร์ แล้วสีมันก็ไม่ถูก ถ้าเป็นเวอร์ชั่นที่ออกต่างประเทศสีมันจะแจ่มมาก แต่ว่ายังไงก็ตาม มันเป็นหนังเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

FF: ได้ทำหนังมาหลายเรื่องแล้ว เคยกลับมาดูหนังเรื่องนี้บ้างไหม
เจ้ย : เคย เบื่อมากเลย (หัวเราะกันอีกครืนถ้วนหน้า)

FF: แล้วเห็นอะไรในหนังของตัวเองบ้าง
เจ้ย : เห็นว่าเรานิ่ง แต่ก่อนทำไมเรานิ่งขนาดนี้ คือเดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยนิ่งเท่านั้นแล้ว มันทำให้เรากลับไปมองตัวเองว่า เฮ้ย! เราอินกับคอนเซ็ปต์ขนาดนั้นเชียวเหรอ

FF: คอนเซ็ปต์ที่ว่านี่คือการทำหนังที่เป็นเรียลไทม์ (Real Time-เวลาในหนังเท่ากับเวลาจริง) ใช่ไหม
เจ้ย : ค่อนข้างใช่ แล้วก็อยากจะพูดถึงความเน่าในความนิ่งของน้ำ จนมันเน่า มันคือเรื่องของสังคม สังคมที่มันอยู่ชายขอบน่ะ อะไรอย่างนี้ ตอนนั้นมันเป็นทฤษฎีมาก เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย! มันแข็งไปว่ะ!

FF: ตอนหลังๆ ก็ค่อยคลี่คลายลงไป
เจ้ย : อ่า...ตอนหลังๆ เราก็รีแล็กซ์ขึ้น ไม่คิดมาก แต่ว่าที่ผ่านมามันก็ดี มันเป็นการเรียนรู้ อะไรอย่างนี้

FF: ถ้าให้กลับไปทำ ‘สุดเสน่หา’ได้ใหม่อีกรอบ จะกลับไปแก้ไขอะไรบ้าง
เจ้ย : อืมม์...คงไม่แก้ (หัวเราะ) คือทำอะไรไปแล้วเราไม่เคยเสียใจ

FF: ตอนที่ ‘สุดเสน่หา’ ฉายในเมืองไทยมีฟีดแบ็กค่อนข้างหลากหลาย ที่ดีก็ดีไป ที่ไม่ดีก็ค่อนข้างเยอะ ส่วนที่ดูแล้วบ่นว่าไม่รู้เรื่องหรือเดินออกจากโรงอะไรอย่างนี้ ทำให้คุณเจ้ยรู้สึกเสียใจบ้างไหม
เจ้ย : อ๋อ! แน่นอนสิฮะ เพราะว่าเราเป็นคนทำ แต่ว่ามันก็ดีตรงที่ทำให้เราไม่แคร์มากขึ้น ทำให้เราปลงมากขึ้นว่า เฮ้ย! มันเอาใจทุกคนในโลกไม่ได้หรอก อะไรอย่างนี้ ขณะเดียวกัน ฟีดแบ็กที่มันเป็นบวก แล้วก็อะไรที่มันเข้ามา มันก็เหมือนเป็นแรงขับ ให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย! เราต้องค้นหามากกว่านี้ ต้องพัฒนาตัวเองมากกว่านี้ แล้วก็ไอ้บทวิจารณ์ที่ดีเนี่ย ช่วยเราได้มากเลย ที่ดีไม่ได้หมายถึงบทวิจารณ์ด้านบวกอย่างเดียวนะ มันช่วยให้เรารู้ว่า เออ เขามองมุมนี้นะ คือทำหนังนี่มันเป็นสุดยอดแล้วล่ะ ที่เรารู้สึกว่ามันทำให้เราได้เจอคนหลายประเทศ เจอโลเคชั่น แม้แต่เจอนักกฎหมาย เจอตำรวจ เพราะเราทำทุกอย่างเองไง(หัวเราะ) เจอคนทำดนตรีอะไรอย่างนี้ ได้เจอนักวิจารณ์ มันเป็นอะไรที่พิเศษ

FF: เท่าที่เราเคยอ่านบทวิจารณ์มาบ้างบางชิ้น และจากการได้ยินคนที่ไม่ชอบเนี่ย จะบ่นว่าดูไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจเป็นหลัก แต่จากส่วนตัวของคุณเจ้ยเอง มีบทวิจารณ์ไหนที่ทำให้คุณเจ้ยเสียใจมากๆ ไหม นอกจากที่ว่าดูไม่รู้เรื่องเนี่ย
เจ้ย : อืมม์...เสียใจมากคือบทวิจารณ์ที่เล่าเรื่องมากกว่ามั้ง (หัวเราะกันลั่น : เนื่องจากตอนก่อนหน้าที่จะมาสัมภาษณ์ เราเพิ่งจะเม้าท์กันเรื่องนักวิจารณ์ที่ชอบเขียนเล่าไคล์แม็กซ์ของหนังมาในรถกันอยู่หยกๆ) ไม่ได้กลัวว่าจะรู้อะไรนะ เพราะว่าหนังเราไม่มีอะไรที่จะต้องเฉลยอยู่แล้วไง แต่บางทีที่เขาเล่าเนี่ย อย่างนี้เราก็เขียนได้ เขียนวิจารณ์อย่างนี้คนดูก็ไม่ต้องดูหนังแล้ว แล้วก็มีที่บอกว่า “น่าเบื่อมากเลยแช่กล้องไว้เนี่ย มันเป็นอะไรที่เป็นส่วนตัวแบบที่ไม่สร้างสรรค์” (หัวเราะ) อะไรอย่างเงี้ย แต่ก็ไม่ค่อยเจอนะ อืมม์...แต่มีอันนึงสนุกมาก เรื่อง ‘ดอกฟ้าในมือมาร’ ตอนที่ฉายที่เมืองไทย แล้วมีคนนึงเป็นนักวิจารณ์เดินมาบอกว่า “คุณไม่ควรทำหนังอีกต่อไป” (หัวเราะ) ซึ่งเราทำให้เศร้ามาก เพราะตอนนั้นเป็นหนังเรื่องแรก

FF: โห! พูดแบบนี้เลยหรือ แล้วคุณเจ้ยตอบเขาไปว่ายังไง?
เจ้ย : เราก็บอกขอโทษๆ เราก็แบบว่า เอาเงินคืนแล้วกัน เอาเงินคืนไป (หัวเราะกันครืนใหญ่) อะไรอย่างนี้ แต่ว่ามันเป็นจุดที่ทุกคนต้องเจอไง คนที่ทำงานน่ะ ไม่ว่าจะอยู่ในสาขาอะไร แต่ว่ามันก็เป็นแรงผลักให้กับเรา ซึ่งมันก็ธรรมดา คนมันชอบไม่เหมือนกัน บางทีเราไปดูหนังตลาดแล้วคนก็เฮฮา เราก็ไม่เฮกับเค้า

FF: คุณเจ้ยได้ดู ‘ต้มยำกุ้ง’ ไหม
เจ้ย : ดูฮะๆ ก็ไม่ได้ไม่ชอบอะไรนะ มันไม่หนักมากเท่าไหร่ คืออย่างที่บอก ว่ามันเป็นหนังก็อปปี้ที่มันไม่ถึง แต่ว่ามันก็แค่นั้น แต่บางเรื่องเรารู้สึกว่ามัน...ที่ผมจะว่าบ่อยๆ ก็คือเรื่อง ‘วัยอลวน’ มันมีมุมมองในเรื่องเซ็กส์ที่ผิดๆ โดยเฉพาะตัวละครเกย์ ที่สุดท้ายไม่เป็นเกย์ แล้วคนทุกปลื้มใจที่เค้าเป็นอย่างนั้น เรารู้สึกว่ามันแรงมากๆ มันเหมือนกับเค้ามีมุมมองที่มัน...เฮ้อ

FF: ไม่เข้าใจอะไรเลย?
เจ้ย : เออ...(ถอนหายใจยาว) น่าเบื่อ!

FF: แล้วกรณีงานคุณ เป็นเอก รัตนเรือง
เจ้ย : ชอบช่วงแรกๆ ชอบ ‘ตลก 69’ ผมชอบ ‘มือปืนโลกพระจัน’ ชอบยุทธเลิศ

FF: จริงหรือ (คนถามทั้งหมดฮือฮากันใหญ่) คุณยุทธเลิศ ไม่ได้เป็นคู่ตรงข้ามกับคุณเจ้ยหรอกหรือ จากมุมของเรานะ มันเหมือนกับว่าสไตล์หนังของคุณ ยุทธเลิศมันค่อนข้างดูง่ายและถูกกับตลาดหนังไทย แต่สไตล์หนังของคุณเจ้ยดูยา และไม่แคร์ตลาดเลย
เจ้ย : ไม่นะ! (หัวเราะ) ไม่ ไม่ …เราไม่สนหรอก ที่เราชอบก็เพราะว่าเค้ามีบุคลิกของตัวเอง เหมือนกับว่าเอาใจตลาด แต่ว่ามีคาแรกเตอร์ของตัวเอง อย่างเชิด ทรงศรี เนี่ย หรือว่าเหมือนอย่างพันนา ฤทธิไกร ก็ดี แล้วก็พวกทรนง ศรีเชื้อแต่ก่อนเนี่ยดีมากๆ เลย หรือว่าท่านมุ้ย ที่มีจุดยืน แต่ไม่ใช่สุริโยไทนะ (หัวเราะ)

FF: ไม่ชอบสุริโยไท?
เจ้ย : ไม่รู้ทำทำไม (หัวเราะกันทั้งวงสนทนา)

FF: คุณเป็นเอกเคยให้สัมภาษณ์ว่า ท่านมุ้ยทำหนังดีมาเยอะแล้ว ตอนนี้ถึงจะทำอะไรแย่ๆ ออกมาบ้างก็ไม่เป็นไรหรอก เพราะท่านมีคุโณปการกับวงการหนังไทยมาก
เจ้ย : เฮ้ย …เป็นสิ เป็น (หัวเราะกันอีกครืน ทั้งคนถามคนตอบ)

FF: ที่คุณเจ้ยบอกว่าวงการหนังบ้านเรามันน่ากลัวเนี่ย เป็นเพราะอะไรหรือ
เจ้ย : อืม...มันเป็นเรื่องของมุมมองของสังคมด้วยมั้ง ที่มันมูฟว์ไปในช่วงทักษิณด้วยน่ะ ที่มันมูฟว์ไปด้านกินๆๆ น่ะ ซึ่งมันน่ากลัว เด็กๆ มันมีแต่ศูนย์การค้า มันไม่มีสถานที่ที่ให้มันนิ่งๆ น่ะ คือทุกคนก็เลยน่าสงสารอย่างยิ่ง เพราะทุกคนก็เอาแต่กินกันเยอะๆ บริโภคกันเยอะ แล้วคนก็ไม่ได้มองด้านศิลปะด้วย มีแต่คนที่มองอย่างพ่อค้าที่ไปอยู่ในวงการเมือง ก็คิดอยู่แต่ว่ามึงจะอดตายอยู่แล้ว จะมาทำอะไรกับศิลปะ แล้วมันก็ยากนะ ถ้าจะพูดถึงหนังสือดีๆ หนังดีๆ ดีๆ เนี่ย หมายถึงว่าอะไรที่มันให้ความคิด มันไม่ค่อยมี เพราะว่ามันไปด้านที่ฉาบฉวยหมด ซึ่งมันก็ไม่ผิด แต่เด็กรุ่นต่อไปหรือคนในรุ่นปัจจุบันมันไม่มีแซงจูรี (ที่หลบภัย) มันไม่มีสถานที่อะไรที่เป็นส่วนตัว ที่ให้เขาเข้าไปคิด มันน่ากลัวเหมือนกันนะ อย่างเกาหลีเนี่ยที่เค้าสนับสนุนอะไรขึ้นมา เค้าจะมาสนับสนุนศิลปะ สนับสนุนภาพยนตร์มากเลย คือมีคัลเจอร์เต็มเมืองเลย มันเป็นด้านอีกด้านนึงเลย ที่พอคนเจริญมากๆ แล้ว มันขาด คนที่เจริญจริงๆ เค้าจะรู้น่ะ ว่า เฮ้ย! มันขาดจุดนี้นะ เพราะว่าไม่งั้นใจคนมันจะหยาบ ไม่ว่าคุณจะจนไม่มีกินแค่ไหน แต่มันก็ต้องมีสวนสาธารณะ อย่างน้อยนะ ให้มันจรรโลงใจ มีหอศิลป์ อือ... หอศิลป์ปทุมวันเนี่ยแบบว่าพระเจ้าส่งมา (หัวเราะ) แล้วศิลปะที่ดีเนี่ย คล้ายกับศาสนา ตรงที่ทำให้คนมองเข้าไปในตัวเอง มันช่วยทุกๆ ด้านของสังคม พร้อมกับขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย ไม่อยากให้บ้านเราในอนาคตเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนมาก ก็รู้ว่าคนอดตาย แต่ว่าคุณจะหาเงินไปอีกเท่าไหร่วะ

FF: มีที่เอาไว้ให้หยุดคิด เหมือนเมืองนอกที่เขามีพิพิธภัณฑ์มีอะไร?
เจ้ย : ใช่ๆ อย่างหนังเราเนี่ย เราก็ไม่ได้บอกว่ามันดีนะ แต่ว่ามันเป็นอีกเสียงนึงเฉย ๆ ไง เป็นอีกเสียงนึง ซึ่งมันไม่ใช่ ฮ่า ฮ่า ไม่ใช่บันเทิงแบบ ฮ่า ฮ่า ถ้ามันมีคนโน้นคนนี้ทำ แล้วก็มีวิคนจารณ์ด่ากันไปด่ากันมา น้ำมันจะไม่นิ่งไง มันจะไม่เน่า

FF: แล้วถ้าวันนึงสไตล์หนังของคุณเจ้ยเกิดฮิตขึ้นมาล่ะ
เจ้ย : อืมม์...มันก็เป็นไปได้ แต่ว่าทุกอย่างมันต้องมีตัวคาน คานอำนาจกัน ต้องมี ถ้ามันเป็นแบบเดียวกันหมด มันก็เละหมด

FF: แปลกเหมือนกันนะ หนังของคุณเจ้ยเนี่ย ไม่ได้รับความสนใจในเมืองไทยเท่าไหร่ ถ้าวัดจากจำนวนคนที่ยอมซื้อตั๋วเข้าไปดูโรงนะ แต่ที่เมืองนอกกลับได้รับความนิยม
เจ้ย : เมืองนอกก็ไม่ได้นิยมมากนะ แต่ว่าเมืองนอกเค้ามีสเปซให้ มีที่ให้ แล้วก็ซีเนมาเทค (Cinematheque - โรงหนังอิสระเล็กๆ ที่ฉายภาพยนตร์คลาสสิกหายาก หรือภาพยนตร์นอกกระแส) แล้วรัฐบาลก็ซัพพอร์ตเกือบทุกที่เลยนะ สโลเวเนียเนี่ยเมืองเล้ก เล็ก และก็จนด้วย แต่มีซีเนมาเทคฉายหนังอาร์ตโลกแตกเลย แต่มันเป็นที่คนบางส่วนไง ที่อยากคิด คือ...ถ้าเป็นหนังสือนี่ง่ายหน่อย เพราะว่า โอเค มันค่อนข้างปัจจเจกใช่ไหม แต่หนังมันคนละอย่างไง มันเป็นแมส และทุนมันต้องสูง ทั้งทุนสร้างแล้วก็ทุนฉายหนังด้วย เพราะฉะนั้นรัฐบาลมันต้องเข้ามาซัพพอร์ต มันก็เลยน่าเสียดาย น่าอิจฉา น่าอะไรหลายๆ อย่าง

FF: ลองเล่าประสบการณ์ตอนที่คุณเจ้ยเอาหนังของตัวเองไปฉายต่างประเทศให้ฟังหน่อยได้ไหม บรรยากาศเป็นอย่างไรบ้าง แล้วประสบการณ์ตรงนั้นมันมีอะไรที่น่าสนใจ ที่สามารถนำมาปรับใช้ในบ้านเราได้ไหม
เจ้ย : อืมม์... ก็นอกจากเรื่องการซัพพอร์ตของรัฐบาลแล้ว ก็คงมีเรื่องของความเปิดกว้างมั้ง คือทุกที่ที่ไปส่วนใหญ่มันจะมีวัฒนธรรมการดูหนังที่ค่อนข้างเปิดกว้าง คือเขาไม่ได้จำกัดว่าภาพยนตร์คืออะไร โดยเฉพาะฝรั่งเศสเนี่ย มันเหมือนกับว่าภาพยนตร์มีสิทธิ์เป็นอย่างนี้ได้ คือมีสิทธิเทียบกับภาพเขียน แอบสแทรคท์ ได้ ซึ่งคนสามารถไปตีความกันเองได้ บางคนอาจจะไม่ชอบภาพแบบนี้ ซึ่งมันเป็นแค่ผืนผ้าใบขาวๆ อะไรอย่างนี้ ก็วิจารณ์กันไปได้ ซึ่งบ้านเราน่าจะมีเวทีแบบนี้ให้ถกกัน เอ่อ... แล้วก็น่าจะเป็นเรื่องการเมือง เรื่องศาสนาด้วยมั้ง ซึ่งมันเป็นอะไรที่เรายังแตะไม่ได้ในสังคมนี้ เราก็เสียดาย แล้วก็... ด้านความกล้าแสดงออกด้วยมั้ง ความไม่กลัว บ้านเรายังมีน้อย เหมือนมันถูกสอนมาตั้งแต่เด็กแล้ว ว่ามันต้องมีคนนำ หรือว่าต้องมีคนอุ้มเยอะ ซึ่งเด็กมันน่าจะคิดได้เองมากกว่านี้ไง อย่างตอนเราไปฉายในเกาหลีเนี่ย มันยกมือกันพื่บพั่บๆ ตั้งคำถามกัน แต่บ้านเราเงียบ (หัวเราะ) แต่ญี่ปุ่นก็ยังอายเหมือนกันนะ แต่พอฉายเสร็จแล้วก็ค่อยเข้ามาหา คือเราอยากให้เป็นอย่างเกาหลีมากกว่า ให้เขาสงสัยดีกว่า

FF: คิดว่าเป็นบุคลิกของชนชาติหรือเปล่า
เจ้ย : อือ... ก็เกี่ยวเหมือนกันนะ คนเอเชีย คงแบบว่ากลัวผิดด้วยแหละ กลัวอาจารย์ด่า คือกลัวถามอย่างงี้ผิด หรือว่าถามอย่างงี้แล้วโง่อะไรอย่างนี้ (หัวเราะ)

FF: แล้วเกาหลีเค้าสนใจอะไรบ้าง สนใจหนังไทย หรือสนใจในความเป็นคุณเจ้ย
เจ้ย : ในความเป็นหนังมากกว่า ความหมายว่า เค้าสั่งสมกันมา คือเกาหลีที่เราเคยไปตอนเด็กๆ มันจะแบบ...ยังมีทหารเต็มเมืองเลย แล้วเมืองเช้ย เชย แล้วภายในแค่สิบปีเนี่ย หูย...มันเปลี่ยนไปเลย แล้วตอนนี้มันยิ่งพัฒนาขึ้นไปอีก เราก็... มันเกิดอะไรขึ้นเหรอ สงสัยเพราะมันชินกับการประท้วงมั้ง แต่ก่อนนี้เค้าประท้วงประจำเลย เพื่อนเรานี่ยังไปปาขวดปาอะไรประจำ แต่บ้านเรานี่ไม่ไง อย่างตัวเรา ก็ไม่กล้าไปประท้วงนะ เหมือนกับว่าเราถูกโปรแกรมมาอย่างนี้(หัวเราะ) มันแก้ไม่ได้แล้ว แล้วอย่างเกาหลีเนี่ย รัฐบาลเค้าช่วยเยอะมาก แล้ววงการหนังก็โตมาก มีฟิล์มคอมมิชชั่นที่ให้ทุนอะไรเงี้ย แล้วก็เรื่องเซ็กส์ เรื่องศาสนา ก็ค่อนข้างฟรีกว่าบ้านเราเยอะ ในแง่ที่ว่า มันถือว่าเป็นสื่อที่ให้คนมาแสดงออกไง อย่างเกาหลีนี่ก็ส่งคนมารีเสิร์ชที่บ้านเราเรื่องหนังไทย แล้วเขาก็มารีเสิร์ชเรื่องของเราเป็นวันๆ เลยนะ ถามเราแบบตามติดเป็นวันๆ เราก็... โอย! ฉันไม่ว่าง ฉันต้องไปหาแม่ที่ขอนแก่น (หัวเราะ) เค้าก็ตามไปที่ขอนแก่นเลย แล้วเค้าก็มีข้อมูลเกี่ยวกับหนังของเราเยอะมาก แล้วหนังของเราก็มีอยู่ที่ห้องสมุดเขา

FF: กะจะมาครอบงำประเทศเราแน่เลย (หัวเราะ) ตอนนี้ก็ไปเยอะแล้วนะ
เจ้ย : เป็นไปได้ๆ เหมือนอย่างไจก้า (JICA - องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น) ที่แต่ก่อนเข้ามาทำแผนที่ในประเทศไทยอย่างละเอียดเลยมากๆ เลยน่ะ เรายังรู้สึกเลยว่า เฮ้ย! เมืองไทยทำไมมันไม่ทำอย่างนี้บ้างวะ!

FF: งานของคุณเจ้ยมีประเด็นเรื่องการเมืองอยู่ด้วยหรือเปล่า
เจ้ย : ไม่มีนะ... อาจจะมีบ้าง แต่เพราะว่าส่วนใหญ่ ผมจะพูดเรื่องที่เราเจอกับตัว จะสะท้อนในเรื่องของความเป็นส่วนตัว ส่วนใหญ่จะป็นเรื่องความใกล้ชิด ความสัมพันธ์ เรื่องความรู้สึก การสูญเสียอะไรมากกว่า แต่ช่วงหลังนี่มันเริ่มเข้ามากวนใจแล้วอ่ะ คือปกติเราจะไม่ค่อยยุ่งในเรื่องการเมืองไง แต่พอมีเรื่องอย่างงี้เข้ามา เราก็ เฮ้ย! มันเข้ามาในชีวิต เราต้องสะท้อนแล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องต่อไปคิดว่า...น่าจะมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยว

FF: บ้านเรามันจะมีคำๆ นึง คือคำว่า ‘โกอินเตอร์’ ที่ชาวบ้านทุกระดับ ตั้งแต่ระดับรากหญ้าจนถึงระดับบนสุดของสังคม มักจะพูดคำนี้กันติดปาก หนังคุณเจ้ย‘โกอินเตอร์’ แต่หนัง ‘ต้มยำกุ้ง นี่มันก็ ‘โกอินเตอร์’ เหมือนกัน ช่องว่างจึงเยอะมาก จนเหมือนกับว่าแค่ออกไปพ้นประเทศนี้ ก็เรียกว่าโกอินเตอร์ ได้แล้ว เราจึงไม่ค่อยศรัทธาคำว่า ‘โกอินเตอร์’ ที่เราใช้กันเท่าไหร่ แต่สิ่งที่อยากถามคุณเจ้ยก็คือ การที่เรามีโอกาสไปเผยแพร่ผลงานในต่างประเทศ ทำให้การทำงานของเราเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง อย่างเรื่องมุมมองความคิดเนี่ย เป็นอย่างไรบ้าง?
เจ้ย : มันมองเป็นสังคม เป็นหมู่บ้านมากกว่า ทั้งโลกเนี่ย เรามองกว้างขึ้น ในขณะที่เราโตมาที่ขอนแก่นเนี่ย เราก็โดนกรุงเทพฯ ดูถูก เราก็มีปมด้อย แล้วเราก็เกลียดจุฬาฯ มาก(หัวเราะ) เพราะมีอะไร ทำไมทุกคนต้องเข้าแต่จุฬาฯ เราไม่เข้าใจ ตอนนี้ก็ยังไม่เข้าใจ ก็รู้อยู่นะว่าระบบมันเป็นอย่างงี้ไง ซึ่งเมืองนอกมันก็มีฮาวาร์ดอะไรของมันใช่ไหม คราวนี้เราก็เลยตั้งแง่เลยว่า ฉันจะไม่เข้าจุฬาฯ ไปเข้า ม.ขอนแก่น แล้วพอเราไปเมืองนอกเนี่ย ก็ปรากฏว่า เอ๊ะ! คนกรุงเทพฯ ดูถูกคนอีสานใช่ป่ะ คนอีสานดูถูกคนลาวอะไรไปตามเรื่อง เราไปเมืองนอก ที่เมืองนอกเค้าก็ดูถูกคนไทย ทั้งๆ ที่ไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าคนไหนคนไทย คนไหนคนจีน มันเป็นการที่สังคมดูถูกกันเป็นทอดๆ อะไรเงี้ย เรารู้สึกว่าว่ามันไม่ใช่ประเด็นอีกต่อไปแล้ว คือปมด้อยเนี่ย ยังไงมันก็ต้องมี ก็อย่าไปคิดมัน เออ ก็เลยมองว่าการไปต่างประเทศ มันทำให้เรามองภาพกว้างขึ้น แล้วเราก็รู้ว่าเราอยู่จุดไหนของการทำหนังของโลก ไม่ใช่แค่หนังไทย

FF: มองว่าตัวเองเป็นประชากรของโลก?
เจ้ย : ใช่ ๆ ๆ คือมันเหมือนกับการ......

FF: เป็นคนเอเชียหรือเปล่า?
เจ้ย : เอเชียนี่...ใช่ คืออย่างน้อยเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันต่างกัน แต่รูปแบบของความคิดเนี่ย เราก็ไทยอยู่ดี เพราะเราโตมาในสังคมไทย

FF: รู้สึกเป็นหน้าที่ไหม ในการทำให้คนทั่วโลกเข้าใจมุมมองของคนเอเชียมากขึ้น
เจ้ย : อ๋อ...ในโพรเซสมันคงเกิดขึ้นอย่างนั้น แต่ว่าเราไม่ได้ตั้งใจน่ะ ไม่ตั้งใจทำหนังเพื่อเทศกาล ไม่ได้ตั้งใจทำหนังเพื่ออะไร... แต่เราทำหนังที่เราอยากทำ มันจะมีกลิ่นตะวันตก กลิ่นอะไร เราช่วยไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เราเรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก ชีวิตเรามันเป็นอย่างนี้ เราดูทีวีไอ้มดแดง เราไม่อยากเสแสร้งว่า เฮ้ย เราต้องไปรำไทย หรือต้องเอาช้าง เอาศิลปะโบราณเข้ามา

FF: แอนตี้เรื่องพวกนี้อยู่ด้วย?
เจ้ย : ใช่แอนตี้มาก เพราะว่าบ้านเรามันน่ากลัว มันลงเหวไปนานแล้ว

FF: อย่างโขน,ลายกนกนี่ก็อยู่ก้นเหวใช่ไหม?
เจ้ย : ใช่! เพราะว่าเราจะขายไปอีกกี่ปีล่ะ มันอันตราย อย่างเกาหลีเนี่ยชัดๆ เลย เขาพัฒนา เขาเอาการแสดงออกของคนรุ่นใหม่ที่มันสะท้อนสังคมออกมา ซึ่งโอเค! แต่ก่อนศิลปะก็คงรับใช้ศาสนาใช่ไหมฮะ แต่เดียวนี้มันเป็นเรื่องของปัจเจกแล้ว แล้วเรื่องที่มันสะท้อนความเป็นปัจเจกมากขึ้น แต่ว่าของเรามันยังเป็นอย่างนี้อยู่ ยังขายรำไทย ขายช้างอยู่ แล้วในอนาคตเราจะขายอะไร

FF: ไอ้รำไทยกับช้างเนี่ย มันไม่ดีตรงไหน
เจ้ย : ไม่! เราชอบไง (หัวเราะครืนทั้งคนถามคนตอบ) แต่ว่าตอนนี้เขาโปรโมทด้านเดียว ว่าเมืองไทยมันคืออะไรแบบนี้ ซึ่งมันไม่ใช่ไง เมืองไทยมันคือความรุนแรง คือความดิบพอสมควร (หัวเราะ) ซึ่งที่บางทีฝรั่งเพื่อนเราหลายคนมันเข้ามาแล้วบอก เฮ้ย! เมืองไทยมันไม่ใช่อย่างนี้นะ ไอ้นั่นมันเป็นร้านอาหารรำกันน่ะ (หัวเราะกันลั่น) คือไม่ใช่ไง บ้านเรามันต้องบาลานซ์ระหว่างลายกนกกับสิ่งใหม่ๆ ตอนนี้เมืองไทยขายไม่กี่อย่าง นักท่องเที่ยวมาดูวัดพระแก้ว แล้วก็จะไม่มาอีก ทะเลก็เน่าหมดแล้ว ภาพจิตรกรรม ลายไทย ก็ได้แค่บางส่วน แต่ความคิดสร้างสรรค์มันเป็นเหมือนแสงอาทิตย์ มันเป็นพลังงานที่เปล่งประกายได้ในทุกช่วงชีวิตของคนเรา น่าจะเอามาใช้ ในขณะที่โบราณสถานมันเน่าไปเรื่อยๆ

FF: เปรียบเทียบกับญี่ปุ่น ในการผสมผสานวัฒนธรรมเก่ากับใหม่มันก็อยู่ด้วยกันได้ล่ะ
เจ้ย : เออ ใช่มันต้องซัพพอร์ตกัน แต่ญี่ปุ่นนี่มันก็แปลก อาจจะเป็นเพราะเศรษฐกิจมันก้าวหน้ากว่ามั้ง คือ คนมันช่วยเหลือตนเอง อย่างเวลาเค้าจะแสดงศิลปะเนี่ย เค้ายังต้องไปเช่าแกลเลอรี่เอง ตามห้าง อะไรอย่างงี้ คือสังคมญี่ปุ่นมันพิเศษพอสมควร ในขณะที่บ้านเรามันไม่ได้คิดถึงอนาคตมากอย่างนั้น

FF: ไม่คิดว่าเป็นธรรมชาติของคนไทยหรือ ที่ไม่ค่อยสนใจอนาคต เท่าไหร่ แบบว่าพึงพอใจกับการใช้ชีวิตที่เพียงพอแบบวันต่อวัน
เจ้ย : ไม่นะ คือคนไทยนี่ไม่สนใจปัจจุบัน สนใจแต่อดีตด้วยซ้ำ (หัวเราะกันลั่น) สนใจว่ากูจะขาย สนใจว่ากูจะเอาเงินกับมันยังไง ไม่หรอก มันคนละแบบ อืมม์...ทำไปทำมา ก็เลยรู้สึกเหมือนกับว่า เราทำยังไงก็ได้ เพื่อที่จะดิ้น เพื่อที่จะแสดงออกในสิ่งที่เราทำให้ได้ ไม่ว่าเงินมันจะมาจากไหน หนังเรื่องใหม่ที่ผมทำนี่ไม่มีเงินไทยเลยนะ อือ...แต่ก็ไม่ได้ภูมิใจที่เป็นเงินฝรั่ง แต่มันก็เป็นกฎของมัน เป็นธรรมชาติ

FF: แล้วแบบนี้ เราจะเรียกหนังคุณเจ้ยว่าเป็นหนังไทยอยู่ไหม เพราะอย่างการส่งประกวดอะไรต่างๆ เขาก็ต้องดูเหมือนกัน ว่าทุนสร้างมาจากประเทศใด
เจ้ย : เอ่อ... ตามเบสิกที่มี ก็ถือว่าเป็นหนังไทย เพราะทีมงานร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นไทย เอ้อ...ไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์สิ แต่ว่ามากกว่าครึ่ง ตามกฏน่ะนะ แต่มันไม่ใช่ไทยร้อยนะ มันเป็นไทย,ออสเตรียกับฝรั่งเศส

FF: เหมือนกับว่าเป็นทางออกสุดท้ายของคนทำหนังไทยยุคนี้ คือมันจะกลายเป็นการร่วมทุนกับต่างชาติเสียส่วนใหญ่
เจ้ย : ใช่ ๆๆ คือเราคุยกับ ผู้กำกับคนหนึ่งที่เขาอายุมากแล้ว เขาพยายามทุกวิถีทาง ดิ้นรนที่จะสร้างหนัง เรารู้สึกสงสารเขา เราก็ไม่อยากให้ตัวเราเป็นอย่างนั้นไง ถึงมันจะเป็นเราก็ต้องทำใจ เหมือนกับว่า เฮ้ย! อาชีพนี้มันค่อนข้างยากเหลือเกิน เรารู้สึกว่าการร่วมทุนเป็นการทำให้ตลาดเราขยายมากขึ้น เพราะยังไงเราต้องขาย มันทำให้อยู่ได้ ทำงานอย่างนี้ได้ตลอด …อะไรอย่างนี้

FF: ที่คุณเจ้ยมองว่าตลาดมันน่าจะขยายมากขึ้นเนี่ย หมายความว่าในอนาคตข้างหน้านี้ โรงฉายในเมืองไทยที่ฉายหนังแบบหนังคุณเจ้ยอาจจะมีจำนวนมากขึ้น อย่างตอนนี้มีอยู่สามโรง แต่อีกห้าปีสิบปีข้างหน้าอาจอาจจะมียี่สิบโรง คือหมายถึงกลุ่มคนดูที่เพิ่มมากขึ้นใช่ไหม
เจ้ย : ใช่ฮะ ถ้าอย่างนั้นได้ก็ดี หมายถึงว่ามันจะมีคนที่ยอมรับอะไรใหม่ๆ ได้มากขึ้น อย่างคนในประเทศ สเปน โปรตุเกสอะไรอย่างนี้ แต่มันไม่ใช่กลุ่มใหญ่หรอก มันเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่ว่ามันเอื้อให้เราสามารถทำงานต่อไปได้ เพราะคนไทยยังไงก็เป็นประเทศเท่านี้ ขนาดเท่ารัฐเท็กซัสเนี่ย เราไม่สามารถครอบคลุมทั้งหมดได้

FF: แต่ตลาดหนังเมืองไทยก็ยังเป็นแค่กรุงเทพอย่างเดียว
เจ้ย : ใช่ๆ และก็มันเป็นที่เราห่วงด้วยไง เพราะว่าเป็นตลาดของคนแค่กลุ่มอายุเท่านี้เท่านั้น ซึ่งมันก็ลิงค์กับที่ว่าวัยรุ่นไทยที่มันถูกโอ๋มาเยอะไง เพราะฉะนั้น การใช้จ่าย มันจะมาจากกลุ่มวัยรุ่นเยอะ เพราะฉะนั้น คนที่ทำหนังหรือสตูดิโอเนี่ย ก็ต้องใช้เด็กทำ ใช้วัยรุ่นทำ เพราะว่าเค้าคุยกันไม่รู้เรื่องแล้วอ่ะ ตาแก่...ปลดเกษียณเนี่ย...คือทำหนังไม่รู้เทสต์เด็กแล้ว ต้องเอาเด็กมาคุยกันเอง เพราะฉะนั้นเราก็เลยบอกว่าอาชีพคนทำหนังมันเป็นกลุ่มอายุแค่นี้ ต่อไปเนี่ยอันตราย คุณต้องหาอาชีพอื่นแล้ว เออ... เพราะฉะนั้นเราก็คิดว่า ถ้าอย่างนั้นมันต้องหาแล้วว่า กลุ่มคนดูแบบคนทำงานอายุ สามสิบอัพ สี่สิบ ห้าสิบ เนี่ยเขาจะดูอะไร ซึ่งเรารู้สึกว่า เฮ้ย! ตอนนี้มันมีแต่ผีกะเทยอ่ะ (หัวเราะกันครืนใหญ่) แล้วมันมีผลด้วยนะ เ หมือนกับว่า เฮ้ย! อายุสี่สิบก็ไม่มีอะไรดูแล้วไปดูผีกะเทยดีกว่า แล้วก็ ไป ฮ่า ฮ่า ฮ่า กันดีกว่า คือ...เรารู้สึกว่าหนังมันเปลี่ยนพฤติกรรมคนดูได้ไง คือเรารู้สึกว่าเราต้องเป็นตัวคาน ไม่ใช่ว่าคนดูต้องการอย่างนี้ แล้วเราตามกระแสไป ไม่ใช่..เราต้องมีการผลักดันด้วย ไม่งั้นคนดูกลุ่มอายุมากๆ มันจะไม่มีคุณภาพเท่ากับต่างประเทศ เรารู้สึกนะ โอเค ถ้าเราไม่คิดถึงต่างประเทศก็ได้ คิดแบบคนไทย มันก็ไม่พัฒนาน่ะ

ต่อ
//www.bloggang.com/viewdraft.php?id=movieworm&month=24-05-2010&group=3&gblog=21




 

Create Date : 24 พฤษภาคม 2553   
Last Update : 24 พฤษภาคม 2553 20:52:10 น.   
Counter : 731 Pageviews.  


สรุปย่อการประชุมชี้แจงผลการพิจารณาทุนส่งเสริมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของกระทรวงวัฒนธรรม (ไทยเข้มแข็ง)

จากกรณีที่กระทรวงวัฒนธรรมเชิญประชาชน สื่อมวลชน คนในวงการหนัง และผู้ที่มีข้อสงสัย คำถามเกี่ยวกับทุนสนับสนุนภาพยนตร์ของกระทรวงวัฒนธรรม เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม ในวันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม ซึ่งก็คือวันนี้ ปรากฏว่า หลังจากเดินทางฝ่าฝนไปถึงกระทรวงวัฒนธรรมถึงที่จุดนัดหมาย ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 19 กระทรวงวัฒนธรรม ตึกธนาลงกรณ์เป็นเวลา 10:32 น. ปรากฏว่าไม่พบการแถลงข่าวใดๆ พบแต่นักข่าวหลายสำนักนั่งทอดหุ่ยรอกันอยู่ในห้องประชุม สอบถามได้ความว่า ทางคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงวัฒนธรรมได้มีการเรียกตัวผู้ที่ยื่นจดหมายคัดค้านเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกันก่อน โดยมีการย้ายที่พูดคุยและกันนักข่าวออกจากห้องประชุม โดยอ้างว่ามีพื้นที่ไม่เพียงพอให้นักข่าวเข้าร่วมรับฟัง หลังจากการประชุมหารือ (ที่ไม่เปิดเผยให้สื่อมวลชนรับรู้) อันเนินนานผ่านพ้นไป เวลา 12:20 น. คณะกรรมการของกระทรวงวัฒนธรรมพร้อมกับกลุ่มคนทำหนังและแนวร่วมที่ยื่นจดหมายัดค้านก็ทยอยปรากฏตัวลงมาแถลงข่าวให้กับสื่อมวลชนที่นั่งรอกันจนแทบจะหลับกันไปหมดแล้ว โดยไม่ปรากฏแม้แต่เงาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (นายธีระ สลักเพชร) แม้แต่น้อย มีแต่ ศ. ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม, เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงบางท่าน นายจาฤก กัลย์จาฤก นายกสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ และคณะอนุกรรมการบางคนอย่าง นายสุรศักดิ์ สรรพิทักษ์เสรี (คนที่ออกรายการคมชัดลึกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา) นายพันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ นายกิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน รวมถึงฝ่ายคัดค้านอย่าง นายอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และ นายมานิต ศรีวานิชภูมิ เข้าร่วมนั่งแถลงข่าวด้วย

โดยนายอภินันท์ได้ออกมาแถลงว่า ทางกระทรวงและคณะกรรมการได้รับเรื่องที่มีการเสนอคัดค้านไว้ และรู้สึกขอบคุณที่มีการแสดงความคิดเห็น และจะนำความคิดเห็นเหล่านี้มาปรับใช้ในการทำงานในอนาคต (มีหรือ?) และกล่าวต่อไปว่าการประชุมในวันนี้ได้ข้อสรุปมาว่า งบ 50 ล้านบาทที่ไม่ใช่หนังยาว สามารถดำเนินการต่อไปได้ ส่วนเรื่องการคัดค้าน ทางคณะกรรมการจะเสนอเรื่องไปทางบอร์ดใหญ่ (เขาใช้คำว่าคณะกรรมการชาติ) เพื่อพิจารณาในลำดับต่อไป จากนั้นก็เปิดโอกาสให้ฝ่ายคัดค้านแถลงถึงเจตนาและเจตจำนงในการคัดค้าน และเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนผู้ที่สงสัยถามคำถาม

ซึ่งในส่วนของการตอบข้อซักถาม คณะกรรมการบางท่านเห็นว่า หนัง "นเรศวร" มีสิทธิ์โดยชอบธรรมในการของบสนับสนุนจากรัฐบาล และยืนยันที่จะเดินหน้ามอบเงินสนุนต่อไป ส่วนประเด็นในเรื่องงบ 330 ล้านที่กกระทรวงพาณิชย์อนุมัติให้หนังเรื่องนี้ด้วยนั้น mk’คณะกรรมการของสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยทุกคนไม่ทราบถึงเงินก้อนดังกล่าวมาก่อน และให้เหตุผลว่า เงินก้อนดังกล่าวไม่มีผลต่อการตัดสินใดๆ ทั้งสิ้น

ส่วนคำถามในส่วนของงบประมาณที่เหลือที่มีการมอบให้หนังยาวเรื่องอื่นๆ มีข้อสงสัยจากสื่อมวลชนว่า เหตุใดจึงมอบให้ค่ายหนังเอกชนรายใหญ่ที่มีโอกาสและกำลังในการทำหนังสูงอยู่แล้ว นายสุรศักดิ์หนึ่งในคณะอนุกรรมการได้ตอบข้อสงสัยนักข่าวว่า คณะกรรมการได้พิจารณาหนังทุกเรื่องที่ส่งเข้ามาอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมตามหลักเกณฑ์การพิจารณาจาก 4 ส่วนคือ เนื้อหา การบริหารโครงการ ผลประโยชน์และผลกระทบ และคุณค่าทางศิลปะ ซึ่งภาพยนตร์ที่ได้รับการมอบทุนทั้งหมด (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตำนานสมเด็จพระนเรศวร) มีความเหมาะสมและได้รับคะแนนสูงในการพิจารณา

ซึ่งหนึ่งในคณะอนุกรรมการ นายกิติศักดิ์ สุวรรณโภคิน ได้ออกมาแถลงต่อมาว่า การพิจารณาหนังยาวเรื่องอื่นๆ เองก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์การพิจารณาอย่างเคร่งครัด โดยยกตัวอย่างหนังเรื่อง ‘อีนางเอ้ย’ หนังจากค่ายสหมงคลฟิล์มที่ได้รับทุน 5225000 บาท ว่าถูกยกขึ้นมาพิจารณาโดยไม่มองว่าเป็นหนังของค่ายสหมงคลฟิล์มด้วยซ้ำ แต่พิจารณาจากการที่หนังชนะเลิศรางวัลการประกวดบทยอดเยี่ยม และเป็นหนังที่สหมงคลฟิล์มพิจารณาแล้วว่าในทางการตลาดหนังเรื่องนี้ไม่มีแนวโน้มที่จะขาย ซึ่งหากหนังเรื่องนี้ไม่ได้รับการสนับสนุน ก็อาจไม่มีโอกาสได้สร้างขึ้นมา

ทางคณะกรรมการได้ชี้แจงต่อไปเกี่ยวกับประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างคณะกรรมการและผู้ยื่นเสนอทุน ว่าเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ ที่จะมีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้เสนอทุนเป็นหนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาทุน เพราะบุคคลากรในวงการภาพยนตร์ไทยมีน้อย แต่ได้ก็แก้ไขไปด้วยการที่ถ้าคณะกรรมการพิจารณาฯ คนใด คนหนึ่ง มีความเกี่ยวข้องหรือมีสายสัมพันธ์กับบริษัทหรือบุคคลผู้ยื่นขอทุน คณะกรรมการรายนั้นจะต้องเดินออกจากการประชุมพิจารณาทุนนั้นๆ โดยทันที

สำหรับรายชื่อของคณะกรรมการที่มีส่วนในการตัดสินทุน นายอภินันท์กล่าวว่าทางการทรวงเปิดเผยและโปร่งใส ประชาชนและผู้ที่สงสัยอยากรู้รายละเอียดสามารถหารายชื่อของคณะกรรมการและอนุกรรมการได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงฯได้

ซึ่งในประเด็นนี้ นายสัญชัย โชติรส แห่งมูลนิธิหนังไทย ได้เรียกร้องให้ทางคณะกรรมการและอนุกรรมการแสดงหลักฐานซึ่งก็คือ เทปบันทึกภาพการประชุมพิจารณาฯ ดังกล่าว เพื่อเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจและโปร่งใสของคณะกรรมการ ซึ่งนายอภินันท์ก็ได้รับเรื่องไว้และจะนำไปพิจารณาต่อไป


การซักถามดำเนินไปได้เพียงไม่นานเท่าไหร่ จู่ๆ ทางคณะกรรมการและผู้บริหารของกระทรวงวัฒนธรรมก็ปิดการแถลงข่าวเอาแบบดื้อๆ และเรียงแถวกันเดินออกจากห้องประชุมโดยเร่งด่วน ทิ้งสื่อมวลชนและผู้ที่เข้าร่วมฟังการประชุมที่งุนงงเอาไว้เบื้องหลัง (อ้างว่าจะมีคนใช้ห้องประชุมต่อทันทีทันใดนั้น)

หลังจากนั้นทางกลุ่มผู้ที่เรียกร้องฯ ซึ่งมีตัวแทนคือ นายอภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล และ นายมานิต ศรีวานิชภูมิ ให้ออกมาแถลงและให้คำตอบต่อหน้าสื่อมวลชนในภายหลังดังนี้...

อภิชาติพงศ์ : ผมขอออกตัวก่อนนะครับว่าไม่ใช่แค่ผมกับพี่มานิตแค่สองคน แต่เราเป็นเครือข่ายรวมทั้งคนดูหนัง คนทำหนัง โปรดิวเซอร์ แล้วก็นักวิจารณ์หนังด้วย ไม่อยากให้เข้าใจผิดว่ามีแค่เรามาเรียกร้อง จากที่คุยกันวันนี้ผมว่ามันได้ประโยชน์มาก เพราะเห็นได้ชัดเลยว่า ทุกคนมีความจริงใจ คณะกรรมการ กระทรวงฯ มีความตั้งใจที่จะสนับสนุนภาพยนตร์ไทยจริงๆ แต่ว่าในมุมมองของเรา เราเป็นคนทำภาพยนตร์ อย่างที่พี่คนนึงบอกไปในห้องประชุม ซึ่งผมก็เห็นด้วยก็คือ "เราก็เกิดและตายกับภาพยนตร์" เพราะฉะนั้น ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ทางรัฐจะให้ทุนสนับสนุน ซึ่งตอนแรกตกใจมาก เอ๊ะ! เป็นจริงหรือเปล่า? แต่พอมันเป็นจริงขึ้นมา เราก็รู้สึกว่าเราอยากจะช่วยเหลือ จากประสบการณ์ของเรา เพราะว่าผมทำหนังมานานกว่า 10 ปี ผมได้รับทุนจากต่างประเทศมาตลอด แล้วมันก็มีมาตรฐานสากลในการให้ทุน แต่ทีนี้พอทางกระทรวงฯ จัดการเนี่ย เรารู้สึกว่ามันยังมีข้อบกพร่องแล้วก็ข้อที่ไม่ชัดเจนเยอะในด้านมาตรฐาน โดยเฉพาะเรื่องสัดส่วนการกระจายทุน ผมไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องของท่ายมุ้ย หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ แต่เรามองถึงสามัญสำนึกและเรื่องของมาตรฐานการกระจายทุนของภาพยนตร์ในการสนับสนุนวงการหนังไทยจริงๆ มันควรจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นเราก็เลยมาพูดคุยกัน มาแสดงความคิดเห็นเพื่อการช่วยเหลือกันในสองประเด็น ประเด็นนึ่งก็คือ ในอนาคตเพื่อเราจะพัฒนาทุนนี้ ผมอยากเห็นมากเลยที่จะให้คนทำหนังที่ไม่ใช่คนที่เป็นที่รู้จัก อาจจะอยู่ต่างจังหวัด ได้มีโอกาสมากกว่านี้ เขาอาจจะแค่ขอทุนเขียนบทหรืออะไรก็ตาม แต่พอมาตรฐานมันเป็นอย่างนี้ มันเกิดช่องว่าง ช่องโหว่ ที่ทำให้เกิดความลักลั่และความแปลกประหลาดของทุนนี้ อีกประเด็นนึงก็คือ นอกจากอนาคตแล้ว ปัจจุบันเราทำอะไรกันได้บ้าง? กับผลของทุนที่ประกาศออกมาแล้ว ในขณะที่มันยังไม่ได้เซ็นอนุมัติ หรือแม้แต่เซ็นไปแล้วเนี่ย เราสามารถทำอะไรที่จะแสดงจุดยืนว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ภาพยนตร์ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐ และเมื่อมองย้อนกลับมาในอนาคตอีกสิบปียี่สิบปีเนี่ย เราภูมิใจกับการตัดสินนี้แค่ไหน?

ทางกลุ่มเรียกร้องให้มีการปรับปรุงกฎกติกาหรือผลการตัดสินอย่างไรบ้าง?

อภิชาติพงศ์ : ก็ร่างมาแล้วครับ (ข้อบกพร่องของทุนสนับสนุนโครงการและกิจกรรมส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์) มันเป็นประเด็นที่ผมบอกว่ามันเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ถ้าจะพูดรายละเอียดก็คือ ในกฎระเบียบควรต้องมีการระบุประเภทของการให้ทุนตั้งแต่แรก ซึ่งก็คือมาตรฐานสากลน่ะครับ ตั้งแต่การเขียนบท การพัฒนาบท การถ่ายทำ การตัดต่อ การโพสโปรดักชั่น มันต้องแบ่งชัดเจน และมีเพดานเงินด้วย (เน้น) ว่าจะให้เท่าไหร่ ในแต่ละขั้นตอน เพราะฉะนั้นมันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ยื่นส่งโครงการเข้ามาว่าเขาจะบริหารทุนอย่างไร ไม่ใช่ว่า โอเค ขอมา 20 ล้าน แล้วได้ไป 3 ล้าน แล้วเขาจะทำอะไร? มันคือการเสียเปล่า เพราะจริงๆ มันก็คือเงินภาษีของประชาชน

ตัวคุณอภิชาตพงศ์เอง คาดหวังว่าจะได้เงินเพิ่มขึ้นอีกไหม?

อภิชาติพงศ์ : ไม่ได้คาดหวัง และก็ไม่ได้อยากได้ด้วย (หัวเราะ) เพราะว่าโครงการที่ผมยื่นขอเนี่ย มันเป็นขั้นโพสต์โปรดักชั่น ซึ่งความจริงหนังก็เสร็จแล้ว พูดซื่อๆ ก็คือ ยังเป็นหนี้อยู่ เราเป็นหนี้ 3.5 ล้าน (สามจุดห้า ไม่ใช่ สามสิบห้า) เราก็ขอ 3.5 ล้าน เขาก็พิจารณาให้มา เราไม่ได้ประท้วงในจุดนั้น จริงๆ อย่าใช้คำว่าประท้วงเลย เราคิดว่าอยากให้มีการพิจารณาเรื่องสัดส่วนอีกที ในแง่ของการสร้างมาตรฐานในอนาคตน่ะครับ

จากการพูดคุยวันนี้ แนวโน้มจะไปได้ด้วยดีไหมครับ? ทางนี้เขาจะรับเรื่องของฝ่ายเราไหม?

อภิชาติพงศ์ : ก็จากการที่พูดคุยก็คือ ในทางคำพูดนะครับ เค้าจะดำเนินการต่อ

มานิต : เห็นว่าเค้ารับไปว่าจะทบทวน คือเราก็หวังว่าคณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติจะรับเรื่องนี้ไปทบทวน ในเรื่องเกี่ยวกับการให้เงิน 100 ล้านของนเรศวรฯ ก็ลองจินตนาการนะครับ ถ้า 100 ล้านของนเรศวรฯ กลับมาอยู่กองกลาง แล้วก็มีการพิจารณาโครงการอื่นๆ ผมคิดว่าเราอาจจะมีหนังไทยดีๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย เพราะอย่างไรก็แล้วแต่ อย่างที่เราได้บอกกับทางคณะกรรมการว่า นเรศวรฯ ได้ไปแล้ว 330 ล้าน จากกระทรวงพาณิชย์ เพราะฉะนั้น ในเมื่อหนังนเรศวรฯ ได้เค้กค่อนข้างจะก้อนใหญ่กว่าทุกคนอยู่แล้ว ทีนี้ในส่วนของผู้ที่เป็นนักทำหนังอิสระหรือจะมีสังกัดก็แล้วแต่จำนวนกว่า 200 ราย ซึ่งยังต้องการความช่วยเหลือเนี่ย ผมคิดว่าน่าจะพิจารณานำเงินในส่วน 100 ตรงนั้น กลับมาเกลี่ยกันใหม่ แล้วก็มาพิจารณากันอีกครั้งนึง ซึ่งผมก็กวังว่า ถ้ามองกันในทางบวก ว่าถ้าคณะกรรมการยอมรับข้อเสนอของเรา ผมคิดว่าเราคงจะได้ดูหนังดีๆ กันอีกหลายเรื่องนะครับ

จากการพูดคุยที่เพิ่งผ่านมาวันนี้ คิดว่าทางคณะกรรมการฯ มีความโปร่งใสแค่ไหน?

............(หัวเราะกันหมด) อภิชาติพงศ์ : คือ...พูดยากเพราะว่าแต่ละคนก็มีจุดยืนของตัวเอง แต่สิ่งที่ผมขอย้ำอีกทีก็คือเรื่องมาตรฐาน เรื่องของสามัญสำนึก ว่าเราสามารถที่จะเอาความเสี่ยงความเสี่ยงไปให้กับโปรเจ็กต์แค่หนึ่งโปรเจ็กต์มันเป็นเรื่องดีหรือเปล่า? อีกอย่างนึงการโปรเจ็กต์นี้ได้รับ 330 ล้านจากกระทรวงพาณิชย์ มันเป็นข้อมูลใหม่ พอมีข้อมูลใหม่แล้วเนี่ย แสดงว่าที่หนังเรื่องนี้จะได้ก็คือ 430 ล้าน แต่ว่าทางท่านมุ้ยเนี่ย ยังตั้งงบประมาณไว้ถึง 480 ล้าน ทีนี้ 430 ล้านเนี่ย ถือเป็น 89.5% มันเหมาะสมหรือไม่ที่รัฐบาลจะสนับสนุนเงินเกือบ 90% หรือเรียกได้ว่า เกือบ 100% ให้กับหนังเรื่องหนึ่ง ซึ่งมันก็จะโยงไปที่ประเด็นที่ว่า ทุนนี้มันคืออะไร ทุนเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ? ซึ่งมันก็จะมีเหตุผลของเขาว่า หนังนเรศวรฯ เนี่ย ได้เงินแน่ๆ เพราะว่านักเรียนและข้าราชการชอบไปดู เพราะฉะนั้น รายได้มันก็จะกลับมา แต่ว่าเราจะยินยอมให้เขาสร้างมาตรฐานนี้ต่อไปหรือเปล่า? ในการมองเรื่องของ ‘ทุน’ เป็นหลักในการสนับสนุนภาพยนตร์และวัฒนธรรม ว่าในอนาคตสองสามปีจะมีหนังเพื่อสยามประเทศ หรือว่าหนังที่จะลงทุนไปอีกเจ็ดแปดร้อยล้านบาท อีกกี่เรื่องขึ้นมา ซึ่งมันจะไปมีผลกระทบกับหนังเรื่องอื่นๆ ซึ่งผมก็เลยเสนอว่า โครงการอย่างนี้มันควรเป็นโจทย์ต่างหาก มันไม่ใช่โจทย์ที่จะมายุ่งกับโครงการสนับสนุนภาพยนตร์แบบให้เปล่า ซึ่งมันมีอยู่ทั่วโลก ซึ่งการให้เปล่าแบบนี้เขาเรียกว่า ‘Seed Fund’ Seed นี่แปลว่าเมล็ดพืช ก็คือ รัฐ จะหว่านเมล็ดพืชไป จะเกิดหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ ผมเองก็เหมือนกัน ผมได้ทุน Seed Fund มาสองสามโปรเจกต์ ผมยังไม่ได้ทำอะไรเลย เขาก็ไม่ได้เรียกเงินคืน นี่คือ Seed Fund คือการแสดงความจริงใจในการพัฒนาภาพยนตร์อีกประเภทนึง รัฐบาลต้องเคลียร์ในจุดนี้ว่า ถ้าคุณมีความจริงใจในการสนับสนุนภาพยนตร์จริงๆ เนี่ย มันต้องมีลักษณะของการสนับสนุนแบบ Seed Fund มากกว่านื้ และไม่เกิดกรณีแบบนี้ ที่ให้โครงการใหญ่ๆ มาฮุบเงินส่วนใหญ่ไป ซึ่งผมดีใจมากเลยที่เหตุการณ์อย่างนี้มันเกิดขึ้น เพราะมันทำให้เราได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และมันจะไม่มีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นอีก

มานิต : จริงๆ ผมคิดว่า ในแง่นึงเราก็ต้องให้ความยุติธรรมกับกระทรวงวัฒนธรรมเหมือนกันนะครับ ผมเข้าใจว่างบประมาณ 200 ล้านที่มีมาเนี่ย ความตั้งใจเดิมก็คงต้องการมาส่งเสริมหนังไทยโดยตรง แต่เนื่องจากว่ารัฐบาลมีวาระซ่อนเร้นในเรื่องของการให้เงินสนับสนุนหนังนเรศวรฯ คำถามคือว่า ทำไมรัฐบาลไม่ไปตั้งงบประมารแยกไปเลยล่ะครับ ว่า 480 ล้าน ให้กับหนังเรื่อง นเรศวรฯ ไม่ใช่มาตั้ง 330 ล้าน ที่กระทรวงพาณิชย์ แล้วที่เหลือให้มาเอาที่กระทรวงวัฒนธรรม มันก็เลยเกิดการยื้อแย่งเงินงบประมาณกันตามที่ปรากฏนะขณะนี้ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่ากระทรวงวัฒนธรรมก็อยู่ในภาวะที่อึดอัด เพราะจำเป็นจำต้องแบ่งงบประมาณของตัวเองให้กับ นเรศวรฯ ซึ่งผมเชื่อว่า ลึกๆ เนี่ย กระทรวงวัฒนธรรมก็ไม่ได้อยากให้ แต่เนื่องจากบอกว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลก็ประเด็นนึง แต่ต้องไม่ลืมว่าตอนที่เปิดรับโครงการ ในชื่อโครงการไม่ได้มีการระบุรายละเอียดเลยว่างบประมาณครึ่งนึงจะให้กับหนังเรื่อง นเรศวรฯ ทุกคนเป็นที่เข้าใจกันว่าอันนี้คือการเปิดกว้างให้กับหนังในทุกรูปแบบ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่ากระทรวงวัฒนธรรมเองอยู่ในภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เมื่อต้องมาให้หนัง นเรศวรฯ และยังมาถูกทางฝ่ายผู้สร้างหนังอิสระหรือมวลชนต่อต้าน ในเมื่อถ้ารัฐบาลมีความชัดเจนว่าไหนๆ จะต้องทำอยู่แล้ว ซึ่งก็มีการประกาศไปตั้งแต่ต้น นายกฯ อภิสิทธิ์ ก็ได้ขี่ช้างแถลงข่าวไปเรียบร้อย เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ก็แล้วทำไมไม่ตั้งเป็นโปรเจกต์แยกออกมาล่ะ? หรือว่าการไปตั้งในลักษณะนั้น อาจทำให้รัฐบาลไปตอบกับรัฐสภาได้ลำบากในการแจงการใช้จ่ายเงินงบประมาณ? ผมคิดว่ามันมีวาระซ่อนเร้นเกี่ยวกับเรื่องนี้พอสมควร ผมอยากให้สื่อมวลชนลองติดตามดู เพราะว่าเรื่องนี้ถ้าย้อนกลับไปในอดีต เงินงบประมาณหนัง นเรศวรฯ ภาค 1,2 เจ็ดร้อยล้าน ที่เป็นเงินของกองสลากเนี่ย คณะรัฐบาลของคุณทักษิณก็ยังมีชนักติดหลัง ก็ยังต้องขึ้นศาลอยู่ ผมไม่รู้ว่ากรณีนี้น่าเป็นห่วง ว่าการอนุมัติโครงการต่างๆ เกี่ยวกับหนังเรื่องนี้เนี่ย ในท้ายที่สุดมันจะลงเอยในลักษณะเดียวกันกับการให้เงินอุดหนุนแบบหวยที่ผ่านมาในสองภาคแรกหรือเปล่า?

ในส่วนของเงินงวดที่สองของทุนสนับสนุนหนังไทยอีก 280 ล้านบาท ที่มีการแถลงในตอนแรกเริ่ม ได้ถามคณะกรรมการหรือเปล่า ว่ามันหายไปไหน?

มานิต : ก็คงไม่มีมาแล้วครับ เพราะว่าจริงๆ ตั้งแต่ต้นผมก็ไม่แน่ใจว่าการตั้งทุนสนับ 200 ล้านเนี่ย ให้มาเพื่อที่จะสนับสนุนวงการหนังไทยหรือเปล่า หรือว่ามันเป็นอุบัติเหตุ? สำหรับผม ผมตั้งข้อสังเกตว่า กระทรวงวัฒนธรรมมีโครงการต่างๆ ที่ขอเงินงบประมาณไทยเข้มแข็ง ปรากฏว่าทางรัฐบาลให้มา 200 ล้าน แต่รัฐบาลก็ไม่ได้บอกกระทรวงวัฒนธรรมว่า 200 ล้านในใจของรัฐบาลเอง คืองบสำหรับหนังนเรศวรฯ เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติของกระทรวงวัฒนธรรมเอง เขาก็ยังเข้าใจอยู่ว่าเป็นเงินที่ทางกระทรวงฯ ขอ และได้มา จึงเอามาตั้งเป็นโครงการส่งเสริมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ขึ้นมา

อภิชาติพงศ์ : ถ้าจะขยายประเด็นของคุณมานิตก็คือ ทางนายกฯ อภิสิทธิ์ ที่ได้ไปขี่ช้างตั้งแต่ปีที่แล้ว มันเป็นก่อนที่จะมี หรือมันอาจเป็นเหตุผลนึงเลยที่มีทุนนี้ขึ้นมา แต่เราต้องพิจารณาว่า พอมันเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมา และการที่ท่าน อ.อภินันท์ ออกมาประกาศหลังจากการประกาศทุนแล้วว่า โปรเจกต์นี้ส่วนนึงที่ได้เพราะเป็นโปรเจกต์ที่รัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ สนับสนุน เพราะฉะนั้นเราก็ย้อนกลับมาคิดว่า ถ้าอย่างนั้น อิทธิพลของคณะกรรมการจะมีประโยชน์อะไร เนื่องจากการมีปัจจัยทางการเมืองภายนอก แรงกดดันภายนอกจากรัฐบาล ซึ่งคณะอนุกรรมการมากกว่าครึ่งนึง จาก 22 ท่าน มี 14 ท่านที่เป็นข้าราชการ แล้วมันเป็นไปได้ไหมที่แรงกดดันนี้จะทำให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น มันแสดงให้เห็นว่า หนังเรื่องนี้พิเศษกว่าหนังเรื่องอื่น ซึ่งถ้ามันเป็นลักษณะอย่างนี้จริงๆ (ซึ่งมันเป็นไปได้) ผมก็คิดว่ามันไม่เป็นธรรมสำหรับภาพยนตร์เรื่องอื่นที่จะมาแข่งในสนามเดียวกัน

ท้ายสุดทางผู้ยื่นเรื่องเสนอคัดค้านกล่าวว่าจะรอดูท่าทีของกระทรวงวัฒนธรรมว่าจะมีการดำเนินการใดๆ ต่อข้อเสนอคัดค้านนี้หรือไม่ หากทางกระทรวงยังดึงดันที่จะดำเนินการมอบงบต่อไปก็อาจต้องมีการพิจารณาการดำเนินการทางกฎหมายกับกระทรวงฯ และภาครัฐต่อไป




 

Create Date : 04 พฤษภาคม 2553   
Last Update : 4 พฤษภาคม 2553 2:59:48 น.   
Counter : 680 Pageviews.  


1  2  3  4  5  

panueddie
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add panueddie's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com