bloggang.com mainmenu search

อุตรดิตถ์ แปลว่า ท่าน้ำทางทิศเหนือ

อำเภอลับแล เดิมประกอบด้วยสามเมืองคือเมือง ด่านนางพูน ทุ่งยั้ง ลับแล


ด่านนางพูน เป็นเมืองรอยต่อของรัฐสุโขทัยและเมืองแพร่ของล้านนา จึงมีด่านตามเส้นทางโบราณหลายด่าน

เส้นทางโบราณนั้นภายหลังสร้างเป็นทางรถไฟ ต่อแดนคือยอดเขาพลึง




ทุ่งยั้งเป็นเมืองเก่ามาแต่รัฐสุโขทัย คนทุ่งยั้ง เป็นคนไทย พูดภาษาไทยสุโขทัย

เป็นเมืองที่มีกำแพงเมือง 3 ชั้น เป็นทั้งเนินดิน และเป็นศิลาแลง มีคูเมือง

และมีกำแพงเมืองอีกเมืองทางตะวันตกเฉียงเหนือ - เวียงเจ้าเงาะ



จากตำนานปัญจพุทธพยากรณ์ - คล้ายตำนานพระเจ้าเลียบโลก

เล่าถึง ที่มาของวัดบนม่อนดอยสามดอยนอกเมืองทุ่งยั้งคือ

วัดพระแท่นศิลาอาสน์, วัดพระยืนพุทธบาทยุคล, วัดพระนอนพุทธไสยาสน์ และวัดพระบรมธาตุศูนย์กลางของเมืองทุ่งยั้ง


-วัดพระแท่นศิลาอาสน์-

ตำนานว่าเป็นแท่นที่พระพุทธเจ้า 5 พระองค์ เมื่อครั้งเสวยชาติเป็น ไก่ นาค เต่า วัว และราชสีห์

ได้เสด็จมาประทับบนพระแท่นแห่งนี้ เพื่อเจริญภาวนา

เป็นวัดโบราณ ไม่มีหลักฐานว่าใครสร้าง สร้างเมื่อใด

ไม่มีข้อความกล่าวถึงในศิลาจารึก แต่ปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดาร

ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศว่า พระองค์ได้เสด็จนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ เมื่อปี พ.ศ. 2283

ในวิหารมีจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่อง ตำนานเมืองลับแล ตำนานที่พบพระแท่นศิลาอาสน์




-วัดพระยืนพุทธบาทยุคล-

พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับยืนบนยอดเขาแห่งนี้

ปรากฎเป็นรอยพระพุทธบาทคู่กันบนแผ่นศิลาแลง



อุโบสถประดิษฐาน พระพุทธรังสี

มีแม่ชี 4 คนจากนครศรีธรรมราช ได้เข้านมัสการและสำรวมจิตเจริญภาวนา

ได้เห็นแสงรัศมีออกจากองค์พระพุทธรูป

เมื่อกระเทาะปูนออกจึงพบพระพุทธรูปสำริดอยู่ข้างใน




-วัดพระนอนพุทธไสยาสน์-

อยู่บนเนินเขาทางทิศเหนือของวัดพระยืน

มีสะพานสามัคคีทวีสุข ให้เดินข้ามไปยังวัดพระนอน

ตำนานว่าเป็นแท่นที่พระพุทธเจ้า 5 พระองค์ เมื่อครั้งเสวยชาติเป็น คือ ไก่ นาค เต่า วัว และราชสีห์

เคยมาประชุมจัดเรียงลำดับการเป็นพระพุทธเจ้าบนแท่นศิลาแห่งนี้

ชาวบ้านไปเลี้ยงวัวบนเนินเขานี้ พบแท่นศิลาใหญ่มีพระพุทธรูปพระพุทธไสยาสน์ทองคำ

จึงตามชาวบ้านคนอื่นมาดู แต่ไม่พบพระพุทธรูปไสยาสน์

ได้สร้างมณฑปครอบแท่นศิลาไว้




-วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง-

เป็นศูนย์กลางของเมืองทุ่งยั้ง

สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท แห่งเมืองสุโขทัย ได้เชิญพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาบรรจุไว้

สมเด็จพระเจ้าบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา โปรดให้มีตราพระราชสีห์ให้เมืองลับแล เมืองทุ่งยั้ง รื้อวิหารและกำแพงแล้วสร้างใหม่

พระประธาน หลวงพ่อหลักเมือง หรือหลวงพ่อแก่ สร้างสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเมื่อคราวสร้างวิหารขึ้นใหม่

พญาตะก่าเป็นพ่อค้าไม้ชาวพม่าขออนุญาตทำการบูรณะพระมหาธาตุเจดีย์ มีเจดีย์มุมแบบพม่าเพิ่มขึ้นมา

ต่อมาองค์เจดีย์พังลงจากแผ่นดินไหว หลวงพ่อแก้วได้ร่วมกับชาวบ้านบูรณะเจดีย์ขึ้นใหม่




ลับแล คนนอกลับแลเรียกลับแล คนในลับแลเรียกลับแลง

คนลับแลง เป็นคนเมือง อู้ภาษาล้านนา อู้ลำ

บริเวณนี้มีคนอยู่มาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์

แต่ไม่ทราบว่าชนที่อู้ภาษาล้านนา อู้ลำ เข้ามาครั้งแรกเมื่อใด

แต่

เมื่อพญาแสนเมืองมาสวรรคตลง พญาสามฝั่งแกนผู้เป็นน้องเจ้ายี่กุมกามได้ครองล้านนาแทน

เจ้ายี่กุมกามที่ครองเชียงราย - เมืองลูกหลวง ได้ส่งสารขอพญาไสลือไทไปช่วยรบเอาเชียงใหม่ แต่สู้ไม่ได้

พญาไสลือไทจึงให้เทครัวชาวเชียงรายมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองซากสระหลวง

ตั้งอยู่ระหว่างน้ำน่าน และ น้ำยม - เชื่อว่าเป็นเมืองลับแลงแห่งนี้


-วัดท้องลับแล-

เป็นวัดสะดือเมืองของเมืองลับแลง เดิมชื่อวัดลับแลงหลวง

วิหารมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องเวสสันดรชาดก ที่มีวัฒนธรรมการแต่งกาย บ้านเรือนแบบชาวลับแลง

พระอุโบสถประดิษฐานพระเจ้ายอดคำทิพย์ สร้างโดยพญาติโลก

พญาติโลกทรงพระสุบินถึงเจ้ายี่กุมกามผู้เป็นลุงที่ยังไปเกิดไม่ได้ จึงทำบุญให้

ส่วนยอดของ พระเจ้ายอดคำทิพย์ (สังเกตชื่อพระพุทธรูป) ทำด้วยทองจากไม้หมั้นเกล้าหรือปิ่นของพญาติโลก (หมั้น - มั่นคง อยู่นิ่ง)

พญาติโลก ได้นำ พระเจ้ายอดคำทิพย์ ขึ้นหลังช้างไปตีเมืองเชลียงได้ จึงเปลี่ยนชื่อเมืองเชลียงเป็นเชียงชื่น

แล้วนำพระเจ้ายอดคำทิพย์มาประดิษฐานไว้ที่อุโบสถวัดท้องลับแลนี้ ตอนที่พบ ยอดพระพุทธรูปหายไปแล้ว




- วัดเจดีย์คีรีวิหาร -

เจดีย์สร้างโดยพญาลิไทหลังจากขึ้นครองราชย์ได้ 7 ปี พ.ศ. 1896 ที่ม่อนป่าแก้ว

พร้อมทั้งแบ่งพระธาตุจากวัดพระมหาธาตุสุโขทัยมาบรรจุไว้

เมื่อเจ้ายี่กุมกามเทครัวจากเชียงรายมาสร้างเมืองซากที่เดิมชื่อสระหลวง - ลุ่มห้วยซาก ใช้วัดคีรีพิหารเป็นแนวสีมาเวียง

ต่อมาวัดทรุดโทรมลงจนกลายเป็นวัดร้าง

หลังจากบูรณะแล้ว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวชิโรรสได้ตั้งชื่อวัดว่า วัดเจดีย์คีรีวิหาร

ตึกธรรมธิติวงศ์ ... สำนักงานเจ้าคณะอำเภอลับแล




-วัดดอนสัก-

ตั้งอยู่บนที่ดอน มีต้นสักมาก จึงเรียกดอนสัก

เป็นหนึ่งในสองวัดที่มีบานประตูวิหารแกะสลักสวยงามเลื่องชื่อคือวัดพระฝางสวางคบุรี และวัดดอนสัก

เดิมมีอีกวัดคือวัดพระแท่นศิลาอาสน์แต่ถูกไฟไหม้ไปเมื่อ พ.ศ. 2451

ตัวเสาประตูเป็นลายกนกใบเทศสลับลายกนกก้ามปู บานประตูเป็นไม้แกะสลักทั้งบาน รูปลายกนกก้านขด

มีรูปสัตว์หิมพานต์แทรกอยู่ในลวดลายกนกต่าง ๆ

บานซ้ายและขวานั้นไม่เหมือนกัน แต่เมื่อปิดบานแล้วลวดลายมีความลงตัวเข้ากันได้สนิท

นอกจากบานประตูแล้ว ที่น่าสนใจยิ่งคือวิหารมี

ศิลปะแบบอยุธยา คือ ฐานโค้งตกท้องช้าง เสาหัวบัว

ศิลปะแบบล้านนา คือ บันไดมกรคายนาค โครงหลังคาม้าต่างไหม ภายในมีโขงพระเจ้าต่างแท่นแก้ว ประดิษฐานพระพุทธรูปสิงห์ 1




- เขื่อนสิริกิติ์ -

เป็นที่พักผ่อน อาหารอร่อย และตีกอล์ฟ










เมืองฝาง สวางคบุรี ตั้งอยู่ริมน้ำน่าน บริเวณนี้มีคนอาศัยอยู่ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์

ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำน่านคือคุ้งตะเภา ผาจุกที่ตั้งวัดพระฝาง ไปจนถึงแสนตอ-ชุมชนลุ่มน้ำปาดไหลลงลงน้ำน่าน

เป็นเมืองชายขอบรัฐสุโขทัยต่อกับล้านนากับเมืองน่าน มีวัดพระธาตุกลางเมือง


-วัดพระฝางสวางคบุรี-

เป็นวัดพระธาตุกลางเมืองสวางคบุรี

เจดีย์พระธาตุวัดพระฝาง ประดิษฐานพระรากขวัญ (กระดูกไหปลาร้า) ของพระพุทธเจ้า

ในสมัยสุโขทัยสร้างเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์

พ.ศ. 2410 สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้บูรณะใหม่เป็นทรงลังกา ... ทรงระฆัง

ตอนบูรณะเมื่อรื้ออิฐเก่าออก พบกรุบรรจุผอบมีพระบรมธาตุขนาดน้อยสีดอกพิกุลแห้ง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ทำการสมโภชแล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

และแบ่งพระบรมธาตุคืนยังเมืองสวางคบุรี

วิหาร มีบานประตูไม้แกะสลักที่สวยงามของอุตรดิตถ์ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วัดธรรมาธิปไตย และจำลองบานใหม่ไว้ที่วัดพระฝางนี้

อุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิราช

สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยาประมาณ พ.ศ. 2280

สันนิษฐานว่าผู้สร้างเป็นเจ้าอาวาสวัดพระฝาง

ปัจจุบันประดิษฐานที่วัดเบญจมบพิตร สถิตมหาสีมาราม

อุโบสถมหาอุด อยู่ด้านทิศตะวันตกของกลุ่มโบราณสถาน




-วัดคุ้งตะเภา-

ชื่อมาจากคุ้งนี้เคยมีสำเภาล่ม วัดสร้างในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2313

ซุ้มประตูวัด ... ด้านติดถนนสาย 11 อุตรดิตถ์-เด่นชัย เป็นเจดีย์ล้านนาล้านนา 5 ยอด

บนยอดซุ้มบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่นำมาจากจังหวัดลำปาง 3 องค์

อุโบสถ ประดิษฐาน หลวงพ่อสุวรรณเภตรา หล่อขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2489 พร้อมตอนสร้างโบสถ์

บนอาคารศาลาการเปรียญเฉลิมพระเกียรติฯ ประดิษฐาน พระบรมสารีริกธาตุวัดคุ้งตะเภา และ พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี

พุทธลักษณะสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยแรกก่อตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี แล้วถูกชาวบ้านพอกปูนลงรักไว้เพื่ออำพรางปิดบังข้าศึก

เป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ให้อัญเชิญเคลื่อนย้ายรวบรวมพระพุทธรูปซึ่งถูกทอดทิ้ง

มาประดิษฐานไว้ ณ พระระเบียงวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

แล้วต่อมาถูกอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ วัดเลียบ หรือ วัดราชบุรณะ

พ.ศ. 2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 วัดราชบุรณะถูกระเบิดเสียหายมากจึงยุบเลิกวัด

วัดคุ้งตะเภาจึงขอรับพระพุทธรูปมา

พ.ศ. 2500 ได้มีลมพายุพัดแรง กิ่งไม้หักต้ององค์พระปูนปั้นหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ชำรุด จึงเห็นเนื้อภายใน






- วัดธรรมาธิปไตย -

อาคารธรรมสภา เป็นอาคารปูน 2 ชั้นหลังแรกในจังหวัดอุตรดิตถ์

สร้างในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามพ.ศ. 2491

เป็นอาคารแห่งแรกของประเทศไทยที่ให้ใช้ใช้ประโยชน์ได้ 7 อย่างในที่เดียว คือ

เป็น อุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ โรงเรียน หอสวดมนต์ หอไตร และธรรมสมาคม

ชั้นบนของอาคาร ประดิษฐานหลวงพ่อเชียงแสน เป็นพระประธาน

นำมาจากวัดเลียบหรือวัดวัดราชบุรณราชวรวิหาร คราวเดียวกับหลวงพ่อพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี วัดคุ้งตะเภา

และ เก็บรักษา บานประตูแกะสลักของวัดพระฝางสวางคบุรี ที่สวยงามหนึ่งในสองของอุตรดิตถ์






-วัดกลางธรรมสาคร หรือวัดกลาง -

สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมชื่อวัดโพธาราม เคยเป็นท่าจอดเรือเพื่อเดินเท้าไปนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์

ต่อมาลำน้ำเปลี่ยนทางไหลห่างไป หน้าวัดกลายเป็นบุ่งน้ำ

อุโบสถ หน้าบันมีมุกประเจิด หรือมุกทะลุขื่อ เหมือนวัดท่าเสา - อยุธยาตอนปลาย

รูปครุฑยุดนาค ... พระราชลัญจกร ในรัชการที่ 2 ลายก้านขด เทพพนม และสัตว์ต่าง ๆ หน้าบันชั้นบนเป็นรูปราหูอมจันทร์

ภายในมีภาพเขียนสีฝุ่น จะว่าเป็นเวสสันดรชาดกก็ไม่เห็นกัญหา ชาลี




- บ้านเกิดและพิพิธภัณฑ์พระยาพิชัยดาบหัก -

พระยาพิชัยดาบหักเดิมชื่อ จ้อย บิดามารดามีอาชีพทำนา เกิดที่ บ้านห้วยคา

ทางตะวันออกของ เมืองพิชัย ประมาณ 100 เส้นเศษ






- วัดมหาธาตุ พิชัย -

เมื่อจ้อยอายุได้ 8 ขวบ บิดาส่งให้ไปเรียนหนังสือที่วัดมหาธาตุ ท่านชอบการชกมวย

ตำนานว่า ราวปี 1470 พระยาโคตรบองเทวราช มาตั้งราชธานีขึ้นใหม่ที่ นครไชยบวร - ปากยม บางคลาน พิจิตร

ต่อมา พระยาโคตรบองเทวราช (น่าจะเป็นชื่อเรียกกษัตริย์ทุกพระองค์) ย้ายเมืองขึ้นมาที่สระหลวง

โปรดให้ราชโอรสองค์ใหญ่ชื่อเจ้าไวยักษา ขึ้นมาสร้างเมืองด่าน ทางทิศเหนือ

สร้างพระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสาริกธาตุประจำเมือง

สร้างพระพุทธรูปไว้เบื้องหน้าพระธาตุ

ต่อมาถูกแม่น้ําน่านกัดเซาะเข้ามาถึงฐาน พระเจดีย์ทําให้ยอดหักลงน้ําไป เหลืออยู่ครึ่งองค์

สุดท้าย ได้สร้าง "ปราสาทพระนวมะราชบพิตร" ประดิษฐานหลวงพ่อโต และพระบรมสารีริกธาตุ




- วัดขวางชัยภูมิ -

พ.ศ. 2315 โปสุพาลา แม่ทัพพม่าให้ซิกชิงโบนายทัพ ยกมาตีเมืองลับแล ต่อถึงเมืองพิชัย

พระยาพิชัยได้ตั้งมั่นรักษาเมืองแล้วขอกองทัพเมืองพิษณุโลกขึ้นไปช่วย

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (เมื่อยังเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์) เสด็จยกกองทัพตั้งค่ายอยู่ที่บริเวณวัดขวางชัยภูมิในปัจจุบัน

ศาลพระยาพิชัย วิหาร อุโบสถเก่า วิหารหลวงพ่อชัยชนะสงคราม




- วัดเอกา -

ที่ตั้งค่ายพม่า และเป็นสนามรบ ที่พระยาพิชัยได้รบกับพม่า

ค่อนข้างเงียบสงัดคงเพราะเคยเป็นสนามรบ




- สถานีรถไฟพิชัย -




- วัดบ้านแก๋งใต้ -

เมื่อนายจ้อย อายุ 14 ปี มีเรื่องชกต่อยกับลูกเจ้าเมืองพิชัย จึงจะหนีไปเรียนชกมวยที่บ้านท่าเสา

ระหว่างทางถึง วัดบ้านแก๋ง เห็นครูเที่ยงสอนชกมวยจึงขอสมัครเป็นศิษย์ เปลี่ยนชื่อเป็นทองดี

เมื่อชกมวยเก่งกว่าทุกคน ครูทองดีจึงตั้งสมญานามว่า ทองดีฟันขาว ... เพราะไม่กินหมาก

สถานที่ฝึกมวยอยู่ข้างวัดบ้านแก๋ง

ในวิหารวัดบ้านแก๋งใต้ ประดิษฐานหลวงพ่อที่ปูนที่พระอุระกะเทาะออกเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2555

แล้วพบหลวงพ่อองค์เดิมที่ซ่อนอยู่ด้านใน เพื่อป้องกันภัยสงคราม




-วัดวังเตาหม้อ หรือ วัดท่าถนน-

นายทองดีฟันขาวจากค่ายครูเที่ยงถูกเพื่อนอิจฉา

เพราะไม่อยากมีเรื่องจึงเดินทางต่อ - ผ่าน วัดวังเตาหม้อ ได้วิชากระโดดเตะข้ามศรีษะจากงิ้ว

วัดอยู่ตรงข้ามสถานีรถไฟอุตรดิตถ์

มีโรงเรียนปริยัติธรรมและภาษาบาลีของพระภิกษุสามเณร - เป็นอาคารศิลปะแบบตะวันตก สร้างเมื่อ พ.ศ. 2474

วิหารหลวงพ่อเพ็ชร - ประดิษฐานหลวงพ่อเพ็ชร พระพุทธรูปศิลปะล้านนา

เชียงแสนสิงห์ 1 ขัดสมาธิเพ็ชร หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ทั้งองค์

เล่าว่า

เมื่อปี พ.ศ. 2436 หลวงพ่อด้วง เจ้าอาวาสวัดหมอนไม้ อำเภอบางโพ (อำเภอเมืองอุตรดิตถ์)

ได้พบจอมปลวกขนาดใหญ่รูปร่างแหลมผิดกลับจอมปลวกทั่วไป ที่บริเวณวัดไผ่ล้อม ต.ทุ่งยั้ง

เมื่อขุดจอมปลวกก็พบพระพุทธรูปฝังอยู่ในจอมปลวก - เรื่องราวเหมือนหลวงพ่อในอุโมงค์ วัดสว่างอารมณ์ กำแพงเพชร

จึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์นั้นไปไว้ที่วัดหมอนไม้

เพราะวัดหมอนไม้ไม่มีอุโบสถ และ ประชาชนมาสักการะบูชามาก จึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปไปประดิษฐานไว้ที่วัดวังเตาหม้อ (วัดท่าถนน)

ถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า หลวงพ่อเพ็ชร .. ขัดสมาธิเพ็ชร

พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงสร้างวัดเบญจมบพิตร

ได้รวบรวมพระพุทธรูปที่เก่าแก่และสวยงามตามหัวเมืองต่าง ๆ ไปประดิษฐาน

หลวงพ่อเพ็ชรก็ได้ให้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดเบญจมบพิตรด้วย

เจ้าอาวาสเสียใจมาก จึงได้ออกจากวัดธุดงค์ไปในที่ต่าง ๆ

สุดท้ายได้มรณภาพบนภูเขาในป่า บ้านนาตารอด ตำบลบ้านด่าน เมือง อุตรดิตถ์

ต่อมา พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ

โปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปหลวงพ่อเพ็ชร กลับคืนไปประดิษฐานไว้ที่วัดวังเตาหม้อตามคำขอของชาวเมืองอุตรดิตถ์

มีคำบอกเล่ามาว่าเทวดาประจำองค์หลวงพ่อ ได้ไปเข้าสุบินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงว่า อยากกลับอุตรดิตถ์




- วัดท่าเสา -

ถึง วัดท่าเสา หรือวัดใหญ่ท่าเสา นายทองดีฟันขาว ฝากตัวเป็นศิษย์ครูเมฆ

สันนิษฐานว่า วัดสร้างโดยพระครูสวางคบุรีหรือพระฝาง ในสมัยอยุธยาตอนปลาย

มีศาลาการเปรียญเก่าแก่

อุโบสถเป็นประตูไม้แกะสลัก 2 บาน

หน้าบันไม้แกะสลักด้านหน้าและด้านหลัง รูปเทพนมและลายไทย

หน้ามุข เป็นมุขทะลุขื่อ หรือมุขประเจิด ตามศิลปะสมัยอยุธยา

หอไตร แบบปิดใต้ถุนสูง

วิหารหลวงพ่อเย็ก อดีตเจ้าอาวาสวัดใหญ่ท่าเสา

เป็นพระปฏิบัติสมถวิปัสสกรรมฐานและศีลลาจารวัตรงดงาม

ชาวบ้านเรียกท่านว่าหลวงพ่อเย็ก เพราะหลวงพ่อเดินเขยก ๆ ประดิษฐาน พระพุทธไชยพิชิตมาร




- บึงกะโล่ -

ขับรถผ่านอุตรดิตถ์ เที่ยวอุตรดิตถ์หลายต่อหลายครั้ง เพิ่งรู้จักบึงกะโล่เมื่อได้เดินทางหลังโควิดนี่เอง

เมื่อได้ซื้อเม็ดบัวที่ลุงคนขายบอกว่า ปลอดสารพิษและยาฆ่าแมลงเพราะเก็บมาจากบึงกะโล่

บึงกะโล่มีขนาด 7500 ไร่ อยู่ทางฝั่งตะวันออกของอุตรดิตถ์และถนนสายทล. 11

ขับรถอ้อมบึงโดยรอบ 17 กม.แต่บางส่วนยังไม่ลาดยาง

ปากทางมีศาลเจ้าพ่อกะโล่ เชื่อว่าเป็นเทวดาผู้รักษาคุ้มครองบึงแห่งนี้

เคยเป็นที่เก็บน้ำก่อนเขื่อนสิริกิติ์

ในบึงมีซากเมืองโบราณอยู่ โบราณวัตถุเก็บไว้ที่วัดทุ่งเศรษฐี




ที่อุตรดิตถ์ มีเอกลักษณ์คือมีร้านข้าวแกงหลายร้านริมถนนสาย 11

แวะบ่อยมากคือร้านลุงติ๊ก

อยู่บน ทล.11 ขาล่อง เลยแยกไฟแดงตรอนมานิดเดียว

พิกัด https://goo.gl/maps/u4JScTxrWZzdh45H7




ร้านไอติมโบราณอร่อยถูกใจ ดวงใจไอศครีม

พิกัด https://goo.gl/maps/weLnzfsqSxwcsXkJA




ที่พัก เราเลือกที่ใหม่ สะอาด ใกล้ร้านอาหารที่ต้องการไปชิมตอนเย็นย่ำสายัณห์

ถ้าไม่มีอาหารเช้า จะเลือกก่อนเพราะตื่นเช้าเกินและมักเดินทางเลย

หลัง ๆ มาก็ไม่ได้เก็บภาพที่พัก มีแค่นี้เอง




ร้านอาหาร เลือกร้านอาหารปลา เพราะไม่ทำทานเอง

อร่อยบ้างไม่อร่อยบ้างแล้วแต่ปากใครก็ปากใคร ไม่อยากแนะนำ

หน้าตาอาหารของเรา













Create Date :26 มีนาคม 2566 Last Update :21 เมษายน 2566 10:47:06 น. Counter : 1223 Pageviews. Comments :22