bloggang.com mainmenu search
วันเสาร์นี้เกาลัดอยากไปไหน ?
“อยากไปทะเล”
ถ้าอย่างนั้นไปบางแสนดีกว่า !

บางแสนเป็นทะเลใกล้กรุงเทพ ที่เราไปกันบ่อย เพราะใกล้ เดินทางสะดวก ไปเช้า-เย็นกลับได้
สถานที่กินที่เที่ยวน่าสนใจละแวกบางแสนมีหลายอย่าง ทั้งเขาสามมุข อ่างศิลา
ร้านอาหารทะเลอร่อย ๆ แหลมแท่น และที่สำคัญมีสถานที่พักผ่อนริมชายหาดให้เด็ก ๆ
ได้เล่นน้ำเพลินใจ นอกจากนั้นยังมี “สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล บางแสน” เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อให้เด็กและผู้ใหญ่ได้รู้จักทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเลในบ้านเรากันมากขึ้น



สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล บางแสน ตั้งอยู่บริเวณมหาวิทยาลัยบูรพา
สถานที่แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำเค็มเก่าแก่ ก่อตั้งเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2512
โอ้โฮ มีอายุมากกว่าพ่อกับแม่ของเกาลัดซะอีกนะ !

เราทราบมาด้วยว่า แต่เดิมสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล บางแสน มีชื่อว่า
"พิพิธภัณฑ์สัตว์และสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม" ซึ่ง โดยคณะอาจารย์ในภาควิชาชีววิทยา
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน (วิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสนเดิม)

ต่อมารัฐบาลญี่ปุ่นใจดีให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าในการจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ทางทะเลเป็นมูลค่า 230 ล้านบาท
โดยเริ่มก่อสร้าง ในปี พ.ศ. 2524 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเสด็จมาทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2525 การก่อสร้างแล้วเสร็จและมีพิธีมอบให้แก่มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2526
เห็นเล่าประวัติยาวนานอย่างนี้แล้วอย่าเพิ่งเบื่อกันนะคะคุณผู้อ่าน ตามเกาลัดไปเที่ยวกันก่อนค่ะ

เราเดินทางไปถึงที่หมายแล้ว จะเห็นน้ำพุโลมาขนาดใหญ่ เรียกความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ได้ดี
ใครมาถึงที่นี่แล้ว ต่างก็อดใจไม่ไหวขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกันแทบทุกคน
ใกล้ ๆ อาคารมีแผ่นป้ายสัตว์น้ำกุ้ง ปู ปลา สีสันสดใส
“แม่ ๆ ถ่ายรูปกันเถอะ” เกาลัดบอก แล้วก็ยิ้มแป้นถ่ายรูปกับสัตว์ที่ถูกใจ

เมื่อเดินเข้าไปในอาคารชั้นล่าง จะพบกับ “สถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม” อยู่ชั้นล่างของอาคาร
จะได้รู้จักสัตว์ต่าง ๆ ดังนี้ สัตว์ที่อาศัยอยู่ในเขตน้ำขึ้นน้ำลง ส่วนที่จัดแสดงไว้ในสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม
ของสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล บางแสนนี้ เป็นบริเวณเขตน้ำขึ้น-น้ำลง บริเวณที่เป็นหาดหิน
และมีน้ำขังอยู่ตามแอ่งหิน ซึ่งลักษณะเช่นนี้เรียกกันทั่วไปว่า "แอ่งน้ำขึ้น-น้ำลง" ตามธรรมชาติ
ซึ่งจะพบ กุ้ง ลูกปลาบางชนิด หอยนางรม ปูเสฉวน เม่นทะเล ดอกไม้ทะเล ดาวทะเล อาศัยอยู่บริเวณนั้น

เมื่อเกาลัดยังเล็กกว่านี้ ลูกเรียกปูเสฉวนว่า “ปูเสโฉน”
เด็กน้อยเคยดูนิทานเกี่ยวกับปูเสฉวน ตอนที่ปูยังเล็ก ๆ อาศัยอยู่ในเปลือกหอยเล็ก ๆ แต่เมื่อโตขึ้น ก็ต้องออกไปหาเปลือกหอยตัวใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม ก็เลยสนใจปูชนิดนี้เป็นพิเศษ
มีเพลงประกอบนิทานด้วย เนื้อเพลงมีอยู่ว่า “ลาก่อนเปลือกหอยแสนสวย เธอช่วยดูแลตัวฉัน
บ้านนี้อยู่มานานวัน ตัวฉันนั้นใหญ่กว่าเดิม” ทำให้เกาลัดเข้าใจธรรมชาติของปูเสฉวนมากขึ้น

ถัดมา ก็จะได้พบกับ ปลาในแนวปะการัง ปลาที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ส่วนใหญ่
จะเป็นปลาที่มีขนาดและมีสีสันสวยงาม เช่น ปลาสลิด ปลาการ์ตูน ปลาเขียวพระอินทร์
ปลาผีเสื้อ และปลาโนรี

“ปลานีโม่ ๆ” เกาลัดชี้ให้ดูปลาการ์ตูน

ปลาการ์ตูนเป็นปลาที่เด็ก ๆ รู้จักกันมาก จากหนังการ์ตูนชื่อดังของต่างประเทศ
จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมใคร ๆ ก็ให้ความสนใจปลาชนิดนี้กันนัก
สงสัยว่าการที่ปลาและสัตว์เหล่านี้ถูกถ่ายภาพโดยใช้แฟลชนั้นจะเป็นอันตราย ต่อพวกเขาหรือเปล่า ?
คงต้องระวัง และถ่ายภาพเท่าที่จำเป็นเท่านั้น !

จากนั้นจะได้พบกับการจัดแสดงตามลำดับ ได้แก่
การอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต สิ่งมีชีวิตในทะเลเหมือนกับสิ่งมีชีวิตบนบกคือมีการอยู่ร่วมกัน
และพึ่งพาอาศัยกัน ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การอยู่ร่วมกันแบบ "ซิมไบโอซิส" (Symbiosis)
หมายถึง การที่สิ่งมีชีวิตสองชนิดอาศัยอยู่รวมกัน หรืออยู่ ปนกันโดยต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ซึ่ง กันและกัน
เช่น ปลาการ์ตูน หรือ ปลาอินเดียแดงสามารถอยู่ร่วมกับ ดอกไม้ทะเลได้ โดยที่ปลา
เหล่านี้จะอาศัยดอกไม้ทะเลเป็นที่หลบ ภัยและสืบพันธุ์ ส่วนดอกไม้ทะเลจะได้รับ
ประโยชน์จากปลาโดยการล่อเหยื่อหรือชัก นำเหยื่อให้เข้ามาใกล้พอที่ดอกไม้ทะเล จะจับเป็นอาหารได้
สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังน้ำเค็ม สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังน้ำเค็ม นับว่าเป็น สัตว์กลุ่มใหญ่ในทะเลและมหาสมุทร
สัตว์จำพวกนี้ มีลักษณะแตกต่างกันออกไปทั้งขนาด รูปร่าง ที่ อยู่อาศัย และอุปนิสัยในการกินอาหาร
บางชนิดมี อันตราย แต่หลายชนิดก็มีประโยชน์ และมีความสำคัญ ทางเศรษฐกิจ
ปลาเศรษฐกิจ แบ่งออกเป็น 2 พวก คือ พวกที่นำมาเป็นอาหาร เช่น ปลากะรัง
หรือที่เรียกกันว่า "ปลาเก๋า" นอกจากนี้ก็มีปลากะพง ชนิดต่าง ๆ ปลาอีคุด ปลาสีขน
ปลาสร้อยนกเขา ปลาหูช้าง และพวกที่นำมาเลี้ยงเพื่อความสวยงาม ส่วนมากเป็นที่อาศัยอยู่ในบริเวณปะการัง
ได้แก่ ปลาสลิดทะเล ปลานกแก้ว ปลานกขุนทอง ปลาสินสมุทร ปลาผีเสื้อ ปลาข้าวเม่าน้ำลึก
ปลารูปร่างแปลกและปลามีพิษ ปลาบางชนิดมีรูปร่างแปลก โดยมีรูปร่างหรือสีกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม
เพื่อหลบหลีกศัตรูหรือพรางตาเหยื่อ บางจำพวกนอกจากมีรูปร่างแปลกแล้ว ยังมีสีสันสวยงามและมีพิษด้วย รวมถึงปลาบางชนิดที่รับประทานแล้วเป็นพิษต่อมนุษย์ เช่น ปลากระเบน ปลาลิ้นหมา ปลาวัว ปลาไหลทะเล
ปลาปักเป้า ปลาสิงโต ปลาเหาฉลาม ปลาฉลามกบหรือฉลามแมว ปลาอุบ และ ปลากะรังหัวโขน ..........................โอ ! มองดูแล้วน่ากลัวจัง

เห็นสัตว์ทะเลต่าง ๆ มากมายจนจำกันไม่ไหวแล้ว เด็ก ๆ ยังไม่เบื่อกันหรอกค่ะ

จุดที่เรากำลังจะเดินไปถึงอีกไม่กี่วินาทีข้างหน้านี้ เป็นไฮไลท์ที่เรียกความสนใจ
สร้างความตื่นเต้นแก่ผู้ชมได้มากทีเดียว
นั่นคือ ตู้ปลาขนาดใหญ่มหึมา บรรจุ ปลาที่อาศัยในมหาสมุทร
ตัวใหญ่เบ้อเริ่ม สัตว์ทะเลในตู้นั้นที่แม่เกาลัดพอจะรู้จัก ก็คือ ปลาโอ
ปลากะพงขาว ปลากระเบน ปลาฉลาม เป็นต้น จุดนี้ส่วนใหญ่จะหยุดชมกันนานสักหน่อย

ออกจากตู้ปลาขนาดใหญ่ เป็นทางเดินสู่บ่อเต่าทะเลและฉลาม นอกตัวอาคาร
มีเต่า 2 ชนิด คือ เต่าตนุและเต่ากระ ส่วนปลาฉลามที่เลี้ยงในบ่อเลี้ยงเป็นปลาฉลามหูดำ
หรือปลาฉลามครีบดำ

“เต่า เต่า เต่า เต่ามันมีสี่ขา สี่ตีนเดินมา มันทำหัวผลุบ ๆ โผล่ๆ”
เด็กน้อยร้องเพลงที่จำมาจากโรงเรียน พลางยิ้มชอบใจที่ได้เห็นเต่า
“ปลาฉลามจะกัดเกาลัดไหมแม่”
เด็ก ๆ นี่เห็นอะไรก็ตื่นเต้นไปหมดเลยนะคะ
เห็นฉลามก็ดูฉลามแบบกล้า ๆ กลัว ๆ แต่ก็อยากเห็น

เราเดินขึ้นชั้น 2 ของอาคารไปที่ “พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ทางทะเล”
มีการจัดแสดงออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ
ส่วนแรก จัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ
เกี่ยวกับพระราชกรณีกิจทางด้านการฟื้นฟู อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และด้านวิทยาศาสตร์การประมง
ส่วนที่สอง จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเรื่องราวของทะเล ระบบนิเวศ และสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในทะเล รวมทั้งความสำคัญของทะเลที่มีต่อมนุษย์ ดังนี้

นิทรรศการเรื่องราวของอาณาจักรของสิ่งมีชีวิตในทะเล ให้ความรู้ตั้งแต่ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ในทะเล
คือ แพลงก์ตอนซึ่งมีบทบาทสำคัญของห่วงโซ่อาหารในทะเล สาหร่าย และหญ้าทะเล ฟองน้ำ
สัตว์ที่มีโพรงลำตัว เช่น ปะการัง ดอกไม้ทะเล แมงกะพรุน หนอนทะเล เช่น หนอนตัวแบนหนอนปล้อง
หนอนริบบิ้น เป็นต้น หอย เช่น หอยฝาเดียว หอยฝาคู่ หมึก และหอยงวงช้าง เป็นต้น
สัตว์ที่มีข้อปล้องในทะเล เช่น ปู กุ้ง กั้ง และแมงดาทะเล สัตว์จำพวกคอร์เดทในทะเล
เช่น เพรียงหัวหอม แอมฟิออกซัส และสัตว์ทะเลที่มีกระดูกสันหลังชนิดต่างๆ ได้แก่
ปลาทะเล โลมา พะยูน เต่าทะเล และจระเข้น้ำเค็ม รวมทั้งเรื่องราวของทะเล และสิ่งมีชีวิตในทะเลยุคดึกดำบรรพ์



นิทรรศการเรื่องราวของทะเล และระบบนิเวศในทะเล กล่าวถึงการแบ่งเขตของทะเล และระบบนิเวศต่างๆในทะเล
รวมทั้งพืช และสัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่ในแต่ละระบบนิเวศ โดยเริ่มตั้งแต่ ระบบนิเวศของป่าชายเลน ระบบนิเวศหาดหิน
ระบบนิเวศหาดทราย และหาดโคลน ระบบนิเวศแนวปะการัง

นอกจากนี้ยังจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับความสำคัญของทะเลที่มีต่อมนุษย์ เช่น เป็นแหล่งทำการประมง
โดยใช้เครื่องมือประมงทะเล เช่น โป๊ะ และเรือประมงทะเลชนิดต่างๆ เป็นเส้นทางค้าขาย
และเดินทางติดต่อกันของมนุษย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งต้องพบกับอุปสรรคนานาประการจากคลื่น ลม และพายุ จนทำให้เรืออัปปางกิดเป็นเรื่องราวของการขุดค้น และศึกษาโบราณคดีใต้น้ำ

ห้องพิพิธภัณฑ์เปลือกหอย และวิวัฒนาการของหอย ในห้องนี้จะจัดแสดงเกี่ยวกับเปลือกหอยที่พบในทะเลกลุ่มต่างๆ
ได้แก่ ลิ่นทะเล หอยฝาเดียว หอยฝาคู่ หอยงวงช้าง และหอยงาช้าง เป็นต้น
รวมทั้งนิทรรศการความรู้เกี่ยวกับหอยแต่ละกลุ่ม วิวัฒนาการของหอยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และการแบ่งกลุ่มของหอยที่มีอยู่ในโลก

เดินเข้าชมสถานที่ซึ่งแม้จะมีเพียงแค่สองชั้นเท่านั้น แต่ก็เริ่มเหนื่อยแล้วค่ะ
หลังจากเข้าชมสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล เสร็จแล้วก็อย่าลืมช่วยกันอุดหนุนร้านค้าซึ่งมีทั้งของฝาก
ของที่ระลึก หนังสือ โปสเตอร์ สื่อการเรียนรู้ที่น่าสนใจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ทะเลกันด้วยนะคะ

ของที่ระลึกในร้านค้าที่แม่ซื้อให้เกาลัดบ่อย ๆ ก็คือเสื้อยืดค่ะ น่ารักมาก มีตุ๊กตารูปสัตว์ทะเลตัวเล็ก ๆ เย็บติดเสื้อด้วย ลูกใส่จนเก่าและคับไปสองสามตัวแล้ว ที่ยังใส่ได้อยู่คือเสื้อยืดเต่าทะเล กับเสื้อยืดแมวน้ำ

หากผู้อ่านท่านใดสนใจที่จะไปศึกษาเรียนรู้ที่นี่เขา เปิดทำการ วันธรรมดา (อังคาร-ศุกร์)
เวลา 8.30 - 16.00 น. วันหยุดราชการ (เสาร์-อาทิตย์-นัก ขัตฤกษ์)
เวลา 8.30 - 17.00 น. หยุดวันจันทร์

อัตราค่าเข้าชม รายบุคคลแบบปกติ เด็ก คนละ 15 บาท ผู้ใหญ่ คนละ 30 บาท
นักเรียน คนละ 10 บาท ชาวต่างชาติ เด็ก คนละ 50 บาท ผู้ใหญ่ คนละ 100 บาท

อัตราหมู่คณะที่ติดต่อเข้าชมล่วงหน้ากับสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล นักเรียน คนละ 10 บาท
นิสิต – นักศึกษา คนละ 15 บาท ครู-อาจารย์ผู้ควบคุม
คนละ 25 บาท ผู้ใหญ่ 20 คนขึ้นไป คนละ 25 บาท

การเข้าชมเป็นหมู่คณะ ติดต่อเข้าชมล่วงหน้าอย่างน้อยก่อนวันเข้าชม 5 วัน โดยการ
ส่ง FAX แจ้งการเข้าชมมาที่ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ที่หมายเลข (038) 391674 ส่งอีเมล์แจ้งการเข้าชมไปที่ tanyong@bims.buu.ac.th หรือทำหนังสือขอเข้าชมเป็นหมู่คณะ ส่งไปที่ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา 169 ถนนลงหาดบางแสน ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี 20131
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานประชาสัมพันธ์ โทร. (038) 391671-3 ทุกวันในเวลาราชการ
เว็บไซต์ //www.bims.buu.ac.th

แม่เกาลัดก็ยังสงสัยอีกนะคะว่าเด็ก ๆ และผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ที่เข้าชมสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล จะสามารถจำรายละเอียดจำนวนมากที่จัดแสดงได้มากน้อยเพียงใด คงขึ้นอยู่กับความสนใจ
และประสิทธิภาพในการจดและจำของแต่ละบุคคล
แต่หวังไว้ว่าสิ่งที่ผู้ชมได้เห็นและพยายามที่จะทำความเข้าใจ จะทำให้เกิดความรัก หวงแหนในธรรมชาติ สามารถอยู่ร่วมและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน





Create Date :06 พฤศจิกายน 2551 Last Update :11 สิงหาคม 2554 15:44:48 น. Counter : Pageviews. Comments :2