bloggang.com mainmenu search



บ้านสำหรับผู้สูงอายุ


อุบัติเหตุของผู้สูงอายุโดยส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นภายในบ้าน ซึ่งอาจทำให้เกิดกระดูกหักได้แม้ว่าจะหกล้มเบา ๆ

ดังนั้นบ้านที่มีผู้สูงอายุอยู่ ควรมีการปรับปรุงหรือออกแบบให้มีสภาพที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ซึ่งมักมีความผิดปกติของร่างกาย ทั้งที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บหรือการเสื่อมสภาพของร่างกายตามธรรมชาติ

มีข้อแนะนำในการออกแบบที่อยู่อาศัยให้เหมาะกับผู้สูงอายุดังนี้

1.พื้นบ้านและทางเดิน

ควรเป็นระดับเดียวกัน และใช้วัสดุที่เปียกน้ำแล้วไม่ลื่น

ไม่ควรทำพื้นต่างระดับหรือธรณีประตู และไม่ทิ้งสิ่งกีดขวางให้เกะกะ ทางเดิน เพราะอาจจะเกิดการสะดุดล้มได้


2.บันได

ควรจัดให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องใช้บันไดหรือใช้ให้น้อยที่สุด

บันไดควรมีราวจับทั้ง 2 ด้าน บันไดแต่ละขั้นควรสูงน้อยกว่า 15 ซม. และมีความลึกของบันไดมากกว่า 30 ซม. และใส่ยางกันลื่นบริเวณขอบบันได


3. ราวจับ

ควรมีตลอดแนวทางเดิน ราวจับควรมีลักษณะกลม มีขนาดที่จับได้พอเหมาะ และควรอยู่สูงพอที่จะจับได้ถนัด (ประมาณ 75 ซม.จากพื้น)

ภายในห้องต่าง ๆ ทุกห้องควรมีราวจับเพื่อช่วยพยุงตัวเวลาลุกยืนหรือเดิน


4. แสงสว่าง ภายในบ้านโดยเฉพาะ ห้องน้ำ ทางเดินและบันไดควรจัดให้มีความสว่างที่เพียงพอ ไม่มืด แต่ก็ ไม่ควร สว่างจ้าเกินไปเพราะทำให้ตาพร่าได้


5. เฟอร์นิเจอร์

ควรมีความสูง–ต่ำที่พอเหมาะ การจัดวางสิ่งของก็ไม่ควรวางสูงจนต้องเขย่งขาหรือต่ำจนต้องก้มหรือคุกเข่าเพื่อหยิบของ

ควรใช้เครื่องอำนวยความสะดวกในการทำความสะอาดบ้าน เช่น ใช้ไม้ถูพื้น แทนการนั่งถูพื้น ควรยืนรีดผ้าแทนการนั่ง ของใช้ในตู้ที่ใช้บ่อยควรวางในระดับที่หยิบได้พอดี

ควรให้ผู้สูงอายุนอนบนเตียงและนั่งบนเก้าอี้ที่มีความสูงระดับหัวเข่า


6. ห้องน้ำ

เป็นห้องที่สำคัญและมักจะเป็นสถานที่ที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด

พื้นห้องน้ำควรเป็นระดับเดียวกัน ไม่มีธรณีประตูหรือพื้นต่างระดับ และ ผ้าเช็ดเท้าควรจะไม่หนาเกินไปเพราะอาจทำให้สะดุด หรือ เหยียบแล้วลื่นได้

วัสดุที่ปูพื้นห้องน้ำก็ต้องไม่ลื่นเมื่อเปียกน้ำ

ควรใช้โถนั่งหรือชักโครก

ควรมีที่นั่งเพื่อนั่งเวลาอาบน้ำหรือสระผม

มีราวจับช่วยพยุงตัว

ก็อกน้ำควรเป็นแบบคันโยกโดยใช้มือดึงหรือดันเพื่อปิด-เปิดน้ำ ไม่ควรเป็นแบบลูกบิดหรือแบบหมุน

ไม่ควรลุกเข้าห้องน้ำตอนกลางคืน ควรใช้กระโถนหรืออุปกรณ์ขับถ่ายข้างเตียงจะดีกว่า


7. ประตู

ควรเป็นแบบเลื่อน ซึ่งเปิด-ปิดโดยใช้แบบมือจับดึงหรือดัน ไม่ควรใช้ลูกบิด

ประตูควรกว้างพอสำหรับการเข้าออกพร้อมกัน 2 คน เผื่อว่าจะต้องมีคนช่วยพยุง หรือ กว้างพอที่จะเข็น รถเข็นเข้าออกได้สะดวก


8. ในห้องและทางเดินควรมีสวิตซ์ฉุกเฉินเป็นระยะ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ขอความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว




 
อาการผิดปกติที่ควรไปพบแพทย์


1. ปวดหลัง และมีอาการปวดร้าวจากหลังหรือสะโพก ลงไปที่น่อง หรือ ขา ร่วมกับมีอาการชา อ่อนแรงของกล้ามเนื้อขาด้านที่ปวด หรือ ร่วมกับอาการปัสสาวะไม่ออก หรือ มีอาการกลั้นปัสสาวะ อุจจาระไม่ได้

2. ปวดเข่า ร่วมกับมีอาการเข่าบวม มีไข้

3. มีอาการปวดมาก รับประทานยาแก้ปวดแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือ มีอาการปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ

4. คลำพบก้อนเนื้อผิดปกติ อาจจะมีอาการปวด หรือไม่มีอาการปวดร่วมด้วย

5. อาการผิดปกติอื่น ๆ ที่เป็นนานมากกว่า 2 อาทิตย์ แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือ เป็นแย่ลงกว่าเดิม






ผู้สูงอายุควรเตรียมตัวอย่างไร เพื่อไม่ให้หกล้ม"
-------------------------------------

     การหกล้มหรือการเดินไม่มั่นคงหรือสูญเสียการทรงตัวนั้นเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุที่เนื่องจากระบบการควบคุมการทรงตัวของผู้สูงอายุจะเสื่อมสภาพไปตามวัยที่เพิ่มขึ้น และการเสื่อมถอยลงในลักษณะของมวลกระดูกที่ลดลงหรือเรียกว่า ภาวะกระดูกพรุน หากสองประเด็นปัญหานี้โคจรมาพบกันก็คงลงเอยด้วยการเกิดกระดูกหัก ซึ่งเป็นผลร้ายต่อสุขภาพของผู้สูงวัยเป็นอย่างยิ่ง

จะรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการหกล้ม?
1 พิจารณาจากประวัติการหกล้มในปีที่ผ่านมาหรือประวัติเสียการทรงตัว ทำให้การเดินไม่มั่นคงเหมือนที่เคยเป็น

2 ตรวจประเมินความสามารถในการทรงตัว ซึ่งแพทย์สามารถทำได้โดยวิธีง่ายๆ คือ ความสามารถในการยืนขาเดียว ,ยืนต่อส้นควรทำได้นานกว่า 30 วินาที ในขณะทดสอบควรต้องระวังการหกล้มด้วย หากไม่สามารถทำได้เกิน 30 วินาที แสดงว่าท่านเป็นผู้ที่มีการทรงตัวบกพร่อง และมีโอกาสเกิดการหกล้ม

หากท่านเป็นผู้ที่มีปัญหาเรื่องการทรงตัวและมีความเสี่ยงต่อการหกล้ม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุ เช่น โรคทางระบบประสาท การมองเห็นภาพที่ไม่ชัดเจน หรือกรณีเป็นต้อที่มีผลต่อการมองเห็น และการกะระยะ การใช้ยาที่มีผลต่อระบบประสาท รวมถึงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตราย เช่น พื้นลื่น พื้นต่างระดับ แสงสว่างที่ไม่เพียงพอ สายไฟหรือของระเกะระกะที่อยู่ตามพื้น

การฝึกการทรงตัว
1 การยืนย่ำเท้าอยู่กับที่เหมือนทหารเดินสวนสนาม
2 การฝึกยืนย่อเข่าเล็กน้อยแล้วเหยียดเข่าขึ้น
3 การฝึกยืนเขย่งปลายเท้าขึ้นลง
4 การฝึกยืนเอื้อมให้ไกลที่สุดโดยไม่ล้ม

เมื่อทำได้ดีขึ้น ให้เพิ่มเป็นการฝึกเดินเขย่งปลายเท้า เดินส้นเท้า เดินไปด้านข้าง เดินถอยหลัง และเดินต่อส้น เป็นต้น โดยขณะเริ่มทำ ควรหาที่เกาะที่มั่นคงก่อน เช่น โต๊ะ หรือ เก้าอี้ไม่มีล้อ เพื่อป้องกันการหกล้มที่อาจเกิดขึ้นได้ในขณะฝึก

ที่มา แพทยสภา
#ผู้สูงอายุ #หกล้ม
#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (official)
https://www.facebook.com/medcmuth/posts/5451768954861416



.................................

 
Create Date :21 มีนาคม 2551 Last Update :21 สิงหาคม 2565 13:56:32 น. Counter : Pageviews. Comments :5