จันดารา ปฐมบท (2012)
สารบัญภาพยนตร์

จันดารา ปฐมบท (2012)


โศกนาฎกรรมยังไม่จบ อย่าเพิ่งตัดสินจันดารา




การสร้างสรรค์ภาพยนตร์ของ”หม่อมน้อย” มีจุดเด่นที่เอกลักษณ์ของการประดิษฐ์ประดอยศาสตร์ละครเวที กับภาพยนตร์ผสานเข้าด้วยกัน ซึ่งนี่เป็นจุดเด่นของ หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล ตลอดระยะเวลาการผลิตงานศิลปะของเขา เห็นได้ชัดจากผลงาน 2 เรื่องหลังสุด ทั้งชั่วฟ้าดินสลาย(๒๕๕๓) กับ อุโมงค์ผาเมือง(๒๕๕๔) สิ่งที่เห็นจากผลงานทั้งสองเรื่องคือการ ดัดแปลงบทประพันธ์ดั้งเดิมเพื่อการตีความใหม่ มิหนำซ้ำยังเป็นภาพยนตร์ย้อนยุคแนวพีเรียดเหมือนกันอีกด้วย

ลักษณะสำคัญที่เห็นได้ชัดในงานของ หม่อมน้อย คือ ทัศนศิลป์ในองค์ประกอบภาพ เครื่ององค์ทรงเครื่อง รวมถึงอุปกรณ์ประกอบฉาก ที่เน้นความอลังการของงานศิลป์ ซึ่งถูกประยุกต์จัดเต็มมาจากละครเวทีที่เขาถนัด แต่งานด้านภาพยนตร์แม้ดูผิวเผินอาจมีมิติที่มิได้แตกต่างกันกับละครเวทีเท่าไหร่นัก แต่ความเป็นจริงแล้ว ทั้งสองศาสตร์มีเอกลักษณ์ที่ไม่อาจเหลื่อมล้ำกันอยู่ได้เลย

ทั้งนี้หากแม้นต้องการดึงส่วนผสมทั้งสองศาสตร์มาผสมกันให้ลงตัว คงต้องใช้ความอุตสาหะพยายามอย่างมาก และหากทำได้สำเร็จผลงานชิ้นนั้นคงได้รับการยกย่องทั้งศาสตร์ภาพยนตร์และละครเวทีอย่างหาที่ติมิได้ แต่อย่างที่กล่าวไปแล้ว ทั้งสองศาสตร์มีความแตกต่างในรูปธรรมอยู่พอสมควร ทำให้การเอนเอียงเน้นไปที่ศาสตร์ใด อีกศาสตร์หนึ่งจะถูกลดค่าลงอย่างช่วยไม่ได้



การกำกับภาพยนตร์ของหม่อมน้อยจึงไม่ต่างจากการใช้เทคนิคละครเวทีใส่ในภาพยนตร์ เพียงแต่ใช้ความสามารถของภาพยนตร์เล่นกับสถานที่และเวลาอย่างอัศจรรย์เท่าที่ละครเวทีทำไม่ได้ การแสดงของนักแสดงได้เปลี่ยนจากการเล่นสดต่อหน้าผู้ชม กลายเป็นแสดงต่อหน้ากล้องภาพยนตร์แทน ทำให้กล้องภาพยนตร์ที่เป็นรูปแบบสำคัญในการสร้างศิลปะของผู้กำกับถูกลดฐานะเป็นเพียงสายตาผู้ชมเท่านั้น กล้องที่เคลื่อนอยู่ในหนังของหม่อมน้อยเป็นสิ่งกำหนดสายตาผู้ชมว่าต้องการให้เห็นหรือไม่เห็นอะไรเพียงเท่านั้น ไม่ได้ใช้กล้องแสดงภาพความรู้สึกหรือเล่าเรื่องเท่าที่ควร แต่ใช่ว่าจะไม่มีการใช้เทคนิคด้านกล้องอยู่เลย เพียงแต่ใช้อย่างน้อยนิดที่สุดเท่านั้น

ดังนั้นเทคนิคการเล่าเรื่องที่สำคัญในขณะที่กล้องถูกลดฐานะไป จึงตกอยู่กับการแสดงอย่างช่วยไม่ได้ ความหมายแต่ละฉากที่ออกมา จึงรับรสได้จากการแสดงและบทสนทนาเพียงเท่านั้น โดยคำพูดนั้นถือเป็นส่วนที่จะแสดงความหมายได้อย่างดีที่สุด ในวาระที่กล้องไม่สามารถทำหน้าที่อย่างเต็มประสิทธิภาพของตัวมัน เป็นผลให้ภาพยนตร์ของหม่อมน้อยใช้การสื่อสารด้วยคำพูดเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารระหว่างบุคคล หรือเสียงบรรยายของตัวละคร และที่สำคัญการแสดงด้วยภาษาทางร่างกาย ซึ่งออกมาอย่างมากล้น เหมือนเช่นหนังเงียบขาวดำไร้เสียงยุคก่อนปี ค.ศ. 1930 เพราะต้องการขับเน้นความหมายออกมาทั้งๆที่องค์ประกอบพื้นฐานของภาพยนตร์ปัจจุบันได้ช่วยขับเน้นออกมาให้เห็นแล้วก็ตาม ทั้งการใช้มุมกล้องระยะใกล้ การใช้เสียงดนตรีประกอบ หรือบทสนทนา

ภาพยนตร์จันดารา เป็นผลงานที่ใช้หลักการเดียวกันตามเอกลักษณ์งานกำกับของหม่อมน้อยที่กล่าวมาข้างต้น เพียงแต่ จันดารา มีสาระหลักที่ต้องการทำให้เห็นโศกนาฎกรรมชีวิตของจัน และวิปริตตัณหาเรื่องเพศที่เป็นเครื่องมือแสดงอำนาจของชีวิตมนุษย์ และด้วยการที่มีตัวละครมากมายจึงไม่สามารถเล่าจบได้ภายในภาคเดียว ด้วยเหตุผลว่าตัวละครทุกตัวต่างมีปม และต้องการปูเบื้องหลังของตัวละครให้ครบเพื่อเพิ่มอรรถรส



แต่ด้วยวิธีการนำเสนอที่ใช้หลักการหาความหมายหรือดำเนินเรื่องจากบทสนทนาและการแสดง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่ทำให้หนังมันแสนยืดยาว เพราะกว่าจะผ่านไปแต่ละฉากของภาพยนตร์ได้นั้น ใช้เวลามากโขหลายนาที แต่ถ้าลองแตกฉากนั้นออกมาให้เห็นแล้ว เทียบกับความคุ้มค่าที่ได้จากการแสดงเพื่อกะเทาะความหมายที่ได้จากฉากนั้นออกมา เทียบกับเวลาที่สูญเสียไป เห็นได้ว่าบางฉาก บางช่วงหรือบางตอน มันแสดงถึงการยืดมากจนเกินไปในเวลาของภาพยนตร์เพราะความหมายที่ได้คืนมานั้นกลับมีนิดเดียว ดังคำที่ว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย”ดีๆนี่เอง

ยกตัวอย่างเช่น การเปิดตัวละคร เคน กระทิงทอง(นิว ชัยพล) ที่ต้องการปูถึงความแข็งแรงของร่างกาย รวมทั้งการสนิทสนมกับ จัน แต่ต้องเน้นย้ำทั้งการโชว์การชกมวยอย่างยาวนาน เพื่อจะบอกว่า เคน แข็งแรง ที่สามารถปกป้อง จัน ได้ ในฉากที่ จัน กำลังจะโดนข่มขืน ซึ่งเป็นการยืดยาดคูณ 2 เพราะเป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงความอ่อนแอและไร้อำนาจของจัน ซึ่งนี่คือบางฉากที่ผู้เขียนยกตัวอย่างมา เพื่อจะบอกว่า จันดารา เวอร์ชั่นนี้ มีฉากที่เป็นลักษณะยืดยาวกินเวลานานกว่าสิ่งที่จำเป็นมากเลยทีเดียว ทั้งๆที่ บางฉากเป็นเพียงแค่การบ่งบอกคาแรคเตอร์หรือเน้นย้ำอะไรบางอย่างที่มากเกิน โดยยังไม่เข้าสาระสำคัญของเรื่องด้วยซ้ำไป

เช่นเดียวกับฉากเซ็กซ์ ที่ถูกประโคมใส่ผู้ชมอย่างมากมาย เพื่อจะบ่งบอกแรงขับดันด้านเพศของตัวละคร และความดำมืดของจิตใจ แต่สิ่งที่ปรากฏให้ผู้ชมเห็นนั้นกลับขัดแย้งในตัวมันเอง เซ็กซ์ถูกนำเสนออย่างสวยงามและหอมหวาน ทั้งการใช้ฉาก การจัดแสงและเงา ลีลาท่าประกอบ สโลว์โมชั่นนิ่งไหว ทำให้ในปฐมบทนี้ไม่เห็นวี่แววของการเปิดเปลือยความดำมืดที่ควรจะเป็นออกมาได้เลย หรือรวบรัดว่า มันไม่ได้ทิ้งปมแก่นสารอะไรเอาไว้ตามเนื้อเรื่องเลยยกเว้นแต่ เล่าเรื่องดั่งว่าแก่นเรื่องของมันคือ เซ็กซ์คือสิ่งงดงาม แรงขับดันทางด้านเพศมีอยู่ในทุกคนและควรใช้มันออกมาเหมือนดังเป็นสัญชาติญาณจงอย่าปกปิดมันเอาไว้ และจงใช้อำนาจกดขี่เท่าที่เราต้องการอย่างสาสม(นี่คือความคิดหลักที่ได้รับจากภาคนี้ โดยไม่รวมภาคจบ)



ส่วนเรื่องการแสดงซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในขับแก่นสาระของเรื่องตามที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งพบวิธีการใกล้เคียงจาก 2 เรื่องก่อนหน้านี้ของหม่อมน้อย คือ การแสดง”เยอะ” ตามแบบละครเวที แต่ด้วยข้อจำกัดที่ต่างกัน ของละครเวทีกับภาพยนตร์ โดยละครเวที แสดงเยอะเพื่อแสดงอารมณ์ให้ถึงคนที่นั่งหลังสุดเพื่อให้คุ้มค่ากับตั๋วเข้าชม แต่ภาพยนตร์การแสดงเยอะไปไม่ได้ทำให้ผู้ชมรู้สึกคุ้มค่ามากขึ้นแต่อย่างใด กลับทำให้ผู้ชมรู้สึกเกิดอารมณ์ไม่จริงขึ้นมาในจิตใจ อาจเพราะการที่มันไปปรากฏอยู่บนจอภาพยนตร์ขนาดใหญ่มหึมา(ผู้เขียนสงสัยถ้ามันอยู่ในหน้าโทรทัศน์ที่เล็กลงอาการเยอะที่ว่าอาจลดจนถึงขั้นพอดีก็เป็นได้)

แต่ใช่ว่าทุกคนจะเล่นเยอะอย่างที่ว่าไว้ เพราะตัวละครบางตัวก็เล่นน้อยจนแอบแปลกใจว่าเป็นการให้เสรีภาพในการแสดงออกของนักแสดงใช่หรือไม่ เหมือนว่าทีมงานแสดงแค่บอกนักแสดงให้เข้าใจถึงตัวตนและจิตใจของตัวละคร ส่วนการแสดงออกมานั้นเป็นหน้าที่ของนักแสดงในการแสดงออกมา มากน้อยถือเป็นวิธีการที่แตกต่างกันไป ซึ่งจุดนี้ถือเป็นการเรียกศักยภาพที่ดีของนักแสดง แต่ในอีกแง่หนึ่งเมื่อมันอยู่ในภาพยนตร์เรื่องเดียวกัน โดยมีการแสดงที่เหมือนไม่ได้ถูกควบคุมให้อยู่ในระนาบเดียวกันมันทำให้เกิดความรู้สึกแปลกแปร่งอย่างถึงที่สุด

ส่วนการใช้ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ ซิกมันต์ ฟรอยด์เข้ามาใส่ตัวละคร โดยเฉพาะตัวละครจันที่เห็นชัดเจนจากการติดปมโอดิปุส(Oedipus complex) ที่รักแม่ อิจฉาพ่อ ทั้งที่อยากกำจัดพ่อ แต่กลัวที่จะถูกกลไกทางจิตสำนึกจะทำโทษ ภาพยนตร์ทำให้เห็นถึงการลงโทษด้วยไม้เรียวที่ตีจันในวันที่จันรู้สึกฉันท์ชู้สาวกับคุณบุญเลื่อง(รฐา โพธิ์งาม) จนเกิดรู้สึกผิด(ฉากนี้ใช้กล้องเป็นมากกว่าสายตาผู้ชม เล่นกับความรู้สึกผู้ชมด้วย)



แต่ถ้าลองมองสิ่งที่หนังนำเสนอออกมาแล้วนั้นจะพบว่า ตามหลักแล้วปมโอดิปุส จะหมดไปเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น แต่ด้วยวัยของ จันที่เห็นในภาพยนตร์แล้ว ทำให้ความน่าเชื่อถืออันนี้มีน้ำหนักไม่เพียงพอ โดยเฉพาะการโหยหา หน้าอกของผู้เป็นแม่ ซึ่งหมายถึงหน้าอกของ น้าวาด(บงกช คงมาลัย) โดยปริยายน้าวาดเป็นผู้เลี้ยงดูจันแต่เด็กจนเหมือนเป็นแม่ แต่ตามทฤษฎีแล้วนั้นการโหยหาอยากดูดนมแม่นั้น จะอยู่ช่วงเด็กแรกเกิดจนอยู่ในราวหนึ่งปี แต่ภาพยนตร์พยายามเน้นย้ำการโหยหาหน้าอกแม่ แม้กระทั่ง จัน โตเป็นวัยรุ่นแล้วก็ตาม โดยการเน้นย้ำการสลับภาพ การมีเซ็กซ์ระหว่างคุณหลวงกับน้าวาดเข้ามา กับใบหน้าของจัน และที่ยิ่งน่าตลกคือการเน้นสีชมพูจุดเดียวในจอภาพ เพื่อเน้นย้ำการโหยหาตรงจุดนั้น

แน่นอนว่ายังรวมถึงการโหยหาหน้าอกของคุณบุญเลื่องด้วยก็ตาม ทั้งๆที่มันน่าจะเป็นการ ต้องการทางเพศเพื่อต้องการเอาชนะพ่อให้ได้มากกว่าจะเป็นการโหยหาหน้าอกแม่เพียงแค่นั้นเหมือนดั่งว่า จันยังเป็นเด็กแบเบาะ และนั้นทำให้อาจเกิดปัญหาในการฟูมฟักแรงแค้นของ จัน จะมีน้ำหนักพอไหมในการกลับมาแก้แค้นในภาคต่อไป (เรื่องทฤษฎีจิตวิทยานี้มีตั้งแต่ในวรรณกรรม แต่การถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์ ยังทำให้ปมตรงจุดนี้ไม่ได้น่าค้นหาเท่าที่ควร )

รวมถึงการเน้นบริบทการเมืองในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ เข้ามาซ้อนทับกับเรื่องราวในบ้าน วิสนันท์ของคุณหลวง แต่เป็นในลักษณะของการทำให้เห็นถึงความชัดเจนของหม่อมน้อยในการแฝงทัศนคติชัดเจนว่า เป็นการวิพากษ์วิจารณ์การปฎิวัติของคณะราษฎรที่ทำให้สยามประเทศรับวัฒนธรรมฝรั่งเข้ามามาก โดยเฉพาะการเปรียบเปรย ในการขึ้นเป็นใหญ่ในบ้านวิสนันท์ ของคุณหลวง ด้วยคำว่าเป็นการปฎิวัติรัฐประหาร และยังใช้คำแดกดันประชดประชันว่าคุณหลวงเป็นเหมือนสัตว์ แต่การซ้อนทับการเมือง และการใช้คำที่แทบไม่ต้องตีความ ทำให้เห็นชัดถึงทัศนคติทางการเมืองที่ไม่ต้องผ่านการครุ่นคิดตีความ จะพบว่าผู้กำกับต้องการสื่อสารและวิพากษ์อะไรในสังคมไทย



แต่ด้วยวิธีการที่กล่าวมาจึงแลดูเหมือนเป็นการสั่งสอนผู้ชมเสียมากกว่า (ที่ใช้คำสั่งสอนเพราะทำได้อย่างไม่แนบเนียน) และยิ่งการนำเสนอภาพของฝรั่งเป็นเหมือนสิ่งอื่นในภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการวิพากษ์ถึงสังคมไทยในช่วงเวลานั้นที่เปิดรับวัฒนธรรมฝรั่งเข้ามาอย่างมาก ด้วยการนำเสนอให้บ้านของวิสนันท์เป็นบ้านที่เปิดไม่เว้นแม้กระทั่งคนใช้อย่าง ไอเคน ที่สามารถออกไปนอกบ้านได้ เหมือนเป็นสัญญะของเปิดรับที่เลื่อนไหลไปที่ต่างๆ ทั้งการเดินทางไปต่างประเทศของคุณท้าวพิจิตรรักษา(รัดเกล้า อามระดิษ) หรือการจัดปาร์ตี้ในวันที่คุณหลวงเลี้ยงต้อนรับคุณบุญเลื่องเข้าบ้านเป็นวันแรกซึ่งมีแขกเหรื่อเป็นฝรั่ง

แต่ที่ตลกร้ายคือ หญิงฝรั่งที่เข้ามาได้เสียกับเคน เป็นเหตุให้เคน ติดโรค ซึ่งเป็นนัยแฝงแห่งการการวิพากษ์ฝรั่งที่เป็นดั่งโรคร้ายของสังคมไทย และยังรวมถึงสถานะภาพของคุณบุญเลื่องที่ไปอาศัยอยู่ในปารีส หรือจะเป็นการเรียนพิเศษภาษาอังกฤษของจันและไฮซินท์(สาวิกา ไชยเดช)เอง ซึ่งถ้าขมวดรวมและครุ่นคิดจากสิ่งที่ผู้กำกับต้องการบอกอาจหมายถึง การป้ายความชั่วร้ายทั้งหมดให้กับการที่สยามประเทศเริ่มรับวัฒนธรรมตะวันตกในรัชกาลที่ 6 จนถึงขั้นเกิดการปฎิวัติจากคณะราษฎร จนเป็นเป็นเนื้อร้ายให้เห็นจนถึงทุกวันนี้

จากทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้เห็นว่า ตลอดระยะเวลา 2 ชั่วโมงครึ่งในโรงภาพยนตร์ กับภาพยนตร์เรื่องนี้ยังไม่ได้คืบหน้าทางแก่นเรื่องที่หนังจะนำเสนอเท่าที่ควร ทั้งที่ความจริงแล้ว มันสามรถลดทอนรายละเอียดต่างๆให้มันกลมกล่อมพอดีคำอย่างไม่ยากนัก แต่จากสไตล์ของผู้กำกับที่มั่นคงกับการใช้การจัดแสดงทางละครเวทีเข้ามาอยู่ในงานของภาพยนตร์ ทำให้การเล่าเรื่องยังยึดติดด้วยการนำเสนอแบบ ฉากชนฉาก (มักเฟดดำเมื่อจบฉาก เช่นการปิดม่านเปลี่ยนฉากในละครเวที) ทำให้ทุกสิ่งดูอืดอาดยืดยาด ไม่ได้ก้าวหน้าเท่าที่ควร แม้มันจะอุดมไปด้วยความสวยงามเคลือบแฝงตลอดเรื่องให้ผู้ชมได้เอนหลังพิงเก้าอี้เฝ้าติดตามอย่างสบายอุราก็ตาม



แต่หากวัดระดับความคุ้มค่ากับสาระของวรรณกรรมเรื่องนี้ที่กำลังนำเสนอออกมาผ่านคุณค่าของภาพยนตร์แล้วนั้นยังนับว่ามีข้อบกพร่องอยู่พอสมควร ไม่ใช่เพราะความน้อยไป แต่เพราะที่ความที่หนังใส่ทุกอย่างมากล้นในทุกๆขั้นตอน แต่วิธีการเหล่านั้นไม่ได้ขับเน้นให้สิ่งที่บอกออกมาอย่างโดดเด่น ทำให้สิ่งที่ทำนั้นเกือบเสียเปล่าเลยทีเดียว หรือภาษาภาพยนตร์เรียกว่า “ทำมากแต่ได้น้อย” นั่นเอง

สุดท้ายจึงกล่าวได้ว่า ภาพยนตร์จันดารา ปฐมบท จึงดูเหมือนการเริ่มต้นอย่างที่ ทีมผู้สร้างต้องการให้เป็นจริงๆ เพราะมันเป็นเพียงการที่พาผู้ชมไปรู้จักตัวละคร ที่มาที่ไปและปูมหลังเพียงเท่านั้น หากเปรียบเป็นภาพยนตร์เพียงหนึ่งเรื่อง ปฐมบทจึงเป็นเพียงการ เริ่มเข้าสู่ความขัดแย้ง ซึ่งเกิดขึ้นหลังจาก จัน ต้องหนีไปอยู่ในเมืองพิจิตร และความเข้มข้นทั้งหลายจะเริ่มบังเกิดขึ้นในภาคปัจฉิมบท โดยหวังว่า ภาคหลังนั้นมันจะช่วยยกระดับภาคแรกให้กลายเป็นภาพยนตร์ที่มีคุณค่ามากกว่าเดิมได้ เพราะในแง่ของการดูภาคแรกนั้น คำปลอบใจเดียวคือการอย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจอะไร ได้แต่คล้อยตามกับคำพูดคนอื่นที่ว่า

“โปรดติดตามชมบทสรุปต่อไป”
“จันดารา ปัจฉิมบท”

คะแนน 6/10
เกรด C



อ่านบทความเรื่องอื่นได้ที่:สารบัญภาพยนตร์

ภาพยนตร์ของหม่อมน้อยที่เคยเขียนถึง
อุโมงค์ผาเมือง




Create Date : 14 กันยายน 2555
Last Update : 18 ธันวาคม 2555 17:43:12 น.
Counter : 9688 Pageviews.

3 comments
  
ดูแล้วก็ยังติดอยู่ตรงที่
คุณหลวง จะอาฆาตอะไรขนาดนั้น !!
ทั้งที่ ถูกจ้างวานให้มาแต่งงานกับดารา ??

รอวิจารณ์ “จันดารา ปัจฉิมบท” อยู่นะครับ
โดย: Sarun IP: 58.8.140.169 วันที่: 22 เมษายน 2556 เวลา:17:38:40 น.
  
ดีมาก
โดย: ืีีเ่เต IP: 110.77.200.9 วันที่: 14 มกราคม 2557 เวลา:21:13:23 น.
  
ดีมาก
โดย: แต IP: 110.77.200.9 วันที่: 14 มกราคม 2557 เวลา:21:14:56 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

A-bellamy.BlogGang.com

A-Bellamy
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]