ประชาธิปไตยมีจริงหรือ?
ประชาธิปไตยคืออะไร ต่างก็ว่ากันไป ตีความหมายกันไปไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม สภาพสังคม ประเพณีวัฒนธรรม(อันดีงามแบบที่บางประเทศชอบเรียก) รวมไปถึงคุณภาพของประชากร และอีกมากมายที่จะเป็นปัจจัยให้ ประชาธิปไตยของแต่ละสถานที่ แตกต่างกัน

แต่ถึงอย่างไร ในความแตกต่างของายละเอียดปลีกย่อยเหล่านั้น ในเรื่องของเนื้อหาสาระและแก่นของประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่เหมือนกัน เพราะไม่ว่าจะเป็นที่ไหน หรือการตีความแบบใดก็ตาม ประชาธิปไตยก็ยังต้องคงความหมายพื้นฐานของมันอยู่เสมอๆ นั่นก็คือ นัยความหมายถึงเรื่องของ สิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ และความเท่าเทียม สิ่งเหล่านี้คือองค์ประกอบพื้นฐานที่จะต้องมีหากว่าเป็นประชาธิปไตย ซึ่งหากตีความตามตัวอักษร แบบที่ชอบใช้กัน(แสดงภูมิความรู้แบบไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ) ก็จะได้ว่า อำนาจอธิปไตยของประชาชน

อำนาจอธิปไตย คืออะไร คืออำนาจปกครองสูงสุด ที่กลายเป็นเพียงคำโก้หรูมาอวดชาวบ้าน ไม่ต่างกับการอวดเครื่องประดับเพชรนิลจินดา เพราะอำนาจที่ว่ามานั้นประชาชนที่ถูกบอกว่าเป็นเจ้าของไม่เคยได้สัมผัสมันเลยแม้แต่เศษเสี้ยว หรือกระทั่งเงาของมันประชาชนยังไม่เคยได้ย่างกายเข้าใกล้ อำนาจที่ประชาชนเป็นเจ้าของ

อำนาจเหล่านั้น ตกอยู่ในมือเหล่าอภิชนทั้งหลายมาหลายยุคหลายสมัย และก็วนไปเวียนมา ผลัดกันชื่นชมในอำนาจเหล่านั้น แบบไม่ปล่อยให้ประชาชนได้รู้จักกับอำนาจที่เป็นของพวกเขาเลย และเมื่อไม่รู้จัก เหล่าอภิชนก็มักจะนำเป็นข้ออ้างเสมอๆว่า ประชาชนไม่พร้อม และก็จะวนไปวนมาเป็นแบบนี้ไปเรื่อย เพราะเหล่าอภิชนก็พร้อมใจกันจะทำให้ประชาชนไม่พร้อมไปตลอด เพื่อที่คนเหล่านี้จะได้ครองอำนาจไปเรื่อยๆแบบที่เป็น

คราวนี้กลับมามองในแง่ของประชาธิปไตยที่ว่า ว่าสิ่งนี้สัมผัสได้ระดับไหน เพราะการจับต้องได้หรือสัมผัสได้นั้นเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์รู้จักกับมันมากขึ้นและ สามารถนำเอาไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น และนั่นก็จะหมายถึงประชาธิปไตยในชีวิตประขำวันด้วย
เราอาจจะแบ่ง ประชาธิปไตยได้เป็น2ระดับ คือ
1 ขั้นปฐมภูมิประชาธิปไตย (Primary democracy) หมายถึงระดับเบื้องต้นที่จะสัมผัสได้โดยตรงในแบบไม่ผ่านสื่อกลางต่างๆ ซึ่งก็หมายถึง ประชาธิปไตยที่เป็นการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่2 หรือกับกลุ่มเผชิญหน้าหรือผ่านประสาทรับรู้ของร่างกายโดยตรง ตัวอย่างก็น่าจะเป็นระดับสังคมกลุ่มย่อย เช่น

- ในระดับครอบครัว ที่จะมีกิจกรรม ปฏิสัมพันธ์กัน และในส่วนนี้ก็จะเห็นได้ว่าระดับของคำว่าประชาธิปไตยในส่วนนี้ ไม่มี เพราะการปกครองในระดับนี้จะเป็นเผด็จการจากผู้ปกครอง เนื่องจากเด็กและเยาวชนยังไม่พร้อมที่จะรับรู้สิทธิหน้าที่ เสรีภาพ อีกทั้งภาวะพึ่งพาตนเองของเด็กและเยาวชนยังไม่มีหรือมีไม่ได้ ซึ่งเป็นปัจจัยให้ผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ปกครองมีอำนาจสิทธิขาดในการตัดสินใจ ซึ่งในระดับนี้ไม่เพียงแค่ลูกเท่านั้น มันยังรวมไปถึง เรื่องของสามีภรรยาอีกด้วยที่มักจะไม่เท่าทียมกันและปราศจากการรับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่าย ดังนั้นเรื่องประชาธิปไตยหรือการแสดงความคิดความเห็น ต้องยอมรับว่าในจุดย่อยตรงนี้ยากจะเป็นได้ ทำให้ตรงส่วนนี้อาจพูดได้เลยว่า ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยอยู่ในระดับครอบครัว
- ในระดับสถานศึกษา ซึ่งเป็นสถานที่พื้นฐานอีกอันหนึ่งของประชาชนที่จะเติบโตขึ้น ซึ่งในส่วนนี้การปกครองก็จะเป็นแนวดิ่งเหมือนเดิม คือเรื่องของการสั่งสอนต่างๆ และตัวอำนาจปกครอง เพราะผู้ให้ความรู้ ครูอาจารย์ต่างๆนั้น เปรียบเสมือนผู้ปกครองในยามที่อยู่ในสถานศึกษา และนั่นก็ย่อมหมายถึง เป็นผู้มีอำนาจสิทธิขาดในการกระทำ (ซึ่งรวมไปถึงบทลงโทษตามจารีตที่เน้นความถูกต้องของตัวผู้สอน) แต่ในกลุ่มย่อยส่วนนี้ก็จะมีประชาธิปไตยในระดับวัยวุฒิอยู่ กล่าวคือ ในสถานศึกษาจะมีเรื่องของความเชื่อที่เรียกว่า ระบบอาวุโส(Seniority) ซึงให้ความเคารพต่อรุ่นพี่ หรือว่าง่ายๆคือการสยบต่ออาวุโส ซึ่งกลายเป็นการบ่มเพาะเรื่องของชนชั้นและเผด็จการไว้ตั้งแต่วัยเยาว์ (ดูได้จากเรื่องของการรับน้อง) ดังนั้นเมื่อข้ามระดับชั้นก็จะปราศจากประชาธิปไตย แต่มันจะดำรงไว้เมื่อยามที่อยู่ในวัยและชั้นเดียวกัน ซึ่งหมายถึง คนที่อยู่ในระดับชั้นเดียวกันนั้นจะยังพอมีประชาธิปไตยหลงเหลืออยู่บ้างไม่มาก็น้อย เพราะ กลุ่มย่อยนี้จะไม่มีเรื่องของกฎเกณฑ์ที่จะมาทำให้เกิดช่องว่างขึ้น จะมีบ้างก็คือเรื่องของอำนาจนิยมผ่านทางกำปั้น ที่เอาเรื่องของพละกำลังมาเป็นตัวกำหนดความเป็นใหญ่ ดังที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า ในส่วนนี้ก็จะมีประชาธิปไตยเพียงน้อยนิด
- ในระดับการทำงาน ในจุดนี้จะแยกเป็น2ส่วนคือ ส่วนของเอกชน และส่วนของราชการ
- ในส่วนของเอกชน ระบบงานก็จะเป็นลำดับขั้นลดหลั่นกันไปตามระดับความรู้ความสามารถ และนั่นย่อมหมายถึง ความแตกต่างข องการมีสิทธิมีเสียง ในการทำงาน ผู้น้อยย่อมต้องเคารพผู้ใหญ่ซึ่งก็เป็นไปตามทั่วไป ระบบเจ้านายลูกน้องที่เป็นระบบพื้นฐานทั่วไปที่ไหนๆก็ใช้กัน คงไม่มีบริษัทหรือห้างร้าน ใช้ประชาธิปไตยในการทำงาน และก็คือส่วนที่พิสูจน์ว่าไม่มีประชาธิปไตยในส่วนนี้
- ในส่วนของราชการ ระบบซี ยศ ตำแหน่ง ที่เป็นการบ่งบอกถึงความใหญ่โตของแต่ละบุคคล สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำแน่นอน และแทบจะไม่ต้องไปนั่งหาประชาธิปไตยในระบบราชการที่แทบจะเป็นเผด็จการฝังรากมานานนม

2 ขั้นทุติยภูมิประชาธิปไตย (Secondary Democracy) หมายถึงระดับที่ไม่สามารถสัมผัสได้โดยตรง คือเป็นการสัมผัสผ่านสื่อหรือเรื่องของตัวแทน ในระดับนี้ประชาธิปไตยจะขยายวงออกไปจากลุ่มย่อยที่กล่าวถึงในข้อแรก ซึ่งในแบบนี้จะแบ่งเป็นส่วนๆไปดังนี้
- ระดับชุมชน ที่จะมีเรื่องของตัวแทนทางความคิด ที่ทีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทางชุมชน อย่างตัวแทนระดับท้องถิ่น เช่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน ที่เป็นตัวแทนความคิดในระดับชุมชน ซึ่งก็เป็นส่วนของประชาธิปไตยระบบตัวแทนที่ใช้ๆกันอยู่ทั่วไป ตรงนี้ค่อนข้างจะก้ำกึ่งกัน เพราะ ถ้าตัวแทนทำตามมติชาวบ้านก็จะเป็นประชาธิปไตยได้ และถ้าไม่ทำตามก็เป็น เผด็จการได้เช่นกัน
- ระดับชาติ ตรงนี้จะเป็นภาพที่ชัดขึ้นเพราะ จะเป็นเรื่องของตัวแทนของเหล่าประชาชนที่จะไปทำหน้าที่ปกครอง ในรูปแบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งรูปแบบที่ใช้ก็จะเป็นการใช้การเลือกตั้งอาศัยเสียงข้างมาก เป็นตัวแทนเจ้าของอำนาจในการปกครอง โดยเป็นการมอบอำนาจผ่านความไว้วางใจในการเลือกตั้ง และก็จะมีไปถึงเรื่องของการออก การคิด การเขียน การตั้ง หลักกฎหมายต่างๆที่จะนำมาใช้ในการปกครอง(ที่ในบางครั้งหลอกว่าประชาชนมีส่วนร่วมเป็นวาทกรรมที่น่าชื่นชมยิ่ง) ที่ตรงส่วนนี้จะมีส่วนที่ย้อนแย้งอยู่คืออำนาจนั้นประชาชนผู้เป็นเจ้าของจะมีเวลาได้เป็นเจ้าของไม่กี่อึดใจ จากนั้นประชาธิปไตยทั้งหมด ก็จะตกไปในมือของเหล่าตัวแทน ซึ่งตรงนี้ จากที่ผ่านๆมาก็คงทราบไม่มากก็น้อยว่า มันเป็นอย่างไรกันบ้าง


ดังที่กล่าวมาทั้ง2ขั้น จะเห็นได้ว่า แท้ที่จริงแล้วประชาธิปไตยแทบจะหาไม่ได้เลยในระดับชีวิตประจำวัน และระดับใกล้ๆตัว เพราะทุกภาคส่วนนั้นจะเป็นการปกครองแบบเผด็จการเกือบทั้งหมด อาจจะไม่ไม่ถึงกับเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ก็จะเป็นอย่างน้อยคือ เผด็จการทางความคิด ที่จะเอาความคิดของตนเองเป็นบรรทัดฐานเพื่อตัดสินใจมากกว่าที่ใช้การยอมรับการตัดสินจากการรับฟังความคิดเห็นและร่วมกันหาคำตอบ

อาจจะกล่าวได้ว่า ประชาธิปไตยระดับปฐมภูมิ ที่เป็นเรื่องใกล้ตัว ยังไม่มีเกิดขึ้นและไม่สามารถสัมผัสได้ รวมไปถึงไม่ได้มีการปลุกฝังและสั่งสอนในเรื่องของประชาธิปไตย ที่ว่าด้วยสิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ เมื่อไม่รู้จักและ ใช้ไม่ได้ในระดับย่อย ก็จะเป็นเรื่องที่ยากขึ้น ที่จะให้รู้จักและเอาไปใช้ในระดับ สูงขึ้นไปก็คือ ปฐมภูมิไม่มีการจะให้เกิดขึ้นแบบปุบปับในทุติยะภูมิน่าจะเป็นเรื่องที่ยากเกินความเข้าใจได้

และเมื่อถึงตรงนี้ ความคิดเรื่องประชาธิปไตยก็จะกลับไปสู่จุดที่ว่า แท้จริงแล้วการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้นมีจริงๆหรือไม่ เพราะโดยเนื้อแท้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น
- ตามธรรมชาติ ที่จะเป็นการปกครองแบบ ใช้สัพพะกำลัง แบบเผด็จการความรุนแรง ใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกัน ผู้อ่อนแอจะตกเป็นเหยื่อของผู้แข็งแกร่งกว่าไล่ไปตามห่วงโซ่อาหาร ซึ่งนั่นก็คือการที่ผู้มีอำนาจ(กำลังมากกว่า)ใช้ปกครองผู้ที่อ่อนด้วยกว่า นี่คงไม่อาจเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยแบบธรรมชาติได้
- ส่วนที่มนุษย์สร้างขึ้น ตามลำดับขั้นของ ยุคสมัย ที่ผ่านมาตามทางของประวัติศาสตร์ ก็จะเห็นว่าระบบการปกครองที่เปลี่ยนผ่านมาเรื่อยๆนั้น เป็นระบบการปกครองของคนๆหนึ่งและคนกลุ่มหนึ่งเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นช่วงยุคไหน ซึ่งต้องรวมไปถึงการใช้อำนาจกำลัง ในการขยายดินแดน เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้เอง ก็จะพบว่า เนื้อแท้ประชาธิปไตยก็ยังไม่สามารถจะเกิดได้ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนๆ ก็ตาม เป็นได้ที่สุดก็เข้าใกล้ได้แค่ประชาธิปไตยในระบบตัวแทน

หากมองตรงนี้แล้วก็จะกลายเป็นว่า มันไม่เคยมีและไม่อาจจะมี แบบนั้อหรือเปล่า ประชาธิปไตยที่กล่าวขวัญถึงความเท่าเทียมกัน สิทธิเสรีภาพต่างๆ มองในมุมไหนๆ ก็จะหาพบยาก ย้อนกลับมองที่ตัวบุคคลที่จะเป็นจุดเริ่มของทุกอย่างเอง ประชาธิปไตยที่ว่าก็ยากจะเกิดขึ้นได้แล้ว เพราะ แต่ละบุคคลก็จะมี ตัวกรูของกรู ที่ยึดถือกันไว้ไม่มีการวางลง การจะมองหาประชาธิปไตยคงเป็นเรื่องตลกหากแม้แต่ตัวคนพูดเองยังไม่สามารถที่จะ เป็นประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิเสรีภาพคนอื่นได้ก่อน แต่ต้องการให้คนอื่น เคารพสิทธิเสรีภาพตัวเอง ภาพที่เห็นมันเป็นเช่นนั้นจริงๆ ไม่อาจจะปฏิเสธได้ เลย

เหล่าผู้ที่บูชาท่องคาถา ว่าประชาธิปไตยทั้งหลายแหล่ ที่กล่าวอ้างว่าประชาธิปไตยในสายเลือด หรือ สู้เพื่อประชาธิปไตย ทั้งหลายต่างก็มีความเป็นเผด็จการทางความคิดไม่ได้ต่างกับ ฝ่ายที่พวกเค้าสู้ด้วยเลย เหล่าวีรชนที่ต่อสู้เพื่อการนี้ต้องสูญชีวิตไปมากมาย แต่คนรุ่นต่อๆไปก็ยังคงเผด็จการกันมาเรื่อย เป็นเรื่องน่าเศร้าของสถานที่แห่งหนึ่งจริงๆ

ไม่มีใครเกิดมาพร้อมกับความเป็นประชาธิปไตยได้ สิ่งเหล่านั้นต้องปลูกฝังและสั่งสอน และสิ่งที่ว่ามาเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้สำหรับบางสถานที่


หรือว่าแท้ที่จริงมันไม่มี เป็นเพียงUtopia ที่ไม่มีอยู่จริงแบบเดียวกัน หรือว่า มันมีและมนุษย์ไม่อาจจะเดินทางไปถึง เพราะเราจะเอาแต่ถอยหลังลงเหวไปเรื่อยๆ กว่าจะพ้นปากเหว ซักพักเราก็จะลงไปใหม่ การเดินทางไปให้ถึงนั้นจะอีกยาวนานแค่ไหน หรือว่าสั้นเพียงไร เราจะได้เห็นจุดจบของมันหรือไม่

คำถามเหล่านี้ไม่ต้องการคำตอบ


"The contest is not between Us and Them, but between Democracy and Absolute,
and if those who would fight Absolute adopt the ways of Absolute, Absolute wins."



Create Date : 26 มิถุนายน 2550
Last Update : 26 มิถุนายน 2550 18:14:19 น.
Counter : 729 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Zhugeliang.BlogGang.com

KongMing
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด