แนะนำ การเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศภายในบ้าน


เครื่องปรับอากาศ (Air Conditioner) หรือนิยมเรียกสั้นๆว่า..."แอร์" เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทหนึ่ง ที่ถือว่าจำเป็นในชีวิตประจำวันของมนุษย์ยุคปัจจุบัน เพราะอากาศบนโลกของเราร้อนขึ้นทุกวัน รวมถึงประเทศไทยของเราก็จัดว่าเป็นเมืองร้อน จึงมีความจำเป็นและความต้องการที่จะใช้เครื่องปรับอากาศ ในจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ 

เนื่องจากธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการความสบายแก่ร่างกาย การสร้างสภาวะแวดล้อมที่มีอุณหภูมิรอบตัวในระดับที่ให้ความสบายแก่ร่างกาย สามารถทำได้โดยการใช้เครื่องปรับอากาศ มาทำให้อุณหภูมิในพื้นที่รอบๆตัวมีความเย็นสบายเหมาะสมต่อร่างกาย และมีความชื้นในระดับที่เหมาะสม

เครื่องปรับอากาศที่ดี จึงต้องสามารถปรับอุณหภูมิในห้องให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมตามที่ต้องการได้ รวมทั้งการรักษาระดับอุณหภูมิให้คงที่ และยังต้องรักษาระดับความชื้นในอากาศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อร่างกายด้วยเช่นกัน






ระบบปรับอากาศเพื่อความสบายประกอบไปด้วย

1. การปรับอุณหภูมิ (Temperature) ร่างกายคนเราโดยเฉลี่ยแล้ว จะมีอุณภูมิร่างกายปกติ อยู่ที่ประมาณ 36.6 องศาเซลเซียส ในการปรับอากาศให้เหมาะสมแก่ร่างกายของมนุษย์ ตามหลักจะอยู่ที่ประมาณ 22.2 องศาเซลเซียส 

แต่ในมาตรการของรัฐบาล และกระทรวงพลังงาน ได้มีการรณรงค์ให้ปรับอุณภูมิของเครื่องปรับอากาศ เพื่อการประหยัดพลังงาน ที่ระดับอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ซึ่งก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมแก่ร่างกาย

2. การปรับความชื้นสัมพัทธ์ (Relative Humidity) ในห้องปรับอากาศ ระดับความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมแก่ร่างกายของคนเรา ซึ่งเป็นระดับที่ให้ความสบาย และไม่ส่งผลเสียต่อน้ำหล่อเลี้ยงในเซลล์ผิวมากเกินไป ควรมีค่าความชื้นสัมพัทธ์อยู่ที่ปริมาณ 50 - 55% ซึ่งหากมีความชื้นสัมพัทธ์มากเกินไปจะทำให้รู้สึกไม่สบายตัว และเอื้อประโยชน์ในการเติบโตของเชื้อรา แต่ถ้าหากมีปริมาณความชื้นสัมพัทธ์น้อยเกินไปก็จะทำให้สูญเสียน้ำหล่อเลี้ยงในชั้นเซลล์ผิวหนังมากเกินไป จนทำให้ผิวแห้ง แตกลอก รู้สึกไม่สบายตัว






ความจำเป็นในการใช้เครื่องปรับอากาศ

สภาพอากาศในประเทศไทย ที่เป็นเมืองร้อน ประกอบกับภาวะโลกร้อนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบอย่างเห็นได้ชัด ต่อชีวิตของผู้คนในเมืองสมัยใหม่ ที่ต้องดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าว และยังมีมลภาวะอีกเป็นจำนวนมาก หากจะหวังพึ่งพาการถ่ายเทอากาศตามธรรมชาติคงจะไม่พอ และด้วยสภาพความเป็นอยู่ในสังคมเมืองที่มีตึกสูงรายล้อม การจะเปิดประตูหน้าต่างให้ลมธรรมชาติพัดผ่านเหมือนตามบ้านเรือนในชนบท ย่อมเป็นไปได้ยาก ด้วยปัจจัยที่ว่ามานี้ ทำให้เครื่องปรับอากาศจัดเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีความจำเป็นต่อวิถีชีวิตในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก










ราคาของเครื่องปรับอากาศในปัจจุบัน

หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เครื่องปรับอากาศได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก ส่วนหนึ่งก็มาจากราคาของเครื่องปรับอากาศที่ปรับลดลงจนสามารถหาซื้อได้ง่ายขึ้น ซึ่งหากมองย้อนกลับไปในอดีต เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้วหลายๆคนก็คงทราบกันดี ว่าเครื่องปรับอากาศในสมัยนั้นเป็นสินค้าที่ฟุ่มเฟือย และมีราคาจำหน่ายที่สูงถึงสูงมาก จนผู้คนทั่วไปยากที่จะเข้าถึง 

ซึ่งผู้เขียนขอยกตัวอย่าง เครื่องปรับอากาศที่วางจำหน่าย ในปี พ.ศ. 2528 ซึ่งตัวอย่างที่หยิบยกขึ้นมานั้น เป็นเครื่องปรับอากาศขนาด 12,000 BTU ยี่ห้อ Daikin (ไดกิ้น) ซึ่งในตอนนั้นมีราคาอยู่ที่ประมาณเครื่องละ 38,000 บาท ซึ่งราคาในระดับนี้ ถ้าเทียบกับเงินเดือนรายได้ของผู้คนส่วนใหญ่ในยุคนั้น ถือว่าเป็นราคาที่จัดว่าเกินกำลังทรัพย์ของผู้คนทั่วๆไป

และเมื่อนำเอาราคาขายของเครื่องปรับอากาศในยุคนั้น มาเทียบกับราคาขายของเครื่องปรับอากาศในปัจจุบัน ก็จะเห็นได้ชัดว่าราคาที่วางขายในปัจจุบันเป็นราคาที่ถูกลงมากพอสมควร เรียกได้ว่าในยุคปัจจุบันนี้มีเงินไม่ถึงหมื่นบาทก็สามารถซื้อเครื่องปรับอากาศเครื่องใหม่มาใช้งานได้ไม่ยาก และเมื่อมองไปในอนาคต ผู้เขียนก็คาดว่าราคาเครื่องปรับอากาศ ก็จะยิ่งลดลง เพราะอันเนื่องมาจากความต้องการใช้เครื่องปรับอากาศที่มีมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันกันภายในวงการเครื่องปรับอากาศเทคโนโลยีใหม่ๆที่ถูกจับเอามาใส่ รวมทั้งการแข่งขันกันตัดราคาของผู้ผลิตทำให้ราคาเครื่องปรับอากาศถูกลงเรื่อยๆ ซึ่งก็ถือเป็นผลดีที่ตกมายังผู้บริโภค

และอีกเหตุผลที่ทำให้ราคาขายแอร์ถูกลงจากเดิม ก็มาจากการงดเก็บภาษีสรรพสามิต โดยเดิมทีได้มีการเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องปรับอากาศ 15% จนเมื่อช่วงประมาณปี พ.ศ. 2552 ทางคณะรัฐมนตรีได้ประการงดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องปรับอากาศขนาดเล็กที่ใช้กันภายในครัวเรือนนี่จึงทำให้ราคาเครื่องปรับอากาศถูกลงมาอีกในระดับหนึ่ง 





การเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศ ให้คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป

เนื่องจากเครื่องปรับอากาศขนาดเล็กที่ใช้กันตามบ้านเรือน ก็ไม่ได้มีมูลค่าราคาที่ถูกๆ แถมยังเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานไฟฟ้าค่อนข้างมาก และเมื่อได้ซื้อเครื่องปรับอากาศมาติดตั้งแล้ว ก็ใช่ว่าจะจ่ายครั้งเดียวจบ แต่ยังมีค่าใช้จ่ายที่ตามมาตลอดอายุการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนในการลงทุนซื้อ ค่าพลังงานไฟฟ้าที่ต้องจ่ายในขณะใช้งาน รวมถึงค่าใช้จ่ายรายปีสำหรับการล้างทำความสะอาดในระยะเวลาที่เหมาะสมคือล้างทุกๆ 6 เดือนหรือปีละ 1 ครั้ง ค่าใช้จ่ายที่ว่ามาข้างต้นนี้ยังไม่รวมไปถึงกรณีที่ใช้เครื่องปรับอากาศด้อยคุณภาพ มีปัญหากวนใจตามมาเสมอ ส่งผลให้ต้องจ่ายเงินค่าบริการซ่อมแซมไม่รู้จบ ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อเครื่องปรับอากาศ ควรพิจารณาในหลายๆเรื่องเพี่อที่จะได้ความเย็นสบายตามความต้องการ บนความคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปนั่นเอง




รูปแบบเครื่องปรับอากาศ

ก่อนที่จะซื้อเครื่องปรับอากาศเครื่องใหม่สักเครื่อง อันดับแรกต้องดูรูปแบบ และขนาดของห้องที่ต้องการใช้เครื่องปรับอากาศ เพื่อนำมาพิจารณาเลือกเครื่องปรับอากาศรูปแบบที่เหมาะสมกับการใช้งาน และตรงตามความต้องการของคุณ เพราะเครื่องปรับอากาศในท้องตลาด ที่วางขายกันในปัจจุบัน ทางผู้ผลิตได้มีการออกแบบรูปทรงดีไซด์ ที่หลากหลาย ตามความต้องการและพื้นที่ในการติกตั้งแต่ละแบบ หากลองมองย้อนกลับไปในสมัยก่อนจะเห็นรูปแบบเครื่องปรับอากาศที่มีหน้าตาเหมือนๆกันไม่แตกต่างกันมาก รูปแบบในอดีตส่วนใหญ่ก็จะมีมีรูปทรงเป็นตู้เหล็กเหลี่ยมๆสีเรียบๆ ต่างกับรูปแบบและดีไซด์ของเครื่องปรับอากาศในปัจจุบัน ที่ได้มีการพัฒนาให้สวยงามลงตัวกับการตกแต่งภายในอาคาร แตกต่างจากในอดีตโดยสิ้นเชิง








เครื่องปรับอากาศแบบต่างๆที่ใช้กันภายในครัวเรือน

 



1. เครื่องปรับอากาศแบบเคลื่อนที่ (Portable Type) 

เครื่องปรับอากาศแบบเคลื่อนที่ หรือแอร์เคลื่อนที่ เป็นเครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก มีขนาดทำความเย็นให้เลือกอยู่ ประมาณ 6,000 - 15,000 BTU โดยตัวเครื่องจะรวมเอาอุปกรณ์ทุกชิ้นส่วนให้อยู่ในชุดเดียวกัน

ข้อดี
- ใช้งานได้ทันที หลังจากที่ซื้อมา เพียงเสียบปลั๊กก็เปิดใช้ได้เลย ไม่ต้องติดตั้ง
- เหมาะสมที่จะใช้งานในพื้นที่ที่ไม่อณุญาติให้ทำการดัดแปลงตัวอาคารหรือเจาะรูเพื่อติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เช่น การใช้งานในหอพัก
- ใช้เป็นแอร์สำรองในกรณีแอร์หลักเสีย
- ใช้สำหรับงานภาคสนาม เช่น เตนท์พักค้างแรม,งานพิธีหรือ ส่วนแสดงสินค้า

ข้อเสีย
- มีขนาดทำความเย็นน้อย
- ต้องหาที่ระบายความร้อนโดยการต่อท่อนำความร้อนออกไปทิ้ง
- ต้องคอยถอดกล่องระบายน้ำทิ้งไปทิ้งด้วยตนเอง
- การกระจายความเย็นที่ทำได้เฉพาะจุด
- เสียงค่อนข้างดัง เพราะมีการรวมเอาคอมเพรสเซอร์ไว้ในชุดเดียวกัน


___________________________________________________




2.เครื่องปรับอากาศแบบติดหน้าต่าง (Window Type)

เป็นเครื่องปรับอากาศที่ได้รับความนิยมในอดีต รูปแบบและข้อดีข้อเสียจะคล้ายคลึงกับเครื่องปรับอากาศแบบเคลื่อนที่ เพราะมีการรวมเอาอุปกรณ์ทุอย่างไว้ในชุดเดียวกัน แต่ต่างกันที่เครื่องปรับอากาศแบบติดหน้าต่างจะติดตั้งยึดไว้กับวงกบหน้าต่างแล้วหันด้านท้ายซึ่งเป็นด้านลมร้อนและด้านระบายน้ำทิ้งออกนอกอาคาร 

มีขนาดทำความเย็นที่ 6,000 - 24,000 BTU ปัจจุบันได้ลดความนิยมใช้ลงไปมากเพราะข้อด้อยในหลายๆด้าน ซึ่งหลักๆที่ไม่นิยมก็เพราะว่ามันมีเสียงดังขณะทำงาน


___________________________________________________



3. เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน (Split Type)

เป็นเครื่องปรับอากาศระบบที่นิยมใช้กันมากที่สุดในปัจจุบันเพราะมีการแยกเป็น ส่วนหลักๆ คือ 

ส่วนคอยล์ร้อน เป็นส่วนที่ถูกติดตั้งไว้ด้านนอกอาคาร เพราะมีต้นเหตุของเสียงดังอย่างคอมเพรสเซอร์รวมอยู่ในส่วนนี้ การนำไปวางไว้ภายนอกอาคารจึงเป็นทางออกที่ดีในการหลีกเลี่ยงเสียงรบกวน ซึ่งในคอยล์ร้อนจะประกอบด้วยส่วนหลักๆ ได้แก่ คอมเพรสเซอร์, แผงควบแน่น และ พัดลมระบายความร้อนแผงควบแน่น

ส่วนคอยล์เย็น เป็นส่วนที่อยู่ภายในอาคารจะ ประกอบไปด้วย อีวาปอเรเตอร์(แผงเย็น) และพัดลมโบลเวอร์ของอีวาปอเรเตอร์ 

ทั้งสองส่วนนี้จะเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน โดยมีท่อนำสารทำความเย็น (ท่อน้ำยา) ซึ่งนิยมใช้เป็นท่อทองแดง เชื่อมต่อระบบให้ถึงกันและมีการเดินท่อน้ำทิ้งจากคอยล์เย็นออกไปทิ้งนอกอาคาร และสำหรับเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน ยังมีการผลิตออกมาหลายรูปแบบเพื่อเอื้อประโยชน์สำหรับพื้นที่ใช้สอยภายในห้องเช่น








3.1 เครื่องปรับอากาศแยกส่วน แบบติดผนัง (Wall Type)

ข้อดี
- ทำงานเงียบ
- ใช้พื้นที่ในการติดตั้งน้อย
- น้ำหนักเบา
- มีขนาดให้เลือกตั้งแต่ 6,000 - 38,000 BTU
- รูปทรงสวยงามและมีให้เลือกหลากหลาย
- มีฟังชั่นการทำงานและลูกเล่นเยอะ

ข้อเสีย
- การติดตั้งทำได้เฉพาะบนผนังเท่านั้น
- การส่งลมไม่ไกลและกระจายแรงลมน้อย เนื่องจากใบพัดมีขนาดเล็ก


___________________________________________________




3.2 เครื่องปรับอากาศแยกส่วน แบบตั้ง-แขวน (Floor/Ceiling Type)

ข้อดี
- เย็นเร็ว เพราะ การกระจายลมเย็นทำได้ไกลและทั่วถึง
- เลือกที่จะติดตั้งโดยแขวนแพดานหรือตั้งพื้นได้ตามสะดวก
- เหมาะกับห้องขนาดใหญ่เพราะมีขนาดให้เลือกตั้งแต่ 12,000 ถึง 60,000 BTU
- ถาดรองรับน้ำทิ้งขนาดใหญ่ ระบายน้ำได้ดี

ข้อเสีย
- มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก
- มีฟังชั่นการทำงานน้อย ลูกเล่นไม่มาก
- ใช้อุปกรณ์จับยึดที่ต้องรับน้ำหนักได้มากๆและใช้พื้นที่ติดตั้งมาก
- มีเสียงลมดังกว่า



___________________________________________________




3.3 เครื่องปรับอากาศแยกส่วนแบบติดเพดาน (Cassette Type)


ข้อดี
- รูปทรงสวยงาม ทันสมัยเนื่องจากมีส่วนโผล่ออกมาใต้ฝ้าเพดานเพียงแค่ฝาครอบบางๆ
- เหมาะกับการตกแต่งภายในที่ไม่ต้องการให้เห็นตัวเครื่องปรับอากาศ
- กระจายลมได้4ทิศทาง


ข้อเสีย
- มีราคาสูง
- การติดตั้งทำได้ยาก
- ต้องติดตั้งโดยช่วงผู้ชำนาญ
- ระบบระบายน้ำทิ้งใช้ปั๊มระบายออก เสี่ยงต่อกรณีปั๊มไม่ทำงานน้ำล้นออกมา ฝ้าเพดานงามๆได้รับความเสียหาย
***แต่รุ่นใหม่ๆในปัจจุบัน หลายยี่ห้อมีฟังก์ชั่นไฮเทคขึ้นเพื่อช่วยป้องกันความเสียหายจากปั๊มน้ำทิ้งไม่ทำงาน กล่าวคือเมื่อปั๊มน้ำทิ้งทำงานผิดพลาดหรือไม่ทำงาน เบื้องต้นระบบจะสั่งการให้เครื่องปรับอากาศหยุดการทำงานก่อนที่ระดับน้ำจะเพิ่มสูงจนล้นเป็นการป้องกันความเสียหาย***
- การบำรุงรักษาเช่นการล้างการซ่อม ทำได้ยาก
- หากท่อแอร์มีปัญหา กรณีที่เปิดฝ้าหรือขึ้นไปบนฝ้าไม่ได้ต้องกรีดฝ้าเพดาน งานบานปลาย
- ค่าบริการสำหรับการติดตั้ง, การล้าง และการซ่อมบำรุง ย่อมแพงกว่าแอร์แบบธรรมดาทั่วไป



___________________________________________________


3.4 เครื่องปรับอากาศแยกส่วน แบบคอยล์เปลือย (Concealed Type)

ข้อดี
- ซ่อนในฝ้าเพดานเพื่อความเรียบร้อย สวยงาม ดูทันสมัย หรูหรา
- ออกแบบติดตั้งให้เข้ากับการตกแต่งภายในได้ทุกรูปแบบ

ข้อเสีย
- มีราคาสูง
- การติดตั้งทำได้ยาก
- ต้องติดตั้งโดยช่วงผู้ชำนาญ
- ต้องมีการวางแผนงานติดตั้งแอร์และงานตกแต่งภายในให้รอบคอบชัดเจนในระหว่างติดตั้ง
- การบำรุงรักษาเช่นการล้างการซ่อม ทำได้ยาก
- หากท่อแอร์มีปัญหา กรณีที่เปิดฝ้าหรือขึ้นไปบนฝ้าไม่ได้ต้องกรีดฝ้าเพดาน งานบานปลาย
- ค่าบริการแพงกว่าแอร์แบบทั่วไป



___________________________________________________



4. เครื่องปรับอากาศแบบชีลเลอร์ (CHILLED TYPE)

เป็นเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ ใช้ในระบบทำความเย็นระดับอุตสาหกรรม รวมถึงระบบปรับอากาศขนาดใหญ่เพื่อการพานิช เช่น ห้างสรรพสินค้า, โรงภาพยนตร์ หรือ โรงแรม 

ระบบชิลเลอร์นั้นเป็นแอร์ขนาดใหญ่ ใช้การระบายความร้อนด้วยน้ำและอากาศ ต่างจากแอร์แบบที่เราใช้กันในครัวเรือนซึ่งจะใช้เพียงอากาศเป็นตัวระบายความร้อน ระบบชิลเลอร์นั้นมีการทำความเย็นจากตัวเครื่องส่วนกลาง แล้วจึงใช้การปั๊มน้ำเย็นที่มีอุณหภูมิประมาณ 5-10 องศาเซลเซียส ส่งไปทางท่อน้ำเย็นเข้าสู่จุดกระจายความเย็นในบริเวณต่างๆของอาคาร ซึ่งเครื่องปรับอากาศแบบชีลเลอร์เป็นเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ที่ต้องใช้วิศวกรด้านเครื่องกลเป็นผู้ออกแบบระบบ



___________________________________________________


การคำนวณหาขนาดทำความเย็น ให้เหมาะสมกับขนาดห้องที่จะติดตั้ง 

ขนาดทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศ มีหน่วยเป็น BTU = BTU/hr.(บีทียู/ชั่วโมง)

ขนาด 1 ตันความเย็น =12,000 BTU 

ซึ่งค่า BTU เป็นค่าที่บอกถึงความสามารถที่เครื่องปรับอากาศ จะสามารถนำพาความร้อนออกจากห้องได้ในเวลา 1 ชัวโมง

การคำนวณหาขนาดเครื่องปรับอากาศที่สามารถทำได้ด้วยตนเองมีหลักการอยู่หลายวิธี เช่น การนำพื้นที่ห้อง(ตร.ม.) x ขนาดทำความเย็นตั้งแต่ 700 - 1000

หรือหากจะใช้เป็นวิธีที่ค่อนข้างละเอียดก็สามารถคำนวนได้ตามตารางแบบฟอร์มข้างล่าง



___________________________________________________



หากเราทราบโหลดปริมาณความร้อนในห้องจำพวกน้ำหนักของสสาร อุณหภูมิแตกต่าง ความร้อนจำเพาะ รวมทั้งหมดโดยการคำนวนออกมาเป็น BTU/hr. และมีการเผื่อขนาดไว้อีก 10% เราสามารถนำค่าที่คำนวณออกมาไปใช้เป็นขนาดเครื่องปรับอากาศได้ทันทีแต่ในการคำนวณด้วยวิธีนี้ถือว่าเป็นเรื่องของวิธีการเฉพาะทางของช่างหรือผู้ออกแบบซึ่งเป็นสิ่งที่ยุ่งยากสำหรับผู้ใช้ทั่วไป จึงมีการกำหนดวิธีง่ายๆออกมาเพื่อให้ผู้ใช้สามารถคำนวณเองได้ง่ายๆ โดยการนำขนาดของห้องหน่วยเป็นตารางเมตรมาคูณกับค่าตัวแปร ผลที่ได้ก็จะทำให้ได้ทราบถึงขนาดของเครื่องปรับอากาศโดยประมาณที่มีความเหมาะสมในการใช้งาน โดยสามารถนำขนาดพื้นที่ห้อง มาคูณกับตัวคูณแบบต่างๆเพื่อหาขนาดของเครื่องปรับอากาศโดยวิธีง่ายๆ






ตัวคูณ(ขนาดทำความเย็นใน 1 ตร.ม.)สำหรับนำมาหาขนาดเครื่องปรับอากาศ แบบง่ายๆ

700 x พท.(ตร.ม.) สำหรับห้องนอน
750 x พท.(ตร.ม.) สำหรับส่วนพักผ่อน หรือห้องนอน ที่มีแดดส่อง
800 x พท.(ตร.ม.) สำหรับห้องทำงานหรือห้องนั่งเล่นที่มีแดดส่องไม่มาก
850 x พท.(ตร.ม.)สำหรับห้องทำงานที่มีแดดส่องค่อนข้างมากหรือห้องรับแขก
900 x พท.(ตร.ม.) ห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก ที่มีแดดส่องมาก
1,000 x พท.(ตร.ม.)สำหรับบริเวณห้องที่ร้อนมากหรือมีผนังกระจกหลายด้าน

ซึ่งการใช้ตัวแปรคูณหาขนาด อาจจะไม่ตรงแบบที่กล่าวมาข้างต้นเนื่องจากกรณีให้ช่างหรือผู้ออกแบบประเมินขนาดจะประเมินโดยความเห็นสมควรและปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำความเย็น

หรือเปรียบเทียบได้จากตารางพื้นฐานในการเลือกเครื่องปรับอากาศ Click


ปล. ข้อมูลเบื้องต้นเหมาะสมกับห้องในสภาวะปกติ ที่มีจำนวนคนอยู่ไม่มาก และเพดานสูงไม่เกิน 3 เมตร



การเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศดูที่การรับรองอะไรบ้าง

สิ่งแรก ควรดูที่การรับประกันในวัสดุ ชิ้นส่วน และอุปกรณ์พร้อมทั้งพิจารณาในเงื้อนไขของการรับประกัน
และควรดูในเรื่อง มาตรฐานต่างๆ เช่น มอก. , สมอ., ISO
ในส่วนฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 เป็นการรับรองประสิทธิภาพในการใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในกรณีแอร์ขนาดใหญ่อาจจะไม่ได้รับฉลากเบอร์ 5 เพราะไม่เข้าตามมาตรฐานนั่นเอง



และไม่เพียงแต่สังเกตุเฉพาะฉลากประหยัดไฟเบอร์5อย่างเดียว

ควรดูที่ค่า EER (Energy Efficiency Ratio) ซึ่งเป็นค่าประสิทธิภาพพลังงานซึ่งคำนวณโดยการเอาค่าบีทียูมาหารด้วยจำนวนวัตต์ หากค่า EER น้อยเกินไปแสดงว่ากินไฟมาก

จำนวนของค่า EER ยิ่งสูง ก็ยิ่งแสดงว่าแอร์เครื่องนั้นประหยัดพลังงานมาก



ช่วงเวลาในการซื้อเครื่องปรับอากาศ

หลายคนมีความคิดที่ว่า "ซื้อแอร์หน้าหนาว ราคาถูกกว่า"นั่นเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องเสมอไป ซึ่งราคาก็ไม่ได้แตกต่างกันมากอาจจะถูกกว่ากัน ไม่กี่บาทเพราะเครื่องปรับอากาศเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีล็อตการผลิตที่ไม่เหมือนกันแล้วแต่ผู้จำหน่ายสต็อกสินค้าเอาไว้เครื่องปรับอากาศเรียกว่าเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขายได้ตลอดปีเพราะปัจจุบันฤดูกาลในประเทศไทยเปลี่ยนไปมาก ฤดูร้อนก็ร้อนจัด ฤดูฝนก็ไม่ค่อยมีฝน ฤดูหนาวก็ไม่หนาวมากแบบอดีตแต่จะขายได้มากน้อยในช่วงใด อยู่ที่กำลังซื้อของผู้บริโภคมากกว่า





แต่ถ้าใครคิดจะติดแอร์ใหม่สักเครื่องส่วนตัวแนะนำว่าซื้อช่วงฤดูร้อนจะดีที่สุดเพราะผู้จำหน่ายต่างงัดกลยุทธในการเรียกลูกค้าด้วยโปรโมชั่นต่างๆ อาจจะแถมบริการล้างฟรีแถมฟรีค่าติดตั้ง แถมพัดลม แถมหมอน หรือแถมอะไรก็ตามแต่ที่เขาจัดรายการการต่อรองราคาก็ทำได้ง่ายกว่าซื้อนอกเหนือจากฤดูร้อน

ส่วนจะซื้อยี่ห้อไหนหรือรุ่นไหนก็ให้ศึกษาก่อนที่จะซื้ออาจจะศึกษาจากเสียงของผู้ใช้ คำแนะนำของช่างหรือข้อมูลผลิตภัณฑ์แต่ละตัว เอาราคา ความชอบ และ ข้อมูล มาชั่งน้ำหนักหักล้างกันเพื่อจะได้เครื่องปรับอากาศที่คุ้มค่าต่อเงินที่จ่ายไปทำความเย็นได้ตามต้องการและถูกใจในการใช้งานเพราะอย่าลืมว่าการลงทุนซื้อเครื่องปรับอากาศแต่ละครั้งมันจะต้องอยู่กับเราไปอีกนาน โดยไม่งอแงหรือมีปัญหากวนใจบ่อยๆ

เมื่อเลือกยี่ห้อและรุ่นที่ต้องการได้แล้วควรทำการเช็คราคาจากร้านใกล้ๆบ้านเพื่อได้ทราบราคาที่เป็นที่น่าพอใจที่สุดเลือกร้านที่มีหน้าร้านและดูน่าเชื่อถือหรือซื้อจากร้านแอร์ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายและศูนย์บริการของแอร์แบรนด์ที่ต้องการเพื่อที่คุณจะได้รับคำแนะนำที่ดีและได้รับการบริการหลังการขายมาตรฐานศูนย์บริการไม่แนะนำให้ซื้อแอร์ในห้างดังๆทั้งหลายเพราะคุณอาจจะไม่ได้แอร์ในรุ่นที่คุณต้องการ พนักงานขายจะหลอกหลอนคุณคอยเน้นย้ำและเชียร์รุ่นที่คุณไม่ได้สนใจและไม่ได้เก็บข้อมูลทำให้คุณไขว้เขวและในที่สุดก็ตกในภวังค์ของพนักงานขาย ได้รุ่นที่ไม่ต้องการกลับมาแล้วมานั่งเสียใจอยู่ภายหลัง รวมทั้งราคาในห้างที่ไม่สามารถคุยต่อรองกันได้ต่อให้ป้ายในห้างเขียนว่าถูกแค่ไหน เมื่อลองออกมาเที่ยบกับร้านแอร์ใหญ่ๆข้างนอกจะพบว่า คำว่า...ถูก หรือ ลดกระหน่ำ ที่ห้างติดป้ายไว้ ยังคงแพงกว่าร้านแอร์ข้างนอกมาก





แอร์ไทย, แอญี่ปุ่น, แอร์ฝรั่ง(อเมริกา)

ก่อนจบบทความ ข้อทิ้งท้าย ในส่วนของเรื่องยี่ห้อ ตราสินค้าของเครื่องปรับอากาศ ที่มีทั้ง แอร์ยี่ห้อไทย-แอร์ยี่ห้อญี่ปุ่น-แอร์ยี่ห้ออเมริกาซึ่งในช่วงแรกเริ่มที่มีการใช้เครื่องปรับอากาศหรือแอร์ในประเทศไทยแอร์ที่ใช้กันช่วงเริ่มแรกในประเทศไทย เป็นสินค้าที่มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศซึ่งเห็นได้ชัดคือมาจากทางฝั่งอเมริกา ภายหลังจึงมีแอร์จากญี่ปุ่นเข้ามาตีตลาดในประเทศไทย จนสามารถแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดจากแอร์ฝั่งอเมริกาได้

หลังจากนั้น (ช่วง 20-25 ปีที่แล้ว) ประเทศไทยเรา เริ่มซื้อลิขสิทธิ์จากบริษัทแม่ ซึ่งมีต้นสังกัดที่อยู่ต่างประเทศ และอีกส่วนหนึ่งอยู่ในรูปของการที่ผู้ผลิตแบรนด์ดังจากต่างประเทศ ได้เข้ามาจัดตั้งฐานการผลิตเพื่อทำการผลิตเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนอื่นๆขึ้นเองภายในประเทศ และได้ขยายฐานการผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อยมา

จนถึงปัจจุบันนี้ประมาณกว่า 90% ของยี่ห้อแอร์ทั้งหมดที่มีการจำหน่ายในประเทศไทยล้วนผลิตในประเทศ หรือเรียกให้ทันสมัยก็ แอร์ MADEIN THAILAND ไทยทำไทยใช้ และด้วยศักยภาพในการผลิตที่มีมากก็ยังมีการผลิตเพื่อส่งออกอีกด้วย 




ปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศในไทยเราขยายกำลังการผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดการแข่งขันสูง ทำให้ราคาของแอร์ในบ้านเราเมื่อเทียบในปัจจุบันกับเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน แอร์ในปัจจุบันขนาดที่เท่ากัน ราคาถูกลงมากและแต่ละแบรนด์ก็มีเทคโนโลยีใหม่ๆแต่งเติมเสริมเข้าไปเพื่อทำการตลาด จะเห็นได้ว่าแอร์แต่ละยี่ห้อในปัจจุบันนี้ เร่งโหมโฆษณา ทำการตลาดแบบไม่มีใครยอมใคร

ดังนั้น การตัดสินใจซื้อเครื่องปรับอากาศแต่ละเครื่องควรใช้เหตุผลประกอบอื่นๆมาช่วยเสริมอย่ายึดติดในภาพลักษณ์ที่เห็นจากการโฆษณามากจนเกินไปคำโฆษณาชวนเชื่อไม่สามารถตัดสินทุกสิ่งทุกอย่างได้ทุกยี่ห้อย่อมโฆษณาเพื่อให้ภาพลักษณ์ของตนออกมาดีกันทั้งนั้นดังนั้นควรหาเหตุผลอื่นๆมาประกอบการตัดสินใจด้วยเสมอเพื่อที่คุณจะได้สินค้าที่เป็นที่น่าพอใจมากที่สุด




Create Date : 24 มิถุนายน 2552
Last Update : 31 มีนาคม 2558 0:39:29 น.
Counter : 76652 Pageviews.

14 comments
สรุปวิชาวิทยาการจัดการเรียนรู้ เรื่องทฤษฎีการเรียนรู้ นายแว่นขยันเที่ยว
(30 ต.ค. 2567 00:19:35 น.)
สวนสุขภาพแต้จิ๋ว : นกปรอดหัวโขน ผู้ชายในสายลมหนาว
(28 ต.ค. 2567 16:33:39 น.)
ความจริง 8 ประการ 八个真相 toor36
(25 ต.ค. 2567 21:57:49 น.)
Cobian Reflector โปรแกรมสำรองข้อมูลที่ต้องมี ลิงกินผัก
(17 ต.ค. 2567 15:35:56 น.)
  
ขอบคุณสำหรับความรู้ค่ะ
โดย: สวนเงินสวนทอง วันที่: 25 มิถุนายน 2552 เวลา:17:13:21 น.
  

น่าจะมีตัวอย่างเปรียบเทียบการใช้ไฟของแต่ละยี่ห้อพอเป็นไกด์ไลน์ในการตัดสินใจซักหน่อยก็ดีนะคะ เพราะราคาสูงจริงๆค่ะ แต่แค่นี้ก็ขอบคุณมากค่ะ
โดย: บ้านแฝด IP: 124.122.30.119 วันที่: 23 มิถุนายน 2553 เวลา:8:05:42 น.
  
มีประโยชน์มากครับ.......
โดย: หนุ่มเสมาฯ IP: 124.120.213.231 วันที่: 31 ตุลาคม 2553 เวลา:11:27:59 น.
  
ขอบคุณสำหรับคำแนะนำ
โดย: เล็กอ่างทอง IP: 125.26.35.7 วันที่: 16 มีนาคม 2554 เวลา:21:02:40 น.
  
ผมเพิ่งซื้อแอร์ใหม่แบบติดผนังยี่ห้อ ซัยโจ เดนกิ ขนาด 25000 BTU ราคาประมาณ 30,000บาท หลังติดตั้งในห้องนอนได้ 3เดือนก็ให้ช่างมาล้างแอร์ หลังจากนั้น เมื่อเปิดแอร์ในช่วงกลางคืน แอร์ไม่ยอมตัด ผมตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 25 องศา ปกติแอร์จะตัดทุก 15 นาที ขอความกรุณาคุณ KanichiKoong ช่วยบอกสาเหตุหน่อยนะครับว่าเกิดจากอะไร ขอขอบคุณมาล่วงหน้า
โดย: ปิยะ สมรศาสตร์ IP: 125.24.128.36 วันที่: 11 มิถุนายน 2555 เวลา:0:00:03 น.
  
ขอบคุณมากค่ะที่ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาก เป็นคำแนะนำที่ดี ตอบปัญหาในใจใด้เยอะค่ะ ขอบคุณจริงจากใจค่ะ
โดย: นงลักษณ์ IP: 223.205.126.29 วันที่: 22 กันยายน 2555 เวลา:14:38:21 น.
  
#2 เป็นหน้าที่ของผู้ซื้อที่ต้องเทียบค่า EER อย่างที่เขาบอกครับ น้อยกว่าเพื่อนก็กินไฟ มากกว่าเพื่อนก็ประหยัดไฟ

#5 ไม่ทราบว่าก่อนให้ช่างมาล้าง แอร์ตัดปกติรึเปล่าครับ หากไม่ตัดตั้งแต่ซื้อ เป็นไปได้ว่าห้องใหญ่เกิน BTU ของแอร์ แต่ถ้าตัดก่อนหน้า แสดงว่าผิดพลาดที่ช่างล้างแอร์ละครับ
โดย: ผ่านมาอ่าน ผ่่านมาตอบ IP: 124.122.3.120 วันที่: 2 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา:1:00:25 น.
  
ขอบคุรมากๆครับ
โดย: ประเสริฐ จารุวัฒนธรรม IP: 171.7.214.182 วันที่: 27 มิถุนายน 2557 เวลา:19:48:06 น.
  
ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ
โดย: Silicone Spatula วันที่: 22 มีนาคม 2558 เวลา:20:44:13 น.
  
ซื้อแอร์ ฮิตาชิมาค่ะ เค้ากำลังมาติดตัง แต่เครียดเลยเพราะมีคนมาดูกันเค้าบอกว่า. แอร์ฮิตาชิ ใครเค้าใช้กัน ไม่เคยได้ยิน. ไม่เคยรู้จัก. รู้จักแค่ มิซซู. ซัมซุง แอลจี. หนูเลยเครียดเลยไม่รู้ว่าคิดผิดรึป่าว
โดย: แก้ม IP: 49.230.169.114 วันที่: 29 เมษายน 2558 เวลา:7:32:43 น.
  
คนที่เค้าพูดเนี่ย ไม่เคยใช้ครับ มะต้องเครียด กลับดีซะอีกคุณภาพเกรด A พอๆกับ มิตซูจร้า
โดย: แบน IP: 125.24.19.241 วันที่: 11 พฤษภาคม 2558 เวลา:9:37:57 น.
  
ขอบคุณครับกำลังตัดสินในซื้อพอดี
โดย: bosszi IP: 1.20.55.133 วันที่: 16 มิถุนายน 2558 เวลา:18:26:21 น.
  
กำลังมองดูแอร์ของพานาโซนิคดีเปล่าครับ
โดย: ae IP: 118.173.165.222 วันที่: 20 มีนาคม 2559 เวลา:21:45:35 น.
  
อยากทราบความหมายของของคำว่า id,ip,icครับ
โดย: จักราวุฒิ IP: 171.96.191.201 วันที่: 30 มกราคม 2560 เวลา:12:31:24 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Kanichikoong.BlogGang.com

KanichiKoong
Location :
สงขลา  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 275 คน [?]

บทความทั้งหมด