Movieworm
 
Inglourious Basterds ความจริง ความลวง

ประวัติศาสตร์ที่ถูกบิดเบือน (อย่างจงใจ) และการคารวะศิลปะภาพยนตร์ด้วยภาพยนตร์ของคนทำหนัง

ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ เซ็กชั่น จุดประกาย ปีที่ 23 ฉบับที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553

ดังที่ได้กล่าวไปในตอนที่แล้วว่า ‘ศิลปะ’ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปะแขนงที่เจ็ดอย่างภาพยนตร์ มักจะตกเป็นจำเลยของสังคม หลายต่อหลายครั้งที่ภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ มักจะถูกจับตาและจับผิดเสมอ ซึ่งถ้าหากมีส่วนใดส่วนหนึ่งของหนัง ไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง (ตามสายตาของนักประวัติศาสตร์) ก็คงไม่แคล้วคลาดที่หนังเรื่องนั้นจะถูกโจมตี ก่นด่า และต่อว่าไม่มีชิ้นดี จนคนทำหนังหลายต่อหลายคนต้องเลี่ยงไปทำหนังแนวอื่น (ที่ไม่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์) อย่างหนังผี หนังแฟนตาซี หนังตลก ฯลฯ ไปเสียเลย จะได้ไม่มีเรื่อง

จนกระทั่งวันหนึ่ง คนทำหนังที่ขึ้นชื่อว่ามีฝีไม้ลายมือเจนจัด และเปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันยียวนกวนบาทามากที่สุดคนหนึ่งในปัจจุบันอย่าง เควนติน ทารันติโน ทำหนังเรื่องล่าสุดของเขาออกมา...

“กาลครั้งหนึ่ง เมื่อนาซียึดครองฝรั่งเศส”
ขึ้นต้นมาอย่างนี้ ก็พอจะรู้แล้วว่า เรื่องราวต่อจากนี้ไป ไม่ได้อ้างอิงจากความเป็นจริงใดๆ และก็ไม่ใส่ใจกับประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้น นักวิชาการทั้งหลาย โปรดอย่าได้มาจับผิดให้เสียเวลา!

‘Inglourious Basterds’ คือชื่อของหนังเรื่องนั้น (ขนาดชื่อหนังยังจงใจสะกดผิด)

หนังเล่าเรื่องราวของตัวละครหลักสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือเรื่องราวของหน่วยปฏิบัติการพิเศษของฝ่ายสัมพันธมิตรที่ชื่อแก๊งโคตรแสบ (The Basterds) กับภารกิจตามล่าตามล้างตามเชือด (หนังหัว) นาซี และอีกส่วนคือเรื่องราวของ โชแชนน่า หญิงสาวที่รอดชีวิตจากการฆ่ายกครัวโดยพวกนาซี โดยเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในฝรั่งเศสยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่นาซีกำลังเรืองอำนาจ ซึ่งอีตาเควนติน ทารันติโน่ แกฉีกข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 เสียกระจุย และนำเสนอมันใหม่ในสไตล์อันยียวนกวนโอ้ยของเขาด้วยความที่มันเป็นหนังของคนบ้าหนังแบบเข้าเส้น ดังนั้น นอกจากจะหยิบเอาประวัติศาสตร์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองมา ยั่วล้อ รื้อสร้าง และยำใหญ่อย่างมันมือแล้ว ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพยนตร์เยอรมัน) ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ถูกนำมาอ้างอิง ล้อเลียน หรือแม้กระทั่งคารวะอย่างครื้นเครง โดยเรื่องราวเหล่านี้ถูกนำเสนออย่างแนบเนียนภายใต้สไตล์ โหด มัน ฮา แบบทารันติโน่ จนแม้แต่คนดูที่ไม่มีพื้นความรู้ทางประวัติศาสตร์ใดๆ เลย ก็สามารถดูหนังเรื่องนี้ได้อย่างสนุกสนาน (แต่ถ้ามีด้วยก็จะดูสนุกยิ่งกว่า)

นอกจากเลือด เนื้อ และความรุนแรงอันเป็นสไตล์เฉพาะตัวของทารันติโนแล้วอีกสิ่งหนึ่งที่เราจะได้พบ เห็น และสัมผัสในทุกๆ อณูของหนังเรื่องนี้ นั่นก็คือ หนัง หนัง และหนัง มันจึงไม่แปลกอะไรที่เราจะได้เห็น โชแชนน่า หญิงสาวที่รอดตายจากการสังหารหมู่ บังเอิญกลายมาเป็นเจ้าของโรงหนัง กับทหารหนุ่มหน้ามนที่มาติดพันเธอ ซึ่งนอกจากจะเป็นวีรบุรุษของชาติแล้ว เขายังบังเอิญเป็นพระเอกหนัง และผู้อำนวยการสร้างหนังเรื่องที่ว่านั้นดั๊นบังเอิญเป็นมือขวาของฮิตเลอร์ หรือนายทหารอดีตนักวิจารณ์หนังที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพเพื่อการปฏิบัติการลอบสังหารผู้นำนาซีในรอบปฐมทัศน์ของหนังเรื่องดังกล่าว ที่ดันล้มเหลวกลางทาง (สงสัยยังเชี่ยวชาญไม่พอ) และหนึ่งในแก๊งโคตรแสบ ที่เข้าไปปฏิบัติภารกิจลอบสังหารท่านผู้นำนาซีถึงในโรง แต่ (เสือก) ลืมหน้าที่ตัวเอง เพราะมัวแต่ดูหนังเรื่องนั้นจนเพลิน!(ฮา) และที่เด็ดที่สุด ราวกับจะเป็นสาสน์ส่งผ่านแห่งความรักต่อโลกเซลลูลอยด์ กับการเผาโรงหนังคลอกเหล่านาซี(ดวงจู๋) ที่มานั่งดูหนัง โดยมีฟิล์มภาพยนตร์เป็นเชื้อเพลิง!! และที่เด็ดยิ่งกว่านั้น ก็คือการกระหน่ำยิงท่านผู้นำพรรคนาซีตายคาที่ในโรงหนัง!!! (ซะงั้น!)

ดังคำกล่าวที่ว่า “ศิลปิน โกหกเพื่อเปิดเผยความจริง” บางที ความลวงก็อาจใช้เป็นเครื่องมือเปิดเผยความจริงได้เช่นกัน โดยเปลือกนอก หนังเรื่องนี้อาจดูเป็นหนังสงครามที่ทำขึ้นเพื่อเน้นความสะใจ ขายความรุนแรง เชิดชูอเมริกา ด่านาซี เหมือนหนังอเมริกันเรื่องอื่นๆ แต่โดยเนื้อแท้แล้วถ้าวิเคราะห์ให้ดีมันอาจแฝงไปด้วยการตั้งคำถามและเสียดเย้ยความคลั่งชาติ การเหยียดเผ่าพันธุ์ (ของทั้งเยอรมันและอเมริกัน) ความไร้สาระของสงคราม และความไร้แก่นสารของความรุนแรงก็เป็นได้

Inglourious Basterds อาจจะไม่ใช่ผลงานที่ดีที่สุด ของ เควนติน ทารันติโน่ แต่อย่างน้อยมันก็เป็นผลงานที่สรุปความเป็นตัวตนของเขาได้ชัดเจนที่สุดเรื่องหนึ่ง ในฐานะคนทำหนังที่เติบโตมาจากการเป็นคนดูหนังที่ลุ่มหลงและหลงรักในศิลปะภาพยนตร์อย่างสุดซึ้ง และทำหนังเพราะหนังและเพื่อ ‘หนัง’ อย่างแท้จริง

แถมท้าย
นอกจากความสนุกสนาน เหนือชั้น และคมคาย แล้ว มีอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่อาจละเลยที่จะกล่าวถึงได้ในหนังเรื่อง นี้ก็คือ การแสดงอันโดดเด้งของ คริสทอฟ วอลต์ซ ในบท พันเอก ฮันส์ ลันดา ผู้มีฉายา ‘นักล่ายิว’ ที่ร้ายกาจ ฉลาดเป็นกรด แถมยังเชี่ยวชาญหลายภาษา ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาเลียน และเยอรมัน (แหงดิ!) ที่เปี่ยมไปด้วยความน่ากลัวและน่าขบขันไปพร้อมๆ กัน จนแทบจะขโมยหนังไปได้ทั้งเรื่อง ส่งผลให้เขาได้รับรางวัลนักแสดงนำฝ่ายชายยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปีล่าสุด และยังทำให้เขามีสิทธิลุ้นรางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมในปีนี้อีกด้วย (ถ้าพี่เขาไม่ได้จะโกรธมาก!)

Fun Fact
หลายๆ คนอาจไม่ทราบว่า เทศกาลภาพยนตร์ที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในปัจจุบันอย่าง Venice Film Festival ก็เป็นผลิตผลชิ้นโบว์แดงอันหนึ่งของเผด็จการฟาสซิสต์และกลุ่มอักษะ (พันธมิตรทางการทหารที่ต่อสู้กับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สอง ประกอบด้วยสามประเทศหลัก คือ นาซีเยอรมัน ฟาสซิสต์อิตาลี และจักรวรรดิญี่ปุ่น) และเยอรมันในยุคสมัยนาซีเองก็อุดหนุนจนภาพยนตร์เติบโตจนเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศ ด้วยเหตุที่มันเป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อที่ทรงอานุภาพที่สุดอย่างหนึ่ง

ในช่วงวัยหนุ่ม อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ มีความใฝ่ฝันที่จะเป็นศิลปินและนักออกแบบ เขาเคยสมัครเข้าเรียนในสถาบัน Akademie der bildenden Künste Wien (Academy of Fine Arts Vienna) ในเวียนนา แต่กลับถูกปฏิเสธถึงสองครั้งสองครา และประสบความล้มเหลวในการพยายามที่จะเป็นศิลปินอาชีพ ก่อนที่จะหันไปเอาดีทางด้านการเมือง ลองคิดดูเล่นๆ ว่า ถ้าหากความพยายามครั้งนั้นของเขาสำเร็จ โลกเราอาจจะมีศิลปินที่ยิ่งใหญ่เพิ่มขึ้นอีกคน แทนที่จะเป็นเผด็จการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างที่เป็นอยู่ก็เป็นได้ ใครจะไปรู้


Create Date : 08 เมษายน 2553
Last Update : 8 เมษายน 2553 15:04:03 น. 2 comments
Counter : 876 Pageviews.  
 
 
 
 
ผมมีโอกาสได้ชม Triumph of the Will หนังในยุคนาซี ยอมรับเลยว่าสุดยอดจริง ๆ ใครได้ดูก็เห็นพ้องในการฉายภาพความยิ่งใหญ่ของพรรคนาซีออกมา
 
 

โดย: I will see U in the next life. วันที่: 8 เมษายน 2553 เวลา:15:43:15 น.  

 
 
 
น่าดูนะคะ


Good Day Comments

Click

 
 

โดย: Moon OF JulY วันที่: 8 เมษายน 2553 เวลา:19:16:38 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

panueddie
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add panueddie's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com