Healing home - healing at home
 
 

คุณรักความสะอาดมากเกินไปหรือเปล่า?



ใช้สำลีพันปลายไม้เช็ดหูอย่างบ้าคลั่ง, ไหมขัดฟันอย่างรุนแรง, ทำสารพัดกับรูจมูก - หนทางสู่อเวจีของพวกรักความสะอาดเกินควรอยู่ที่นี่แล้ว

เหมือนผู้ชายส่วนใหญ่ ผมเป็นคนรักความสะอาด การเอาสำลีพันปลายไม้สุดน่ารักเข้าไปปั่นในรูหูเป็นความสุขสุดยอดทางหูอย่างหนึ่ง แม้ว่าข้างกล่องมันจะเขียนว่า "อย่าใช้ในรูหู" ล้อเล่นป่าวเพ่?

หลังจากนั้นหูผมก็เริ่มติดเชื้อครั้งแรก "คุณใช้สำลีพันปลายไม้ปั่นหูใช่มั๊ย" หมอถามขณะใช้กล้องส่องรูหูอย่างกะรูหูเป็นรูโพรงประสาทฟัน ความจริงกลายเป็นว่าการที่ผมปั่นรูหูด้วยไม้พันสำลีทุก ๆ วันมันยิ่งทำให้ขี้หูเข้าไปลึกกว่าเดิม ไปอุดตันในรูหูซะอย่างงั้น พอผมทำหน้างง ๆ หมอก็ยิ้ม ตาหมอนี่ต้องเกลียดสำลีพันปลายไม้แน่ ๆ "ไม่ควร" หมอบอกต่อ "ใช้สำลีพันปลายไม้ไชเข้าไปลึกขนาดนี้"

โอ๊ย! แต่ผมหยุดไม่ได้ ผมก็เลยหาหมอคนอื่นที่แนะนำให้ทำความสะอาดรูหูด้วยสำลีพันปลายไม้ชุบไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ได้ ผมก็เลยใช้ไม้พันอันน้อยต่อไปอย่างมีความสุข แต่มันก็ยังเสี่ยงอยู่ ผมรู้ดี ต่อไปนี้เป็นข้อแนะนำว่าเมื่อไหร่อนามัยจะล่วงสู่การทำลายตัวเอง

เอามันออกไปจากหู

ไม้พันสำลีปั่นหูอาจทำให้เกิดการติดเชื้อหรือแย่กว่านั้นได้ "ถ้าใส่ลึกเกินไป อาจทำให้เยื่อแก้วหูทะละ" นพ.ทิโมธี ฮูล่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านโสต ศอ นาสิก ลาริงซ์วิทยา มหาวิทยาลัยวอชิงตันกล่าว คำแนะนำของหมอคือ ไม่ต้องทำอะไร "คุณไม่ต้องการทำความสะอาดหูหรอก" บางคนเท่านั้นที่จะมีปัญหากับขี้หูมากเกินไป ซึ่งจัดการได้โดยใช้ไฮโดนเจนเปอร์ออกไซด์ผสมกับน้ำ ครึ่งต่อครึ่ง หรือเบบี้ออยล์หยอด 2 - 3 ครั้งต่อสัปดาห์ "น้ำมันมะกอกก็ใช้ได้นะ" หมอฮูล่ากล่าว "แต่คุณก็จะมีกลิ่นเหมือนสลัดไปหน่อย"

อย่าไปยุ่งกับจมูกมากนักสิ



รู้หรือเปล่าว่ายาหยอดหรือยาพ่นจมูกเนี่ยมันติดได้นะ พยาบาลด้านภูมิแพ้ บอนนี ดูลี แห่ง อีสเทิร์นเวอร์จิเนีย เฉพาะทางด้านหูคอจมูกเคยเจอคนไข้ที่ต้องพ่นยาพ่นจมูกชนิดพ่นทุก 12 ชั่วโมง ทุกชั่วโมง การใช้ยาพ่นจมูกเกินขนาด ทำให้เยื่อบุโพรงจมูกบวมมากขึ้นกว่าเดิมซะอีก และทำให้คัดจมูกกว่าเดิม นอกจากนี้ยังทำให้ความดันโลหิตสูงจนเป็นอันตรายได้

ครั้งหน้าถ้าคัดจมูกมาก ๆ หละก็ ลองล้างจมูกด้วยน้ำเกลือสิ ร้านขายยาทั่วไปมีขายขวดสำหรับใส่น้ำเกลือล้างจมูกสะดวกดาย ไม่แพง น้ำเกลือช่วยให้เยื่อบุโพรงจมูกชุ่มชื้นไม่แห้ง ลดอาการคัดจมูกได้ ที่สำคัญไม่ติดอีกด้วย หรือจะใช้พวกยากินต้านฮิสตามีน (chlorphemiramine, loratadine, citirizine etc) หรือไอน้ำระเหยก็ช่วยให้น้ำจมูกเหลวลงได้

ตัดเล็บเท้าอย่างไร



ตัดเล็บเท้ามากเกินไป ทำให้เล็บที่งอกใหม่โค้งเข้าไปในเนื้อนิ้วเท้าได้ บางคนที่เป็นมาก ๆ อาจทำให้เกิดแผล กระดูกติดเชื้อ เท้าขาดเลือดเป็นแผลถึงกับต้องตัดนิ้วเท้าได้เลยนะ แม้แต่เป็นเล็บขบธรรมดา ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการ "เอาเล็บเท้าบางส่วนออกแล้วขี้รากเล็บเพื่อไม่ให้มันงอกเข้าไปอีก" เทรซี โทแบคบอก คำแนะนำคือ "อย่าใส่รองเท้าคับเกินไป ตัดเล็บเท้าให้ตรงเสมอ และอย่าตัดเล็บสั้นเกินไป หรือตัดเข้าไปในขอบเล็บเกินไป"

ฉลาดกับเรื่องฟันซะหน่อย



"การแปรงฟันไม่ได้ต้องใช้แรงอะไรมากหรอก" ทพ. โรนัลด์ โกลด์สไตน์ ผู้เขียน Change your smile กล่าว เขาเคยรักษาคนไข้ซึ่งแปรงฟันซธจนเคลือบฟันหลุดไปหมดและทำให้เหงือกร่น และถ้ายังแปรงอย่างรุนแรงต่อไปเรื่อย ๆ ก็จะทำให้ชั้น cementum ซึ่งคลุมโพรงประสาทฟันอยู่หลุด และเกิดอาการเสียวฟัน ฟันผุและฟันผิดรูปได้

แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าเราแปรงฟันรุนแรงเกินไป? ดูที่แปรงสีฟันสิ ถ้าแปรงใหม่ใช้แค่เดือนสองเดือนก็เยินแล้วแสดงว่าคุณแปรงรุนแรงเกินไป "ถ้าคุณแปรงฟันได้ถูกต้องหละก็" หมอโกลด์สไตน์บอก "แปรงสีฟันของคุณจะสวยงามเหมือนตอนซื้อมาใหม่อย่างน้อย 6 เดือน" เขาเสริมอีกว่า "ปรึกษากับทันตแพทย์เพื่อความมั่นใจว่าคุณแปรงฟันได้ถูกต้องแล้ว"

อีกอย่างก็คือ การใช้ไหมขัดฟัน มันดีต่อสุขภาพ แต่ถ้าทำรุนแรงไปก็มีผลต่อเหงือกได้ "คนส่วนใหญ่มักขัดไหมขัดฟันลงไปบนเหงือกด้วย" หมอโกลด์สไตน์บอก การเอาไหมขัดฟันไถลงไปบนเหงือกที่นุ่มทำให้เหงือกร่นได้ แค่ค่อย ๆ ปัดลงไปบนเหงือกเบา ๆ แล้วถูไถขึ้นลงระหว่างซอกฟันก็พอ

อนามัยลึกแค่ผิวหนัง



การสำรวจในปี 2005 พบว่า ผู้ชาย 37 % ไม่ล้างมือหลังเข้าห้องน้ำ สยองเนอะ แต่ว่าก็มีบางคนที่ล้างมือไม่หยุด ! "พวกเขาล้างแล้วล้างอีกจนมั่นใจว่ามือสะอาด" จูเลียน โอมิดี แพทย์ผิวหนังจากแคลิฟอเนียกล่าว "นั่นมันทำร้ายผิวชั้นนอก ทำให้ผิวหนังหนาและคล้ำ ปลายประสาทที่ผิวหนังระคายเคือง ซึ่งทำให้คันและเกาเป็นวงจรอุบาทว์"

ล้างหน้ามากเกินไปทำให้สิวเห่อระเบิดได้เช่นกัน เนื่องจากสบู่จะล้างเอาไขมันตามธรรมชาติออกไป ซึ่งไปกระตุ้นต่อมไขมันทำงานมากผิดปกติ รูขุมขนอุดตัน เป็นสิวในที่สุด

จำไว้ว่า แม้ว่าคุณจะอาบน้ำอาทิตย์ละครั้งคุณก็ยังแข็งแรงดี ถ้าคุณขัดผิวคุณก็ระวังอย่าใช้สบู่ที่แรงมาก "ลองใช้สกินแคร์ที่ปราศจากแอลกอฮอล์สิ" คุณหมอโอมิดิกล่าว "ใช้สบู่อ่อน ๆ และล้างหน้าไม่เกินวันละ 2 ครั้ง"

คุณไม่จำเป็นต้องขัดผิวอย่างรุนแรง เพราะการผลัดผิวมันเกิดขึ้นอยู่เองตลอดเวลา กว่าคุณจะหายใจเข้าอีกครั้งเซลล์ผิวหนังบกว่าพันเซลล์ก็หลุดออกไปจากตัวคุณแล้วหละ การขัดผิวด้วยสครับ หรือใยบวบทำให้กระบวนการนี้เกิดเร็วขึ้น แต่ถ้าทำรุนแรงก็อาจทำให้ผิวชั้นนอกถลอกได้ ไม่ควรขัดผิวเกิน 2 - 3 ครั้งต่อสัปดาห์

และที่สุด สกปรกสุด ๆ

การสวนกาแฟล้างลำไส้ใหญ่ (detox) อาจทำให้คุณรู้สึกสดชื่น แต่บริเวณนั้นไม่ได้ต้องการความสะอาดอะไรมากมายนักหรอก

อาการคันรอบทวาร หรือเรียกอีกอย่างว่า pruritus อาจเกิดจากไม่รักษาอนามัย อย่างเช่น มีอึตกค้างอยู่รอบ ๆ ทวารหนัก แต่มันก็อาจเกิดจากการที่เราทำความสะอาดมันมากเกินไปได้ อย่างใช้กระดาษชำระถูไถจนรู้สึกแสบ หรือล้างมากเกินไป ทวารหนักมีต่อมไขมันธรรมชาติที่ป้องกันการระคายเคือง อย่าไปล้างมันออกซะหมด

แล้วก็บริเวณด้านหน้าก็เช่นเดียวกัน "การขัดบริเวณหัวหน่าวอาจทำให้เกิดขนคุด และอักเสบเป็นตุ่มหนองได้" คุณหมอ จี บิโน รักเกอร์ กล่าว คุณล้างมันอย่างระมัดระวังก็พอแล้วละนะ

ที่มา Men's health magazine April 2006 by Kevin Cook




 

Create Date : 25 เมษายน 2549   
Last Update : 25 เมษายน 2549 11:56:08 น.   
Counter : 829 Pageviews.  


ถั่วต่าง ๆ ช่วยลดโคเลสเตอรอลได้

ปัจจุบัน โคเลสเตอรอลสูงในเลือดเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับต้น ๆ ของประชากรทั่วโลก แต่การระมัดระวัง และรู้ตัวว่าตัวเองมีโคเลสเตอรอลในเลือดสูงเกินไปของคนไทยยังน้อยมาก ๆ ครับ ปัจจัยเสี่ยงทั้งหลาย เช่น การรับประทานอาหารโคเลสเตอรอลสูง พวก ไข่แดง, เครื่องในสัตว์, กะทิ (โคเลสเตอรอลไม่มีแต่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูงปรี๊ด ซึ่งเปลี่ยนไปเป็นโคเลสเตอรอลอีกที) เนื้อสัตว์ติดมัน สารพัด รวมทั้งคนที่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ยิ่งทำให้โคเลสเตอรอลไม่ยอมลง...

การรักษาโคเลสเตอรอลในเลือดสูง นอกจากการควบคุมพฤติกรรมเกินห้ามใจทั้งหลายแล้ว ถ้ายังไม่ยอมลงคุณหมอก็อาจให้ยาลดโคเลสเตอรอลในเลือดเพิ่มเติม เช่น ยากลุ่ม HMG CoA reductase inhibitor คือยาพวกที่ลงท้ายด้วย -statin ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น simvastatin, atorvastatin , อีกกลุ่มก็เป็นกลุ่ม niacin ซึ่งกำลังจะนำเข้ามาในประเทศเร็ว ๆ นี้

นอกจากนี้ ถั่วทั้งหลายนั้นล้วนเป็นยาลดโคเลสเตอรอลตามธรรมชาติ (natural statin) มีการวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้จากประเทศอัฟริกาใต้ ว่าถั่วต่าง ๆ จะสามารถลดปริมาณ LDL cholesterol (โคเลสเตอรอลตัวป่วน - ไม่ดี) ได้อย่างไร โดยคณะวิจัยให้กลุ่มทดลองบริโภคถั่วเหล่านี้วันละ หนึ่งกำใหญ่ ๆ (1.5 ออนซ์) เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ผลปรากฎว่า


ถั่วลิสง ลดได้ 6.4 %

ถั่ววอลนัท ลดได้ 7.5 %


อัลมอนด์ ลดได้ 7.8 %

ถั่วพีแคน ลดได้ 13.4 %

เห็นไหมครับว่า ของอร่อยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพยังมีอยู่




 

Create Date : 31 มกราคม 2549   
Last Update : 31 มกราคม 2549 13:47:49 น.   
Counter : 803 Pageviews.  


แพทยสภายังธำรงความยุติธรรมอยู่หรือ - ข้อแนะนำแก่ประชาชนทั่วไปในกรณีที่ไม่พอใจในการรักษาของแพทย์



วันก่อนได้ชมรายการถึงลูกถึงคนเรื่องเกี่ยวกับการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย (doctor-patient relationship) ที่คุณสรยุทธได้เชิญ อ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา, อ.ประสบศรี อึ้งถาวร, และอาจารย์อีกท่านจำชื่อไม่ได้ แม้จะรู้สึกตะขิดตะขวงใจเกี่ยวกับเรื่องมารยาทของพิธีกรอยู่บ้างแต่ก็คิดว่าประชาชนทั่วไปคงได้ประโยชน์และมีการกระเพื่อมของคลื่นสังคมบ้าง

วันก่อนได้รับวารสารวงการแพทย์ อ่านไปพบบทความของ พญ. สุรัญญา บรรจงภาค ซึ่งท่านเป็นอดีตกรรมการแพทยสภา และประชาสัมพันธ์ชมรมแพทย์เพื่อวิชาชีพแพทย์ ได้เขียนเกี่ยวกับวิธีการพิจารณาคดีของคณะอนุกรรมการจริยธรรมของแพทยสภาเอาไว้ได้น่าสนใจมาก จึงได้ขออนุญาตินำเฉพาะหัวข้อที่น่าสนใจสำหรับประชาชนมาให้ชาว bloggang ได้อ่านกันครับ เผื่อจะได้ประโยชน์ในการสร้างสรรค์วงการสาธารณสุขกันบ้าง



แนวทางแก้ไขถ้าประชาชนคิดว่าไม่ได้รับความยุติธรรมเพียงพอ

1. ขอนำทนายความ หรือตัวแทนเข้าไปให้รายละเอียดเพิ่มเติมในขั้นตอนของคณะอนุกรรมการจริยธรรมและคณะอนุกรรมการสอบสวนได้

2. ถ้าผลตัดสินถึงที่สุดแล้ว สามารถขอคำชี้แจงจากแพทยสภาได้

3. ไม่พอใจกับการตัดสิน ร้องเรียนไปยังศาลปกครอง ศาลแพ่ง หรือศาลอาญา กรณีนี้อยากให้ประชาชนกรุณาทบทวนให้ดี ๆ อีกครั้ง เพราะสร้างผลกระทบกระเทือนต่อความมุ่งมั่น และความตั้งใจของแพทย์ที่ดีทั้งหลายจะรู้สึกหวาดกลัวไม่กล้าให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยที่ยุ่งยาก ซับซ้อน และมีโรครุนแรง ผลเสียก็จะย้อนกลับมายังตัวผู้ป่วยเอง ผลที่ตามมาอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น ถ้าตกลงทำความเข้าใจประนีประนอมน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า




ข้อแนะนำแก่ประชาชนทั่วไปในกรณีไม่พอใจในการรักษาของแพทย์

1. ถ้ากรณีแพทย์เป็นข้าราชการ หากจะฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน ท่านต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่ตัวแพทย์

2. กรณ๊ผู้ป่วยรับการรักษาในโครงการหลักประกันสุขภาพ (30 บาทรักษาทุกโรค) ถ้าต้องการเงิน หรือค่าชดเชยในกรณีการรักษาที่มีผลแทรกซ้อนเกิดความเสียหาย ให้ร้องเรียนต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสาขาจังหวัดนั้น ๆ ถ้าฟ้องแพทยสภาจะไม่ได้รับค่าตอบแทนหรือค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น แต่จะเป็นการตรวจสอบจริยธรรมของแพทย์

3. ถ้าคาดหวังให้มีการพัฒนาในวงการแพทย์ โดยไม่ต้องการเรียกร้องเงินทอง ขั้นตอนที่ควรทำคือ

3.1 คุยกับแพทย์ที่ดูแลโดยตรง อย่าคุยกับพยาบาล เจ้าหน้าที่เพียงอย่างเดียว ถ้าสงสัยพาญาติที่เข้าใจมาพูดคุยสอบถาม

3.2 ถ้าไม่ได้รับความกระจ่าง ขั้นต่อไปคือ เข้าพบผู้อำนวยการคุยสอบถามให้เข้าใจ

3.3 ถ้ายังไม่มั่นใจอีก ร้องเรียนไปยังแพทยสภา ให้ข้อมูลแก่แพทยสภาอย่างตรงไปตรงมา


เพื่อเป็นการจรรโลงให้วงการแพทย์รับใช้ประชาชนอย่างมีคุณภาพด้วยความเอื้ออาทรต่อกัน และเพื่อให้วงการแพทย์พัฒนาคุณภาพเพื่อสังคมในอนาคตอันยาวนานต่อไป แพทย์และประชาชนควรช่วยกันเสริมสร้างระบบที่ดี และมีการตรวจสอบในแนวทางที่เหมาะสม อย่าก่อให้เกิดความหวามดกลัววิตกกังวลขึ้นในบุคลากรสาธารณสุข จะทำให้การบริการรักษาพยาบาลบิดเบือน เป้าหมายที่ถูกต้องทางการแพทย์ไป แต่จะมีการปฏิบัติเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นการป้องกันตนเอง เพื่อให้ผู้ป่วย - ญาติผู้ป่วยพึงพอใจโดยไร้ซึ่งเหตุผลอันควรเพียงเพื่อลดปัญหาฟ้องร้องและร้องเรียน อาจนำมาซึ่งความเสียหายต่อประเทศชาติโดยรวมได้




 

Create Date : 25 มกราคม 2549   
Last Update : 25 มกราคม 2549 13:19:09 น.   
Counter : 312 Pageviews.  


ผลกระทบของการฟ้องร้องแพทย์ต่อสุขภาพของประชาชน

ปัจจุบันความตระหนักในการรักษาพยาบาลมีมากขึ้น การเข้าถึงการรักษาของประชาชนทำได้ง่ายขึ้น (ด้วยระบบ 30 บาท, ประกันสังคม ฯลฯ) ความคาดหวังของประชาชนมากขึ้น (บางครั้งอาจมากเกินความเป็นจริง) ทำให้มีการฟ้องร้อง ร้องเรียนบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น แต่การกระทำเหล่านั้นอาจส่งผลกระทบที่ใหญ่หลวงมากขึ้นก็ได้นะครับ

บทความต่อไปนี้เป็นของ ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา (อีกครั้ง) นะครับ ผมไปอ่านเจอแล้วพบว่ามีประโยชน์มาก จึงนำมาให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกันครับ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีต่อบุคลากรสาธารณสุขมากขึ้น ไม่ได้ออกมาปกป้องพวกพ้อง หรือบิดเบือนความจริงใด ๆ ทั้งสิ้น

ในช่วงสองปีเศษที่ผ่านมามีคดีที่ผู้ป่วยฟ้องร้องกระทรวงสาธารณสุขอยู่ 30 คดี ศาลชั้นต้นตัดสินแล้วสองคดี ปรากฎว่ากระทรวงสาธารณสุขแพ้แล้วทั้งสองคดี ขณะที่ในสหรัฐอเมริกาแพทย์แพ้เพียงร้อยละ 6 เท่านั้น ที่น่าสนใจคือทั้งสองคดีแพทยสภาตัดสินโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกว่า 40 ท่านมีความเห็นว่าแพทย์ไม่ผิด

ในรายแรกผู้ป่วยแพ้ยาลดไข้ที่ไม่เคยแพ้มาก่อน แพทยสภามีความเห็นว่าถ้าผู้ป่วยเคยแพ้ยาตัวนี้มาก่อนแล้วแพทย์ยังให้ถือว่ามีความผิด ถ้าผู้ป่วยไม่เคยแพ้มาก่อน ผู้ป่วยและแพทย์ต่างก็ไม่รู้มาก่อน ถ้าเกิดแพ้ขึ้นถือว่าเป็นเรื่องสุดวิสัย ส่วนเรื่องการวินิจฉัยในวันแรกความจริงบอกไม่ได้ว่าจะมีอาการรุนแรงหรือไม่ เมื่อผ่านไปแล้วสองสามวันอาการจึงจะชัด ส่วนเรื่องการรักษาก็ยังไม่มีการสรุปว่าการให้ dexamethazone (ยา steroid ชนิดหนึ่ง) มีประโยชน์หรือมีโทษ การสรุปว่าไม่ให้ dexamethazone ถือเป็นความผิดยังไม่เป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ แพทยสภามีความเห็นว่าการรักษาของแพทย์นั้นยอมรับได้ไม่ผิดมาตรฐาน

อีกรายหนึ่งแพทย์ที่โรงพยาบาลชุมชนผ่าตัดไส้ติ่งโดยการฉีดยาชาเข้าไขสันหลังเพื่อให้ส่วนต่ำกว่าสะดือลงมามีอาการชา ในปัจจุบันทราบดีว่าการให้ยาชาโดยวิธีนี้ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และฝรั่งเศส พบว่ามีโอกาสที่จะทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ประมาณ 1 ใน 2000 หรือสูงกว่านั้น การจะช่วยเหลือได้จะต้องมีเจ้าหน้าที่พร้อม ต้องมีเครื่องตรวจคลื่นหัวใจ วัดความดันโลหิต และวัดออกซิเจนในเลือดได้ตลอดเวลา ถ้าหัวใจเต้นช้าลงต้องรีบแก้ไขทันที เพราะถ้าหัวใจหยุดเต้นแล้วแก้ไขยาก ในโรงพยาบาลชุมชนไมท่มีวิสัญญีแพทย์ ไม่มีเครื่องบมือที่ทันสมัย แพทย์ต้องทำหน้าที่ให้ยาาและผ่าตัดด้วย แพทย์เคยผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบหายกว่าร้อยรายโดยไม่มีรางวัล ผู้ป่วยที่รอดชีวิตหารายได้ก็ไม่เคยเอารายได้มาแบ่งให้แพทย์ แต่ถ้าแพทย์โชคร้ายมาพบผู้ป่วยที่มีปัญหาเข้า แพทย์เพียงหนึ่งหรือสองคนไม่มีทางช่วยผู้ป่วยในสถานการณ์เช่นนั้นได้ แพทยสภามีความเห็นว่าแพทย์ได้ทำอย่างดีที่สุดในสถานการณ์เช่นนั้น ไม่ถือว่าเป็นความผิด ถ้าแพทย์ทำอย่างดีที่สุดแล้วแต่ผลการรักษาไม่ดีจนกลายเป็นความผิด ต่อไปจะไม่มีใครยอมรักษาผู้ป่วยอีก

ผลจากการตัดสินของศาลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการแพทย์อย่างมาก การเปลี่ยนแปลงนี้จะกระทบมาสู่ผู้ป่วยอย่างไม่ต้องสงสัย ห้องผ่าตัดในโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็กจะต้องปิดหมดเพราะไม่มีวิสัญญีแพทย์ เครื่องมือไม่พร้อม ไม่มีธนาคารเลือด ถ้าผ่าตัดช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ไม่มีรางวัล แต่ถ้าผลไม่ดีถูกฟ้อง แพทย์หมดกำลั้งใจส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลใหญ่ดีกว่า ไม่ต้องรับผิดชอบ ส่วนโรงพยาบาลใหญ่ก็จะมีผู้ป่วยหนักเข้ามามากทำให้งานหนั้กขึ้น เวลาดูแลผู้ป่วยและเวลาพักผ่อนน้อยลง รายได้เท่าเดิมเลยตัดสินใจลาอก ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลใหญ่ที่ไม่มีแพทย์ดูแล แพทย์ออกไปอยู่ภาคเอกชนงานน้อยกว่า รายได้มากกว่า มีเวลาดูแลผู้ป่วยมากกว่า สามารถส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยเครื่องมือทันสมัยโดยไม่ต้องกังวลเนื่องจากผู้ป่วยต้องจ่าย ถ้าผู้ป่วยไม่มีเงินสำหรับการตรวจ แพทย์ก็จะบันทึกไว้ว่าได้แนะนำแล้วแต่ผู้ป่วยปฏิเสธ ส่วนโรงพยาบาลรัฐถ้าแนะนำมากโรงพยาบาลต้องจ่ายเอง ไม่กล้าตรวจทางห้องปฏิบัติการมาก เมื่อไม่ตรวจก็มีโอกาสผิดพลาดจนถูกฟ้องร้องได้ การรักษาโรคที่มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนสูงก็ไม่มีใครอยากรักษา ถ้ารักษาหายก็เสมอตัว เช่น ผ่าตัดที่กระดูกต้นคอ ถ้าพลาดเพียงเล็กน้อยอาจทำให้เป็นอัมพาตได้ ในสมัยก่อนแพทย์หวังดีพยายามพูดจูงใจให้ผู้ป่วยทำการผ่าตัด แต่ในปัจจุบันแพทย์จะพยายามอธิบาายถึงโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ถ้าผู้ป่วยแสดงความลังเลแพทย์จะให้ผู้ป่วยเซ็นไม่ยินยอมทันที แพทย์ไม่ต้องมาเหนื่อยและกังวลเรื่องผลการผ่าตัด แพทย์ไปนอนพักผ่อนได้สบาย ในสมัยก่อนเวลามีผู้ป่วยหนักนห้องฉุกเฉินแพทย์ที่เดินผ่านมาจะวิ่งเข้าไปช่วยแต่ระยะหลังไม่มีใครอยากเข้าไปช่วยเพราะกลัวว่าจะติดร่งาแหถ้าผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้น ไม่มีใครอยากแกว่งเท้าไปหาเสี้ยน คนเรียนเก่งเริ่มไปเรียนวิชาอื่น ไม่อยากเรียนแพทย์เหมือนในอดีต จำนวนคนเข้าเรียนเหมือนเดิมแต่คุณภาพต่ำลง รัฐบาลอากได้แพทย์ทั่วไปรักษาได้ทุกโรค แต่เวลาเกิดการฟ้องร้องกลับหาว่าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญรักษาไม่ได้มาตรฐาน แพทย์จบใหม่ก็ต้องเรียนให้เป็นผู้เชี่ยวชาญที่สุด ดูผู้ป่วยหลังสุดเพราะจะปลอดภัยจากการฟ้องร้องมากที่สุด ในอดีตบริษัทยาประกาศรับสมัครแพทย์มาดูเรื่องการวิจัยแล้วไม่มีใครสมัคร แต่ปัจจุบันมีแพทย์สมัครเป็นร้อยเพราะทุกคนต้องการหนีจากการดูแลรักษาผู้ป่วย เวลาแพทยสภาเรียกแพทย์จบใหม่ที่ถูกร้องเรี่ยนมาสอบสวน ปรากฎว่าเขาไม่สนใจว่าจะลงโทษอย่างไรเพราะเขาได้เปี่ยนวิชาชีพไปทำธุรกิจแล้ว ผู้ป่วยเรียกร้องค่าเสียหายหลายสิบล้านชนิดที่แพทย์ขายบ้าน ขายรถ เอาลูกออกจากโรงเรียนและทำงานอีกยี่สิบปียังไม่พอจ่าย หลายคนคิดว่าทำงานมาหลายสิบปีถ้าถูกฟ้องร้องครั้งเดียวเงินที่เก็บไว้จุหมดทันที คิดแล้วไม่คุ้มที่จะเป็นแพทย์ต่อไป เมื่อผู้ป่วยเรียกร้องค่าเสียหายมาก แพทย์อาจต้องมีการทำประกันค่าเบี้ยประกันจะสูงขึ้นทุกปี่จนไม่คุ้มที่จะทำงาน เช่น ในสหรัฐอเมริกา เบี้ยประกันของสูติแพทย์สูงถึงปีละแปดล้านบาท แพทย์หลายคนย้ายไปจนบางรัฐไม่มีสูติแพทย์ เบี้ยประกันนี้แพทย์ก็ต้องผลักภาระไปให้ผู้ป่วย การรักษาพยาบาลก็จะแพงขึ้นไปอีก แม้ใช้กองทุนของรัฐบาลถ้าจ่ายให้ผู้เสียหายมาก เงินที่จะนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยรายอื่นก็จะน้อยลงเพราะเป็นกองทุนเดียวกัน

ในประเทศไทยมีการฟ้องร้องแพทย์ในคดีอาญาจากการรักษาพยาบาล คงมีอยู่ไม่กี่ประเทศในโลกที่ทำเช่นนี้ ในประเทศที่พัฒนาแล้วเขาถือว่าแพทย์ไม่มีเจตนาทำร้ายหรือฆ่าผู้ป่วย จะฟ้องเป็นคดีอาญาไม่ได้ ในประเทศไทยถ้ารักษาแล้วตายผู้ป่วยแจ้งจับแพทย์ แม้ผู้พิพากษาจะกล่าวว่าไม่มีผู้พิพากษาคนใดจะจับแพทย์เข้าคุกจากการให้การรักษาผู้ป่วย แต่คดีอาญานั้นเป็นคดีส่วนตัว รัฐบาลไม่ช่วยแพทย์ต้องไปจ้างทนายเอง เสียเงิน เสียเวลา และเสียกำลังใจ ไม่มีแพทย์คนใดอยากดูผู้ป่วยหนักที่มีความเสี่ยงสูง หัตถการที่มีความเสี่ยงสูงจะไม่มีใครยอมทำ ถ้าไม่มีการแก้ไขโดยเร็ว ผู้ป่วยหนักจะไม่มีใครให้การรักษา ผู้ป่วยจะถูกส่งต่อไปรอคิวที่โรงพยาบาลใหญ่ แพทย์จะลาออกจากภาครัฐมากขึ้น คุณภาพของแพทย์จะลดลงเพราะคนเรียนดีไม่ยอมเรียนแพทย์ ค่ารักษาพยาบาลจะแพงขึ้น แพทย์จะทำการรักษาแบบป้องกันตนเองมากขึ้น เราจะแก้ไขได้อย่างไร

1. ต้องออกกฎหมายห้ามฟ้องร้องแพทย์เป็นคดีอาญาจากการรักษาพยาบาลเช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

2. ต้องมีเพดานการเรียกค่าเสียหาย ห้ามเกินรายได้ของแพทย์หนึ่งปี หรือห้ามเกินร้อยเท่าของค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น

3. มีที่ปรึกษาทางกฎหมายหรือทนายให้แพทย์เวลาเกิดการฟ้องร้องทางการแพทย์

4. จัดระบบการต่อสู้ในศาลของกระทรวงสาธารณสุขใหม่ ที่ผ่านมาไม่มีคนรับผิดชอบ

5. โรงพยาบาลจะต้องมีทีมงานดูแลเรื่องความเสี่ยงที่เข้าไปช่วยแพทย์ตั้งแต่ต้น

6. ต้องให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยนโดยคนที่เป็นกลางก่อน ไม่ใช่ผู้คุ้มครองผู้บริโภคที่ไม่เป็นกลาง

7. มีองค์กรของรัฐรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดเหมือนในอังกฤษโดยไม่มีการไล่เบี้ยในภาคเอกชนก็ต้องให้หน่วยงานใหญ่รับผิดชอบ

8. มีองค์กรหรือมูลนิธิรับผิดชอบช่วยเหลือผู้ป้วยที่ได้รับความเดือดร้อนจริงโดยที่แพทย์ไม่ผิด

9. ศาลจะต้องฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเป็นองค์คณะ ไม่ใช่แพทย์หนึ่งหรือสองคนที่ไม่เคยรักษาผู้ป่วย ถ้าไม่มีการคุ้มครองแพทย์ ระบบสาธารณสุขจะล่มทั้งระบบ

ชักจะสาระเยอะไปหน่อยละ เดี๋ยวคราวหน้าจะเอาสูตร aromatherapy มาฝากกันนะครับ




 

Create Date : 11 มกราคม 2549   
Last Update : 11 มกราคม 2549 15:33:34 น.   
Counter : 1012 Pageviews.  


สาส์นจากนายกแพทยสภาถึงสมาชิก (ไม่ได้เป็นหมอก็อ่านได้นะครับ จะได้เข้าใจแพทย์มากขึ้น)

ข้อความเหล่านี้ เป็นข้อความของ ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภานะครับ ถ้าคำไหนมันเป็นศัพท์เฉพาะจะแปลในวงเล็บไว้ให้ ที่เอามาให้เพื่อน ๆ อ่าน หวังว่าจะได้เข้าใจในแง่วิชาการทางการแพทย์มากขึ้น เพราะบางครั้งสื่อรวมทั้งผู้บริหารที่ไม่เข้าใจการทำงาน ทำให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อน (เน้นอีกครั้งไม่ได้ออกมาปกป้องพวกเดียวกันนะครับ อ.สมศักดิ์มีความเห็นเป็นกลางที่สุดแล้ว)


สวัสดีปีใหม่สมาชิกแพทยสภาทุกท่าน

ในช่วงส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่มีข่าวเกี่ยวกับแพทย์ในสื่อบ่อยมาก สมาชิกส่วนใหญ่ไม่ทราบรายละเอียด ผมจะขอสรุปข้อเท็จจริงไห้ทราบ

เรื่องที่ 1 เด็กอายุหนึ่งเดือนฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี เข็มที่สองเมื่ออายุ หนึ่งเดือนเมื่อตอนเย็นแล้วพบว่าเสียชีวิตตอนเช้าวันรุ่งขึ้นขณะที่นอนอยู่ รัฐมนตรีสั่งปิดคลีนิก แต่เมื่อตรวจแล้วคลินิกทำถูกต้องตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล ถ้าสั่งปิดไม่มีกฎหมายรองรับ กระทรวงอาจถูกฟ้องศาลปกครอง เลยได้ขอร้องให้แพทย์ช่วยปิดคลินิกเองชั่วคราวเพื่อไม่ให้บางคนเสียหน้า ปัจจุบันเปิดทำการปรกติแล้ว

ข้อเท็จจริง วัคซีนที่ใช้ฉีดให้เด็กคนนั้นได้ฉีดให้กับเด็กสองคน อีกคนปรกติไม่มีปัญหา ผลการตรวจศพพบว่าไม่เกี่ยวกับวัคซีน เด็กตายด้วยโรค Sudden Infant Death Syndrome (SIDS) หรือ Sudden Unexpected Death in Infancy (SUDI) ตรงตำแหน่งที่ฉีดวัคซีนไม่มีอาการบวมหรือแม้แต่เลือดออก โรคSIDS นี้พบในเด็กอายุ 1 เดือน ถึง 1 ปี แต่ทีพบบ่อยสุดคืออายุ 1 ถึง 4 เดือน ซึ่งเป็นอายุที่เด็กเริ่มฉีดวัคซีนพอดี ถ้าบังเอิญเกิดหลังวันที่ไปพบแพทย์ผู้ป่วยก็จะโทษแพทย์ทันที Institute of Medicine ของสหรัฐได้ทำการศึกษาอย่างละเอียดและได้ตีพิมพ์หนังสือ เรื่อง Immunization Safety Review: Vaccinations and Sudden Unexpected Death in Infancy ในปี พ.ศ. 2546 สรุปว่าไม่เกี่ยวกัน ในสหรัฐฯเคยพบโรคSIDS นี้ประมาณ 5000-6000 ตนต่อปี ปัจจุบันได้แนะนำให้เด็กนอนหงาย ไม่ให้นอนคว่ำ พบว่าอุบัติการณ์ลดลงเหลือ 2200 คนต่อปี

เรื่องที่ 2 เด็กอายุ 1 ปี 9 เดือน มีไข้มาสองวันมารดาซื้อยาลดไข้ให้กินเองอาการไม่ดีขึ้น จึงไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลของรัฐในตอนเช้า เวลา 8.51 น. ผู้ป่วยมีไข้สูง พยาบาลได้ให้ยาลดไข้และเช็ดตัวให้ แพทย์ได้ให้ amoxy-clavulanic acid, benadryl expectorant และ paracetamol

ในตอนเย็นเวลา 17.19 น. มารดาได้พาเด็กกลับไปตรวจที่โรงพยาบาลซ้ำเนื่องจากไข้ยังไม่ลดพบแพทย์คนที่ส อง แพทย์ตรวจไม่พบสิ่งผิดปรกตินอกจากไข้สูงและมี small VSD (ventricular septal defect หรือผนังกั้นห้องหัวใจห้องล่างรั่ว) ผู้ป่วยรู้สึกตัวดี ไม่มีภาวะขาดน้ำ ไม่มีอาการชัก ไม่มีอาการหอบ แพทย์ได้ตรวจเลือด พบ wbc 7300 เกล็ดเลือด 297,000 cu.mm ลักษณะเหมือนการติดเชื้อไวรัส เนื่องจากผู้ป่วยมีบ้านอยู่ใกล้โรงพยาบาล แพทย์จึงให้ยาแก้อาเจียนและให้กินยาต่อและแนะนำให้กลับมาใหม่ถ้าอาการไม่ดีข ึ้น

หลังจากที่แพทย์ตรวจแล้วขณะที่รอยาผู้ป่วยมีอาการตาเหลือก ศรีษะและลำตัวแอ่นจากอาการชัก แต่มารดาเข้าใจว่าเป็นอาการตกใจ เลยไม่ได้เอากลับไปให้แพทย์ดูซ้ำ ถ้าแพทย์ทราบว่าชักแล้วไม่รับไว้ในโรงพยาบาลน่าจะเป็นความผิดของแพทย์ แต่มารดาผู้ป่วยไม่ได้แจ้งแพทย์แถมนำเด็กกลับไปบ้าน ไปชักต่อที่บ้านโดยไม่ทราบว่าบุตรชัก มารดาเข้าใจผิดว่าอาการชักคืออาการหมดสติ บิดาเด็กมาพบตอนค่ำพบเด็กมีอาการเกร็งมากจึงนำไปโรงพยาบาลเอกชน ได้รับยากันชัก

ต่อมาผู้ป่วยหยุดหายใจ ทำ CT scan (เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง) พบสมองบวมทั่วไป ผู้ป่วยมีอาการเลวลงอย่างรวดเร็ว จนถึงอาการสมองตายในเวลา 72 ชั่วโมง ระหว่างที่อยู่โรงพยาบาลเอกชน ผลการเพาะแบคทีเรียไม่พบเชื้อ ผู้ป่วยมี ไข้สูง อาการซึม ชัก hypotonia, hyperglycemia และ มี supraventricular tachycardia มี heart rate ขึ้นไปถึง 230/นาที เป็นระยะๆ มีอาการหอบอาการทีกล่าวมานี้ เป็นอาการของ brain stem encephalitis (ก้านสมองอักเสบ)ที่พบใน enterovirus 71 ผลการตรวจศพพบมีสมองบวมมาก แพทย์นิติเวชโรงพยาบาลตำรวจไม่ได้ตรวจ brain stem เนื่องจากสมองส่วนนั้น เละแล้ว และไม่ได้ส่งไปทำ PCR หา enterovirus โรคนี้มีรายงานในไต้หวัน มาเลเซีย และสิงคโปร ส่วนประเทศไทยก็เคยพบแต่ไม่ได้ครวจหาเชื้อไวรัส

เรื่องที่สาม ผู้ป่วยอายุ 35 ปีมีบุตรตายในครรภ์ ญาติต้องการให้ผ่าเอาเด็กออก อย่างที่ทราบกันดีในวงการแพทย์ว่าร้อยละ 80 ของเด็กที่ตายจะคลอดออกมาเองในเวลา 2 สัปดาห์ ถ้าปากมดลูกเปิดก็ให้ยากระตุ้นมดลูกให้คลอดได้ ส่วนเรื่องผ่าคลอดโดยทั่วไปเราเอาเป็นหนทางสุดท้าย ในรายนี้ขณะที่กระตุ้นให้เกิดการคลอดผู้ป่วยเกิดอาการของ amniotic emboli (น้ำคร่ำเข้าสู่กระแสเลือด แล้วไปอุดตามเส้นเลือดในที่ต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ปอด สมอง) เสียชีวิตปุบปับ

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ มารดาอายุเกิน 30 ปี มีเด็กตายในครรถ์ มดลูกบีบตัวแรง ผลการตรวจศพ พบว่ามีเลือดออกที่สมองซีกซ้าย มีเลือดออกบริเวณผิวตับจำนวนมากและมีเลือดในช่องท้องประมาณ 2000 มล. มดลูกไม่ได้แตก หัวใจข้างขวาโต การตรวจพบเข้าได้กับ amniotic emboli แต่ถ้าจะให้แน่ต้องตรวจดูปอดด้วยกล้องจุลทรรศ์ amniotic emboli ที่มีอาการรุนแรงรักษาไม่ได้ ตายทุกราย

เรื่องที่สี่ ผู้ป่วยชายอายุ 34 ปี ไปเที่ยวปีใหม่แล้วเกิดทะเลาะวิวาท ผู้ป่วยรู้สึกเสียวแปลบ มีเลือดออกที่อกด้านซ้าย ได้ไปที่โรงพยาบาลชุมชน 30 เตียงเวลาตี 2 พยาบาลได้ตรวจดูแผล พบว่ามีแผลถูกของมีคมขนาดกว้าง 2 ซม ลึก 1 ซม เลือดหยุดแล้ว ผู้ป่วยเดินได้ รู้สึกตัว มีกลิ่นเหล้า พยาบาลได้เย็บแผลให้ พยาบาลได้รายงานแพทย์หญิงใช้ทุนปี 2 .ให้ทราบแพทย์ได้แนะนำให้กลับมาถ้าอาการไม่ดีขึ้น อีกสองวันต่อมาผู้ป่วยมีอาการเจ็บที่แผลมากขึงไปรักษาอีกโรงพยาบาล เอกเรย์พบมีดหักฝังอยู่ในกล้ามเนื้อ หน้าอก ได้ส่งต่อให้โรงพยาบาลศูนย์ผ่าเอามีดออก ขณะนี้ปลอดภัยแล้ว ในรายนี้ผู้ป่วยก็ไม่ทราบว่าถูกแทง พยาบาลตรวจแผลไม่พบมีดเพราะกล้ามเนื้อหดปิด ไม่ได้คาดคิดว่าจะมีมีดหักอยู่ในกล้ามเนื้อ

ปัญหาที่เป็นข่าวบ่อยในระยะนี้เพราะเป็นเรื่องกระแส มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องและมีคนยุ แพทย์เราจะต้องปรับปรุงเรื่องการติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วย เมื่อมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น ต้องรีบแจ้งและอธิบาย อย่าหนีปัญหา มีการบันทึกเวชระเบียนมากขึ้น โรงพยาบาลจะต้องเข้ามาช่วยแพทย์ จะต้องให้ประชาชนมีความรู้ดีขึ้น ที่ผ่านมามีช่องว่างระหว่างความรู้ของแพทย์และประชาชนส่วนใหญ่ต่อนข้างมาก ประชาชนส่วนหนึ่งไม่เข้าใจ และชอบโทษคนอื่น จะต้องปรามสื่อที่ลงข่าวโดยฟังความข้างเดียว ในต่างประเทศไม่มีการลงข่าวเรื่องการรักษาพยาบาลในหนังสือพิมพ์

แพทยสภากำลังดำเนินการเรื่องการประกาศข้อเท็จจริงทางการแพทย์ และกำลังหาทางแก้กฎหมายอยู่




 

Create Date : 11 มกราคม 2549   
Last Update : 11 มกราคม 2549 14:16:51 น.   
Counter : 580 Pageviews.  



cK
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




almost all can abbreviate at your home
[Add cK's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com