Movieworm
 
5x2 ดูหนังอย่าง OPEN กับ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา UNCUT

เรื่อง/ภาพ : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อหลายปีที่ผ่านมา มีนิตยสารรายเดือนเล่มหนึ่ง ที่นอกจากจะมีความโดดเด่น ในการวิเคราะห์ วิพากษ์ และนำเสนอความเป็นไปของเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ไปจนถึงศิลปวัฒนธรรมของบ้านเราได้อย่างลึกซึ้งแหลมคมแล้ว มันยังเป็นนิตยสารน้ำดีอีกเล่มที่อัดแน่นและเต็มเปี่ยมไปด้วยเนื้อหา ท่ามกลางนิตยสารมากหน้าหลายตาที่ให้ความสำคัญกับโฆษณามากกว่าสาระบนแผงหนังสือบ้านเรา นิตยสารเล่มนั้นมีชื่อว่า ‘OPEN’
หลังจากการปิดตัวของนิตยสารลงท่ามกลางกระแสธารอันเชี่ยวกรากในการแข่งขันของธุรกิจนิตยสาร บรรณาธิการหนุ่มผู้เปรียบเสมือนขุมสมองและผู้ให้กำเนิด OPEN อย่าง ‘ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา’ ก็ผันตัวมาทำสื่อที่เขาบอกว่า ช้ากว่า นิ่งกว่า แต่ลึกซึ้งและยั่งยืนกว่าอย่างวรรณกรรม ภายใต้ชื่อสำนักพิมพ์ Openbooks เขาผลิตหนังสือซึ่งเป็นเหมือนกับตัวเลือกทางปัญญาที่แตกต่างอีกเส้นทางสำหรับหรับคอวรรณกรรมเล่มแล้วเล่มเล่า
วันนี้เราได้รับโอกาสอันดีให้เข้าไปพูดคุย สอบถามความคิดและทัศนคติเกี่ยวกับ ‘หนัง’ ที่เขาเคยดูผ่านตามาในชีวิตกัน จึงเป็นที่น่าสนใจสำหรับเราว่า การดูหนังของคนทำสื่อช่างคิด ช่างวิเคราะห์และตั้งคำถามอย่างเขา จะมีแง่มุมที่น่าสนใจยังไง
มาร่วมกันอ่านความคิดของเขาผ่าน 10 หนังที่เขาเลือกมาคุยให้เราฟังกันเถอะ

ภาณุ: สถานการณ์ของ Openbooks ตอนนี้เป็นยังไงบ้างครับ
ภิญโญ: สถานการณ์ของ Openbooks ก็อยู่กันไปเพลินๆ น่ะครับ คือไอ้ตอนที่เค้าเฟื่องฟู เราก็ไม่ได้เฟื่องฟูกับเค้ามาก ไอ้ตอนที่เค้าตกต่ำเราก็ไม่ได้ตกต่ำกับเค้ามาก ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นยังไง เราก็เหมือนมีคนอ่านอยู่กลุ่มนึงที่เค้าให้การสนับสนุนเราอยู่ แล้วเราก็ค่อนข้างเลือกแนวทางที่ชัดเจนว่าเราทำหนังสือแนวไหน เพราะฉะนั้นคนอ่านเค้าก็รู้จักว่าเราเป็นใคร เค้าจะหาอะไรได้จากเรา เราอยู่ได้ด้วยกลุ่มของคนอ่านที่เป็น Serious Readers ที่น่าจะมีอยู่กลุ่มเล็กๆ กลุ่มนึงในเมืองไทย เราก็ไม่ได้ขยายตัวเติบโตมาก เหมือนกับคนอื่นที่เค้าตั้งเป้าหมายทางธุรกิจกัน เราไม่เคยตั้งเป้า แต่เราจะทำยังไงให้คุณภาพชีวิตไอ้พวกเรากันเองที่ทำงานมันดีขึ้น ทำไงให้ชั่วโมงการทำงานในแต่ละปีมันน้อยลง มีเวลาพักผ่อนและเดินทางกันให้มากขึ้น ให้คนที่ทำงานด้วยกันแต่ละคนมันเติบโตทั้งด้านนอกและด้านใน มีเวลาอ่านหนังสือมากขึ้น มีเวลาพัก มีเวลาคิด มากขึ้น ทำหนังสือให้ไม่มากขึ้น แต่ว่าคุณภาพดีขึ้นในทุกๆ ทาง ทั้งเนื้อหาและออกแบบรูปเล่ม เป้ามันอยู่ตรงนั้น เราพัฒนากันอยู่ด้านใน ไม่ได้พัฒนาทางตัวเลขว่ามันจะต้องเติบโตยังไง นี่คือสถานการณ์ของเราในปัจจุบัน

ภาณุ: แล้วการอยู่รอดของสำนักพิมพ์ล่ะครับ ขึ้นอยู่กับอะไร
ภิญโญ: เราอยู่รอดด้วยทำสิ่งที่เราทำอยู่ให้มันชัดเจน แล้วมันตอบสนองในตลาดได้ว่า มันอาจมีความต้องการตรงนี้ที่คนอื่นอาจจะไม่ได้มาทำอยู่ เพราะมันไม่ได้ให้ผลคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากนัก ทำหนังสือเรื่องนึงขายหลายหมื่นเล่มกับทำขายสองพันเล่มนี่ความเหนื่อยมันเท่ากัน คนก็จะเลือกทำที่มันมีแนวโน้มว่าจะขายได้หลายหมื่นเล่ม ในขณะที่เราทำแล้วขายได้พันสองพันเล่มเราก็แฮปปี้แล้ว ที่เราอยู่ได้ก็เพราะต้นทุนเราต่ำ เราไม่ได้ใช้เงินกันฟุ่มเฟือยมาก

ภาณุ: อยู่ได้ด้วยยอดขายจริงๆ
ภิญโญ: แน่นอนอยู่แล้ว สำนักพิมพ์อยู่ได้ด้วยวิธีอื่นไม่ได้ ไม่เหมือนแม็กกาซีนที่ต่อให้ขายหมดมันก็ไม่มีกำไร มันต้องพึ่งโฆษณาอย่างเดียว นี่คือจุดที่มันต่างกัน ต่อให้คุณเก่งแค่ไหน ขายดีแค่ไหน มันก็แบกต้นทุนอะไรไว้เยอะ ขึ้นอยู่กับว่าคุณยังรักที่จะทำไหม ถ้าคุณรักที่จะแบก แล้วคุณสนุกที่จะคุยกับสังคมทุกๆ เดือน คุณก็ทำต่อไป แต่วันนึงเมื่อคุณเริ่มอายุมากขึ้น คุณไม่ได้ต้องการคุยกับสังคมถี่นัก คุณอยากมีชีวิตที่ช้าลง คุณก็เปลี่ยนอาชีพได้ คุณก็เลือกได้ว่าคุณจะเดินทางไหน ความสนุกในวัยเด็กมันได้ใช้ไปแล้วไง มันไม่ได้มีอะไรติดค้างแล้ว ตอนทำแม็กกาซีนนี่อายุประมาณ 29 เอง ทำมาจนถึงประมาณ 30 กว่าๆ มันก็มันเต็มที่น่ะ ทำตามใจตัวเองนะ ไม่ได้ทำตามใจตลาดเลย (หัวเราะ) ก็รู้สึกว่าก็สาแก่ใจแล้ว

ภาณุ: ชีวิตนิ่งขึ้น เรียบง่ายขึ้น?
ภิญโญ: ใช่ ใช้ชีวิตช้าๆ มีเวลาอ่านหนังสือเยอะ ทำงานช้าลง มีความสุขมากขึ้น ไม่ได้ทุกข์ทนทรมานน่ะ รู้สึกว่าพอไม่มีปัญหาเรื่องนิตยสารแล้วชีวิตมันดีขึ้น (หัวเราะ)

ภาณุ: ช่วงนี้นอกจากอ่านหนังสือเยอะแล้ว ได้ดูหนังบ้างไหมครับ
ภิญโญ: ดูหนังไม่เยอะมาก ช่วงหลังกลายเป็นคนดูหนังน้อยลงไปมาก สมัยหนุ่มๆ ทุกคนก็จะดูหนังกันเยอะใช่ไหม หนังเป็นวิธีการพักผ่อนของคนเมืองที่ง่ายที่สุด คุณซื้อบัตรแล้วคุณมีเวลาสองชั่วโมงตรงนั้น แต่พอคุณอายุมากขึ้นเนี่ย วิธีที่คุณจะฝ่าฟันการจราจรเข้าไปเพื่อจะไปแย่งกับคนเยอะๆ ต้องไปรอไอ้กระบวนการกว่าที่จะดูหนังได้เนี่ย มันทอนพลังงานไปเยอะ ไอ้ความพยายามที่จะไปดูหนังมันก็น้อยลง มาดูดีวีดีแทนบ้าง แต่ก็จะมีบางช่วงเวลาของชีวิตที่ไม่ได้เปิดหนังดูเลยแม้แต่เรื่องเดียว ก็จะอ่านหนังสือบ้าง ทำอย่างอื่นไปบ้าง

ภาณุ: ถ้าให้เทียบกันระหว่างสื่ออย่างหนังกับหนังสือ คุณคิดว่ามันมีความแตกต่างกันยังไงครับ
ภิญโญ: หนังมันมีแง่งามของมันเยอะนะ อย่างหนังสือบางเล่มเนี่ย บางทีเราไม่มีเวลาไปอ่านหนังสือที่มันหนาหรือมันยาวขนาดนั้นในชีวิตปัจจุบันแล้วน่ะ ทั้งๆ ที่มันอาจจะมีความลุ่มลึกอยู่ ผมไม่อ่าน แฮร์รี่ พอตเตอร์ หรอก ยาวซะขนาดนั้น แต่ถ้ามีคนชวนผมไปดูหนัง แฮร์รี่ พอตเตอร์ ผมดู หนังมันช่วยย่นย่อ ช่วยสานต่อจินตนาการทั้งหมดออกมา แม้ว่ามันอาจจะเก็บประเด็นไม่หมด แต่อย่างน้อยๆ เราก็รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่หนังมันถูกก็จะจำกัดเวลา มันต้องจบภายใน 2 ชั่วโมงที่คุณอยู่ในโรง ถึงแม้ว่าคุณจะมีความสงสัย คุณนั่งต่อมันก็ไม่มีคำตอบ ในขณะที่หนังสือเป็นสื่อที่ไม่มีเวลา คุณจะใช้เวลากับมันนานแค่ไหนก็ได้ คุณจะอ่านซ้ำกี่เที่ยวก็ได้ ในแต่ละเที่ยวความรู้สึกของคุณอาจจะไม่เหมือนกันก็ได้ ธรรมชาติของสื่อมันไม่เหมือนกัน มันมีดีมีด้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่า จังหวะนั้นคุณต้องการเสพสื่อแบบไหน

ภาณุ: เข้าเรื่องหนังที่คุณภิญโญเลือกมาเลยดีกว่านะครับ (เดี๋ยวจะยาว) เรื่องแรกครับ ‘แผลเก่า’
ภิญโญ: คือผมน่ะเป็นคนบ้านนอก ฉะนั้นผมดูหนังไทยมาก่อน เด็กๆ ที่บ้านผมมันมีโรงหนังอยู่โรงนึง ชื่อโรงภาพยนตร์บุญปัญญา อยู่อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ความโชคดีอย่างนึงคือ ไอ้เพื่อนร่วมชั้นของผมคนนึงเนี่ย แม่มันเป็นคนเฝ้าประตูโรงหนัง ชื่อ เจ๊แป๋ว ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ ฝากขอบพระคุณด้วย (หัวเราะ) เพราะงั้น ผมก็เลยมีโอกาสที่จะเข้าไปดูหนังฟรี ด้วยการตามเพื่อนผมคนนี้เข้าไป แล้วสมัยก่อนเค้ายังฉายหนังกลางแปลงเพื่อแก้บนอยู่เยอะมาก ถ้าดูในโรงยังไม่พอ ก็ไปหาดูตามงานวัดตามศาลเจ้าได้ ไอ้การดูหนังมันเริ่มมาจากตรงนั้น ซึ่งหนังมันก็หนีไม่พ้นหนังไทย หนังจีน ไอ้หนังเรื่องแรกที่ผมเลือกมา คุยเลยเป็น ‘แผลเก่า’ เวอร์ชั่นแรก ของคุณ เชิด ทรงศรี ที่คุณสรพงศ์ ชาตรี, นันทนา เงากระจ่าง เล่นน่ะ (หัวเราะ) เออ เพราะถ้าถามว่าความทรงจำวัยเด็กเกี่ยวกับหนังไทยมันคืออะไร คืออารมณ์ประมาณเนี้ย มันคือ ไอ้ขวัญ อีเรียม ที่จำได้คือผมไปดูรอบดึก แม่ผมก็จะเดินมาตามทุกทีเลย ร้องตะโกนลั่นโรงหนังเลย เรียกชื่อเรา เราก็จะค่อยๆ ทรุดตัวลง (หัวเราะ) แอบไม่ให้แม่เห็น แล้วรู้สึกว่าเรื่องนี้แม่ผมมาตามผมเสร็จแทนที่จะกลับบ้านพร้อมกัน แม่เลยนั่งดูด้วยเลย ทุกวันนี้คุยกับแม่ แม่ก็ยังจำเรื่องแผลเก่าได้ ที่นี้ตอนที่ผมมาอยู่กรุงเทพฯ ผมอยู่แถวๆ มีนบุรี ไอ้บรรยากาศมีนบุรีในช่วงที่ผมอยู่เมื่อ 20 ปีที่แล้วเนี่ย มันยังทันเห็นฉากของแผลเก่านะ มันจะมีคลองที่น้ำใสมาก แล้วก็มีต้นไทรใหญ่ๆ ยื่นลงไปในน้ำ มันเป็นฉากที่สรพงศ์เป่าขลุ่ยในเรื่องแผลเก่าเลย คือเราดูหนัง ได้มีจินตนาการร่วมกับคุณเชิด แล้วได้มาเห็นฉากชีวิตจริงๆ ของชนบทชานเมืองกรุงเทพฯ พอโตขึ้นแล้วได้มาอ่านวรรณกรรมของ ‘ไม้ เมืองเดิม’ ไอ้ความผูกพันตรงนี้มันเลยสูงมาก แล้วภาษาในเรื่องมันจริงใจมาก ฟังดูตอนนี้มันอาจจะเชย

ภาณุ: แต่คลาสสิก
ภิญโญ: ช่าย วันนี้เราอาจจะพูดว่าเชย แต่วันนั้นคนร้องไห้กันทั้งโรง ไอ้ผมดูก็ร้องไห้นะ ฉากสุดท้ายที่ไอ้ขวัญมันฆ่าตัวตายน่ะ มึงไม่รักกูแล้ว กูไม่มีทางสู้ในชีวิตแล้ว ความรักอันสูงสุดของกูคือความรักที่กูมีต่อมึงมันไม่เหลือแล้ว กูตายเสียดีกว่าว่ะ แล้วนางเอกก็เลยตายตามไปด้วย ที่สุดความรักมันสามารถเอาชนะความหลงได้ โรแมนติกมากนะ ยุคนั้นเราเด็กๆ ด้วย โอ๊ย! คนร้องไห้กันทั้งบ้านทั้งเมือง (หัวเราะ)

ภาณุ: เรื่องที่สอง ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ ครับ
ภิญโญ: ถ้าเทียบเรื่องแผลเก่ามันเป็น 20 ปีที่แล้ว ถ้าสักประมาณ 10 ปี ที่ผ่านมามันมีอะไรที่มันย้อนความ รู้สึกนี้ได้ ผมเลือกเรื่อง ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ ของ เป็นเอก รัตนเรือง ซึ่งคนเขียนคือ คุณวัฒน์ วรรลยางกูร ซึ่งเขียนหนังสือเล่าอารมณ์ชนบทออกมาได้ดีมาก สวยมาก แล้วไอ้เรื่องนี้มันกลับข้างกัน ไอ้แผลเก่าเนี่ย อีเรียมมันได้ดี หนีเข้าไปในกรุงเทพฯ แล้วก็ไปหลงแสงสี ทิ้งไอ้ขวัญไป แต่มนต์รักทรานซิสเตอร์มันกลับข้าง

ภาณุ: ผู้ชายไปหลงแสงสีแทน
ภิญโญ: เออ! (หัวเราะ) ไอ้ผู้ชายหลงแสงสี แล้วก็หนีเข้ากรุงเทพฯ อีนางผู้หญิงไปตาม แล้วในที่สุดไอ้ผู้ชายกลับมาตายรัง จริงๆ แล้วมันพล็อตเดียวกันน่ะ คือการหลงแสงสีของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แล้วกลับมาตายรัง ในขณะที่ ไอ้ขวัญ อีเรียม มันตายจริงๆ แต่ในมนต์รักทรานซิสเตอร์มันกลับมาตายรัง คือกลับมาหา ‘ราก’ ของมัน มันสะท้อนว่า คนไทยพอมันเจอปัญหา เจอวิกฤติ ในที่สุดมันกลับมาหารากของมัน คือบ้าน คือชนบท ที่ๆ ให้ความอบอุ่นมากที่สุด ตอนเมืองไทยเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจปี ‘40 เนี่ย ถึงที่สุดคนไทยไปไหน ที่รอดมาได้ก็คือคนไทยกลับบ้านไง ไอ้ชนบท ท้องนา ภาคเกษตรกรรม มันรองรับไอ้ความฉิบหายของสังคมเมืองที่ทำไว้ได้หมด หนังเรื่องนี้น่ะ มันตอบความหมายของยุคสมัยได้ แผลเก่าก็ด้วย เหมือนกันเลย มันสะท้อนสังคมไทยในยุคสมัยของมัน

ภาณุ: ทั้งๆ ที่คุณเป็นเอกเป็นคนที่ทำหนังสมัยใหม่ๆ มากๆ
ภิญโญ: ใช่ แต่ก็ไปจับไอ้เรื่องที่มันโบร้า ณ โบราณ พล็อตโคตรเชยเลยนะ เออ แต่พอกลับข้าง เปลี่ยนวิธีการเล่าเรื่อง เอาเพลงใส่เข้าไป กลายเป็นหนังสมัยใหม่ ใช้เพลงสุรพลน่ะ โคตรเชยเลย (หัวเราะ) แต่ทำไมดูแล้วมันเท่ขึ้นมาได้วะ

ภาณุ: ความดีงามขอหนังทั้งสองเรื่องนี้ ต้องยกประโยชน์ให้วรรณกรรมรึเปล่าครับ
ภิญโญ: คือทั้งสองเรื่องต้องยกประโยชน์ให้กับวรรณกรรม แต่ก็ไม่สามารถให้เครดิตวรรณกรรมอย่างเดียวได้ เพราะถ้าเลือกผู้กำกับผิด หนังก็ไม่มีทางออกมาดีแบบนี้ ลองเปลี่ยนคนทำดิ ไม่อยากเอ่ยชื่อ (หัวเราะ) แต่พอมาอยู่ในมือของคุณเชิด ทรงศรี ซึ่งทำได้ละเมียดมาก หรือเป็นเอกเนี่ย หนังมันตอบโจทย์ มันจบ มันสวยกว่าวรรณกรรมด้วยซ้ำไป เผลอๆ วรรณกรรมยังไม่สามารถเล่าเรื่องได้เท่าหนังได้ หนังเล่าไปไกลกว่า บางเรื่องหนังทำได้ดีกว่าด้วยซ้ำ

ภาณุ: เรื่องที่สาม ‘ฟ้าทะลายโจร’ ครับ
ภิญโญ: ผมเลือกเรื่องนี้เพราะ ตอนเด็กๆ ที่ผมอยู่บ้านนอกเนี่ย มันเป็นช่วงเวลาที่หนังพวก สมบัติ เมทนี, อรัญญา นามวงศ์, กรุง ศรีวิไล เฟื่องฟูมาก แล้วพล็อตมันเหมือนกันหมดเลย ก็คือ ไอ้พระเอกมันลงจากรถบัสมา แล้วก็ไปที่หมู่บ้าน หรือตำบล แล้วก็มีเรื่องชกต่อยกับนักเลงเจ้าถิ่นซึ่งเป็นเจ้าพ่อ ทำความชั่ว ค้ายาเสพติด ตัดไม้ทำลายป่า แล้วก็อาจจะมีแย่งนางเอกกันเล็กน้อย แล้วในที่สุด ไอ้พระเอกก็เอาชนะความชั่วร้ายที่อยู่ในท้องถิ่นได้ พล็อตมันเหมือนกันหมด มันง่ายๆ อยู่แค่คนดีชนะคนชั่วร้าย แล้วมันก็ไม่มีการพัฒนาไปไหน มันตันอยู่ตรงนี้หลายปีมาก ทุกคนแค่เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนบทบาท แต่ว่าพล็อตไม่เปลี่ยน

ภาณุ: ประมาณว่าพระเอกเป็นร้อยตำรวจเอกปลอมตัวมา
ภิญโญ: ใช่ จนคนไทยทุกคนสามารถรับมุขแบบนี้ได้หมด ทีนี้พอมันถึงยุคใหม่ ถ้ามันมีผู้กำกับสักคนนึงที่สามารถเอาไอ้พล็อตแบบนี้มาทำ แล้วหนังมันกลายเป็นหนังร่วมสมัยขึ้นมาได้ด้วยฝีมือของเค้าเนี่ย มันคือฟ้าทะลายโจรนี่แหละ มันทำให้เราคิดถึงวัยเด็กของเรา พล็อตไม่ได้ต่างกันเลยนะ มันเป็นการต่อสู้ระหว่างความดีกับความชั่ว เพียงแต่มันกลับข้าง ทำให้พระเอกกลายเป็นโจร ให้ตำรวจกลายเป็นผู้ร้ายซะ แล้วก็ใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบใหม่ ใช้สีของภาพยนตร์ให้มันเหนือจริงขึ้นมา มันเป็นการย้อนกลับไปเล่าเรื่องหนังไทยในยุคที่มันเฟื่องฟู ในทางการเงินนะ ไม่ใช่ทางเนื้อหาออกมาใหม่ได้อย่างละเมียดละไม

ภาณุ: เอาน้ำเน่ากลับมาทำเป็นน้ำดี
ภิญโญ: เออ เอาน้ำเน่ากลับมาแล้วสนุก มันมากเลย โอ๊ย! เลือดท่วมแม่น้ำ สีสวย ยังจำฉากได้ มันเหมือนพวกศิลปินอิมเพรสชั่นนิสต์น่ะ คือมองแสงสี วิธีการเล่าเรื่องเปลี่ยนไป แล้ววาดมันใหม่ ฉากเดิมเลย สมบัติ อรัญญา เหมือนเดิม ไม่ได้ต่างจากที่ผมดูตอนเด็กๆ เลย แต่มันกลายเป็นอีกเรื่องขึ้นมา เลยเว๊ย! สวยขึ้นมาจับใจเลย แล้วเปิดยุคใหม่ให้ด้วย ว่าทำอย่างนี้ได้ สดมาก คุณวิศิษฏ์ (ศาสนเที่ยง) เป็นอิมเพรสชั่นนิสต์ (หัวเราะ)

ภาณุ: ถ้ามองในแง่ลบล่ะครับ ประมาณว่าหมดมุขแล้วไปหากินกับของเก่ารึเปล่า
ภิญโญ: ในทุกๆ วงการเราก็ไม่ได้ทำอะไรใหม่มานานแล้วนะ (หัวเราะ) วงการศิลปะ วงการวรรณกรรม เราก็ไม่ได้ทำอะไรใหม่กันมานานแล้ว มันขึ้นอยู่กับว่า เราจะตีความมันใหม่ หรือเราจะมีมุมมองใหม่ยังไงต่างหาก จริงๆ โลกมันไม่ได้เปลี่ยนมานานแล้ว นวัตกรรมมันแทบไม่มีแล้วนะ เราได้แต่เอาของเก่ากลับมาทำใหม่ เพียงแต่เราต้องกลับมามองว่า เราจะมีคุณภาพชีวิตอยู่ในบริบทที่มีให้มันดียังไงต่างหาก

ภาณุ: เรื่องที่สี่ ‘Crouching Tiger, Hidden Dragon’ ครับ
ภิญโญ: ที่ผมเลือกเรื่องนี้ เพราะตอนเด็กๆ ผมดูไอ้พวกหนังกำลังภายในของ ชอว์ บราเดอร์ส มา ในยุคที่มันเฟื่องฟูที่สุด ไอ้พวก เดชไอ้ด้วน แค้นไอ้บอด ทั้งหลายน่ะ ตี้หลุง อะไรพวกนี้ เดวิด เจียง ฟู่เซิง ในยุคนั้นมันไปบ้านนอกหมดทุกเรื่องเลย แล้วไอ้หนังกำลังภายในที่ผมดูตอนเด็กๆ เนี่ย มันไม่ได้เป็นหนังเสียงในฟิล์มนะ มันจะมีคนพากย์ แถวบ้านผมมันมีคนเก่งอยู่คนนึง ชื่อ เล็ก กวี เป็นผู้ชายนะ พากย์ทุกเสียงเลย เราจะติดมาก แกก็จะแบบ ขึ้นต้นมา สีกระทบเสียง เสียงกระทบแสง แสงกระแทกจอ ชอว์ บราเดอร์ส เสนอออ! (หัวเราะ) พล็อตมันก็เหมือน สมบัติ อรัญญา นั่นแหละ ก็คือความดีสู้กับความชั่ว พระเอกก็ต้องตรากตรำลำบากฝึกวิชาเพื่อที่จะไปโค่นล้มไอ้เจ้าสำนักชั่วที่มันอยากเป็นใหญ่ในแผ่นดิน แล้วก็สู้กันแทบเป็นแทบตาย สุดท้ายพระเอกก็ชนะ พล็อตมีอยู่แค่นี้เอง กำลังภายในยุคนั้นเต็มไปด้วยการแก้แค้นกับการฝึกวิชาใหม่ๆ เพื่อที่จะเอาชนะกัน แต่มันก็สนุกในวัยเด็กของเรา ที่นี้เวลามันผ่านไป 20, 30 ปี เราโตขึ้น หนังกำลังภายใจมันก็เปลี่ยนบทบาทไป ชอว์ บราเดอร์ส ก็ลดบทบาทไป มาสู่ไอ้ยุคที่หนังฮ่องกงมันเฟื่องฟู จางเชอะ ฉีเคอะ อะไรก็ว่ากันไป จนกระทั่งมันมีไอ้เรื่องนี้ขึ้นมา ไอ้ Crouching Tiger, Hidden Dragon เนี่ย มันเหมือนกับเป็นการยกระดับหนังกำลังภายในขึ้นมาใหม่ มันไปสู่กำลังภายในที่มันลุ่มลึกขึ้น มันไม่ได้พูดถึงเรื่องความแค้นอย่างเดียวแล้ว มันเปิดฉากมาด้วยเรื่องภายในของไอ้จอมยุทธ์คนนึง คือ หลี่มู่ไป๋ ว่ามันจะวางกระบี่ลงยังไง ละวางความแค้น จะไม่ยุ่งเรื่องยุทธจักรแล้ว แต่มันยังไม่สามารถวางได้ แล้วมันมุ่งไปสู่การต่อสู้ภายใน หนังมันมีความลุ่มลึก มันก้าวพ้นจากไอ้ยุค ชอว์ บราเดอร์ส ซึ่งมันเหมือนตัวละครมันไม่มีหัวใจเลย มีแต่การเอาชนะ การอยากฆ่าฟัน อยากจะล้างแค้นกันอย่างเดียว แต่เรื่องนี้มันมีการต่อสู้ภายในของตัวละครแต่ละคนที่มันพยายามจะคลี่คลายปมในใจ ไอ้สมรภูมิมันได้เคลื่อนจากสมรภูมิรบมาสู่สมรภูมิในจิตใจ หนังมันเลยสวย แล้วปรากฏว่าคนมันเข้าใจ มันได้รางวัลออสการ์ไปเรียบร้อย จริงๆ จะว่าไปในบางแง่มุม มันก็คล้ายๆ ฟ้าทลายโจรนะ มันเปลี่ยนเอาเรื่องเก่ากลับมาเล่าใหม่ แล้วก็สามารถทำได้ดี

ภาณุ: แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าหนังดูเป็นตะวันตกเกินไป
ภิญโญ: อืม... ซึ่งจริงๆ ถึงที่สุดมันก็ไม่มีตะวันตกหรือตะวันออกนะ มันขึ้นอยู่กับว่าคุณจะจับที่จุดไหน ไอ้ตะวันออกต่างหาก ที่มันลืมตัวไป ว่าที่สุดแล้ว ปมปัญหาใหญ่มันอยู่ในใจ มันไม่ได้อยู่ที่การล้างแค้น แต่เราถูกไอ้หนัง ชอว์ บราเดอร์ส ในยุคนึงครอบงำจนหลงลืม อั้งหลี่ มันช่วยดึงเรากลับมาว่า ถึงที่สุดแล้ว ทุกอย่างมันอยู่ที่จิตใจของคุณต่างหาก มันไม่ได้อยู่ที่สมรภูมิด้านนอก ไม่ได้อยู่ที่การช่วงชิงความเป็นใหญ่ หรือว่าความดีต่อสู้กับความชั่วอย่างเดียว ประเด็นคือ ทั้งความดีและความชั่วแมร่งอยู่ในสมรภูมิในใจคุณต่างหาก

ภาณุ: เรื่องที่ห้า ‘Twilight Samurai’ ครับ
ภิญโญ: คือว่า หนังเรื่องนี้มันจะมาเป็นชุดนะ มันมีสองสามเรื่องที่มันเป็นช่วงชีวิตไอ้พวกยุคซามูไรตกอับในยุคเอโดะ ซึ่งก็คือโตเกียวเก่าน่ะ ที่ซามูไรจำนวนไม่น้อยมันเริ่มตกต่ำ ญี่ปุ่นมันเป็นสังคมศักดินา ถ้าคุณเป็นนักรบคุณก็เป็นไป คุณเป็นชาวนา เป็นพ่อค้า คุณก็เป็นไป แบ่งชัดเจน ซามูไรที่มีศักดิ์ศรีมันไม่สามารถมาค้าขายได้ ทีนี้ไอ้ตัวละครของหนังญี่ปุ่นในอดีตเนี่ย คือซามูไรเป็นพระเอก แล้วก็ยิ่งใหญ่เหลือเกิน เป็นนักรบที่เอาชนะทุกอย่างได้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีในสังคม หนังซามูไรมันจะเป็นในแนวทางนั้น แต่ไอ้หนังชุดเนี้ย มันพยายามจะเสนอซามูไรในอีกแง่มุมขึ้นมา ซามูไรตกอับที่ไม่มีเมีย แล้วต้องเลี้ยงลูกอยู่บ้าน เงินก็ไม่มี ข้าวที่ได้จากเจ้านายก็น้อยลง เพราะมึงก็ไม่ได้ทำงานรับใช้เขาแล้ว ไอ้ซามูไรคนนี้มันต้องมานั่งทำกรงนกขาย ซึ่งเราดูแล้วอาจจะคิดว่าแค่งานอดิเรก ไม่มีปัญหามาก แต่ถ้าเราเข้าใจบริบทของสังคมญี่ปุ่นในยุคนั้นเนี่ย การที่มึงต้องมาทำงานจักสาน งานของพ่อค้า งานของชาวนาชั้นต่ำ มึงก็แทบไม่มีเกียรติเหลืออยู่เลยในสังคม ซึ่งในสังคมญี่ปุ่นมันยอมรับสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ หนังชุดนี้มันพยายามทำออกมาสะท้อนว่า ชีวิตมนุษย์มันมีอีกแง่มุมนึง ซึ่งเราไม่ค่อยได้เคยเห็นหรอก ว่าไอ้ซามูไรที่เราเห็นเดินเท่ๆ เนี่ย ในช่วงเวลาตกต่ำมันเป็นยังไง แล้วมันก็ต้องแบกศักดิ์ศรีของตัวเองไว้ยังไง ซึ่งมันก็สะท้อนสังคมญี่ปุ่นทุกวันนี้ ว่ามันเต็มไปด้วยคนที่ตกต่ำและต้องแบกศักดิ์ศรีของตัวเองไว้ ไอ้ที่หนักที่สุดก็คือการต้องแบกมันเอาไว้ แล้วจะรักษาศักดิ์ศรีตรงนี้ไว้ได้ยังไง มันมีทั้งศักดิ์ศรีภายนอก กับศักดิ์ศรีภายใน การที่มันยอมเสียศักดิ์ศรีภายนอก เพราะว่ามันต้องการรักษาศักดิ์ศรีภายในใจของมันไว้ ว่ากูไม่ยอมสยบยอมต่อความชั่วร้าย ต่อความไม่ดีทั้งหลาย กูยอมให้พวกมึงดูถูกเหยียดหยามกู ในขณะที่มันแบกศักดิ์ศรีภายในไว้ มันก็ต้องทนคำครหาของคนภายนอก มันเป็นการต่อสู้ของภายนอกกับภายใน เรื่องราวมันเลยสวยงาม

ภาณุ: ฟังๆ ดูแล้ว การดูหนังสักเรื่องให้สนุก ก็ต้องอาศัยพื้นความรู้อยู่มากเหมือนกันนะครับ
ภิญโญ: คือถ้าเราเข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์ของแต่ละสังคม จะทำให้เราเข้าใจหนังว่าทำไมมึงถึงทำแบบนี้ออกมา แล้วเราจะซาบซึ้งกับความทุกข์ยากของมันมากขึ้น อ๋อ เพราะว่ามึงเกิดในยุคแบบนี้ ยุคที่เจ้าขุนมูลนายเค้าไม่ได้เลี้ยงซามูไรแล้ว แล้วซามูไรมันก็ไปทำอย่างอื่นไม่ได้ ไปทำนาไม่ได้ เค้าหยามมึงตายเลย ที่นี้พอเราเข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์ ทางการเมืองของยุคสมัย เราจะเข้าใจว่าความทุกข์ยากของตัวละครคืออะไร เค้าต้องการสื่ออะไรออกมา ซึ่งถ้าเรามีตรงนี้มันก็ช่วยให้ดูหนังสนุกขึ้น เราได้เห็นมิติว่าภาพยนตร์มันทำหน้าที่อะไรให้สังคมในช่วงเวลานั้น และถ้าเรามองย้อนกลับไปในสังคมเรา มันก็จะเห็นมิติอื่นๆ ด้วย แต่เราไม่ได้พยายามว่าจะต้องอ่านหนังสือเยอะๆ เพื่อที่จะเข้าใจหนังนะ มันไม่ได้ไปมุ่งมั่นขนาดนั้น เราก็อ่านหนังสือของเราปกติอยู่แล้ว เพียงแต่เราดูแล้ว อ๋อ! เรื่องนี้เราอ่านมาแล้ว เลยเข้าใจว่ายุคนี้มันมีปัญหาแบบนี้ๆ หนังก็คือดูเอาเพลินน่ะ แต่บางทีมันเห็นประเด็นเพราะว่ามานั่งคุยกันแบบนี้แหละ ซึ่งถ้าไม่มานั่งคุยกันแบบนี้บางทีเราก็ไม่ได้คิดหรอก ความเข้าใจหรือว่าความซาบซึ่งมันขึ้นอยู่กับฐานของแต่ละคน ซึ่งมันไม่มีถูกไม่มีผิดหรอก มันขึ้นอยู่กับว่าเรามองจากมุมไหน

ภาณุ: เรื่องที่หก ‘Cinema Paradiso’ ครับ
ภิญโญ: มาที่หนังฝรั่งบ้าง ผมชอบเรื่องนี้เพราะมันคล้ายๆ ชีวิตวัยเด็กของเราที่เล่าให้ฟัง มันเป็นความทรงจำวัยเด็ก โรงหนังเรามันก็คือแบบนั้นแหละ เพียงแต่เราไม่ได้รู้จักคนฉายหนัง เรารู้จักคนเฝ้าประตู (ยิ้ม) มันทำให้เราได้มีโอกาสดูหนังเยอะตอนวัยเด็ก ซึ่งผมเชื่อว่าไอ้คนที่อยู่ต่างจังหวัด แล้วเข้าไปดูหนังบ่อยๆ ก็จะชอบหนังเรื่องนี้ทุกคน แสดงว่ามันไม่มีความแตกต่างกันเลย ระหว่างชนบทในอิตาลีหรือว่าชนบทในเมืองไทย หรือชนบททุกที่ทั่วโลกก็คงอารมณ์ประมาณอย่างงี้แหละ ไอ้ Cinema Paradiso นี่ ถ้าเปลี่ยนให้มันเป็นหนังไทยซะ เปลี่ยนตัวละครเนี่ย ผมว่าเราก็เชื่อได้ว่ามันเป็นหนังไทย มันมีความคล้ายกันอย่างน่าประหลาด พอดูหนังเรื่องนี้มันก็ทำให้คิดถึงวัยเด็กและการดูหนัง ซึ่งผมคิดว่าคนจำนวนไม่น้อยก็คงคิดคล้ายๆ กัน

ภาณุ: มันแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม โดยพื้นฐานแล้วมนุษย์เราก็ไม่แตกต่างกัน
ภิญโญ: ใช่ มันอาจจะแตกต่างไปตามบริบท แต่ความงามในการเสพศิลปะ ในการชื่นชมสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวเรา มันคล้ายกันนะ ไม่น่าเชื่อนะว่า อิตาลีกับเมืองไทยมันจะคล้ายกันได้ (หัวเราะ)

ภาณุ: เรื่องที่เจ็ดครับ ‘To Live’
ภิญโญ: ผมชอบงานงานช่วงแรกๆ ของพวก จางอี้โหมว กับพวกผู้กำกับรุ่น 5 ของจีน พอดีผมดูเรื่องนี้ที่ปักกิ่ง แล้วก็ได้ดูในบ้านของคนที่ทำหน้าที่เซ็นเซอร์หนัง (โห) เค้าเป็นสามีของอาจารย์ที่สอนภาษาจีนผม

ภาณุ: ในเวอร์ชั่นที่ยังไม่ได้เซ็นเซอร์?
ภิญโญ: ใช่ ซึ่งไม่มีทางที่คนอื่นจะได้ดู นอกจากจะไปดูบ้านนี้ เพราะเค้าเป็นเจ้าหน้าที่เซ็นเซอร์หนัง แล้วเค้าก็เป็นคนชอบดูหนังมาก ก็เลยสะสมหนังที่ส่งไปให้เซ็นเซอร์เต็มไปหมดเลย หลังจากที่เรากินข้าวกินอะไรกันเสร็จ เค้าก็เอาหนังเรื่องนี้มาฉายให้ดู พล็อตเรื่องมันจะเป็นเรื่องของไอ้ลูกชายที่เกิดในบ้านคนรวย แล้วมันก็เป็นคนไม่เอาไหน มันก็ไปเล่นการพนันจนทำให้บ้านมันเสียทรัพย์ไปหมด แต่โชคดีในโชคร้ายที่คอมมิวนิสต์มันเกิดรบชนะขึ้นมาในปี 1949 เหมาเจ๋อตุง ขึ้นครองอำนาจ คือถ้าบ้านมันยังมีสมบัติอยู่เนี่ย มันจะถูกยึดทรัพย์แล้วกลายเป็นถูกประณามว่าเป็นนายทุน บ้านมันโดนยึดทรัพย์ไปก่อนเลยกลายเป็นคนจนก็เลยไม่ถูกลงโทษ แล้วมันก็เล่าเรื่องไอ้ชีวิตผู้ชายคนนี้ จากยุคที่คอมมิวนิสต์เรืองอำนาจ ผ่านยุคประธานเหมาไปสู่ยุคปฏิวัติวัฒนธรรม คือมันใช้ตัวละครหนึ่งตัวเดินเรื่องเพื่อเล่าประวัติศาสตร์ จีนในยุคหลังทั้งหมด เหมือน ฟอร์เรสต์ กัมพ์ น่ะ แต่เล่าเป็นเวอร์ชั่นจีน ซึ่งหนังเรื่องนี้ เมื่อซัก 20 หรือ 10 ปีที่แล้ว คงไม่มีโอกาสฉายในจีนแผ่นดินใหญ่ โดนแบนเลย ห้ามฉาย แต่มันก็น่าจะมีวิดีโออยู่บ้านเรา ซึ่งไอ้งานของพวกผู้กำกับรุ่น 5 ทั้ง จางอี้โหมว, เฉินข่ายเก๋อ ยุคแรกๆ มันสะท้อนปัญหาของสังคมจีนออกมาได้ดีมาก ก่อนที่จะเสียคนไปนะ ก่อนที่จะทำหนังแบบหวือหวา (หัวเราะ) ตอนนี้ไอ้พวกนี้มันกลายเป็นทุนนิยมไปแล้ว แล้วมันก็รวย มันเล่นกับอำนาจ เล่นกับความยิ่งใหญ่ไปแล้ว แต่ไอ้หนังที่ดีก็คือไอ้ช่วงที่มันตกต่ำและยากลำบากอยู่น่ะ

ภาณุ: ในช่วงที่หนังของเค้ายังโดนแบนในบ้านตัวเองอยู่
ภิญโญ: ช่ายๆ มันก็เลยทำหนังแล้วมีเสน่ห์มาก มันเล่าสังคมจีนได้ดี ทุกเรื่องของไอ้พวกนี้มันดูได้หมด ตั้งแต่รุ่น กงลี่ เล่นหนังใหม่ๆ เป็นหนังที่สนุกและมีสีสัน และเราเคยไปอยู่ในไอ้บริบทตรงนั้นเราเลยเข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น

ภาณุ: ย้อนกลับไปตรงที่คุณภิญโญเล่าว่า ได้ไปดูหนังในบ้านของเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่เซ็นเซอร์หนัง ทั้งๆ ที่เขาเป็นคนชอบดูหนังด้วยเนี่ย เคยถามไหมว่าเขารู้สึกยังไงที่ต้องทำงานแบบนี้
ภิญโญ: คือที่เค้าเลือกมาทำอาชีพเนี้ย เพราะเค้าชอบดูหนัง เค้าก็รู้สึกว่าเป็นวิธีเดียวที่เค้าจะได้ดูหนังเยอะๆ ก็เลยมาทำ แต่เค้าก็ทำอะไรไม่ได้เพราะรัฐบาลคุมเค้าอยู่ เค้าก็ไม่ได้มีความสุขกับการทำงานนักหรอก เพราะเค้าจำเป็นต้องทำ แต่อย่างน้อยเค้าก็ได้ดูไง แล้วไอ้แฟลตที่เค้าอาศัยเนี่ย เป็นแฟลตที่พวกผู้กำกับรุ่น 5 อยู่ ไอ้แฟลตนั้นน่ะ จางอี้โหมว อยู่ตอนที่มันยังไม่ดัง ตอนที่ผมไปดูเนี่ย อยู่ใกล้ จางอี้โหมว มาก (หัวเราะ) แต่ไอ้เซ็นเซ่อบ้านเราเนี่ยมันเป็นเรื่องของปัจเจก คือสังคมมันไปถึงไหนต่อไหนแล้ว แต่ไอ้คนที่มันเซ็นเซ่อมันไม่มีรสนิยมเอง มันไม่มีอำนาจที่แท้จริงมาบีบหรอก เมืองจีนอำนาจที่แท้จริงมันคือพรรคคอมมิวนิสต์ คุณไม่สามารถไปหือได้หรอก เพราะฉะนั้นไอ้พวกผู้กำกับมันยอมจำนน มันเข้าใจว่า ไอ้คนๆ เดียวที่มันทำหน้าที่เซ็นเซอร์ ไม่ได้เป็นคนเซ็นเซอร์จริงๆ นโยบายพรรคคอมมิวนิสต์ต่างหากที่เป็นคนเซ็นเซอร์ แต่บ้านเรามันไม่ได้มีแบบนั้นไง รสนิยมที่ไม่เอาไหน กับการไม่มีความรู้ของไอ้พวกเซ็นเซ่อต่างหาก ที่มันทำให้วงการมันไม่ไปไหน

ภาณุ: เรื่องที่แปดครับ ‘The Simpsons Movie’
ภิญโญ: โอ เรื่องนี้แสบมาก มันไม่มีหนังการ์ตูนเรื่องไหนที่มันสะท้อน แล้วก็เสียดสีความไม่เอาไหนของตัวมันเอง คือสังคมอเมริกันได้ดีเท่ากับไอ้ Simpsons เนี่ย แล้วมันเสียดสีด้วยความมีอารมณ์ขันมาก ถ้าอยากรู้จักสังคมอเมริกัน ความไม่เอาไหนของคนอเมริกัน ทั้งระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ ระบบอะไร ให้ดูการ์ตูนชุดนี้ ที่มันฮิตเพราะว่า มันเสียดสีตัวมันเอง แล้วมันเป็นตลกร้ายมาก คนอเมริกันเค้าจะตลกกับมุขของมัน มันเสียดสีทุกคนที่ขวางหน้า รวมทั้งเสียดสีเจ้าของช่องที่มันเผยแพร่ด้วยคือ Fox มันกระทั่งเชิญไอ้ รูเพิร์ต เมอร์ด็อก (เจ้าของ Fox และเจ้าพ่อแห่งธุรกิจสื่อสารมวลชนอเมริกัน) มาให้เสียงพากย์เป็นตัวมันเอง แล้วเมอร์ด็อกมันก็บ้าพอที่จะมาให้เสียงพากย์ด้วย ทั้งๆ ที่มันโดนเสียดสี แล้วมันก็แดกดันไอ้พวกระบบการเมืองอเมริกา แดกดันทุกอย่าง เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด พอเมืองมีสิ่งแวดล้อมเป็นพิษปุ๊บ ก็เอาโดมมาครอบแล้วก็ทำลายมันให้หายไปเลย ซึ่งไม่ต่างกับการที่อเมริกาเที่ยวไปบุกอิรัก หรือไปทำสงครามทั่วไปหมดโดยไม่ต้องฟังเสียงใคร แล้วคนอเมริกันก็งี่เง่ามาก โดยวิธีคิดน่ะ ทำร้ายทุกคน ทำร้ายตัวเอง ทำร้ายสังคม ชุมชน เห็นแก่ตัว เอาเปรียบ เป็นคนไม่เอาไหน มันสะท้อนสังคมอเมริกันได้ดีมากๆ แล้วพวกมึงก็ชอบกันฉิบหายเลย (หัวเราะ) จากซีรีส์การ์ตูนที่ฉายทางเคเบิ้ล จนกระทั่งทำเป็นหนังได้น่ะ มันต้องมีคนเห็นความงี่เง่าของตัวมันเองเยอะมาก แต่มันก็ใจกว้างพอที่มันจะขำตัวมันเองแล้วทำออกมาให้เราได้ขำด้วย

ภาณุ: ใจกว้างพอที่จะรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ เสียดสี และแดกดัน
ภิญโญ: ใช่ บ้านเราแดกดันกันเองได้ขนาดนี้ไหมล่ะ มันกล้าแดกดันน่ะ ใช่ไหม มันมีอยู่ฉากนึงที่ไอ้ตัวปู่ Simpson น่ะ มันเหมือนพระเจ้ามาส่งแมสเสจมาแล้วก็ลงไปชักดิ้นชักงออยู่กลางโบสถ์ ไอ้ตัวพ่อ Simpson มันก็ เฮ้ย ทำไงดี มันก็คว้าไบเบิ้ลขึ้นมาดู แล้วมันก็ เฮ้ย! ไม่มีคำตอบ ไบเบิ้ลไม่มีคำตอบให้มึงน่ะ! แล้วมันก็โยนทิ้ง (เสียงตื่นเต้น) ถามว่าสังคมไทยจะกล้าเล่นขนาดนี้ไหม 3 วินาทีเอง เล่าเรื่องอะไรได้เยอะมากเลย เล่าถึงความไม่เชื่อในศาสนาของมัน แดกดันอะไรได้เต็มไปหมดเลย ร้ายมาก เรื่องนี้ร้ายมาก (หัวเราะ)

ภาณุ: เรื่องที่เก้าครับ อันนี้มาเป็นคู่ ‘Spider-man 2, James Bond : Casino Royale’
ภิญโญ: ผมชอบงานในยุคหลังๆ ของสองเรื่องนี้ Spiderman ภาคสอง กับไอ้ เจมส์ บอนด์ ของ แดเนี่ยล เครก น่ะ มันคล้ายๆ กับไอ้เรื่องที่เราคุยกันมาทั้งหมด คือ Spiderman เนี่ย มันก็หนังซูเปอร์ฮีโร่น่ะ คือคนที่มันมีอำนาจเหนือมนุษย์ธรรมดา ซึ่งเวลาดูมันก็สนุก เพราะมันเป็นสิ่งที่เราเป็นไม่ได้ แต่วันดีคืนดีมันเอามาทำให้พวกนี้มันกลายเป็นมนุษย์ขึ้นมา ไอ้แมงมุมมีพลังเหนือมนุษย์ แต่พอผ่านไปถึงจุดนึง มันก็มีข้อจำกัดว่ามึงก็ยังเป็นมนุษย์อยู่ มนุษย์คือไอ้คนที่มีทุกข์ มีปัญหาในใจน่ะ แล้วหนังก็ดึงเอาปมนี้เข้ามาใช้ ในตอนที่ 2 ต้องหาเลี้ยงชีพ ผู้หญิงไม่รัก เกิดความขัดแย้งเรื่องการบริหารจัดการเวลา (หัวเราะ) เต็มไปด้วยความสับสน นี่คือปัญหาของมนุษย์ แล้วเมื่อไหร่มันทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ขึ้นมาเนี่ย มันก็มีเสน่ห์ เพราะมันก็คือปัญหาที่เราเจออยู่ทุกวันมิใช่หรือ

ภาณุ: เจมส์ บอนด์ชุดใหม่ก็ด้วย
ภิญโญ: ใช่ มันทำให้ เจมส์ บอนด์ ไม่ได้กลายเป็นไอ้คนที่หล่อเหลา ไล่ล่าผู้หญิง แล้วก็อยู่ในโลกของการเพ้อฝัน ฆ่าทุกคนตายได้หมด มึงต้องสูญเสียผู้หญิงที่มึงรัก ที่สุด โดนผู้หญิงหลอกด้วย เออ! มึงก็แทบเอาชีวิตไม่รอด เกือบตายหลายที สะบักสะบอม กลายเป็น เจมส์ บอนด์ ที่ไม่ต้องรักษาความหล่ออยู่ตลอด เวลา แต่มีความเศร้าลึกๆ อยู่ในใจ ซึ่งออกมาจากดวงตาที่ แดเนี่ยล เครก มันเล่นน่ะ ทั้งที่ด่ากันเละเลย ก่อนที่มันจะเล่น ขนาดมีเว็บไซต์ ‘Craig not Bond’ น่ะ (หัวเราะ) แต่สุดท้ายเสร็จมันหมดเลย เพราะมันเอาความเป็นมนุษย์กลับคืนมาสู่ เจมส์ บอนด์ ได้ มันก็เลยกลายเป็นหนังที่น่ารักขึ้นมา มันสะท้อนว่า ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เราได้สูญเสียความเป็นมนุษย์ผ่านกระบวนการฮอลลีวูดเยอะมาก จนกระทั่งวันนึง เราเริ่มรู้สึกว่า เราไม่อยากดูอะไรที่มันไม่เป็นมนุษย์อีกต่อไป มนุษย์เริ่มตระหนักว่า ไอ้ความเป็นมนุษย์เนี่ย มันงดงามที่สุด หนังพวกนี้มันสะท้อนว่า สังคมเราโหยหาความเป็นมนุษย์อย่างถึงที่สุด เราเผชิญหน้ากับความจริงที่ว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ในโรง 2 ชั่วโมง เห็นความยิ่งใหญ่ของซูเปอร์ฮีโร่ เห็นความยิ่งใหญ่ของตัวละครพวกนี้ขนาดไหน เมื่อเราเดินออกจากโรง เราคือมนุษย์ว่ะ อย่ากระนั้นเลย ในช่วง 2 ชั่วโมง มาช่วยกันเฉลี่ยความเป็นมนุษย์กันเถอะ ได้เห็นความทุกข์ยากด้วยกัน ได้เรียนรู้ตัวเองไปพร้อมๆ กันว่าเราจะเติบโตขึ้นไปได้อย่างไร นั่นคือสิ่งที่หนังพาเราย้อนกลับมาสู่ประเด็นเหล่านี้ ที่เหลือล้วนเป็นบริบทแห่งความตื่นเต้น แต่แก่นมันคือไอ้นี่แหละ

ภาณุ: เรื่องสุดท้ายครับ ‘The Kite Runner’
ภิญโญ: เรื่องนี้ผมเพิ่งได้ดูเป็นดีวีดี มันสะท้อนสถานการณ์โลกในปัจจุบันได้ดีมาก แล้วมันก็มีประเด็นทั้งภายนอกและภายใน คืออัฟกานิสถานเนี่ย มันถูกมหาอำนาจยึดครองมานาน ประเทศมันถูกย่ำยีบีฑามากเลยน่ะ มันเป็นเหมือนชะตากรรมของหลายๆ ภูมิภาคในโลก ซึ่งทุกวันนี้ ที่พื้นที่เหล่านั้นยังเป็นสมรภูมิในการเล่นเกมอำนาจของมหาอำนาจทั้งหลายอยู่ ที่นี้มันก็น่าสนใจว่า ไอ้ชะตากรรมของคนที่มันเติบโตมาในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ในประเทศเหล่านั้นเนี่ย มันมีชีวิตอยู่ได้ยังไงวะ เราก็จะเห็นไอ้ครอบครัวที่มันต้องอพยพออกจากอัฟกานิสถาน แล้วก็ต้องมาใช้ชีวิตเป็นชนชั้นกลางในอเมริกาเพื่อที่จะเอาชีวิตรอด แต่ในที่สุดไอ้ปมเล็กๆ นิดเดียวที่มันเคยไม่พูดความจริงในวัยเด็กไว้เนี่ย แค่มึงเห็นความจริงแล้วมึงไม่กล้าพูด ไม่กล้ายอมรับความจริงเนี่ย มันตามหลอกหลอนมาทั้งชีวิต มันก็ต้องย้อนกลับไปแก้ปม มันเหมือนทำให้ตัวละครกลับไปเผชิญหน้ากับความจริง มันสอนอะไรเราเยอะนะ มันมีทั้งปมการเมืองระหว่างประเทศที่สะท้อนให้เห็นความเป็นไปในประเทศนั้นๆ ปมความลักลั่นทางศาสนา เช่นศาสนาอิสลามแบบพวกหัวรุนแรงที่เคร่งครัดเรื่องศีลธรรมกับเพศหญิง แต่มันก็มาลงกับเพศชายด้วยกัน มันทำให้เราเห็นมิติต่างๆ ทั้งในโลกในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และโลกของตัวละคร ดูแล้วมันทำให้เราได้ทบทวนตัวเองว่า ที่สุดปมในใจของเราคืออะไรกันวะ ทุกวันนี้เรายังมีความจริงที่เรายังไม่ได้เปิดเผย ที่เราไม่กล้าเผชิญหน้ากับมันไหม ทั้งความจริงส่วนตัวของเราและของสังคม แล้วถ้าความจริงเหล่านี้ถูกเก็บซ่อนอยู่ มันก็เล่นงานเราไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันนึงเรากล้าพูดความจริงนั่นแหละ เราถึงจะคลี่คลายปมเหล่านี้ออกไปได้ ผมเชื่อว่าไอ้คนที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ทั่วโลกมันก็คงสะท้อนใจตัวเอง แล้วก็สะท้อนความเป็นจริงของสังคม ว่าสังคมเราหลีกหนีความจริงอะไรบ้าง ที่เราไม่กล้าเผชิญหน้ากับมัน เมื่อไม่กล้าเผชิญหน้าเราก็เติบโตต่อไปไม่ได้ และมันก็สะท้อนกระแสหนังด้วย ว่าฮอลลีวูดมันไม่ได้นำหน้าวงการหนังดีๆ ของโลกอีกต่อไปแล้ว หนังพวกนี้ได้ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดจากทั่วโลก ไม่ใช่แค่เรื่องนี้เรื่องเดียว มีเต็มไปหมดเลย นี่คือสิ่งที่เราเห็นได้ว่า โลกมันได้เปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งหนังพวกนี้ก็ล้วนแต่เป็นหนังที่ทุกคนชอบ และประทับใจกับมัน ในขณะที่ ไอ้ความประทับใจของเราที่มีต่อหนังฮอลลีวูดมันจะลดลงไปหมดแล้ว แสดงว่าไอ้ความหลากหลายพวกนี้มันมีอยู่จริง

ภาณุ: ที่คุณบอกว่าอายุมากขึ้น ทำให้ดูหนังน้อยลง แล้วหนังที่คุณจะเลือกดูในปัจจุบันเป็นหนังแบบไหน
ภิญโญ: ผมไม่ดูหนังแบบสุ่มเสี่ยงแล้ว ผมพยายามจะเลือกว่า ดูหนังแต่ละเรื่องมันให้ความบันเทิงเริงรมย์ในใจยังไง บางเรื่องมันอาจจะได้ความตื่นเต้น ก็โอเค บางเรื่องอาจจะได้รับความลึกซึ้ง หรือบางเรื่องอาจจะทำให้ได้แง่คิด คือผมอยากจะดูหนังที่มันได้ความสงบ ได้แง่คิด ได้อารมณ์บางอย่างที่เราไปเลือกแล้วควรจะได้ตรงนั้นน่ะ เช่นผมไปดู เจมส์ บอนด์ ตอนล่าสุดมาน่ะ ผมอยากได้ความตื่นเต้น อยากไปตามดูพัฒนาการตัวละครว่ามันไปถึงไหนแล้ววะ ถึงแม้ผมจะไม่ชอบภาคนี้เท่ากับภาคที่แล้ว แต่ผมก็จะยอมเสียเงินไปดู ผมรู้ว่าผมจะเจออะไร ผมพอจะคาดหวังได้ แต่หนังที่ไล่ล่ากันอย่างเดียวแล้วสปีดที่เร็วมากผมก็จะดูน้อยลง หรือว่าฆาตกรรมสับกันอย่างเดียว หรือว่าหนังที่เป็นวัยรุ่นมากๆ ผมก็จะไม่ดูแล้ว ไม่ค่อยอยากดู ผมจะดูหนังที่มันช้าลงน่ะ มันก็จะสะท้อนชีวิต เออ... เรื่องนี้มันอาจจะมาจากวรรณกรรมที่ดี เฮ้ย! ผมอยากดูว่ามันเอามาทำแล้วเป็นยังไง ผมก็จะเลือกแบบนี้แหละ มันคือเลือกตามรสนิยมแล้วน่ะ หนังตลกโปกฮา หนังผีผมก็ไม่ดูแล้ว ไม่อยากดู รู้สึกมันไม่ได้ไปไหนน่ะ อารมณ์ขันมีพอแล้ว (หัวเราะ) ไม่ต้องไปดูตรงนั้นอีก ก็จะเลือกอะไรที่พอดีกับตัวเรามากขึ้น

ภาณุ: คำถามสุดท้าย หนังให้อะไรกับคุณภิญโญบ้างครับ
ภิญโญ: หนังมันให้จินตนาการน่ะ มันพาเราไปในโลกที่เราไม่เคยไป มันสร้างโลกใหม่ที่เราไม่มีทางไปในชีวิตจริง มันสร้างแรงบันดาลใจ บางทีมันสร้างความสั่นสะเทือนใจให้กับเราในบางช่วงที่ทุกข์ ยากของชีวิต การได้ดูหนังดีๆ บางเรื่อง มันสอนอะไรเราบางอย่าง มันให้บทเรียนเราเยอะ มันทำให้เราสู้ชีวิตต่อไป ทำให้เราเดินไปข้างหน้าได้ มันทำให้เราเข้าใจชีวิตในบางแง่มุม หนังมันให้บทเรียนแบบนี้ มันทำหน้าที่คล้ายๆ วรรณกรรมเหมือนกัน ซึ่งวรรณกรรมชั้นดีมันจะให้บทเรียนเหล่านี้ ให้ความสั่นสะเทือนใจซึ่งเป็นบทเรียนที่ดีที่สุด บทเรียนที่ดีมันไม่ใช่การมานั่งสั่งสอน แต่มันคือการให้แรงบันดาลใจ ให้เราคิดได้เอง ซึ่งหนังมันทำหน้าที่เยอะมากในด้านนี้ ไม่พูดถึงรายละเอียดในด้านศิลปวัฒนธรรมที่มันทำให้เราได้เห็นโลกที่กว้างไกล หนังมันให้พวกนี้เยอะมาก ถึงที่สุดก็คืออย่างที่ว่า มันให้บทเรียนกับชีวิตเรา


1.แผลเก่า (1977)
กำกับ : เชิด ทรงศรี นำแสดง : สรพงศ์ ชาตรี, นันทนา เงากระจ่าง
เรื่องราวโศกนาฏกรรมรักอมตะระหว่างไอ้ขวัญกับอีเรียมแห่งท้องทุ่งบางกะปิ จากผลงานชิ้นเอกของบรมครู ไม้ เมืองเดิม ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์สุดละเมียดละไมด้วยฝีมือของผู้กำกับชั้นครูอย่าง เชิด ทรงศรี

2.มนต์รักทรานซิสเตอร์ (2001)
กำกับ : เป็นเอก รันตเรือง นำแสดง : ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ, สิริยากร พุกกะเวส
ผลงานที่หลายๆ คนบอกว่าดูง่ายที่สุดของเป็นเอก รัตนเรือง จากบทประพันธ์ขายดีของ วัฒน์ วรรลยางกูร ที่ว่าด้วยเรื่องราวมนต์รักลุกคลุกคลานทรานซิสเตอร์ของ แผน ไอ้หนุ่มบ้านนอก และ สะเดา อีสาวบ้านนา ในจังหวะโมเดิร์นคอกนาแบบหัวเราะร่า น้ำตาริน

3.ฟ้าทะลายโจร (2000)
กำกับ : วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง นำแสดง : ชาติชาย งามสรรพ์, สเตลล่า มาลูกี้
ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับการคัดเลือกให้ไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ที่เป็นการนำเอาหนังไทยคาวบอยแบบเก่าเอามาเล่าใหม่ด้วยสีสันที่จัดจ้าน ฉูดฉาด กับบทสนทนาและการแสดงที่เชยแบบได้ใจ ในเรื่องราวแบบ ‘รักซ้อน ซ่อนเงื่อน เพื่อนทรยศ’

4.Crouching Tiger, Hidden Dragon (2003)
กำกับ : อั้งหลี่ นำแสดง : โจวเหวินฟะ, จางซี่ยี่, มิเชลล์ โหว
การกลับคืนมาอีกครั้งอย่างสมศักดิ์ศรีของหนังกำลังภายใน ที่ผงาดประกาศศักดาเรียกเสียงศรัทธาจากแฟนๆ ทั่วโลก การันตีซ้ำด้วยการคว้ารางวัลออสการ์สาขาหนังต่างประเทศยอดเยี่ยมในปีนั้นไปอย่างงดงาม

5.Twilight Samurai (2002)
กำกับ : โยจิ ยามาดะ นำแสดง : ฮิโรยูกิ ซานาดะ นำแสดง : ริเอะ มิยาซาว่า
เรื่องราวความชีวิตรันทดของนักดาบตกอับ พ่อม่ายลูกติด ผู้ไร้นาย ไร้ศักดินา และไร้ศักดิ์ศรี ในช่วงโรยราของยุคซามูไร

6.Cinema Paradiso (1988)
กำกับ : กุยเซปเป้ โทนาทอร์เร่ นำแสดง : ซัลวาตอเร่ คาสซิโอ, ฟิลิปเป้ นอยเรต์
หนังในดวงใจของนักดูหนังหลายๆ คน ที่บอกเล่าเรื่องราวมิตรภาพความผูกพันและความรักในสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า หนัง อันสุดแสนจะซาบซึ้งระหว่างเด็กน้อยบ้าหนังและชายชรานักฉายหนัง ณ. โรงหนังเก่าในชนบทของอิตาลี

7.To Live (1994)
กำกับ : จางอี้โหมว นำแสดง : กงลี่, หยูจี
หนังเล็กๆ ในยุคที่จางอี้โหมวยังไม่คิดการใหญ่ ที่เล่าเรื่องราวของประวัติศาสตร์ชาติจีนในยุค หลังปฏิวัติวัฒนธรรม ผ่านชีวิตของชายหนุ่มไม่เอาไหนคนหนึ่ง ในลีลาแบบฟอเรสต์ กัมป์ภาคภาษาจีน

8.The Simpsons Movie (2007)
กำกับ : เดวิด ซิลเวอร์แมน เขียนบท : เจมส์ แอล บรู้ก, แมท โกรนนิ่ง
งี่เง่า บ้าบอ ไร้สาระ แต่เสียดสีแดกดันได้อย่างแสบๆ คันๆ มันๆ ฮาๆ คือคำนิยามของ หนังการ์ตูนสุดห่ามที่ทำขึ้นมาด่าคนอเมริกัน โดยคนอเมริกัน เพื่อคนอเมริกันเรื่องนี้

9.Spider-man 2 (2004)
กำกับ : แซม ไรมี่ นำแสดง : โทบี้ แม็กกไวร์, เคียรสเทน ดันสต์, เจมส์ ฟรังโก
ภาคต่อของหนังซูเปอร์ฮีโร่สุดฮิต เจ้าของพลังอันยิ่งใหญ่ ที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง กับภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ในการปกป้องสันติสุขของชาวโลก และส่งพิซซ่า
James Bond : Casino Royale (2006)
กำกับ : มาร์ติน แคมพ์เบล นำแสดง : แดเนี่ยล เครก, เอวา กรีน, จูดี้ เดนซ์
แดเนี่ยล เครก เปิดมิติใหม่ของบทบาทเจมส์ บอนด์ ในมาดใหม่ ที่ไม่เน้นความเท่ หรือความหล่อ หากแต่สมบุกสมบันและเป็นเหมือนคนปุถุชนคนธรรมดาทั่วๆ ไป ที่เจ็บเป็น พลาดเป็น รักเป็น และช้ำเป็น

10.The Kite Runner (2007)
กำกับ : มาร์ค ฟอสเตอร์ นำแสดง : กาลิด อับดัลลาห์, อาทอซซา ลีโอนี
จากนวนิยายเรื่อง ‘เด็กเก็บว่าว’ ถ่ายทอดเรื่องเรื่องราวใหม่ในหนังฝีมือผู้กำกับสวิส ที่ไปถ่ายทำในดินแดนอัฟกานิสถาน เล่าเรื่องการหวนคืนของชายหนุ่มพลัดถิ่น สู่ถิ่นฐานบ้านเกิดอันคุกรุ่นไปด้วยไอสงคราม เพื่อสางปมในจิตใจที่เขาได้ก่อไว้กับเพื่อนรักในวัยเยาว์




Create Date : 08 เมษายน 2553
Last Update : 8 เมษายน 2553 11:48:00 น. 0 comments
Counter : 1068 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

panueddie
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add panueddie's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com