bloggang.com mainmenu search




สวัสดีค่ะ


อย่า..อย่าเพิ่งแปลกใจ วันนี้สาวไกด์ฯ มาแปลก





พอดีว่าช่วงนี้ “โชคดี” และ “มีบุญ” ได้อ่านหนังสือที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมะและศาสนาพุทธซึ่งเป็นหนังสือที่นอกจากจะ “อ่านง่าย” แล้วยัง “สนุก" อีกด้วย ถึง 3 เล่มติดๆ กัน ก็เลยอยากจะมารีวิวและกึ่งๆ เชียร์ให้เพื่อนบล็อกได้ลองไปหามาอ่านเพื่อความสุขทางใจกันค่ะ








สองทศวรรษในดงขมิ้น





ผู้แต่ง : ไต้ ตามทาง
สำนักพิมพ์ : มติชน
จำนวนหน้า: 322 หน้า
ราคาปก : 205.00 บาท






เนื้อหาโดยย่อ พร้อมความเห็น





เป็นหนังสือที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับพระสงฆ์+ความรู้ทางศาสนาพุทธที่อ่านสนุกเล่มหนึ่งค่ะ





ตอนแรกได้อ่านการแนะนำจากบล็อกของนัทคุง ที่นี่ (คลิกเพื่ออ่าน) ก็รู้สึกว่าน่าสนใจมั่กๆ




และเมื่อครั้งเจอกันคราวฉลองวันเกิดจอมยุทธ์ฮันฯ นัทคุงจึงได้เอาหนังสือเล่มนี้มาให้อ่าน และข้าพเจ้าก็พบว่า มันสนุกจริงๆ ครับท่าน




นอกจากความรู้หลายๆ เรื่องที่ข้าพเจ้าไม่เคยได้รู้มาก่อน (ตามประสาชาวพุทธส่วนใหญ่ในประเทศไทย ) เช่น น้ำปานะ อันที่เคยได้รู้มาว่า เป็นน้ำที่ผ่านผ้าขาวบางกรองแล้วถึงดื่มได้เท่านั้น แต่หนังสือเล่มนี้กลับบอกว่ามีน้ำอยู่ 8 ชนิด (ใช่หรือเปล่าหว่า?) เท่านั้นที่ดื่มได้ เช่น น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด น้ำกล้วยมีเมล็ด น้ำมะม่วง น้ำมะเฟือง และน้ำอื่นๆ ที่ข้าพเจ้าไม่รู้จัก เง่อ...



ความหมายของเปรียญธรรม ๙ ประโยค ความหมายของมหา ความหมายของนักธรรมตรี นักธรรมโท และนักธรรมเอก พระไตรปิฏก ความแตกต่างของสองนิกายในไทย การอาบัติของพระ ฯลฯ




อ่านแล้วดูเหมือนน่าจะเครียดๆ แต่นั่นแหละค่ะคือสิ่งที่เป็นเสน่ห์ของหนังสือเรื่องนี้ ซึ่งถือว่าเป็นความสามารถของผู้เขียนคือคุณไต้ ตามทางอย่างมาก



เพราะมันไม่เครียด เข้าใจง่าย และไม่น่าเบื่อเลยค่ะ



ไม่น่าเชื่อเนาะ


แต่คุณไต้ทำได้จริงๆ ค่ะ


เพราะงั้นต้องขอชื่นชมเป็นอย่างมากกกกก





เพราะคุณไต้มีความเป็นนักอรรถาธิบายที่ดี ไม่ใช้สำนวนที่จะทำให้เข้าใจได้ยาก และยังมีการสอดแทรกเรื่องราวสนุกๆ ไว้ตลอดค่ะ โดยบางครั้งก็แทรกเป็นเหตุการณ์ บางคราวก็แทรกเป็นเรื่องเล่า




อาจเป็นเพราะเรื่องนี้นั้น เคยลงในต่วย'ตูนมาก่อน ซึ่งนั่นหมายความว่า จะต้องมีสไตล์การเขียนที่อ่านแล้ว “สนุก” ในการอ่านอยู่ไม่น้อยก็ได้ (ว่าแต่เด็กรุ่นนี้รู้จักต่วย'ตูนกันมั้ยนี่ )





เพราะฉะนั้นแนะนำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนที่สนใจอยากรู้เรื่องราวบางอย่างของศาสนาพุทธ แต่ไม่เหมาะกับคนที่เคร่งทางพุทธมากๆ แบบ..รับไม่ได้กับการอาบัติทุกประเภทของพระ (ผู้เขียนเองนั้นก็ออกจะมีการกึ่งเหน็บกึ่งแซวแนวคิดเชิงเคร่งแบบนิกายหนึ่งของไทยอยู่เล็กๆ น่ะนะคะ) และไม่เหมาะกับคนที่ไม่ได้มีความสนใจใฝ่รู้ทางด้านนี้เลยนะคะ เพราะถ้าไม่อยากรู้เอาซะเลย อาจจะไม่ได้สนุกกับความรู้ที่ผู้เขียนให้ก็ได้ค่ะ




แต่ถ้าคุณสนใจจะรู้เรื่องราวที่เล่ามาในเบื้องต้น และอยากหาหนังสือที่เล่า+บอกเรื่องราวเหล่านี้ได้เข้าใจง่าย อ่านสนุก ก็ลองอ่านเล่มนี้นะคะ






















เล่มต่อไปค่ะ




ชวนม่วนชื่น




ผู้แต่ง : พระอาจารย์พรหมวังโส
ผู้แปล : ศรีวรา อิสสระ
สำนักพิมพ์ : โรงเรียนทอสี
จำนวนหน้า: หน้า
ราคาปก : พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน




เล่มนี้จะเป็นหนังสือที่รวบรวมเรื่องเล่าที่มีข้อคิดดีๆ ไว้หลายๆ เรื่องและจัดหมวดหมู่เรื่องที่ให้ข้อคิดที่ใกล้เคียงกันไว้ใกล้ๆ กันค่ะ


พระอาจารย์พรหมมีกำเนิดเป็นชาวอังกฤษค่ะ แต่ได้มาบวชและเรียนรู้กับหลวงปู่ชาที่วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งที่ออสเตรเลีย



แค่อ่านประวัติผู้เขียน (หรือผู้เล่า) ก็น่าสนใจแล้วใช่มั้ยคะ?




แต่ขอบอกว่าเรื่องราวในหนังสือนั้นก็น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากันเลยค่ะ





สาเหตุที่เรื่องนี้คนไทยได้อ่านนั้น ก็เป็นเพราะคนแปลมีโอกาสได้ไปฟังการบรรยายธรรมของพระอาจารย์พรหม แล้วรู้สึกว่าท่านบรรยายได้ดีและสนุกมาก (คนฟังทั้งหลายฟังธรรมะจบด้วยรอยยิ้มน่ะค่ะ) แล้วก็มีผู้มาบอกว่ามีรวมเรื่องราวต่างๆ ที่อาจารย์ใช้ในการเทศน์เป็นหนังสือภาษาอังกฤษด้วยนะ สนใจจะแปลหรือไม่ ในที่สุดคนไทยก็ได้อ่านค่ะ






อ่านแล้วก็รู้สึกว่าแตกต่างอย่างชัดเจนกับเล่มแรกที่แนะนำ (2 ทศวรรษในดงขมิ้น) ค่ะ เพราะอาจารย์พรหมเป็นศิษย์ของหลวงปู่ชาซึ่งเป็นพระสายวัดป่า ซึ่งค่อนข้างเคร่งครัดในวินัย (ซึ่งขอสารภาพว่า จริตของสาวไกด์ฯ ค่อนข้างศรัทธาสายนี้มากกว่าแนวทางของ 2 ทศวรรษฯ นะคะ) แต่พระอาจารย์พรหมฯ เองก็ไม่ได้เรียกว่า เป็นผู้ที่ปฏิบัติจนบรรลุ หรืออยู่ในขั้นสูงนะคะ เพราะท่านยังเป็นพระที่ยังคงน้ำตาไหลในเรื่องที่สะเทือนใจหรือซาบซึ้ง แต่ข้อดีของพระอาจารย์พรหมที่เห็นได้ชัดคือ ท่านเป็นผู้มีพรสวรรค์ในการเล่า เป็นคนที่ “เล่า” และ “เปรียบเทียบ” สิ่งต่างๆ ได้เห็นภาพและทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายและชัดเจนค่ะ



ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะ “ลีลา” การสื่อของหนังสือเล่มนี้ที่เป็น “การเล่าเรื่อง” ทำให้ออกมาแนวสบายๆ ด้วย แต่ถ้าไม่ได้คนที่มีทักษะในการเล่าเรื่องที่ดี หนังสือก็คงไม่ออกมาอ่านแล้วสนุก+ง่ายขนาดนี้ก็เป็นได้ค่ะ






คือ..ไม่รู้จะบรรยายอย่างไร แต่เนื้อหาในหนังสือมีทั้งเรื่องเล่าที่ชวนคิดใคร่ครวญ เรื่องที่ชวนหัวเราะขบขัน เรื่องที่ทำให้เราต้องพยักหน้าอย่างเห็นด้วย เรื่องที่ก่อความสะเทือนใจจนน้ำตาคลอ และเรื่องที่อ่านแล้วอึ้งค่ะ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเรื่องสุดท้าย ทั้งสะใจทั้งอึ้งและทั้งหัวเราะเลยค่ะ สุดยอดมาก – แต่!!! ห้ามอ่านเรื่องสุดท้ายก่อนเรื่องอื่นๆ เป็นอันขาดนะคะ)





อ่านแล้วได้ความรู้สึกเกือบๆ จะที่เรียกกันว่า “ปิติ” อาบเอิบไปทั่วร่างทีเดียวค่ะ






ข้าพเจ้าเชียร์เรื่องนี้เต็มสตรีมมมมมมค่ะ






เรียกว่า ถ้ามีตังค์เยอะๆ ก็อยากจ้างพิมพ์หรือซื้อแจกตามห้องสมุดเป็นธรรมทานเลยทีเดียว












และเล่มสุดท้ายค่ะ




สันโดษ...เคล็ดลับของความสุข


(ไม่มีรูปหนังสือ มีแต่รูปผู้เขียนค่ะ)


พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก





หนังสือเล่มเล็กๆ บางๆ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการจะมีความสุขกับชีวิตค่ะ






เล่มนี้ไม่ได้เน้นเรื่องเล่าหรือความรู้ละเอียดอะไรมากมาย แต่เป็นการอรรถาธิบายความหมายและการที่จะมีชีวิตอย่างมีความสุขด้วยความสันโดษ (ซึ่งคนทั่วไปมักเข้าใจผิดๆ ว่าเป็นการ “อยู่คนเดียว” ซึ่งไม่ใช่เลยอะค่ะ) การพอใจในสิ่งที่สมควร การใช้หลักอิทธิบาทสี่เพื่อให้ชีวิตประสบความสำเร็จ



เป็นหนังสือคู่มือในการใช้ชีวิตให้มีความสุข และสามารถเผชิญหน้ากับความทุกข์ได้ในระดับหนึ่ง ที่เป็นเสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้คือเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ บางๆ แต่เพียบไปด้วยคุณค่าและรูปประกอบน่ารักๆ (จนรู้สึกว่าอยากวาดภาพให้ได้น่ารักอย่างนี้บ้างจัง ) จนทำให้น่าอ่าน และเข้าใจได้ค่อนข้างง่ายนะคะ



ซึ่งพระอาจารย์มิตซูโอะเองก็เป็นศิษย์ของหลวงปู่ชาเช่นกันค่ะ เราเองเคยไปวัดหนองป่าพงมา 3 ครั้ง (เป็นการไปเพื่อการทำงานค่ะ) แต่จากการอ่านหนังสือของลูกศิษย์ท่าน 2 เล่มแล้วก็ทำให้รู้สึกว่าอยากไปอีกจัง และคิดว่าความรู้สึกที่ไปในครั้งนี้ แตกต่างจาก 3 ครั้งที่เคยไปมาแน่ๆ ค่ะ เสียดายจริงๆ ที่ไม่เคยได้ไปพบท่านหรือสนทนากับท่านในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่




อ่านแล้วก็อดคิดไม่ได้นะคะว่า...ทำไมไม่มีลูกศิษย์คนไทย หรือคนที่เป็นพระไทยที่เขียนหนังสือธรรมะได้อ่านสนุก อ่านง่ายอย่างนี้บ้างหนอ (หรือว่าเราโลกแคบ มี..แต่เราไม่เคยได้อ่านกันหนอ?)






มีใครจะแนะนำหนังสือธรรมะอ่านสนุกเล่มอื่นบ้างมั้ยคะ? จะได้ไปตามหามาอ่านค่ะ








ขอบคุณทุกท่านสำหรับการแวะมาอ่านค่ะ


181861/3291/254

Create Date :17 เมษายน 2551 Last Update :17 เมษายน 2551 8:48:27 น. Counter : Pageviews. Comments :86