คนพูดเก่งควบคุมโลกมาโดยตลอด และจะเป็นเช่นนั้นต่อไป ... ที่มา FB Amarinbooks




เครดิต   https://www.facebook.com/amarinpublishing/posts/1521795711247573

มาดู 6 ไอดอลนักพูดของนากกัน!
.
ผลวิเคราะห์จากหนังสืออัตชีวประวัติบุคคลผู้ประสบความสำเร็จกว่าพันเล่มได้ทำให้บรูซ บาร์ตัน(Bruce Barton) นักการเมืองและนักเขียนแห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวสรุปชัดเจนว่า "คนพูดเก่งควบคุมโลกมาโดยตลอด และจะเป็นเช่นนั้นต่อไป"
.
แล้วทำไมถึงเป็นเช่นนั้นล่ะ

หากลองสังเกตดูด้วยตัวเอง เราจะพบว่าคนเก่งมีจุดแตกต่างจากคนธรรมดาเพียงไม่กี่เรื่อง พวกเขาอาจมีไอคิวสูงกว่า มีความคิดสร้างสรรค์มากกว่า หรือมีความพยายามมากกว่า แต่ที่แน่ๆ คนเก่งย่อมมีทักษะการพูดที่เหนือชั้นกว่าคนอื่น
.
ดังนั้นเราอาจกล่าวได้ว่า “คนที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นไม่เพียงต้องมีความรู้ แต่ต้องมีความสามารถด้านการพูดด้วย”
.
เรื่องเล่าจากนักพูดในตำนานทั้ง 6 คนต่อไปนี้ สามารถพิสูจน์คำกล่าวนั้นได้ดีเลยล่ะ



อารมณ์ขันคือเครื่องมือสำคัญในการพูด

ปี ค.ศ. 1981 ‘ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน’ (Ronald Wilson Reagan) ถูกลอบสังหารบาดเจ็บ เมื่อพาตัวเขาขึ้นรถพยาบาลฉุกเฉิน พวกนางพยาบาลต่างช่วยกันจับตัวเรแกนเพื่อห้ามเลือด

แม้จะบาดเจ็บแต่ท่านประธานาธิบดีก็ยังมีอารมณ์ขัน เรแกนถามพวกนางพยาบาล

"นี่คุณขออนุญาตแนนซี (ภรรยา) แล้วเหรอ"

พวกเธอรีบตอบรับเป็นเสียงเดียวว่า "พวกเราขออนุญาตจากท่านสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแล้วค่ะ"

มุกตลกของเรแกนได้ลดบรรยากาศกดดันแก่นางพยาบาลที่ต้องปฐมพยาบาลคนไข้ที่เป็นถึงประธานาธิบดีซึ่งกำลังเลือดตัวท่วมลงได้โข



แม้คนพูดเก่งก็ต้องวางแผนก่อนพูด

นักพูดผู้เปี่ยมอารมณ์ขันและคารมคมคายเช่นอดีตนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรสองสมัย
‘วินสตัน เชอร์ชิลล์’ (Winston Leonard Spencer-Churchill)

เดิมที่นั้นเชอร์ชิลล์พูดไม่ชัดขนาดเลขาฯ ที่เขาจ้างมาแรก ๆ มักจะฟังคำพูดเขาไม่เข้าใจเลยทีเดียว แต่เขารู้จุดอ่อนของตนและพยายามทุ่มเทแก้ไข กระทั่งสร้างสไตล์การพูดของตนเองได้สำเร็จ

ทุกสุนทรพจน์ของเชอร์ชิลล์มาจากการเตรียมตัวอย่างละเอียดลออ

ปกติหากต้องพูดในรัฐสภานาน 40 นาทีเขาจะเตรียมตัวประมาณ 6-8 ชั่วโมง ถ้าต้องกล่าวสุนทรพจน์ที่สำคัญมาก ๆ เชอร์ชิลล์กับที่ปรึกษาจะต้องทำงานหนักเพื่อเตรียมและปรับแก้แบบร่างสุนทรพจน์กันโต้รุ่งเลยทีเดียว

อีกทั้งเชอร์ชิลล์พยายามไม่ใช้คำตามสมัยนิยมหรือคำศัพท์เฉพาะแบบนักพูดคนอื่น สมมตินักการเมืองคนอื่นพูด "ทั้งสองฝ่ายลงนามตกลงกัน" เชอร์ชิลล์จะพูด "ทั้งสองฝ่ายจับมือกัน" หรือคำว่า "ชนชั้นกรรมาชีพ" เขาก็จะพูดว่า "คนยากจน"

ในต้นฉบับเขียนรายละเอียดถึงขนาดว่า "ตรงนี้ให้หยุดพักหายใจ -->ตรงนี้ต้องพูดตะกุกตะกักเล็กน้อยทำทีว่าคิดหาศัพท์ที่เหมาะสม -->ตรงนี้ต้องสำรวม" ขณะเดียวกันเชอร์ชิลล์ก็วางแว่นตาไว้บนปลายจมูกเพื่อให้เหมือนกับว่าเขากำลังพูดกับผู้ฟังโดยตรงทั้งที่จริง ๆ แล้วเขากำลังอ่านร่างสุนทรพจน์อยู่ วิธีนี้ได้ผลดีมากเพราะผู้ฟังส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเชอร์ชิลล์อ่านมัน

ผลลัพธ์ของการเตรียมตัวอย่างรอบคอบและการวางแผนอันแยบคายช่วยให้เขาพูดด้วยบุคลิกเป็นธรรมชาติ เหมือนคนพูดด้วยอิริยาบถปกต



คำพูดที่เอาใจใส่ผู้อื่นนั้นยอดเยี่ยมที่สุด

หลังดยุคแห่งเวลลิงตัน (Arthur Wellesley) ได้ชัยชนะเหนือกองทัพของนโปเลียนในยุทธการวอเตอร์ลู (Battle of Waterloo)สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษก็โปรดให้จัดงานฉลองชัยชนะ มีขุนนางชั้นสูงและสุภาพบุรุษสุภาพสตรีผู้ทรงเกียรติมาร่วมงานกันมากมาย เมื่อรับประทานอาหารร่วมกันเสร็จ บริกรก็จัดแจงยกชามใส่น้ำล้างมือมาที่โต๊ะ

ทหารหนุ่มจากชนบทคนหนึ่งไม่รู้ธรรมเนียมจึงยกน้ำในชามขึ้นดื่ม เล่นเอาแขกในงานตกใจได้แต่ร้อง "ดะ... เดี๋ยว!" ส่วนสาว ๆ ก็หัวเราะกันคิกคัก ทหารหนุ่มรู้ตัวว่าทำเปิ่นเข้าแล้ว เขาอับอายจนหน้าแดงก่ำ เพื่อนทหารคนอื่นก็เสียหน้าเพราะเขาเช่นกัน

ดยุคแห่งเวลลิงตันเห็นเหตุการณ์นี้ก็ลุกขึ้นกล่าว

"ท่านสุภาพบุรุษสุภาพสตรีที่รัก! ขอเชิญทุกท่านดื่มน้ำในชามอย่างพลทหารหนุ่มนายนี้ผู้ร่วมรบอย่างองอาจจนพวกเราได้ชัยชนะในยุทธการวอเตอร์ลูครับ!"

ว่าแล้วท่านดยุคก็ดื่มน้ำในชาม ในเมื่อพระเอกของงานดื่ม ทั้งขุนนางทั้งแขกเหรื่อทุกคนในที่นั้นจึงดื่มน้ำในชาม พร้อมกับเสียงปรบมือดังสนั่นหวั่นไหวในสถานที่จัดงาน

มันช่างเป็นการแก้สถานการณ์และรักษาน้ำใจผู้ใต้บังคับบัญชาได้อย่างเยี่ยมยอด ว่าไหม




คนติดอ่างก็เป็นนักพูดผู้ยิ่งใหญ่ได้

หลายคนหวาดหวั่นกับการพูดต่อหน้าสาธารณชนแต่ไม่ใช่กับเขาคนนี้

ลี ไอเอคอคคา (Lee Iacocca) ผู้บริหารระดับตำนานของธุรกิจรถยนต์ในอเมริกา อธิบายถึงความสำเร็จของเขาว่า "ยกความดีให้ทักษะการพูด"

ต้นทศวรรษ 1980 ตอนเขารับตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทรถยนต์ไครสเลอร์ (Chrysler) ที่จวนเจียนล้มละลายเพราะขาดทุนสะสม ผู้คนต่างเย้ยหยันว่าเขา "สติไม่ดี" แต่ไอเอคอคคาไม่สะทกสะท้านกับความเห็นจากภายนอก เขาบุกเดี่ยวไปวอชิงตันเพื่อโน้มน้าวรัฐบาลกลางให้อนุมัติค้ำประกันเงินกู้จำนวน 1,700 ล้านดอลลาร์ให้ พร้อมทั้งปลุกใจพนักงานในบริษัทที่กำลังท้อ และเรียกความมั่นใจของผู้บริโภคชาวอเมริกันว่า "ไครสเลอร์คืนชีพแล้ว"

ไอเอคอคคาเป็นพรีเซ็นเตอร์ในโฆษณาทางโทรทัศน์ด้วยตัวเอง เขาพูดออกอากาศอย่างมั่นใจ
ว่า "เราเคยภูมิใจกับคำว่า Made in USA เพราะมันหมายถึงคนอเมริกันผลิตสินค้าคุณภาพระดับโลก โชคร้ายที่ทุกวันนี้ชาวอเมริกันจำนวนมากไม่เชื่อเช่นนั้นแล้ว ซึ่งจะถือว่าสมควรแล้วก็ได้”

ไอเอคอคคายกย่องไครสเลอร์เป็นสุดยอดนวัตกรรมรถยนต์ที่แตกต่างจากรถยนต์ในอดีต

"หากท่านเจอรถที่ดีกว่าไครสเลอร์ก็ซื้อมันได้เลย"

ก่อนจะเสริมว่าหากเจอรถยนต์ของบริษัทอื่นที่สมรรถนะดีกว่ารถของไครสเลอร์ บริษัทยินดีจ่ายให้ลูกค้า 50 ดอลลาร์

โฆษณาชิ้นนี้กระตุ้นความภูมิใจของชาวอเมริกัน บ่งบอกถึงการกลับมาอันยิ่งใหญ่ของไครสเลอร์ และเพิ่มความนิยมในตัวไอเอคอคคาจนพุ่งสูงขนาดมีสิทธิ์ลงสมัครประธานาธิบดีเลยทีเดียว

ทุกวันนี้ไอเอคอคคาได้รับการยกย่องว่าเป็นนักพูดแถวหน้าของอเมริกา

อันที่จริงเขาไม่ได้พูดเก่งมาตั้งแต่แรก ไอเอคอคคาพูดติดอ่างกระทั่งอายุ 25 ปี ก่อนจะเข้าอบรม "คอร์สฝึกการพูด" ทำให้เขาเข้าใจหลักการพูดอย่างแตกฉาน เขาหมั่นฝึกฝนจนมั่นใจ ผลลัพธ์คือเกียรติยศชื่อเสียงที่เรารู้จักถึงตอนนี้



ทักษะการพูดไม่ใช่พรสวรรค์ แต่คือพรแสวง

ความล้มเหลวจากธุรกิจค้าเมล็ดพันธุ์ส่งผลให้คุณพ่อของจอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ (George Bernard Shaw) นักวิจารณ์และนักเขียนบทละครชื่อดังของอังกฤษ กลายเป็นคนติดเหล้าและไม่ดูแลครอบครัว ชอว์จบการศึกษาแค่ระดับประถมก็ต้องไปทำงานเป็นเด็กรับใช้ในบริษัทอสังหาริมทรัพย์ด้วยวัยเพียง 15 ปีเพื่อหาเลี้ยงปากท้อง

พออายุ 20 ปีเขาเดินทางจากกรุงดับลินบ้านเกิดไปหางานทำยังกรุงลอนดอน

เย็นวันหนึ่งขณะหางานทำ เขาจับพลัดจับผลูได้เข้าชมการโต้วาที ฝีปากของพวกนักโต้วาทียอดเยี่ยมมาก ฝ่ายเสนอพูดตรรกะของตนอย่างจัดเจน ส่วนฝ่ายค้านก็โต้แย้งได้ชาญฉลาด ชอว์ประทับใจการโต้วาทีมากจนอยากลองโต้วาทีด้วยบ้าง เขาลองลงโต้วาทีดูแต่ปรากฏว่าเป็นได้เพียงตัวตลก เขาอับอายเพราะตนมีทักษะการพูดอันน้อยนิด ภายหลังเมื่อมีการจัดโต้วาทีที่ไหน ชอว์จะไปฟังทุกครั้งและร่วมลงโต้วาทีเองอีกหลายครั้ง แม้จะตะกุกตะกักบ้างแต่เขาไม่เคยถอดใจ อีกทั้งไม่เกียจคร้านพยายามเรียนรู้เคล็ดลับการโต้วาที ผลสุดท้ายจึงมีชื่อเสียงว่าเป็นนักพูดผู้เก่งกาจ

จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์กลายเป็นนักพูดชื่อก้องก็ด้วยความเพียรของตน เขาได้รับเชิญให้ไปพูดบรรยายทั่วประเทศนานถึง 12 ปี

วันหนึ่งมีหนุ่มน้อยผู้ประทับใจทักษะการพูดของเขาได้เอ่ยถามเคล็ดลับการพูด ชอว์ตอบว่า

"การพูดเหมือนการเล่นสเก็ตครับเวลาหัดเล่นสเก็ต เรามักจะจินตนาการภาพตัวเองวาดลวดลายงามสง่าเหนือลานน้ำแข็ง แต่สำหรับการเล่นครั้งแรก อย่าว่าแต่งามสง่า เราได้แต่ลื่นล้มเสียมากกว่า การลื่นล้มมันน่าอาย แต่ถ้าเราไม่ยี่หระและมุ่งมั่นทรงตัวเล่นต่อไป ไม่นานเราก็จะสเก็ตอย่างคล่องแคล่วด้วยท่วงท่าสง่างามจนได้

“การพูดก็เหมือนกัน ตอนแรกเราจะสั่น พูดตะกุกตะกัก ประหม่า แต่เมื่อมุ่งมั่นตั้งใจฝึกพูดไปเรื่อย ๆ เราจะพูดได้อย่างชำนาญชนิดที่ว่าชินชากับเสียงปรบมือและเสียงเชียร์ไปเลย การพูดต้องฝึกเหมือนกับการฝึกเล่นสเก็ตนั่นละ ต้องขัดเกลาทักษะโดยมีความตั้งใจว่า ‘ฉันจะต้องพูดเก่ง’ตั้งใจฝึกไปจนกว่าจะได้ยินคำชมจากผู้คนว่า‘เธอพูดเก่ง’ แล้วคุณก็จะพูดคล่องได้อย่างที่ผมเป็น"

ใช่แล้ว เช่นเดียวกับทักษะส่วนใหญ่ การพูดคือพรแสวง ไม่ใช่พรสวรรค์ ขอเพียงตั้งใจแน่วแน่มากพอและขยันฝึกฝน ไม่ว่าใครก็พัฒนาทักษะการพูดได้สำเร็จ



คนไม่รีบร้อนพูดคือผู้ชนะ

เจ. พี. มอร์แกน (John Pierpont Morgan มีชีวิตอยู่ในปี ค.ศ. 1837-1913) นักการเงินระบบทุนนิยม "ระดับตำนาน" คือผู้เชี่ยวชาญด้านการเจรจาต่อรอง

ครั้งหนึ่งชายหนุ่มสองพี่น้องผู้ถือครองหุ้นจำนวนมากในบริษัทยู.เอส.สตีลมาพบมอร์แกนในที่ทำงานเพราะต้องการขายหุ้นให้ ก่อนมาพวกเขาทุ่มเถียงกันว่าควรเรียกราคาเท่าไรดี

"ห้ามต่ำกว่า 9 ล้านเหรียญเด็ดขาด"
พี่ชายพูด น้องชายจึงแก้ให้ว่า

"ตลกละ มอร์แกนเขี้ยวจะตาย เราเรียกเยอะขนาดนั้นไม่ได้หรอก สัก 7 ล้านเหรียญกำลังเหมาะ"

ทว่าเมื่อมอร์แกนมาถึง เรื่องดันกลับตาลปัตร
"ผมไม่มีเวลาคุยนาน ขอบอกเลยแล้วกันว่า
ถ้าเกิน 15 ล้านเหรียญ ผมสู้ไม่ไหว"

ถ้าเป็นคนอื่นอาจดีใจเนื้อเต้น รีบขายหุ้นให้ทันที
แต่สองพี่น้องคู่นี้ไม่ใช่แบบนั้น

"น่าผิดหวังจังเราตั้งใจว่าราคาต่ำสุดจะขายที่ 20 ล้านเหรียญน่ะครับ"

มอร์แกนจึงต่อรองราวกับคำนวณรอไว้แล้ว

"งั้นคงต้องพบกันครึ่งทางนะครับ"

เพราะสองพี่น้องไม่เป็นฝ่ายเสนอไปก่อน จึงได้เงินเพิ่มอีกหลายล้านเหรียญจากผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดนักต่อรองระดับโลก

การไม่รีบร้อนเป็นฝ่ายเสนอก่อน รอให้อีกฝ่ายเสนอมา น่าจะเรียกว่าเป็นสุดยอดของบทสนทนาจูงใจในการต่อรองได้เลย การเจรจาต่อรองสำคัญตรงที่เราต้องไม่รีบเร่ง มีเวลาให้หยุดคิดก่อนพูด







Create Date : 19 ธันวาคม 2560
Last Update : 19 ธันวาคม 2560 13:50:23 น.
Counter : 1333 Pageviews.

0 comments
The Last Thing on My Mind - Tom Paxton ... ความหมาย tuk-tuk@korat
(1 ม.ค. 2567 14:50:49 น.)
พบเจอภาพอะไร? ส่วนหนึ่งของภาพน่าสนใจจึงตัดมาใช้ คุกกี้คามุอิ
(1 ม.ค. 2567 03:56:23 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Cmu2807.BlogGang.com

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]

บทความทั้งหมด