bloggang.com mainmenu search
เมื่อพูดถึงท้องฟ้าจำลอง คนส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ฯ ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนสุขุมวิท ใกล้สถานีขนส่งเอกมัย เป็นแหล่งเรียนรู้เก่าแก่ที่คนรุ่นปู่ย่าตายายก็ได้ไปดูดาวกันตั้งแต่ครั้งยังหนุ่มยังสาว

ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ฯ ที่ว่านี้ อยู่ในสังกัดศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) กระทรวงศึกษาธิการ เริ่มก่อสร้างขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 และเปิดแสดงให้ประชาชนได้เข้าชมในปี พ.ศ.2507

นับไปเมื่อ 40 ปีก่อน เครื่องฉายดาวที่ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ฯ ใช้อยู่เป็นเครื่องที่ทันสมัยและประเทศไทยได้ใช้ก่อนใครในเอเซียอาคเนย์ เลนส์ยี่ห้อคาร์ลไซซ์นี้ขึ้นชื่อที่สุดในโลก แต่เดี๋ยวนี้ที่อื่นเขาใช้ระบบใยแก้วนำแสง ทำให้จุดสว่างในโดมเป็นแสงสุกใสเหมือนดาวในท้องฟ้าจริงมาก แต่ในอนาคตท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ฯ ก็ได้มีแผนที่จะปรับปรุงห้องฉายดาวและเครื่องฉายดาวให้ทันสมัยกว่านี้

ล่าสุด เด็ก ๆ มีเฮกับมีท้องฟ้าจำลองแห่งใหม่ ที่ใหญ่และทันสมัยกว่าเดิม
วันหยุดนี้ครอบครัวเราพาลูกชายวัยสี่ขวบ ล่องลอยไปในดวงจันทร์ ที่ท้องฟ้าจำลองแห่งใหม่ อยู่ที่คลอง 6 อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี

ลูกชายชอบมากที่ได้ขึ้นยาน “เอา-ยา-กาด” (ลูกเรียกอย่างนั้น) ไปโผล่ที่ดวงจันทร์ จริง ๆ แล้วก็คือมุดยานอวกาศเข้าไป ก็จะเจอพื้นผิวดวงจันทร์จำลอง ขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ และก็เต็มไปด้วยปากปล่องภูเขาไฟ และหลุมอุกกาบาต มีโลกสีน้ำเงินประกอบฉากอยู่ด้านหลัง สมจริงไม่เบา ทำเอาเด็กน้อยเคลิบเคลิ้ม คิดว่าได้ไปเหยียบดวงจันทร์จริง ๆ เพราะเจ้าลูกชาย ประทับใจเรื่องราวของยานอวกาศและดวงดาวเอามาก ๆ จากวีซีดีการ์ตูน และหนังสือภาพที่อ่าน เมื่อได้เข้าไปในแหล่งเรียนรู้ที่ตอบสนองจินตนาการตัวเองได้อย่างนั้นจึงติดใจมาก

ภายในอาคารมีพื้นที่จัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ นิทรรศการถาวร นิทรรศการชั่วคราว ท้องฟ้าจำลอง ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ธรรมชาติวิทยาและสิ่งแวดล้อม ดาราศาสตร์ และอวกาศในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางในการศึกษา ค้นคว้าวิจัย ทดลองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฯลฯ

“คุณแม่ ภูเขาไฟ” ลูกชี้ให้ดู
“ไหนดูซิลูก มีมังกรไฟด้วยหรือเปล่า” แม่ถาม ปล่อยมุกตามนิทานมังกรไฟไม่เรียนหนังสือ
“ฮือ ๆ แม่อย่าเดินไปตรงนั้น” ว่าแล้วลูกก็ปล่อยโฮออกมา

ก็ไดโนเสาร์นั่นสิคะ ตัวโต ตาสีแดง ๆ และผงกหัวได้ด้วย ลูกชายกลัวจนตัวสั่น ไม่กล้าเฉียดไปใกล้ ถึงจะบอกว่านี่ไม่ใช่ของจริงก็เถอะ

เดินชมนิทรรศการและร่วมสนุกกับกิจกรรมในส่วนที่จัดแสดงจนปวดขา วิ่งไล่ตามลูกที่สนุกตื่นเต้นเหลือเกิน จนหอบแฮ่ก ๆ ก็ยังได้ดูและได้ทดลองเล่นไม่หมด

เวลาไม่รอท่า เดี๋ยวจะหมดวันซะก่อน เราจึงได้คิวเข้าไปในส่วนจัดแสดงที่น่าสนใจที่สุดคือ “ท้องฟ้าจำลอง” ซึ่งวันนั้นเราได้คิวเข้าชมรอบบ่ายโมงค่ะ
คิวที่ได้นี้ถือว่าโชคดีที่สุดแล้ว เพราะรอแค่ชั่วโมงกว่าก็ได้ดู

ช่วงเปิดใหม่นี้ คนมาดูดาวกันเยอะบางคนมาซื้อตั๋วบ่ายสองโมง แต่ได้คิวดูดาวรอบห้าโมงเย็น เพราะรอบก่อนนี้ ตั๋วเต็มหมด น่าดีใจแทนเจ้าของสถานที่ที่ผู้คนให้ความสนใจเข้าชมอย่างล้นหลาม

ท้องฟ้าจำลองนี้มีลักษณะเป็นโดม บรรจุผู้ชมได้ 160 ที่นั่ง ซึ่งใช้เครื่องฉายดาวระบบใยแก้วนำแสง (Fiber-Optical Projectors) บรรยากาศคล้ายนั่งดูดาวอยู่บริเวณเชิงเขา และด้วยเทคโนโลยีของระบบฉายดาว ซึ่งมี 2ระบบคือ ระบบกลไกมอเตอร์และเลนส์ จึงทำให้บรรยากาศเสมือนดูดาวจริงในคืนเดือนมืดท้องฟ้าโปร่ง และระบบที่ 2 ระบบดิจิตอลสกาย ทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนตัวเองล่องลอย อยู่ในเหตุการณ์จริง ซึ่งการพัฒนาให้เครื่องฉายดาวสองระบบทำงานคู่กัน จึงทำให้ท้องฟ้าจำลองแห่งนี้ มีความทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เข้าไปในห้องฉายดาว ลูกชายตื่นเต้นจนออกนอกหน้า จอกลม โค้ง ๆ เอียง ๆ ได้อารมณ์เหมือนกับได้นอนดูดาวจริง ๆ เครื่องฉาย สมจริงสมจัง ซะจนเด็ก ๆ เต็มห้อง สนุ๊ก..สนุก กรี๊ดกร๊าดลั่นห้องเมื่อคิดว่าดาว กับสถานีอากาศกำลังเคลื่อนที่จะมาชนตัวเองจัง ๆ

ท้องฟ้าจำลองรังสิตนี้อยู่ในสังกัดศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต มีเนื้อที่ 60 ไร่ ใช้งบประมาณก่อสร้างและตกแต่งกว่า 700 ล้านบาท เปิดให้บริการแก่นักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชนทั่วไปทุกวันยกเว้นวันจันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ค่าเข้าชมส่วนจัดแสดงท้องฟ้าจำลองคนละ 30บาท สนใจสอบถามที่ โทร. 0-2577-5455 -59 เว็บไซต์ //www.rscience.net

......เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี รัฐบาลอุตส่าห์ลงทุนควักเงินสร้างแหล่งเรียนรู้ให้เด็กๆ และชาวบ้านอย่างเรา ๆ แล้ว ไปดูกันเยอะ ๆ เถอะค่ะ

แต่ถ้าหากสนใจจะไปดูดาวที่ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ฯ ใกล้สถานีขนส่งเอกมัย โทรศัพท์ไปสอบถามที่หมายเลข 0-2391-0544, 0-2392-0508, 0-2392-1773 เว็บไซต์ //www.sci-educ.nfe.go.th

ส่วนผู้ชมที่ต่างจังหวัดก็เตรียมตัวรอได้...เพราะในอนาคตจะมีท้องฟ้าจำลองในทุกภูมิภาคต่าง ๆ ภาคเหนืออยู่ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ ภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา ภาคอีสานที่จังหวัดร้อยเอ็ด และภาคกลางที่จังหวัดสระบุรี แต่ แว่ว ๆ ข่าวมาว่าเป็นท้องฟ้าจำลองขนาดกลาง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10-13 เมตร และมีพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ด้านต่าง ๆ ให้เข้าชมด้วย

ถึงตอนนี้ ลูกชายก็ยังรบเร้าอยากจะไปท้องฟ้าจำลองอยู่เรื่อย ๆ ค่ะ



Create Date :14 ธันวาคม 2550 Last Update :11 สิงหาคม 2554 15:39:41 น. Counter : Pageviews. Comments :4