Moonrise Kingdom (2012)
สารบัญภาพยนตร์

Moonrise Kingdom (2012)


เด็กๆก็มีหัวใจ




ภาพยนตร์ Moonrise Kingdom ของผู้กำกับ Wes Anderson ได้รับเกียรติให้ฉายในฐานะภาพยนตร์เปิดเทศกาลเมืองคานส์ประจำปี 2012 แม้จะไม่ได้รับรางวัลอันใดก็ตาม แต่นักวิจารณ์ก็ต่างให้คะแนนในระดับน่าประทับใจ และยังเป็นที่น่าชื่นใจสำหรับแฟนหนังชาวไทยที่กระแสเมืองคานส์ยังไม่ทันจางไป ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้ลงโรงฉายในเครือ Apex (ลิโด้,สกาล่า) จากการนำเข้ามาของบริษัท M Pictures จึงยิ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าใจหากในอนาคตอันใกล้โรงหนังทางเลือก 2 แห่งนี้ต้องหลงเหลือไว้เพียงเศษซากความทรงจำอันสวยงามของนักดูหนังทางเลือกทั้งหลายเพียงเท่านั้น

เข้าสู่ภาพยนตร์ Moonrise Kingdom ที่ก่อร่างสร้างสไตล์ด้วยฝีไม้ลายมือของ Wes Anderson (Fantastic Mr. Fox ,2009) ว่าด้วยเรื่องราวบนเกาะของ New England ในปี ค.ศ. 1965 เด็กหนุ่มสาว วัย 12 ขวบได้ตกหลุมรักกันจนตัดสินใจหนีเข้าป่าเพื่อไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน โดยมีผู้ใหญ่แต่ละฝ่ายต่างตามหากันอย่างจ้าละหวั่น

ความโดดเด่นที่น่าจดจำของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ องค์ประกอบภาพและศิลป์ของการสร้างบริบท ค.ศ. 1965 ออกมาโดยที่ก้ำกึ่งระหว่างโลกแห่งความจริงกับโลกแฟนตาซี โทนภาพสีเหลืองทำให้ทุกสิ่งดูเจิดจ้า และสว่างไสว อุปกรณ์ประกอบฉากรวมทั้งบ้านเรือนต่างๆ มีความละม้ายคล้ายของเล่นในวัยเด็ก ที่มีสีสันฉูดฉาดและบาดตา การเคลื่อนไหวกล้องในแบบ Tracking Shot ทั้งแนวตั้งและแนวนอนทำให้โลกในภาพยนตร์ของ Wes Anderson ดูลื่นไหล และด้วยสไตล์ที่กล่าวมาเป็นเครื่องส่งสัญญาณให้ผู้ชมรับรู้ตั้งแต่ฉากแรกเลยว่า Moonrise Kingdom มันมีลีลาเจิดจ้าแบบนิทานแฟนตาซีมากกว่าที่จะเป็นโลกที่อุดมไปด้วยความเป็นจริง



ภาพยนตร์เริ่มต้นด้วยการเปิดตัวละครหลักทั้งสองคือ ซูซี่ (Kara Hayward) เด็กสาวหน้าอมทุกข์ กับ แซม (Jared Gilman) ลูกเสือแว่นหนุ่มที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่อยู่ในค่ายก่อนที่จะตัดสินใจออกตาหาความฝันในการใช้ชีวิตอยู่บนเกาะอันห่างไกลผู้คนกับแฟนสาวซูซี่ ถึงแม้เด็กทั้งสองคนจะอยู่ใต้อาณัติของความเป็นผู้เยาว์ ซึ่งเป็นขอบกั้นความอิสรภาพของเด็กทั้งสองก็ตาม

แซม เด็กกำพร้าที่ถูกเลี้ยงดูโดยพ่อแม่บุญธรรมที่มีทีท่าการเบื่อหน่าย แซม และไม่ต้องการส่งเสียเลี้ยงดูแซมอีกต่อไป ส่วนซูซี่ แม้ครอบครัวจะอุดมไปด้วยความเป็นรูปธรรมภายนอกที่แสนอบอุ่น มีพ่อแม่ พี่น้อง บ้าน ที่บ่งบอกถึงความมั่งมีศรีสุข แต่ในภาวะภายในจิตใจนั้นกลับเต็มไปด้วยรอยร้าว ทั้งจากตัวซูซี่กับพ่อแม่ , ซูซี่กับน้องชาย,พ่อกับแม่ของซูซี่ นี่จึงเป็นภาพสะท้อนถึงความเป็นสถาบันครอบครัวที่มั่นคงภายนอกแต่ภายในกลับมีปัญหา

การหนีของเด็กทั้งสองจึงเป็นการเติมเต็มกันและกันเพื่อสร้างพื้นที่แห่งหนภายในและภายนอกของกันและกัน แซมค้นหาพื้นที่เกาะที่เขาต้องการเพื่อสร้างสิ่งรูปธรรมภายนอกที่เขาไม่เคยมี(บ้าน ครอบครัว) ซูซี่มีทุกอย่างแต่ต้องการใครก็ตามที่มาเติมพื้นที่ทางจิตใจที่เธอขาดไป แต่โลกของทั้งสองก็ถูกชะงักงันด้วยโลกของผู้ใหญ่ โลกของผู้ใหญ่ใน Moonrise Kingdom จึงเป็นอะไรที่วุ่นวาย ยุ่งเหยิง น่ารำคาญ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของสถาบันต่างๆ ในสังคม สถาบันครอบครัว สถาบันรัฐ สถาบันการศึกษา ซึ่งต่างตามหาไล่ตามเพื่อให้คนในอาณัติของตนเองอยู่ในความดูแลทางสถานะภายนอก เหมือนจะเอาใจใส่ดูแลอย่างดี แต่ลึกๆแล้วสถานะภายในกลับมีปัญหาบาดลึก ซึ่งยากต่อการแก้ไข



แม้การไล่ตามของผู้ใหญ่ จะเป็นการยิ่งทำให้เด็กต้องหนีและถอยห่างออกไปไกล ภาพยนตร์ใช้การเสียดสี ของเกมวิ่งไล่จับระหว่างผู้ใหญ่และเด็กทั้งสองได้อย่างน่าหัวร่อ ซึ่งต่างฝ่ายก็ไม่ยอมกัน แต่หนทางย่อมมีที่สิ้นสุด นั่นคือความตาย ภาพยนตร์ใช้ความตายเป็นหนทางสุดท้ายระหว่างการเล่นเกมวิ่งไล่จับ เชื่อเหลือเกินว่า หากผู้ใหญ่ยังดื้อดึงในการไล่ เด็กก็คงต้องดื้อดึงในการหนีเช่นกัน จนในที่สุดต้องพบกับปลายทางแห่งความตายเป็นแน่แท้ แต่ด้วยความทีเล่นทีจริงในแบบแฟนตาซีภาพยนตร์ไม่ได้หักหน้าผู้ชมด้วยความตายเช่นนั้น แต่เพียงแสดงให้เห็นว่า ปลายทางคือความตายหากยังดื้อดึงไล่ตาม

อย่างไรก็ตามประเด็นที่ Wes Anderson สอดแทรกเข้ามาอย่างเห็นได้ชัดคือโลกของผู้ใหญ่ ที่วุ่นวาย เจ้ากี้เจ้าการ โดยไม่เปิดให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นอย่างเป็นเหตุเป็นผล มีเพียงฉากสูงสุดในองค์ 2 ฉากที่ที่เด็กทั้งสองหนีไปบนค่ายลูกเสือเกาะหนึ่ง เพื่อให้ เบน (Jason Schwartzman) รับหน้าที่บาทหลวงจำเป็นจัดพิธีแต่งงานให้เด็กทั้งสอง ซึ่งเป็นฉากที่บ่งบอกถึงความเคารพการตัดสินใจในความเป็นตัวตนของเด็กได้อย่างดี มีข้อน่าสังเกตคือ Jason Schwartzman รับบทในเรื่องเหมือนไม่ใช่คนท้องถิ่น แต่งหน้าไปทางอาหรับ ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานจากการเชื่อมโยงทำให้เห็นถึงการวิพากษ์สังคมตะวันตก ที่ไม่ยอมให้เด็กมีสิทธิ์มีเสียงเท่าที่ควร(ความจริงเป็นแบบนี้ทั่วโลก แต่อาจไม่ยุติธรรมในมุมมองของเด็กเอง)



ถึงแม้ประเด็นการวิพากษ์สังคมไม่ว่าจะอยู่ในมิติไหนก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ชี้ชัดประเด็น จนที่สามารถทำให้ผู้ชมเล็งเห็นได้ถึงปัญหา เป็นเพียงประเด็นพื้นผิวให้ผู้ชมรับรู้เพียงเท่านั้น

แต่ก็ไม่น่าแปลกใจเพราะ Wes Anderson จะทำให้ประเด็นเด่นเกินหน้าเกินตาสไตล์ของเขาได้อย่างไร เพราะที่สุดแล้ว สิ่งที่เป็นสิ่งพิเศษและมหัศจรรย์ในภาพยนตร์เรื่องนี้มันคือโลกแฟนตาซีของเด็กๆ ที่เห็นผู้ใหญ่เป็นสิ่งแปลกปลอม พวกเด็กๆต่างหากเล่าที่ครองจักรวาลในโลกของภาพยนตร์เรื่องนี้



ในที่สุดจึงกล่าวได้ว่า ผลงานของ Wes Anderson เรื่องนี้มีความพิเศษที่ทำให้สไตล์ตัวเองเด่นเป็นออร่าออกมา จนอาจเรียกได้ว่าใครพลาดท่าชอบภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าแล้ว ต้องไปขวนขวายภาพยนตร์เรื่องอื่นของ Wes มาเสพสมให้รู้แล้วรู้รอดกันไปเลยทีเดียว เพราะหายากนักสำหรับผู้กำกับที่ยังคงสร้างสรรค์ผลงานตัวเองด้วยใจรักได้ดั่งศิลปิน ที่ยังคงหยัดยืนอยู่บนความเป็นมหาชนได้อย่างเชิดหน้าชูตา

และหากเอื้อนเอ่ยถึงโลกใน Moonrise Kingdom มันคือโลกแฟนตาซีของเด็กๆ ที่ผู้ใหญ่ควรต้องชม ไม่ว่ามันจะเจ็บแสบต่อตัวเองแค่ไหนก็ตาม

สุดท้ายก็ยังไม่แน่ชัดว่า Wes Anderson โตแล้วหรือยัง ?

คะแนน 9/10
เกรด A++



อ่านบทความเรื่องอื่นได้ที่:สารบัญภาพยนตร์


ภาพยนตร์ที่ผู้เขียนให้คะแนนมากที่สุดประจำปี 2012

The Cabin in the Woods 8.5
The Avengers 8.25
From up on Poppy Hill 8
Prometheus 8




Create Date : 03 กรกฎาคม 2555
Last Update : 27 สิงหาคม 2555 11:35:40 น.
Counter : 6067 Pageviews.

3 comments
  
ชอบเพลงประกอบเครดิตท้ายเรื่องค่ะ คาร่า เฮย์เวิร์ด น่ารักมาก
หนังเด็ก แต่ว่าเสียดสีเรื่องยุ่งๆของผู้ใหญ่
โดย: เชอรี่สะพรั่ง วันที่: 17 กรกฎาคม 2555 เวลา:11:33:09 น.
  
เหนป้ายหนังเรื่องนี้ที่ลิโด้ แต่ยังไม่ได้ดู
โดย: แฟนlinKinPark วันที่: 14 สิงหาคม 2555 เวลา:0:41:19 น.
  
^
^
น่าเสียดายครับ เป็นหนังที่น่ารักเรื่องนึงเลย
โดย: A-Bellamy วันที่: 14 สิงหาคม 2555 เวลา:9:36:56 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

A-bellamy.BlogGang.com

A-Bellamy
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]