สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ๑๐ : ออกญาศรีวรวงศ์

ภาพลายรดน้ำจากหอเขียน วังสวนผักกาด

สมเด็จพระเจ้าปราสาททองในช่วงวัยหนุ่มทรงถูกลงโทษติดคุกหลายหน เพราะทำความผิดหลายกระทงบวกกับความประพฤติที่ไม่ดี ถ้าไม่ใช่คดีหนักก็มีออกญาศรีธรรมาธิราชผู้เป็นบิดาหรืออาหญิงซึ่งเป็นพระมารดาของพระเจ้าทรงธรรมช่วยเหลือ อาจเพราะทำมาแบบนี้เสมอเลยออกแนว'พ่อแม่รังแกฉัน' ทำให้พระเจ้าปราสาททองไม่รู้จักปรับปรุงตัว สุดท้านก็โดนโทษหนักถึง ๓ หน(เท่าที่มีปรากฏบันทึก) โดยต้องรับอาญาหลายปี น่าจะทำให้พระเจ้าปราสาททองได้ทรงคิดและปรับปรุงตัวบ้าง จนกลับมามีความก้าวหน้าในราชการอีกครั้ง


การเลื่อนตำแหน่ง
เยเรมียส ฟาน ฟลีต(Jeremias Van Vliet)บันทึกไว้ว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงติดคุกจากข้อหากระทำชำเราสนมของพระอนุชาอยู่ ๓ ปี ออกญาศรีธรรมาธิราชกับพระมารดาของสมเด็จพระเ้จ้าทรงธรรมจึงช่วยเหลือให้ได้พ้นโทษออกมา คำนวณจากวันเวลากับปีพระราชสมภพ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองน่าจะทรงมีพระชนม์เลย ๒๕ พรรษาไปแล้ว นับว่าใช้ชีวิตวัยหนุ่มส่วนใหญ่หมดไปในคุก แต่การออกมาครั้งนี้เปลี่ยนแปลงไปจากครั้งเก่าๆ

ครั้งนี้สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของพระองค์ใหม่อาจจะเป็นเพราะได้รับประสบการณ์เลวร้ายมาเยอะแล้วเลยทรงสำนึกผิดปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น ตั้งใจรับราชการถวายสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมอย่างตั้งใจ ในช่วงนี้ฟาน ฟลีตกล่าวว่าพระเจ้าปราสาททองได้แสดงออกให้เห็นถึงสปิริต(spirit)และความเฉลียวฉลาด จนสุดท้ายสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น ออกญาศรีวรวงศ์(Oija Sijworra Wongh) คำนวณวันเวลาหลังจากออกจากคุกับปีสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมน่าจะมีแค่ ๓-๔ ปี ภายในเวลานี้พระเจ้าปราสาททองก็ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น ออกญา หรือ พระยาแล้ว ทั้งๆที่มีประวัติทำความผิดมาก่อนและอายุก็ยังไม่มาก(ยังไม่ถึง ๓๐)  นับว่ารวดเร็วมาก


เจ้าพระยารามราฆพ(ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ)

การได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เร็วแบบนี้ไม่ใช่ว่าไม่มี ตัวอย่างเช่นเจ้าพระยารามราฆพ(ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ ณ อยุธยา) ข้าราชบริพารคนสนิทในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เป็นเจ้าหมื่นสรรเพธภักดีตอนอายุ ๒๑ พออายุ ๒๒ ก็ได้เลื่อนเป็นพระยาประสิทธิ์ศุภการ ยังเร็วกว่าพระเจ้าปราสาททองด้วยซ้ำ ท่านมีความคล้ายกับพระเจ้าปราสาททองหลายอย่างเช่นเป็นเชื้อพระวงศ์ ถวายงานใกล้ชิด 

สาเหตุของการเลื่อนบรรดาศักดิ์ของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองสัณนิษฐานว่าน่าจะมาจาก ความสามารถของตนเองส่วนหนึ่ง ความสนิทชิดเชื้อกับสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมส่วนหนึ่งเพราะได้ถวายงานใกล้ชิดมาตั้งแต่อายุน้อย เส้นสายจากบิดาก็น่าจะมีส่วนเพราะตำแหน่งของออกญาศรีธรรมาธิราชผู้เป็นบิดานับว่าจัดเป็นเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่อยู่(และเป็นลุงของพระเจ้าทรงธรรมด้วย)


ตำแหน่ง 'ออกญาศรีวรวงศ์'
ตำแหน่งนี้ฟาน ฟลีต กล่าวว่าเป็นตำแหน่ง 'ผู้ควบคุมดูแลราชสำนัก'(the superintendent of the Court) หรือ the head of the King's household จึงน่าจะเป็นตำแหน่ง 'เสนาบดีกรมวัง' นั่นเอง

ปกติตามทำเนียบขุนนาง เสนาบดีกรมวังจะมีทินนามเต็มว่า 'ออกพญาธารมาธิบดีศรีวิริยพงษวงษภักดีบดินทรเดโชไชยมะไหยสุริยาธิบดีศรีรัตนราชมลเทียรบาลอัคะมหาเสนาธิบดีอภัยพิรีบรากรมพาหุ' ปกติเรียกว่า 'พระยาธรรมาธิกรณ์' หรือ 'พระยาธรรมาธิบดี' (บางครั้งเป็นเจ้าพระยา) บางครั้งก็เรียกย่อว่า 'พระยาธรรมา' เป็น ๑ ใน ๔ จตุสดมภ์ ถือศักดินา ๑๐๐๐๐ ซึ่งจตุสดมภ์นับว่าเป็นขุนนางฝ่ายพลเรือนที่สูงสุดรองจากสมุหนายก แต่สำหรับพระเจ้าปราสาททองมีทินนามว่า 'ศรีวรวงศ์' ไม่มีในทำเนียบขุนนาง สัณนิษฐานว่าอาจเป็นทินนามพิเศษ หรือไม่อาจมาจาก 'ศรีวิริยพงษวงษ' ในคำสร้อยของทินนามเต็ม หรือไม่อาจเพี้ยนมาจาก 'ศรีสุริยวงศ์' ซึ่งเป็นทินนามที่มีใช้ในสมัยหลังก็เป็นได้

อธิบายถึงตำแหน่งของออกญาศรีธรรมาธิราชผู้บิดาเล็กน้อย สัณนิษฐานว่าออกญาศรีธรรมาธิราชเป็นตำแหน่งของเสนาบดีระดับสูงในกรมวัง(น่าจะเป็นที่ปรึกษา)เนื่องจากผู้ได้รับทินนามนี้มักทำราชการอยู่ในกรมวังแต่ไม่ปรากฏในทำเนียบ สัณนิษฐานว่ามีหน้าที่ในด้านพระราชพิธีและการกำกับดูแลพระราชวัง มีตัวอย่างว่าในสมัยรัชกาลที่ ๒ ยังโปรดเลื่อนเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์(บุญรอด) เสนาบดีกรมวังขึ้นไปเป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช 

โดยปกติแล้วสมัยก่อน ข้าราชการในกรมต่างๆมักจะถ่ายทอดวิชาความรู้หน้าที่ที่เกี่ยวกับกรมนั้นในกับคนในครอบครัว ทำให้บุตรหลานมักมีความถนัดเหมือนๆกัน เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงทราบถึงความสามารถแล้วก็มักจะส่งไปรับราชการในกรมต่างๆซึ่งก็มักจะได้อยู่กรมเดียวกับคนในครอบครัว อย่างเช่น สกุลบุนนาค ต่างมีคนในครอบครัวได้รับตำแหน่งเป็นสมุหพระกลาโหมหลายชั่วคน ในกรณีออกญาศรีธรรมาธิราชกับพระเจ้าปราสาททองก็ไม่น่าจะแตกต่างกัน นอกจากนี้ฟาน ฟลีตยังกล่าวอีกว่าเมื่อพระเจ้าปราสาททองพ้นจากตำแหน่งออกญาศรีวรวงศ์ไปแล้ว ผู้ที่มารับตำแหน่งต่อก็คือน้องชายของพระเจ้าปราสาททองเอง จึงเห็นได้ว่าครอบครัวเดียวกันมักได้อยู่ในกรมเดียวกัน



แบบจำลองพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุทธยา

หน้าที่ของกรมวัง
พระเจ้าปราสาททองได้เป็นออกญาศรีวรวงศ์ตั้งแต่อายุไม่มากแต่หน้าที่และอิทธิพลนับว่ามีมาก ในจตุสดมภ์ทั้ง ๔ กรมวังนับว่าใกล้ชิดพระมหากษัตริย์มากที่สุดเพราะมีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดในพระราชวังหลวง รวมถึงงานพระราชพิธีทั้งปวงจึงเป็นกรมที่มีส่วนในการเกื้อหนุนสถาบันพระมหากษัตริย์อีกด้วย มีกรมต่างๆอยู่ใต้บังคับบัญชาเช่น กรมชาวที่พระบรรทม กรมเฝ้าพระที่นั่ง กรมวังนอก กรมพระอภิรุมราทยาน กรมพระแสงสรรพยุทธ์พลับพลาชัย กรมฉางเข้าบาตร รวมไปถึงราชมัล และมีอำนาจสั่งการตำรวจวังได้อีกด้วย ด้วยหน้าที่การงาน ออกญาศรีวรวงศ์จึงน่าจะมีโอกาสได้ถวายงานใกล้ชิด ได้เข้าเฝ้าประจำเนื่องจากเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่


สมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้กลับมาก้าวหน้าในราชการอีกครั้งหลังจากต้องใช้ชีวิตล้มลุกคลุกคลานอยู่นานแต่กลับก้าวมาถึงระดับ'เสนาบดี' ได้ตั้งแต่อายุน้อย นับว่าไม่ธรรมดา




Create Date : 26 กันยายน 2555
Last Update : 27 กันยายน 2555 16:36:22 น.
Counter : 15002 Pageviews.

1 comments
เข็นเด๊กขี้นภูเชา : 12ข้อ เพื่อความเข้มแข็งทางใจให้เด็กๆ newyorknurse
(18 มี.ค. 2567 04:29:26 น.)
เปลี่ยนหลอดไฟรุ่นเก่าเป็น LED เองได้ง่ายๆ ผู้หญิงก็ทำได้! ฟ้าใสทะเลคราม
(1 มี.ค. 2567 00:27:13 น.)
สรุปวิชาโลกดาราศาสตร์และอวกาศชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.5) เรื่องทรัพยากรธรณี นายแว่นขยันเที่ยว
(28 ก.พ. 2567 00:03:41 น.)
เคล็ดลับการออกเสียงเป๊ะที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อน --- เรียน IPA peaceplay
(24 ก.พ. 2567 02:34:38 น.)
  
การขึ้นมาครองอำนาจในสมัยอยุธยาตอนปลาย
ตั้งแต่ราชวงศ์ปราสาททองถึงบ้านพลูหลวงนี่น่าสนใจ
ทุกรัชกาลเลยนะครับ เป็นการเมืองที่พลาดก็ตาย
โดย: VET53 วันที่: 2 ตุลาคม 2555 เวลา:16:57:49 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Slight06.BlogGang.com

ศรีสรรเพชญ์
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 23 คน [?]

บทความทั้งหมด