Movieworm
 
บทสัมภาษณ์ 'ทุนสนับสนุนหนังไทย ใครเข้มแข็ง (กันแน่?)'

ส่วนขยายจากบทความ 'ทุนสนับสนุนหนังไทย ใครเข้มแข็ง (กันแน่?)' จากนิตยสาร Filmax ฉบับที่ 36

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

จากการที่คณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสนับสนุนกิจกรรมหรือโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ได้พิจารณาจัดสรรเงินส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตามโครงการส่งเสริมสนับสนุนภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ให้แก่ภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 3 และ 4 เป็นจำนวน 100 ล้านบาทจากงบประมาณ 150 ล้านบาทที่จัดสรรไว้สำหรับสนับสนุนภาพยนตร์เรื่องยาว ซึ่งมีผู้ยื่นเสนอโครงการเข้ามาทั้งสิ้น 98 ราย และเป็น 100 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมด 200 ล้านบาท ซึ่งมีผู้ยื่นเสนอโครงการทั้งหมด 250 ราย ยังไม่นับรวมการที่ ครม.ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 330 ล้านบาทให้แก่โครงการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย ภายใต้การดูแลของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่างบประมาณดังกล่าวจะถูกนำไปใช้เพื่อสนับสนุนภาพยนตร์เรื่องนี้เช่นกัน

ส่งผลให้เกิดคำถามและความคับข้องใจขึ้นในวงการ จนกระทั่งมีกลุ่มผู้กำกับภาพยนตร์อิสระร่วมกับเครือข่ายในวงการภาพยนตร์จำนวนหนึ่ง นำโดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และมานิต ศรีวานิชภูมิ ได้มีการยื่นจดหมายเปิดผนึกเพื่อคัดค้านการตัดสินใจดังกล่าว

กระทรวงวัฒนธรรมจึงได้มีการจัดการประชุมชี้แจงผลการพิจารณาการจัดสรรเงินส่งเสริมฯ ร่วมกับเครือข่ายผู้คัดค้านดังกล่าวในวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งทางคณะกรรมการมีมติว่าจะนำข้อเสนอและเสียงคัดค้านไปพิจารณาทบทวนและเสนอทางคณะกรรมการชาติในลำดับต่อไป

ในขณะที่เรากำลังรอการ 'ทบทวน' ผลพิจารณา ของทางกระทรวงฯ (ซึ่งมีทีท่าว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงผลการพิจารณาแต่อย่างใด) เราลองมาดูท่าที ความคิดเห็นของกลุ่มคนทำหนังและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบจากการจัดสรรทุนหนังไทยเข้มแข็งครั้งนี้ โดยเราจะแบ่งพวกเขาออกเป็นสองกลุ่ม

กลุ่มแรกก็คือ กลุ่มคนทำหนังที่ถูกปฏิเสธในการยื่นเสนอในโครงการครั้งนี้ โดยมีแกนนำคือ มานิต ศรีวานิชภูมิ ศิลปิน/นักทำหนังอิสระ (พลเมืองจูหลิง) (ถูกปฏิเสธการให้ทุนในโครงการหนังเรื่อง 'เชกเสปียร์ต้องตาย')

Q : จุดประสงค์ในการเรียกร้องของคุณในครั้งนี้คืออะไร?

มานิต : หลังจากที่มีการรับทราบและได้มีการยืนยันกันแล้วว่ากระทรวงพานิชย์จะมีการมอบเงินงบประมาณ 330 ล้าน ให้หนัง ตำนานสมเด็จพระนเศวร ภาค 3,4 เพราะฉะนั้นเมื่อคณะกรรมการได้มีการรับรู้แล้ว เป็นไปได้ไหมว่าจะทบทวนการมอบเงิน 100 ล้านให้กับหนังเรื่องนี้ เพราะถ้ายังไม่มีการเซ็นสัญญา ยังไม่มีการจ่ายเงิน มันจะหยุดเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าอยากจะหยุด

Q : ไม่กลัวคนอื่นจะมองหรือครับ ว่าคุณไม่ได้ทุนแล้วองุ่นเปรี้ยว แพ้แล้วพาล

มานิต : ผมถามว่าเวลาที่มีการอนุมัติโครงการต่างๆ มากมาย เงินช่วยเหลือต่างๆ คนที่ไม่ได้รับเนี่ย ไม่มีสิทธิ์เรียกร้องความเป็นธรรมหรือ? ผมกำลังประท้วงในเรื่องของการแจกจ่ายงบประมาณที่ไม่เป็นธรรม ในขณะที่เบอร์ 1 ได้ไป 100 ล้าน เบอร์ 2 ได้ 8 ล้าน ผมถามว่าคุณเอากติกาอันไหนมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน เพราะถ้าเบอร์ 1 กับ เบอร์ 2 มันได้ไล่เลี่ยกัน เราจะเห็นว่ามันจะมีงบประมาณเหลือ ซึ่งมันจะกระจายไหลไปให้รายอื่นที่มาต่อคิวได้อีกเยอะ ถ้าจะมาบอกว่าผมแพ้แล้วพาล พาลยังไงล่ะครับ? ก็ในเมื่อรายที่ 1 มันเอาไปมากที่สุดแล้ว 100 ล้านจาก 200 ล้าน แล้วรายที่เหลืออื่นๆ ล่ะ? ทำไมไม่ใช้มาตรฐานเดียวกัน? แล้วถ้าคนที่เสียสิทธิ์ ไม่มีสิทธิ์ออกมาเรียกร้องความชอบธรรมของตัวเอง แล้วจะให้ใครที่ไหนมาเรียกร้องล่ะครับ? (และหลังจากนี้ หากมีการพิจารณาจัดสรรทุนใหม่ขึ้นมาจริงๆ มานิตเองก็ได้แสดงเจตจำนงที่จะขอถอนตัวและสละสิทธ์ในการรับทุน เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจในการเรียกร้องครั้งนี้) ประเด็นทีสำคัญต่อมาก็คือ ในการพิจารณามันไม่มีการกำหนดกรอบเพดานในการให้เงินในแต่ละช่วง ผมว่าการที่มันไม่ตั้งกติกาแบบนี้ มันก็เหมือนว่า ถ้าใครมีพวก มีเส้นสาย มันก็มีโอกาสที่จะเกิดการทุจริตขึ้นได้

Q : ส่วนคนที่ไม่มีโอกาส ก็ไม่มีโอกาสกันต่อไป?

มานิต : มันเหมือนกับการสร้างพระเอกอยู่คนเดียวน่ะ เมืองไทยมันไม่ได้มีพระเอกอยู่คนเดียว คนไทยเก่งๆ เยอะแยะไป ทำไมไม่ให้โอกาสคนอื่น ทำไมไม่สนับสนุนรายอื่นขึ้นมา ทำไมจะต้องมีอยู่รายเดียว ทำไมไม่ทำให้มีหลายๆ ราย เพื่อจะได้สร้างศักยภาพในการแข่งขัน ให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของบ้านเราให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ล่ะ?

Q : บางทีจุดมุ่งหมายในการตั้งงบประมาณครั้งนี้อาจไม่ได้เป็นเหมือนอย่างในภาพที่มันนำเสนอไว้

มานิต : ถูก! ผมกำลังสงสัยว่าจริงๆ รัฐบาลไม่ได้มีความจริงใจที่จะส่งเสริมวงการภาพยนตร์ไทยหรอก มันเกิดขึ้นมาเพราะอะไรก็รู้ๆ กันอยู่ ถ้าเขาจริงใจที่จะให้ เขาคงไม่ให้หนังนเรศวรฯ มาแย่งเงินก้อนนี้หรอก แยกไปเลย จะไปตั้งกองทุนกู้ยืมอีกก้อนอะไรก็ว่าไป แล้วการส่งเสริมวงการหนังไทยก็จะได้ส่งเสริมกันจริงๆ ไม่ใช่ส่งเสริมหน้าแค่ฉากกันแบบนี้ ผมยังไม่แน่ใจว่าการตอบโจทย์ของกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงพาณิชย์ในเชิงเศรษฐกิจ (สร้างสรรค์) แบบนี้ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ว่านี่มันตกอยู่กับประชาชนส่วนใหญ่หรือว่าตกอยู่กับนายทุนแค่กลุ่มเดียว ประโยชน์มันจะเกิดกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของบ้านเราจริงหรือเปล่า? หรือว่าเกิดประโยชน์เฉพาะกับอุตสาหกรรมของคนบางกลุ่ม อันนี้ผมว่ามันเป็นคำถามใหญ่ที่ต้องถามกันต่อไป

Q : แล้วจากนี้จะดำเนินการอย่างไรต่อไปครับ

มานิต : ตอนนี้ทางเราก็จะคอยจับตาดูทางกระทรวงวัฒนธรรมจะว่าอย่างไร จะเดินหน้าต่อหรือจะยอมถอยโดยล้มโครงการที่จะให้เงิน 100 ล้านให้กับหนังนเรศวร แล้วก็มาพิจารณาโครงการอื่นๆ ที่ไม่ได้รับกันใหม่ ซึ่งตอนนี้ทางกระทรวงฯ ก็แบ่งรับแบ่งสู้อยู่ ทางตัวแทนก็รับเรื่องไปว่าจะไปเสนอทางคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติต่อไป แต่ในท้ายที่สุดถ้ากรรมการยังยืนยันตามความเห็นเดิม การเรียกร้องของเราก็ยังจะไม่จบ ก็คงต้องไปดูว่ามีช่องทางไหนต่อ ไม่ว่าจะเป็นการยื่นฟ้องศาลปกครอง ปปช. หรือคณะกรรมาธิการตรวจสอบการใช้งบประมาณของรัฐเป็นลำดับต่อไป

รายต่อมาก็คือ ก้อง ฤทธิ์ดี คอลัมนิสต์/นักวิจารณ์แห่งหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์/นักทำหนังอิสระ (มูอัลลัฟ) ผู้คร่ำหวอดในวงการภาพยนตร์นานาชาติ และมีความรอบรู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับระบบการขอทุนของต่างประเทศเป็นอย่างดี กับ อภิวัฒน์ แสงพัทธสีมา นักทำหนังสารคดีอิสระ (Behind The Wall) เจ้าของรางวัล "สันติภาพ" และรางวัล "พิราบขาว" จาก จากงานเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 7 ของมูลนิธิหนังไทย (ซึ่งทั้งคู่ถูกปฏิเสธจากการยื่นเสนอทุนครั้งนี้เช่นกัน)

Q : มีความเห็นอย่างไรกับการจัดสรรทุนสนับสนุนหนังไทยที่มันออกมาแบบนี้บ้างครับ?

ก้อง : อย่างแรกเลย ยังไม่ต้องพูดถึงเงินสนับสนุนหนัง นเรศวรฯ ด้วยซ้ำ ผมเชื่อเลยว่าโปรเจ็กต์ที่ได้เงินไป ครึ่งนึงเนี่ย ไม่ได้ทำหรอก สมมุติว่าเค้าขอ 5 ล้าน แล้วให้เขาล้านนึง เค้าจะไปทำได้ยังไงน่ะ แล้วทุนได้เปล่าที่ให้ไปแล้ว ถ้าไม่ได้มีการทำหนังจริงๆ แล้วมันจะมีการติดตามผลยังไง จะมีหรือเปล่า? ปัญหาคือกฎเขาไม่เคลียร์ และกรรมการอาจจะไม่มีความรู้พอในอุตสาหกรรมนี้ ว่าให้ไปแล้วมันจะได้ผลยังไง อย่างเช่นบางคนงบพัฒนาบทแต่ได้ไปถึงหกเจ็ดแสน คือทุนสำหรับพัฒนาบทเยอะสุดในโลกอย่าง ของร็อตเตอร์ดามเนี่ย เขายังให้ไม่ถึงเลย เค้าให้แค่สามสี่แสนเองน่ะ เรี่องใครได้เงินจะว่าไปมันก็ยังพอที่จะอธิบายได้ คนนี้ได้เพราะอย่างงี้ๆ แต่ที่เค้าอธิบายไม่ได้เลยคือสัดส่วนและจำนวนเงินในแต่ละไอเท็ม

อภิวัฒน์ : ผมว่ามันน่าจะมีรอบสกรีนน่ะ สมมุติส่งมาสองร้อยกว่าคน อาจจะไม่ได้ตัดสินไปเลย อย่างน้อยน่าจะมีรอบสอง ให้เข้ามาคุยกันก่อนว่าคุณทำถึงไหน คุณทำอะไร และทำไปทำไม

ก้อง : ใช่ มันควรจะมีการสัมภาษณ์ อย่างคณะกรรมการเท่าที่รู้ก็คือเป็นข้าราชการก็เยอะ คือมันต้องมีความรู้ในอุตสาหกรรมนี้พอสมควรถึงจะรู้ว่า... เอ้า! พูดง่ายๆ สมมุติว่าคนนี้ชื่อไม่ดี ทำหนังไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าให้ทุนไปโอกาสที่หนังมันจะไม่ได้ทำก็สูง เค้าต้องรู้ทันนิดนึง เราเชื่อว่าเขาอ่านแค่ประเด็นน่ะ เค้าไม่ได้ดูเลยว่าโปรดิวเซอร์มีหรือเปล่า ทำหนังได้จริงๆ หรือเปล่า

อภิวัฒน์ : มันน่าจะแยกไปเลยนะ ระหว่างทุนที่มีการคืน และทุนให้เปล่า แบบนี้บริษัทใหญ่ๆ ก็มาเบียดบังคนทำหนังอิสระที่เขาต้องการทุนจริงๆ ไปหมด

Q : ปกติทุนสนับสนุนหนังของเมืองนอกนี่เขามีการให้กับบริษัทเอกชนรายใหญ่ๆ บ้างหรือเปล่า?

ก้อง : ไม่มี คือทุนสนับสนุนหนังส่วนใหญ่มันก็เป็นทุนสำหรับประเทศโลกที่สาม ว่าง่ายๆ น่ะ เช่นประเทศในยุโรปเนี่ย เขาห้ามขออยู่แล้ว เพราะเค้าถือว่าประเทศเหล่านั้นมีระบบสนับสนุนจากรัฐบาลของตัวเองเพียงพอ อย่างร็อตเตอร์ดามเนี่ย คนไทยก็ได้เยอะนะ แต่ก็เป็นคนทำหนังอินดี้เกือบหมดไง แล้วหนังที่ได้ก็จะเป็นหนังแปลกๆ หน่อย มีประเด็นใหม่ๆ ไม่ใช่หนังตลาด หนังตลาดไปเค้าก็ไม่ให้อยู่แล้ว เพราะมันเป็นทุนเพื่อการพัฒนาทางศิลปวัฒนธรรมไง จริงๆ ไอ้เรื่องที่กระทรวงแจกเงินให้กับหนังเรื่องเดียวถึงร้อยล้านเนี่ย มันอาจจะมีผลที่ไม่ดีทางอ้อมก็คือ ไอ้ประเทศที่เคยให้ทุนพวกเรามันอาจจะบอกว่าคุณมีเงินแล้ว รวยแล้ว ถ้ามันมองอย่างนี้ต่อไปมันอาจจะตัดรายชื่อของเราออกจากลิสต์ อย่างสิงค์โปรนี่ขอไม่ได้นะ เพราเขาถือว่ารวยแล้วไง อันนี้เราอาจจะกลัวไปเองก็ได้ พูดตรงๆ แต่มีความเป็นไปได้ไหม มันก็มี

อภิวัฒน์ : คือไอ้เรื่องที่เกี่ยวกับต่างประเทศเนี่ย ผมมองว่าอย่างน้อยมันก็เป็นการเปิดทางให้เขามองว่าประเทศเรามีเงินสนับสนุนด้านนี้อยู่แล้ว แต่ก็ต้องถามย้อนกลับมาว่าโปรเจ็กต์แบบนี้ในเมืองไทยมันยั่งยืนไหม? ถ้าเกิดความเข้าใจมันคลาดเคลื่อนไปแล้ว ต่างประเทศตัดหนทางเข้าถึงทุนของคนทำหนังอิสระบ้านเราในการขอทุนเมืองนอกขึ้นมาแล้วคุณจะรับผิดชอบยังไง? ถ้าอย่างนั้นการให้ทุนแบบนี้มันก็ถือว่าเป็นการตัดโอกาสกันเอง ทำลายวงการหนังด้วยกันเองเหมือนกันนะ

ก้อง : คือไม่ใช่ว่าให้ไม่ได้นะ แต่คนใหม่ก็น่าจะให้เขาบ้าง ไม่ใช่ว่ามีแต่ท่านมุ้ย เป็นเอกหรืออภิชาตพงศ์ อะไรอยู่แค่นี้ อย่างน้อยๆ ก็น่าจะสัมภาษณ์เค้าสักหน่อย นี่ไม่มีเลย

Q : คิดว่าการที่คนทำหนังอิสระอย่าง อภิชาตพงศ์ (วีระเศรษฐกุล) หรือ อโนชา (สุวิชากรพงศ์) ได้รับทุนนี่ คิดว่าทางคณะกรรมการต้องการปิดปากคนทำหนังอิสระหรือเปล่า?

ก้อง : อาจจะไม่ได้เรียกว่าปิดปาก แต่เดาว่าเค้าคงคิดว่าได้ผลงานชัวร์ๆ คนพวกนี้มีชื่อเสียง อาจจะไม่ถึงขนาดนั้น แต่เชื่อว่าเขาให้คนเหล่านี้มันจะไม่มีใครด่า มันเป็นข้ออ้างไง

อภิวัฒน์ : เรื่องนี้ผมว่ามันเป็นการสร้างความชอบธรรมสำหรับวงการหนังอิสระไง เพื่อจะได้พูดได้ว่า นี่ไง เราก็ให้คนทำหนังอิสระนะ ไม่ใช่ไม่ให้ แต่มันไม่ได้พูดถึงอีกสองร้อยกว่าเรื่องที่ไม่ได้น่ะ

ก้อง : อย่างอาทิตย์ อัสรัตน์ (Wonderful Town) เองก็ไม่ได้ โปรไฟล์เขาก็ดีจะตาย หนังเค้าก็จะเสร็จแล้ว เค้าขอแค่ล้านเดียวเอง เค้าไม่ได้โลภเลย เค้าขอตามจริง เขาขอค่าโปรโมทและโพสต์โปรดักชั่น 1 ล้าน อย่างงี้ทำไมไม่ให้ หนังเค้าเสร็จแน่ๆ น่ะ แล้วการจัดสรรสัดส่วนของทุน 200 ล้าน ที่ให้หนังยาวไปถึง 150 ล้าน แล้วให้หนังเรื่องเดียวตั้ง 100 ล้าน เนี่ย มันเยอะเกินไป

อภิวัฒน์ : มันน่าจะกระจายให้มากกว่านี้ หนังสั้นหนังอิสระบางเรื่องได้สามหมื่น เทียบกับอีกคนได้ร้อยล้านเนี่ย มันเรียกว่าสนับสนุนยังไง สนับสนุนมันต้องช่วยให้เขาทำให้ได้สิ ให้คนละล้านมันก็ได้หนัง 100 เรื่องแล้ว

ก้อง : คืออย่างเกาหลีเนี่ย ยกตัวอย่างว่ารัฐบาลมันไม่ควรจะลงทุนกับเอกชนใช่ไหม มันทำไม่ได้ แต่เกาหลีมันจะตั้งเป็นกองทุนที่ได้มาจากหน่วยงานวัฒนธรรมอะไรก็ตามแต่ แล้วกองทุนนี้มันก็เหมือนกองทุนตามแบ็งค์น่ะ รัฐบาลก็ลงทุน รัฐบาลก็ได้เงินคืน แล้วทุนนี้ก็จะมีการจ่ายคืน มีหักส่วนอะไรก็ว่าไป แต่หนังอินดี้ หนังอิสระ มันก็มีการสนับสนุนแยกออกมาเลย คือระบบเค้าจะละเอียดกว่าไง อีกอย่าง คนมักจะพูดว่าให้ไปดูเกาหลี ที่เค้าให้เงินสนับสนุนคนทำหนัง แล้ววงการหนังเค้าก็เจริญรุ่งเรือง

อภิวัฒน์ : แต่คนที่พูดเขาไม่เข้าใจโครงสร้างว่าการให้ทุนสนับสนุนของเกาหลีเขาเป็นยังไง

ก้อง : ใช่ มันเป็นทั้งระบบน่ะ มันไม่ได้ให้เงินหนังที่ขายได้อย่างเดียว หนังนักเรียนมันก็ให้ โอเค วงการหนังเกาหลีมันก็มีปัญหาเยอะแหละ แต่รายเล็กรายน้อยอะไรมันดูทั่วถึง เทศกาลหนังเล็ก น้อย ใหญ่ อะไรมันช่วยหมด แต่ของเราเหมือนกับโยนมาสองร้อยล้าน แล้วก็ไปแย่งกันเอง

อภิวัฒน์ : อย่างหนังตลาดบางเรื่องเนี่ย รัฐสนับสนุนในแง่ของการลงทุนได้ เหมือนให้ยืมเงิน แต่ไม่ควรมาเบียดเบียนการสนับสนุนหนังเรื่องอื่นที่เขาก็ต้องการความช่วยเหลือที่อาจจะมากกว่าด้วยซ้ำไง

ก้อง : คือในเชิงโครงสร้างเนี่ย เราก็มองว่ามันประหลาด เพราะถ้างบมาจากกระทรวงพาณิชย์หรือกระทรวงอุตสาหกรรม มันก็พูดได้ว่านี่คืองบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หนังอย่างนเรศวรก็มีสิทธิ์ที่จะขอเงิน เพราะว่าเป็นหนังฟอร์มยักษ์อะไรก็ว่าไป พูดง่ายๆ คือรัฐเป็นคนร่วมลงทุนหรือให้เงินกู้แบบไม่มีดอกเบี้ยแก่เอกชน มันทำได้ แต่พองบมันมาจากกระทรวงวัฒนธรรม เป้ามันควรจะเป็นอีกอย่างนึงไม่ใช่หรือ หน้าที่ของกระทรวงวัฒนธรรมคือการส่งเสริมความหลากหลาย ส่งเสริมองค์ความรู้ ส่งเสริมโอกาสให้แก่คนทำงานสร้างสรรค์ หรืออะไรก็แล้วแต่ มันไม่ควรจะเป็นงบที่ให้เพื่อหวังผลทางเศรษฐกิจไง กระทรวงวัฒนธรรมไม่ควรจะมีหน้าที่คิดเรื่องการค้าหรือว่ากลายเป็นเจ้าหนี้เงินกู้แบบนี้ กระทรวงวัฒนธรรมมีหน้าที่ปล่อยเงินกู้ตั้งแต่เมื่อไหร่ มันผิดตั้งแต่วิธีคิดแล้ว คุณไม่ได้มีหน้าที่ปล่อยเงินกู้! คุณมีหน้าที่ส่งเสริมวัฒนธรรม!

Q : แต่ทางกระทรวงวัฒนธรรมเองก็ได้ให้เหตุผลว่า หนังเรื่องนี้ส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมอันดี ให้ความรู้ในแง่ประวัติศาสตร์ชาติไทยและสร้างความสามัคคีให้คนในชาติล่ะครับ

ก้อง : ถ้าคุณจะมองว่านี่คือวาระแห่งชาติ คุณก็ต้องบอกให้ชัด แล้วก็แยกการสนับสนุนต่างหากไปเลย เสร็จแล้วเราก็ต้องดูฟรี รัฐบาลต้องจ่ายเงินให้เราดูฟรี แค่นั้นเอง

Q : คิดว่าที่หนังนเรศวรได้ทุนสนับสนุนเยอะขนาดนี้ อาจเป็นเพราะมันสนับสนุนแนวคิดในเชิงชาตินิยมที่รัฐพยายามจะปลูกฝังให้กับประชาชนหรือเปล่า?

ก้อง : มันก็มีแหละ แต่มันอาจจะไม่ได้โจ่งแจ้ง หรือคนทำเขาอาจจะไม่ได้คิดตั้งหลักเอาไว้ตั้งแต่แรก แต่ว่าในเชิงโครงสร้าง ในระบบความคิดมันมีอยู่แล้วน่ะ ในการใช้ประวัติศาสตร์เพื่อก่อให้เกิดความรู้สึกอะไรบางอย่าง โดยไม่เคยตั้งคำถามน่ะ ในเชิงการเมืองมันก็คงมีวาระซ่อนเร้นอยู่แล้วน่ะ

Q : สังเกตอีกอย่างว่าหนังที่ได้ทุนมันเป็นหนังที่จำกัดความเป็นวัฒนธรรมอยู่แต่ในวงแคบ อาทิเช่นในแง่ของศาสนา

อภิวัฒน์ : มีหนังที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมในรูปแบบอื่นบ้างไหม อย่างอิสลามเนี่ย?

ก้อง : เท่าที่เราเห็นไม่มีนะ แต่ถ้าเราพูดมันก็จะกลายเป็นว่า เราไปขอทุนแล้วไม่ได้เลยพาลจับผิด

อภิวัฒน์ : แต่ในแง่นี้มันแสดงให้เห็นถึงการขาดความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกระทรวงวัฒนธรรมจริงๆ ไง

ก้อง : คือเราแค่อยากจะสะท้อนกลับไปที่ว่า คำว่า 'วัฒนธรรม' ของกระทรวงฯ มันคืออะไร ในขณะที่หน้าที่ของเขาคือการส่งเสริมความหลากหลาย เราไม่ได้บอกนะว่าการที่หนังเหล่านั้นได้รับการสนับสนุนมันผิด แต่เราแค่บอกว่ามันไม่แสดงความหลากหลายจริงๆ ทั้งที่มันควรจะเป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ของกระทรวงนี้ ซึ่งก็อาจจะแปลว่าเค้าไม่ได้ทำหน้าที่ของเขาอย่างเต็มที่

Q : ในฐานะที่คุณก้องเองก็เป็นสื่อมวลชนและคนทำหนังอิสระที่ขอทุนนี้แล้วไม่ได้ ไม่กลัวคนจะมองว่าคุณอคติหรือองุ่นเปรี้ยวหรือ

ก้อง : ก็กลัวนะ กลัวเหมือนกัน เราก็รู้สึกตัวว่าเราก็หลายอย่างไปหน่อยน่ะ แต่เราเชื่อว่าเราก็ตอบคำถามได้ อย่างเวลาเราเขียนบทความเราก็บอกไปเลยว่าเราก็ขอ เราเชื่อว่าประเด็นที่เราเลือกพูดมันชัดเจนน่ะ อย่างการให้งบสนับสนุนครึ่งนึ่งของงบประมาณทั้งหมดกับหนัง นเรศวรฯ เพียงเรื่องเดียวเนี่ย ผมว่าการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินมันชัดเจนว่ามันไม่แฟร์กับคนอื่น เราคิดว่าใครๆ ก็มีสิทธิ์พูด ถ้าไม่งั้นเราก็จะกลายเป็นคนที่ไม่กล้าทำอะไร เพราะกลัวคนโน้นคนนี้ด่าไปหมด เพราะเมื่อเราเห็นอะไรที่มันไม่ชัดเจน ไม่ถูกต้อง เราก็ต้องพูดน่ะ

อภิวัฒน์ : เราไม่ได้มองว่าหนังนเรศวรผิด หรือเป็นหนังไม่ดี ไม่สมควรได้รับการสนับสนุนนะ แค่บอกว่าสัดส่วนของการให้ทุนมันไม่ยุติธรรมน่ะ

Q : สรุปแล้วภาพรวมข้อบกพร่องของการจัดสรรทุนก้อนนี้คืออะไร

ก้อง : เรื่องมาตรฐาน โครงสร้าง เมื่อเปรียบเทียบกับการให้ทุนของทั่วโลก ความโปร่งใสในการพิจารณาของคณะกรรมการ

อภิวัฒน์ : การให้ทุนกับหนัง นเรศวรฯ ในลักษณะนี้เป็นตัวสะท้อนปัญหาโครงสร้างของการให้ทุนไทยเข้มแข็งของกระทรวงวัฒนธรรมที่ชัดเจนที่สุด

ส่วนขยายจากบทความ 'ทุนสนับสนุนหนังไทย ใครเข้มแข็ง (กันแน่?)' จากนิตยสาร Filmax ฉบับที่ 36
ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

กลุ่มที่สอง คือกลุ่มคนที่ได้รับเงินสนับสนุน แต่ยังเกิดคำถามและความเคลือบแคลงใจในความไม่ชอบมาพากลของการจัดสรรทุนนี้ โดยมีแกนนำคือ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล นักทำหนังอิสระผู้มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติและคนทำหนังไทยคนแรกและคนเดียวที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ปาล์มทองคำ จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ จากหนังเรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (ซึ่งได้รับการอนุมัติให้ได้รับทุนนี้ไป 3,500,000 บาท)

Q : แรกสุดเลย อยากทราบเหตุผลที่คุณเจ้ยออกมาคัดค้านการจัดสรรทุนในครั้งนี้ครับ?

อภิชาติพงศ์ : ในมุมมองของผม มันตีความได้หลายมุมว่าทำไมหนังเรื่องนี้ (ตำนานสมเด็จพระนเรศวร ภาค 3,4) ต้องเข้ามาร่วมแชร์ทุนกับหนังเรื่องอื่น โดยที่ทาง อ.อภินันท์ ก็ออกมาประกาศหลังจากการตัดสินว่า กระทรวงวัฒนธรรมสนองนโยบายของนายกฯ ว่าต้องสนับสนุนเรื่องนี้ ผมถามว่า แล้วทำไมไม่ทำเป็นงบ 100 ล้าน แยกให้เขาไปเลย ดีลกันเอง ไม่ต้องแสร้งสร้างชุดคณะอนุกรรมการขึ้นมาตัดสิน หากจะต้องคำนึงถึงปัจจัยนอกทางการเมืองเช่นนี้ ถ้าเขาคิดว่ามันจะช่วยสนับสนุนวัฒนธรรมของชาติ ส่งเสริมให้มีความสามัคคี ซึ่งมันก็เป็นมุมมองของเขา

Q : บางคนมองเป็นเรื่องแปลก ที่ทั้งๆ ที่คุณเจ้ยเป็นคนหนึ่งที่ได้เงินสนับในส่วนนี้ แต่กลับออกมาคัดค้าน?

อภิชาติพงศ์ : ถึงผมจะได้หรือไม่ได้เงิน มันไม่ใช่ประเด็น ถึงผมจะได้เงิน 80 ล้าน 100 ล้าน ถ้ามันเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น ผมก็ต้องพูดเพราะมันไม่ถูกต้อง ไม่อย่างนั้นผมไม่เปลืองตัวออกมาให้คนต่อว่าหรอก คนหลายๆ คนในบ้านเราอาจจะสนับสนุนหนังเรื่องนี้ แต่เขาไม่ได้มองไปถึงหลักการ เขามองแค่ว่ามันสมควรจะได้ 500 ล้าน 1000 ล้าน ด้วยซ้ำ ซึ่งถ้ารัฐอยากจะสนับสนุนจริงๆ ควรตั้งเป็นกองทุนเฉพาะให้หนังเรื่องนี้ไปเลย แต่ว่าการเอาตรงส่วนนี้เหมือนมารวมกับอีกโจทย์หนึ่ง แล้วก็ออกมาประกาศให้คนทั่วไปมาสมัครโดยที่ไม่ได้กำหนดเพดานของงบสำหรับหนังแต่ละเรื่องว่าจะขอได้เท่าไหร่ และก็ไม่ได้กำหนดด้วยว่าจะสนับสนุนในขั้นตอนอะไร เช่นขั้นตอนพัฒนาบท ขั้นตอนถ่ายทำ ตัดต่อ ประชาสัมพันธ์ เป็นสิ่งที่ต้องถามคำถาม แล้วที่น่ากลัวยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การเปิดโอกาสให้ทางสตูดิโอหรือผู้สร้างภาพยนตร์เสนอเอาเองว่าจะให้ผลประโยชน์ต่อกระทรวงเท่าไหร่ แล้วมาตกลงสรุปหาข้อตกลงกันทีหลัง ซึ่งประเทศที่เจริญแล้วเขาไม่ทำกัน ยกตัวอย่างว่าหนังเรื่องหนึ่งขอทุนรัฐบาล เขาก็จะกำหนดเลยว่า หนังต้องแบ่งกำไรกี่เปอร์เซ็นต์กับรัฐบาล ซึ่งมันเป็นหลักสากล สมมุติว่าขอทุนฝรั่งเศส เขาก็จะมีข้อแม้ว่า 50% ของทุนต้องใช้จ่ายในฝรั่งเศสนะ เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมของท้องถิ่นเขา อย่างที่เยอรมันแม้จะให้ 100% ก็ต้องใช้ 150% ในเยอรมันแต่ถ้าจะประเสริฐจริงๆ อย่างเนเธอร์แลนด์ ให้ไปโดยไม่มีข้อแม้ด้านการตลาดเลย หว่านพืชผลไป คุณจะทำเสร็จไม่เสร็จเขาก็ไม่ว่า แต่ทุนไทยเข้มแข็งที่ผ่านทางกระทรวงนี้นี้มีช่องโหว่มาก คนที่ส่งโครงการเข้าไปจะไม่มีแนวทางในการจัดสรรงบเลย มันไม่ได้สร้างมาตรฐานให้ผู้สมัครเข้าใจในโครงสร้างของทุน เพื่อที่จะต้องเสนอโครงการ เช่น ช่วงร่างบทภาพยนตร์ต้องขอเท่าไหร่ แล้วเพดานของการให้ทุนสำหรับขั้นตอนนี้เท่าไหร่ ในกรณีนี้ รัฐไม่ต่างอะไรกับการเป็นแค่นายทุนที่ต้องการเอาผลประโยชน์จากหนังเรื่องหนึ่งมาใช้ และหวังว่าหนังเรื่องนั้นจะได้กำไร ถึงแม้ว่าหนังเรื่องนั้นจะอ้างว่าจะปันผลมากกว่า 100 ล้านซึ่งเป็นไปได้ แต่ถ้าเขาไม่ได้กำไรล่ะ? ทำไมรัฐต้องไปเสี่ยงกับหนังเรื่องเดียวด้วยงบประมาณครึ่งหนึ่งของทุนที่มี และเมื่อทราบว่ากระทรวงพาณิชย์จะให้ทุนสนับสนุนหนังเรื่องเดียวกันนี้อีก 330 ล้านบาท ทำให้เกิดคำถามว่า ขณะที่ทุนยังไม่มีการแจกจ่ายออกไปนี้ เหมาะสมแล้วหรือที่รัฐจะต้องสนับสนุนภาพยนตร์เพื่อการค้าโครงการหนึ่งถึงเกือบ 100% ของงบประมาณการสร้าง ทั้งๆที่งบสนับสนุนจำนวนมหาศาลที่ให้แก่ภาพยนตร์เชิงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของผู้กำกับคนเดียวกันจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมาก็ทำให้เกิดประโยชน์ต่อบริษัทผู้สร้างแล้วไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอุปกรณ์ราคาสูงต่างๆ หรือรายได้ที่ผ่านมา เราควรเปรียบเทียบศักยภาพในการหาทุนสนับสนุนของผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้กับเรื่องอื่นๆที่ต้องการความเหลียวแลจากรัฐด้วย การที่กระทรวงวัฒนธรรมและคณะกรรมการฯพยายามมุ่งตอบโจทย์เพื่อการค้า มันเป็นการไปทำลายโจทย์ที่พวกเขาตั้งไว้เอง ว่าจะสนับสนุนเพื่อความก้าวหน้าของวงการภาพยนตร์ไทย มันเป็นการทำลายโอกาสในการสนับสนุนโครงการอื่นๆ ซึ่งทุนนี้จะทำให้เกิดการกระจายรายได้ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในโครงการอิสระ และในต่างจังหวัด ประเทศไทยต้องการความหลากมิติทางภาพยนตร์ ซึ่งประโยชน์ของมันมีค่าทางด้านสังคมและเศรษฐกิจในระยะยาวมาก

Q : เหมือนความเจริญมันกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มเดียว?

อภิชาติพงศ์ : สิ่งที่ผมสู้มาตลอดตั้งแต่แรกเลยและพยายามจะสื่อสารกับกระทรวงวัฒนธรรมว่า คุณควรจะสนับสนุนหนังทุกเรื่องในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็น นเรศวรฯ หรือหนังเรื่องอื่นๆ หนังตลก หนังผี สารคดี ฯลฯ ภาพยนตร์มีคุณค่าต่างๆกันไปตามความคิดของปัจเจก คนต่างจังหวัดหรือใครก็ตามที่เขาอยากเขียนบท แต่เขาไม่มีโอกาส แล้วเขามาเจอคนทำหนังมืออาชีพ แล้วยิ่งเอา 100 ล้านไปให้หนังนเรศวรฯ อีกเนี่ย คนพวกนั้นหมดสิทธิ์ไปเลยนะ อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องคุณภาพของคณะอนุกรรมการตัดสิน ผมมีความคิดว่าหลายคนในคณะอนุกรรมการเป็นผู้ที่ไม่มีศักยภาพพอในการพิจารณา แค่มาเพื่อเป็นตัวแทนของกระทรวงต่างๆ เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ของความร่วมมือกันระหว่างหลายๆกระทรวง ทำให้เหมือนเกิดความชอบธรรม ซึ่งรัฐมองว่าภาพยนตร์ก็คืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวโยงกับการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ ธุรกิจ หรืออื่นๆ แต่ว่าคนเหล่านี้มีความรู้ด้านภาพยนตร์และวัฒนธรรมแค่ไหน ผมคิดว่าเขาเหล่านั้นเหมาะที่จะมีตำแหน่งที่ปรึกษามากกว่าที่จะเป็นอนุกรรมการตัดสิน พวกเขาจะได้ใช้ความรู้เฉพาะทางของเขาได้เต็มที่ มากกว่าที่จะมานั่งอ่านบทภาพยนตร์เป็นร้อยๆเรื่อง นี่คือสิ่งที่แตกต่างระหว่างบ้านเรากับการให้ทุนสนับสนุนภาพยนตร์ของประเทศอื่นที่มีศักยภาพ ปัญหาคือคนที่เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์และวัฒนธรรมบ้านเรามีจำนวนน้อย พอไม่มีผู้เชียวชาญแล้ว การร่างโครงการการร่างกฎระเบียบก็จะแสดงความความไม่รู้ของเขาออกมา ซึ่งมันก็จะทำให้เกิดช่องว่างที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นและอีกประเด็นที่เลี่ยงไม่ได้เลยก็คือ กระทรวงวัฒนธรรมประกาศออกมาตั้งแต่แรกว่าจะมีทุน 200 ล้าน สำหรับงบประมาณปี 2552 และในเดือนพฤษภาคมก็จะมีงบประมาณอีก 280 ล้าน ซึ่งจุดนี้ดีมาก คือการมีทุนสนับสนุนสองครั้งในเวลาประมาณหนึ่งปีเหมือนในหลายๆประเทศ เพราะวงจรการสร้างภาพยนตร์ของผู้สร้างจะแตกต่างกัน คนที่สมัครขอทุนไปตอนแรกแล้วไม่ได้ก็จะมีโอกาสแก้ตัวอีก ปรับปรุงและ update เอกสาร หรือคนที่ได้แล้ว เช่นได้ในส่วนของการพัฒนาบท ก็อาจจะของบสำหรับการถ่ายทำอีกก็ได้ มันช่วยเหลือได้มาก แต่ตอนนี้ 280 ล้านที่ว่าหายไปแล้ว ซึ่งผมไม่รู้ว่าหายไปไหน? อยากให้ทางกระทรวงชี้แจงเช่นกัน

Q : แต่ทางคณะกรรมการฯ และกระทรวงวัฒธรรมก็อ้างว่าหนังเรื่องนี้มีความเหมาะสมที่จะได้ทุนดังกล่าว เหตุเพราะมันเป็นหนังที่ส่งเสริมประวัติศาสตร์ของชาติไทยและความสามัคคีของคนในชาติ

อภิชาติพงศ์ : ข้อกำหนดในการมอบทุนมันก็เป็นตัวแสดงมาตรฐานของประเทศเรา ซึ่งเป็นประเทศอนุรักษ์นิยม มีประเด็นว่าว่าต้องส่งเสริมศีลธรรมอันดี คุณธรรมอันดี ไม่วิพากษ์รัฐ เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งโดยส่วนตัวผมถือว่ามันเป็นส่วนนึงของประเทศที่ล้าหลังกว่าสังคมอื่น 30 ปี มันเหมือนการศึกษาสมัยโบราณซึ่งในปัจจุบันมันยังมีอยู่ในโรงเรียนทั้งหลายในเมืองไทย ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็คือภาพสะท้อนวุฒิภาวะทางปัญญาของผู้บริหารประเทศนั่นแหละ ว่ามันมีแค่นี้เกิดขึ้นจากความกลัว และเพื่อการป้องกันตัวเอง มองสังคมเป็นขาว-ดำ ดี-ชั่ว กระทรวงวัฒนธรรมเกิดขึ้นมาเพราะการพยายามจะรณรงค์สูตรที่เขาเชื่อว่าจะทำให้สังคมเดินไปทางไหนตั้งแต่สมัยจอมพล ป.แล้ว มันมีหน้าที่ของมัน แต่มันก็ยังไม่สามารถที่จะเป็นสิ่งที่เราเรียกกันว่าวัฒนธรรมโดยบริสุทธิ์ได้ แม้แต่ในทางพุทธะ เพราะเขาไม่เข้าใจว่าวัฒนธรรมในสังคมอิสระคือความหลากหลาย การมีทางเลือก การไม่ยัดเยียดมุมมองของตัวเองให้คนอื่นโดยการบังคับหรือใช้อำนาจ หรือการเลี่ยงประเด็น ซึ่งนี่คือส่วนหนึ่งของการสร้างปัญหาที่ทำให้เมืองไทยทะเลาะกันขนาดนี้”

Q : เป้าหมายสุดท้ายในการดำเนินการครั้งนี้คืออะไรครับ?

อภิชาติพงศ์ : สิ่งทีเราพอจะทำได้ก็คือการไปฟังเขาชี้แจง และบอกเขาว่า ระบบการให้ทุนของสากลเขาเป็นอย่างนี้นะ ไม่มีที่ไหนในโลกเขาให้ทุนกันแบบนี้นะ ต้องหันหน้ามาคุยกัน ช่วยเหลือกัน จุดประสงค์คือเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม เพิ่มความร่ำรวยทางวัฒนธรรม ซึ่งมันไม่ได้เกี่ยวเลยกับการเป็นหนังของใคร หรือว่าเป็นหนังแห่งสยามประเทศอะไรก็แล้วแต่

นอกจากอภิชาติพงศ์แล้ว ยังมีคนทำหนังและคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับวงการหนังที่ได้รับทุนอย่าง อโนชา สุวิชากรพงศ์ นักทำหนังอิสระที่เพิ่งได้รางวัล ไทเกอร์ อวอร์ดส์ จากเทศกาลหนังนานาชาติร็อตเตอร์ดาม (เจ้านกกระจอก) (ได้ทุนจาก -ดาวคะนอง 1,500,000 บาท) กับ สัณห์ชัย โชติรสเศรณี แห่งมูลนิธิหนังไทย (ได้ทุนจาก -โครงการเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 14 -1,400,000) ที่เกิดความคลางแคลงใจและร่วมออกมาเป็นหนึ่งในเครือข่ายคนทำหนังที่ออกมาคัดค้านการจัดสรรทุนในครั้งนี้ด้วย

Q : ในฐานะที่คุณอโนชาเป็นคนหนึ่งที่ได้ทุนนี้ ทำไมถึงตัดสินใจออกมาคัดค้านครับ?

อโนชา : "เราดูตัวเลขแล้วรู้สึกว่ามันเป็นการไม่ยุติธรรม ในเมื่องบประมาณมันมีอยู่ 200 ล้าน โดยที่ครึ่งหนึ่งของงบให้หนังเรื่องเดียว มันไม่ใช่เรื่องปกติ เราดูตัวเลขแล้วรู้สึกว่ามันเป็นการไม่ยุติธรรม ในเมื่องบประมาณมันมีอยู่ 200 ล้าน โดยที่ครึ่งหนึ่งของงบให้หนังเรื่องเดียว มันไม่ใช่เรื่องปกติ ส่วนตัวที่ได้เต็มจำนวนเท่าที่ขอ เป็นแค่ส่วนหนึ่งของงบประมาณเอง คือเราทำหนังด้วยทุนตัวเอง 10 กว่าล้าน แต่เรารู้ว่าเราไม่ควรขอขนาดนั้น เรารู้ว่าในเมื่องบประมาณมันมีอยู่แค่นี้ แล้วมันต้องเฉลี่ยไปให้หลายๆ โปรเจ็กต์แล้วเราจะไปขอเยอะๆ มันก็ไม่เข้าท่าไง เพราะมันเป็นทุนจากรัฐบาลซึ่งมันก็มาจากภาษีประชาชน มันก็ควรจะแบ่งให้หลายๆ คนน่ะ เราได้มาแค่นี้เราก็ดีใจแล้ว แต่พอรู้เรื่องเราก็เสียใจที่ว่ามันเป็นวิธีเลือกปฏิบัติน่ะ เห็นอยู่ว่าหนังเรื่องนึงได้ 100 ล้าน แต่หนังสั้นบางเรื่องได้ 30,000 มันแตกต่างกันเยอะเกินไปน่ะ ซึ่งอันนี้มันต้องโทษที่กฏเกณฑ์ กติกาที่มันไม่ชัดเจนตั้งแต่แรกน่ะ มันไม่ได้แบ่งว่าขอสำหรับขั้นตอนอะไร และไม่มีเพดานในการขอทุนด้วย ไม่มีกองทุนที่ไหนในโลกที่ไม่มีเพดาน จริงๆ มันไม่ควรจะให้ผู้สมัครกำหนดเองว่าจะเรียกร้องเงินเท่าไหร่ ส่วนใหญ่เค้าจะกำหนดเลยว่าทุนกองนี้จะให้หนังกี่เรื่อง แล้วแต่ละเรื่องจะได้ประมาณนี้ มีเพดานอยู่เท่านี้ ไม่สามารถขอมากกว่านี้ได้ เพราะเราเองก็ทำหนังนอกกระแสและขอทุนจากต่างชาติอยู่เหมือนกัน อย่างเรื่องที่ได้ทุนนี่ เราก็ได้ทุนจากต่างชาติมาส่วนนึงเล็กๆ แต่มันก็ยังห่างไกลกับเงินจำนวนทั้งหมดที่เราต้องหาเพิ่มอีก แต่เราก็ไม่ได้คิดว่าจะไปหวังพึ่งรัฐบาลเอา 100% มาลงกับหนังเรา มันเป็นไปไม่ได้ไง มันไม่ Make Sense น่ะ เพราะถ้าคิดว่าเงินนี้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนคนที่ไม่สามารถเข้าหาแหล่งทุน หรือมีโอกาสจำกัดในการหาแหล่งทุน

Q : แต่ทางกระทรวงวัฒนธรรมก็อ้างว่าเงินนี้ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อให้คนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนหรือคนที่ไม่มีโอกาส แต่เป็นเงินทุนเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์

สัณห์ชัย : ถ้าอย่างนั้นมันก็ต้องตั้งกองทุน ระหว่างทุนที่จะให้เปล่าหรือ Seed Fund อย่างที่พี่เจ้ยว่า กับทุนเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์แยกกันไปให้ชัดเจน

อโนชา : ตอนแรกที่มีการแถลงข่าวจาก สศร. (สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย) เค้าบอกว่าอันนี้เป็นกองทุนที่ตั้งมาเพื่อให้เปล่า แต่หากท่านใดมีความประสงค์อยากจะให้คืนกลับไปเขาก็ยินดี เพราะเขาจะได้เอาไปตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนในครั้งต่อไป แต่วัตถุประสงค์หลักของเขาคือให้เปล่า

สัณห์ชัย : แต่ถ้าเป็นในลักษณะของการคืนทุนกลับเนี่ย มันต้องเป็นลักษณะของกองทุนอีกแบบ อาจจะเป็นกองทุนดอกเบี้ยต่ำ หรือกองทุนกู้ยืม ซึ่งทุกบริษัทมีสิทธิ์เท่าถึงกันหมดไง ก็แบ่งๆ กันไป ซึ่งถ้าสังเกตดูดีๆ จะเห็นความแปลกประหลาดในเรื่องนี้ก็คือ ทุกคนรู้ว่ากองทุนไทยเข้มแข็งมีทั้งหมด 200 ล้าน แต่มันดันมีคนยื่นขอทุนนี้มา 480 ล้าน มันเป็นความ Absurd น่ะ ทุกคนรู้หมดว่ามีทุนอยู่เท่านี้ แล้วคนที่เขียนยื่นขอทุนมา ถ้าเป็นคนสติดีน่ะ ก็จะต้องเขียนมาภายใน 200 ล้าน แต่นี่ดันขอมา 480 ล้านมันหมายความว่ายังไง?

Q : มีความเป็นไปได้ไหมว่า ถ้าไม่มีหนัง ตำนานสมเด็จพระนเรศวร ภาค 3,4 ก็คงไม่กองมีทุนนี้เกิดขึ้น?

สัณห์ชัย : อันนี้ก็ไม่ทราบเหมือนกัน แต่วันแรกที่ประกาศผลของโครงการนี้ ทางสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเองก็ได้มีการประกาศออกมาชัดเจนว่า การที่หนังเรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรได้เงินไป 100 ล้านบาทเพราะเป็นนโยบายของรัฐบาล และคณะกรรมการที่พิจารณางบประมาณนี้ก็เป็นข้าราชการเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นมันก็อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่ง ผมถึงพยายามให้คณะกรรมการและอนุกรรมการแสดงหลักฐาน ซึ่งก็คือเทปบันทึกภาพการประชุมพิจารณาฯ ดังกล่าว เพื่อเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจและความโปร่งใสของคณะกรรมการ นั่นคือสิ่งที่ควรจะเปิดเผยออกมา

Q : ตอนนี้ทางเครือข่ายฯ จะมีมาตรการอย่างไรต่อไปครับ?

สัณห์ชัย : ตอนนี้เราก็ต้องรอดูว่าทางกระทรวงฯ จะมีปฏิกิริยาอย่างไร แต่กว่าบอร์ดชาติจะประชุมก็คือปลายเดือนนี้ (30 พฤษภาคม 2553) แล้วทุกคนที่ได้ทุนก็ต้องเซ็นสัญญาแล้ว แล้วอีกปัญหานึงก็คือ สัญญาสำหรับผู้ที่ได้ทุนมันคือสัญญาทาสชัดๆ ไง ทีนี้ก็เป็นปัญหาของผู้ที่ได้ทุนแล้วล่ะ ว่าจะยอมให้ทุกสิ่งทุกอย่างตกเป็นของรัฐทั้งหมดหริอเปล่า?

Q : รวมถึงทุนให้เปล่าด้วย?

อโนชา : มันเป็นสัญญาฉบับเดียวกันหมดไง

Q : แปลว่าถึงแม้ว่าจะให้เงินสนับสนุนแค่ในส่วน พรีโปรดักชั่น หรือ โพสต์โปรดักชั่น หรือส่วนเล็กๆ แค่ส่วนเดียว แต่รัฐก็จะได้หนังไปทั้งเรื่อง?

สัณห์ชัย : ใช่ ทุกคน ทุกโปรเจ็กต์น่ะ

อโนชา : มันมีอีกข้อนึงด้วยที่ว่า ถ้าจะรับเงินก้อนที่เขาให้คุณต้องเอาเงินมาค้ำประกันเท่าจำนวนนั้นเลย มันไม่ Make Sense น่ะ ถ้าเกิดว่าคุณมีเงินจำนวนนั้นอยู่แล้วคุณจะมาขอทำไม? แต่ทางกระทรวงฯ เขาก็สัญญาว่าจะกลับไปแก้ไขให้นะ เพราะเขาก็เห็นว่ามันไม่เวิร์กเหมือนกัน

สัณห์ชัย : สิ่งที่เราพอจะทำได้ก็คือ การรอดูท่าทีอย่างที่ว่านั่นแหละ แล้วเราก็จะมีการทำลิสต์ข้อบกพร่องของทุนนี้ออกมาเพื่อให้เป็นกรณีศึกษาต่อไป

หมายเหตุ : ภายหลังทางสำนักงานศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัยซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงวัฒนธรรมได้มีการอธิบายเพิ่มเติมมาว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจากเงินก้อนที่ได้รับการสนับสนุนเท่านั้น จะตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ยกตัวอย่างเช่น สมมติผู้ได้รับทุนได้เงินไปเขียนบท เมื่อบทเสร็จ บทก็จะเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงหนังทั้งเรื่องอย่างที่เข้าใจกันแต่แรก

ใครว่ามีแต่หนังที่มีปัญหา?

นอกจากในสายภาพยนตร์แล้ว ในงานสร้างสรรค์ประเภทเกม ก็มีเสียงสะท้อนให้เห็นปัญหาเช่นกัน ดังที่ นพพล วรรณเพ็ญสกุล Managing Director บริษัทผลิตซอฟต์แวร์และเกม CORECELL Technology (ถูกปฏิเสธการให้ทุนในหมวด ‘เกม’) ได้สะท้อนให้ฟังว่า "งบส่วนนี้มันมีส่วนของเงินทุนสนับสนุนอุตสาหกรรมเกมด้วย ที่ถึงมันจะมีงบประมาณน้อยนิดเพียง 10 ล้านจากทั้งหมด แต่มันก็เป็นก้าวแรกๆ ที่ดีสำหรับคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมด้านนี้ แต่เนื่องจากขั้นตอนและกระบวนการในการตัดสินไม่ได้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเกมเลย อีกทั้งบริษัทที่ได้รับทุนไปนั้นเป็นบริษัทที่ผลิตเกมจริงๆ หรือไม่?

คณะกรรมการมีความโปรงใสอย่างไรที่ตัดสินมอบเงินให้กับบริษัทที่ไม่เคยพัฒนาทางด้านนี้จริงๆ จังๆ เลย แรกที่ได้รู้เรื่องโครงการนี้ ผมเข้าใจว่ามันเป็นทุนอุดหนุนที่จะช่วยให้เกิดการจ้างงาน เกิดการกระจายรายได้ให้กับอุตสาหกรรมนี้ แต่สุดท้ายแล้วรายได้มันไปกระจุกอยู่ที่ไหนกันแน่?

ผมมองว่าขั้นตอนในการพิจารณาตัดสินโครงการงบประมาณ 200 ล้าน แต่พิจารณาจากการส่งกระดาษไม่กี่แผ่น ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกทำกัน ไม่ใช่โครงการประกวดเรียงความนะครับ! มันเป็นโครงการที่ต้องอธิบาย ยิ่งในส่วนของเกมที่เป็นซอฟต์แวร์ด้วยแล้ว ยิ่งต้องอธิบายว่าวิธีการเล่นเป็นยังไง? เล่นแล้วจะสนุกไหม? บริษัทที่ขอทุนมีศักยภาพแค่ไหนในการทำโครงการนี้? แต่ไม่มีขั้นตอนในการให้พรีเซนต์สิ่งเหล่านี้เลย ดูจากแค่กระดาษที่ส่งไป แล้วสุดท้ายก็ประกาศออกมาว่าใครได้หรือไม่ได้ อยากถามว่าคณะกรรมการพิจารณาจากอะไรกันแน่?”


บทสรุปของเรื่องราวนี้จะเป็นอย่างไร จะออกหัวหรือออกก้อย จะจบแบบหนังเศร้าแอนตี้ไคลแม็กซ์ หรือจบแบบโรแมนติกคอเมดี้แฮปปี้เอนดิ้ง เราก็ยังไม่อาจคาดเดาได้ (จริงเร้อ?) แต่ก็ถือได้ว่า ปรากฏการณ์ครั้งนี้เป็นนิมิตหมายใหม่ในวงการภาพยนตร์ไทย ในการที่คนทำศิลปะภาพยนตร์มีบทบาทและโอกาสมากขึ้น ในการต่อรองและตั้งคำถามกับภาครัฐ และไม่ว่ามันจะสรุปอย่างไรก็ตาม อย่างน้อยๆ ปรากฏการณ์ครั้งนี้ก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่งในการที่จะทำให้ 'คนดูหนัง' อย่างเราๆ กลับมาคิด ‘ทบทวน’ และตั้งคำถามถึง บทบาท และ สิทธิ ในการเสพศิลปะแขนงที่เจ็ดที่เรียกกันว่า ภาพยนตร์ ของตัวเราเองบ้างก็เป็นได้

หมายเหตุอีก : นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ภายหลังการประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ เพื่อพิจารณาเรื่องการจัดสรรงบประมาณโครงการไทยเข้มแข็งสนับสนุนภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 3-4 จำนวน 100 ล้านบาท ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบปรับลดงบฯของภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรฯลง 53,903,098 บาท โดยสนับสนุนให้แค่ 46,096,902 บาท ตามข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เนื่องจาก พณ.สนับสนุนให้แล้ว 330 ล้านบาท เมื่อเห็นว่าซ้ำซ้อนกันก็ควรตัดออก การปรับลดงบฯครั้งนี้ ไม่ได้ทำเพราะมีการร้องเรียนและลบข้อครหา แต่ วธ.ไม่ทราบว่า พณ.ให้งบฯสนับสนุนอีก ส่วนภาพยนตร์และกิจกรรมอีก 48 โครงการที่ได้รับอนุมัติงบฯไปยังยึดตามมติเดิม ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบให้นายอภินันท์ โปษยานนท์ รองปลัด วธ. ไปคัดเลือกภาพยนตร์เรื่องยาว สั้น นอกกระแส และกิจกรรมอื่น ๆ ที่ขอสนับสนุนงบฯเข้ามา 295 โครงการ มาพิจารณาเพื่อจัดสรรงบฯที่เหลือ 53 ล้านบาท ให้แก่โครงการเหล่านั้น เพราะเห็นว่าหลายเรื่องมีคุณภาพ และควรได้รับการสนับสนุน ด้านนายอภินันท์กล่าวว่า จะประชุมคัดเลือกภาพยนตร์และกิจกรรมทั้งหมดที่จะได้รับงบประมาณในส่วนนี้ ในวันที่ 31 พฤษภาคม โดยยังคงยึดหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาเหมือนเดิมทุกอย่าง

จากเว็บไซต์ : //www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1274964363&grpid=01&catid

หมายเหตุอีก (แล้ว) ปัจจุบัน นายธีระ สลักเพชร ได้ถูกปลดออกจากการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมแล้ว โดยมี นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน มารับตำแหน่งแทน


ดูรายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับการคัดค้านทุน 'ไทยเข้มแข็ง' ได้ที่ : //thaiaudience.wordpress.com/2010/05/05/budgetcritic/, //thaicinema.org/news53_tff5.asp, //www.bloggang.com/mainblog.php?id=movieworm&month=04-05-2010&group=3&gblog=19





Create Date : 07 มิถุนายน 2553
Last Update : 7 มิถุนายน 2553 22:28:34 น. 0 comments
Counter : 881 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

panueddie
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add panueddie's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com