bloggang.com mainmenu search



กลุ่มอาการปวดบริเวณส้นเท้า

ดัดแปลงจากเอกสารของ ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย

กลุ่มอาการปวดบริเวณส้นเท้า ประกอบด้วย โรคหลาย ๆ โรค ที่ทำให้เกิดลักษณะอาการที่คล้ายคลึงกัน เช่น

เอ็นร้อยหวายอักเสบ

ถุงน้ำกระดูกส้นเท้าอักเสบ หรือ ถุงน้ำเส้นเอ็นร้อยหวายอักเสบ

กระดูกเท้าบิดผิดรูป

โรครูมาตอยด์

โรคเก๊าท์ หรือ

กระดูกหัก
เป็นต้น

ซึ่งในบางครั้งอาจพบหลายโรคพร้อม ๆ กันก็ได้



อาการและอาการแสดง

มีอาการเจ็บบริเวณด้านหลังของส้นเท้า หรือ ด้านหลังข้อเท้า ซึ่งจะมีอาการมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวข้อเท้า เช่น เดินขึ้นลงบันได หรือ วิ่ง เป็นต้น

บางรายพบว่าการกดทับจาก ขอบด้านหลังของรองเท้า เวลาใส่รองเท้าทำให้เกิดอาการมากขึ้น ในผู้ที่เป็นมานาน บริเวณส้นเท้าอาจบวมหรือเป็นก้อนโตขึ้นได้

ตำแหน่งที่เจ็บอาจจะอยู่ที่ เส้นเอ็นร้อยหวาย หรือ ด้านหลังต่อเส้นเอ็นร้อยหวายก็ได้ เมื่อกระดกข้อเท้าขึ้น จะมีอาการเจ็บมากขึ้น แต่เมื่อเหยียดข้อเท้าลง อาการก็จะดีขึ้น อาจคลำก้อนถุงน้ำ หรือ กระดูกงอกได้

การถ่ายภาพรังสีด้านข้างของกระดูกข้อเท้าและส้นเท้า มักจะปกติ อาจพบมีกระดูกงอกได้ในผู้ป่วยบางราย ซึ่งในคนปกติ ที่ไม่มีอาการปวดส้นเท้า ก็อาจพบกระดูกงอกได้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องถ่ายภาพรังสีในผู้ป่วยทุกคน




แนวทางการรักษา

 การรักษาโดย ไม่ผ่าตัด

ส่วนใหญ่แล้วการรักษาโดย ไม่ผ่าตัด จะได้ผลดี ซึ่งประกอบด้วย

1. ลดกิจกรรมที่ทำให้ปวด หรือ กิจกรรมที่ต้องลงน้ำหนัก เช่น การยืนหรือเดินนาน ๆ เป็นต้น และ ควรออกกำลังชนิดที่ไม่ต้องมีการลงน้ำหนัก เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน

2. บริหารเพื่อยืดกล้ามเนื้อน่อง และ เส้นเอ็นร้อยหวาย

3. ใช้ผ้าพันที่ข้อเท้า ใส่เฝือกชั่วคราวในตอนกลางคืน หรือใส่เฝือกตลอดเวลา เพื่อลดการเคลื่อนไหวของข้อเท้า

4. ใส่รองเท้าที่เหมาะสม เช่น ขนาดกระชับพอดีไม่หลวมเกินไป ส้นสูงประมาณ 1–1.5 นิ้ว มีขอบด้านหลังที่นุ่ม หรือใช้แผ่นรองส้นเท้ารูปตัวยู ( U ) ติดที่บริเวณขอบรองเท้าด้านหลัง เพื่อไม่ให้ขอบของรองเท้ามากดบริเวณที่เจ็บ

5. หลีกเลี่ยงการเดินด้วยเท้าเปล่า

6. รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซ็ตตามอล ยาแก้ปวดลดการอักเสบ ประคบด้วยความร้อน หรือใช้ยานวด

7. ฉีดยาสเตียรอยด์ บริเวณที่มีการอักเสบ ทุก 1-2 อาทิตย์ แต่ ไม่ควรฉีดเกิน 2 ครั้งใน 1 เดือน ถ้าไม่จำเป็นก็ ไม่ควรฉีด เพราะอาจเกิดผลแทรกซ้อนได้ เช่น เส้นเอ็นร้อยหวายขาด ผิวหนังบริเวณที่ฉีดเปลี่ยนเป็นสีขาว เป็นต้น



 การรักษาโดยการผ่าตัด

ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด

1. ผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อการรักษาดี แต่กลับเป็นซ้ำบ่อย ๆ ไม่หายขาดทำให้มีปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวัน

2. ในรายที่ตอบสนองต่อการรักษาไม่ดี โดยเฉพาะรายที่มีสาเหตุชัดเจน เช่น ฝ่าเท้าบิดเข้าหรือบิดออก เป็นต้น


วิธีผ่าตัด เช่น ผ่าตัดเพื่อเอาถุงน้ำ เนื้อเยื่อที่อักเสบ และ กระดูกงอก ออก หรือ ผ่าตัดเปลี่ยนแนวกระดูก เป็นต้น

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น แผลเป็นนูนทำให้ปวดแผลเรื้อรัง เส้นเอ็นร้อยหวายขาด เป็นต้น






บทความเรื่อง " เส้นเอ็นร้อยหวาย ขาด "

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=21-06-2009&group=6&gblog=29
 
Create Date :24 กรกฎาคม 2551 Last Update :19 เมษายน 2562 14:20:52 น. Counter : Pageviews. Comments :8