เคล็ดลับในความสำเร็จของ Apple
สวัสดีครับ คุณผู้อ่านทุกท่าน ผมไม่ได้เขียนบทความใหม่มานานแล้ว ซึ่งก็เกิดจากหลายๆเหตุผล หนึ่งในนั้นก็คือรู้สึกเบื่อกับหลายๆสิ่ง ตอนนี้ผมเลิกดูข่าวทางทีวีแล้ว เนื่องจากผมคิดเหมือนกับที่เคยมีคนบอกว่า ในระบอบประชาธิปไตย ประเทศจะได้รัฐบาลในแบบที่คนส่วนใหญ่ของประเทศนั้นสมควรได้รับ และนี่คือสิ่งที่คนส่วนใหญ่ของประเทศไทยสมควรได้รับ เขียนแค่นี้ครับ มากไปกว่านี้ กลัวโดน BAN ครับ

ผมได้อ่านบทความเกี่ยวกับเรื่องเหตุผลที่ทำให้บริษัท Apple ได้รับเลือกให้เป็นบริษัทที่ถูกชื่นชมมากที่สุดจากนิตยสาร Fortune ผมเห็นว่าเป็นบทความที่ดี ก็เลยอยากแปลให้ทุกคนได้อ่านครับ โดยส่วนตัวผมมีความคิดในแบบเดียวกับปรัชญาของบริษัท Apple ซึ่งก็คือถ้าคุณจะทำอะไรขาย ตัวคุณเองก็ต้องรู้สึกว่าสิ่งที่คุณทำ ถ้าเป็นตัวคุณเอง คุณก็อยากจะซื้อมันด้วย ถ้าตัวคุณยังไม่อยากซื้อมันเลย คุณก็อย่าทำมันขายเลยครับ คนอื่นๆก็คงไม่อยากซื้อมันเหมือนกัน ผมอยากให้คนไทยส่วนใหญ่คิดแบบนี้ ในอนาคต เราอาจจะมีบริษัทที่มีแบรนด์ที่ทั่วโลกรู้จัก

ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนว่า ผมไม่ใช่นักแปลอาชีพนะครับ เพราะฉะนั้นภาษาอาจจะไม่สวย ข้อมูลที่แปลอาจจะไม่ถูกต้องและครบถ้วน 100% แต่หวังว่าคุณจะเข้าใจ ใจความรวมที่บทความนี้ต้องการนำเสนอนะครับ

ขอเล่าเกี่ยวกับตัวเองเล็กน้อย ส่วนตัวแล้วผมใช้ PC และ Windows XP เป็นหลักในการทำงานครับ มีเครื่อง Mac เก่าๆอยู่เครื่องนึง เอาไว้ฟังเพลงกับเช็คเมล์ แม้ว่าผมจะใช้ PC มานาน ผมก็รู้สึกว่าระบบของ Windows เป็นเหมือนกับระบบที่เราต้องพยายามทำความเข้าใจกับมัน ส่วนระบบของ Mac เป็นเหมือนกับระบบที่มันพยายามทำความเข้าใจกับเรา ซึ่งหลังจากอ่านบทความใน Fortune แล้ว ผมก็พอเข้าใจว่าสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ มันเกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกที่ทีมที่คิดทั้ง 2 ระบบนี้ วางแนวคิดว่าระบบปฎิบัติการของพวกเขาควรเป็นแบบไหน ส่วนเหตุผลที่ผมไม่ใช้ Mac เป็นหลักในการทำงานก็เพราะมันไม่มี Mac รุ่นไหนที่เหมาะกับงานที่ผมทำอยู่ และราคาที่อยู่ในระดับที่ผมจะซื้อได้ iMac เพิ่มอะไรไม่ค่อยได้ในตอนหลัง เช่น RAM เปลี่ยนการ์ดจอ แล้วผมก็ไม่ชอบจอแบบ Glossy ด้วย ส่วน MacPro ซึ่งเป็นรุ่นสำหรับมืออาชีพของ Apple ก็ดีและแพงเกินไปสำหรับผม ผมต้องการรุ่นกลางๆระหว่าง iMac กับ MacPro ซึ่งมันไม่มี เลยใช้ PC ดีกว่า

เอาละครับ เรามาเริ่มที่บทความจากนิตยสาร Fortune เลยดีกว่า



เคล็ดลับในความสำเร็จของ Apple


ผู้ผลิต iPod และ iPhone เป็นผู้กำหนดมาตราฐานที่สูงมากของการคิดค้นสิ่งใหม่(นวัตกรรม)และการทำให้สินค้าตัวนั้นเป็นที่ต้องการผู้ใช้จำนวนมาก ซึ่งสองสิ่งนี้ถูกกำหนดโดยผู้บริหารที่หลงใหลในการทำให้สินค้าที่เขาทำขึ้น ใช้งานได้สมบูรณ์แบบในทุกๆด้าน ( สำหรับผู้ที่สนใจอ่านเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ สามารถไปอ่านได้ที่ //www.money.cnn.com/2008/02/29/news/companies/amac_apple.fortune/index.htm ครับ

โดย Betsy Morris, senior editor



นิวยอร์ค -- การทำสินค้าสำหรับตลาดผู้ใช้ทุกระดับน่าจะหมดสมัยไปแล้ว แต่คุณจะพูดเรื่องนี้กับบริษัท Apple ไม่ได้ ในเดือนกุมภา iTune Store กลายเป็นร้านขายเพลงที่ใหญ่อันดับสองในอเมริกา หลังจาก Wal-Mart คำว่า iPod เป็นเหมือนคำที่ใช้เรียกแทนเครื่องเล่น MP3 เหมือนกับที่ Kleenex ใช้เรียกแทนกระดาษทิชชู่ หรือ Xerox ใช้เรียกแทนเครื่องถ่ายเอกสาร สินค้าเกือบจะทุกตัวที่ Apple ผลิตขึ้นสามารถเข้าได้กับคนทุกเพศ พื้นที่ อายุ แล้วก็ทุกเชื้อชาติ ร้าน Apple Store เป็นแหล่งรวมของลูกค้าทุกวัย ทุกประเภท มีทั้งเกมส์ที่ขายให้กับเด็กๆ แล้วก็ Genius Bar(เป็นมุมหนึ่งในร้านที่จะแนะนำการใช้เครื่อง และใช้งานโปรแกรม)ให้บริการแก่ผู้ปกครอง แล้วก็ยังมีสินค้าอีกหลายๆตัวที่เป็นที่สนใจของวัยรุ่น และคนในวัยทำงาน

Apple ไม่สนใจแนวคิดของการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ไม่ทำแม้แต่การสอบถามกลุ่มเป้าหมายก่อนเพื่อทดสอบสินค้า สตีฟ จ็อบส์บอกว่า “คุณไม่สามารถถามลูกค้าว่าเขาต้องการอะไร ถ้าสิ่งที่เขาต้องการมันเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเขามากเกินไป จนเขาคิดไม่ถึงว่าเขาต้องการ เขาคิดไม่ออกหรอกครับ” (ขอเสริมตรงนี้หน่อยครับ พอดีเพิ่งได้อ่านบทความเกี่ยวกับ Apple ที่ยาวกว่าตัวที่ผมแปลมาในเว็บของ Fortune จ๊อบยกตัวอย่างคำพูดของเฮนรี่ ฟอร์ด ผู้ผลิตรถยนตร์ฟอร์ด ในสมัยที่คนส่วนใหญ่ในอเมริกายังใช้ม้าเป็นพาหนะ “ ถ้าผมถามลูกค้าของผมในระยะหนึ่ง ก่อนหน้าที่เขาจะซื้อรถของผมไปว่า พวกเขาอยากได้พาหนะแบบไหน พวกเขาก็คงจะตอบผมว่า ม้าที่เร็วกว่าตัวเก่า ” ส่วนอีกตัวอย่าง อันนี้ผมเอามาจากที่เคยอ่านหนังสืออัตชีวประวัติของผู้ก่อตั้งบริษัท Sony ตอนที่เขาคิดจะทำเครื่องเล่น Walkman เขาก็ไม่ทำการสำรวจตลาด แล้วคนในบริษัทส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วย แต่เขาก็ทำมัน เพราะเขาก็คิดว่าตัวเขาเองก็ต้องการใช้งานเครื่องเล่นเพลงที่ฟังคนเดียวได้ ) ที่บริษัท Apple การพัฒนาผลิตภัณท์ใหม่เริ่มต้นด้วยใจที่อยากจะทำ แล้วก็เริ่มด้วยการคุยกันแบบนี้ “เราไม่ชอบอะไร ?” คำตอบคือ โทรศัพท์มือถือที่ใช้อยู่ “แล้วเรามีเทคโนโลยีอะไรที่จะทำให้มันดีขึ้น ?” คำตอบคือ โทรศัพท์มือถือที่มีระบบปฏิบัติการของ Mac ข้างใน “แล้วเราอยากจะซื้อโทรศัพท์มือถืออะไร ?” คุณคงพอจะเดาคำตอบได้ iPhone สตีฟ จ็อบส์บอกว่า “เคล็ดลับอย่างหนึ่งที่ทำให้ Apple ประสบความสำเร็จก็คือ เราผลิตสินค้าที่เราเองก็อยากจะใช้เหมือนกัน”

ด้วยสูตรสำเร็จที่ฟังดูง่ายๆแบบนี้ มันไม่เพียงแค่ทำให้ Apple ดูโดดเด่นกว่าบริษัทอย่าง Microsoft แต่มันยังสร้างมาตราฐานของการเป็นต้นแบบธุรกิจ ในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ให้แก่บริษัทต่างๆในอเมริกา ซึ่งก็คือ การสร้างแบรนด์ขึ้นมา(ยี่ห้อสินค้า) เปลี่ยนภาพพจน์ของแบรนด์ตัวนั้น(อาจจะโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ) แล้วก็ปลุกแบรนด์ตัวนั้นให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง เพื่อให้มันประสบความสำเร็จในยุค disruptive age ( disruptive Age หมายถึง ยุคแห่งการสร้างความแตกต่าง ที่ไม่เหมือนคู่แข่งขันรายอื่นๆ ผมเอาคำแปลมาจาก link นี้ครับ //advisor.anamai.moph.go.th/re_im.html ) ในตอนนี้ หลังจากที่ Apple ออก iPod รุ่นแรกเมื่อ 7 ปีก่อน รายได้ครึ่งหนึ่งของบริษัทมาจากธุรกิจขายเพลงและ iPod แล้วความสนใจในตัวสินค้า iPod ก็ช่วยผลักดันให้อัตราการเติบโตในธุรกิจขายเครื่องคอมพิวเตอร์ของ Apple เติบโตมากกว่าอัตราเติบโตของบริษัทอื่นๆในอุตสาหกรรมเดียวกัน Apple ได้แสดงให้เห็นถึงวิธีการสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดที่เป็นจริง ด้วยการผลิตสินค้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่อย่างชาญฉลาด บริษัท Apple ได้เข้าไปยึดครองตลาดในอุตสาหกรรมต่างๆ ไล่ตั้งแต่ เครื่องใช้ไฟฟ้า ตลาดเพลง ตลาดภาพยนตร์ วีดีโอ ไปจนถึงตลาดของเครื่องมือในการบันทึกเสียง

จากการที่ Apple ถูกจัดเป็นอันดับหนึ่งของบริษัทที่ถูกชื่นชมมากที่สุดในอเมริกาของนิตยสาร Fortune Apple ประสบความสำเร็จมากในด้านรายได้ ภายใน 5 ปีนับถึงเดือนกันยายนปีก่อน(2007) ยอดขายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า เป็น 2 หมื่น 4 พันล้านดอลล่าร์ กำไรได้เพิ่ม เป็น 3 พัน 500 ร้อยล้านดอลล่าร์ จาก 42 ล้านดอลล่าร์ใน 5 ปีก่อน ขณะที่ราคาหุ้นของ Apple ตกลง 40% ในปีนี้ เนื่องจากความกังวลของนักลงทุนในเรื่องยอดขายที่ลดลงกว่าที่คาดไว้ แต่ปกติแล้วราคาหุ้นของ Apple ก็จะตกอยู่ไม่นาน Apple จัดอยู่ในอันดับที่ 1 ของบริษัทที่อยู่ในรายชื่อของ Fortune 500(เป็นการจัดรายชื่อของนิตยสาร Fortune ของบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา 500 อันดับ) ในเรื่องการแบ่งปันผลกำไรให้นักลงทุน ในระยะ 5 ปี (94%) และ 10 ปี(51%)ที่ผ่านมา

ทศวรรษที่ผ่านมาก็ตรงกันเด๊ะกับเวลาในการกับมายังบริษัท Apple อีกครั้งของสตีฟ จ็อบส์ในฐานะผู้บริหาร และผู้กำหนดแนวทางของบริษัท โดยเขานำส่วนผสมระหว่างพรสวรรค์ และสิ่งที่เขาหลงใหลอยู่ (คำว่า obsession ผมนึกไม่ออกว่าจะแปลว่าอะไร เลยใส่ว่าหลงใหลไปก่อน จริงๆแล้วมันหมายถึงสิ่งที่คนๆหนึ่งฝักใฝ่กับมันมากๆ เช่น ผม obsession กับน้องกระแด ดังนั้น ไม่ว่าน้องกระแตจะถ่ายนิตยสารอะไร เล่นหนังอะไร ผมจะซื้อเก็บไว้หมด ไปออกงานไหน ผมก็จะตามไปถ่ายรูปหมด มันมากกว่าชอบนะครับ) รวมทั้งความกล้าในกำหนดแนวทางของตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องทำตามกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ กลับมาใช้ในบริษัท Apple สิ่งที่เขาชื่นชมคือการค้นคว้าสิ่งต่างๆอย่างละเอียดถี่ถ้วน และความเป็นเลิศในการทำสิ่งต่างๆให้ดีที่สุด สิ่งเหล่านี้ได้สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้ Apple เป็นบริษัทที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการค้นคว้าสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ(innovation) คุณจะไม่ได้เห็นป้ายโฆษณาชวนเชื่อในบริษัท Apple ที่สำนักงานใหญ่ใน One Infinite Loop เมือง Cupertino รัฐ California ป้ายที่เขียนชื่นชมว่าบริษัทเราเป็นบริษัทที่คิดค้นนวัตกรรมใหม่ จะไม่มีในนั้น คือคนข้างในบริษัทจะรู้ได้เองโดยไม่มีการเขียนคำมาเพื่อโปรโมทให้ดูดี การคิดค้นนวัตกรรมใหม่คือวิถีชีวิตของคนในบริษัท แต่การคิดค้นนี้ไม่ได้หมายถึงแค่การเพิ่มรสชาดใหม่ของยาสีฟันไปอีกรสแล้วเอาไปขาย ในบริษัท Apple สิ่งใหม่ๆที่จะคิดค้นขึ้นมันจะเป็นสิ่งที่สามารถทำให้เป็นจริงได้ยาก บางครั้ง Apple ก็ไม่สามารถทำได้ แต่ถ้าทำสิ่งนั้นได้ ผลตอบแทนก็คือการประสบความสำเร็จอย่างมากทางการตลาด เป้าหมายของ Apple กับยอดขายของ iPhone ในปีนี้ก็คือ 10 ล้านเครื่อง ซึ่งจะเอาไปรวมกับที่ขายไปแล้ว 3.7 ล้านเครื่องที่ขายได้ในครึ่งหลังของปี 2007

ลักษณะการทำงานของพนักงานในบริษัท Apple จะมีบางสิ่งที่แตกต่างจากบริษัททั่วไป พนักงานถูกแบ่งเป็นแผนกตามประเภทสินค้าที่พวกเขารับผิดชอบอยู่ แล้วก็ยังถูกแบ่งตามหน้าที่ที่ทำ ซึ่งทิม คุ๊ก หนึ่งในผู้บริหารของ Apple (COO ไม่รู้จะแปลว่าตำแหน่งอะไร) บอกว่าพวกเขาถูกแบ่งโดยมีแค่เส้นบางๆกั้นอยู่ เพราะการทำงานร่วมกันคือกุณแจที่ทำให้ประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับการเป็นคนที่ใส่ใจในการทำทุกสิ่งให้สมบูรณ์แบบที่สุด Apple จ้างพนักงานประเภทที่ไม่เคยพอใจกับอะไรง่ายๆ เช่น นักออกแบบที่จ้างมา ต้องเป็นคนที่บ้าพอที่จะสนใจกับรายละเอียดว่า รอยโค้งของน็อตที่ขันอยู่ข้างใต้เครื่องโน๊ตบุ๊ค Macbook Air มันใช้งานได้ดี แล้วก็สวยงามแล้วรึยัง แล้วก็สิ่งที่ใช้ซ่อนช่องต่อสายเชื่อมต่างๆของเครื่องมันดูดีหรือเปล่า Apple จะไม่จ้างคุณ ถ้าเวลาคุณไปสัมภาษณ์งาน คุณไม่แสดงอารมณ์อะไรออกมาเลย เวลาที่คุณพูดถึงเครื่อง Mac ที่คุณใช้ ( โจนาธาน ไอวี หัวหน้าทีมออกแบบ ใช้คำพูดที่พูดถึง Macbook Air ว่าเขาคนนี้(this guy)เวลาที่ชี้ไปที่เครื่องตอนให้สัมภาษณ์ เหมือนกับว่ามันเป็นลูกของเขา ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์) มีวิศวกรตอมพิวเตอร์มากมายในบริษัท Apple ซึ่งก็เหมือนกับบริษัทคอมพิวเตอร์อื่นๆ แต่ไม่ใช่แค่ทักษะและความรู้ที่เป็นส่วนสำคัญ อีกสิ่งหนึ่งที่พนักงานจำเป็นต้องมีก็คือ ความสามารถในการแสดงอารมณ์ร่วมออกมากับงานที่ทำ( คำว่าการแสดงอารมณ์ (Emotive) เป็นสิ่งที่สำคัญของบริษัทนี้ อาจจะแปลไม่ตรงความหมายซะทีเดียว แต่โดยใจความหลักแล้วคือ บริษัทต้องการพนักงานที่รักในสิ่งที่เขากำลังทำ ไม่ใช่แค่มาทำงานเพื่อเอาเงิน ) ความรักในสิ่งที่ตัวเองทำ(passion) เป็นตัวที่ช่วยให้สามารถเอาชนะปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งทางด้านการออกแบบและวิศวกรรมได้ แล้วก็ช่วยให้สามารถทำโปรเจ็คได้เสร็จตามกำหนด ส่วนความกดดันในหมู่เพื่อนร่วมงานด้วยกันที่อยากจะให้งานออกมาดีที่สุด บางครั้งมันก็มากเกินไป จนทำให้ในทีมผลิตนั้นๆ ต้องคัดคนที่มีความสามารถต่ำและรับความกดดันได้น้อยออก หรือบางครั้งทีมนั้นก็รวมตัวกันไล่หัวหน้างานที่ไม่เก่งออก ทิม คุ๊กบอกว่า “บริษัท Apple ไม่ใช่ที่ทำงานของคนใจเสาะ”

อีกอย่างหนึ่งที่บริษัท Apple ไม่ทำคือ การกระจายความเสี่ยง ทิม คุ๊กบอกว่า “ปรัชญาของการบริหารจัดการแบบดั้งเดิมที่สอนอยู่ในคณะธุรกิจของมหาลัยต่างๆ คือการผลิตสินค้าให้หลากหลาย หรือทำธุรกิจในแขนงต่างๆให้หลากหลาย เพื่อกระจายความเสี่ยงออกไป แต่เราไม่ทำอย่างนั้น เราทำในทางตรงกันข้าม” ปรัชญาของ Apple ก็คือ Apple เห็นตัวอย่างจากหลายบริษัทที่สร้างสินค้าและบริการหลากหลายมากเกินไป เพื่อที่จะลดความเสี่ยงในธุรกิจลง ทำให้บริษัทไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะกระจายไปยังส่วนย่อยๆเพื่อให้ทำงานได้ประสิทธิผลมากที่สุด ทำให้สินค้าและบริการที่ทำขึ้น มีคุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร ส่วนวิธีการของ Apple ก็คือการเอาทรัพยากรทุกอย่างที่มีอยู่ในบริษัทเพื่อพัฒนาสินค้าเพียงไม่กี่ตัว แล้วก็ทำมันออกมาให้ดีที่สุด Apple ไม่ค่อยให้ความสนใจกับสินค้าที่บริษัททำแล้วเคยประสบความสำเร็จในอดีต Apple เคยยกเลิกการผลิต iPod รุ่น Mini ซึ่งเป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในช่วงนั้น ในวันเดียวกันกับที่บริษัทออกรุ่นใหม่ iPod Nano เนื่องจาก Apple คิดว่าเป็นสินค้าที่ดี และทำกำไรได้มากกว่า (แล้วจะแบ่งทีมเป็น 2 ทีมเพื่อผลิตสินค้าทั้ง 2 ตัวทำไม แทนที่จะช่วยกันทำตัวเดียวให้ดีไปเลย)

ปรัชญาในการทำธุรกิจของ Apple อาจจะดูเหมือนกับเป็นการเสี่ยงมากเกินไป แม้ว่าสิ่งต่างๆที่ Apple ผลิตขึ้นมาจะไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะประสบความสำเร็จในการตลาด แต่ความสำเร็จที่ Apple ได้รับก็ไม่ได้เกิดขึ้นโดยความบังเอิญเช่นกัน การที่ Apple เป็นเจ้าของระบบปฏิบัติการของตัวเอง ช่วยให้ Apple มีความสามารถในการควบคุมการออกแบบ และเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์ในแบบที่บริษัทอื่นไม่สามารถทำได้ ซึ่งสิ่งนี้ช่วยให้บริษัทสามารถผลิตสินค้าใหม่ขึ้นมาโดยไม่จำเป็นต้องรู้ล่วงหน้าว่า ในที่สุดแล้วผลิตภัณฑ์ตัวนั้นจะเปลี่ยนไปเป็นแบบไหน ตัว iPod ได้เปลี่ยนรูปแบบจากเครื่องเล่นเพลงที่มีขนาดเท่ากับสำรับไพ่ ไปเป็นขนาดที่เล็กกว่าอย่าง iPod Nano แล้วก็เล็กกว่านั้นอีกอย่าง iPod Shuffle ตอนนี้มันก็เปลี่ยนแปลงไปอีก เป็นสิ่งที่มีรูปแบบและวิธีการใช้แตกต่างกันออกไปเลยอย่าง iPod Touch ซึ่งทิม คุ๊กบอกว่า “เรามีแผนการระยะยาวสำหรับตัว iPod Touch” ถ้าสิ่งที่เขาได้คาดเอาไว้ถูกต้อง ในที่สุดแล้วมันจะกลายเป็นอุปกรณ์ตัวแรกที่ใช้เชื่อมต่อเน็ทเวิร์คแบบไร้สาย(Wi-Fi mobile device)ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย

สตีฟ จ็อบส์บอกว่า “ DNA ( สารพันธุกรรม ถ้าอยากรู้รายละเอียดเพิ่มเติมไปอ่านได้ที่ link นี้ครับ //www.vcharkarn.com/varticle/296 ซึ่งในที่นี้หมายถึงปรัชญาหลักของ Apple ) ของ Apple คือการทำให้คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึง และใช้ technology ได้ง่ายและมากที่สุด ” จ๊อบมีความเชื่อว่า ถ้าคุณผลิตสินค้าที่ดีมากๆ ทุกคนก็ต้องการที่จะใช้มัน จะมีใครคิดว่าแบรนด์อย่าง Apple ที่มีแฟนพันธ์แท้จำนวนไม่มาก จะสามารถกลับมาแจ้งเกิดได้ในตลาดสำหรับคนจำนวนมาก สตีฟ จ็อบและคนที่ศรัทธาเขาในบริษัทได้พิสูจน์แล้วว่า ถ้าคุณกล้าพอที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดี โดยไม่สนว่ามันจะทำยากขนาดไหน ก็มีคนจำนวนมากที่กล้าพอที่จะซื้อมัน


สำหรับผู้ที่ต้องการจะเรียนรู้โปรแกรม Dreamweaver CS3 ในแบบที่สอนเป็นวีดีโอ คุณสามารถไปดูรายละเอียดได้ที่เว็ปไซด์นี้ //www.dw3thai.com ซึ่งจะมีดีวีดีสอนการใช้งานโปรแกรมโดยลินดาดอทคอม เป็นเวอร์ชั่นภาษาไทย (พากษ์ไทย) ด้วยความยาวกว่า 10 ชั่วโมง ในราคาเพียง 150 บาท (รวมค่าส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน) และตอนนี้ก็มีทางเลือกอีกทางในการชำระเงิน โดยใช้บริการเรียกเก็บเงินปลายทางจากกรมไปรษณีย์ ซึ่งก็ช่วยให้คุณสะดวกและมั่นใจยิ่งขึ้น คุณสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้จาก link นี้ครับ //dw3thai.com/ordering.html#cashondelivery



Create Date : 06 มีนาคม 2551
Last Update : 6 มีนาคม 2551 16:50:51 น.
Counter : 821 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Tutorcat.BlogGang.com

tutorcat
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]

บทความทั้งหมด