สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ๓ : จมื่นศรีสรรักษ์ ผู้ล้มบัลลังก์พระศรีเสาวภาค? ![]() จมื่นศรีสรรักษ์(ป๊อบ ฐากูร การทิพย์) จากละครเรื่อง ขุนศึก สำหรับคนที่เคยดูขุนศึกเรื่องก็คือ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จสวรรคตใน พ.ศ.๒๑๔๘ สมเด็จพระเอกาทศรถครองราชย์มา ๘ ปี ตอนนั้นจมื่นศรีสรรักษ์วัย ๑๗ เป็นตัวตั้งตัวดีในกาีรเสริมอำนาจให้พระอินทราชา ต่อมาเป็นผู้ล้มบัลลังก์สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์แล้วพระอิทราชาจึงครองราชย์มีพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ต่อมาจมื่นผู้นี้จึงได้ล้มบัลลังก์โอรสพระเจ้าทรงธรรมแล้วครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง แต่ว่าเรื่องของจมื่นศรีสรรักษ์ในละครขุนศึก กับหลักฐานทางประวัติศาสตร์มีความแตกต่างกันมาก ในตอนนี้อาจจะมีเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้าปราสาททองน้อยอยู่ท้ายๆ แต่อยากให้ละเอียดในช่วงก่อนหน้าเพื่อความเข้าใจ ว่าด้วยเรื่องศักราช คงต้องเกริ่นไปไกลสักนิดเพื่อความเข้าใจ ปีสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรเป็นที่สรุปกันได้แต่ครั้งอดีตว่าสวรรคตใน พ.ศ.๒๑๔๘ แต่ปีศักราชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถกับสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมนั้นเป็นปัญหามาแต่เดิม ตามพระราชพงศาวดารกล่าวว่าครองราชย์ ๗ ปีครึ่ง(เข้าใจว่าละครยึดตามนิยายของไม้ เมืองเดิมซึ่งยึดตามพงศาวดาร) ต่อมาพบ "จดหมายเหตุวันวลิต"(ซึ่งแปลจากฉบับภาษาฝรั่งเศสซึ่งแปลผิดอยู่ก่อน-อ่านได้ในตอนที่ ๒) กล่าวว่า พระเจ้าทรงธรรมครองราชย์ ๙ ปี รัชสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถจึงอยู่ในช่วง พ.ศ.๒๑๔๘-๒๑๖๓ เป็นเวลา ๑๕ ปี ทำให้สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเชื่อตามนี้และทรงนิพนธ์ไว้ใน"ไทยรบพม่า" ด้วยปีศักราชนี้ทำให้สมเด็จฯท่านทรงเข้าใจเรื่องพระเจ้าปราสาททองคลาดเคลื่อนไป(หากจะโทษใครคงต้องโทษ Wicquefort ที่แปลภาษาดัชต์เป็นภาษาฝรั่งเศสแบบที่ผิดเยอะมาก) แต่ทว่าตอนหลังพบต้นฉบับภาษาดัชต์กับหลักฐานอื่นๆสอบเทียบจึงได้ข้อสรุปในปัจจุบันว่า สมเด็จพระเอกาทศรถทรงครองราชย์ตั้งแต่ พ.ศ.๒๑๔๘-๒๑๕๓ รวม ๕ ปี ส่วนสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมครองราชย์ช่วง พ.ศ.๒๑๕๓-๒๑๗๑ รวม ๑๘ ปี เหตุการณ์ก่อนการล้มล้างบัลลังก์ พงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาที่มีเขียนเรื่องสมเด็จพระเจ้าปราสาททองนั้น ล้วนมีแต่ฉบับที่ชำระในสมัยรัตนโกสินทร์ ยังไม่พบฉบับที่เก่ากว่านั้น ข้อความหลายตอนไม่น่าเชื่อถือ ศักราชก็ผิดพลาด จึงต้องอาศัยหลักฐานอื่นๆสอบเทียบเสมอ พระราชพงศาวดาร(ที่ชำระสมัยหลัง)ระบุไว้ว่าสมเด็จพระเอกาทศรถทรงมีพระโอรสสององค์คือ เจ้าฟ้าสุทัศน์ กับ เจ้าฟ้าศรีเสาวภาค พระองค์ทรงสถาปนาเจ้าฟ้าสุทัศน์เป็นพระมหาอุปราช แต่ต่อมาได้เสวยยาพิษสิ้นพระชนม์ไป สมเด็จพระเอกาทศรถก็ไม่ได้ยกตำแหน่งพระมหาอุปราชให้เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ แต่อย่างไรเสียเมื่อสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จสวรรคตไป ข้าราชการจึงยกเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคครองราชสมบัติสืบต่อไป สมเด็จพระศรีเสาวภาคมีพระเนตรเสียข้างหนึ่ง นอกจากนี้พระราชพงศาวดารไม่ได้ระบุเหตุการณ์อะไรสำคัญไว้ แต่หลักฐานของชาวอังกฤษชื่อปีเตอร์ ฟลอริส(Peter Floris)ระบุว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ที่อ่อนแอ ปราศจากความสามารถ นอกจากในรัชกาลนี้มีปัญหากับชาวญี่ปุ่น สืบเนื่องมาจากมีหลักฐานต่างประเทศของกล่าวว่า ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถมีผู้บัญชาการทหารอาสาญี่ปุ่นชื่อ เจ้ากรมนายไวย(Jockrommewaye) หรือ ออกญากรมนายไวย(Ochi Chronowi) คนผู้นี้เป็นผู้คอยยุแหย่ให้สมเด็จพระเอกาทศรถระแวงเจ้าฟ้าสุทัศน์ว่าจะเป็นกบฏ ต่อมาเมื่อพระศรีเสาวภาคได้ราชสมบัติแล้วจึงให้ประหารออกญากรมนายไวยซะ ![]() ผลคือทหารอาสาญี่ปุ่น ๒๘๐ คนในบังคับบัญชาออกญากรมนายไวย ได้ทำการบุกพระราชวังหลวงถึงตัวพระเจ้าแผ่นดิน แล้วบีบบังคับให้ส่งตัวขุนนางตัวตั้งตัวตีที่ให้ประหารนายของตนออกมา เมื่อเวลาผ่านไปญี่ปุ่นเหล่านี้เริ่มทำการบีบบังคับให้พระศรีเสาวภาคทำหนังสือสัญญาลงด้วยพระโลหิตบ้าง เพื่อรับรองความปลอดภัยให้ญี่ปุ่น จับพระสงฆ์พระสังฆราชเป็นตัวประกันบีบบังคับทำสิ่งต่างๆบ้าง การที่ญี่ปุ่นจำนวนน้อยนิดสามารถทำการเหิมเกริมได้ถึงขนาดนี้แสดงถึงศักยภาพของสมเด็จพระศรีเสาวภาคได้ทีเดียว รวมถึงความอ่อนแอในระบบราชการตอนนั้นด้วย จากเรื่องราวต่างๆนี้คงนำไปถึงการโค่นล้มบัลลังก์ของสมเด็จพระศรีเสาวภาค การก่อกบฏ ![]() พระปรางค์วัดมหาธาตุ อยุธยา สถานที่ประชุมพลเตรียมก่อการกบฏ พระราชพงศาวดารได้ระบุความตอนนี้ไว้ว่า "...พระศรีศิลป์บวชอยู่วัดระฆังรู้พระไตรปิฎกสันทัด ได้สมณฐานันดรเป็นพระพิมลธรรมอนันตปรีชาชำนาญทางไตรเพทางคศาสตรราชศาสตร์ มีศิษย์โยมมากทั้งจมื่นศรีสรรักษ์ก็ถวายตัวเป็นบุตรเลี้ยงครั้งนั้นเชี่ยวชาญคนทั้งหลายนับถือมาก จึงคิดกับจมื่นศรีสรรักษ์และศิษย์โยมเป็นความลับซ่องสุมพรรคพวกได้มากแล้วก็บริวัตรออกเพลาพลบค่ำก็พาไปชุมพล ณ ปรางค์วัดพระศรีมหาธาตุ ครั้นได้อุดมนักขัตฤกษ์ก็ยกพลมาฟันประตูมงคลสุนทร เข้าไปได้ในท้องสนามหลวงขุนนางซึ่งนอนเวรเอาความมากราบทูล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตกพระทัย ตะลึงไปชั่วครู่จึงตรัสว่าเวราก็ตามเถิด แต่อย่าให้ลำบากเลย
พระพิมลธรรมเข้าพระราชวังได้ก็ให้กุมเอาพระเจ้าแผ่นดินไป พันธนาการไว้มั่นคงรุ่งขึ้นให้นิมนต์พระสงฆ์บังสุกุลร้อยหนึ่งให้ธูปเทียนมาแล้วก็ให้สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ เอาพระศพไปฝัง ณ วัดโคกพระยาพระศรีเสาวภาคอยู่ในราชสมบัติปีหนึ่งกับอีกสองเดือน..." นอกจากนี้จากหลักฐานของฟาน ฟลีต สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม(พระอินทราชา)ตอนนั้นเพิ่งมีพระชนม์เพียง ๑๙-๒๐ พรรษา จะได้เป็นพระราชาคณะที่พระพิมลธรรมเห็นจะเป็นไปไม่ได้(แต่ที่ว่าผนวชอยู่เห็นจะเป็นไปได้) ส่วนถ้าจะนึกว่าเป็นพระศรีศิลป์ก่อการยิ่งไม่น่าจะได้เพราะจากหลักฐานของฟานฟลีต พระชนม์ยิ่งน้อยลงไปอีกหลายปี สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงมีพระวินิจฉัยว่า "ทีในภาษาไทยเรียกว่า 'พระเจ้าทรงธรรม' บางทีจะมาแต่พระสงฆ์ถวายพระนามเป็นภาษาบาลีว่า 'วิมลธรรม' เหมือนพระนามพระเจ้าแผ่นดินในลังกาทวีปแต่โบราณมีหลายองค์ จึงเกิดความเข้าใจในชั้นหลังว่าเป็นพระพิมลธรรมราชาคณะเจ้าคณะรองคณะเหนือ" จมื่นศรีสรรักษ์ผู้ก่อการคือพระเจ้าปราสาททองจริงหรือ? หลังจากเขียนเกริ่นมาอย่างยาวเหยียด ก็มาถึงเรื่องจมื่นผู้นี้สักที พระราชพงศาวดารได้กล่าวไว้ว่าสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงสถาปนาจมื่นศรีสรรักษ์ผู้เป็นบุตรเลี้ยงและเป็นผู้นำการผลัดแผ่นดินครั้งนี้ขึ้นเป็น พระมหาอุปราช แต่พงศาวดารก็ระบุต่อไปว่า "...อยู่ ๗ วัน มหาอุปราชประชวรลง ๓ วันสวรรคต..." สรุปก็คือตาย (สำหรับผู้เขียนแล้ว เลข ๗ ในพงศาวดารไม่ใช่ตัวเลขที่น่าเชื่อถือเลย) ก่อนจะมีการพบหลักฐานของเยเรเมียส ฟาน ฟลีต(Jeremias Van Vliet) นายห้างฮอลันดาในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ก็จะเข้าใจว่าพระมหาอุปราชเป็นแค่คนๆนึงที่ตายไปแล้ว แต่พอมีการพบหลักฐานแล้วกล่าวว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเคยดำรงพระยศที่แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า "จมื่นศรีสรรักษ์" โดยได้เป็นเมื่อมีอายุ ๑๖ ปี ก็เริ่มคิดกันว่าจริงๆแล้วจมื่นศรีฯไม่ได้ตาย แต่เป็นเพราะพงศาวดารชำระคลาดเคลื่อน และเมื่อเทียบกับหลักฐานของฟาน ฟลีต ยังดำรงตำแหน่งอื่นๆอีกจึงไม่น่าได้เป็นพระมหาอุปราช โดยบุคคลแรกที่สัณนิษฐานว่าจมื่นศรีสรรักษ์คนนี้คือสมเด็จพระเจ้าปราสาททองคือ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพดังที่ทรงกล่าวไว้ว่า "จะเห็นได้ตรงนี้ว่าหนังสือพระราชพงศาวดารว่า จมื่นศรีสรรักษ์ถวายตัวเป็นบุตรเลี้ยงพระพิมลธรรมนั้น มิใช่คนอื่น" (แต่จากหลักฐานอายุไม่น่าจะเป็นบุตรเลี้ยงได้) ![]() จมื่นศรีสรรักษ์ดวลดาบกับพระยารามจตุรงค์(เสมา) จากละคร ขุนศึก เนื่องด้วยเอกสารของฟาน ฟลีตที่แปลจากภาษาดัชต์เป็นฝรั่งเศสที่ผิด แปลไทยก็ผิดตาม ทำให้เข้าใจว่า สมเด็จพระเอกาทศรถทรงครองราชย์ ๑๕ ปี(ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว) ทำให้ช่วงอายุที่พระเจ้าปราสาททองเป็นจมื่นศรีสรรักษ์ตามหลักฐานของฟานฟลีต กลายเป็นอยู่ในรัชสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถไปโดยสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ทรงเข้าพระทัยดังนี้ และได้นิพนธ์ไว้ใน'ไทยรบพม่า' (ทำให้คนอีกมากซึ่งไม่ได้ศึกษาเข้าใจผิดไป อย่างละครขุนศึก) เพราะฉะนั้นหากจะลุกขึ้นมาก่อกบฏในฐานะจมื่นศรีสรรักษ์ก็เป็นไปได้อยู่ แต่อย่างที่บอกไปแล้วว่าจริงๆสมเด็จพระเอกาทศรถทรงครองราชย์แค่ ๕ ปี และเมื่อคำนวณพระชนมายุของพระเจ้าปราสาททองในเวลาก่อกบฏ พ.ศ.๒๑๕๓ จากหลักฐานของฟาน ฟลีต เพิ่งทรงมีพระชนม์ประมาณ ๑๑ ปีเท่านั้น คงลุกขึ้นมาเป็นผู้นำก่อกบฏไม่ได้แน่ และกว่าจะได้เป็นจมื่นศรีสรรักษ์ตอนพระชนม์ ๑๖ ปี ก็เป็นรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมไปแล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องที่เข้าใจกันอยู่ในทุกวันนี้เกิดจากความผิดพลาดในหลายๆปัจจัยรวมกัน หลักๆน่าจะเกิดเพราะความคลาดเคลื่อนที่พงศาวดารบันทึกสับสน สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเคยเป็นจมื่นศรีสรรักษ์จริงแต่ว่ากันตามหลักฐานแล้วไม่ได้มีบทบาทเหมืือนกับที่เข้าใจกันเหมือนในละครขุนศึก Jeronimus van Vliet อ่านว่า เยโรนิมุส ฟาน ฟลิต ครับ ฟอน มาจากคำว่า Von ในภาษาเยอรมันซึ่งมีความหมายเดียวกับคำว่า Van ในภาษาดัชท์
โดย: A Dutch man IP: 101.108.146.252 วันที่: 27 สิงหาคม 2555 เวลา:17:49:53 น.
|
บทความทั้งหมด
|