The Master (2012)
สารบัญภาพยนตร์

The Master (2012)


เส้นแบ่งบางๆระหว่างมหาเทพและสัตว์เดรัจฉาน




*เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์*

หลังอาจหาญพาฟิล์มหนังขนาด 65 มม. เข้าฉายในระบบ 70 มม. ในรอบพิเศษที่ถูกเรียกว่า ‘surprise screening’ ก่อนเปิดตัวอย่างจริงจัง ณ เทศกาลเวนิซ ประเทศอิตาลี พร้อมถูกเสียงสรรเสริญชื่นชม จากคอหนังและนักวิจารณ์ทั่วทุกสารทิศ จนคณะกรรมการอดใจไม่ไหวแจก 3 รางวัลใหญ่เป็นเครื่องการันตี จากทั้งผู้กำกับและนักแสดงชายยอดเยี่ยม(2รางวัล) แถมยังมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า หากเทศกาลเวนิซไร้กฎหนังที่ได้สิงโตทองคำจะหมดสิทธิ์ได้รางวัลอื่นพ่วง อาจเป็นไปได้ว่า ภาพยนตร์ The Master ของผู้กำกับ พอล โทมัส แอนเดอร์สัน จะคว้าหนังยอดเยี่ยมรางวัลสิงโตทองคำไปนอนกอดอีกรางวัลไปด้วยอย่างแน่แท้

คำว่า The Master นอกจากจะบ่งชี้ความหมายสาระภายในเรื่องแล้ว ยังเป็นการบ่งบอกถึงตัวผู้กำกับ แอนเดอร์สัน ด้วยว่ามีความเป็นมาสเตอร์ตามชื่อเรื่องเพียงใดในการสร้างสรรค์ผลงานของลำดับที่ 6 ของตนออกมา นี่จึงไม่แปลกแต่อย่างใดที่เขาจะถูกยกย่องว่าเป็นผู้กำกับแนวหน้ายุคใหม่ของอเมริกัน เทียบเท่า คริสโตเฟอร์ โนแลน ผู้กำกับชาวอังกฤษ ในวัยที่ไล่เลี่ยกัน(42 ปี)

ก่อนพาผู้อ่านเข้าสู่เนื้อหาภายใน ต้องกล่าวถึงบริบทของตัวหนังที่เชื่อมโยงกับความเป็นจริงเสียก่อน โดยภาพยนตร์เรื่องนี้นอกจากจะเป็นการย้อนอดีตไปสู่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ทศวรรษที่ 50) ผ่านการออกแบบงานสร้าง องค์ประกอบ รวมถึงเสียงดนตรีจาก Jonny Greenwood จากวง Radiohead ด้วยแล้ว การใช้กล้องฟิล์ม 65 มม. เกิน 85% ตลอดเรื่อง เพื่อให้ภาพที่ออกมาดูคลาสสิค เหมือนหนังมหากาพย์ที่เน้นความอลังการทางด้านภาพ เฉกเช่น Lawrence of Arabia(1962) จนอดคิดไม่ได้ว่า หากใครหุนหันพลันแล่นเข้าไปชมโดยไม่ได้ศึกษาให้ดี อาจทำให้ผู้ชมหลงคิดไปได้ว่านี่คือหนังในยุค 50-60 ก็เป็นได้



อีกทั้งเรื่องการกระตุ้นให้ผู้ชมมองเห็นสภาพชีวิตของคนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ของผู้กำกับ พอล โทมัส แอนเดอร์สัน ผ่านตัวละครหลัก แสดงให้เห็นว่า แม้ประเทศอเมริกากำลังจะเข้าสู่ยุครุ่งเรืองต่อจากช่วงเวลานั้น แต่บาดแผลของชีวิตผู้คนหลังสงครามก่อเกิดเป็นปมในจิตใจที่คอยหลอกหลอนชั่วชีวิต ดั่งจิตวิญญาณของคนที่หลงทาง ทำให้เป็นช่วงที่เกิดลัทธิแปลกใหม่เพื่อกอบกู้สภาวะนามธรรมขึ้นมาอย่างมากมาย

เข้าสู่ตัวเรื่อง ภาพยนตร์ The Master เปิดตัวเรื่องด้วยภาพลำน้ำมหาสมุทรสีฟ้าสดใสที่ล่องไหลไปตามกระแสแรงลม ระยะภาพชัดลึกมองเห็นสายน้ำได้สุดลูกหูลูกตาที่มุ่งตรงไปข้างหน้าโดยไม่สามารถคาดเดาเป้าหมายว่าจะไปยื้อยุดสุดที่ใด การใช้มุมกล้องระดับสายตานก ด้วยภาพแทนสายตา(point of view) ก่อนที่ผู้ชมจะต้องคาดเดาว่ากล้องเป็นสายตาของใคร ก็ถูกเฉลยโดยการจับใบหน้าระยะใกล้ของ เฟร็ดดี้ เคว็ล(วาคีน ฟีนิกซ์)ทหารเรือแอลกอฮอล์ลิซึ่ม ผู้ซึ่งเหม่อมองอย่างล่องลอย ไม่ต่างกับสายน้ำไร้ทิศทางของสายตา แสดงถึงความเคว้งคว้างของจุดหมายในชีวิต(ที่ถูกแสดงในฉากต่อๆไป)

ความหมายภาพแทนสายตาของเฟร็ดดี้ในช็อตแรกนั่น เสมือนเขาเป็นดั่งเรือ ที่ลอยเคว้งคว้างกลางมหาสมุทร ไร้จุดหมาย ไร้ทิศทาง ไม่รู้จะลอยไปที่ใด นอกเสียจากมุ่งตรงไปข้างหน้าอย่างเป็นสารัตถะ ภาพเช่นนี้ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ 2 ถึง 3 ครั้ง ตลอดเรื่อง ยิ่งเมื่อมีการเปรียบเทียบกับชีวิตของเขาในฉากต่อๆไป ก่อนที่จะเข้าร่วมลัทธิ The Cause ยิ่งทำให้มองเห็นการดำเนินชีวิตอันไร้จุดหมายของเขาได้เป็นอย่างดี



หนังเริ่มต้นครึ่งชั่วโมงแรกโดยสัมผัสจุดไปที่ เฟร็ดดี้ เพื่อถ่ายทอดจิตวิญญาณของเฟร็ดดี้หลังผ่านศึกสงครามมาหมาดๆ การสนใจแต่เพียงหาน้ำอมฤต เพื่อผสมกับแอลกอฮอล์ โดยไม่สนใจว่าน้ำเหล่านั้นจะมาจากแหล่งใดขอให้มีสาร H2O เป็นใช้ได้ ฉะนั้น ทินเนอร์ สี น้ำมัน น้ำยาบ้วนปาก ฯลฯ จึงอยู่ในข่ายนี้แทบทั้งสิ้น

อีกทั้งยังสะท้อนแนวคิดอันตกต่ำไร้อารยธรรม หมกมุ่นกามารมณ์อย่างไม่รู้จักอดกลั้น ก่อทรายรูปผู้หญิงเปลือยกาย นอนอ้าขา โดยเฟร็ดดี้จัดการทางเพศใส่เธอ อย่างไม่รู้สีรู้สาต่อหน้านายทหารเรือคนอื่นๆ มิหนำซ้ำยังไปจัดการมาสเตอร์เบชั่นต่อ ท่ามกลางแสงพระอาทิตย์อัสดงตรงชายหาด ในสภาพเปลือยกายส่วนบน โดยกางเกงหลุดลงเผยให้เห็นบั้นท้าย ช็อตภาพเหล่านี้ได้สะท้อนความจิตป่วยของนายทหารเรือรายนี้ได้เป็นอย่างดี โดยยังไม่รวมถึงฉากที่ถูกถามจากหมอบำบัด ว่าภาพที่เขาเห็นคืออะไร ซึ่งการตอบก็ไม่พ้นเรื่องเพศ หรือการร่วมประเวณีแทบทั้งนั้น

หลังจากนั้น เฟร็ดดี้ได้งานทำเป็นช่างภาพ แต่ดันหลุดโมหะต่อลูกค้า จนต้องพเนจรไปทำงานในไร่ แล้วก็ไม่วายถูกขับออกมาอีกครั้งหลังทำน้ำดื่มผสมกับเครื่องเคราของแสลงแจกจ่ายให้คนในไร่ดื่มจนชายแก่ถึงกลับชักดิ้นชักงอ ทุกคนจึงเล็งเห็นว่านี่เป็นยาพิษ การยื้อยุดฉุดกระชากจึงเกิดขึ้น เฟร็ดดี้ยืนยันสาบานว่านี่ไม่ใช่ยาพิษ จนเกิดการห้ำหั่นกันระหว่างสองฝ่าย เป็นเหตุให้เฟร็ดดี้ ต้องวิ่งหนีกระเจิดกระเจิง ไร้จุดหมายและทิศทาง ฉากนี้เป็นการตอกย้ำความหมายที่ปรากฎในช็อตแรก ซึ่งตอกย้ำความไร้แก่นสารทางเป้าหมายของเขา ผ่านการวิ่งหนีไร้เข็มทิศเพียงแต่มุ่งหน้าให้หนีจากสิ่งที่ได้จากมา ในกรณีนี้คือการถูกทำร้าย ในกรณีใหญ่ของเรื่อง คือ การหนีจากสงครามที่ทำร้ายตัวเขานั่นเอง



ก่อนที่เขาจะมาพบเรือสำราญ ซึ่งเทคนิคกล้องในฉากนี้เรียกร้องความสนใจเป็นอย่างมากในการปรับเปลี่ยนระยะโฟกัส ระหว่างทางข้างหน้า กับเรือสำราญลำใหญ่ เป็นการช่วยเน้นย้ำว่าเขาสามารถตัดสินใจไปที่ไหนก็ได้เพียงชั่วเสี้ยววินาที โดยเขาเลือกขึ้นเรือ อาจเพราะหาที่นอน หรือของประทังชีวิต แต่หารู้ไม่ว่าการตัดสินครั้งนี้อาจทำให้เขาเจอทางเยียวยาจิตวิญญาณที่หลงที่หลงทาง-หลงผู้หลงคน ผ่านการใช้ช็อตดีเลย์คัท ของเรือที่จากไปทางน่านน้ำดำมืดในยามค่ำคืน ตัดกับความไสวของแสงที่เล็ดลอดออกจากเรือ ซึ่งสร้างความแปลกประหลาดทางความรู้สึกกับผู้ชมที่ไม่สามารถคาดเดาเป้าหมายใดๆได้เลย

ด็อจด์และภรรยา เพ็กกี้(เอมี่ อดัมส์)เจ้าของเรือเช่าสำราญลำนี้ ล่องเรือไปนิวยอร์คเพื่อไปเผยแพร่คำสอนของลัทธิ The Cause แก่เหล่าสมาชิกตามพื้นที่ต่างๆ เหตุที่ด็อดจ์ใช้เรือเป็นพาหนะเพื่อทำให้มีเวลาเอ้อระเหยกับความคิดสรรสร้างแรงบันดาลใจในงานเขียนเกี่ยวกับลัทธิเล่ม 2 ที่ยังดูติดๆขัดๆ จนกระทั่งการรับ เฟร็ดดี้ ขึ้นเรือไปนั่น เพราะพบว่าเฟร็ดดี้ไม่ต่างจากผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่สามารถเป็นหนูทดลองตรวจสอบประสิทธิภาพแนวคิดที่เขาได้สร้างขึ้นมานั่นเอง

หลังจากผ่านซีเคว้นเปิดตัวเฟร็ดดี้ไป ภาพยนตร์ก็พาเข้าสู่พล็อตเรื่องอย่างแท้จริง โดยเปิดตัวละครใหม่ นั่นคือ แลนคานเตอร์ ด็อดจ์ (ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟแมน) เจ้าลัทธิแห่ง The Cause ลัทธิใหม่ที่เชื่อว่ามนุษย์มีวิญญาณเป็นอมตะที่เกิดมานับล้านๆปี และความมุ่นมัวขุ่นใจในปัจจุบัน คือความดำมืดจากอดีต(ชาตินี้และอดีตชาติ) จึงคิดค้นวิธีรักษาโดยกลับไปให้คนไข้ระลึกถึงความทรงจำครั้งก่อนว่าเคยมีความบอบช้ำใดๆในอดีตอยู่หรือไม่ แล้วซักไซ้ตอกย้ำให้เกิดการเรียนรู้และยอมรับเหตุการณ์นั้นๆเพื่อให้สามารถยกระดับจิตใจและอารมณ์ให้กลายเป็นมนุษย์ที่มีความสันติและสงบสุขอย่างแท้จริงได้



ฉากเผชิญหน้าการทดลองของด็อดจ์ต่อเฟร็ดดี้ อย่างไม่ต้องเคลือบแคลงสงสัยนี่คือฉากที่ดีที่สุดเทียบเท่าฉากระเบิดอารมณ์ของเฟร็ดดี้ในคุก ที่ช่างเข้มข้นน่าติดตาม และอึดอัดในอารมณ์อย่างถึงที่สุด โดยฉากนี้นอกจากจะแสดงให้เห็นการทดลองของด็อดจ์แล้ว ยังเป็นการเปิดเผยประวัติที่ผ่านมาของเฟร็ดดี้ ที่ถูกปิดงำไว้เผยให้ผู้ชมได้รับรู้อย่างโจ่งแจ้ง ผ่านการซักไซ้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยห้ามแม้แต่กระพริบตาซึ่งมันทำให้การตอบคำถามของเฟร็ดดี้ผุดออกจากภาวะจิตใต้สำนึกอย่างห้ามมิได้

การล้วงลึกเข้าไปพบความลับของเฟร็ดดี้ต่อชีวิตอันพิกลพิการ พ่อตาย,แม่เป็นบ้า,มีสัมพันธ์ทางเพศกับน้าของตัวเอง แต่ดูท่าจะไม่สำคัญเท่าความลับที่ว่า มีผู้หญิงวัย 16 นาม ดอริส โซเซนสตัด (มาดิเซ่น เบียตี้) ที่เขาสัญญาว่าจะรีบกลับไปหาเธอ รอเขาอยู่ผ่านบทเพลง Don't Sit Under the Apple Tree (With Anyone Else but Me) ที่เขานึกขึ้นหรือจดจำได้ผ่านจิตใต้สำนึกของตนเอง ด้วยน่าตายิ้มแย้มอันมีความสุขปนเศร้า ที่ทำให้ผู้ชมเห็นว่า เธอมีคุณค่ามากเท่าไรต่อจิตใจอันแหลกสลายของเฟร็ดดี้ ณ ปัจจุบัน ในเวลานี้



ทางลัดที่เราจะสามารถตอบคำถามว่าเพราะเหตุใดเฟร็ดดี้ถึงไม่กลับไปหาหญิงที่เขารักนั้น ทำได้โดยวิธีการมองลอดแว่นของนักจิตวิทยา ที่จัดว่า เฟร็ดดี้เป็นโรคจิตเวชที่เรียกว่า ‘เครียดจากเหตุการณ์ร้ายแรง’ (PTSD) ทำให้ร่างกายคล้ายจะมีเรื่องในอดีตของสงครามตามหลอกหลอน กระวนกระวาย หงุดหงิด ใจสั่น ตกใจง่าย ดื่มเหล้าเบียร์ขนาดหนัก ไร้ความรู้สึกและอารมณ์ ทั้งหมดเป็นกลไกทางจิตเพื่อช่วยให้เฟร็ดดี้หลีกหนีจากภาพของความน่ากลัวนั้นๆ จนไม่สามารถย้อนไปคิดถึงอะไรก่อนหน้านั้นได้เลย เพราะต้องผ่านภาพเหตุการณ์ร้ายแรงเหล่านี้เสียก่อน

อย่างไรก็ตามการโคจรมาพบกับด็อดจ์ ทำให้เฟร็ดดี้ได้กลับไปเผชิญและค้นพบอดีตของตนเองอีกครั้งผ่านการทดลองซึ่งคล้ายๆกับการใช้วิธีจิตบำบัด ที่ทำให้กล้าระลึกถึงเรื่องราวที่ยังติดแน่นฝังลึกภายในจิตใจออกมาในรูปของจิตใต้สำนึก ซึ่งมันทำให้เขาย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ความรักของเขากับหญิงสาวที่เขามอบรักให้เต็มหัวใจได้อีกครั้ง

ผู้เขียนขอใช้เส้นเปรียบเทียบเพื่อทำให้เห็นภาพตามหลักย้อนรำลึกของ The Cause ที่เฟร็ดดี้ได้ใช้ หากการเข้าร่วมสงครามของเขาทำให้เกิดบาดแผลทางจิตใจที่ทำให้ไม่สามารถย้อนกลับไปเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นได้ เท่ากับว่า โลกหลังสงครามคือโลกปัจจุบันของเฟร็ดดี้ ซึ่งมันได้แปรเปลี่ยนโลกอันหอมหวานชวนฝันของเขาและดอริสให้ค้างเติ่งนองและจบสิ้นไม่ต่างจากโลกใบเก่า คล้ายคลึงกับอดีตชาติ ดังนั้นการมาบรรจบพบกันกับด็อดจ์ที่ใช้หลักการดึงความทรงจำกลับมา ทำให้เฟร็ดดี้ได้มีโอกาสฟื้นตะเข็บหาความทรงจำของโลกใบเก่าหรือดึงภาพฝันวันวานของความรักอันบริสุทธิ์กลับคืนมาอีกครั้งนั่นเอง



ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ เฟร็ดดี้ จะรู้สึกรักใคร่ ด็อดจ์ ในฐานะพ่อ,พี่ชาย,เพื่อน ที่สามารถทำให้เขาสามารถรู้สึกกล้าเผชิญยอมรับสถานการณ์อดีตที่เลวร้ายของชีวิต ทำให้ชีวิตเขากลับไปค้นพบความสุขที่รอคอยจากความรัก แต่ก็ยังเกิดปัญหาต่อไปว่าทำไมเขายังอ้อยอิ่งไม่รีบกลับไปหาดอริสหญิงคนรักที่รอคอยเขาอยู่ในทันที

ภาพการเรียนรู้ของเฟร็ดดี้เพิ่มระดับดีกรีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่จนแล้วจนรอดผู้ชมก็ยังต้องแปลกใจว่าเหตุใด เฟร็ดดี้ยังคงทำตัวป่าเถื่อนเหมือนเดิม แม้กระทั่งการทดสอบปฎิบัติการของลัทธิอย่างเคร่งครัดที่ทำให้เขาต้องเจอบททดสอบสุดหินในการถูกตอกย้ำเรื่องราวในอดีต หรือแม้กระทั่งการพยายามดึงสัญชาตญาณดิบของเขาออกมา เพื่อให้เขาเรียนรู้ที่จะนิ่งเฉยและปล่อยวาง การเดินกลับไปกลับมาระหว่าง ผนังและหน้าต่าง ทำให้เห็นว่า บางครั้งเฟร็ดดี้นิ่งเฉย และรับมือกับอารมณ์ได้อย่างฉับพลัน แต่ในบางครั้งก็เหมือนเขาไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย จนกระทั่งเขาทำสำเร็จในการปฎิบัติผ่านอย่าง-งงๆ

ข้อสันนิษฐานที่ผู้เขียนคิดว่าการที่เฟร็ดดี้ทำข้อทดสอบผ่านได้นั้นก็เพราะ พลังจินตนาการและมองการณ์ไกลไปในสิ่งที่ไม่ใช่วัตถุตรงหน้าซึ่งมันสอดคล้องได้ดีกับวิธีคิดของลัทธิ ดังที่จะเห็นว่า ตลอดเวลาเฟร็ดดี้มักยังมองว่า ผนังคือผนังและหน้าต่างคือหน้าต่าง แต่ประโยคสุดท้ายก่อนที่เฟรดดี้จะผ่านบททดสอบ เขาได้มองหน้าต่างเป็นสิ่งอื่น ที่ไกลเกินกว่าข้อจำกัดของวัตถุ ซึ่งเขาบอกว่าเขาได้คว้ามือไปถึงดวงดาว นี่อาจเป็นเหตุผลที่เฟร็ดดี้ทำสำเร็จตาม แนวคิดของกลุ่มคือ ‘ระลึกความทรงจำ’ ซึ่งถูกเปลี่ยนมาเป็นการ ‘นึกคิด’ ซึ่งไม่ต่างจากการใช้สมองจินตนาการเลย



ภาพยนตร์ตอกย้ำแนวคิดเรื่องชีวิตที่ไร้เป้าหมายของเฟร็ดดี้ ในฉากขับมอเตอร์ไซค์กลางทะเลทราย ในแง่หนึ่งฉากนี้แสดงให้เห็นว่าผู้กำกับต้องการโชว์ศักยภาพของความน่าตื่นตาตื่นใจของกล้อง 65 มม. แต่ถ้าเปรียบเทียบกับฉากนี้เข้ากับฉากกลางท้องทะเลมหาสมุทรจะพบว่ามีความคล้ายคลึงกันในแง่ของความหมาย ทะเลทรายที่พัดหลุดทิศหลุดทางไปตามกระแสแรงลม จะต่างอะไรกับมหาสมุทรคลื่นลอยเวียนวนสะเปะสะปะ ภาพยานพาหนะของเรือกลางมหาสมุทร จะต่างอะไรกับมอเตอร์ไซค์กลางทะเลทราย

ก่อนที่ด็อดจ์จะชี้ทิศทางเป้าหมายที่จะขี่ไปโดยใช้เครื่องยนต์กลไกนำทาง ก่อนกลับมาผลัดเวร ให้เฟร็ดดี้ได้รู้จักเป้าหมายที่ตัวเองได้เลือกบ้าง แม้เขาจะเลือดจุดใดจุดหนึ่ง แต่สุดท้ายจะพบว่า เขาตะบึงห้อไปไกลบิดคันเร่งสุดกำลังไม่เกรงกลัวหินกล้าและพื้นทรายที่ขรุขระ ก่อนที่จะหนีไปไกลเกินกว่าเป้าหมายที่เขาชี้ไว้ นี่เป็นความชัดเจนว่าต่อให้เขาผ่านการเรียนรู้ในลัทธิ Cause ซึ่งทำให้สามารถเลือกเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิได้ แต่ชีวิตอันไร้ทิศทางของเขาก็ยังเป็นสิ่งที่อยู่ในจิตวิญญาณมากกว่าสิ่งใดๆทั้งหมด ผ่านการเปรียบเทียบว่า เฟร็ดดี้ไม่ยอมติดหล่มเป้าหมายหรืออนาคตใดๆของชีวิตเสียเลย

ภาพฉากต่อมาที่เฟร็ดดี้ตัดสินใจกลับมาหาดอริสหญิงที่รัก เป็นข้อยืนยันว่าเขาได้ต่อสู้กับจิตใจตัวเองในการย้อนกลับมาเยือนบ้านเกิดที่เคยมีหญิงสาวแสนดีงามรออยู่อีกครั้ง น่าสงสัยว่าการที่เฟร็ดดี้ไม่ยอมกลับมาหาดอริสหลังสงครามตั้งแต่แรกนั้นเพราะผลกระทบจากโรคจิตเวชที่ได้กล่าวไป แต่ถ้าลองพินิจพิเคราะห์ให้ซับซ้อนขึ้น อาจพบความหมายเพิ่มมากขึ้นก็เป็นได้ - ผลกระทบจากสงครามที่เขาได้ฆ่าศัตรูตายอย่างเหี้ยมโหดอาจทำให้ชีวิตเขานอนกองจมปลักอย่างไม่มีวันให้อภัยตัวเอง ภาพความโหดร้ายของสงครามสะท้อนความเป็นสัญชาตญาณดิบที่ปรากฎออกมาผ่านความต้องการทางเพศอย่างโจ่งแจ้งไร้การควบคุม นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เขารู้สึกไกลห่างและไม่คู่ควรต่อตัวดอริส ต่อไป



ภาพของดอริส ผู้ชมจะพบในฉากที่เฟร็ดดี้หวนรำลึกให้เรารู้จักผ่านจิตใต้สำนึก เธอเป็นผู้หญิงวัย 16 ที่แสดงถึงความเยาว์วัย -ความเยาว์วัยนั่นอาจมาพร้อมกับหญิงสาวพรหมจรรย์ ซึ่งเป็นสิ่งสูงส่งผ่านการให้คุณค่าตั้งแต่อดีตกาล ยิ่งตอกย้ำจากบุคลิกบนม้านั่งระหว่างเฟร็ดดี้กับดอริส เฟร็ดดี้ดูโอดเกร็งขี้อาย ซึ่งผิดกับดอริสที่ดูสง่าน่ารัก แสดงถึงการไม่คู่ควรในกันและกัน ความคิดการไม่คู่ควรอาจแผ่ซ่านสะท้อนในจิตสำนึกของเฟร็ดดี้มาตั้งนาน แต่เหตุการณ์หลังสงครามมันยิ่งฉุดเขาลงเหวลึกจนไม่กล้าเผยอดอมดมดอกไม้เช่นเธอได้อีกต่อไป นี่จึงเป็นเหตุผลของการหนีไปข้างหน้า แทนที่จะกลับไปสู่ข้างหลัง(อดีต)

อย่าไรก็ตามแม้การผ่านบททดสอบจากลัทธิ Cause จะทำให้เขากล้าเผชิญหน้ากับความเป็นจริงที่รู้อยู่แก่ใจว่าเขาไม่มีค่าคู่ควรกับความรักของดอริสเลย การกลับมาในคราวนี้จึงเป็นการบ่งบอกว่าเขาได้ยกระดับจิตใจในการยอมรับได้แล้ว โดยความชัดเจนเกิดขึ้นเมื่อแม่ของดอริสกล่าวว่าเธอแต่งงานมีลูกแล้ว ซึ่งมันทำให้เฟร็ดดี้เจ็บใจปวดร้าวเป็นที่สุด อาจมากเท่าเหตุการณ์สงครามเลยด้วยซ้ำ แต่เขาสามารถระงับอารมณ์ของตัวเอง ที่อัดอั้นอยู่เต็มหัวใจ โดยการหัวเราะ อีกทั้งยังสอบถามสารทุกข์สุขดิบความเป็นอยู่รวมทั้งเรื่องของสามีเธอ จนได้ความว่า เธอได้เปลี่ยนชื่อเป็น ดอริส เดย์ เรียบร้อย

ซึ่งถ้าลองสืบเสาะหาประวัติรวมทั้งบุคลิกของดาราที่ชื่อ ดอริส เดย์ จะพบความเชื่อมโยงในแง่บุคลิกของดอริสทั้งสองได้อย่างดี ดอริส เดย์ ถูกตั้งฉายาในวงการฮอลลีวู้ดว่า ‘wholesome girl next door’ ภาพลักษณ์ของเธอเป็นหญิงสาวสดใสบริสุทธิ์ คอยปลอบประโลมให้ผู้ชายกระชุ่มกระชวย โดยปราศจากเรื่องเซ็กซ์เชิงยั่วยุกามารมณ์มาปะปน ซึ่งเป็นภาพขัดแย้งที่เราพบในตัวของเฟร็ดดี้ นี่จึงอาจเป็นเหตุผลที่ตอกย้ำความไม่คู่ควรของเขาและเธอ และด้วยความสูงส่งคุณค่าทางจิตใจที่เฟร็ดดี้ได้มอบให้เธอ มันยากนักที่จะกลับไปในสภาพที่บอบช้ำทั้งร่างกายและจิตใจ และการได้รู้ว่าเธอได้พบคนใหม่และแต่งงาน ด้วยความเจ็บปวดแสนสาหัส โดยไม่มีการระเบิดอารมณ์แต่อย่างไร เพราะนี่อาจเป็นความสบายใจของเขาก็เป็นได้ที่เธอได้พบเจอคนที่คู่ควร- ดีกว่าให้เธอต้องจมปลักกับคำมั่นสัญญาที่เธอให้ไว้กับเขา และต้องทุกข์ระทมกับการอยู่เคียงข้างปีศาจร้ายเช่นเขาตลอดไป



ย้อนกลับไปมาสู่โครงเรื่องหลักของภาพยนตร์ ความสัมพันธ์ระหว่าง แลนคานเตอร์ ด็อดจ์ กับ เฟร็ดดี้ เคว็ล ทั้งสองถือเป็นคู่ตรงข้ามในแง่ของบุคลิกของตัวละคร ด็อดจ์เจ้าลัทธิ ที่มีความภูมิฐาน สง่า เก็บอารมณ์และใจเย็น ต่างกับเฟร็ดดี้ อย่างสิ้นเชิง ที่ใช้ชีวิตติดบ่วงของร่างกาย สนองสัญชาตญาณดิบ ใช้ทุกอย่างด้วยอารมณ์ ผ่านรูปร่างหน้าตาและแผลเป็นที่แสดงความไกลห่างจากมนุษย์ลงทุกๆที

เป็นไปได้ว่าแม้ทุกคนในครอบครัวด็อดจ์จะมั่นใจว่า การรักษาเฟร็ดดี้ จะทำให้ทางลัทธิพบเจอคำตอบอะไรบางอย่างที่ช่วยเชิดชูให้ลัทธิมีความเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นและถูกยกย่อง แต่ยิ่งเวลาผ่านไปเท่าไร ความรู้สึกที่สามารถรักษาเฟร็ดดี้ให้หายก็ลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ จนทุกคนลงความเห็นด็อดจ์ควรวางมือและยอมแพ้จากกรณีของเฟร็ดดี้เสีย แต่พบว่า ด็อดจ์มีความเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมบางอย่างที่พบเห็นในแววตาของ เฟร็ดดี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า ด็อดจ์พบเห็นความเป็นตัวเองในตัวตนของเฟร็ดดี้ ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะรักษาให้กลายเป็นเช่นเขา หรือแม้กระทั่งพบจิตวิญญาณของตัวเองที่ถูกเก็บกั้นเอาไว้จากลัทธิผ่านตัวตนของเฟร็ดดี้นั่นเอง

ถึงแม้ ด็อดจ์ จะเป็นถึงเจ้าลัทธิก็สามารถหลุดฟิวส์ขาดเหมือนไฟช็อตชั่วขณะเวลาหนึ่งอยู่เสมอๆ เช่นการถูกยั่วยุจากคนที่ไม่เชื่อถือในลัทธิ โดยผ่านการพูดโดยใช้อารมณ์ของด็อดจ์ การสบถคำหยาบคายใส่เฟร็ดดี้เมื่อเขาผายลมออกมาขณะทำการทดลอง หรือจะเป็นการระเบิดอารมณ์แวบขึ้นมาใส่แฟนหนังสือที่ตั้งคำถามว่าทำไมถึงเปลี่ยนกฎพื้นฐานของลัทธิ เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเป้าชนวนแสดงให้เห็นว่า แม้แต่เจ้าลัทธิเอง ก็ยังไม่สามารถจำกัดอารมณ์พื้นฐานเหล่านี้ที่อยู่ในตัวมนุษย์ให้จบสิ้นลงได้ ทำได้แค่เพียงเอาเชือกคล้องมังกรแสนดุร้ายและสอนมันให้เชื่องและพาไปเดินเล่นโดยหารู้ไม่ว่าวันหนึ่งวันใดมันอาจนึกครึ้มทำร้ายเจ้าของให้ถึงแก่ความตายลงได้ทุกเมื่อเชื่อวัน



ดังนั้นการพบปะพูดคุยกันจนถึงขั้นลึกสนิทใจของเฟร็ดดี้ และ ด็อดจ์ จึงมีความหมายที่ต่างไปจากลูกศิษย์และอาจารย์ เพราะต่างคนต่างเต็มเติมในส่วนที่ตัวเองขาดให้รื้อฟื้นกลับมาทางด้านอารมณ์ ทั้งสองจึงมีแรงบางอย่างที่ต้องการเป็นแบบอีกคนหนึ่ง นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมทั้งสองถึงได้เข้าขากันได้เป็นอย่างดี

และด้วยการที่ภาพยนตร์ไม่ได้เล่าอดีตปูมหลังของ ด็อดจ์ ให้ผู้ชมได้รับรู้เลย ก็ยิ่งน่าคิดต่อไปว่า ประวัติของเขานั้นเป็นเช่นไร แต่เท่าที่เราพอจะขมวดขวดรวมหาความเชื่อมโยงกับอดีตของด็อดจ์ พอจะปะติดปะต่อได้ว่า ด็อดจ์นั้นเคยแต่งงานมาแล้วผ่านการเล่าด้วยหน้าตาเรียบเฉยของ เพ็กกี้ ซึ่งสังเกตจากแววตามีความมาดร้ายน่ากลัวแฝงลึกอยู่ในจิตใจ อีกทั้งลูกทั้งสองคน ทั้งอลิซาเบ็ธและวัล ที่สันนิษฐานได้ว่าติดหน่วงบ่วงแหมาจากภรรยาคนเก่า เพราะหากเทียบอายุอานามกับเพ็กกี้ยากนักที่จะเป็นแม่ลูกร่วมสายเลือดกันได้

ฉะนั้นที่กล่าวไปก็ทำให้เห็นพลังทางเพศของเจ้าลัทธิก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ามนุษย์ปุถุชนแต่อย่างใด เหมารวมลูกที่อยู่ในท้องของเพ็กกี้ และเหตุการณ์ช่วยตัวเอง ที่เพ็กกี้สำเร็จความใคร่ให้ ก็ทำให้เชื่อมั่นได้อย่างระดับหนึ่งว่า ด็อดจ์ก็ไม่สามารถระงับจิตระงับใจอารมณ์ทางเพศได้อย่างเป็นปลิดทิ้ง ได้แต่เพียงเก็บกดเอาไว้เป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งไม่ต่างอะไรจากบุคคลสามัญทั่วๆไปเลย



ที่สำคัญเจ้าสำนักที่ดูดีดูเด่นนักหนา หลายครั้งหลายหน ช้างเท้าหลังอย่างเพ็กกี้ ก็ดูเหมือนจะมากระทืบโรงใส่ด็อดจ์อยู่เป็นระยะๆ เช่นฉากบนเรือ ที่หลังจากเกิดการโต้เถียงระหว่างคนที่ขัดคอไม่เชื่อในลัทธิ พลันที่กลับจากห้อง สายตานางมารร้ายพร้อมมาสคาร์ร่าที่เปรอะเปื้อนดวงตาของเพ็กกี้ ก็ถูกระเบิดออกมาผ่านคำพูดมากมาย แต่ที่ดูน่าสงสัย ขณะที่เธอพูดไปนั้น ด็อดจ์ก็กำลังคร่ำเคร่งพิมพ์ดีดเหมือนว่าเขากำลังละเลงคำพูดของเธอใส่กระดาษอะไรเช่นนั้นเลย จนอดคิดไม่ได้ว่า ช้างเท้าหลังเช่นเธออาจมีส่วนร่วมกับลัทธิมากจนผู้ชมไม่สามารถกล้าคิดได้เลย

มิหนำซ้ำเหตุการณ์ที่เธอพยายามเป็นตัวตั้งตัวตีให้รีบกำจัดเฟร็ดดี้ออกจากลัทธิเพราะดูท่าว่าหากให้คนอย่างเฟร็ดดี้ร่วมสังคายนากันต่อไปก็มีแต่ทำให้ลัทธิล่มจม และที่น่าตลกที่สุดเป็นฉากที่เพ็กกี้พรวดพราดเข้ามาสำเร็จความใคร่ให้ด็อดจ์โดยผ่านการใช้คำพูดที่ไม่ต่างจากการทดลองของลัทธิเลย นั่นคือการย้ำถามซ้ำๆ ให้ตอบออกมาอย่างไม่มีสิทธิ์ต้านทาน และยังต่อเนื่องไปทำเช่นกันต่อเฟร็ดดี้ในเรื่องการให้วาดฝันถึงอนาคตและให้เลิกทำเหล้าซะ ซึ่งฉากเหตุการณ์เหล่านี้ค่อนข้างแสดงให้เห็นว่า เพ็กกี้ มีพลังซ่อนเร้นปกคลุมมากเพียงใดต่อ ตัวด็อดจ์และลัทธิ “ถ้าเหนือฟ้ายังมีฟ้าเช่นใด เหนือด็อดจ์ก็ยังมีเพ็กกี้เป็น master เฉกเช่นเดียวก็ว่าได้เช่นนั้น”



ทั้งหมดทั้งมวลทำให้เห็นว่า ภาพยนตร์ The Master ใช้แบล็คกราวน์ของภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นตัวตั้งเพื่อพาผู้ชมไปสำรวจ ภาวะจิตวิญญาณที่หลงทิศหลงทางของเฟร็ดดี้ โดยอยู่ภายใต้อาณัติการบำบัดของด็อดจ์ แต่สุดท้ายก็ทำให้เห็นว่าแม้ด็อดจ์จะค้นหาวิธีทางเช่นไร สุดท้าย เฟร็ดดี้ เคว็ล ก็ไม่ได้กระเตื้องจิตวิญญาณตามแนวคิดลัทธิที่ต้องการเลย เพียงแต่กลับกลายนำเอาวิธีคิดของลัทธิ Cause ให้กลายเป็นของเล่นชิ้นใหม่ในการใช้ชีวิตอันสะเปะสะปะไร้ทิศทางให้แข็งแรงมากกว่าเดิมเท่านั้น ผ่านฉากตลกร้ายที่เฟร็ดดี้ นำเอาบททดสอบของ ด็อดจ์ ไปเล่นเกมส์พิศวาสกับหญิงสาวที่พบกันในบาร์เหล้า

ฉากสุดท้ายของการพบกันของทั้งคู่ ก็เป็นบทสรุปชัดเจนว่าที่ทางของพวกเขาทั้งสองไม่มีทางบรรจบกันได้อีกต่อไป แม้ในใจลึกๆ แล้วด็อดจ์จะอยากให้เฟร็ดดี้อยู่เป็นคู่เพื่อนฝูงร่วมชะตากรรมกับเขาในฐานะเครื่องฉายทางจิตวิญญาณของตนเองต่อไปก็ตาม แต่อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าเขาก็ยังไม่สามารถตัดสินอะไรด้วยความเสรีได้ทั้งหมด ทำให้เขาต้องบีบรัดให้เฟร็ดดี้ นับถือเขาเป็นอาจารย์ หรือไม่ก็เป็นศัตรูคู่อาฆาตต่อไป ซึ่งเฟร็ดดี้เลือกที่จะเป็นอย่างหลัง ก่อนที่ด็อดจ์จะร้องเพลงยื้อเขาไว้ครั้งสุดท้าย ด้วยความหมิ่นเหม่ไปทาง “ฮีโมอีโรติค” อย่างมาก



คำพูดที่ด็อดจ์ พูดด้วยความอาลัยต่อ เฟร็ดดี้ ที่ว่า “ถ้าคุณรู้วิธีเรียนรู้การเป็น Master ได้ด้วยตัวเองโปรดบอกผม คุณจะเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์โลก....”

นี่อาจเป็นคำพูดที่บ่งบอกความเป็นเฟร็ดดี้ได้ทั้งหมดตลอดเรื่อง ต่อให้เขาต้องผจญภยันตรายใดๆ กับภาพยนตร์มหากาพย์ 65 มม.ที่ไม่มีการต่อสู้ซักฉาก นอกจากการต่อสู้กับจิตวิญญาณของตนเอง โดยมีอาวุธคู่ใจเป็นน้ำอมฤต ออกเดินทางด้วยเรือ ดั่งเทพมหาสมุทรแห่งนิยายปกรณัม เพื่อกลับไปหาคนรักที่เป็นหญิงสาวบริสุทธิ์ ที่เฝ้ารอคอยเขากลับมา ภายใต้ต้นแอปเปิ้ล และหากชีวิตไม่ต่างจากเรือที่ล่องไปตามสายน้ำผ่านเดือนผ่านตะวัน โดยไม่มีเป้าหมายอันใดเพราะสุดท้ายแล้ว มหาสมุทรที่กว้างใหญ่ก็จะวนมาบรรจบ ณ จุดเดิม

และนี่คือชีวิตของเฟร็ดดี้ เคว็ล ตัวละครที่ผู้เขียนชื่นชอบและติดอยู่ในใจอย่างห้ามไม่ได้ เพราะนี่คือตัวละครที่มีความอิสรเสรีที่ไม่ยอมตกอยู่ภายใต้อำนาจอันใด แม้จะก้ำกึ่งระหว่างความเป็น The Master และThe Beast (สัตว์เดรัจฉาน) ก็ตาม และแม้จะต้องแลกกับการโดดเดี่ยว เปล่าเปลี่ยว อ้างว้างไร้ผู้คน ท่ามกลางหาดทรายชายทะเล ดวงตาเหม่อลอย ไร้จุดหมายและทิศทาง แต่หากเลือกที่จะเป็น Master ด้วยตัวเอง ก็ต้องเป็นเช่นนี้มิใช่หรือ เพราะฤทธิ์ของจิตวิญญาณเสรีมันหอมหวานมิต่างกับแอลกอฮอล์ผสมน้ำมันเลย

คะแนน 9.5/10
เกรด A+++



ภาพยนตร์ที่ผู้เขียนให้คะแนนมากที่สุดประจำปี 2012

Moonrise Kingdom 9
แต่เพียงผู้เดียว 9
The Cabin in the Woods 8.5
The Avengers 8.25
Looper (2012) 8
From up on Poppy Hill 8
Prometheus 8
The Raid Redemption(2011) 8




Create Date : 06 ธันวาคม 2555
Last Update : 3 กุมภาพันธ์ 2556 21:43:14 น.
Counter : 5222 Pageviews.

4 comments
  
เป็นบทวิเคราะห์ที่สุดยอดมากเลยครับ นับถือๆ
โดย: คนขับช้า IP: 171.6.166.137 วันที่: 6 ธันวาคม 2555 เวลา:22:36:08 น.
  
วิจารณ์ ละเอียด ลึกซึ่ง และเป็นตัวของตัวเองมากเลยครับ
ชอบครับ
โดย: เพิ่งดูมา IP: 124.122.116.242 วันที่: 30 ธันวาคม 2555 เวลา:20:21:21 น.
  
เพิ่งไปดูมาวันนี้ เขียนได้กระจ่างมากเลยฮะ
ว่าแต่ผมสงสัยเรื่องหน่วยสื่อสารนี่มีความหมายแฝงหรือบ่งบอกความสัมพันธ์อะไรของทั้งสองคนหรือเปล่าฮะ
โดย: เพิ่งดูมา IP: 161.200.172.34 วันที่: 13 มกราคม 2556 เวลา:0:56:16 น.
  
หน่วยสื่อสาร ที่กล่าวหมายถึง ความคิดของด็อดจ์เรื่องการเป็นทหารในสงครามหรือเปล่า ถ้าใช่ผมสันนิษฐานว่า เป็นตัวชี้วัดถึงความสนิทแนบแน่นทางจิตไร้สำนึกของคนทั้งสอง ที่ควรต้องอยู่เป็นเพื่อนเคียงบ่าเคียงไหล่กัน แต่ด้วยชะตากรรมของคนทั้งสอง ไม่มีทางที่เขาทั้งคู่จะได้ร่วมทางกัน

การพูดถึงอดีตชาติต้องผ่านจิตไร้สำนึก ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นจริงหรือไม่ แต่จิตไร้สำนึกก็อาจหมายถึงสิ่งปรารถนาที่ต้องการในสิ่งที่ความเป็นจริงให้ไม่ได้

นั่นคือความสัมพันธ์ระหว่างเขาทั้งสอง นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมนักวิจารณ์เมืองนอกถึงได้พูดถึงเรื่องนี้ในเรื่อง ฮีโมอีโรติค เพราะบางสิ่งบางอย่างโดยเฉพาะในตอนหลัง มันทำได้หมิ่นเหม่และน่าคิด เหลือเกิน
โดย: A-Bellamy วันที่: 14 มกราคม 2556 เวลา:1:12:08 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

A-bellamy.BlogGang.com

A-Bellamy
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]