bloggang.com mainmenu search










ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ นามว่า วัดเชียงยืน

ตำนานพงศาวดารโยนก นามว่า วัดฑีฆชีวะวัสสาราม

ตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ นามว่า วัดฑีฆายวิสาราม หรือฑีฆาชีวิตสาราม


ฑีฆ แปลว่า ยาว

ชีวะ แปลว่า ชีพ

วัสสา มาจาก พรรษา แปลว่า ปี

หมายถึง มีอายุยืนยาว





ไม่ปรากฎหลักฐานชัดว่าสร้างตั้งแต่เมื่อใด

มีแต่หลักฐานว่า

พญาเม็งรายสร้าง วัดเชียงมั่น เป็นวัดแรก เป็นวัดคู่เมืองเชียงใหม่

อันมีความหมายว่ามั่นคง อยู่ในพระนครชั้นใน

และ

สร้างวัดเชียงยืน หมายถึงยั่งยืน อยู่นอกกำแพงเมือง

เป็นพระอารามหลวงนามมงคลมีฐานะเป็นเดชเมืองเชียงใหม่

ตามคัมภีร์มหาทักษา



ภาพจาก จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี





ทักษา หมายถึง ชื่อเรียกกลุ่มดาวอัฐเคราะห์ หรือดาวทั้งแปด

คือ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ เสาร์ พฤหัสบดี ราหู ศุกร์

ที่จัดเข้าระเบียบเป็น

บริวาร อายุ เดช ศรี มูล อุตสาหะ มนตรี และ กาลกิณี





เวียนขวา (ทักษิณาวรรต) ไปตามทิศทั้ง 8 คือ

บูรพา อาคเนย์ ทักษิณ หรดี ประจิม พายัพ และ อุดร





ทักษาเมืองเชียงใหม่นั้นกำหนดตามทิศต่างๆ ดังนี้

เกตุเมือง - วัดสะดือเมือง อยู่กลางเมือง

บริวารเมือง - ประตูสวนดอก

อายุเมือง - แจ่งหัวลิน

เดชเมือง - ประตูช้างเผือก

ศรีเมือง - แจ่งศรีภูมิ

มูลเมือง - ประตูท่าแพ

อุตสาหะเมือง - แจ่งขะต้ำ

มนตรีเมือง - ประตูเชียงใหม่

กาลกิณีเมือง - แจ่งกู่เฮือง








แนวคิดและความเชื่อของคนโบราณ ว่า

เมืองนั้นก็มีชีวิตเช่นเดียวกับคน

การสร้างเมืองขึ้นมาก็เหมือนกับการให้ชีวิตเมือง

ต้องมีส่วนต่างๆ เหมือนคน ... มีหัว มีสะดือ มีส่วนต่างๆ อยู่ตามทิศต่างๆ



และดวงเมือง ก็เหมือนดวงคน

มีทิศของดวงต่างๆ ไม่เหมือนกัน

เมื่อใดเกิดสิ่งไม่ดี หรือภัยพิบัติ ขึ้นกับเมือง ก็ต้องมีการสืบชะตาเมือง

ทิศอุดร ถือว่าสำคัญที่สุด เปรียบดังเป็นส่วนหัว

ประตูเมืองด้านนี้จึงเรียกว่า ประตูหัวเวียง



ในสมัยพระเจ้าติโลกราช ... ร่วมสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ...

อาณาจักรล้านนากับอาณาจักรอยุธยาได้ทำศึกสงครามเพื่อแย่งชิงเมืองเชลียง ... ศรีสัชนาลัย

ทางกรุงศรีอยุธยาได้ส่งพระเถระมังลุงหลวง ชาวพุกาม มาทำลายล้างเมืองเชียงใหม่

โดยพระเถระมังลุงหลวงออกอุบายลวงพระเจ้าติโลกราชว่า

ถ้าหากพระองค์มีพระประสงค์จะมีพระบรมเดชานุภาพปราบไปทั้งชมพูทวีป

พระองค์ควรตัดต้นไม้ศรีเมืองและสร้างพระราชฐานบริเวณศรีเมืองนั้น ... แจ่งศรีภูมิ ...

เมื่อพระเจ้าติโลกราชทรงทำตามคำยุ

ตัดต้นไม้นิโครธ (ต้นไทร) อันเป็นไม้ศรีเมืองทิ้ง

และทางกรุงศรีอยุธยาได้ส่งพวกผาสี (ชาวจีนอิสลาม)

มาทำคุณไสยฝังสิ่งอัปมงคลต่างๆ ภายในทักษาเมืองเชียงใหม่

ก็เกิดอาเพทเหตุอุบาทว์ต่างๆ นานากับเมืองเชียงใหม่

เมื่อพระเจ้าติโลกราชทรงทราบความจริง

จึงทำการฆ่าพระเถระมังลุงหลวงและพวกผาสีทิ้ง




แล้วให้เหล่านักปราชญ์ราชบัณฑิต พระเถระชั้นผู้ใหญ่

ทำพิธีแก้ " ขึด "

โดยการย้ายและสร้างศูนย์กลางเมืองมาที่ใหม่คือ พระธาตุเจดีย์หลวง

เปลี่ยนฐานะจากกู่ (สถูป) บรรจุอัฐิพระเจ้ากือนา มาเป็นเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

สถาปนาวัดเจดีย์หลวงเป็นเกตุเมือง

ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่องค์พระเจดีย์

ให้หมื่นด้ามพร้าคต (สีหโคตเสนาบดี)

เสริมสร้างความใหญ่โตและแข็งแรงให้แก่องค์พระเจดีย์

พร้อมทั้งสถาปนาวัด 8 วัด

ซ้อนทักษาเมืองเดิมที่ถูกทำลายไป (โดยเฉพาะศรีเมือง)

วัดทักษาเมืองทั้ง 8 ทิศของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งประกอบด้วย

ศูนย์กลางเมือง หรือเกตุเมือง - วัดเจดีย์หลวง (โชติการาม)

มูลเมือง - วัดบุพพาราม (อารามทิศตะวันออก)

อุตสาหะเมือง - วัดชัยมงคล

มนตรีเมือง - วัดนันทาราม

กาลกิณีเมือง - วัดร่ำเปิง (ตโปธาราม)

บริวารเมือง - วัดบุปผาราม (วัดสวนดอก)

อายุเมือง - วัดเจ็ดยอด (โพธารามมหาวิหาร)

เดชเมือง - วัดเชียงยืน (ทีฆวัสสาราม)

ศรีเมือง - วัดชัยศรีภูมิ








วิหารวัดเชียงยืน
































ประดิษฐานพระสัพพัญญูเจ้าเดชเมือง

หมายถึง บารมีอำนาจยิ่งใหญ่








ซึ่งเจ้าพระยามหากษัตริย์ล้านนาในอดีต

จะมาทำการสักการบูชาก่อนเข้าเมือง

หรือทำพิธีราชาภิเษก หรือทั้งก่อน – หลังออกศึกสงคราม

เพื่อให้เกิดสิริมงคล

ตำนานเล่าว่า

พญาอุปปโย หรือพระเชษฐาธิราช เดินทางมาครองเมืองเชียงใหม่

เมื่อมาถึงประตูโขงวัดเชียงยืนได้ที่ถอดเครื่องประดับทั้งหมด นุ่งขาวห่มขาว

ถือขันข้าวตอกดอกไม้ เทียนเงิน เทียนคำ

สักการะ พระสัพพัญญูเจ้าเดชเมือง ก่อนเข้าเมืองทางประตูหัวเวียง

และได้สืบทอดประเพณีนี้ต่อมา

จนล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า 200 ปี

เมื่อเจ้ากาวิละ ฟื้นม่าน ( ม่าน คือ พม่า ) ได้สำเร็จ

ท่านก็ได้ทำ ทักษิณาวรรต ไปตามทิศทั้งแปดคือ

บูรพา อาคเนย์ ทักษิณ หรดี ประจิม พายัพ และอุดร

เข้าบูชาพระวัดเชียงยืนแล้วก็เข้าประตูทางด้านเหนือ

คือประตูหัวเวียง หรือ ประตูช้างเผือก

โดยให้ลัวะจูงหมาเข้ามาก่อน

... เป็นความเฃื่อของคนลัวะ ชนพื้นเมืองเดิมเชียงใหม่

ว่า หากสงบเรียบร้อย หมาก็จะไม่เห่า ถือว่าฤกษ์ดี...








พระมหาธาตุเจดีย์

เป็นลักษณะทรงแปดเหลี่ยม

ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ








จากจารึกตำนานชินกาลบาลี ปกรณ์

ว่า

รัชกาลพระเจ้าปนัดดาธิราชหรือพระเมืองแก้ว

กษัตริย์องค์ที่ 13 แห่งราชวงศ์มังราย

พร้อมด้วยพระเทวีราชมารดาทรง

ทำการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุบรรจุพระสถูปเจดีย์ใหญ่

ณ วัดฑีฆชีววัสสาราม (ฑีฆายวิสาราม)































วิหารพระเจ้าทันใจ








ตุงกระด้าง

ตุง หรือธง เป็นพุทธบูชาอย่างหนึ่ง

กระด้างแปลว่า แข็ง








ตุงประจำราศี

ปีล่างสุด ปีกุน

เดิมคือ ปีกุญ (ชร)

ใช้ใน อินเดีย,พม่า,ลังกา,ลาวและทางเหนือ

ต่างใช้ "ช้าง" เป็นสัญลักษณ์

... หมูมาจากไหน ? ...









วัดนี้ยังมีอุโบสถทรง 8 เหลี่ยม เป็นสถาปัตยกรรมแบบพม่า








ก็พม่าเข้ามาครองตั้ง 200 ปีนี่เนาะ








ตั้งแต่สมัยบุเรงนองมาตีได้ พ.ศ. 2110 - ราว พ.ศ. 2315 เจ้ากาวิละฟื้นม่าน





























อันว่าโบสถ์ ... ทางเหนือมีขนาดเล็ก และจะห้ามผู้หญิงเข้า

เพราะเป็นที่ประกอบพิธีสงฆ์เท่านั้น ... จะขึด ถ้าผู้หญิงเข้าไป








โบสถ์แปดเหลี่ยมนี้ก็เช่นกัน














***
Create Date :31 มีนาคม 2556 Last Update :25 กรกฎาคม 2565 12:42:49 น. Counter : 823 Pageviews. Comments :37