bloggang.com mainmenu search

เปิดกลุ่มบล็อกใหม่ด้วย สถานที่น่าแวะที่นครสวรรค์

*วัดคีรีวงศ์*

พ.ศ. 2504 มีพระธุดงค์แสวงบุญมาพบสถานที่นี้ว่าน่าจะเป็นวัดเก่า

พ.ศ. 2507 กรมศาสนาเข้ามารังวัดบนเขาใหญ่แห่งนี้ ได้พื้นที่วัดทั้งบนเขาและที่ราบประมาณ 280 ไร่

พบเจดีย์เก่า ใบเสมา พระพุทธรูป และฐานอุโบสถเก่า สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัยตอนปลาย

พ.ศ. 2508 คณะสงฆ์ได้ส่งพระมหาบุญรอด ปญฺญาวโร หรือ พระราชพรหมาจารย์ ให้มาสร้างวัดคีรีวงศ์

จากความเชื่อที่ว่า เจดีย์จุฬามณี เป็นเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

เป็นที่บรรจุพระจุฬาพระโมลีและพระเขี้ยวแก้วของพระโคตมพุทธเจ้า






ชมทิวทัศน์เมืองนครสวรรค์บนพระเจดีย์จุฬามณี วัดคีรีวงศ์

ม.มหิดล บึงเสนาท, เขากบ, บึงบอระเพ็ด, สะพานเดชาติวงศ์, วัดจอมคีรีนาคพรต และทิวเขาที่ทอดยาว






*วัดเขากบ หรือวัดกบ หรือ วัดวรนาถบรรพต*

เมื่อครั้งได้ไปวัดคีรีวงศ์ ได้เห็นอีกวัดอยู่บนอีกยอดเขาหนึ่ง คือวัดเขากบ

ทางขึ้นอยู่เลยศาลหลักเมืองไปนิด แวะไหว้พระระหว่างทางแล้วขับขึ้นเขาต่อ


















เดิมนครสวรรค์ชื่อเมืองพระบาง อยู่ในอาณาเขตของพ่อขุนรามคำแหง

ต่อมาสมัยพระญางั่วนำถุม อาจเกิดการแตกแยกดินแดนไป

ถึงสมัยพระญาลือไท หรือพญาลิไทในภาษาบาลี

พระบางเป็นหัวเมืองหน้าด่านทางด้านใต้ของสุโขทัยที่ต่อแดนกับอยุธยา


จากจารึกนครชุมเล่าว่า

เมื่อพระญาลือไท ขึ้นเสวยราชย์เมืองศรีสัชนาลัยสุโขไทย

ทรงพระนามว่า ศรีสูรยพงศมหาธรรมราชาธิราช

พระองค์ได้พระธาตุองค์แท้ และพระศรีมหาโพธิ์ จากลังกา

จึงมาประดิษฐานไว้บนเขาที่ปากพระบาง ซึ่งหมายถึงเขากบนี้


จารึกเขากบเล่าว่า

ผู้จารึกที่ชื่อขาดหายไปได้อุทิศให้พญารามผู้น้องโดย

ได้บูรณะรอยพระพุทธบาทของพระญาลือไท ก่อเจดีย์ ... มหาโพธิไว้เหนือจอมเขาสุมนกูฏ

ที่กลางเวียง - ก่อรามเจดีย์รามวิหาร สร้างพระพุทธรูปสวยงาม ปลูกมหาโพธิ ขุดสระปลูกบัว

ให้พระยารุ่นหลังเอาความรักกันของสองพี่น้องนี้เป็นตัวอย่าง


จากการอ่านและตีความจารึกสุโขทัยทำให้นักประวัติศาสตร์ทราบว่า

พระบรมปาล และพระมารดาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

เป็นเป็นพระโอรสและพระธิดาของ พระรามราชาพระธรรมราชาธิราชที่ 2 กับพระนางสาขา

ส่วนพญาราม และพระอโศก เป็นพระโอรสของพระธรรมราชาธิราชที่ 2 กับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ที่มีเชื้อสายทางน่าน

ดังนั้นสองพี่น้องที่กล่าวถีงในจารึกนี้สันนิษฐานว่าเป็น

พระบรมปาล พระธรรมราชาธิราชที่ 4 ผู้พี่

เป็นผู้บูรณะและอุทิศให้พญารามพระธรรมราชาธิราชที่ 3 ผู้น้อง - ผู้น้องครองสุโขทัยก่อนผู้พี่


ด้านที่ 2

มีร่องรอยของการขูดถากจารึกเดิมออก และจารึกทับลงไปภายหลัง

เป็นเรื่องของการบำเพ็ญบุญกุศลต่าง ๆ แล้วแวะไปเที่ยวเสาะแสวงหาพระธาตุจนถึงเมืองอินเดียและลังกา

เนื้อหาเดียวกับจารึกวัดศรีชุม

นักประวัติศาสตร์บางท่านจึงมีความเห็นว่าด้านนี้ จารึกโดย พระมหาเถรมหาศรี ศรัทธา ผู้จารึก จารึกวัดศรีชุม


วัดวรนารถบรรพตหรือวัดกบ

มีรอยพระพุทธบาทอยู่บนเขา




และเจดีย์ อุโบสถ อยู่กลางเวียงพระบางด้านล่าง

ประตูด้านหันหน้าสู่แม่น้ำปิง







เจดีย์ทรงระฆัง วิหารพระนอน โบสถ์เหลือแต่ฐานอยู่ตรงศาลของ ตากบ และ ยายเขียด เจ้าของที่เดิม ต้นโพธิ์




เมืองพระบางเคยถูกทิ้งร้าง

มีภิกษุชราชาวทุ่งยั้ง จ.อุตรดิตถ์ ได้มาปักกลด เป็นประจำทุกปี ในบริเวณยอดเขากบ ที่ฝรั่งเคยใช้เป็นที่เลี้ยงช้างเพื่อชักลากไม้ และรกร้าง

คนปากน้ำโพจึงนิมนต์ให้ จำพรรษาและบูรณะวัดเขากบขึ้นใหม่

พระภิกษุท่านนี้ก็คือ หลวงพ่อทอง






*วัดจอมคีรีนาคพรต*

ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2015 ในสมัยของพระบรมไตรโลกนาถ ชื่อว่า วัดลั่นทม

ต่อมาเรียกวัดเขาบวชนาค เพราะในเขตนี้มีวัดลั่นทมเท่านั้นที่มีการบวชนาค ชาวบ้านเรียกย่อๆอีกว่า วัดเขา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดพระราชทานนามวัดเสียใหม่ว่า วัดจอมคีรีนาคพรต

พระอุโบสถโล่งไม่มีผนัง

พระประธาน หลวงพ่อปุ้ย

ด้านหลังหลวงพ่อปุ้ย มีพระพุทธรูปปางยืนปางลีลา พุทธลักษณะคล้ายพระอัฏฐารถ ปางลีลา




รอบโบสถ์มีเสมาคู่เพียงวัดเดียวในนครสวรรค์

เสมาหินชนวน - สุโขทัย มีลวดลายศิลปะอยุธยา




พระพุทธรุปศิลปะสุโขทัยตอนต้น

คือ พระพักตร์กลมรี - หน้านาง , พระเนตรหรี่ , พระขนงโค้ง , พระโอษฐ์แบนสนิท , มีพรายเหนือพระโอษฐ์บน , เส้นพระศกละเอียด มีไรพระศก มีรัศมีแข็ง

นิ้วเป็นลำเทียนสั้น ยาว ตามขนาดธรรมชาติ

ซุ้มเรือนแก้ว - มกรคายนาค

ฐานเรือนแก้วทั้งสองข้าง เป็นเศียรพระยานาค

มีนางฑากินี หรือ นางโยคินี บริวารของนางดารา - เทวีของพระอวโลกิเตศวร

ซึ่งช่วยกำจัดสิ่งชั่วร้าย - รองรับ และนางมารอื่นเรียงรายไปด้านหลัง

... ปิดทองจนดูแทบไม่ออก ...






ล่องขึ้นไปตามลำน้ำปิง


*วัดบ้านแก่ง*

อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์

ย่านนี้มีเครื่องปั้นดินเผาที่สืบสานมาจากมอญปากเกร็ด

ได้มาก่อตั้งหมู่บ้านขึ้นที่ริมแม่น้ำปิง ซึ่งเดิมมีเกาะแก่งมากจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า บ้านแก่ง

อำเภอบ้านแก่ง เป็นอำเภอแห่งแรกของจังหวัดนครสวรรค์ ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2442

พ.ศ. 2477 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาที่ตำบลปากน้ำโพ เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอปากน้ำโพ

พ.ศ. 2482 เปลี่ยนชื่ออำเภอตามที่ตั้งศาลากลาง เรียกว่า อำเภอเมืองนครสวรรค์

ด้านหลังวัดบ้านแก่งติดแม่น้ำปิง

มีอาคารที่ว่าการอำเภอบ้านแก่งสร้างเป็นอนุสรณ์อยู่ แต่ไม่ทราบว่าเป็นที่ตั้งเดิมจริง ๆ หรือไม่




ชาวบ้านแก่งได้ช่วยกันบูรณะปฏิสังขรณ์วัดเก่าแก่ซึ่งมีอยู่ก่อนแล้ว ชื่อวัดบ้านแก่ง

มณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองเก่า

วิหาร หันหน้าสู่แม่น้ำ - ทางหลักการเดินทางสมัยก่อน และ พระอุโบสถ





*วัดหูกวาง*

ซึ่งตั้งอยู่ริมน้ำปิงฝั่งขวา ตำบลหูกวาง อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์

ตำบลหูกวาง มีการกล่าวถึงในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ในสมัยพระเจ้าเสือ ว่า

ในการเสด็จไปคล้องช้างที่เมืองนครสวรรค์

มีรับสั่งให้เจ้าฟ้าเพชร (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) และเจ้าฟ้าพร (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) ตัดถนนข้ามบึงหูกวาง

โดยถมบึงส่วนหนึ่งให้เสร็จภายในหนึ่งคืน

พระราชโอรสดำเนินงานเสร็จตามกำหนด แต่เมื่อเสด็จพระราชดำเนิน ช้างทรงตกหลุม

ทรงลงพระราชอาญาเจ้าฟ้าเพชร แต่ภายหลังก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ

ในสมัยรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสต้น บ้านหูกวาง มณฑลนครสวรรค์ (ร.ศ.125) พ.ศ.2449


เจดีย์องค์วัดหูกวางนี้ สร้างพ.ศ.2455 ... 107 ปีมาแล้ว เป็นเจดีย์ทรงมณฑป ... จตุรมุข ... ยอดระฆัง

ฐานสี่เหลี่ยม มีกำแพงแก้ว ย่อมุม ฐานสิงห์ซ้อนกัน 4 ชั้น

ถัดไปเป็นเรือนธาตุ มีจตุรมุข น่าจะประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ด้าน

หน้าบันของจตุรมุข

พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาที่ป่า เพราะพระภิกษุเมืองโกสัมพีทะเลาะกัน ถึงกับไม่ยอมลงโบสถ์ร่วมกัน

ช้างชื่อปาลิไลยก์มาปรนนิบัติ - ไม่ได้ประทับห้อยพระบาท

ลิงตัวได้นำรวงฝึ้งมาถวายพระพุทธเจ้า ซึ่งทรงรับแต่ไม่ทรงฉัน

ลิงจึงนำรวงผึ้งมาดูเห็นตัวอ่อนของฝึ้ง จึงเอาออกเหลือแต่น้ำผึ้ง พระพุทธเจ้าทรงรับแล้วฉัน

ลายดอกไม้
ประดับกรอบด้วยลายดอกสี่เหลี่ยม ... ประจำยาม


วิหารหลวงพ่อแก่ หรือ ? ไม่ทราบจะเรียกอย่างไรดีเพราะเดิมเป็นอุโบสถเก่า แต่ไม่สามารถถอนพันทสีมาได้

เพราะเมื่อสวดถอนพันทสีมาลมและฝนตกมาอย่างหนัก ประดิษฐาน หลวงพ่อแก่ - ศิลปะสุโขทัย

เดิมบ้านหูกวางเคยเป็นที่พักขอกองทัพก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ ที่เดินทัพขึ้นสู่ภาคเหนือไปรบที่เชียงใหม่

ขากลับจึงได้อัญเชิญหลวงพ่อแก่กลับมาประดิษฐานไว้บริเวณวัดหูกวาง ซึ่งใช้เป็นที่พักกองทัพและประดิษฐานตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

ทุกครั้งที่มีการเดินเรือผ่านหน้าวัด ชาวเรือจะเปิดแตรเสียงเพื่อแสดงความเคารพบูชาหลวงพ่อแก่

และวักน้ำในแม่น้ำปิงหน้าวัดหูกวางรดหัวเรือเพื่อความเป็นสิริมงคล เชื่อว่าเป็นน้ำมนต์ของหลวงพ่อแก่






*วัดมหาโพธิ์ใต้*

เราไป พ.ศ. 2557

โบสถ์เก่า สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลายเพราะฐานโค้ง

และสมัยพระนารายณ์ทรงโปรดเกล้าให้มีการสร้างวัดอย่างมาก

ด้านหน้าหันไปทางตะวันตก เข้าหาแม่น้ำปิง









*วัดเขาดินใต้ หรือ วัดพระหน่อธรณินทร์ใกล้วารินคงคาราม*

วัดอยู่บนเขา ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำปิงกับวัดมหาโพธิ์ใต้

สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2375 โดยพระครูหลา เจ้าอาวาสวัดมหาโพธิ์ใต้ในสมัยนั้น

พ.ศ. 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

ทรงเสด็จประพาสต้นเมืองกำแพง และวัดพระหน่อธรณินทร์ใกล้วารินคงคาราม

และเคยสนทนากับหลวงพ่อเฮง ลายบานประตู

มีมณฑปพระพุทธบาท






ล่องขึ้นไปตามลำน้ำน่าน

*บึงบรเพ็ด*

บึงบอระเพ็ด เป็นบึงทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

อยู่บนถนนสาย ชุมแสง - นครสวรรค์ มีสนามซ้อม นครสวรรค์เอฟซี ในบริเวณบึงบรเพ็ด

หากนั่งเรือดูนกชมบึง อย่าลืมทากันแดดนะ






ทางรถไฟมาจาก สถานีรถไฟนครสวรรค์ ไป สถานีรถไฟปากน้ำโพ






*วัดเกรียงไกรกลาง*

อยู่บริเวณปากน้ำเชียงไกรสบแม่น้ำน่าน

เมื่อกรุงสุโขทัยใกล้เสื่อมอำนาจ และเกิดสงครามเป็นประจำ ชาวสุโขทัยจึงได้นำพระพุทธรูปล่องแพมาตามลำน้ำ

เมื่อมาถึงปากแม่น้ำเชียงไกร แพก็จมลง จึงนำพระพุทธรูปขึ้นและโบกปูนทับ

ต่อมาสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น พ.ศ.2147 ชาวบ้านได้สร้างวัดนี้ขึ้นตรงที่ประดิษฐานพระพุทธรูป

และนำพระพุทธรูปซ่อนไว้ในผนังพระอุโบสถเพื่อป้องกันภัยสงคราม

จน พ.ศ.2511 ได้มีการซ่อมผนังพระอุโบสถจึงพบแต่พระพุทธรูปปูนธรรมดา

ต่อมาปูนกะเทาะออกจึงทราบว่าเป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์

โบสถ์ และ วิหาร บูรณะแล้วหลังน้ำท่วมใหญ่

ที่น่าชมคือโบสถ์เก่า

วิหารวัด สร้างราว พ.ศ. 2400 - 2430 สมัยรัชกาลที่ 5

หลวงพ่อสัมฤทธิ์ และจิตรกรรมฝาผนัง

แต่ไม่กล้าลงรถ ... กลัวลิง




ศาลาการเปรียญหลังเก่า หวังว่าคงได้รับการบูรณะ






*วัดเกยไชยเหนือ*

เมื่อได้ทดลองใช้เส้นทางจาก อ.เก้าเลี้ยว ตัดตรงมา อ.ชุมแสง นครสวรรค์

ตอนนั้นทางเป็นหลุมเป็นบ่อจนไม่ได้อีกเลย

ขณะข้ามสะพานติดวัดเกยไชยเหนือ อำเภอชุมแสง ได้พบว่าเป็นจุดที่แม่น้ำยมไหลลงแม่น้ำน่าน




ตรงบริเวณปากแม่น้ำยมมีเจดีย์เก่าแก่สมัยอยุธยาอยู่องค์หนึ่ง บรรจุพระบรมธาตุ

ตามตำนานท้องถิ่นเล่าสืบกันมาว่า สร้างในสมัยพระเจ้าเสือ

ข้างเจดีย์มีโบสถ์เก่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3







เป็นที่มาของชื่อไอ้ด่างเกยไชย

จระเข้ตัวปลายจมูกมีด่าง ฉลาด สามารถพลิกเรือกินคน ตัวใหญ่ ลือว่าเป็นจระเข้เจ้า

โดนคนแทงหอกสามอันพร้อมกันคาไว้ ไปไหนไม่ได้ถูกลากขึ้นหาดจนตาย






ล่องลงมาตามลำน้ำเจ้าพระยา


*วัดบางมะฝ่อ*

อำเภอโกรกพระ นครสวรรค์ อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา วัดนี้เขาว่าจิตรกรรมฝาผนังน่าชม

แม้วิหารและโบสถ์ไม่เปิด แต่หันไปโดยรอบก็จะพบว่า เป็นวัดที่สวยมาก






*วัดพระปรางค์เหลือง*

อำเภอพยุหะคีรี นครสวรรค์

พระอุโบสถสร้างสมัยรัตนโกสินทร์




สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย ประมาณพ.ศ. 2305 ติดริมน้ำเจ้าพระยาด้านฝั่งตะวันออก

ด้านหลังพระอุโบสถเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน

พระอุโบสถนั้น ปัจจุบันเป็นวิหารหลวงพ่อโต

ด้านเหนือของอุโบสถ เป็นพระปรางค์เหลืององค์ใหม่




พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จวัดประปรางค์เหลือง 3 ครั้ง

หลวงพ่อเงินมีชื่อเสียงด้านรดน้ำมนต์ จินดามณีได้ถวายการรดน้ำมนต์แด่พระองค์ท่าน

และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูพยุหานุสาสก์ เจ้าคณะอำเภอพยุหะคีรี

ท่าแพ หน้าวัด

กุฏิ และอุโบสถใหม่ ศาลาการเปรียญ

เก๋งเรือที่หลวงพ่อเงินได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 5
เมื่อคราวได้พระราชทานสัญญาบัตรพัดยสเป็นพระครูพยุหานุสาสน์

โซ่คล้องช้างพระราชทาน

ศาลาสร้างเมื่อปี พ.ศ.2475






*เขาไม้เดน*

เป็นเมืองในวัฒนธรรมทวารวดี

ก่อนไปขอแนะนำให้อ่านเรื่องนี้ก่อน แล้วจะเข้าใจมากขึ้น กว่าไปดูโบราณสถานเฉยๆ

โบราณวัตถุสมัยทวารวดีแห่งใหม่
กรมศิลปากร https://www.finearts.go.th/storage/contents/2021/12/file/M2tkEqTYTPs4eIyrjnquGQp34ZkZeCCzx943TTfP.pdf

เส้นสีขาวเป็นแนวคูน้ำคันดิน

ภายในเส้นสีเหลืองยังเป็นบริเวณที่พบโบราณสถานและโบราณวัตถุด้วย










สุดท้ายวัดที่ขับรถผ่านบ่อยมาก

*วัดตากฟ้า*

เดิมเป็นเพียงที่พักสงฆ์ เมื่อปี พ.ศ. 2498

พ.ศ. 2510 ตั้งเป็นวัดตากฟ้า

พ.ศ. 2549 สถาปนาวัดตากฟ้า เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ

ผ่านไปผ่านมา แล้ววันหนึ่งก็ได้เข้าไปชมวัดสวย

















Create Date :09 ธันวาคม 2566 Last Update :9 ธันวาคม 2566 11:19:57 น. Counter : 498 Pageviews. Comments :8