ตุลาคม 2552
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
22 ตุลาคม 2552
 
 

การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift)

การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift)
กระบวนทัศน์ (Paradigm) มาจากภาษากรีก โดย para แปลว่า beside ส่วน digm แปลว่า ทฤษฎี คือ ชุดแนวความคิด หรือ มโนทัศน์ (Concepts) ค่านิยม (Values) ความเข้าใจรับรู้ (Perceptions) และการปฏิบัติ (Practice) ที่มีร่วมกันของคนกลุ่มหนึ่ง ชุมชนหนึ่งและได้ก่อตัวเป็นแบบแผน ของทัศนะอย่างเฉพาะแบบหนึ่ง เกี่ยวกับความจริง (Reality) ซึ่งเป็นฐานของวิถี เพื่อการจัดการตนเอง ของชุมชนนั้น ทีทำหน้าที่สองประการ ประการแรกทำหน้าที่ วางหรือกำหนดกรอบ ประการที่สอง ทำหน้าที่บอกเราว่าควรจะประพฤติปฏิบัติอย่างไร ภายในกรอบเพื่อให้เกิดความสำเร็จ
“กระบวนทัศน์” (Paradigm) คืออะไร คงจะมีคำแปลอยู่หลายๆ อย่าง เริ่มจาก โทมัส คูน (Thomas S. Khun) นักประวัติศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นต้นตำรับของการใช้คำว่า Paradigm หรือ กระบวนทัศน์ โดยมุมมองทางด้านวิทยาศาสตร์ได้นิยามไว้ว่า “ คือตัวอย่างต่างๆ ที่เป็นที่ยอมรับของการทำงานด้านวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง ตัวอย่างที่รวมไปถึงกฎ ทฤษฎี การนำไปใช้และเครื่องมือรวมกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ก่อให้เกิดรูปแบบที่ซึ่งนำไปสู่แนวปฏิบัติที่เชื่อมโยงกันอย่างเฉพาะพิเศษในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และอธิบายต่อว่า “คนที่มีงานวิจัยอยู่ในกระบวนทัศน์เดียวกัน จะมีกฎและมาตรฐานการปฏิบัติทางวิทยาศาสตร์เหมือนกันและได้ผลออกมาเหมือนกัน”
ต่อมาอดัม สมิท (Adam Smith) จากหนังสือPower of the Mind ก็มาให้คำจำกัดความที่กระชับขึ้นว่า “กระบวนทัศน์ คือ วิถีทางที่เรามองโลก ดังเช่น ปลามองน้ำ กระบวนทัศน์อธิบายเรื่องราวของโลกต่อเรา ช่วยให้เราคาดเดาพฤติกรรมของโลกได้ การคาดเดามีความสำคัญมาก” และยังมีอีกหลายๆ คนที่มาพยายามอธิบายความหมายของกระบวนทัศน์ แต่ผู้ที่ให้ความหายที่น่าจะเข้าใจง่ายที่สุด คือ โจเอล อาร์เธอร์ บาร์เคอร์ (Joel Arthur Barker) ผู้เขียนหนังสือ Paradigm และ Future Edge ได้ให้ความหมายว่า “กระบวนทัศน์” คือ ชุดของกฎและกติกา(ที่เป็นหรือไม่เป็นลายลักษณ์อักษร) ที่ทำสองอย่าง : (1) ทำหน้าที่วางหรือกำหนดกรอบ (2) ทำหน้าที่บอกเราว่าควรจะประพฤติปฏิบัติอย่างไรภายในกรอบเพื่อให้เกิดความสำเร็จ” รวมไปถึง “เราวัดความสำเร็จนั้นอย่างไร” บาร์เคอร์สรุปว่า กีฬาทุกชนิดมีกระบวนทัศน์ของตนเอง กระบวนทัศน์ของเทนนิส แน่นอนมีกรอบ มีกติกา มีกระบวนการที่จะต้องแก้ปัญหาให้เกิดความสำเร็จ เมื่อเผชิญกับลูกบอลที่กระดอนข้ามเนตมา เราจะแก้ปัญหาโดยการตีหรือตบอย่าไรให้ลงคอร์ทตามกฎกติกาของเทนนิส กระบวนการแก้ปัญหาเหล่านี้ เราต้องใช้ไม้แรคเก็ตเทนนิสตีหรือตบ ไม่ใช่ใช้ไม้แบดมินตัน หรือใช้มือตีหรือใช้เท้าเตะ และถ้าเราตีกลับไปด้วยเครื่องมือที่ถูกต้อง ข้ามเนตไปตกอยู่ในเส้นกรอบของคอร์ท เราก็ได้แก้ปัญหานั้นสำเร็จ และก็กลายเป็นปัญหาให้คู่ตีของเราต้องแก้ปัญหาบ้าง เกมส์กีฬาทุกชนิดจึงมีกระบวนทัศน์ของตนเอง คนที่มีอาชีพต่างๆ กัน ก็มีกระบวนต่างไปในการประพฤติปฏิบัติและประสบความสำเร็จ มีความแตกต่างบางประการระหว่างกระบวนทัศน์วิทยาศาสตร์และกระบวนทัศน์อื่นๆ คือ กระบวนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ ถ้าเราทำการทดลองสำเร็จเรื่องใดก็ตาม เมื่อคนอื่นทำตามด้วยเครื่องมือแบบเดียวกันและขั้นตอนเหมือนกันจะประสบความสำเร็จเหมือนกัน แต่กระบวนทัศน์อื่นๆ เช่น ด้านกีฬาและศิลปะ จะแตกต่างกันที่เราเอาไม้แรคเก็ตก็ดี แปรงสี สีและกระดาษให้คนสองคนทำตามทุกขั้นตอนเหมือนกัน แต่อาจจะประสบความสำเร็จหรือไม่สำเร็จต่างกันก็ได้
เฉลิมพล ศรีหงษ์ กล่าวว่า กระบวนทัศน์ หมายถึง การกำหนดแก่นของปัญหาและแนวทางแก้ปัญหาในลักษณะภาพรวม ซึ่งได้รับการยอมรับจากนักวิชาการที่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และใช้เป็นพื้นฐานร่วมกันในการศึกษาค้นคว้าหาคำตอบ หรืออธิบายรายละเอียดต่อไป
กล่าวโดยสรุปกระบวนทัศน์ หมายถึง ตัวแบบ รูปแบบ กรอบแนวความคิด แนวทางการศึกษา ที่ใช้วิธีการทางด้าน วิทยาศาสตร์ เป็นเครื่องมือในการศึกษา และแก้ปัญหาในเรื่องใดเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับของนักวิชาการ ณ ช่วงระยะเวลาหนึ่ง

Paradigm เป็นวิธีการหรือมุมมองต่อปรากฏการณ ์ที่แสดงความสัมพันธ์ ซึ่งนำไปสู่การวิจัยและการปฏิบัติ ช่วยให้เราเข้าใจปรากฏการณ์ ประเด็นปัญหา แนวทางแก้ไข และเกณฑ์ ในการพิสูจน์ข้อสันนิษฐาน paradigm ประกอบด้วยทฤษฎีและวิธีการ
Paradigm หรือ กระบวนทัศน์ โดยมุมมองทางด้านวิทยาศาสตร์ได้นิยามไว้ว่า คือตัวอย่างต่างๆ ที่เป็นที่ยอมรับของ การทำงานด้าน วิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง ตัวอย่างที่รวมไปถึงกฎ ทฤษฎี การนำไปใช้และเครื่องมือรวมกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ก่อให้ เกิดรูปแบบที่ซึ่งนำไปสู่ แนวปฏิบัติที่เชื่อมโยงกันอย่างเฉพาะพิเศษ ในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และอธิบายต่อว่า " คนที่มีงานวิจัยอยู่ในกระบวนทัศน์เดียวกัน จะมีกฎและมาตรฐานการปฏิบัติทางวิทยาศาสตร์เหมือนกัน และได้ผลออกมาเหมือนกัน"
กระบวนทัศน์ ก็คือ กระบวนคิดวิเคราะห์ วิธีคิด วิธีปฏิบัติ แนวการดำเนินชีวิต มาทบทวนใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับยุค และสถานการณ์ ที่กำลังเกิดขึ้น และที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ความเชื่อพื้นฐานที่มีในจิตใจของมนุษย์ทุกคน แตกต่างกันตามเพศ ตามวัย ตามสิ่งแวดล้อม ตามการศึกษาอบรม และตามการตัดสินใจเลือกของแต่ละบุคคล ความเชื่อพื้นฐานนี้แหละเป็นตัวกำหนด ให้แต่ละคนชอบอะไร และไม่ชอบอะไร พอใจแค่ไหนและอย่างไร เป็นตัวนำร่องการตัดสินใจ ด้วยความเข้าใจ และเหตุผลในตัวบุคคลคนเดียวกัน อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ หากรู้สึกว่ามีเหตุผล เพียงพอที่จะเปลี่ยน แต่จะไม่เปลี่ยนด้วยอารมณ์ ก่อนเปลี่ยนจะต้องมีความเข้าใจ กระบวนทัศน์เก่าที่มีอยู่และ กระบวนทัศน์ที่จะรับเข้ามาแทน มีการชั่งใจจนเป็นที่พอใจ มิฉะนั้นจะไม่ยอมเปลี่ยน เพราะอย่างไรเสีย ตราบใดที่มีสภาพเป็น คนเต็มเปี่ยมจะต้อง มีกระบวนทัศน์ใด กระบวนทัศน์หนึ่งเป็น ตัวตัดสินใจเลือกว่า จะเอาหรือจะปฏิเสธ ไม่มีไม่ได้ ถ้าไม่มีจะไม่รู้จักเลือก และตัดสินใจไม่เป็น
กระบวนทัศน์ไม่ใช่สมรรถนะตัดสินใจ สมรรถนะตัดสินใจ(faculty of decision) คือ เจตจำนง (The will) กระบวนทัศน์เป็นสมรรถนะเข้าใจ (understanding) และเชิญชวนให้เจตจำนงตัดสินใจ
กระบวนทัศน์แม้จะมีมากมาย กล่าวได้ว่าไม่มีคน 2 คนที่มีกระบวนทัศน์เหมือนกันราวกับแกะ
กระบวนทัศน์การวิจัย (Research Paradigm) เป็นกระบวนการทางความคิดและปฏิบัติการเกี่ยวกับการวิจัย ที่มีการเชื่อมโยง ระหว่างโลกทัศน์ (worldview) และมโนทัศน์ (concept) ต่อความเป็นจริง หรือปรากฏการณ์ในโลกอันเป็นพื้นฐาน ในการสร้างและทำความเข้าใจรับรู้ (perception) ต่อความเป็นจริง หรือปรากฏการณ์นั้นๆ เพื่อพัฒนาไปสู่การสร้างแนวปฏิบัติ (practice) รวมทั้งหาวิธีการจัดการ (management) ร่วมกัน โดยมีเป้าหมาย ในการสร้างแบบแผน (pattern) แบบจำลอง (model) รวมทั้ง ค่านิยม (value) ที่เป็นพื้นฐาน การจัดการตนเอง ของชุมชนหนึ่งๆ
การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) คือ การเปลี่ยนแปลงความรู้ วิธีคิดแบบใหม่ที่หักล้างและท้าทายกระบวนทัศน์เก่า จนกระทั่งกระบวนทัศน์เดิมไม่มีพลังในการอธิบายหรือแก้ปัญหาได้
การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ นั้น เกิดขึ้นเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้นในสังคมมนุษย์ ครั้งที่หนึ่ง จากที่มนุษย์เร่ร่อนหากิน โดยการล่าสัตว์และเก็บพืชผลตามธรรมชาติมาทำเกษตรกรรมแบบตั้งรกราก และครั้งที่สอง เมื่อสมัยเรเนซอง และการปฏิวัติอุตสาหกรรมตามมา โดยอาจมองเดคาร์ต-นิวตัน ว่าเป็นนักคิด นักวิทยาศาสตร์ที่ให้ความชัดเจน แก่กระบวนทัศน์ในยุคนั้น ซึ่งได้แบ่งกายออกจากจิตอย่างเด็ดขาด และนิวตันก็มองสรรพสิ่งว่าเป็นก้อน ดังเช่นลูกบิลเลียดที่เคลื่อนไหว กระทบกระทั่งกัน หรือสัมพันธ์กันแต่ภายนอก ซึ่งจะตรงข้ามกับทัศนะในการ มองธรรมชาติแบบกระบวนทัศน์ใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นในการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ ครั้งที่สาม ที่มนุษยชาติกำลังจะก้าวเข้าสู่ ยุคควอนตัมฟิสิกส์ที่ความสัมพันธ์แบบ เครือข่ายอันเป็น พลวัตจากภายในกายกับจิต คือหนึ่งเดียวไม่อาจแบ่งแยกกันได้ เคลื่อนไหวแปรเปลี่ยนแทรกซึมอยู่ในทุกสรรพสิ่ง
ฉะนั้น เมื่อโลกกำลังเปลี่ยนแปลงมนุษย์จึงจำเป็นจะต้องมีวิธีคิดแบบใหม่
ในเรื่องวิธีคิดแบบใหม่นี้ จำเป็นต้องทำความเข้าใจเรื่อง รากฐานของการเรียนรู้ เพราะกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ ทั้งหมดตั้งอยู่บนฐาน ขององค์ความรู้ที่เราเชื่อมั่นว่าเป็นความจริง องค์ความรู้ที่ให้คำอธิบาย หรือตอบความจริงที่ว่านั้น ให้กับมนุษย์เราที่สำคัญที่สุดคือ วิทยาศาสตร์ที่มีรากเหง้าจากฟิสิกส์ กระบวนการเรียนการสอนทั้งหมดตั้งอยู่บนรากฐานนั้น วิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์เก่าจากฟิสิกส์เก่า และในปัจจุบันนี้ก็ยังมีวิทยาศาตร์ใหม่ที่ตั้งบนฟิสิกส์ใหม่เพิ่มเติมขึ้นมาอีก และบางส่วนได้พิสูจน์อย่างไร้ข้อสงสัยแล้วว่า วิทยาศาสตร์เก่า แม้ว่าจะนำมาใช้ได้จริงแต่ก็ยังหยาบมาก ซึ่งเมื่อลงไปในรายละเอียดแล้ว วิทยาศาสตร์เก่านั้นมีทั้งไม่จริงหรือไม่ก็ไม่สมบูรณ์เลย
วิทยาศาสตร์ใหม่และเป็นความรู้ใหม่จริงๆ นั้นมาจากวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่ นำมาใช้ตามคำเรียกหาของนักวิชาการตะวันตก ในความหมายที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ด้านหนึ่งหมายถึง ควอนตัมฟิสิกส์และทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ ส่วนอีกด้านหนึ่งคือ วิทยาศาสตร์ทางจิต สำหรับควอนตัมฟิสิกส์นั้น แม้ว่ายังมีการจัดไว้ให้เป็นวิทยาศาสตร์กายภาพ แต่ที่แน่นอนคือ ควอนตัมฟิสิกส์ ไม่ใช่ฟิสิกส์คลาสสิกของนิวตัน หรือกาลิเลโอดังเช่นที่เราคุ้นเคยกันอยู่ในขณะนี้ แม้ว่าจะมีบางอย่างที่ไม่จริง แต่ก็ยังนำมาใช้ได้ เป็นเพราะวิทยาศาสตร์เก่าตั้งบน หลักการเครื่องจักรเครื่องยนต์ประกอบขึ้น มาจากชิ้นส่วนของวัตถุที่แปลกต่างกัน เครื่องจักรเครื่องยนต์ที่จะทำงานได้ก็ต้องอาศัย พลังงานจากภายนอก ทำให้เราสามารถกำหนดหรือทำนายผลของการทำงานนั้นๆ ได้
กระบวนทัศน์การสื่อสารได้เปลี่ยนจากการใช้ควันไฟ เช่น อินเดียแดง หรือกระจกสะท้อน เช่น ทหารเรือสมัยโบราณ มาเป็นการใช้ม้าเร็ว ใช้จดหมายผูกติดขานก หรือเขียนจดหมายลอยใส่ขวด มาเป็นการใช้จดหมายทางไปรษณีย์ ใช้การส่งรหัสมอร์ส โทรเลข จนมาถึงการใช้โทรศัพท์ตามสาย โทรศัพท์ไร้สาย จนถึงเครื่องโทรสาร หรือ e-mail ซึ่งสามารถส่งกระดาษที่มีข้อความตั้งแต่หนึ่งหน้าไปจนถึง เอนไซโคลปีเดีย เป็นเล่ม ๆ ภายในเวลาไม่กี่นาที ไม่กี่วินาที ข้ามทวีปไปในที่ต่าง ๆ ได้ กระบวนทัศน์การสื่อสารในปัจจุบันถึงเล่าให้คนในอดีต 50 ปี 100 ปี ก็จะไม่เข้าใจเพราะกระบวนทัศน์ยุคก่อนนั้น ไม่สามารถอธิบายกฎ กติกา กระบวนการทฤษฎีและเครื่องมือที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้ เราก็ไม่อาจจะคาดเดาไปได้ในอนาคต แต่จินตนาการนั้นไปได้ไกลกว่า วิทยาศาสตร์ที่ยังอธิบายหลาย ๆ เรื่องที่มนุษย์มีจินตนาการไม่ได้ เช่น การเคลื่อนย้ายมวลสาร เช่น ตัวตนคนจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งเหมือนในหนังเรื่อง Star Trek หรือ The Fly อ้ายแมลงวัน แต่ความฝันเหล่านั้นสักวันหนึ่ง อาจจะเป็นจริงไปได้ จินตนาการเหล่านี้ก็เกิดขึ้นในอดีตก่อนจะเป็นความจริง เช่น ความฝันที่จะบินได้แบบนก ของมนุษย์ จนได้มีความพยายามที่จะบินอย่างนกมาหลายต่อหลายครั้งและมาสำเร็จเมื่อพี่น้อง ตระกูลไรท์ ได้เปลี่ยน กระบวนทัศน์ของการบินสำเร็จ ความคิดเห็นหรือจินตนาการของคนเราจึงมักถูกจะมองว่าสติไม่ดีหรือ บ๊อง ๆ จนกว่าจินตนาการนั้นเป็นความจริง
คนที่มองทะลุก่อนใครไปในอนาคต จึงจะเห็นโอกาสไม่ต้องดูอื่นไกล กระบวนทัศน์แห่ง
การสื่อสารที่เปลี่ยนจากโทรศัพท์มีสายไปเป็นกระบวนทัศน์โทรศัพท์ไร้สายก็ดี หรือ การสื่อสารทางไปรษณีย์ไปเป็นโทรสารไปเป็นอิเลคโทรนิคเมลล์ (electronic Mail หรือ e-mail ) ก็ดีผู้ที่มองเห็นก่อนและดำเนินธุรกิจด้านนี้ ก็จะประสบความสำเร็จอย่างมากมายได้
เมื่อกระบวนทัศน์เปลี่ยนทุกคนจะเริ่มต้นจากศูนย์พร้อม ๆ กัน แต่ถ้าคนที่มองทะลุกรอบ รู้ว่ากระบวนทัศน์กำลังจะเปลี่ยน แล้วเตรียมตัวก่อน เสียก่อน ก็มีโอกาสถึงเส้นชัยก่อน
เราลองมาดูจากนักคิดว่า กระบวนทัศน์ที่เปลี่ยนไปที่บรรดานักมองอนาคตหรือผู้มีวิสัยทัศน์ได้พยายามบอกเราว่าอะไรกำลังเปลี่ยน หรือเพิ่งจะเปลี่ยนไปของกระบวนทัศน์มีอะไรบ้าง
จากหนังสือ Leadership in Future ของ Peter Drucker Foundation ได้พูดถึงกระบวนทัศน์ใหม่ของผู้นำ สิ่งแรกที่ผู้นำจะต้องมี คือ “การทำในสิ่งที่ถูกต้อง” หรือ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Doing the Right Things” ซึ่งจะต่างจากกระบวนทัศน์เดิมซึ่งเป็น กระบวนทัศน์ของผู้จัดการ คือ “การทำอะไรให้ถูกต้อง” หรือ “Doing the Things Right” ซึ่งถ้าพูดเร็วหรือฟังเร็วจะดูเหมือนๆ กัน แต่ถ้ามานั่งคิดให้ดีจะเห็นว่ามีความสำคัญต่างกัน คือ
ผู้นำจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง คือ การจะนำใครไปในทิศทางไหนก็แล้วแต่ เช่น สมมติจะเดินขึ้นบันได การจะพาดบันไดไปกับกำแพงไหนจะมีทางเดินต่อไปไหม หรือจะกลายเป็นเหวอยู่ข้างหน้า จึงสำคัญมากสำหรับยุคสมัยนี้ อาจจะสำคัญว่า การทำอะไรให้ถูกด้วยซ้ำไป เพราะถ้าเดินผิดทิศ แม้จะเดินดีแล้ว แม้จะปีนบันไดได้อย่างดีไม่พลาดตกลงมาแต่จุดหมายปลายทางไม่ใช่จุดที่ถูกต้องแล้ว ก็คงจะเสียเวลาเปล่า ก็เหมือนตอกย้ำเรื่องของนาฬิกาสวิสนั่นเอง
มุมมองของกระบวนทัศน์ใหม่ของหลาย ๆ เรื่องคือ
มุมมองเกี่ยวกับการบริการสุขภาพ กระบวนทัศน์เดิมคือ การวินิจฉัยและการรักษา ซึ่งเป็นกระบวนทัศน์ที่เราอยู่และทำกันมาตลอด แต่เราจะไม่ชนะ ถ้าเรามองแต่การรักษา ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ เช่นเดียวกับการผ่าตัดรักษามะเร็ง ซึ่งเป็นการรักษาปลายเหตุ เมื่อคนไข้มาช้า ซึ่งมักจะมาช้าก็สายเกินไป แต่กระบวนทัศน์ใหม่ที่ควรจะเป็น คือ กระบวนทัศน์ของการส่งเสริมและการสร้างสุขภาพ ไม่ใช่การซ่อมอย่างในอดีต เพราะการส่งเสริมให้มีการป้องกันโรค ให้มีการออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรงจะคุ้มค่ากว่าประหยัดกว่าและได้ผลมากกว่า คนที่มองเห็นว่ากระบวนทัศน์ตรงนี้กำลังเปลี่ยนหรือเปลี่ยนและได้เห็นทิศทางนี้ มาทำธุรกิจด้านการเสริมสุขภาพ เช่น อาหารชีวจิต ศูนย์ออกกำลังกาย มักจะประสบความสำเร็จที่ดี เนื่องจากปัจจุบัน ประชาชนเห็นความสำคัญของการมีสุขภาพที่ดี (Health Conscious) ตลาดด้านนี้จึงเปิดกว้างอย่างมากทีเดียว
มุมมองเกี่ยวกับความยุติธรรม กระบวนทัศน์เดิมที่ผ่านมาที่เราใช้กระบวนการตัดสินโดยศาลยุติธรรมซึ่งถือว่ามีความเหมาะสมที่สุด เริ่มเปลี่ยนไปเพราะกระบวนการนี้ จะเป็นการกระบวนการที่เรียกว่า Adversarial process หรือ กระบวนการปฏิปักษ์ คือ โจทก์ก็ดี จำเลยก็ดี หาหลักฐานมาแสดงเพื่อยืนยันว่า “ฉันถูก” “เธอผิด” เพื่อที่พิสูจน์กับศาลให้ศาลเชื่อว่า “ฉันถูก” “เธอผิด” ศาลเมื่อฟังทั้งสองข้างแล้ว ก็ทำหน้าที่ตัดสินออกมาให้ฝ่ายหนึ่งแพ้ ฝ่ายหนึ่งชนะ เป็น แพ้ – ชนะ ศาลไม่เคยตัดสินให้ใครเสมอกัน นอกจากทั้งคู่ประนีประนอมยอมความตกลงกันได้แล้ว ศาลก็พิพากษาตามยอม กระบวนทัศน์ใหม่คือการใช้วิธีการเจรจาไกล่เกลี่ย โดยคนกลาง (Mediation) หรือบางครั้งเรียกว่า วิธีการแก้ปัญหาข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution : ADR) หรือการแก้ปัญหาข้อพิพาทอย่างเหมาะสม (Appropriate Dispute Resolution Process : ADRP) เป็นกระบวนการที่คนกลางทำหน้าที่กำกับกระบวนการเจรจา ให้คู่กรณีได้มาแลกเปลี่ยน เรียนรู้กัน (Learning process) และร่วมกันหาข้อยุติร่วมกันที่ทั้งสองฝ่ายพอใจ เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ฉันทามติ” (Consensus) การตัดสินตรงนี้ ก็ไม่ใช่วิธีลงมติโดยการโหวตเสียงข้างมาก แต่ใช้วิธีที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันด้วยความพอใจ หลักการตัดสินก็อาศัย ความยุติธรรม ความชอบธรรมอย่างโปร่งใสที่คู่กรณีและสังคมยอมรับด้วยความพอใจ ผลออกมาเป็นชนะ-ชนะ
อีกมุมหนึ่งเกี่ยวกับการทำธุรกิจซึ่งในอดีตไม่นานนี้ที่ผ่านมา จะพูดถึงการบริการลูกค้าให้เกิดความพึงพอใจสูงสุด (Total Customer Satisfaction) นั่นคือถือว่าลูกค้าสำคัญที่สุดที่เราเคยได้ยินว่า “ลูกค้าถูกต้องเสมอ” (Customer is always right) ปัญหาก็คือว่าเมื่อให้ลูกค้าพอใจ แต่ผู้ให้บริการทนทุกข์ทรมาน ก็คงจะไม่ดีนัก ฉะนั้นกระบวนทัศน์ใหม่จึงต้องมองผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายรวมถึงผู้ให้บริการด้วยที่ควรจะมีความพอใจทั้งหมด (หรือ Total Stakeholders Satisfactions) นั่นคือมองเรื่อง คุณภาพของความสัมพันธ์มิตรภาพความไว้วางใจ ความรักระหว่างกันทุก ๆ ฝ่าย
ผู้นำจึงต้องเป็นผู้ชี้ช่องทางที่ถูกต้องว่าจะเดินไปทางไหน (Path Finding) ทำการปรับโครงสร้างระบบและกระบวนการให้ตรงกับทิศทางที่จะเดินไป (Aligning) และเติมพลัง (Empowering) สร้างสรรค์ซึ่งซ่อนอยู่ เพื่อตอบสนองทั้งลูกค้าและผู้มีส่วนร่วมทุก ๆ ฝ่าย




 

Create Date : 22 ตุลาคม 2552
2 comments
Last Update : 22 ตุลาคม 2552 14:52:43 น.
Counter : 4769 Pageviews.

 

น่าจะแบ่งเปนย่อหน้าค่ะ

 

โดย: 2221 IP: 202.28.25.35 11 พฤศจิกายน 2553 14:47:07 น.  

 

เนื้อหาดีมากค่ะ
ขอบคุณมาก

 

โดย: วรัทยา IP: 222.123.140.157 4 ธันวาคม 2553 10:01:19 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

 

konphrae
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add konphrae's blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com