แต่เพียงผู้เดียว (2011)
สารบัญภาพยนตร์

แต่เพียงผู้เดียว (2011)


มีมนุษย์ มีเรื่องเล่า ฉันจึงมีชีวิต




*เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์ เหมาะสำหรับผู้ที่ชมแล้ว*

ภาพยนตร์ “แต่เพียงผู้เดียว” ของผู้กำกับ คงเดช จาตุรันต์รัศมี (สยิว,เฉิ่ม,กอด) เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ คงเดช เบนเส้นทางจากสายสตูดิโอ มุ่งหน้าสู่สายอิสระโดยได้รับทุนจากโครงการ ‘ไทยเข้มแข็ง’ และทุนสมทบจากที่อื่น จนได้รับการคัดเลือกไปฉายตามเทศกาลทั่วโลกทั้ง เทศกาลเมืองเวนิส,เทศกาลลอส แอนเจลีส ,เทศกาลปูซาน และเทศกาลอื่น อีกมากมาย ซึ่งเป็นเครื่องการันตีคุณภาพก่อนที่วกกลับเข้ามาฉายในประเทศไทยแบบจำกัดโรง

ทันทีที่ ‘แต่เพียงผู้เดียว’ ฉายที่โรงฯ ‘ลิโด้’ และ ‘เอสพลานาด รัชดา’ เพียง 2 รอบต่อวันใน 1 สัปดาห์ แต่เนื่องด้วยปรากฏการณ์ที่ยากจะเกิดขึ้นกับวงการภาพยนตร์อิสระไทยนั่นคือ มีผู้ชมหลั่งไหลเข้ามาชมอย่างเนืองแน่นจนล้นโรง ต้องใช้เก้าอี้เสริม หรือแม้กระทั่งแปะป้ายหน้าโรงว่า “เต็ม” เป็นการบ่งชี้ว่า แม้ “แต่เพียงผู้เดียว” จะไม่ใช้หนังตลาด แต่หากมีวิธีการสื่อสารที่ดีต่อผู้ชมกลุ่มเป้าหมาย มันก็สามารถต่อลมหายใจให้หนังเดินหน้าฉายต่อไปอย่างเชิดหน้าชูตา และเป็นเรื่องที่ดีต่อวงการภาพยนตร์ไทยในอนาคตอีกด้วย

อย่างไรก็ตามส่วนหนึ่งในความสำเร็จนั้นใช่ว่าจะเกิดจากคนดูหนังอิสระเพียงอย่างเดียวแต่มันได้ผสานร่วมกับกลุ่มคนฟังเพลงนอกกระแสของ เล็ก Greasy Café จากค่ายเพลง Smallroom ที่ได้รับเลือกให้มาแสดงนำในภาพยนตร์ ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นการตลาดของผู้กำกับหรือไม่ แต่เป็นวิธีการบรรจบที่เหมาะสมระหว่างนักร้องบทเพลงกวีกับความเป็นตัวละคร “เล็ก” ช่างกุญแจซึ่งปราศจากความทรงจำ จึงทำให้ความเป็นเล็กทั้งความจริงและภาพยนตร์ได้ซ้อนทับกันดั่งบทเพลงเพลงหนึ่งของเขา โดยมีชายที่ชื่อ “คงเดช จาตุรันต์รัศมี” คอยกำกับเรื่องราวให้เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น

เรื่องราวสุดเซอร์เกิดขึ้นจากตัวละครธรรมดาสองคน เล็กช่างกุญแจปราศจากความทรงจำ กับ ก้องพนักงานขายหนังสือ อดีตผู้ควบคุมความต่อเนื่องในภาพยนตร์ที่มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียน ก้องได้ไอเดียอันประหลาด ที่ให้เล็กช่วยพาเขาเข้าไปในห้องผู้อื่น เพื่อสำรวจความเป็นไปของผู้อื่นว่าเขาอยู่ ,กิน,คิด และใช้ชีวิตอย่างไร โดยมีข้อแม้ว่าทั้งสองจะไม่ขโมยของใดๆทั้งสิ้นให้เจ้าของห้องต้องเดือดร้อน แต่ด้วยความเสพติดที่เกินพิกัดมันทำให้ชีวิตของทั้งสองต้องถลำลึกลงอย่างไม่มีหนทางใดจะเหนี่ยวรั้งอีกต่อไป



ภาพยนตร์ใช้วิถีทางในการดำเนินเรื่องให้ยุ่งยากด้วยการไม่ลำดับเรื่องตามเวลา ด้วยความที่สถานที่และตัวละครอันน้อยนิดจึงไม่เป็นปัญหาในการปะติดปะต่อเรื่องราวความทรงจำแต่อย่างใด แต่ปัญหาเกิดขึ้นกับการตั้งคำถามของผู้ชมว่าตัวละครไปอยู่ที่นั้นหรือที่นี้ได้อย่างไร หรือเรื่องบางเรื่องที่หนังเล่านั้นมันเกี่ยวอะไรกับหนังทั้งเรื่องกันแน่ ทำให้หลังดูจบผู้ชมสับสนกับวิธีคิดของตนเอง และการใคร่ครวญกับเพื่อนเพื่อหวังจะได้รับคำตอบให้กระจ่างกลับยิ่งทำให้จินตนาการแต่ละคนเลยเถิดไปกันใหญ่ การดูมากกว่า 1 รอบ มิได้ทำให้คลายความสงสัย เพราะไม่สามารถแน่ใจอะไรได้เลยว่าสิ่งใดคือเรื่องจริง หรือเป็นเพียงจินตนาการของตัวละคร ส่วนหนึ่งเพราะภาพยนตร์พยายามปูทางให้ผู้ชมเติมเต็มจินตนาการตนเองได้อย่างเสรี จนกลายเป็นหนังของผู้ชมที่ปะติดปะต่อเรื่องราวตามความรู้สึกนึกฝันของตนเองได้ดังใจปรารถนา

หากมุ่งประเด็นหาสิ่งที่ผู้กำกับต้องการสื่อสารจะพบว่า ผู้กำกับใช้ธีมหลักของเรื่องเข้ามาเล่นเกมเชิงจิตวิทยากับผู้ชม เพื่อทำให้ผู้ชมเป็นเสมือนเกมๆหนึ่งที่ผู้กำกับเสนอแนวคิดผ่านเนื้อเรื่อง นั่นคือ มนุษย์เรานั้นประกอบไปด้วยสิ่งที่ไม่ใช่ของเรา แต่เป็นสิ่งที่เราเลือกรับจากสิ่งแวดล้อมรอบกาย สิ่งเหล่านี้ได้หล่อรวมให้เกิดเป็นตัวตนของเรา ซึ่งแนวคิดนี้ได้สอดคล้องและเชื่อมโยงไปกับเนื้อเรื่องในภาพยนตร์ เสมือนผู้ชมเป็นผู้เลือกเชื่อและเลือกรับในสิ่งที่ปรากฏในหนัง ถ้าเราเลือกเชื่อแบบไหน เราก็จะได้ภาพรูปร่างของหนังในแบบที่เราเลือกขึ้นมา ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างไปตามแต่บุคคลเพราะทุกคนมีเครื่องรับทางด้านจิตใจแตกต่างกันไปตามรสนิยมและความรู้สึก ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาก่อนที่จะได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยซ้ำ

“แต่เพียงผู้เดียว”ใช้รูปแบบภาพยนตร์เข้ามาสอดคล้องกับแนวคิดของเรื่องที่ไม่ใช้เพียงเสนอความคิดของผู้กำกับแต่เพียงอย่างเดียวแต่ยังดึงให้ผู้ชมเข้าร่วมอีกด้วย ขอยกตัวอย่าง เรื่อง Memento ให้เห็นภาพ Memento มีวิธีการลำดับภาพจากหลังมาหน้าเพื่อต้องการทำให้ผู้ชมตกอยู่ในอาการเดียวกับพระเอกที่ไม่สามารถจดจำอะไรได้เกิน 5 นาที และการใช้การลำดับภาพเช่นนั้นก็ทำให้ผู้ชมตกสภาพเช่นนั้นจริงๆ นี่จึงเป็นเกมที่เหมือนผู้กำกับใช้หลักจิตวิทยาดึงผู้ชมไปสู่เนื้อเรื่อง “แต่เพียงผู้เดียว" ก็เช่นกัน คงเดช ใช้วิธีลำดับภาพเล่นกับเรื่องราวเพื่อให้ผู้ชมมีแนวคิดไม่ต่างจากสิ่งที่หนังกำลังจะนำเสนอเลย

แต่หากบทความนี้ กำลังพยายามลำดับเรื่องราวที่เหมือนโปสการ์ดแตกกระจาย ให้เรียงต่อกัน ไม่ว่าเช่นไร ผู้เขียนก็จะได้การเรียงต่อวิธีหนึ่งซึ่งเป็นแนวคิดของผู้เขียนเองแต่เพียงผู้เดียว เช่นนั้นผู้เขียนก็ไม่ต่างจากการตกอยู่ในภวังค์เกมของภาพยนตร์เรื่องนี้ ดังที่ผู้กำกับต้องการ ดังนั้นทางที่ดี ผู้เขียนต้องพยายามหลุดรอดออกมาจากเกมแล้วมองหาโครงสร้างที่สูงกว่าให้จงได้ เพื่ออธิบายถึงโครงสร้างที่เกิดขึ้นของภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อหวังที่สามารถตีความภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาได้อย่างสมบูรณ์ (ทั้งๆที่ไม่มีทางเป็นไปได้เลย)



**และบรรทัดต่อจากนี้ไปผู้เขียนจะพาไปสู่ตรรกะของการตีความของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งการตีความของผู้เขียนเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลหลายๆอย่างมาปะติดปะต่อกัน ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ และไม่มีคำตอบให้ด้วยว่า หนังลำดับเรื่องที่แท้จริงเป็นเช่นไร ถ้าใครพร้อมรับฟังความคิดเห็นของผู้เขียน เชิญเลื่อนลงมาอ่านได้เลยครับ**

เริ่มต้นการหาความหมายกับตัวตนของตัวละครหลักแต่ละคน ซึ่งในเรื่องมีตัวละครหลักที่เด่นชัด 3 คน คือ 1.เล็ก 2. ก้อง และ 3. อ้อย

เล็ก คือ ช่างกุญแจ ปราศจากความทรงจำ ผู้ชมจะไม่เห็นเรื่องเล่าและอดีตของเขา รวมทั้งที่อยู่และปูมหลังของตัวละครตัวนี้เลย ยกเว้นเรื่องความรัก ที่เขาตอบก้องไปว่า เขาไม่มีเคยมีความรัก แต่ด้วยการทิ้งช่องว่างนาน ก็อาจจะตีความได้ว่า เล็กอาจมีความรักแต่ไม่ต้องการพูดถึงมัน รวมทั้งคำพูดปริศนา ที่ว่า “คนเรามันจะลืมเรื่องที่เคยทำ ได้จริงๆหรอ” รวมถึงเพลงประกอบภาพยนตร์ “ป่าสนในห้องหมายเลข 1” ท่อนที่ว่า “ฉันตื่นขึ้นในความเป็นจริง ที่ภาพทุกสิ่งไม่เหมือนเคยมาก่อน ฉันปราศจากความทรงจำ สิ่งที่เหลือเป็นเพียงภาพฝันยากจดจำ... เมื่อการมีเธอและฉันมันยากพอกันที่จะลืมหรือจดจำ” ซึ่งถ้าลองเอาความหมายของบทเพลงนี้ไปซ้อนใส่ในตัวละครเล็ก เราก็จะพบตัวตนเล็กที่ภาพยนตร์ไม่ได้กล่าวถึง นั่นคือ เล็กปิดกั้นตัวเองจากความรัก ที่ผิดหวังจากอดีต และต้องการปิดกั้นอดีตของตนเอง เพราะไม่ต้องการให้ความทรงจำในอดีต กลับมาหลอกหลอนความเป็นปัจจุบัน

จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เล็กไม่มีเรื่องราวความทรงจำอะไรเลย แต่ไม่ใช่ว่าเขาไม่มีแต่เขาพยายามลบมันออกจากใจ และการทำงานเป็น ช่างกุญแจ ถ้าเราลองมองสัญญะจากอาชีพช่างกุญแจ จะพบว่า ช่างกุญแจ มีความหมายที่แสดงถึงการทำการคัดลอกให้เหมือนกุญแจต้นแบบอย่างไม่บิดพลิ้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่เล็กเป็นอยู่ นี่เองจึงเป็นการบอกโดยนัยว่า เล็กกำลังต้องการ หนีออกจากชีวิตตนเอง และคัดลอกให้เป็นเหมือนกับบางสิ่ง โดยภาพยนตร์แสดงให้เห็นแล้วว่า เล็กได้กลายเป็นก้อง และหากลองนำไปเชื่อมโยงกับอีกอาชีพหนึ่งที่แทรกเข้ามา โดยเราไม่รู้ว่า เหตุการณ์นี้เกิดเมื่อไหร่ คือ อาชีพคนถ่ายเอกสาร คนถ่ายเอกสารมีความหมายคล้ายช่างกุญแจ ที่มีหน้าที่คัดลอกต้นฉบับเหมือนกัน แม้การถ่ายเอกสารจะไม่ได้ต้นฉบับที่เหมือนเดิมซะทีเดียว แต่ในแง่ของความหมายมันคล้ายคลึงกับช่างกุญแจเป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เล็ก จะกลายเป็นนักคัดลอกชีวิตผู้อื่น (ก้อง) โดยสมบูรณ์เพื่อปิดช่องว่างอดีตในจิตใจ



ตัวละครที่ 2 คือ ก้อง ชายหนุ่ม ที่ต้องการเป็นนักเขียน โดยมีแรงบันดาลใจจาก เรื่อง เจสัน บอร์น ชายหนุ่มที่ปราศจากความทรงจำ เขานำแรงบันดาลใจจากสิ่งรอบกายมาสร้างเรื่องเล่า(หนังสือ)ของเขา และเล็กคือบุคคลที่เหมาะสมกับหนังสือของเขามาก เพราะเล็กมีความเหมือนในแง่ของการไร้ความทรงจำ อีกทั้งเขายังมีความสามารถในการงัดเข้าห้องคนอื่นได้ ทำให้ก้องชวนเล็กเข้าไปในห้องผู้อื่น เพื่อหวังจะมีประสบการณ์ในการเป็นสายลับเพื่อนำมาเขียนในหนังสือ จนเกิดเป็นเรื่อง “เล็กจารชน” ซึ่งทำให้เล็ก กลายเป็นแรงบันดาลใจของก้องในการสร้างเรื่องเล่าของเขา และถ้าลองมองถึงชีวิตของก้อง เรื่องความชอบส่วนตัวเรื่องเพลงคลาสสิคของ โคลด เดอบุสซี ที่ก้องชอบ เพราะเป็นเพลงที่อยู่ในซีดีของ นุ๊ก แฟนเก่าก้อง และยังเป็นเพลงที่อยู่ในความฝันของก้อง ที่ฝันถึงหญิงในฝันอีกด้วย

ก้องจึงเป็นภาพแทนความหมายของนักสร้างเรื่องเล่าจากการได้รับแรงบันดาลใจมากจากสิ่งรอบกาย ก้องจึงดัดแปลงชีวิตของเล็กช่างกุญแจ เป็นเล็กจารชน ดัดแปลงเรื่องต่างๆที่พบเจอในห้องของคนที่เข้าไป มาอยู่ในเรื่องด้วย ดัดแปลงเพลงที่ได้ฟังกับนุ๊ก กลายเป็นเพลงที่อยู่ในความฝัน(ดัดแปลงในระดับจิตใต้สำนึก) ดัดแปลงตัวเองในโลกเสมือนอย่างเฟสบุคให้กลายเป็น ธนา จนเกิดเหตุการณ์ไม่ดีขึ้น ทั้งหมดอาจเห็นภาพของก้องได้ว่า เขาเป็นบุคคลที่เปลี่ยนแปลง และคัดสรรเรื่องเล่าจากสิ่งที่พบหรือได้รับแรงบันดาลใจ เพื่อเป็นนักเล่าเรื่องเสียเอง



ตัวละครสุดท้าย อ้อย หญิงสาว ที่เล็กพบในโรงพยาบาลชนบท เพราะติดโรคปอดอักเสบเพราะดมกระป๋องมาก อ้อยแสดงถึง ความหมายของการที่สิ่งของ หรือตัวตนเรานั้น ไม่ใช่ของเราแต่เพียงผู้เดียว แต่เป็นของผู้อื่นทั้งหมด โดยเรื่องเล่านกยูงของอ้อย เป็นตัวบอกถึงการสวมร่างเป็นผู้อื่นไปเรื่อยๆ จนเราไม่สามารถไปหาสิ่งตั้งต้นในระดับจิตวิญญาณได้อีกต่อไป สิ่งตั้งต้นที่ว่านี้ ภาพยนตร์แสดงถึงความเป็นนกยูงที่กลายเป็นโจรและเจ้าชาย ซึ่งเป็นเรื่องเล่าที่ไม่ต่างจากความเชื่อทางศาสนาพุทธที่ว่า เมื่อเราตายเราก็จะเกิดใหม่ในชาติหน้าไปเรื่อยๆ โดยจะได้เกิดเป็นอะไรนั้นอยู่ที่สิ่งที่ทำในชาติที่แล้ว

ถ้ามองให้ซับซ้อนเพิ่มไปอีกก็จะเห็นว่า ถ้าชาติที่แล้วเป็นอะไร อยู่ที่การกระทำของชาติก่อนหน้านั้นขึ้นไป จนทำให้เราไม่สามารถเห็นถึงสิ่งตั้งต้นได้ เหมือนที่เจ้าชายไม่รู้ว่าตนเองเป็นนกยูง เหมือนที่เราไม่รู้ว่า การเป็นเราถูกหล่อหลอมมาด้วยอะไรบ้างตลอดชีวิต หรือชาติก่อนๆ

อ้อยจึงมีแนวคิดที่เชื่อว่าทุกสิ่งปัจจุบันไม่ใช่เป็นของเราแต่เพียงผู้เดียว อ้อยพยายามค้นหาความหมายของสิ่งที่ผ่านพ้นมาแล้ว ทั้งสิ่งของ สถานที่ โดยของที่เคยอยู่กระป๋องเป็นตัวแทนของความหมายที่ว่า อ้อยชื่อว่า สิ่งเหล่านั้นจะยังมีชีวิตอยู่ได้ ถ้าเราไปให้ความหมายของมัน และทำให้เรื่องอดีตกลับมาชีวิตในปัจจุบัน เพราะเราไม่สามารถลบล้างสิ่งเหล่านั้นให้หายไป แม้จะทุบตึกสร้างอีกกี่ครั้ง วิญญาณผีมันก็ยังจดจำได้ว่า มันเคยอยู่ที่ตึกเก่าๆ แห่งนี้ เลือดที่ติดอยู่ในอาคารแม้มันเป็นเพียงคราบที่หลุดรอดตามกาลเวลา

แต่สิ่งเหล่านั้นมันเป็นความทรงจำที่รอมนุษย์ร่วมสมัยพิสูจน์ แม้มันจะไม่ถูกค้นพบแต่มันยังมีจิตวิญญาณความเป็นบางสิ่งบางอย่างที่รอปลุกให้มันมีชีวิตขึ้นมาในปัจจุบัน ฟิล์มเก่าในอดีต กลับมาโลดเแล่นสร้างความทรงจำในระดับประวัติศาสตร์ ดังนั้นอ้อยจึงมีความหมายแทนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ของเรา แต่เรามีชีวิตขึ้นมาได้จากประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์สร้างเรา และเราก็ยังได้สร้างบางสิ่งที่ถูกลืมให้มีชีวิตขึ้นไปได้อีกด้วย เสมือนอ้อยหรือมนุษย์เป็นนักสร้างความทรงจำ



ทั้งหมดที่ผู้เขียนรวบรวมจากภาพตัวละครทั้ง 3 ตัวจะพบว่า มนุษย์เราเป็น 1. นักคัดลอกความคิดความทรงจำให้เป็นเรื่องเล่าของตนเอง 2.นักดัดแปลงคัดสรรจากเรื่องเล่ารอบกายให้เป็นเรื่องของตนเอง และ 3. สร้างเรื่องเล่าความทรงจำจากสิ่งที่เป็นอดีต ทั้ง 3 สิ่ง เป็นสิ่งที่ทำให้เรื่องเล่ามีค่าเป็นสิ่งที่มีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง

ความสงสัยเกิดอย่างขีดสุดในฉากที่เล็กไปอยู่โรงพยาบาลและเดินโซเซไปในป่า เพราะเป็นฉากที่ไม่มีที่มาที่ไป แต่ฉากนี้เป็นการหล่อรวมความเป็น 3 เรื่องเล่าที่ได้กล่าวข้างต้น เพราะ เล็กได้เป็นก้องแม้จะยังไม่สมบูรณ์ แต่เมื่อฉากต่อไป การได้เข้าไปในบ้านก้องเสมือนเป็นการคัดลอกโดยสมบูรณ์ เล็กเจออ้อยและซึมซับแนวคิดความเป็นอ้อยเข้ามา ว่าเราไม่ใช่ตัวตนที่เป็นตนเองสมบูรณ์แต่เราเป็นเรื่องเล่าของผู้อื่น

การที่เล็กเข้าไปในป่า ซึ่งเป็น สัญญะขั้นเทพของคนทำหนังทั่วโลกที่นิยมใช้ เพราะป่าเปรียบเสมือนการเข้าไปค้นหาตัวตนของตนเองในจิตใจของเราในระดับที่ลึกซึ้งและซับซ้อน ผู้ชมไม่ทราบแน่ชัดว่าเล็กเข้าไปหาอะไร แต่เหมือนเล็กจะได้รองเท้าของก้องกลับมา ด้วยการเน้นย้ำเท้าที่มีบาดแผลจึงเหมือนการต่อสู้ที่บาดเจ็บต่อสภาพจิตใจในป่า และการตกเขาแล้วไม่ตายไม่ต่างจากการจมดิ่งทางความรู้สึกก่อนหน้านั้น และการออกจากป่า ทำให้เล็กเข้าใจแล้วว่า ชีวิตเขาควรจะเลือกสรรอะไรเพื่อเป็นตัวเขา เพราะถึงอย่างไร ชีวิตเราก็แสนว่างเปล่า การเลือกจมปลักในอดีตของตัวเองจึงเป็นการเลือกสรรเรื่องเล่าชีวิตที่ไม่ดีนักของมนุษย์ เพราะมนุษย์เราต้องคัดเลือกแต่สิ่งที่สร้างสรรค์เพื่อสร้างเรื่องเล่าที่ดีหรือสร้างความหมายให้กับชีวิตตนเอง และการเป็นก้องจึงเหมือนหนทางเดียวที่เล็กหนีเรื่องเล่าของตนเอง(ที่ไม่ดี)ได้

การเรียนรู้ของ เล็ก ในช่วงหลัง(เข้าป่า)จึงไม่ใช่เล็ก ช่างกุญแจ ปราศจากความทรงจำผู้เดิมอีกต่อไป เพราะหลังจากถึงฉากสุดท้ายของตอนจบภาพยนตร์ เล็กได้กลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้เรียนรู้มา คัดเลือกเรื่องให้กลายเป็นตนเอง ดังเขาเป็นเรื่องเล่าที่มีชีวิตขึ้นมาใหม่ ทั้งการจีบหญิง เรื่องนกยูงกินโปเต้ การกลับบ้านเหมือนในหนังเรื่องเล็กจารชน ฯลฯ

ตลกดีที่เล็ก ได้รับแรงบันดาลใจมาจากบทหนังสือเรื่องเล็กจารชน ทั้งๆที่ ก้องได้รับแรงบันดาลใจมาจากเล็กอีกต่อหนึ่ง เป็นการแสดงภาพของการพลวัตรทางเรื่องเล่าและแรงบันดาลใจที่สอดแทรกเข้ามาอยู่ในภาพยนตร์ตลอดเวลา และเป็นการตอกย้ำแนวคิดของหนังอีกด้วย



ฉากจบที่เล็กได้รับแรงบันดาลใจที่เหมือนคัดลอกมาจากฝันของก้อง หญิงสาวในฝันถือร่มขาวเสื้อชมพู ที่รอใครบางคนอยู่ ด้านหลังของเขามีตัวเลขที่ก้องจำไม่ได้ แต่สำหรับเล็กแล้ว เล็กได้เห็นภาพนั้นเหมือนที่ก้องเคยบอก เหมือนคัดลอกความทรงจำ และยังได้ดัดแปลงเรื่องเล่าก้องนั้นให้ตัวเลขมันชัดเจนขึ้นมา และกลายเป็นเรื่องของเขาโดยสมบูรณ์แบบเพราะมันได้กลายเป็นเรื่องเล่าใหม่ที่ดัดแปลงโดยเล็กเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเราไม่รู้ว่าฉากนี้มันเป็นความจริงในหนังหรือไม่หรือเป็นเพียงจินตนาการของ เล็กในร้านถ่ายเอกสารที่กำลังแต่งเรื่องเล่าทางจินตนาการอยู่เช่นกัน แต่ทั้งหมดทั้งมวลเป็นการตอกย้ำอุดมการณ์ทางความคิดของผู้กำกับ ที่กำลังส่งสารบอกถึงแนวคิดหลักของเรื่องได้อย่างสมบูรณ์

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานั้นจึงแสดงถึงเรื่องเล่าของตัวละครต่างๆ ที่มันทำให้เกิดการคัดลอก ดัดแปลง และแปรเปลี่ยน รวมทั้งการสร้างเรื่องเล่าจากอดีตขึ้นมาใหม่ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในแนวคิดของมนุษย์นิยมคือ เรื่องเล่ามันจะกลายเป็นของเรา เพราะมนุษย์เราไปทำให้มันมีชีวิตขึ้นมา ดังเช่นภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ได้กลายเป็นสิ่งมีชีวิตขึ้นมา โดยผ่านการคัดเลือก เลือกสรร ของผู้กำกับ คงเดช จาตุรันต์รัศมี ที่ต้องการแสดงให้เห็นถึงแนวคิดที่ว่า หากเราลอกเปลือกนอกของเราออกจนหมด จะพบว่าเราไม่มีความดั้งเดิมเหลืออยู่เลย เพราะชีวิตเราได้รับเลือกมาจากทุกสิ่งโดยตัวเราเอง จากเพลง จากหนังสือ จากบุคคลใกล้ตัว จากครู ฯลฯ และถ้ามองลงไปให้ลึกอีกแต่ละสิ่งก็ได้รับมากจากสิ่งอื่นๆเช่นกัน

ดังนั้นชีวิตมนุษย์จึงไม่ต่างจากเรื่องเล่าของกาลเวลาที่ผันผ่าน มนุษย์จึงเป็นส่วนผสมของเรื่องเล่ามากมายที่อุดมอยู่ในวิญญาณอย่างไม่รู้ตัว วิญญาณแม้มันจะผ่านร่างอีก 10 ร่าง 10 ชาติ ความเป็นวิญญาณร่างแรกมันก็ยังคงอยู่กับเรา หรือแรงบันดาลใจในชีวิตต่างๆ เราเลือกสรรมาจากเรื่องเล่า ต่างๆ เพื่อมาปรับใช้กับเรา ถ้าเช่นนั้นไม่มีทางเลยที่เราจะหาสิ่งตั้งต้นของอะไรบางสิ่งได้ นอกจากการสร้างความทรงจำทางประวัติศาสตร์ มนุษย์เราเข้าไปสร้าง เพื่อให้มันมีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง แม้มันจะถูกดัดแปลงเป็นสิ่งใหม่แล้วก็ตาม

เหมือนเช่นมนุษย์เรา เหมือนเช่น เล็ก ก้อง อ้อย ที่คงเดช สร้างขึ้นมาให้มีชีวิตในภาพยนตร์ เหมือนสายลับเล็กที่ก้องสร้างขึ้นมาให้มีชีวิต เหมือนเช่นภาพยนตร์”เสน่ห์บางกอก”ที่อ้อยค้นพบจนมันมีชีวิตอีกครั้งท่ามกลางการเปลี่ยนของยุคสมัย เหมือนเช่นเล็กที่ดัดแปลงชีวิตก้อง รวมทั้งความฝันของก้องให้เป็นความจริง รวมทั้งเรื่องเล่าอีกหลายเรื่องในหนัง ที่ไม่รู้เป็นเรื่องเล่าของใคร เช่น เรื่องเล่าของเอกกับธนา ซึ่งอาจจะได้แรงบันดาลใจมาจากรูปในเฟสบุค ที่ก้องแอบเข้าไปใช้ หรือจะเป็นเพียงเรื่องเล่าของ เล็ก ในร้านถ่ายเอกสาร ที่บ้าคลั่งตัวละครเจสัน บอร์น จนคิดฝันเรื่องราวทั้งหมด



ผู้เขียนไม่สามารถตอบได้ว่าเรื่องเล่าใด เป็นเรื่องเล่าจริงๆ ที่เกิดขึ้นในเรื่องเล่าของคุณคงเดช แต่ผู้เขียนเชื่อว่า เมื่อภาพยนตร์ได้จบลง ผู้ชมกำลังอยากเล่าเรื่องที่ได้พบในภาพยนตร์ให้ใครสักคนได้ฟัง แม้เรื่องเล่าของเรากับเพื่อนจะไม่ตรงกัน ก็เหมือนเช่นที่เราไม่รู้ว่า ใครในภาพยนตร์มีตัวตนอยู่จริงๆ แต่เช่นไร ผู้ชมกำลังเป็นเช่นเล็กในฉากสุดท้ายที่มองเห็นตัวเลข P-047 ที่เหมือนการดัดแปลงจากความจริงที่เราได้รับจากเรื่องเล่าของก้อง และสร้างให้มันเป็นความจริงในโลกของเล็กเอง

ถึงแม้เล็กจะเป็นเพียงบุรุษปราศจากความทรงจำแต่เรื่องเล่าต่างๆที่วนเวียนผ่านมา ทำให้เล็กสร้างความหมายจากเรื่องเล่าต่างๆเหล่านั้น แต่ไม่เพียงเช่นนั้น เล็กยังดำรงความหมายจากผู้รับกลายเป็นผู้สร้างทันที และสร้างเรื่องเล่าของตนเองขึ้นมาใหม่ แม้มันจะซ้อนทับเรื่องเล่าเดิมๆของคนอื่น แต่มันก็แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ จนมันเป็นเรื่องเล่าของเล็กโดยเสรี

เหมือนเช่นผู้ชม แม้เราจะยังไม่อาจมั่นใจกับการหล่อหลอมความทรงจำที่เราได้รับจากเรื่องเล่า ที่สลับข้ามไปมาของเนื้อเรื่อง แต่สุดท้ายผู้ชมทุกคน จะคัดสรร ดัดแปลง และต่อเติมเรื่องราว และบรรจงบอกเรื่องราวภาพยนตร์ในแบบที่ตัวเองคิด หรืออยากให้เป็น แล้วบอกว่า วิธีคิดเช่นนี้ เป็นของเขาแต่เพียงผู้เดียว

นี่อาจหมายถึงสิ่งที่ คุณ คงเดช กำลังจะบอกไม่ว่าชีวิตจะถูกหล่อหลอมมาจากอะไร แต่สุดท้ายเราผู้เดียวที่เป็นเจ้าของเรื่องเล่า และการเป็นเจ้าของเรื่องเล่า ทำให้เรามีชีวิตเช่นทุกวันนี้

ไม่ว่าผู้ชมจะคล้อยตามกับแนวคิดของคุณคงเดชหรือเปล่า แต่เชื่อว่า เราอาจเคยตั้งคำถามเช่นนี้กับแรงบันดาลใจต่างๆ ของเรา และชีวิตของเรา



ภาพยนตร์แต่เพียงผู้เดียว เป็นภาพยนตร์อินดี้ของไทย ที่มีวิธีการคิดและการนำเสนอ เพื่อนำไปสู่แนวคิดที่ชัดเจนของภาพยนตร์ มิหนำซ้ำยังดึงผู้ชมเข้ามาสู่เรื่องราวอีกด้วย ซึ่งแตกต่างจากหนังอินดี้ในไทยส่วนใหญ่ที่เหมือนให้ผู้ชมเป็นเพียงดังบุคคลที่ 3 เพียงเท่านั้น ไม่ได้สร้างให้ผู้ชมเข้าร่วมเท่าที่ควร แต่สำหรับแต่เพียงผู้เดียวแล้ว ทั้งวิธีการนำเสนอ ลูกเล่น รวมทั้งวิธีคิด และระดับความลึกของตัวละคร ต่างมีเสน่ห์แทบทั้งหมด

ถึงแม้ว่าชื่อภาพยนตร์จะแสดงถึงความโดดเดี่ยวเดียวดาย แต่เชื่อว่าสำหรับใครหลายๆ คนแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ รวมทั้งผู้กำกับ คงเดช จาตุรันต์รัศมี จะเข้าไปนั่งในอยู่ในใจของใครหลายๆ คน เพราะนี่คือภาพยนตร์ไทยคุณภาพเรื่องหนึ่งที่มีค่าต่อการจดจำ แม้ว่าจะเป็นเพียงของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียวหรือไม่ก็ตาม

คะแนน 9/10
เกรด A++



อ่านบทความเรื่องอื่นได้ที่:สารบัญภาพยนตร์

ภาพยนตร์ที่ผู้เขียนให้คะแนนมากที่สุดประจำปี 2012

Moonrise Kingdom 9
The Cabin in the Woods 8.5
The Avengers 8.25
From up on Poppy Hill 8
Prometheus 8




Create Date : 13 สิงหาคม 2555
Last Update : 31 ตุลาคม 2555 20:52:06 น.
Counter : 6595 Pageviews.

9 comments
  
เสียดายเราอดดู. เห้อ !! ขอบคุณสำหรับคำวิเคาะห์ค่ะ. แจ่มจริงๆ
โดย: ชมพู่นอย IP: 223.205.35.174 วันที่: 13 สิงหาคม 2555 เวลา:21:54:25 น.
  
ยินดีครับ ^^ คุณ ชมพู่นอย
โดย: A-Bellamy วันที่: 13 สิงหาคม 2555 เวลา:22:26:50 น.
  
เราถึงกับจองล่วงหน้าเลยค่ะ โดยส่วนตัวชอบผลงานพี่คงเดช และชอบเพลงของพี่เล็ก greasy cafeอยู่แล้ว


เรื่องนี้เราคิดว่าดีนะคะ ดูจบแล้วยังสามารถมาคิดต่อได้ว่าชีวิตของเล็กจะเป็นยังไงต่อไป :)
โดย: แฟนlinKinPark วันที่: 14 สิงหาคม 2555 เวลา:0:40:03 น.
  
เหมือนหนังบอกว่า ตัวตนของเราประกอบสร้างจากอะไร อย่างนั้นหรือคะ?
โดย: ด.ญ. กอใจ IP: 58.8.220.18 วันที่: 14 สิงหาคม 2555 เวลา:1:22:21 น.
  
ตอบ คุณ แฟนlinKinPark

เช่นกันครับชอบทั้งพี่เล็ก และคุณคงเดช ^^
ใช่ครับ ดูจบแล้วคิดต่อได้เยอะเลย


ตอบ ด.ญ. กอใจ

ประมาณนั้นครับ หนังตั้งคำถาม และยังให้เห็นชีวิตของเล็ก และยังให้ผู้ชมมีส่วนร่วมในการมองว่าหนังเรื่องนี้ลำดับหรือมีเรื่องราวเป็นแบบไหน ซึ่งแน่นอนว่า เราเลือกเรื่องราวอย่างที่รู้สึกกับมันและต้องการให้มันเป็น ก็เหมือนชีวิตเล็กหละครับ

ในบทความผมเชื่อมโยงกับคำว่าเรื่องเล่า เพราะมันทำให้เห็นภาพถึงคำว่า ประวัติศาสตร์จากเรื่องเล่า ที่มนุษย์มันสร้างมันมาให้เกิดมีชีวิตขึ้นอีกครั้ง เหมือน สาวนักดมกระป๋องอะไรแบบนั้นเลย

แต่ต้องไม่ลืมว่า แนวคิดนี้เป็นของ คุณคงเดช ผู้ชมจะเลือกเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้ แต่อย่างน้อยๆ ก็ทำให้เราได้คิด และไตร่ตรองชีวิต ^^

โดย: A-Bellamy วันที่: 14 สิงหาคม 2555 เวลา:9:34:53 น.
  
ขอบคุณสำหรับบทวิเคราะห์ และการอธิบายเรื่องราวครับ ผมดูแต่มีบางประเด็นที่ยังไม่เข้าใจชัดเจนนัก การอธิบายของคุณทำให้ผมเข้าใจและปะติดปะต่อเรื่องราวได้มากขึ้น และทำให้ผมเห็นบางอย่างที่ผมไม่ทันสังเกตตอนดูหนังเรื่องนี้ แต่ไม่ว่าอย่างไร ผมก็เห็นด้วยกับคุณครับ ผมให้คะแนน 9/10 เหมือนกัน ชอบมากทั้งที่ไม่เข้าใจทั้งหมดนี่แหละ
โดย: เจมส์ IP: 115.87.208.166 วันที่: 14 สิงหาคม 2555 เวลา:9:41:14 น.
  
ขอบคุณ คุณเจมส์ ที่เห็นด้วยกับการวิเคราะห์ของผม แม้ภาพยนตร์จะมีเสน่ห์ที่ไม่ได้เฉลยทุกประเด็นเพื่อให้ผู้ชมสามารถสร้างเรื่องเล่าในแบบตัวเอง แต่ผมเชื่อว่า มีหลายคนที่ต้องการรู้เรื่องราวในแบบที่เป็นหนึ่งเดียวอยู่ดี บทความนี้พยายามทำให้เห็นถึง ความเป็นโครงสร้าง แม้ไม่ได้ตอบทุกประเด็นที่เป็นปัญหาก็ตาม
โดย: A-Bellamy วันที่: 14 สิงหาคม 2555 เวลา:11:06:12 น.
  
จะว่าไปผมจับจังหวะหนังของคุณคงเดชไม่ได้
ตอนดูเรื่องกอดผมไม่เข้าใจเลยครับ
เรื่องนี้เลยอดดูไปตามระเบียบ
แต่หลายเสียงชื่นชม จะหาแผ่นมาลองชมดูครับ
โดย: คนขับช้า IP: 183.88.251.26 วันที่: 9 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:16:53:33 น.
  
อ่านแล้วเข้าใจหนังขึ้นเยอะมากค่ะ หลังจากดูไปกว่า 3 รอบ 55
แต่ยังมีฉากที่ไม่เข้าใจเอามากๆ อยู่เช่น ฉากวนในลานจอดรถของห้าง อันนี้อยู่ๆ ก็มาแล้วก็ไป คิดยังไงก็คิดไม่ออกค่ะ ว่ามันคืออะไร
โดย: fon IP: 183.89.144.89 วันที่: 4 มิถุนายน 2556 เวลา:11:36:10 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

A-bellamy.BlogGang.com

A-Bellamy
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]