แอร์ 1 เฟส กับ แอร์ 3 เฟส ต่างกันอย่างไร ?

ผู้เขียนเชื่อว่ามีหลายคนที่สงสัยว่า...แอร์ 1 เฟส กับ แอร์ 3 เฟสต่างกันอย่างไร แล้ว 1 เฟส กับ 3 เฟส ในแอร์ที่จริงแล้วมันคืออะไร ???

วันนี้ผู้เขียนก็เลยขอหยิบยกเรื่อง แอร์ 1 เฟส กับ แอร์ 3 เฟสมาเขียนเป็นบทความเพื่อเป็นการไขข้อข้องใจให้สำหรับคนที่สงสัยหรือยังไม่ทราบว่ามันคืออะไร และต่างกันอย่างไร

เพราะบ่อยครั้งที่ผมเจอใครต่อใครหลายๆคนเข้ามาถามในทำนองที่ว่า...แอร์ 1 เฟส และ 3 เฟสมันมีข้อแตกต่างกันตรงไหนและจะซื้อแบบไหนไปใช้ได้บ้าง

อีกทั้งยังมีหลายๆคนที่รู้แล้วว่า...แอร์ 1 เฟส และ 3 เฟสมันมีข้อแตกต่างกันตรงไหนแต่ยังมีความเข้าใจที่ผิดๆเรื่องการใช้งานอยู่

สำหรับใครที่มีความสงสัยหรือรู้แบบไม่ถูกต้องบทความคงจะได้เป็นประโยชน์แก่ท่านแต่...ถ้าใครที่รู้และเข้าใจอย่างถูกต้องอยู่แล้วผ่านไปเลยก็ได้ครับ




แอร์ 1 เฟส หรือ แอร์ 3 เฟส อันที่จริงแล้ว...มันก็คือแอร์ หรือเครื่องปรับอากาศ (Airconditioner) ที่เราทั้งหลายรู้จัก และมีใช้อยู่นั่นเอง

แต่...คำว่า 1 เฟส หรือ 3 เฟส ที่พ่วงท้ายมาคือคำเรียกระบบไฟฟ้าที่รองรับการใช้งานกับแอร์เครื่องนั้นๆ

ซึ่งก่อนอื่นเราต้องมารู้จักระบบไฟฟ้าที่มีใช้กันในประเทศไทยก่อน...เนื่องจากระบบไฟฟ้าที่มีใช้ในประเทศไทยในส่วนของระบบแรงต่ำที่การไฟฟ้าฯจ่ายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภทตั้งแต่บ้านไปจนถึงโรงงานขนาดใหญ่ มีอยู่ด้วยกัน 2 ระบบ คือ ระบบ 1 เฟส 220 โวลต์ และ ระบบ 3 เฟส 380 โวลต์




ระบบ 1 เฟส 220 โวลต์ หรือ ระบบ Single Phase 220 V เป็นระบบที่อยู่ในลำดับสุดท้ายของระบบจำหน่ายจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและนครหลวงซึ่งการไฟฟ้าฯจะไม่ทำการแปลงแรงดันลงไปกว่านี้อีกแล้วซึ่งระบบนี้เป็นระบบที่มีใช้กันมากที่สุดในบ้านพักอาศัยขนาดเล็กจนถึงกลางและยังรวมไปถึงผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยอื่นๆ เช่น ห้องเช่า/หอพัก หรือ ร้าน/แผงค้าขาย


เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าในระบบ 1 เฟส 220 โวลต์




ระบบ 1 เฟส 220 โวลต์ มีสายไฟ 2 สาย ประกอบไปด้วยสายเฟสหรือสายมีศักย์(L)ที่เมื่อเทียบกับพื้นดินจะมีแรงดันไฟฟ้า 220 โวลต์(โดยเฉลี่ย) และ สายนิวทรัลหรือสายศูนย์(N)ที่เมื่อเทียบกับพื้นดินจะมีแรงดันไฟฟ้า 0 โวลต์

เมื่อเทียบศักย์ไฟฟ้าระหว่างสายทั้งสองจะได้ค่าความต่างศักย์หรือแรงดันไฟฟ้าที่ 220 โวลต์ เป็นไฟฟ้ากระแสสลับ มีความถี่ 50 Hz. ระบบดังกล่าวยังนิยมเรียกว่าระบบ 1 เฟส 2 สาย

ปล. สายเฟสหรือสายที่มีศักย์ไฟฟ้า (L) เป็นสายที่มีแรงดันไฟฟ้าการสัมผัสหรือจับสายเฟสโดยตรง เป็นอันตรายถึงชีวิต การหาสายเฟสทดสอบง่ายๆด้วยไขควงลองไฟหากแตะปลายไขควงแล้วไฟที่ด้ามไขควงสว่าง แสดงว่านั่นคือสายเฟสหรือสายมีไฟส่วนสายนิวทรัล(N) ในสภาวะปกติจะมีแรงดันไฟฟ้าเป็นศูนย์สัมผัสได้ (แต่ก็ไม่ควรไปสัมผัสเล่น) เมื่อแตะปลายไขควงลองไฟบนสายนิวทรัลสภาวะที่ระบบไฟฟ้าปกติ ไฟที่ด้ามไขควงจะไม่สว่างแต่ถ้าแตะปลายไขควงบนสายนิวทรัลแล้วมีไฟสว่าง แสดงว่ามีความผิดปกติในระบบไฟฟ้าอาจจะมีการต่อสลับหรือสายนิวทรัสมีการต่อไม่แน่น-หลวม



ระบบ 3 เฟส 380 โวลต์ หรือ ระบบ Three Phase 380 V เป็นระบบไฟฟ้าอีกประเภทหนึ่งที่อยู่ในระบบจำหน่ายแรงต่ำของการไฟฟ้าฯ เป็นระบบที่เหนือกว่าระบบ 1 เฟส

กลุ่มลูกค้าผู้ขอใช้งานระบบ 3 เฟส 380 โวลต์ได้แก่บ้านพักอาศัยขนาดกลางและใหญ่ อาคารพานิชย์ ร้านค้า สำนักงานและโรงงานขนาดเล็กเป็นต้น


เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าในระบบ 3 เฟส 380 โวลต์


มุมเฟสในไฟระบบสามเฟส จะแตกต่างกัน 120 องศา


ระบบ 3 เฟส 380 โวลต์ ประกอบไปด้วย สายเฟสหรือสายมีศักย์(L) จำนวน 3 เส้น สายแต่ละเส้นมีชื่อเรียกที่ต่างกันไป เช่น R - S - T หรือ L1 – L2 – L3 แต่ละเส้นมีมุมต่างเฟสกัน 120 องศา หรือ 1/3 ลูกคลื่นของไฟฟ้ากระแสสลับ แต่การนำมาใช้งาน จำเป็นต้องมีสายนิวทรัล(N) เดินมาควบคู่กับสายเฟสทั้ง3 ด้วย


ในระบบ 3 เฟส สายเฟสแต่ละสายเมื่อเทียบกับพื้นดินแต่ละเส้นจะมีแรงดันไฟฟ้า 220 โวลต์(โดยเฉลี่ย) แต่เมื่อจับคู่สายเฟสเทียบระหว่างสายเฟสกับสายเฟสจะได้แรงดันไฟฟ้า 380 โวลต์(โดยเฉลี่ย) และเมื่อจับเอาสายเฟส 1 สาย กับสายนิวทรัล 1 สาย เราจะได้ระบบไฟฟ้า 1 เฟส 220 โวลต์ มาใช้งาน กล่าวคือ...ผู้ที่ขอใช้ไฟฟ้าในระบบ3 เฟส 380 โวลต์สามารถแยกย่อยเพื่อใช้งานเป็นระบบ 1 เฟสได้ และยังสามารถจับเอาสายเฟสทั้ง 3 มาใช้เป็นระบบ 3 เฟส สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าจำพวก มอเตอร์ 3 เฟส และ หม้อแปลง 3 เฟส

ระบบไฟฟ้าที่การไฟฟ้าจำหน่ายให้กับผู้ใช้รายย่อยประเภทแรงต่ำก็จ่ายออกมาในระบบ 3 เฟส ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ขอใช้ไฟแบบ 1 เฟสก็ค่อยไปแยกออกมาเฟสใดเฟสหนึ่งเพื่อเข้าระบบของตน หรือผู้ใช้ไฟฟ้ารายไหนขอใช้ไฟแบบ 3 เฟส ก็เชื่อมต่อสายทั้ง 4 เส้นเข้าระบบของตน โดยจะมีสายเฟส 3 เส้น กับสายนิวทรัล 1 เส้น หลายๆคนจึงมักเรียกว่าระบบ 3 เฟส 4 สาย



เมื่อรู้จักกับระบบไฟเบื้องต้นไปแล้วคราวนี้เราก็มาเข้าเนื้อหาของแอร์ 1 เฟส และ 3 เฟส

แอร์ 1 เฟส และ แอร์ 3 เฟสแบ่งตามระบบไฟฟ้าที่จ่ายให้กับมอเตอร์คอมเพรสเซอร์ซึ่งคอมเพรสเซอร์จัดว่าเป็นส่วนที่สำคัญและใช้พลังงานมากสุดของแอร์แต่ละชุด

ในแอร์ขนาดเล็กที่มีขนาดทำความเย็นไม่เกิน 33,000 BTU โดยทั่วไปแล้ว มอเตอร์คอมเพรสเซอร์ ที่ใช้ในระบบ จะเป็นแบบที่ใช้กับระบบไฟฟ้า1 เฟส 220 โวลต์

ในส่วนของชุดมอเตอร์พัดลม Fan coil Unit  (คอยล์เย็น)และพัดลม Condensing Unit  (คอยล์ร้อน)จะใช้มอเตอร์ 1 เฟส 220 โวลต์ เช่นกัน ซึ่งแอร์แบบนี้จัดอยู่ในกลุ่มของแอร์เฟส หรือ แอร์เฟสเดียว สามารถติดตั้งได้ทุกแห่งหนที่มีระบบไฟฟ้าตั้งแต่ 1 เฟสและ 3 เฟส เข้าถึง แต่...หากเลือกแอร์ 1เฟสขนาดใหญ่มาใช้งานควรตรวจสอบขนาดของเครื่องวัดไฟฟ้า(มิเตอร์)ที่การไฟฟ้าฯติดตั้งให้ว่ามีขนาดเพียงพอที่จะรองรับหรือไม่หากใช้ไฟฟ้าจำนวนมากเกินกว่าขนาดมีเตอร์จะรับไหวอาจจะทำให้มิเตอร์ได้รับความเสียหายได้

แอร์ที่ใช้ระบบไฟฟ้า 1 เฟส จะมีคอมเพรสเซอร์หลายแบบให้เลือกใช้งานตามขนาดทำความเย็นและลักษณะการติดตั้งรวมไปถึงการใช้งาน



ในส่วนของแอร์ที่ใช้กับระบบไฟฟ้า 3 เฟส หรือ แอร์ 3 เฟสเป็นแอร์แบบแยกส่วนที่มีขนาดตั้งแต่ 33,000 หรือ 36,000 BTU เป็นต้นไป เนื่องด้วยเป็นแอร์แบบแยกส่วนที่มีขนาดทำความเย็นสูงการใช้ระบบไฟ 1 เฟสมาขับเคลื่อนมอเตอร์คอมเพรสเซอร์ที่มีขนาดใหญ่อาจจะทำให้มีกระแสใช้งานสูงเกินไปรวมถึงได้กำลังที่ไม่มากและไม่เพียงพอจึงต้องมีการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ที่มีกำลังสูงกว่า ที่ใช้ระบบไฟ 3 เฟสซึ่งมีเฉพาะส่วนของมอเตอร์คอมเพรสเซอร์เท่านั้น ที่ต้องการไฟฟ้าระบบ 3 เฟสมาขับเคลื่อน แต่...ในส่วนอื่นๆอย่างเช่นอุปกรณ์และวงจรในภาคควบคุมยังคงใช้ไฟ 1เฟสเป็นตัวควบคุมระบบ รวมถึงพัดลม Fan coil Unit (คอยล์เย็น) และพัดลม Condensing Unit (คอยล์ร้อน) ยังคงใช้มอเตอร์ระบบไฟ 1 เฟสอยู่




คอมเพรสเซอร์ที่ใช้ในแอร์ 3 เฟสสำหรับเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนที่มีขนาดไม่เกิน 150,000 BTU จะเป็นคอมเพรสเซอร์แบบปิดสนิทเช่นเดียวกับคอมเพรสเซอร์ที่ใช้กับไฟ 1 เฟส โดยที่คอมเพรสเซอร์ 3 เฟสจะมีขนาดใหญ่กว่า และยังไม่ต้องใช้คาปาซิเตอร์หรือรีเลย์ช่วยในการสตาร์ทออกตัว



ในอดีต แอร์ 3 เฟสจะใช้คอมเพรสเซอร์แบบลูกสูบเป็นตัวดูดอัดสารทำความเย็นแต่ในปัจจุบันกำลังถูกแทนที่ด้วยคอมเพรสเซอร์แบบสโครลซึ่งมีประสิทธิภาพดีกว่า ประหยัดพลังงานกว่า และทำงานได้นุ่มนวลกว่า




ในส่วนคอมเพรสเซอร์แบบโรตารี่ ทางผู้ผลิตจะไม่ค่อยนิยมผลิตแบบ 3 เฟสขนาดใหญ่ออกมาวางขาย คอมเพรสเซอร์ของแอร์แบบทั่วไปที่เป็นคอมเพรสเซอร์โรตารี่ระบบไฟ 3 เฟส จะมีผลิตออกมาเพียงไม่กี่ขนาด ผู้เขียนขอยกตัวอย่างคอมเพรสเซอร์โรตารี่ ระบบไฟ 3 เฟส 380 โวลต์ ของยี่ห้อง SCI (คอมฯมิตซูบิชิ) มีขนาดทำความเย็น 35,000 BTU เพียงขนาดเดียวที่ใช้ระบบไฟ 3 เฟส และถือเป็นขนาดที่สูงสุดในบรรดาคอมเพรสเซอร์โรตารี่ที่ SCI ผลิตและจำหน่าย

แต่ถ้าดูในตลาดคอมเพรสเซอร์โรตารี่ ยังมีคอมเพรสเซอร์โรตารี่ 3 เฟสขนาดเล็กผลิตออกมาแต่มีจุดประสงค์เพื่อใช้กับแอร์ที่มีระบบควบคุมแบบอินเวอร์เตอร์เท่านั้น เพราะคอมเพรสเซอร์ของแอร์อินเวอร์เตอร์ไม่ว่าจะแบบ AC Inverter หรือ DC Inverter ก็จะเป็นคอมเพรสเซอร์ 3 เฟส แต่ที่มันรับไฟ 1 เฟสจากแหล่งจ่ายในบ้านคุณมาใช้ได้ เพราะระบบ Inverter จะมีหน้าที่หลักในการควบคุมรอบการทำงานโดยการแปลงความถี่ทางไฟฟ้า โดยจะรับเอาไฟฟ้า 1 เฟสจากแหล่งจ่ายไฟในบ้าน มาทำการแปลงตามรูปแบบการทำงานที่กำหนด ก่อนจะส่งให้คอมเพรสเซอร์ 



สำหรับใครที่ต้องการติดแอร์ 3 เฟส ก่อนอื่นต้องตรวจสอบก่อนว่าระบบไฟฟ้าภายในอาคารของท่านยื่นขอใช้ไฟจากการไฟฟ้าในรูปแบบ 1 เฟส หรือ 3 เฟส

ถ้าระบบไฟฟ้าในอาคาร/บ้านเรื่องของคุณมีการยื่นขอใช้ระบบไฟฟ้าแบบ 3 เฟส จากการไฟฟ้าฯและห้องที่จะติดตั้งเครื่องปรับอากาศมีขนาดกว้างมีความต้องการใช้เครื่องปรับอากาศขนาดให ญ่(ประมาณ 35,000 BTU ขึ้นไป) การเลือกใช้แอร์ 3 เฟสถือเป็นทางเลือกที่เหมาะสม และยังช่วยเรื่องการบาลานซ์โหลดไฟฟ้าในแต่ละเฟสให้มีความสมดุลใกล้เคียงกันได้ 

บางคนอาจมีความเข้าใจที่ผิดๆอยู่...มีหลายคนที่เข้าใจว่าแอร์ 3 เฟส ประหยัดไฟกว่าแอร์ 1 เฟสมาก เมื่อเทียบกันในขนาดทำความเย็นที่เท่ากัน ซึ่งนั่น เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง 

เพราะความจริงแล้วในขนาดทำความเย็นที่เท่ากัน แอร์ 3 เฟส ก็ไม่ได้กินไฟน้อยกว่าแอร์ 1 เฟส อัตราการใช้ไฟฟ้าอยู่ในระดับใกล้เคียงกันไม่มีใครประหยัดมากกว่ากันอย่างมีนัยสำคัญ จะกินไฟเท่าไหร่มากกว่าหรือน้อยกว่า ให้เทียบตัวเลขกำลังไฟฟ้าที่ใช้ ซึ่งแอร์ 3 เฟส กับแอร์ 1 เฟส ที่มีขนาดทำความเย็นเท่าๆกัน ก็ใช้กำลังไฟฟ้าในปริมาณที่ใกล้เคียงพอๆกัน

ซึ่งส่วนที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ในเรื่องของการใช้สิ้นเปลืองพลังงาน ส่วนใหญ่มักจะมาจากการอ่านข้อมูลบนแผ่นพับหรือโบชัวร์ ซึ่งจะมีตารางแสดงข้อมูลรายละเอียดของตัวเครื่องไว้ และคนส่วนใหญ่ที่อาจจะยังไม่เข้าใจมากพอ ก็มักจะไปเอาค่ากระแสใช้งานในตารางมาเปรียบเทียบ


ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่างตารางแสดงข้อมูลของแอร์แบบตั้งแขวนยี่ห้อหนึ่งมาให้ดูประกอบการอธิบาย


ยกตัวอย่างแอร์ในรุ่น 36,000 BTU แบบที่ใช้กับระบบไฟ 1 เฟส 220 โวลต์ และ 3 เฟส 380 โวลต์


ตามข้อมูลที่แสดง รุ่นที่ใช้กับระบบไฟ 1 เฟส จะมีอัตราการกินกระแสไฟฟ้า ของชุด outdoor อยู่ที่ 15.7 A และในส่วนของรุ่นที่ใช้กับระบบไฟ 3 เฟส อัตราการกินกระแสของชุด outdoor อยู่ที่ 5.25 A ซึ่งในจุดนี้เองมักเป็นต้นเหตุให้หลายๆคนเข้าใจผิดคิดว่าแอร์ 3 เฟส ประหยัดไฟกว่าแอร์ 1 เฟส มาก

แต่ในความเป็นจริงแล้ว...ตามที่ได้อธิบายไปแล้วข้างต้น คือระบบไฟ 3 เฟสประกอบด้วยสายเฟสหรือสายมีศักย์จำนวน 3 เส้นดังนั้นกระแสไฟฟ้าของแอร์ 3 เฟส ที่แสดงในตารางข้อมูล (5.25 A

ค่า 5.2 A ที่แสดงอยู่ในข้อมูลของแอร์ที่ใช้กับระบบ 3 เฟส เป็นค่ากระแสไฟฟ้าเฉลี่ยที่มีอยู่ในสายเฟสแต่ละสาย (กระแสในแต่ละเฟส)

แอร์ตัวนี้เป็นระบบไฟ 3 เฟส ทั้ง 3 เฟส ตั้งแต่ L1 - L2 และ L3 ต่างก็มีกระแสไหลในสาย อยู่ที่ราวๆ 5.2 A เหมือนกันทั้งสามสาย เพราะมอเตอร์ 3 เฟส ที่ขับคอมเพรสเซอร์อยู่นั้น ในขณะที่ทำงานมันจะดึงกระแสไฟมาจากทั้ง 3 เฟส เฉลี่ยเฟสละเท่าๆกันนั่นเอง ซึ่งถ้าเป็นกรณีของระบบเฟสเดียวกระแสที่ใช้งานทั้งหมดจะถูกดึงมาจากสายเฟสเส้นเดียว เทียบแล้วจำนวนกระแสในสายมันจึงดูเหมือนว่าจะเยอะกว่า


ในส่วนของหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่มาตรวัดหน่วยไฟฟ้า ในกรณีที่บ้านหลังนั้นขอใช้ไฟฟ้าระบบ 3 เฟส การคิดค่าไฟฟ้าก็ต้องเอาค่ากระแสเฉลี่ยทั้ง 3 เฟสมารวมกัน


เวลาที่การไฟฟ้าฯ คิดค่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าเป็นหน่วยหรือยูนิตนั้น หน่วยการการใช้ไฟฟ้าในแต่ละหน่วยก็จะมาจากปริมาณการใช้ไฟฟ้า 1 กิโลวัตต์/ชั่วโมง  และสำหรับระบบ 
3 เฟส ก็จะมีสูตรการคิดคำนวณค่ากำลังไฟฟ้า (มีหน่วยเป็นกิโลวัตต์) ดังนี้
kW. = [ แรงดัน (V)   x   
กระแส (A)   x   sqrt{,,}3   cos เพาเวอร์เฟคเตอร์ (PF) ]  ÷ 1,000


สูตรการคิดต่ากำลังไฟฟ้าที่มีหน่วยเป็นกิโลวัตต์ ในระบบ 1 เฟส และ ระบบ 3 เฟส



ดังนั้น...เมื่อรวมๆกันแล้ว อัตราการใช้ไฟฟ้าจริงๆของแอร์ 3 เฟสและแอร์ 1 เฟส ถือว่าใกล้เคียงกัน ในบางครั้ง...แอร์ เฟสอาจจะประหยัดไฟกว่าอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าประหยัดกว่าเล็กน้อยไม่มีใครประหยัดกว่าอย่างมีนัยสำคัญ

การจะเลือกใช้ แอร์ 1 เฟส หรือ แอร์ 3 เฟส ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยความต้องการใช้งาน และลักษณะของระบบไฟฟ้าที่มีรองรับอยู่

เพราะแอร์ระดับที่ใช้กับระบบไฟฟ้า 3 เฟส ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นแอร์ที่มีขนาดทำความเย็น เกินกว่า 30,000 BTU ขึ้นไป ซึ่งหากเจ้าของสถานที่มีแผนจะติดแอร์ขนาดใหญ่สำหรับทำความเย็นในพื้นที่กว้างๆ ลองตรวจสอบระบบไฟฟ้าที่ขอใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ว่าเป็นระบบ 1 เฟส หรือ 3 เฟส 

ซึ่งถ้ามีระบบ 3 เฟส รองรับอยู่แล้ว การติดแอร์เครื่องใหญ่ที่มีขนาดเกินกว่า 36,000 BTU ก็จะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด เพราะจะช่วยให้การบาลานซ์เฟสทำได้ง่าย ไม่หนักไปที่เฟสใดเฟสหนึ่งมากเกินไปนั่นเอง





Create Date : 13 มกราคม 2556
Last Update : 6 พฤศจิกายน 2558 1:00:30 น.
Counter : 168283 Pageviews.

47 comments
นอนไม่หลับ นอนหลับยากเกิดจากอะไร มีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง? สมาชิกหมายเลข 8284441
(28 พ.ย. 2567 04:08:51 น.)
5 เทคนิคกระตุ้นให้ลูกค้าอยากซื้อของออนไลน์ เจแอนด์ที เอ็กซ์เพรส ไทยแลนด์
(27 พ.ย. 2567 08:42:04 น.)
ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ hydrocephalus สมาชิกหมายเลข 4149951
(21 พ.ย. 2567 22:45:37 น.)
สวนแต้จิ๋ว : นกแซวสวรรค์หัวดำ ผู้ชายในสายลมหนาว
(18 พ.ย. 2567 09:02:11 น.)
  
นั่นดิอาจารยืก้อชอบพูดนักหนาว่าประหยัดกว่าโดยเอาเเอมป์มาอ้าง
โดย: ผู้น้อยคาระวะ IP: 1.179.160.13 วันที่: 31 มีนาคม 2556 เวลา:14:24:17 น.
  
แล้วถ้าเอา แอร์ 1 เฟสมาต่อ กับหม้อ 3 เฟส
กับ แอร์ 3 เฟสมาต่อ กับหม้อ 3 เฟส
ค่าไฟจะเหมือนหรือต่างกันอย่างไรครับ
โดย: วีระ IP: 125.26.233.231 วันที่: 13 เมษายน 2556 เวลา:20:36:31 น.
  
แอร์ 3 เฟส ส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นแอร์ที่ค่อนข้างใหญ่ ในท้องตลาดบ้านเรา แอร์ที่ใช้กับระบบไฟฟ้า 3 Phase 380V จะเป็นแอร์ที่มีขนาดทำความเย็นเริ่มต้นที่ ราวๆ 33000-36000 BTU เป็นต้นไป

สำหรับขนาดทำความเย็นไม่เกิน 38000 BTU หลายๆยี่ห้อ มักมีตัวเลือก เป็นตัวที่ขนาดทำความเย็นเท่ากัน แต่เลือกได้ว่าจะเป็นแบบที่ใช้กับระบบไฟฟ้า 1 หรือ 3 Phase
หากจะติดตั้งแอร์ขนาดตั้งแต่ 33000 BTU ขึ้นไป ก่อนอื่นควรพิจารณาระบบไฟฟ้าของสถานที่นั้นๆก่อน ถ้าระบบไฟฟ้าที่นั่น มีระบบ 3 Phase รองรับ ก็ควรเลือกใช้แอร์ 3 Phase เพราะจะช่วยให้สามารถ balance phase ให้ใช้งานเท่าๆกันในแต่ละเฟส ไม่หนักไปในเฟสใดเฟสหนึ่ง

แต่ถ้าใช้ต้องการใช้แอร์ขนาดใหญ่ แต่ไม่มีระบบ 3 Phase มารองรับ ก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากใช้แอร์ 1 Phase
โดย: KanichiKoong วันที่: 18 เมษายน 2556 เวลา:4:05:59 น.
  
ละเอียดมากครับ
เข้าใจเลย
บ้านผม 3 เฟส บ้านเล็กๆแต่ 3 เฟสเลย
คงไม่มีทางติด carrier 3X,XXX btu หรอกครับ
เปลืองไฟ
เข้าใจแล้ว
ขอบคุณครับ สำหรับความรู้
โดย: bntnja //718872 IP: 101.109.49.63 วันที่: 28 เมษายน 2556 เวลา:20:28:47 น.
  
ขอบคุณท่าน KanichiKoong ครับ
พอดีกำลังตัดสินใจว่า จะใช้แอร์ 18000 btu(1 เฟส) 2 ตัว กับ 40000 btu 3 เฟส 1 ตัว เพราะที่ร้านใช้ไฟ 3 เฟส เลยหาข้อมูลมาเจอ ข้อมูลที่ท่านโพสท์ไว้ครับ
คือ ที่สงสัยจริงคือ วิธีคิดหน่วยไฟของการไฟฟ้าครับ ว่าถ้าเกาะ 1 เฟส 7 แอมป์ กับ ใช้ 3 เฟส ๆละ 7 แอมป์ การไฟฟ้าคิดค่าไฟยังไง เพราะที่ได้ยินมา ว่าถ้าใช้หม้อ 3 เฟส แต่ เกาะแค่เฟสเดียว ก็โดนค่าไฟเท่ากับใช้ 3 เฟส ครับ เช่น แอร์ 1 เฟส 7 A เสียค่าไฟเท่ากับแอร์ 3 เฟส 7A ฉะนั้น ถ้าผมใช้แอร์ 3 เฟส 5 A ค่าไฟจะถูกกว่า
จริงหรือเปล่าครับ
ขอบคุณครับ
โดย: วีระ IP: 125.26.234.237 วันที่: 29 เมษายน 2556 เวลา:21:19:55 น.
  
มีรูปเฟทโปรเท็กชั่นของแอร์ให้ดูไหมครับ
โดย: วีระชัย ศรีสวัสดิ์ IP: 110.171.31.2 วันที่: 12 พฤษภาคม 2556 เวลา:0:39:49 น.
  
แล้วอย่างการต่อแบบ สตาร์ และ เดลต้า แบบไหนกินไฟน้อยกว่ากันครับ
โดย: สุริยันต์ IP: 117.121.209.34 วันที่: 14 สิงหาคม 2556 เวลา:8:07:04 น.
  
การต่อแบบสตาร์-เดลต้า เป็นรูปแบบการต่อใช้งานมอเตอร์ 3 เฟส ที่มีวัตถุประสงค์หลักๆ เพื่อใช้ลดแรงดันไฟฟ้าในขณะที่เริ่มสตาร์ทครับ เพราะมอเตอร์ 3 เฟส ขนาดแรงม้าสูงๆที่ขับโหลดเต็มที่ เวลาสตาร์ทแต่ละที จะกระชากไฟมาก
เรื่องกินไฟมากหรือน้อยกว่ากัน ต้องดูลักษณะการใช้งานด้วย ถ้าเอาไปขับโหลดเต็มที่ 100% จะให้มอเตอร์เดินแบบสตาร์ตลอดคงไม่ไหว เพราะการต่อสตาร์มันให้กำลังเพียง 75% ของกำลังที่มอเตอร์มี
อีกอย่าง ในเครื่องปรับอากาศ 3 เฟส ระบบไฟฟ้าภายในเครื่องที่ใช้สตาร์ทและรันคอมเพรสเซอร์ ผู้ผลิตเขาออกแบบมาให้แบบไหน ก็ให้ใช้ตามนั้น ไม่แนะนำให้ไปดัดแปลง
โดย: AC&EE วันที่: 7 กันยายน 2556 เวลา:7:04:03 น.
  
ผมต้องการซื้อเครื่องแปลง
ไฟจาก1เฟสเป็น3เฟสมาใช้กับมอเตอร์

ติดต่อกลับ0811785842
โดย: มาโนช IP: 37.228.104.216 วันที่: 6 ตุลาคม 2556 เวลา:9:30:59 น.
  
อยากทราบว่าถ้าเราติดหม้อไฟฟ้าขนาด30แอม แล้วจะต้องจ่ายยูนิคละเท่าไร เพราะปรกติแล้วชาวบ้านทั่ไปติดหม้อไฟแค่5-15แอม ก็เสียยูนิคละ10บาท แต่ที่นี้จะติด 30แอมเท่ากับโรงงานขนาดเล็ก เราต้องเสีย 1ยูนิคเป็นเงินเท่ไรค่ะ ตอบด้วยนะค่ะ
ขอบคุณมากค่ะ
โดย: ปาร์เก้ IP: 70.51.139.28 วันที่: 8 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา:8:27:29 น.
  
ตอบคุณปาร์เก้ ความคิดเห็นที่ 10

ระบบไฟ 1 เฟส 220 V ใช่หรือเปล่า
มิเตอร์(ไม่ใช่หม้อไฟ)ในระบบ 1 เฟส
ขนาดที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีให้เลือกในปัจจุบัน หลักๆจะมี 3 ขนาด
- 5(15) A
- 15(45) A
- 30(100) A
มิเตอร์ 1 เฟสทั้งสามขนาดที่ว่ามานี้ เป็นมิเตอร์ในระบบจำหน่ายแรงดันต่ำ 1 เฟส 2 สาย ของการไฟฟ้าฯ
สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย ประเภทที่อยู่อาศัย
การคิดค่าไฟฟ้าในประเภทที่อยู่อาศัย ไม่ว่ามิเตอร์ขนาด 5(15) , 15(45) หรือ 30(100) A อัตราการคิดค่าไฟฟ้าจะคิดในอัตราเดียวกัน คืออัตราของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่อยู่อาศัย

แต่การคิดราคาในอัตราที่อยู่อาศัย มีรูปแบบการคิดคำนวณค่าไฟฟ้าที่เรียกว่า "แบบก้าวหน้า" คือราคาของไฟฟ้าต่อหนึ่งหน่วย จะยิ่งแพงขึ้น ถ้ามีจำนวนการใช้ไฟมากขึ้น
โดย: AC&EE วันที่: 11 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา:1:50:20 น.
  
รบกวนสอบถามหน่อยครับ ทำไมเวลาเราวัดไฟ 3 เฟส L กับ N ได้ 220 V แต่วัด เฟสกับเฟสถึงได้แค่ 380 V ครับ แทนที่จะเป็น 440V ครับ
ขอบคุณล่วงหน้าครับ
โดย: pudboke IP: 171.97.190.228 วันที่: 8 เมษายน 2557 เวลา:20:17:10 น.
  
ตอบตุณpudboke ความคิดเห็นที่ 12

380 V ที่เราเรียกกัน เป็นค่าเฉลี่ยของแรงดันไฟฟ้าครับ ซึ่งที่คุณวัดได้จริงๆนั้น มันก็ไม่ได้ตรงเป๊ะๆหรอกครับ อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่า 380 V ขึ้นอยู่กับระบบไฟในพื้นที่และปัจจัยอื่นๆ

ระดับค่าเฉลี่ยแรงดัน ที่เราพบเห็นได้บ่อย จะมีทั้ง
220/380 V และ 230/440 V
โดย: AC&EE วันที่: 9 เมษายน 2557 เวลา:21:04:16 น.
  

เป็นเวปที่เยี่ยมยอดมากเลย
โดย: เสก IP: 49.230.84.25 วันที่: 19 พฤษภาคม 2557 เวลา:22:57:44 น.
  
ผมซื้อแอ36000BTU แอ3เฟส แต่หม้อแปลงระบบ 1 เฟส 220 โวลต์ แต่เป็น15 A แต่ทางช้างแอแปลงให้ผม ใช้ระบบ 1 เฟส 220 โวลต์ คอมเพรสเซอร์ แอร์ (โรตารี่) ตัวนี้จะมีปัญหาคอมพังหรือเปล่าครับ
โดย: เด็กใหม่ IP: 180.183.60.157 วันที่: 6 กรกฎาคม 2557 เวลา:21:52:13 น.
  
chiller กระแส ุ605 kw 213 A คิดค่าไฟอย่างไงครับผมคิดไม่ถูกครับ
โดย: สังข์ทอง IP: 110.77.192.138 วันที่: 23 กรกฎาคม 2557 เวลา:8:49:58 น.
  
ทำงานวันละ12ชัวโมง
โดย: สังข์ทอง IP: 110.77.192.138 วันที่: 23 กรกฎาคม 2557 เวลา:8:51:56 น.
  
ขอบคุณคาฟ ที่ไม่หวงวิชา
โดย: คุณพร IP: 1.47.147.73 วันที่: 12 กันยายน 2557 เวลา:12:24:23 น.
  
แอร์3เฟสกินกะแสไม้เท่ากันทั้ง3เฟสเป็นเพราะเหตุใด
โดย: กมล IP: 183.89.6.170 วันที่: 26 ตุลาคม 2557 เวลา:22:22:50 น.
  
แอร์ 3 เฟส ต่อสายไฟสลับกันได้หรือไม่
และจะส่งผลอย่างไรครับ
โดย: ธงชัย พึ่งเชาว์ IP: 49.230.238.119 วันที่: 18 มกราคม 2558 เวลา:16:12:13 น.
  
ตอบคุณ ธงชัย พึ่งเชาว์

แอร์ 3 เฟส ต่อสายไฟสลับเฟสกัน ไม่ได้ครับ
เพราะมอเตอร์คอมเพรสเซอร์จะล็อก สตาร์ทไม่ได้
หรือในแอร์บางตัว จะมีอุปกรณ์ป้องกันอยู่ หากต่อสายผิด
ภาคคอนโทรลมันจะตัดไฟหรือไม่สั่งให้แมกเนติกทำงานครับ
โดย: KanichiKoong วันที่: 19 มกราคม 2558 เวลา:16:30:59 น.
  
แล้วเราจะรู้ได้ไงว่าเส้นไหมเป็น. L1. L2. L3ละครับหรือว่าดูจากก้นของมิเตอร์
โดย: นั่ง IP: 118.172.210.166 วันที่: 3 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา:7:35:07 น.
  
ตอบคุณ นั่ง ความคิดเห็นที่ 22

การตรวจสอบว่าสายไฟเส้นไหนเป็น L1 L2 L3
หากไม่ได้มีการมาร์คทำสัญลักษณ์ที่ปลายสายไว้ หรือไม่มีสิ่งบ่งบอกลำดับเฟสให้เห็นในจุดนั้น
ในการติดตั้งจริง ก็จะใช้อุปกรณ์ตรวจเช็คลำดับเฟส (Phase Sequence Tester) ลักษณะเป็นมิเตอร์แบบพกพา ที่ใช้สำหรับเช็คลำดับเฟสโดยเฉพาะ
แต่ไม่ว่าจะมีการแสดงเฟสให้เห็นหรือไม่ ก่อนการจ่ายไฟ 3 ฟสให้กับแอร์ ทางที่ดี ก็ควรเช็คลำดับเฟสก่อนทุกครั้ง จะดีที่สุดครับ
โดย: KanichiKoong วันที่: 3 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา:8:45:54 น.
  
รบกวนสอบถามเรื่องการเปลี่ยนมิเตอร์ไฟหน่อยค่ะ คือว่าที่บ้านที่อาศัยอยู่ตอนนีติดแอร์อยู่2ตัวมีเครื่องทำน้ำอุ่น 1เครื่อง โทรทัศน์3เครื่อง อยากทราบว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าประมาณนี้ จะต้องใช้ มิเตอร์ไฟขนาดไหนคะ เพราะพ่อของดิฉันเขาจะไม่ยอมเปิดแอร์ในห้องเขา ถ้าห้องของดิฉันเปิดอยู่ ซึ่งเขาบอกว่าไฟไม่พอต้องเปลี่ยนมิเตอร์ไฟ รบกวนอธิบายให้ฟังหน่อยนะคะว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนหรือเปล่า
ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ
โดย: gaygai IP: 192.99.14.34 วันที่: 25 มีนาคม 2558 เวลา:2:20:36 น.
  
ตอบ ความคิดเห็นที่ 24

โดยส่วนใหญ่ มิเตอร์ที่ติดตั้งให้กับบ้านพักอาศัยทั่วๆไป พื้นฐานจะติดตั้งมิเตอร์ขนาด 5(15) A มาให้ รองรับการใช้กระแสไฟฟ้าสูงสุด ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ได้ 15 A
มิเตอร์ขนาดนี้ เป็นมิเตอร์ขนาดเล็กสุด รองรับการใช้ไฟฟ้าในระดับพื้นฐานเท่านั้น
ซึ่งเครื่องทำน้ำอุ่น ว่ากันตามหลักแล้ว แม้แต่เครื่องทำน้ำอุ่นขาดเล็กสุด 3,500 วัตต์ ก็กินกระแสไฟสูงสุด 15.9 A เข้าไปแล้ว ซึ่งเกินกว่ามิเตอร์จะรองรับได้อย่างปลอดภัย

แต่สำหรับแอร์ หากเป็นแอร์ขนาด 9,000 - 12,000 BTU จำนวนสองเครื่อง กรณีที่ไม่ใช่แอร์รุ่นเก่าเกินกว่าหากเปิดใช้พร้อมๆกันทั้งสองเครื่อง มิเตอร์ขนาดนี้ ยังคงรองรับไหวอยู่ครับ แต่ในระหว่างที่ใช้แอร์พร้อมๆกันอย่าอาบน้ำอุ่น หรือใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีกำลังไฟสูงๆ ในเวลานั้น

ทางที่ดีที่สุด ควรเพิ่มขนาดมิเตอร์เป็น 15(45) A จะดีสุด
โดย: KanichiKoong วันที่: 30 มีนาคม 2558 เวลา:20:08:40 น.
  
ขอบคุณมากๆเลยค่ะ
โดย: gaygai IP: 192.99.14.34 วันที่: 3 เมษายน 2558 เวลา:9:27:00 น.
  
ตามที่ได้ศึกษามานั้น พอสรุปได้ว่า
ที่พิกัดแรงม้าเท่ากัน
1 เฟส ใช้กระแสเท่ากับ 3 เฟสครับ
เพียงแต่ กระแสที่หาได้ตามสูตร I= P/E หรือ I=P/(1.732*E) นั้น I ที่ออกมาแตกต่างกันเนื่องจาก ค่าที่ได้เป็น กระแส ต่อเฟส
(อธิบายแบบเปรียบเทียบคือ กระแสต่อเส้น) ดังนั้นในกรณี 3เฟส ต้องเอากระแส ทั้ง สามเส้น มารวมกันครับ
คำนวณให้ดู จะเห็นภาพชัดๆ ดังนี้ มอเอตร์ 5 HP กระแสที่ 1 เฟส และ 3 เฟส ดังนี้
5*746 = 3730 w ใช้ไฟ 1 เฟส กระแสที่ 3730/220 = 16.9545 amp
5*746 = 3730 w ใช้ไฟ 3 เฟส กระแสที่ 3730/(1.732 *380) = 5.6673 amp/เฟส รวม 3 เฟส เท่ากัย 5.6673*3 = 17.0019
โดย: 12345 IP: 203.99.253.13 วันที่: 7 พฤษภาคม 2558 เวลา:16:58:32 น.
  
3เฟสจะประหยัดไฟกว่า1เฟสเพราะ3เฟสจะโหลดไฟได้เยอะ
โดย: .. IP: 183.89.151.130 วันที่: 30 มิถุนายน 2558 เวลา:16:03:49 น.
  
สำนักงานได้แอร์50000btuมาสองตัวไฟ1เฟสจะแก้ไขปปัญยหหาอย่าไรครรัับถ้าไม่เปลี่ยนเเฟสไฟเป็นสามเฟสเพราะค่าใช้จ่ายเกือบสาามแสสน
โดย: eddy IP: 110.78.178.31 วันที่: 20 กรกฎาคม 2558 เวลา:12:42:12 น.
  
สำนักงานได้แอร์50000btuมาสองตัวไฟ1เฟสจะแก้ไขปปัญยหหาอย่าไรครรัับถ้าไม่เปลี่ยนเเฟสไฟเป็นสามเฟสเพราะค่าใช้จ่ายเกือบสาามแสสน
โดย: eddy IP: 110.78.178.31 วันที่: 20 กรกฎาคม 2558 เวลา:12:42:43 น.
  
ไฟ3เฟสpower= (v).(i).(1.74).cos(power FAC)ส่วน1.74คือรากที่3ครับ
โดย: it IP: 1.4.209.184 วันที่: 5 พฤศจิกายน 2558 เวลา:7:48:09 น.
  
ตามสูตรหาค่าพลังงานไฟฟ้าครับ
โดย: it IP: 1.4.209.184 วันที่: 5 พฤศจิกายน 2558 เวลา:7:50:51 น.
  
ส่วนไฟ220v1เฟสpower=(v).(I).(√1).cosเมื่อ√1=1 จะเห็นว่าเมื่อแทนค่าในสุตรไฟ380 จะกินไฟน้อยกว่าเมื่อload เท่ากัน
โดย: it IP: 27.55.145.136 วันที่: 5 พฤศจิกายน 2558 เวลา:8:47:59 น.
  
เ้ิน้นยะเนะคเรนรเียสอเีรัสดัีคัรึะึีั่
โดย: 55555 IP: 202.151.4.18 วันที่: 12 พฤศจิกายน 2558 เวลา:15:04:52 น.
  
สอบถามเรื่องการแปลงมิเตอร์ 3เฟส ให้ใช้กับไฟบ้านได้ทำอย่างไรคะ ตอนนี้สายที่อยู่ที่มอเตอร์ มี6เส้น เข้าคู่กันแล้วเหลือ3เส้นโดย ต่อแบบ R-U-Y ,S-V-Z ,T-W-X แล้วจะสามารถต่อกับสายไฟเพื่อเสียบใช้ไฟบ้านได้อย่างไรคะ ต่อได้เลยหรือไม่ ต้องเข้าสายยังไง หรือต้องใช้ คาปาซิเตอร์ แล้วถ้าต้องใช้ คาปาจะต้องใช้ขนาดเท่าไหร่และต่อสายยังไงคะ
โดย: ant IP: 103.49.148.12 วันที่: 25 ธันวาคม 2558 เวลา:10:44:17 น.
  
ถ้าหมายถึงการเอามอเตอร์ 3 เฟส 380V มาใช้กับระบบไฟในบ้าน ซึ่งเป็นระบบเฟสเดียว 220V
ถ้าจะให้มอเตอร์หมุนได้เต็มประสิทธิภาพ ใช้งานได้จริงๆ ก็ต้องหาซื้อตัวอินเวอร์เตอร์แปลงไฟจาก 1 เฟส เป็น 3 เฟส มาต่อใช้งาน จะดีที่สุดครับ

แต่อันที่จริง หากจะเอามาลองเฉยๆ ให้รู้ว่ามันหมุนหรือเปล่า ไม่ได้คิดจะเอาใช้งานจริงจัง ในกรณีที่เป็นมอเตอร์อินดักชั่น 3 เฟส มันก็มีวิธีบ้านๆที่จะเอามาต่อใช้กับระบบ 1 เฟสอยู่เหมือนกัน คือการใช้คาปาซิเตอร์มาต่อเข้า แต่วิธีนี้ถ้าไม่คุ้นเคยกับเรื่องนี้มากพอไม่แนะนำให้ทำดีกว่าครับ เพราะมอเตอร์อาจจะพังและอาจเป็นอันตรายได้
โดย: KanichiKoong วันที่: 2 มกราคม 2559 เวลา:12:34:06 น.
  
ขอบคุณครับ ที่ให้ความรู้
โดย: rung IP: 58.8.155.147 วันที่: 6 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:1:26:29 น.
  
คอมเพรสเซอร์ scroll zr47 ตัวใหม่3เฟส รันเครื่องแล้วกระแสได้3.4-3.9ขึ้นลงตลอด แรงดู-แรงอัดไม่มีเลยเป็นเพราะอะไรครับ
โดย: ฟ้าสีทอง 501 IP: 27.55.13.124 วันที่: 2 พฤษภาคม 2559 เวลา:0:00:50 น.
  
ที่บ้านเป็นร้านเนตค่ะมีคอม14เครื่องตู้เย็น9คิว1คอมเครื่องคิดเงิน1เครื่องซักผ้าอัตโนมัติ1เครื่องหม้อ15แอมไฟสองเฟตอยากทราบว่าถ้าติดแอร์24000btuอีกตัวไฟจะพอไหมคะจะตกบ่อยไหมคะ
โดย: ฅนล้านนา IP: 180.183.149.195 วันที่: 5 พฤษภาคม 2559 เวลา:21:16:54 น.
  
ได้รับความรู้มากขึ้นเลย มีปัญหาตอบถามคะ มีบ้านที่ตจว.ติดตั้งไฟ 15 แอมป์ แต่บ้านอยู่ปลายสายไฟ ไฟตกบ่อย แจ้งไฟฟ้า ก็ตอบว่าต้องรอเปลี่ยนหม้อแปลง ซึ่งไม่มีคำตอบว่าเมื่อไร อยากถามว่า จะมีวิธีใด ที่สามารถติดแอร์ขนาด 12000 บีทียูได้บ้าง เพราะเท่าที่สอบถาม บ้านที่ตั้งก่อนหน้า ติดตั้งต่อสายไฟก่อนเสาบ้านเรา เลยดึงไฟ ไปก่อนใช่ไหมคะ มีทางไหนที่จะให้ไฟมาเต็ม220 โวลท์ อยู่กบินทร์บุรีคะ
โดย: สวนพูห์ IP: 58.137.17.226 วันที่: 9 พฤษภาคม 2559 เวลา:11:28:48 น.
  
ตอบคุณสวนพูห์ ความคิดเห็นที่_40

ถ้าแรงดันไฟฟ้าตกไป แต่แรงดันที่วัดได้ไม่ต่ำกว่า 200V
กรณีนี้ แอร์ระบบอินเวอร์เตอร์ สามารถติดตั้งใช้งานได้ครับ
เพราะภายในแอร์มันจะมีวงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับแปรงแรงดันไฟฟ้าและความถี่ไฟฟ้าอยู่ครับ ไฟที่รับเข้ามาจะถูกแปลงก่อนแล้วค่อยส่งให้คอมเพรสเซอร์ครับ ช่วยลดความเสี่ยงที่คอมเพรสเซอร์จะพังเพราะทำงานในแรงดันที่ต่ำเกินไปได้

และอีกอย่างในแอร์ระบบอินเวอร์เตอร์ ส่วนใหญ่มันจะมีวงจรอิเล็กทรอนิกส์คอยป้องกันอยู่แล้วหนึ่งชั้น คือถ้าแรงดันไฟฟ้ามาในระดับที่ต่ำจนไม่อาจทำงานต่อตามปกติได้ ระบบป้องกันมันจะตัดการทำงาน หรือไม่ก็หยุดการทำงานแล้วรีสตาร์ทใหม่อีกครั้ง
โดย: KanichiKoong วันที่: 20 พฤษภาคม 2559 เวลา:20:55:13 น.
  
ตอบคุณฅนล้านนา ความคิดเห็นที่_39

มิเตอร์ 15(45) A ถ้าใช้งานตามที่ว่ามา เพิ่มแอร์ 24,000 BTU ไปอีกตัว มันก็พอรองรับได้อยู่ครับ

แต่เรื่องไฟตกหรือไม่นั้น ก็ไม่แน่ครับ ขึ้นกับระบบไฟฟ้าที่ติดตั้งด้วย บางครั้งช่างติดตั้งใช้สายขนาดไม่เหมาะสม หรือมีการต่อสายไฟในจุดที่ไม่สมควร มันต่ออาจจะทำให้ไฟตกได้เหมือนกัน
โดย: KanichiKoong วันที่: 20 พฤษภาคม 2559 เวลา:21:00:31 น.
  
------ขอบคุณสำหรับกระทู้ดีๆๆครับ...ได้ความรู้มากมายครับ-----





ช่างออม
Aomservice
โดย: Aomservice IP: 58.137.32.142 วันที่: 21 กันยายน 2559 เวลา:16:33:20 น.
  
Compressorลูกสูบไฟฟ้ากะแสสะหลับ380โวนขดลวดยังปกกะตีป่อยไฟเข้าไปแต่ไมทำงานCBลั่นสาเหดเปันนำหยัง
โดย: เสลี IP: 192.99.15.166 วันที่: 5 ตุลาคม 2559 เวลา:9:09:26 น.
  
มิเตอร์ของผม 15 A 3เฟส จะติดแอร์ 48,000×5 ตัว ตู้แช่น้ำ1 ตู้ไอติม1 และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆอีก3-4ตัว พอไหวไหมครับ
โดย: พงศ์ธร IP: 171.4.103.140 วันที่: 21 สิงหาคม 2560 เวลา:8:30:36 น.
  
ที่ รพ. ผม กำลังจะเลือกแอร์ใส่ห้องพิเศษครับ ห้อง 5.2*4 เมตร เพดานสูง 3 เมตร ระบบไฟที่ตึกเป็นไฟ 3 เฟส ผมว่าห้องก็ไม่ค่อยใหญ่มาก เพื่อให้ประหยัดไฟ คือ เลือกใช้แอร์กี่เฟสดีครับ รพ.ผม เป็น รพ.ชุมชนขนาดเล็กครับ อากาศร้อนมาก
โดย: พิจารณ์ IP: 159.192.222.57 วันที่: 16 มิถุนายน 2561 เวลา:13:45:00 น.
  
อธิบายได้ละเอียด อธิบายได้ดี ชัดเจน ครอบคลุมมากครับ ชื่นชมครับ
โดย: สมบูรณ์ ทศบวร IP: 49.230.196.100 วันที่: 26 ตุลาคม 2565 เวลา:8:47:34 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Kanichikoong.BlogGang.com

KanichiKoong
Location :
สงขลา  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 275 คน [?]

บทความทั้งหมด