สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๐





ปล่อยเพจร้างมานาน คิดว่าเพราะใช้ facebook จึงทำให้เข้าอินเตอร์เน็ตด้วยเฟส และใช้เวลากับมันค่อนข้างเยอะ แถมถี่ด้วยดิ เสียเวลาจริง ๆ 


ซึ่งก็เป็นเรื่องของคนอื่นซะส่วนใหญ่ ช่างตอบสนองกิเลสมนุษย์จริง ๆ เลยเนาะ  

เอาเป็นว่าเข้ามาสวัสดีปีใหม่กับทุกคนที่ได้อ่าน อาจจะเป็นตัวเองซะส่วนมาก 

คืนข้าปี(นึกถีงเพลงเลยดิ) ปีนี้ที่ผ่านมาเป็นปีที่วายป่วงอีกปี เพราะภาระที่มาพร้อมกัน และเป็นตัวเองที่ไม่จัดการชีวิตให้ดี ปีหน้าไม่เอาล่ะ เข็ดจริง ๆ 

ขออวยพร และช่วยเตือนใจ ระมัดระวังสิ่งร้าย ๆ ที่ชอบคิดเอง และมีอะไรก็ให้ตักไปให้ได้ในเวลาที่ต้องทำหน้าที่ 

สวัสดีปีใหม่ ปีหน้าจะต้องเป็นปีที่ดีกว่าเดิม




 

Create Date : 31 ธันวาคม 2559   
Last Update : 31 ธันวาคม 2559 23:53:41 น.   
Counter : 992 Pageviews.  


หลักสูตรฉบับบบ้าน ๆ ตอนที่ 3

page นี้เขียนไว้ตอนเรียน course work จบใหม่ ๆ แต่ด้วยพอกลับบ้านแล้วเจอบทเรียนชีวิตดราม่าในตลอดปีที่ผ่านมา เขียนเสร็จแต่อารมณ์ตอนนั้นไม่อยากจะโพสต์ เก็บตัวเงียบผจญกับภัยต่าง ๆ ที่เข้ามาให้แก้ ผ่านไปอีกเกือบปี เพ่งได้กลับมาทำการศึกษาต่ออย่างจริงจัง มาอ่าน ๆ ดู ว่าเราทำอะไรไว้บ้าง และคิดว่าน่าจะเอาช่องทางนี้เป็นเหมือน study report ของตัวเอง มาแบ่งปันความรู็แก่คนอื่น ๆ เป็นวิทยาทานระหว่างเรียนดีกว่าจึงคิดว่าจะกลับมาเขียน blog อีกครั้ง แล้วก็มาดูว่าเอะ! เรื่องหลักสูตรอันล่าสุดเขียนแล้วยังไม่ได้โพสต์ ก็ขอโอกาสนี้วันพระใหญ่โพสต์ซะเลย แล้วเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจะตามมาเรื่อย ๆ นะคะ 

หายไปนานอีกแล้ว พักก่อน 9 เดือนเรียนหนังสือค่ะ เรียนหนักมาก ๆ  เพื่อนยังแซวว่าเวลาเหมือนแกลาไปคลอดเลยเนาะ หายไปจากสาระบบ 9 เดือน พอดีได้ลูก 1 คน แต่นี่ได้ course work สำหรับ 1 หลักสูตรมาแทน รุ่นหน้าบอกอาจารย์แล้วว่าโหดไปค่ะ 2 เทอมจบ course work นี่คนเรียนยังไม่ยังได้ซึมซับวิชา ได้แต่ยัด ๆ เข้ามาไว้ แล้วค่อยขย้อนออกมาเคี้ยวอีกทีภายหลัง(เหมือนสัตว์บางประเภทเนาะ) ปิดเทอมมาพักนึงแล้วก็เปิดเทอมแล้วด้วยค่ะ แต่ข้อมูลที่เรียนมาก็ยังไม่ได้เอามาเคี้ยวเพื่อพัฒนาต่อเป็นงานวิจัยได้สักที มัวอยู่บ้าน รับภารกิจทั้งงานราช งานหลวงเพลินจนจะต้องไปรายงานความคืบหน้าของงานวิจัยจึงต้องมาวิ่งตาเหลือกอีกครั้ง คราวนี้ย้อนกลับมาอ่านงานเก่าเพราะต้องใช้สอนด้วย เลยคิดว่าได้ ซีรี่ย์ เรื่องหลักสูตรนี่มันยังไม่จบสมบูรณ์ อย่ากระนั้นเลย มาต่อให้จบภาคดีกว่า



จาก 2 ตอนครั้งก่อนได้กล่าวถึงความหมายของหลักสูตร และ องค์ประกอบของหลักสูตรในส่วนของ จุดประสงค์และวิธีการนำหลักสูตรไปใช้ว่ามันสอดคล้องกันหรือไม่  
ขอย้อยเรื่ององค์ประกอบหลักสูตร(ถ้าดูในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานจะพบว่าเยอะ ตาลายไปหมด) องค์ประกอบหลักสูตรทุกหลักสูตรมีเหมือน ๆ กันในทุกระดับคือ
  1. จุดประสงค์ ต้องการสร้างคุณสมบัตืผู้เรียนให้เป็นแบบใด ถ้าระดับรายวิชาคือ เมื่อจบรายวิชาผู้เรียนจะมีความรู้และทำอะไรได้บ้า(ดูได้จากคำอธิบายรายวิชา)
  2. เนื้อหา อันนี้ดูได้จากรายวิชาต่าง ๆ และหนังสือ บทเรียนที่ใช้ในแต่ละหลักสูตร หรือแต่ละรายวิชา
  3. การนำหลักสูตรไปใช้ อันนี้คือวิธีการที่จะบรรลุตามจุดประสงค์ที่ว่าไว้ ผู้ที่จะทราบได้ว่าการจัดมวลประสบการณ์แบบใดจะบรรลุตามเป้าหมายหรือจุดประสงค์ที่วางไว้ มักเป็นผู้ที่มีความรู้ทางการจัดการศึกษา คือรู้ว่าหลักการเรียนรู้คืออะไร พัฒนาการของผู้เรียนแต่ะวัยเป็นอย่างไร มีวิธีการหลักหารเรียนรู้กี่แบบ และแบบไหนเหมาะกับใคร หรือสถานการณ์อะไร ฯลฯ หรือถ้าเป็นระดับรายวิชาก็คือกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะใช้สอนหรือให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ถ้าส่วนมากก็ไปเน้นที่บรรยาย ซึ่งปัจจุบันเรารู้ว่ามันไม่ได้ผลกับผู้เรียนทุกคนเสมอไป แม้แต่ในระดับมหาวิทยาลัย ผู้เรียนจึงต้องมีการศึกษาด้วยตนเองเพิ่มเติม ทำงานเอง ทำการบ้านเอง จึงจะได้ผล ไอ้พวกลอก ๆ ส่งก็จบได้ค่ะ แต่ไม่ได้ความรู้ การนำหลักสูตรไปใช้ที่ดี ครูจะให้กิจกรรมแก่ผู้เรียนที่หลากหหลาย และสอดคล้องกับชีวิตจริงของผู้เรียน และเน้นการให้ผู้เรียนสร้าง สรุปความรู้จากประสบการณ์ที่จัดให้ในดารเรียรู้ด้วนตนเอง จึงจะถือว่าเป็นการเรียนรู้ที่ดี มีความหมายต่อเด็ก     งั้นพ่อ ๆ แม่ ๆ ทำไง ไม่ได้เรียนมา ไม่ต้องกังวลค่ะ บางทีไอ้คนที่เรียนมาก็ได้แต่ทฤษฎี ปฏิบัติก็ไม่ได้เอาความรู้ไปประยุกต์ใช้จริง ๆ  แต่ผู้ปฏิบัติจริง เช่นผู้ปกครองที่เลี้ยงลูกเอง ดูแลลูกอย่างใกล้ชิด ไม่รู้ทฤษฎีมากมายอะไร แต่ปรับแก้พฤติกรรมของลูกหรือเด็กในสังกัดได้ให้เป็นคนดีได้ตามที่ควรจะเป็น อันนี้น่ายกย่องกว่า แล้วท่าน ๆ ก็หาความรู้ได้จากหนังสือแล้วนำมาประยุกต์ใช้ได้จริง ดีกว่ามีแต่ทฤษฎีเป็นไหน ๆ เป้าหมายสุดท้ายคือกล่อมเกลาให้เยาวชนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และเป็นคนดีของสังคม ช่วยพัฒนาประเทศชาติและอยู่ได้อย่างมีความสุข 
  4. การประเมินหลักสูตร  คือการนำผลที่ได้มาพิจารราเปรียบเทียบกับจุดประสงค์ที่วางไว้ตอนแรกว่าได้ผลมากน้อยแค่ไหน เพื่อนำผลที่ได้มาใช้พัฒนาปรับปรุงหลักสูตร และการเรียนากรสอนต่อไป ซึ่งจะอธิบายต่อไปค่ะ


อรัมภบทยาวล่ะ มาต่อเรื่องหลักสูตรของเราดีกว่า คราวก่อนเราพิจารณาว่าจุดประสงค์กะวิธีการมันสอดคล้องเป็นไปด้วยกันรึเปล่า บอกว่าจะสร้างคนแบบหนึ่งแต่ดันใช้วิธีการฝึกอีกแบบ ผลที่ได้ก็ไม่น่าจะสอดคล้องกัน ในระบบของหลักสูตรถือว่าไม่ประสบความสำเร็จแน่ ๆ เป้าหมายกับ เนื้อหาและกระบวนการต้องไปในทิศทางเดียวกัน

 ทีนี้ แล้วก็ต้องมาดูว่าการประเมินผลสำเร็จเมื่อเอามาเทียบกับเป้าหมายที่วางแผนไว้มันเป็นเรื่องเดียวกันมั้ย บรรลุตามเจตนารึเปล่า ส่วนประกอบตอนท้ายนี้เหมือนกับว่าไม่น่าจะมีผลอะไรแล้วเพราะขบวนการได้ทำไปแล้ว แต่จริง ๆ แล้วมีความสำคัญในการที่จะทำให้เราได้รู้ว่า กระบวนการที่เราให้ผู้เรียนไป ออกผลมาเป็นอย่างไร ได้ผลมั้ย ถ้าได้มีปัจจัยอะไรที่ส่งผลก็เก็บมันไว้ใช้งานต่อ ถ้าไม่ได้ก็หาตัวแปรที่ทำให้เกิดปัญหาแล้วแก้ไข ปรับปรุงขบวนการต่อไป เพื่อให้การดำเนินการในภายหน้าดีขึ้นเรื่อย ๆ และเข้าใกล้จุดประสงค์ที่สุด

ขั้นตอนนี้เหมือนนักเรียนส่งการบ้านให้ครูแล้วครูตรวจให้คะแนนแล้วไม่แจ้งกลับผู้เรียนว่าเค้ามีข้อดี ข้อด้อย ทำอะไรพลาดไปบ้าง ให้แต่เกรดเป็นตัวเลขหรือตัวอักษร ก็เท่านั้น ผู้เรียนไม่เกิดการพัฒนาตนเองเพื่อแก้ปัญหา ผู้สอนก็ไม่เกิดการพัฒนาการสอนของตนเอง เพราะถ้าเป็นสิ่งที่ผู้เรียนทำไม่ได้ตามเป้าหมาย บางครั้งปัญหาไม่ได้มาจากผู้เรียน แต่มาจากผู้สอนหรือคนที่จัดการเรียนการสอน พวกเรามักจบกันที่คะแนนกับเกรด นั่นเป็นสิ่งที่บอกว่าเราทำอะไรไปแล้วเป็นอย่างไร แต่ไม่เกิดการพัฒนาใด ๆ แก่ระบบการเรียนรู้ ครูที่ดีต้องคืนผลงาน หรือผลการเรียนแก่เด็ก หรือผู้ปกครองแล้วคุยกันว่ามันมีปัญหาอะไร แล้วเราจะแก้อย่างไรต่อไป แถมเป็นการช่วยกันตรวจสอบการตรวจ ตัดสินของครูอีกชั้นในกรณีที่เป็นข้อสอบ (ครูก็คนมีผิดพลาดได้ ส่งการบ้าน งาน ข้อสอบคืนเด็ก แล้วมาตรวจดูบางทีมีการคิดคะแนนผิด ตรวจผิด ก็จะได้แก้ไข)


สำหรับหลักสูตรรวมใหญ่ ๆ ก็จะมีการทำวิจัยติดตามผู้เรียนที่จบไปแล้วว่าเป็นอย่างไรบ้าง ที่เรียนไปได้เอาไปใช้มั้ย หรือถ้าทำได้อยากให้เพิ่มเติมอะไรในหลักสูตรอีก เพื่อเอาข้อมูลจริงมาปรับปรุงหลักสูตร ดังนั้นหลักสูตรใดใช้มาจนครบรอบของหลักสูตรแล้วไม่มีการเป็นข้อมูลเพื่อพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรจึงควรพิจารณาให้ดีว่ามันจะเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมหรือไม่ มิควรเสี่ยงเอาลูกหลานไปฝากเรียนไว้ (ครบรอบหลักสูตรคือ ตลอดหลักสูตรใช้เวลากี่ปีก็ในปีถัดไปควรได้มีการดำเนินงานปรับปรุงหลักสูตรได้แล้ว เช่น หลักสูตร 2 ปี ปีที่ 3-4 ที่นักเรียนรุ่นแรกจบแล้วเข้าสู่สังคมหรือที่เรียนใหม่ควรมีการพัฒนาปรับปรุง จุดประสงค์ กระบวนการเรียนการสอนและการประเมินผลการเรียนในภาพรวมของหลักสูตรทั้งหมด )

ขบวนการทางหลักสูตรและการเรียนการสอนจึงจะถือว่าครบถ้วน ทีนี้หลักสูตร ก็ไม่ได้เป็นเฉพาะมวลประสบการณ์รวมตามโครงสร้างหลักสูตรที่ต้องเรียนจบตลอดหลักสูตรนั้น ๆ แล้วจึงจะพิจารณาปรับแก้เท่านั้น ระหว่างดำเนินการก็ทำได้ แต่ในระดับย่อย ๆ ของ กลุ่มวิชา รายวิชา บทเรียน และรายคาบกิจกรรมที่สอน ขืนรอจนจบหลักสูตรก็ไม่ทันการแล้ว ดังนั้นอะไรก็ตามที่มีจุดประสงค์ มีเนื้อหา มีการนำหลักสูตรไปใช้(การจัดประสบการร์แก่ผู้เรียนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้) มีการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน เราถือวาเป็นหลักสูตรแล้ว แต่มันเป็นระดับย่อย ๆ ของหลักสูตรใหญ่ ซึ่งควรมีการปรับแก้ไขตามรอบขบวนการของมัน ดังนั้นครูคนใดสอนแต่ละปี แต่ละเทอมแบบเดิม ๆ  เนื้อหาเดิมกิจกรรมเดิม แถมข้อสอบวิธีวัดประเมินผู้เรียนแบบเดิม ๆ พึงพิจารณาว่ามันจะมีคุณภาพมั้ย 
บางคนเคยบอกว่างานครูน่าเบื้อ สอนเรื่องเดิม ๆ ทั้งปีทั้งชาติ แต่ถ้าเข้าใจหลักสูตรแล้วจะรู้ว่า ถ้าเค้าเป็นครูโดยจิตวิญญาณ เค้าต้องมีการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง พัฒนาการสอนของตนให้มีประสิทธิภาพที่สุด เพราะเด็กที่มาเรียนเปลี่ยนแปลงตลอด แต่ละรุ่นมีภาพรวมของความสนใจ ของนิสัยที่แตกต่างกัน แถมเนื้อหาในสังคมที่จะให้ผู้เรียนพิจารณาประยุกต์ใช้ความรู้เปลี่ยนตลอด ครูต้องหาทางทำให้ผู้เรียนเรียนได้ดีที่สุด และหลักสูตรรวมภาพใหญ่ก็เปลี่ยนทุก ๆ รอบของหลักสูตร เห็นมั้ยว่ามันไม่ใช่สอนแบบเดิมได้แล้ว ถ้าจะให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้


แล้วเป็นพ่อเป็นแม่ ไม่มีความรู้เรื่องหลักสูตรทำอย่างไรดี คุณควรแบ่งเวลาเรียนรู้เรื่องการศึกษาหรือการเรียนรู้ของลูกคุณ อย่าปล่อยจนเค้าโต แล้วแก่เกิดแก้ ทั้งความรู้ที่จำเป็น ทั้งนิสัยที่ควรปฏิบัติและไม่ควรปฏิบัติ ทั้งค่านิยม การให้ค่ากับสิ่งใด ๆ ได้อย่างเหมาะสม คุณคือคนดูแลเค้าโดยแท้ โรงเรียนและครูเป็นเพียงผู้ทำหน้าที่ในส่วนที่จะให้เค้าไปมีอาชีพในอนาคต แต่คุณคือทั้งหมดในอนาคตที่เค้าจะเป็น ดังนั้นถ้าเค้าเป็นคนที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นมา แล้วโดนด่าว่าพ่อแม่ไม่สั่งสอนก็ต้องรับไปค่ะ แต่พ่อแม่บางคนสมัยนี้ไม่รู้สึกเนาะ แถมแลี้ยงลูกให้เป็นคนแย่ ๆ แบตัวเองอีก

แล้วคุณผู้ปกครองน่าจะรู้อะไรบ้าง
รู้จักลูกตัวเองอย่างแท้จริงค่ะ เด็กบางคนทำบางอย่าง เรียนบางอย่างได้ดี แบบทฤษฎีพหุปัญญา (Multiple Intelligence)ของ Gardner แหละค่ะ คุณอย่าไปเอาความคิด ความฝันของตนเองไปใส่ไว้กะลูก คุณหวังดีว่าถ้าเป็นหมอแล้วรวย มีงาน มีเงินใช้ มีเกียรติ ก็บังคับให้เรียน บางคนก็เรียนได้แล้วไป บางคนเรียนไม่ได้ก็ทุกข์ไป แล้วบางคนก็ไปเป็นหมอแบบไม่ใส่ใจ จะเอาแต่เงินไม่สนคนไข้ว่าจะรู้สึกอย่างไร ทำงานไม่มีวิญาณก็ทำบาปต่อกันไป
บางคนเด็กเรียนสายสามัญไม่ไหว ก็เข็ญกันไป ทั้ง ๆ ที่ถ้าเค้าเรียนแบบสายอาชีพ ปฏิบัติจริงจะมีความสุขและเจริญก้าวหน้ากว่า แต่อย่างว่าค่านิยมของเราไปให้ค่ากับใบปริญญา ทั้ง ๆ ที่บางคนเรียนไปก็เท่านั้น ความรู้มีจบแค่ ม. 6 ได้ปริญญาแบบเบลอ  ๆ ก็เยอะ 



รู้ว่าสถาบันที่ลูกเข้าไปเรียนนั้นมีเป้าหมายอะไร หลักสูตรนั้นผลิตคนแบบไหน วิธีการผลิตมีหลากหลายและสอดคล้องกับเด็กของเราหรือไม่ บางคนต้องเรียนแบบใช้ประสบการณ์ตรง ทำกิจกรรมมาก ๆ บางคนชอบอ่าน ชอบฟัง ชอบเรียน มีองค์ประกอบต่าง ๆ ในโรงเรียนพอที่จะได้ให้ประสบการณ์แก่เด็กได้ครบถ้วนตามหลักสูตรที่ว่าไว้มั้ย ดูได้จาก หนังสือเรียน สื่อการเรียนการสอน(อันนี้ไม่ได้เน้นว่าต้องแพงมั้ย เอาเป็นว่าห้องเรียนเป็นอย่างไร) จำนวนครูผู้รับผิดชอบเด็กต่อห้องมากไปรึเปล่า อันนี้อยู่ที่คุณภาพครูด้วย บางที่มีเด็กน้อยแต่ครูไม่ดูแลก็แย่เหมือนกัน แต่โดยศักยภาพครูคนเดียวดูแลเด็กได้ทั่วถึงแค่ไม่เกิน 25 คนค่ะ  ถ้าคุณจะเอาเข้าโรงเรียนยอดนิยมก็ต้องทำใจนะคะ แล้วคุณคงต้องเอาใจใส่ลูกคุณเองมาก ๆ เองด้วย 



รู้จักครูของลูกให้ดีค่ะ เราไม่ได้ทำขนาดก้าวก่ายการทำงานของเค้านะคะ เราควรทำความเข้าใจกะครูว่าเราเป็นทีมเดียวกัน ถ้าครูคนไหน หรือโรงเรียนไหนไม่เชื่อตามแนวคิดนี้ก็อย่าฝากลูกไว้กะเค้าเลยค่ะ จริง ๆ ครูอยากได้รับความร่วมมือจากคุณ ๆ ผู้ปกครองมาก ๆ ค่ะ ที่โรงเรียนเราฝึกอบรมอย่างนึง แต่พอกลับบ้านที่บ้านไม่ช่วยสานต่อก็จบ ไม่ได้ผลใด ๆ ผู้ปกครองกับครูควรสื่อสารกัน ทำความเข้าใจกัน และทำงานร่วมกันแบบทีมกีฬาเลยล่ะค่ะ มาคุยเป้าหมายว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกันมั้ย วิธีการบางทีเราก็แบ่งปันกัน แล้วผลที่ได้แต่ละครั้งที่ฝึกเด็กก็มาแบ่งปันกันได้ผลมั้ย ไม่ได้ผลแล้วจะเปลี่ยนอะไรดีต่อไป มันน่าจะดีกว่านะคะ สำหรับผู้ปกครองที่ไม่ไปพบครูเลย มีเวลาน้อย มัวทำมาหากิน ก็มันอยู่ที่คุณล่ะ ชีวิตคุณหาเงินเพื่อใคร แต่แล้วจริง ๆ แล้วคุณมีเงินท่วมหัวแล้วลูกคุณเป็นคนแย่ ๆ มันจะคุ้มมั้ย............


การประเมินหลักสูตรจึงเป้นการย้อนกลับมาพิจารรษดูว่าสิ่งที่ทำไปแล้วนั้นได้ผลตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่ ไม่ได้ทำแบบส่ง ๆ  ก็เหมือนทุก ๆ แผนงานที่ดีต้องมีการประเมินแหละค่ะ ที่นี้ก็มาดูว่าวิธีการประเมินมันเป็นการประเมินที่แท้จริงรึเปล่า ในระดับหลักสูตร ในระดับการเรียนรู้ ถ้าสอบอย่างเดียวก็ไม่เหมาะกับทุกคนนัก จึงมีการประเมินที่หลากหลาย ดูทุก ๆ ด้าน ในการสมัครเข้าศึกาาต่อมหาวิทยาลัยของต่างประเทศบางครั้งเค้าไม่ได้ดูแต่ผลคะแนนสอบ เค้าขอดูรายชื่อหนังสือที่คุณอ่านมาในปีนั้น แล้วก็อาจจะไปคุยกันตอนสอบสัมภาษณ์ ขอดูจดหมายรับรองจากครูที่สอน ซึ่งอันนี้สำคัญมาก ๆ เลย แล้วเค้าก็ไม่ให้จดหมายรับรองใครได้ง่าย ๆ สำหรับ Professor บางคน ดูจากแฟ้มสะสมงาน (Port Folio) ดูจากหลักฐานของงาน กิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ไม่ได้มาสอบกันอย่างเดียวแล้วรับเลย


ดังนั้นคุณ ๆ ผู้ปกครองที่ไม่ได้ใสใจกับการเรียนรู้ของลูก หรือไม่รู้เท่าทันกับการเรียนรู้ของลูก จ่ายแต่เงินอย่างเดียว ไม่ติดตามว่าเงินที่จ่ายไปมันได้ผลม้ย  ก็เอาเป็นว่าชีวิตคุณทำเพื่อใคร แล้วสิ่งที่คุณจะให้กับเค้าได้อย่างยั่งยืน แม้คุณตายไปก็ไม่มีห่วง แถมภูมิใจในตัวเค้าอีกเนี่ย มันน่าจะเป็นเงินเท่านั้นมั้ย ? เวลาและการศึกษา เพื่อแน่ใจว่าเค้าจะมีชีวิตต่อไปได้อย่างดีต่างหากล่ะคือสิ่งที่คุณต้องหว่านลงในแปลง ผลที่ได้มันคุ้มค่าแค่ไหนคนมีลูก มีหลานน่าจะรู้ดีกว่านะคะ

เป็นกำลังใจแก่คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านค่ะ




 

Create Date : 05 กุมภาพันธ์ 2556   
Last Update : 11 กรกฎาคม 2557 8:21:59 น.   
Counter : 607 Pageviews.  


หลักสุตร ฉบับบ้าน ๆ ตอนที่ 2

รอเปิดเทอมจ้า เลยว่างมาให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับการศึกษาแก่ผู้สนใจทั้งหลาย ขอกล่าวย้ำเจตนาที่เคยบอกเสมอ ๆ อยากให้ผู้ปกครองทุกคนที่มีเด็ก ๆ ในสังกัดช่วยสอดส่องดูแลเด็กของตัวเองด้วย อย่าทิ้งให้เป็นภาระหน้าที่ของโรงเรียนอย่างเดียว ช่วย ๆ ดูกันหลาย ๆ ฝ่ายและทำความเข้าใจกับเด็กตามวัยเค้า น่าจะพอสื่อสารกันได้และทำให้เยาวชนของชาติเรามีคุณภาพในอนาคต



จากคราวที่แล้วหลักสูตรฉบับบ้าน ๆ ตอนแรกออกมา เราได้ให้ความหมายของหลักสูตรแบบง่าย ๆ ไปแล้ว ซึ่งสิ่งสำคัญทุกหลักสูตรต้องมีเป้าหมายของการผลิตคนที่ชัดเจนว่า เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการ ประสบการณ์ต่าง ๆ ตามเวลาที่กำหนดแล้ว ผลผลิตของผู้เรียนที่ได้จะเป็นคนแบบใด โดยจะระบุเป้าหมายหลัก ๆ ไว้ 3 แบบคือ พุทธิพิสัย (Cognitive) จิตพิสัย (Affective) และทักษะพิสัย (Psychomotor) 

ดังนั้นคนที่จะเลือกเรียนหลักสูตรใด ก็ควรจะดูเป้าหมายสุดท้ายของหลักสูตรนั้น ๆ ว่าตรงตามจุดประสงค์ความต้องการของตัวเองหรือไม่ ซึ่งบางหลักสูตรก็เน้นเฉพาะด้านหนึ่งด้านใดไปเลย เช่น เน้นฝึกทักษะ พวกหลักสูตรติวทักษะต่าง ๆ  หรือหลักสูตรกวดวิชาต่าง ๆ ที่เน้นทำข้อสอบก็มักจะเน้นเฉพาะพุทธิพิสัย เท่าที่สังเกตไม่มีหลักสูตรที่เน้นจิตพิสัยเท่าไหร่ แต่จริง ๆ ส่วนนี้ก็มีในวิชาดนตรี ศิลปะ ต่าง ๆ แต่จิตพิสัยเป็นเรื่องใช้เวลา และผลที่ได้ไม่ชัดเจนเลยต้องเบี่ยงไประบุเรื่องทักษะแทน แต่เราพึงตระหนักว่า คนเราถ้าเน้นด้านใดด้านหนึ่งอย่างเดียว ก็เป็นคนไม่สมบูรณ์ ขาด ๆ เกิน ๆ แบบที่เราเห็นได้ในปัจจุบันที่ก่อปัญหาทั้งส่วนตัว แล้วมีผลต่อครอบครัว ต่อสังคม โดยรวม



ทีนี้เราเกี่ยวข้องกับหลักสูตรใดมากที่สุด ? ตอนนี้ ณ ปัจจุบันคุณผู้ปกครองก็ควรจะทราบไว้ว่าประเทศไทยก็มีหลักสูตรของไทยเรียกว่า "หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551" ดาวโหลดหลักสูตรได้ที่ //www.curriculum51.net/upload/cur-51.pdf ซึ่งเป็นหลักสูตรที่กำหนดให้ทุก ๆ สถาบันการศึกษาผลิตเยาวชนให้มีคุณลักษณะตามที่หลักสูตรแกนกลางกำหนดไว้ เพื่อให้สร้างคนไปในทิศทางเดียวกัน โดยสโลแกนหลักที่ได้ยินบ่อย ๆ ของหลักสูตรนี้ก็คือต้องการสร้างคนแบบ"เก่ง ดี มีความสุข" อันเป็นผลมาจากการปฏิรูปการศึกษาปี พ.ศ. 2544 และปรับหลักสูตรอีกครั้งในปี 2551 จนได้หลักสูตรแบบในปัจจุบัน  โดยหลักสูตรแกนกลางนี้ได้มีพื้นที่เปิดโอกาสให้แต่ละสถาบัน แต่ละพื้นที่สามารถสอดแทรกความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ของชุมชนที่แตกต่างกันได้ด้วย

ถ้าใครดาวโหลดหลักสูตรมาดูเห็นสารบาญอาจจะงง ๆ นะคะ เยอะไปหมด แต่เพื่ออนาคตของลูฏหลานท่านควรจะอ่านค่ะ  ที่มาของหลักสูตรฯมาได้อย่างไร  มีหลักการของหลักสูตร มีวิสัยทัศน์ที่สร้างหลักสูตร จุดมุ่งหมายหลักสูตร เยอะไปหมด แต่ถ้าจะสรุปง่าย ๆ ว่าจุดประสงค์ของหลักสูตรระดับสามัญของเราคือจุดประสงค์สร้างคนที่ "เก่ง ดี มีความสุข"  แปลว่าเมื่อนักเรียนที่จบจากหลักสูตรแกนกลางฯนี้ ควรจะเป็นคนเก่ง เป็นคนดี และมีความสุข ตามหลักการของหลักสูตร ซึ่งคนทำหลักสูตรก็ต้องมีหน้าที่ระบุมาว่า คุณสมบัติของคนเก่งที่ว่าคือทำอะไรได้บ้าง ทำได้แค่ไหน? คนดีคือเป็นคนแบบไหน? ต้องมีคุณธรรมอย่างไร? และมีความสุขที่ว่าควรจะมีคุณสมบัติอย่างไรจึงจะทำให้เป็นคนมีความสุข? 

แล้วหลักสูตรก็จะคลี่คุณสมบัติเหล่านั้นเป็นมวลประสบการร์ต่าง ๆ วิชาต่าง ๆ ว่าผู้เรียนจะจบหลักสูตรได้ต้องมีเวลาเรียนเท่าไหร่ เรียนอะไรบ้างสัดส่วนเท่าไหร่? ทำกิจกรรมอะไรบ้าง? เพื่อให้ผู้เรียนเกิดคุณสมบัติตามจุดประสงค์ของหลักสูตรที่ว่า โดยหลักสูตรแกนกลางจะระบุเกณฑ์ขั้นต่ำที่ทุกสถานศึกษาต้องปฏิบัติ และมีการยืดหยุ่นได้ตามความพร้อม จุดเน้น และความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละสถานศึกษาที่จะทำได้ จึงทำให้เกิด "หลักสูตรสถานศึกษา" ขึ้นของแต่ละโรงเรียนโดยอยู่ในใต้กรอบหลักของหลักสูตรแกนกลางฯ อีกที ซึ่งตรงนี้ข้ามขั้นไปนิด(แต่ไม่ค่อยเห็นเขตพื้นที่ใดทำให้เห็นรูปธรรมชัดเจน หรือเราไม่ได้ติดตามดูมั้งคะ)  แต่ละพื้นที่เรามีศึกษานิเทศน์เป็นเจ้าหน้าที่ดูแลการจัดการศึกษาในแต่ละเขตพื้นที่ของประเทศให้สอดคล้องเหมาะสม แต่ละเขตพื้นที่การศึกษาก็จะมาคุยกันว่าพื้นที่ของคนควรจะสร้างคนที่มีเอกลักษณ์อย่างไรให้เหมาะกับวิถีชีวิตของพื้นที่นั้น ๆ  มีวัฒนธรรม ความเชื่อ เอกลักษณ์อย่างไรที่ควรเน้น และปัญหาใดที่ควรเน้นแก้ไข เขตพี้นที่เค้าก็จะตกลงกันเป็นกรอบกว้าง ๆ เช่น พื้นที่สูง นักเรียนต้องช่วยพ่อแม่ทำการเกษตรกรรม ก็อาจจะมีรายวิชาเสริมด้านการเกษตรมากหน่อย สอนทำบัญชีรายรับรายจ่าย หรือการแปรรูปสินค้าเกษตร ฯลฯ อันนี้ถ้าเป็นอุดมคติจริง ๆ กรรมการด้านการศึกษา ผู้นำท้องถิ่น จะมีส่วนช่วยกันกำหนดให้เหมาะสมกับอนาคตของเยาวชนจริง ๆ ไม่ใช่เรียนจบความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด ทำนาไม่เป็น เข้าเมืองก็เรียนสู้เค้าไม่ได้......(ชักเริ่มบ่นSmiley)  เม่อเขตพื้นที่การศึกษาระบุคุณสมบัติของพื้นที่ตนแล้วแต่ละสถานศึกษาก็จะเอากรอบของพื้นที่มาบวกกับเอกลักษณ์ของโรงเรียนตน ทรัพยากรที่ตนมี หรือจุดเน้นใด ๆ ที่จะสร้างผู้เรียนของตนภายใต้กรอบของประเทศ และเขตพื้นที่ โดยตรงนี้คณะกรรมการสถานศึกษาแต่ละแห่งมีส่วนดูแลให้เป็นไปตามวิถีทางที่เหมาะสม (แต่บ้านเราคณะกรรมการไม่ค่อยมีบทบาทอะไรรวมถึงผู้ปกครองด้วย)



 ทีนี้เมื่อแต่ละสถานศึกษาระบุจุดประสงค์ของหลักสูตรตนเองชัดเจนแล้วก็สร้าง"หลักสูตรสถานศึกษา" ขึ้นมา โดยหลักสูตรที่ได้จะต้องผ่านการรับรองจากกระทรวงศึกษาฯ ตรวจสอบด้วย(อันนี้เป็นหน้าที่ของโรงเรียนค่ะ) ผู้ปกครองทำอะไรได้บ้าง? ดูหลักสูตรสถานศึกษาค่ะ คุณพอใจกับเป้าหมายที่เค้าระบุไว้ในหลักสูตรรึเปล่า? ก็ตอนเราเลือกโรงเรียนนั่นแหละ ซื้อของยังต้องอ่านฉลาก เลือกโรงเรียนก็ต้องดูหลักสูตรค่ะ

ดูยังไง? คุณหรือผู้เรียนคนนั้นเค้าอย่างเป็นอะไรล่ะ? พอใจกับเป้าหมายที่โรงเรียนระบุคุณสมบัติของนักเรียนเมื่อจบหลักสูตรไว้มั้ย? อย่างโรงเรียนที่เน้นกีฬา เน้นกิจกรรม เน้นวิชาการ เน้นลักษณะนิสัย(ไม่ค่อยเห็นเนาะเห็นแต่เน้นวิชาการ)  จุดประสงค์การผลิตผู้เรียนมันตรงกันกับคุณหรือผู้เรียนของคุณรึเปล่า? ถ้าไม่เคยคิดก็เริ่มคิดได้แล้วค่ะ? ว่าอนาคตอยากเป็นอะไร มีชีวิตอย่างไร? แล้วตอนนี้เราควรเตรียมความพร้อมให้ตนเองอย่างไร?  แต่บางทีก็ว่าไม่ได้นะคะ บางครั้งคนจัดการศึกษาเองก็ลืม ๆ ไปว่าควรมีเอกลักษณ์ของตัวเอง ว่าต้องการสร้างนักเรียนแบบไหนแน่ เห็นแต่จะเอาให้เด็กสอบเข้ามหาวิทยาลัยกันอย่างเดียว แล้วแค่นี้ถือว่ารับประกันอนาคตได้แน่รึเปล่า? 

ต่อมาเมื่อดูเป้าหมายการผลิตของโรงเรียนนั้น ๆ แล้ว พอใจแล้ว มาดูว่าได้เป้าหมายที่ว่ากับรายละเอียดกิจกรรม วิธีการจัดการเรียนการสอน หลักสูตรต่าง ๆ มันจะทำให้เกิดผลอย่างนั้นจริงมั้ย เหมือนที่บอกว่าเราจะสร้างผู้เรียนที่มีนิสัยดีมีคุณธรรม แต่มัวไปเน้นสอนวิชาการ ไม่มีวิชาจริยธรรม คุณธรรม กฎกติกาในโรงเรียนไม่ส่งเสริมการเป็นคนดี ครูบาอาจารย์ไม่เป็นแบบอย่างที่ดี(ดูคุ้น ๆ นะ) หนังสือเรียนมีคุณภาพจริงหรือเปล่า (อันนี้พ่อแม่อาจจะบอกว่าจนใจที่จะตรวจสอบจริง ๆ  เอาง่าย ๆ ในเนื้อหาที่คุณ ๆ ผู้ปกครองชำนาญ ต้องมีบ้างซักวิชาแหละ ดูสิว่าโรงเรียนเค้าเลือกหนังสืออะไรมาให้ลูกเราเรียน แล้วลองเปรียบเทียบกับหลักสูตรของวิชานั้น ๆ  ว่าในชั้นนั้นเด็กต้องรู้อะไรบ้าง แล้วหนังสือเล่มนั้นมันมีครบถ้วน ถูกต้องและดีกว่าหนังสือเล่มอื่นที่ไม่ได้เลือกจริงมั้ย)  แต่ถ้าครูที่ทำการสอนได้ดีอย่างเข้าใจบางครั้งก็ไม่ต้องใช้หนังสือเพียงเล่มเดียวแต่ยึดตามหลักสูตรที่ระบุไว้แล้วสร้างกิจกรรมให้ผู้เรียนมีความรู้นั้น ๆ ได้ก็ถือว่าครบถ้วนค่ะ  ถ้าจุดประสงค์กับวิธีการหรือองค์ประกอบอื่น ๆ มันไม่ไปด้วยกันก็แปลว่าคนเขียนเป้าหมายหลักสูตร กับคนเอาหลักสูตรไปใช้ไม่เข้าใจกัน มีเป้าไปก็เท่านั้น แล้วก็เข้าอีหรอบเดิมคือทำตาม ๆ กัน (อันนี้ก็คุ้น ๆ อีก) แสดงถึงผู้ที่จัดการศึกษานั้นไม่มีความเข้าใจในหลักสูตรและการจัดการศึกษาดีพอ มิสมควรฝากลูกหลานไว้ให้เสี่ยงกะอนาคตต่อไป แต่ถ้าเราไปก้าวก่ายครูมาก ๆ ก็อาจจะมีเหวี่ยงกันกับครู ทำไงดี? ค่อย ๆ เก็บข้อมูลไปค่ะ เอาแบบไม่ออกหน้ามากนัก หาความรู้ด้วยตัวเอง ถามครูฝ่ายวิชาการ ถ้าเค้าเจตนาดีจริงเค้าต้องเข้าใจเรา และยินดีให้ควมรู้เรา เพื่อช่วยกันพัฒนาเด็กให้ได้ตามเป้าค่ะ ลูกเราทั้งคนอย่าปล่อยไว้ให้คนอื่นหมดค่ะ

ทีนี้พอดู ๆ แล้วไม่มีหลักสูตรใดเหมาะใจเราเลยทำไงดี? เมื่อเป็นหลักสูตรแกนกลางแบบนี้ แล้วเรามีสิทธิเลือกหลักสูตรสำหรับเด็ก ๆ ของเราจริงหรือ? เป็นไปได้จริงค่ะ และการศึกษาปัจจุบันก็เปิดช่องทางไว้ให้แล้ว เช่นการศึกษาปัจจุบันมีการศึกษาในระบบ(แบบที่เข้าโรงเรียนทั่ว ๆ ไปนี่แหละค่ะ) การศึกษานอกระบบ(แบบที่คนขาดโอกาสเรียน กศน.ค่ะ) และการศึกษาตามอัธยาศัย(เช่น Home School) ทั้ง 3 ระบบมีขั้นตอนการรับรองสถานนะในวิธีการต่าง ๆ กระแสหลักก็ยังมีมากกว่า แต่กระแสตามอัธยาศัยก็มีมากขึ้น ส่วนในกระแสหลักก็เริ่มมีโรงเรียนทางเลือกให้เลือกมากมาย เช่น โรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนวิถีพุทธ ฯลฯ หาดูได้ในกูเกิ้ลเลยค่ะ คำค้นคือ การศึกษาทางเลือก (ส่วนตัวผู้เขียนมีหลานเรียน Home school ค่ะ แม่น้องเค้าไม่พอใจหลักสูตรไทยในส่วนของวิชาสังคม เวลาเจ๊เลือกโรงเรียนให้ลูกขอดูหนังสือเรียนก่อนเลยค่ะ และประกอบกับตัวลูกชายเจ๊แกมีปัญหากับการเรียนในระบบ ย้ายโรงเรียนมาแล้วทุกรูปแบบ ทั้งตามกระแส ทั้งเอาใกล้บ้าน ทั้งนานาชาติ ปัญหามีมาแก้ไม่ตกเรื่องพฤติกรรม จนมาจบที่เจ๊แกต้องจัดการกับลูกแกเองค่ะ ตอนแรกก็เหนื่อยมาก แต่พอเข้าที่เข้าทางก็ดีค่ะ ทั้ง 2 คน อยู่ในสายตาแม่และกลายเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ตอนนี้คนโตก็กำลังสอบเทียบความรู้เพื่อเอามาสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัย.....ไว้โอกาสหน้ามาให้ข้อมูลนะคะ ) ไม่ได้บอกว่าคุณต้องมาสอนเองนะคะ แต่เอาเป็นว่าควรสอดส่องดูแลว่าการเรียนรู้ที่เราจัดให้เด็กเรานั้นเหมาะกับเค้ามั้ย ถ้ามีปัญหาก็ต้องแก้ไข ปัญหามันก็มีทางแก้เสมอแหละค่ะ เพียงแต่ว่าคุณผู้ปกครองทั้งหลายต้องหาความรู้แล้วตัดสินใจด้วยตัวเอง ซึ่งมีช่องทางมากมายแล้วมาพิจารณาตามความพร้อมของตนเอง ก็ถือว่าดีกว่าไม่มีทางเลือกใด ๆ ได้เลยนะคะ 

วันนี้ได้เรื่องจุดประสงค์หลักสูตรที่สอดคล้องกับกระบวนการสร้างและใช้หลักสูตร อาจจะยากนิดสำหรับคนไม่มีความรู้ด้านการศึกษานะคะ แต่การศึกษาปัจจุบันเป็นการศึกษาตลอดชีวิตค่ะ เราค่อย ๆ หาข้อมูลและสังเกตเก็บข้อมูลเอาไว้ได้  เราควรหาความรู้ในสิ่งที่จะเป็นผลต่อตนเองและครอบครัว เพื่อรักษาสิทธิและทำหน้าที่ของตนให้เต็มที่ อย่ามัวแต่หาเงินค่ะ หาความรู้อื่น ๆ ด้วยจะได้ใช้เงินได้อย่างคุ้มค่าด้วยและมีความสุขนะคะ ไว้มาต่อโอกาสหน้าค่ะ




 

Create Date : 27 ตุลาคม 2555   
Last Update : 27 ตุลาคม 2555 22:36:46 น.   
Counter : 1733 Pageviews.  


สู้โว้ย! หลักสูตรฉบับบ้าน ๆ

ขอขึ้นหัวข้อBlog แบบนี้แล้วกัน เพื่อเป็นกำลังใจทั้งกับตัวเองและลูกศิษย์(คงไม่ได้อ่านหรอกเด็กชั้น มัวนั่งปั่นแผนส่งครูมันอยู่)

วันนี้มีเด็กในสังกัดโทรศัพท์มาถาม "อาจารย์ครับ ครูพี่เลี้ยงเค้าบอกว่ารอหนังสือก่อน ค่อยสอนตามนั้น" ก็คิดในใจ อ้าว! ก็โรงเรียนเปิดแล้วแกจะรออะไรอีก ชั้นจะไปดูแล้วนะ ไม่มีแผนมีเชือด จริง ๆ ต้องส่งแผนก่อนเปิดเทอมด้วยซ้ำ

อยากจะบอกว่า ปฏิรูปการศึกษา แต่ครูยังไม่ปฏิรูปเลย แล้วเด็กใหม่หลักสูตรปฏิรูปจบออกไปเข้าสู่วงจรเดิม จะไปง้างกับระบบเก่า ๆ ที่น่าจะเปลี่ยนได้มั้ยเนี่ย คิดแล้วก็อ่อนใจ แล้วก็ต้องบอกเด็กไปว่า สู้โว้ย!!

คราวหน้าคงต้องไปทำความเข้้าใจกับผู้มีอุปการะคุณทั้งหลายอย่างละเอียดอีกรอบ ว่าหลักสูตรคือกฎหมาย(โว้ย) หนังสือเรียน เห็นมาแล้วกะตาว่าเนื้อหาผิด บางเล่มก็ไม่สอดคล้องตามตัวชี้วัด(หลักสูตร) เค้ารู้มั่งมั้ยเนี่ย

คราวที่แล้วได้เกริ่นแล้วว่าผู้ปกครองคงต้องคอยสอดส่องดูแลการเรียนรู้ของบุตรหลานบ้าง อย่าคิดว่าจ่ายตังค์แล้วจบ เรียนจบค่ะ แต่อนาคตมันไม่จบอะดิ มันจะต่อสู้ในสังคมโลกบ่ได้(ตอนนี้โลกมันวิ่งเข้ามาหาเราแล้ว) เลยคิดว่าให้ความรู้เรื่องหลักสูตร แก่ท่าน ๆ บ้างดีกว่า จะได้ดูเป็นว่าที่โรงเรียนสอนนั้นเข้ารูปเข้ารอย หรือนอกโลกไปจนกู่ไม่กลับ

หลักสูตร คือ อะไร ถ้าเอาจะเนื้อหาวิชาการ ก็มีหลายความหมายแล้วแต่ใครจะอธิบายไป แต่ที่เข้าใจคือ มวลประสบการณ์ที่สถานศึกษาจัดให้กับผู้เรียน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาด้าน ความรู้ จิตพิสัย และทักษะให้เป็นไปตามจุดประสงค์ของหลักสูตร

จากความหมายข้างต้นมีคำที่คนปกติทั่วไป พ่อ ๆ แม่ ๆ ทั้งหลายอาจจะงง มวลประสบการณ์?  จิตพิสัย? จุดประสงค์ของหลักสูตร? มาดูกันทีละคำ

"มวลประสบการณ์" คำว่าประสบการณ์น่าจะพอเข้าใจกันได้นะคะ คือสิ่งที่ได้ผ่านพบประสบมาแล้วคนนั้นเก็บเป็นข้อมูล เป็นความรู้ เป็นความรู้สึก เป็นทักษะ คำว่าได้ผ่านพบประสบมาก็มีได้หลายแบบ แบบประสบการณ์ตรงก็คือ เจอตัวจริง เจอของจริง ได้ทำจริง ไม่ได้ฟังเค้ามาอีกทอดนึง ซึ่งประสบการณ์ตรงสำคัญที่สุด ดีที่สุด ให้เกิดการเรียนรู้มากที่สุด จนมีรูปแบบการเรียนรู้ที่ว่า Learning by Doing ดังนั้นในการจัดการศึกษาประสบการณ์ที่ว่าคือทุกอย่างที่ผู้เรียนหรือนักเรียนจะได้ประสบ พบ เจอ และทำในโรงเรียน หรือนอกโรงเรียนตามที่สถาบันนั้นจัดให้ ดังนั้นพอเป็นประสบการณ์หลาย ๆ แบบจึงเรียนว่า มวลประสบการณ์เพื่อกินความได้ครอบคลุมหลากหลายว่า ไม่ได้จัดให้รูปแบบเดียว แต่มาเป็นชุด ๆ ที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้

ซึ่งถ้าจะว่าไปเด็กเค้าก็เรียนรู้อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้วค่ะ มันเลยอยู่ที่ว่า เค้าอยู่กับอะไรมาก เจออะไรบ่อย มีอะไรใกล้ เค้าก็รู้เรื่องนั้นไป ยิ่งเด็กเล็ก ๆ สมองก็เหมือนฟองนำ้ ซึมซับดี สิ่งแวดล้อมจึงสำคัญมาก ๆ พ่อแม่ก็ควรระมัดระวัง และให้โอกาสลูก ๆ ได้มีประสบการณ์ที่ดี ที่ทำให้เค้าเรียนรู้โลก ตามวัย ช่วยเสริมกันไปกับโรงเรียน อย่าคิดว่าการเรียนของลูกเป็นภาระของโรงเรียนนะคะ ในโรงเรียนก็ทำในขอบเขตของทักษะความรู้พื้นฐานที่จะเป็นฐานในการเรียนขั้นสูงและมีอาชีพต่อไป เช่น การสื่อสาร การคำนวน การคิด ฯลฯ แต่ทักษะบางอย่างซึ่งมีในหลักสูตรค่ะ แต่ทางบ้านน่าจะช่วยได้ดีที่สุด คือสอนนิสัย สอนวินัย สอนทักษะชีวิต ทัศนคติทางจิตใจค่ะ ยิ่งถ้าอยู่โรงเรียนนักเรียนมาก ๆ ครูไม่มีเวลามาเอาใจใส่นิสัยเด็กทุกคนหรอกค่ะ ยกเว้นพวกก่อปัญหา(ซึ่งตอนนั้นก็แก้ยากแล้ว) ไม่งั้นจะได้ผู้ใหญ่แบบความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด หรือ มีวิชาแต่เห็นแก่ตัว เบียดเบียนสังคม ซึ่งตอนนี้มีมากจริง ๆ



คำต่อไป "จิตพิสัย" คำนี้มาเป็นชุดค่ะ ตามDomain ของการจัดจุดประสงค์การเรียนรู้ ของ Benjamin S.Bloom เค้าแบ่งเป้าหมายของการเรียนรู้เป็น 3 ด้านหลัก ๆ คือ 1) ด้านพุทธิพิสัย(ความรู้ ความจำ ความเข้าใจ ในเนื้อหา) 2) ด้านจิตพิสัย จะเน้นทางทัศนคติ ความรู้สึกถึงคุณค่าหรือส่วนที่เป็นจิตใจ ความคิดเห็นที่เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ เช่น จรรยาบรรณ ซาบซึ้งในคุณค่า  และ 3) ด้านทักษะ คือสิ่งที่ใช้ร่างกายทำอย่างหนึ่งอย่างใดอันเนื่องมาจากความชำนาญ คือผ่านการฝึกมาซ้ำ ๆ จนทำได้ดั่งที่ใจนึก(แบบนักฟุตบอลเตะลูกโทษแล้วบังคับทิศทางได้) ซึ่งในการเรียนรู้เรื่องหนึ่ง ๆ ควรจะคำนึงถึงเป้าหมายที่จะพัฒนาผู้เรียนให้ครบทั้ง 3 ด้าน(แต่ที่ดู ๆ บ้านเราจะเน้นพิสัยแรกซะส่วนมากเพราะมันวัดได้ง่ายสุด) สิ่งนี้จึงตอบคำถามได้ว่าในเมื่อเรียนกวดวิชาแล้วเข้าใจกว่า ทำไมต้องไปโรงเรียนอยู่ล่ะ ก็เรียนในโรงเรียนกวดวิชาเลยไม่ดีกว่าหรือ โรงเรียนกวดวิชาเน้นด้านเดียวค่ะคือพุทธิพิสัย กับทักษะพิสัยในบางวิชาชีพ แต่ปัญหาสังคมตอนนี้คือเราขาดการอบรมปลูกฝังด้านจิตพิสัยกันมาก ขนาดว่ามีกำหนดในหลักสูตรบางทีครูก็ลืม ๆ หรือสอนมากก็ถูกผู้ปกครองบางท่านแทรกแซง(อันนี้เคยโดยมากะตัว คิดแล้วก็ได้แต่ปลง)

คำสุดท้ายอันเนื่องมาจากความหมายของหลักสูตรคือ"จุดมุ่งหมายของหลักสูตร" ในระบบการศึกษาจะทำอะไรก็เหมือนทุกระบบแหละค่ะ ต้องมีเป้าหมาย แต่ละหลักสูตรจะมีเป้าหมายต่างกันตามจุดประสงค์ในการพัฒนาคนของหลักสูตรนั้น เช่น หลักสูตรวิชาชีพทำอาหารตามสั่งขาย ก็มีเป้าหมายให้ผู้เรียนที่จบออกมาประกอบอาชีพทำอาหารตามสั่งหารายได้  หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพต่าง ๆ  ก็มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาผู้เรียนเมื่อจบหลักสูตรผ่านมวลประสบการณ์ต่าง ๆ แล้วได้มาตรฐานตามวิชาชีพนั้น ๆ ตามที่องค์กรณ์วิชาชีพนั้น ๆ ควมคุมคุณภาพอยู่(ถ้ามี) เช่น วิชาชีพครู(คุรุสภา) วิชาชีพแพทย์ วิชาชีพพยาบาล วิศวกร สถาปนิก บัญชี ฯลฯ
สำหรับวิชาชีพครู แต่เดิมถ้าเรียนครบตามหลักสูตรวิชาครูก็ได้ใบประกอบวิชาชีพทันที ทั้งเรียนมาโดยตรงครู 5 ปี และ เรียนเพิ่มเติมคือ ประกาศนียบัตรวิชาชีพครู 1 ปี แต่ตั้งแต่หลักสูตร 2555 เป็นต้นไป นักศึกษาที่เรียนวิชาชีพครูแม้ว่าได้เรียนครบตามหลักสูตรแล้ว ก็ยังต้องไปสอบวัดมาตรฐานอีกครั้งเพื่อให้ได้ใบประกอบวิชาชีพ อันเป็นการควบคุมคุณภาพของครูอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งสถาบันที่ผลิตครูก็ต้องเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาของตนสอบให้ผ่าน ซึ่งเป็นการสะท้อนคุณภาพของสถาบันด้วย



ขอจบภาคแรกไว้แค่นี้ก่อนนะคะ เราได้ความหมายของหลักสูตรล่ะ ไว้คราวหน้ามาดูหลักสูตร สพฐ.หรือ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานกัน

ปล.ข้อมูล ข้อความต่าง ๆ ถ้ามีผู้รู้ท่านใดอ่านแล้วรู้สึกว่าผิดไปจากหลักการจริง ๆ ก็ยินดีรับคำชี้แนะนะคะ ทั้งหมดนี้เขียนมาจากความรู้ที่มีอยู่ในสมองล้วน ๆ ไม่ได้มีการค้นเพิ่มเติม หรืออ้างอิงจากหลักฐานทางวิชาการใด ๆ เลย เพราะตอนเขียนไม่มีข้อมูลใกล้ตัว แต่หวังเพียงสร้่างความเข้าใจให้กับผู้ปกครองอย่างง่าย ๆ เพื่อจะได้ช่วยกันดูแลการศึกษาของลูกหลานได้เข้าใจยิ่งขึ้น

ไว้โอกาสหน้ามาต่อค่ะ




 

Create Date : 19 พฤษภาคม 2555   
Last Update : 19 พฤษภาคม 2555 22:25:03 น.   
Counter : 913 Pageviews.  


การศึกษา 2

จากภาคที่แล้ว ที่สงสัยว่า ทำไมผู้ปกครองเสียงเงินเสียทองส่งลูกเรียนโรงเรียนดัง ? ก็ได้คำตอบจากผู้ปกครอง เรื่องความมั่นใจในการศึกษา และจากการสังเกตเก็บข้อมูลในโรงเรียนต่าง ๆ ที่เจอกับตัวเอง



ความเชื่อมั้นในคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน เป็นสาเหตุหลัก และก็เข้าใจค่ะ อนาคตของลูกต้องเตรียมให้ดี สร้างให้ดี เพื่อชีวิตที่ดีในอนาคต

มีกลุ่มการศึกษาพอแบ่งได้ 3 ระดับ

กลุ่มแรกเรียนฟรี โรงเรียนวัด โรงเรียนประจำหมู่บ้าน ตำบล ก็มีลูกค้าเป็นประชาชนธรรมดา ที่ไม่มีกำลังทุ่มเพื่อการศึกษาของลูก ชีวิตใช้เวลาทำมาหากินจนไม่มีเวลาเลี้ยงดูมากนัก และตอนนี้โรงเรียนขยายโอกาสก็รองรับเด็กต่างชาติเข้ามาจนเกือบจะเกินครึ่ง



กลุ่มที่ 2 โรงเรียนรัฐบาลดัง ๆ หรือเอกชน นักเรียนเยอะมาก เพราะยอดนิยม ค่าเทอมค่อนข้างแพง แต่พอจ่ายได้ ก็เป็นกลุ่มใหญ่ที่บางครอบครัวเพื่อลูกก็ทุ่มแรงกายใจ และเวลากับการได้มาซึ่งเงินค่าเทอมลูก แล้วฝากความหวังไว้กับโรงเรียนเหล่านั้นสานฝันให้เป็นจริง



สุดท้าย ครอบครัวที่มีความพร้อมสูง มีโอกาสเลือกมาก ก็ส่งลูกเข้าโปรแกรมภาษาอังกฤษ โรงเรียนนานาชาติหรือไปเมืองนอกซะเลย คาดว่าน่าจะดีกว่าการศึกษาไทย บางโรงเรียนก็ใช่ค่ะ บางโรงเรียนก็ไม่ อันนี้แพง ไม่มีเงินก็เลิกคิด



เหมือนกับว่าการศึกษามันก็มีหลายระดับ เหมือนสังคมเลย แล้วก็ทำให้เด็กที่จบจากโรงเรียนแต่ละแบบนั้นมีสังคม มีชีวิตที่แตกต่างกันต่อไป แล้วช่องว่างก็จะมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย ดังนั้นผู้ปกครองหลายท่านจึงยอมทุ่มเพื่ออนาคตของลูก

พอไปดูโรงเรียนเยอะ ๆ เข้าก็เริ่มเข้าใจผู้ปกครองค่ะ ลูกเราจะเข้าแบบไหน ถ้าจ่ายได้ก็จะยอมจ่าย แต่เราจะทราบได้อย่างไรว่าเงินที่จ่ายไปเพื่ออนาคตที่ยังมาไม่ถึงนั้น มันประกันได้ว่าความหวังของเราจะเกิดขึ้นจริง



บทนี้ขอกล่าวถึงกลุ่มแรก ใกล้บ้าน ใกล้ประชาชน แต่ถูกมองข้าม เพราะอะไร??

คนส่วนมากคิดว่าโรงเรีัยนวัด โรงเรียนรัฐบาลขนาดกลา่ง และเล็ก ไม่น่าเชื่อถือ
โรงเรียนรัฐบาลที่ดี ๆ ก็มีนะคะ และขอยกย่องสรรเสริญ

ข้อดีค่ะ
1 ใกล้บ้าน เดินทางสะดวก
2. ตอนนี้นักเรียนต่อห้องมีพอดีกับภาระงานครูค่ะ เฉลี่ย 20-30 คน ตรงตามหลัการครู : นักเรียน
3. ถ้าได้ครูดี โรงเรียนดี เป็นชุมชนที่น่ารักค่ะ บางทีครูรู้จักทั้งพ่อแม่เด็ก ก็บ้านมันอยู่กันแถว ๆ นั้นแหละ ครูเข้าใจธรรมชาตินักเรียน สอนได้สอดคล้องกับวิถีชุมชน
4.ประหยัดจ้า ไม่ต้องหามรุ่งหามค่ำทำงานหาเงินส่งค่าเทอมลูก มีเวลาอยู่กับลูก อบรมใกล้ชิดลูกอีก



ส่วนโรงเรียนบางแห่งก็เหลือทนจ้า จนบางทีต้องตัดออกจากระบบ ไม่ให้เด็กไปฝึกสอนแล้ว เพราะกลับเป็นการบ่มเพราะนิสัยไม่ด้(ที่แก้ไม่ได้ซักที) กับทำให้เด็กบางคนท้อและเลิกเป็นครูไปเลย

ปัญหาที่เจอบ่อย ๆ จากการที่ได้เข้าไปในโรงเรียนแบบเนียน ๆ ไปแบบไม่มีการเตรียมการใด ๆ ทั้งนั้น จะว่าไปก็ไม่ค่อยดีนะ เอาเรื่องคนอื่นที่เค้าช่วยดูแลเด็กให้เรามาเม้าท์ แต่ก็อยากจะให้ข้อมูลแก่ผู้ปกครองค่ะ ว่าเงินที่ท่านจ่ายไปเพื่อการศึกษาของลูกท่านนั้นมันคุ้มค่าสมราคารึเปล่า และภาษีที่เราจ่ายไปเพื่อสนับสนุนเงินเดือนครูนั้น มันได้ประโยชน์สมค่ามั้ย



ปัญหาที่มักพบบ่อย
1. การประกันคุณภาพแบบจัดฉาก ศึกษานิเทศ สมศ. ประกันคุณภาพ รอบจริง รอบซ้อม สารพัดรอบมาตรวจ การเรียนการสอนปกติหยุดหมดจ้า(อันนี้เซ็งมากตั้งใจไปดิบดี วันนี้ซ้อมรับ สมศ. ครูไม่สอนค่ะ หนูต้องดูนักเรียนแทน อ้าว.ชั้นขับรถมาเสียเปล่าเหรอเนี่ย) ระดมกำลังทั้งครู ทั้งนักเรียนไปเตรียมตัว เตรียมซ้อมนักเรียนบางส่วนเพื่อการแสดง(ไอ้ที่เหลือนั่งในห้อง ครูไปประชุม) ซื้อต้นไม้ ดอกไม้ จัดบอร์ด จัดห้อง ขอยืมอุปกรณ์ตกแต่งต่าง ๆ (ตอนนี้ล่ะงานเก่านักศึกษาที่ส่งมาไม่เอาคืนก็มีค่าในบัดดล) เพื่อให้ผู้ประเมินมาดู แล้วตอนปกติทำไมไม่ทำ เสร็จแล้วเอาไงล่ะ ตกลงว่าที่ สมศ. มาประเมินไปนั้นfack แต่ของจริงก็ตอนอื่นๆ (อันนี้ไว้มีโอกาสเจอผู้ปฏิบัติงานจะขอความกรุณาชี้แจงให้ทราบเหตุผล ตอนนี้เหมือนกล่าวหา แต่ก็ขออนุญาตพาดพิงก่อนนะคะ)
อาจารย์นิเทศนี่แหละเห็นตลอด คุณจะไปตรวจโรงเรียนทำไมไม่ไปดูตอนเค้าทำงานจริง ๆ เล่นแจ้งไปก่อน แบบให้เตรียมเลี้ยงดูปูเสื่อเนี่ย มันเพื่ออะไรวะ ตกลงมันควรจ้าง ศึกษานิเทศ สมศ.มั้ยเนี่ย อยากรู้ความจริงถามชั้นเนี่ย รู้ลึก รู้จริง



2.ครูใหญ่ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ครูใหญ่ คือ key man บริหารไม่เป็น เน้นอำนาจ ขาดความรู้ ก็จบค่ะ บางทีความรู้ ความตั้งใจอย่างเดียวไม่พอ ต้องบริหารคนเป็นด้วย ส่วนที่สังเกตเห็นคือวัฒนธรรมองค์กรณ์ค่ะ ประเพณีวัฒนธรรมองค์กรที่ดี ๆมันก็มีนะคะ แต่ไอ้แบบที่ทำตาม ๆ กัน ทำไปทำไม เพื่ออะไร ที่ไม่ใช่เพื่อการพัฒนาเด็กเนี่ย ครูใหญ่ฉลาด ๆ ก็จะบริหารจัดการให้เิกดประโยชน์ได้ และรู้ว่าบางเรื่องต้องทำ บางเรื่องควรทำ บางเรื่องไม่ต้องสนใจ(ก็ได้) เช่น ไปมอบดอกไม้คนรับตำแหน่ง(เจ้านาย) เสียค่าดอกไม้ ค่ากระเช้า ค่าเวลา ค่ารถ ไปคนเดียวก็ไม่ได้ต้องยกขบวนกันไป ,ไปศึกษาดูงานที่ต่าง ๆ(ก็ไปเที่ยวนั่นนะ แล้วเอามาทำบ้างป่าวไม่รู้) , ครูน้อยบางคน ไปอบรมที่เน้นช็อปปิ้ง แค่ถ่ายรูปหน้างานแล้วก็โดดการอบรม และครูไม่มา ไม่สอน ไม่รู้อยู่ไหน ครูใหญ่มีทั้งรู้และไม่รู้ แล้วยังรับเงินเดือนเต็ม (ถ้าไม่รู้ก็ไม่ควรเป็นครูใหญ่ แต่ถ้ารู้แล้วไม่ทำอะไรก็เป็นครูใหญ๋ทำไมวะ) และครูที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ผิดศีลธรรม จรรยา ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีตามวิชาชีพ แล้วสร้างปัญหาและเสียภาพพจน์ มีหลายเรื่องค่ะ ถ้าครูใหญ่เก่ง ดี ก็จัดการได้ค่ะ คนไม่ดีก็อย่าให้สร้างความเดือดร้อนวุ่นวาย คนดีก็ส่งเสริม...............เหตุที่คุณภาพการศึกษาได้ไม่เต็มที่เพราะผู็นำไม่ดี และจากประสบการณ์ทั้งของตัวเอง และจากบิดา(ซึ่งก็เคยเป็นทั้งครูน้อย ครูใหญ่ อาจารย์และคณบดี) บอกว่า โรงเรียนจะดีได้ แค่ครูใหญ่ดี ๆ คนเดียวก็แจ่ม ใช่เลยค่ะ ไว้วันหลังจะสัมภาษณ์ครูใหญ่เจ๋ง ๆ มาฝาก ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่อยากรู้ว่าโรงเรียนจะเป็นอย่างไร คุยกะครูใหญ่ แม้จะไม่ได้ทั้งหมดก็พอเดาทิศทางได้ว่าจะร่วงหรือรอด



3. ครูน้อยทำผลงาน อันนี้ไม่เข้าใจในระบบการศึกษาไทยจริงๆ ที่มาเน้นการทำผลงานเพื่อเพิ่มเงินเดือนครู งานการสอนในห้องเละเลย ครูก็เน้นผลงานที่ไม่ได้เป็นความจริงเพื่อการพัฒนาเด็ก นักศึกษาฝึกสอนรับเละจ้าถ้าครูพี่เลี้ยงกำัลังทำผลงาน โดยหลักการน่าจะดีนะคะ มันคือการทำวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน คุณไปคาดหวังให้ครูทำวิจัย แล้วเค้าไม่ได้เรียนมา เน้นมา ใครจะทำได้วะ แถมครูเองก็ขี้เกียจเรียนรู้อะไรใหม่ด้วย และคุณให้ใครที่ไหนไม่รู้ตรวจ(อ.ทางเหนือ ได้อ่านผลงานจากครูอีสานและภาคกลางจ้า หน้าตาไม่เคยเห็น งานจริงไม่เคยดู ดูจากเอกสารอย่างเดียว) จะรู้ได้ไงว่าครูเค้าทำจริง ๆ จนเกิดธุรกิจรับจ้างทำผลงาน ได้เงินกันเป็นกอบเป็นกำ ไม่ต้องอะไรมาก ตัวเองนี่แหละสมัยจบป.โทใหม่ ๆ มีคนมาจ้างทำผลงาน เราก็คิดว่าครูไม่มีเวลาค้นคว้า เขียนเล่มไม่เป็น ดูสถิติไม่ได้ ก็คล้าย ๆ กับเราเป็นผู้ช่วยอำนวยความสะดวกให้ ปรากฎว่า ให้เราmake ทุกอย่างเองหมด ทำแต่เครื่องมือ แล้วก็ไม่ได้เอาไปใช้จริง ขอเสนอผลงานเป็นอาจารย์ 3 อะไรซักอย่าง รับไม่ได้ค่ะ รับแค่ 2 งานแล้วเลิก ผิดศีลอย่างแรง กลัวเกิดใหม่แล้วโง่ เพราะไปหลอกคนอื่นไว้และส่งเสริมคนทำผิด ทำลายการศึกษา



4.ครูหมดไฟ อันนี้ผลงานไม่ทำแล้ว อะไรก็ไม่เอาแล้ว รอเกษียณอย่างเดียว ไม่สนใจ ไม่พัฒนาอะไร ไม่ง้ออะไร รอเวลาอย่างเดียว อันนี้ก็สงสัยว่างั้นก็ลาออกไป มากินเดือนเดือนภาษีประชาชนอยู่ทำไมเต็มที่ แต่ทำงานไม่ถึงครึ่ง ไปอยู่บ้านเลี้ยงหลานไป่ แถมมาโหลดงานกับเด็กใหม่ แล้วไอ้เด็กใหม่พอมันมีโอกาสมันก็เอาบ้าง เลื่อนงานไปให้เด็กฝึกสอน ฝึกสอนคือฝึกสอนจ้า ไม่ได้สามารถเท่าครูจริง ดูแทนได้บางอย่าง แต่ไม่ทุกอย่าง กรรมตกอยู่ที่นักเรียน



ข้างบนนั้นเป็นปัญหาหลัก ๆ ที่เจอนะคะ อ่านแล้วหดหู่หัวใจดีแท้ จริง ๆ ค่ะ ไปนิเทศนักศึกษาฝึกสอนแต่ละที มีหลายหนที่กลับมาแบบหมดสภาพจิตใจหดหู่ แต่โรงเรียนดี ๆ ที่ๆปแล้ว Happy ก็มีนะคะ เมื่อมีปัญหาเรื่องโรงเรียน จึงต้องเกิดการพยายามแก้ปัญหา โดยเดินทางหาโรงเรีัยนต้นแบบในฝันเพื่อส่งนักศึกษาไปฝึกสอนค่ะ เทอมหน้าส่งไปแม่อาย (ครูยอมจ่ายค่าน้ำมันเองไปสำรวจและสัมภา่ษณ์ครูใหญ่ให้ก่อน) ไว้มีอะไรคืบหน้าจะมาเล่าให้ฟังนะคะ



แล้วในฐานะผู้ปกครองคนเสียภาษีทำอะไรได้บ้าง อยากจะให้ท่าน ๆ ช่วยกันมีส่วนร่วมในการศึกษามาก ๆ ค่ะ จะว่าแทรกแซงก็ไม่ขนาดนั้นนะคะ คุยกันกับครูและผู้รู้ค่ะ ตรวจสอบดูแลถามไถ่เอากะลูกคุณนั่นแหละค่ะ เค้าเป็นผู้เรียนที่พึงประสงค์รึยัง ดูจากอะไรได้ ดูจากหลักสูตรค่ะว่าโรงเรียนสอนตามหลักสูตร การศึกษาขั้นพื้นฐานมั้ย(กรณีโรงเรียนไทยนะคะ) ถ้าดูไม่เป็นก็คงต้องเรียนรู้ล่ะค่ะ คุณอย่าไปฝากความหวังไว้ตอนจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพราะตอนนั้นมันแก้อะไรไม่ทันแล้ว คงต้องโหลดหลักสูตรมาอ่านค่ะ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้ฐานพ.ศ. 2551 ตามlink นี้เลยนะคะ ค่อย ๆ อ่าน ค่อย ๆ ดู คุณพึ่งใครไม่ได้แล้วค่ะ เพื่อประโยชน์ของตัวเองและลูก เราจะได้ช่วยกันตรวจสอบคุณภาพด้วย อย่ายกภาระให้แต่คนในหน่วยงาน บางทีมันก็เยอะจนดูไม่ทั่วถึง และจะได้เข้าใจครูด้วยว่า เราควรทำงานด้วยกันไปในทิศทางใด หลักสูตรเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองควรรู้นะคะ อย่างน้อยในแง่หลักการ ไว้โอกาสหน้าจะเอามาอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ


แต่อยากจะให้ทุกท่านเข้าใจไอย่างหนึ่งว่า แม้ว่าโรงเรียนดี สิ่งแวดล้อมดี แต่ถ้าคุณไม่มีเวลาดี ๆ อบรมสั่งสอนลูกคุณก็เท่านั้นแหละ และแม้ว่าโรงเรียนปานกลาง อยู่ในสิ่งแวดล้อมปานกลาง แต่ครอบครัวมาความอบอุ่น เข้าใจ ใส่ใจ เด็กมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงค่ะ(ขอเน้นว่าแบบไม่เบียดเบียนผู้อื่นและสังคมด้วยนะคะ) และโรงเรียนไม่ค่อยดี สิ่งแวดล้อมไม่ค่อยดี แต่ก็มีเด็กดี ๆ เกิดขึ้นได้ ถ้าครอบครัวดีนะคะ จะเห็นได้ว่าสิ่งสำคัญคุณอย่าเอาโรงเรียนเป็นที่ตั้ง คิดว่าจ่ายเงินแล้วก็จบ มัวทำงานหาเงิน ระวังจะได้แต่เงินจริง ๆ ไม่มีความสุข โรงเรียนเป็นเพียงแนวทาง วางรากฐานการเรียนรู้ค่ะ บ้านคือการต่อยอดการเรียนรู้จากโรงเรียน มันเป็นหน้าที่ที่บ้านนะคะที่จะทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้นอกห้องเรียน ตามแบบที่เด็กแต่ละคนจะเหมาะ บางทีก็เคยเจอพ่อแม่ที่ไม่ฝึกระเบียบวินัยลูกที่บ้านเลย แต่พอมาโรงเรีัยนจะให้ครูสอนลูกตัวเองให้ได้เนี่ยคงยากล่ะค่ะ ดังนั้น 2 ประสานดีกว่านะคะ

การศึกษาไม่ใช่หน้าที่ของโรงเรียนเท่านั้นค่ะ
จบแบบงง ๆ ไว้โอกาสหน้ามาใหม่ค่ะ

ปล.ภาพประกอบส่วนมากเป็นภาพจากการนิเทศนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพค่ะ ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหานะคะ




 

Create Date : 18 มีนาคม 2555   
Last Update : 26 มีนาคม 2555 23:38:48 น.   
Counter : 795 Pageviews.  


1  2  

อันต้า
 
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Logo           พยายามทำหน้าที่ของตัวเอง  Smileyไม่เบียดเบียนตนอื่น(ระวังคนอื่นเบียดเบียนเราด้วย) Smiley มีน้ำใจมาก ๆ (เตือนตัวเองบ่อย ๆ ) หวังไว้ว่าแก่ตัวมาจะได้มีสังคมที่ดี ไม่ต้องย้ายหนีไปอยู่ที่อื่น(เพราะทนอยู่ไม่ได้) ......แต่ไปอยู่ไหนดีล่ะ Smiley  เอาวะช่วยกันสร้างดีกว่า อย่างน้อยก็อย่าทำลายเนอะ Smiley

Free TextEditor        comment box
New Comments
[Add อันต้า's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com