bloggang.com mainmenu search

เป็นเรื่องใหญ่ที่ชวนให้สับสน-มึนงง กันพอสมควร กรณีสัญญาสัมปทาน หรือการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ "คลื่น 1800 MHz" (เมกะเฮิร์ตซ์) จะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2556 นี้

ส่งผลให้การทำสัญญาระหว่างฝ่ายเจ้าของสัมปทาน ได้แก่ "บมจ.กสท โทรคมนาคม" กับฝ่ายผู้ให้บริการที่ได้รับใบอนุญาต 2 รายเป็นอันยุติโดยปริยาย ประกอบด้วย บริษัท ทรูมูฟ จำกัด กับบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี) ในเครือ เอไอเอส ผลที่จะเกิดขึ้นถ้าไม่หามาตรการ "รองรับ" อย่างละเอียดถี่ถ้วน ก็คือ

สภาวะ "ซิมดับ"

มือถือของลูกค้า กสท ทรูมูฟ ดิจิตอลโฟน กว่าสิบล้านเลขหมาย...... ที่ใช้ระบบ 1800 MHz จะเป็นอันโทร.เข้า-ออก รับสายไม่ได้!

ที่ผ่านมา นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะผู้คุมกฎ ได้ประชุมและเปิดแถลงข่าวถึงแนวทางรับมือ โดยเบื้องต้นระบุว่า

กสทช.ได้ออกประกาศเรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.2556 หรือ "ประกาศซิมดับ" เอาไว้แล้ว

ล่าสุดเมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว กสทช.เรียกผู้เกี่ยวข้องกับการสิ้นสุดสัมปทานของคลื่น 1800 MHz มาหารือ ทั้งบมจ.กสท โทรคมนาคม ในฐานะเจ้าของสัมปทาน, ค่ายทรูมูฟ และดิจิตอลโฟน เพื่อมาชี้แจงเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาลูกค้าเมื่อสิ้นสุดสัมปทานในวันที่ 15 กันยายน 2556

ในส่วนของ "ทรูมูฟ" แจ้งในวันดังกล่าวว่า ได้ส่งข้อความสั้น (เอสเอ็มเอส) ไปถึงลูกค้าเกี่ยวกับเรื่องการหมดสัมปทานแล้ว โดยเนื้อหาข้อความนั้นจะเป็นกลางมากที่สุด เช่น สิ้นสุดสัมปทานแล้วลูกค้าจะทำอย่างไร เป็นต้น ทั้งนี้ เริ่มส่งเอสเอ็มเอสไปตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม ส่งได้วันละ 1 ล้านเลขหมาย จากจำนวนลูกค้าที่อยู่ในเครือข่ายทั้งหมด 17 ล้านเลขหมาย

ส่วน "ดีพีซี" ส่งไปหาลูกค้าทั้งหมดแล้วเช่นกัน

"กสทช.กำกับให้ทั้ง 2 ค่าย ต้องส่งแผนเยียวยาลูกค้าภายใน 15 วันหลังจากประกาศนี้มีผลบังคับใช้ โดยในแผนต้องประกอบด้วย ข้อมูลการให้บริการ แผนงานประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการ สิ้นสุดสัญญาสัมปทาน แผนงานส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ย้ายค่ายเบอร์เดิม) ค่าใช้จ่ายในการให้บริการ และภาระที่เกิดขึ้นจากการที่ต้องรักษาคุณภาพมาตรฐานในขณะที่จำนวนผู้ใช้บริการลดลงตลอดเวลา" นายฐากรกล่าว

สําหรับรายละเอียดการหารือร่วมกันระหว่าง กสทช. กสท ทรูมูฟ และดิจิตอลโฟน เลขาธิการ กสทช. เผยว่า

เน้นให้โอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 เจ้าให้บริการต่อเนื่องเพื่อคุ้มครอง ผู้บริโภคภายในระยะเวลา 1 ปี และให้ 3 บริษัทร่วมกันจัดทำแผน ความคุ้มครองผู้ใช้บริการในช่วงมาตรการเยียวยาเพื่อนำเสนอคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ภายใน 15 วันหลังจากประกาศมีผลบังคับใช้

"แผนความคุ้มครองผู้ใช้บริการ" ต้องมีเนื้อหาอย่างน้อย ดังนี้

1. ข้อมูลการให้บริการ เช่น ข้อมูลผู้ใช้บริการ จำนวนคงค้าง ในระบบ

2. แผนงานประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน

3. แผนงานส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ย้ายค่ายเบอร์เดิม) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เลือกปฏิบัติ ทั่วถึง

4. ค่าใช้จ่ายในการให้บริการ รวมทั้งภาระที่เกิดขึ้นจากการที่ต้องรักษาคุณภาพมาตรฐาน

นอกจากนั้น กสทช.ยังให้ทั้ง 3 บริษัท เร่งประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าที่ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1800 MHz ของตนทราบถึงการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 15 กันยายน 2556 และประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงสิทธิที่ผู้ใช้บริการจะได้รับความคุ้มครอง เพื่อให้ใช้บริการได้ต่อเนื่อง และสิทธิในการใช้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตนจนสิ้นสุดระยะเวลาความคุ้มครองไม่เกินหนึ่งปีตามประกาศดังกล่าว

รวมถึงแจ้งช่องทางการติดต่อและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมผ่านการส่งเอสเอ็มเอสสัปดาห์ละสองครั้ง โดยการโทร.สอบถามข้อมูลดังกล่าว ผู้ใช้บริการจะได้รับยกเว้นค่าใช้บริการจากการโทรศัพท์

ประเด็นสำคัญ ประชาชนผู้ใช้มือถือ 1800 MHz ต้องใช้บริการได้ต่อเนื่อง สามารถติดต่อสื่อสารได้ตามปกติ และภายในระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี จะต้องประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้ทราบสิทธิว่าสามารถ "เปลี่ยนไปใช้บริการกับผู้ให้บริการรายอื่นได้" ตามที่ต้อง การโดยตลอด

"ทั้ง 3 บริษัทจะพักหรือหยุดการให้บริการไม่ได้ ไม่มีสิทธิในการรับลูกค้าใหม่ และ จะต้องให้บริการผู้บริโภคด้วยมาตรฐานการบริการเช่นเดิม โดยต้องดูแลคุณภาพสัญญาณบริการให้ได้คุณภาพดังเช่นการ ให้บริการปกติ ในขณะที่ต้องเร่งรัดการโอนย้ายผู้ใช้บริการตามแผนงาน และรับภาระ ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาช่องทางและเพิ่มประสิทธิภาพ ในการโอนย้ายเลขหมาย รวมทั้งต้องรายงานจำนวนผู้ใช้บริการคงเหลือ ให้ กทค. ทราบภายในวันที่ 7 ของทุกเดือน" ฐากรกล่าว

ส่วนเงินรายได้ที่จะนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน ตามร่างประกาศฉบับนี้ในช่วงเวลาเยียวยา

รายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นจะนำส่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 3 ส่วน ได้แก่

ค่าต้นทุนโครงข่าย ค่าธรรมเนียมเลขหมาย และต้นทุนรายจ่ายในการบริหารจัดการ

ส่งเข้ากระทรวงการคลังเป็นรายได้ของแผ่นดิน

โดยตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณารายได้และรายจ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างมาตรการเยียวยา

"หลังประกาศคุ้มครองผู้ใช้มือถือ1800MHz มีผลบังคับใช้ ทรูมูฟและดีพีซี ต้อง ส่งแผนคุ้มครองลูกค้าหลังสิ้นสุดสัมปทานภายใน 15 วัน และไม่สามารถหยุดให้บริการลูกค้าได้ไม่ว่ากรณีใดๆ ห้ามทำการตลาดในระบบเดิม รวมทั้งต้องเร่งแจ้งลูกค้าให้รับทราบว่าสัมปทานจะสิ้นสุดเดือนก.ย. 2556 โดย จะเรียกผู้ให้บริการทั้ง 3 รายมาประชุมร่วม เพื่อกำชับให้ประชาสัมพันธ์ไปยังผู้บริโภค อย่างเร่งด่วน ทั้งยังจัดสรรงบประมาณจำนวน 10 ล้านบาทในการประชาสัมพันธ์ก่อนซิมดับ และขอความร่วมมือไปยังฟรีทีวีทุกช่อง สมาคมธนาคารไทย ให้ขึ้นข้อความประชาสัมพันธ์ที่ ตู้เอทีเอ็มทั่วประเทศ" บิ๊ก กสทช. ระบุ

มาฟังคำชี้แจง-ความพร้อมของยักษ์ "ทรู" กันบ้าง

นายนพปฎล เดชอุดม หัวหน้าคณะ ผู้บริหารกลุ่มด้านการเงิน บริษัท ทรู คอร์ปอ เรชั่น จำกัด (มหาชน) ชี้แจงว่า

ช่วงเปลี่ยนผ่านหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 MHz ในวันที่ 15 ก.ย. 2556 ทรูต้องรับผิดชอบ 3 เรื่อง ประกอบด้วย

1.การให้บริการลูกค้า

2.การแจ้งให้ลูกค้าทราบถึงวันสิ้นสุดการให้บริการ

และ 3.การให้บริการโอนย้ายไปใช้บริการที่อื่นอย่างเหมาะสม

โดยทรูมีฐานลูกค้าผู้ใช้บนคลื่น 1800 MHz ในขณะนี้จำนวน 17 ล้านราย

ซึ่งเมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา บริษัทได้ทยอยส่งเอสเอ็มเอสแจ้งลูกค้าที่ใช้บริการบนคลื่น 1800 ไปแล้ว ตามที่ กสทช.ได้ให้บริษัทผู้ให้บริการต้องปฏิบัติ

ส่วนแผนความคุ้มครองผู้ใช้บริการภายในระยะเวลา 1 ปี ในช่วงมาตรการเยียวยาตามประกาศ กสทช. เรื่อง "มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือ สัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.2556" นั้น ในขณะนี้ยังบอกไม่ได้

ต้องรอให้ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนจึงจะสามารถเปิดเผยรายละเอียดต่างๆได้และต้องนำเสนอคณะกรรมการ กทค. ภายใน 15 วันหลังจากที่ประกาศมีผลบังคับใช้ก่อนด้วย

ก่อนหน้านี้ นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า

ทันทีที่สัญญาสัมปทานของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด ที่ให้บริการลูกค้าในระบบ 2 จี สิ้นสุดในเดือนก.ย.นี้ ทางบริษัทพร้อมให้บริการลูกค้าต่อเนื่อง และยืนยันว่าลูกค้าจะไม่มีปัญหาติดขัดในการใช้งานแน่นอน

แต่ทางทรูต้องการให้ระยะเวลาการเยียวยานานมากกว่า 1 ปี เพราะบริษัทไม่มีสิทธิ์ไปดึงลูกค้าที่ค้างอยู่ในทรูมูฟออกมา อย่างไรบริษัทก็ยังต้องให้บริการต่อไป

รวบรวมข้อมูลจากแต่ละฝ่ายที่เกี่ยว ข้องมาแจ้งให้ลูกค้ามือถือ 1800 MHz รับทราบและเตรียมตัวโดยทั่วกัน..!

ที่มา : นสพ.ข่าวสด

Create Date :31 สิงหาคม 2556 Last Update :31 สิงหาคม 2556 10:05:54 น. Counter : 1139 Pageviews. Comments :0