บันทึกของเด็กชายกำลังโต
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2549
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
27 กรกฏาคม 2549
 
All Blogs
 
สัญลักษณ์แห่งความยุติธรรม

สัญญลักษณ์แห่งความยุติธรรม
นายจิตติ ติงศภัทิย์

ความยุติธรรม คือ ความเท่ากันโดยเที่ยงตรงดุจชั่งแล้วด้วยตราชูที่ถูกต้อง รูปตราชูจึงเป็นเครื่องหมายที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ในการนำมาประกอบตราชูแห่งความยุติธรรม เครื่องหมายตราชูนี้ปรากฏในกฎหมายตราสามดวงลักษณะพระธรรมนูญ มาตรา 21 (ฉบับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่ม 1 หน้า 155) ความว่า "ตราเทพยุดาถือดุลย ขุนหลวงพระยาไกรศรีราชสุภาวะดีได้ใช้ไปตั้งแพ่งผู้ปรับ ณะเมืองโท เมืองตรี ฯลฯ" แต่ในกฎหมายฉบับหมอบรัดเลย์ ปรากฏว่า "เทพยุดาถือขลุ่ย"


ในแจ้งความกระทรวงมุรธาธร พระราชทานตราตำแหน่งลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2459 ข้อ 2 เกี่ยวกับตราตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ พระราชทานนามว่า "พระดุลพาห" คือดวงพระราชลัญจกรรูปกลม ศูนย์กลางกว้าง 3 นิ้ว 3 อนุกระเบียด (หรือ 7 เซ็นติเนเตอร์) ลายรูปพระแสงขรรค์เป็นหลัก มีรูปดุลเกี่ยวขัดไว้ที่ด้ามพระขรรค์ อยู่เหนือพานกลีบบัวสองชั้น มีฐานรอง มีลายกนกล้อมดวง 1 และมีตราน้อยรูปกลมขนาดย่อมลง ศูนย์กลางกว้าง 2 นิ้ว 5 อนุกระเบียด (หรือ 56 มิลิเมเตอร์) มีลายพระขรรค์กับดุลและกนกล้อมเช่นเดียวกันกับตราใหญ่ เว้นแต่ไม่มีพานรองอีกดวง 1 พระราชทานแก่เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธรเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมทั้ง 2 ดวง ใช้แทนตราจันทรมณฑลเดิม เป็นตราที่ยังใช้อยู่สำหรับกระทรวงยุติธรรม ตามรูปแบบเดิมจะเป็นรูปเทวดาถือตราชู ต่อมาได้เปลี่ยนจากเทวดามาเป็นพระแสงขรรค์ ส่วนตราชูยังคงเดิม และมีพานที่รองรับพระแสงขรรค์


เนติบัณฑิตยสภาออกข้อบังคับ พ.ศ. 2507 กำหนดตราไว้ในข้อ 2 เป็นรูปเทวดาหรือคนถือตราชูในมือซ้าย มือขวาถือพระขรรค์ คล้ายกับตราเทพยุดาถือดุลในกฎหมายตราสามดวง แต่เพิ่มพระขรรค์เข้ามาในมือขวาของเทวดา อีกนัยหนึ่งก็คือรวมตราเทพยุดาถือดุลกับตราพระดุลพาหเข้าด้วยกัน คำว่า "พาห" นี้ ปทานุกรมของกระทรวงธรรมการอ่านว่า พาหะ อีกคำหนึ่งคือ "พ่าห์" อ่านว่า พ่า ทั้งสองคำนี้แปลว่า ผู้แบก ผู้ถือ ผู้ทรงไว้ ผู้นำไป ผู้พาไป คำว่า "ดุล" แปลว่า ตราชูหรือคันชั่ง หรือมาตราชั่งน้ำหนัก เช่น ทองคำหนัก 20 ชั่ง เรียกว่าดุลหนึ่ง เทวดาหรือคนในรูปตราตามข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภานั้นเป็นชาย ที่ว่าผู้ถือตราชูเป็นเทวดาหรือคนนั้น ไม่สามารถรู้ได้ ตามกฎหมายตราสามดวงลักษณะพระธรรมศาสตรเล่ม 1 หน้า 15 มีความว่า "สมเด็จพระเจ้ามหาสมมุติราชเสด็จยังสาระพินิจฉัย พร้อมด้วยหมู่มุกขมนตรีกระวี-ราชปโรหิตาโหราจารย์ผู้อยู่ในศีลสัจ ดำรงพระไทยฟังอรรฐคดีซึ่งกระลาการพิจารณาโดยยุติธรรมนั้นเป็นแว่นแก้วแล้วเอาคำภีรพระธรรมศาสตรเป็นพระเนตรดูเทศกาลบ้านเมืองโดยสมควรแล้ว จึงเอาพระกรเบื้องขวา คือพระสะติสัมปะชัญะทรงพระขรรคแก้ว คือพระวิจารณะปัญาวินิจฉัยตัดข้อคดีอะนาประชาราษฎรทั้งปวงโดยยุติธรรม" ผู้ถือตราชูจึงอาจเป็นคนไม่ใช่เทวดา


วารสารของสมาคมทนายความ มีเครื่องหมายซึ่งเข้าใจว่าเป็นมโนสารฤๅษี มือขวาชูตราชูขึ้นไว้ มือซ้ายถือคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ซึ่งมโนสารฤๅษีจำได้มาจากกำแพงจักรวาล มีปริมณฑลเท่ากายคชสารแล้วกลับมาแต่งเป็นคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ถวายพระเจ้ามหาสมมุติราช ทรงศึกษาใช้เป็นพระเนตรตัดสินความด้วยพระขรรคแก้ว คือพระวิจารณปัญญา


เครื่องหมายความยุติธรรมของฝรั่งทำเป็นรูปหญิงยืน มือซ้ายถือตราชูมือขวาถือดาบมีผ้าผูกตาไว้ ที่กรุงลอนดอน สร้างไว้บนยอดหลังคาศาลอาญา Old Bailey วารสารของ American Judicature Society ของสหรัฐอเมริกาใช้เครื่องหมายนี้เช่นเดียวกัน นายปวงกาเร หมอความผู้เคยเป็นประธานาธิบดีของฝรั่งเศสระหว่าง ค.ศ. 1913 ถึง 1920 กล่าวไว้ในหนังสือ How France is Governed หน้า 227 ว่า "รูปนี้เป็นรูปของหญิงรูปร่างแข็งแรง สีหน้าเอางานเอาการ มือหนึ่งถือตราชูอีกมือหนึ่งถือดาบ ตราชูนั้นใช้สำหรับชั่งข้อที่บุคคลมีผลประโยชน์ขัดกันว่าควรได้แก่ใคร ส่วนดาบนั้นแสดงว่าเมื่อถึงคราวที่มีความจำเป็นพลังแห่งมหาชนจะบังคับให้บุคคลต้องกระทำตามคำชี้ขาดแห่งความยุติธรรม ผ้าผูกตาหมายความว่าไม่เห็นแก่หน้าบุคคลจะเป็นใครมาเป็นความย่อมได้รับผลปฏิบัติเช่นเดียวกันหมด คงใช้แต่หูฟังข้อพิพาทและพยานหลักฐานเท่านั้น" มีนิยายกรีกกล่าวว่า เทพยดาผู้หญิงองค์หนึ่งชื่อ Themis (เธมิส) ทำเป็นรูปหญิงมีผ้าผูกตา มือซ้ายถือตราชู มือขวาถือดาบ เดิม Themis เป็นเทวดาหญิงเจ้าแม่แห่งระเบียบ กฎหมายและความยุติธรรมคอยให้คำแนะนำแก่ Zeus (ซีอุส) เทวดาที่ปกครองโลก แต่รูปเดิมในทางศิลป หมายความถึงความอุดมสมบูรณ์ทำเป็นรูปหญิงถือตราชู และเขาควายบรรจุผลไม้ดอกไม้อันเป็นเครื่องหมายแห่งความสมบูรณ์ ซึ่งไม่ค่อยดีนักในแง่ของกิจการศาลยุติธรรม ฝรั่งจึงไม่ยอมให้เธมิสถือเขาควายบรรจุผลไม้ดอกไม้ต่อไป แต่เปลี่ยนเป็นให้ถือดาบแทน เทวดาอีกองค์หนึ่งเป็นบุตรของเธมิส กับซีอุส ชื่อ Astrea (แอสตรีอา) กล่าวว่าเป็นเจ้าแม่แห่งความยุติธรรมเหมือนกัน เป็นรูปหญิงถือตราชูมีมงกุฎเป็นรูปดาวบนศีรษะ ไปเกิดเป็นเทวดาชื่อ Virgo คือกันย์ราศรีที่ 6 มีรูปตราชูและดาวเป็นเครื่องหมาย เหตุที่ใช้รูปหญิงมีคำอธิบายว่าเป็นผู้มีใจเมตตาปรานีตามวิสัยของหญิง แต่ก็เป็นหญิงที่มีรูปร่างแข็งแรงเอางานเอาการมิใช่อ่อนแอถึงคราวต้องฟันก็ฟันจริง ๆ รูปคนหรือเทวดาในดวงตราของไทย มีนัยไปในทางผู้ประสาทความยุติธรรม ซึ่งความคิดของไทยเป็นชาย มิได้หมายถึงความเมตตาปรานีซึ่งใช้หญิงเป็นเครื่องหมายดุจที่ฝรั่งใช้ พลังมหาชนที่สนับสนุนความยุติธรรมนั้น เป็นพลังที่แท้จริงแห่งความยุติธรรม พระขรรค์ของไทยหมายความไปในทางปัญญา ยิ่งกว่าอำนาจตามความหมายของดาบของฝรั่งในนิตยสารบทบัณฑิตย์ เล่ม 25 ตอน 2 เดือนพฤษภาคม 2511




เทพเธมิส ของกรีก ในมือมีดาบและตาชั่ง พร้อมทั้งปิดตา

ที่มา เวบพิพิธภัณฑ์ศาลไทย


Create Date : 27 กรกฎาคม 2549
Last Update : 27 กรกฎาคม 2549 17:49:43 น. 0 comments
Counter : 11231 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

เติบโตและยั่งยืน
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






黒川 Kurokawa (black river) 明 Akira (bright)

บันทึกออนไลน์ของคนเล็กๆ แต่ตัวไม่เล็ก เก็บแง่มุมของคนนู่น เรื่องของคนนี้ ชีวิตของคนนั้น มาบอกเล่า เม้าท์ แซว ไปตามเรื่อง ประกอบกับรูปถ่ายเล่าเรื่องราวที่เจ้าของบล็อกกำลังหัดถ่ายอยู่ครับ


รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นว่าวที่กำลังสู้อยู่กับลม มีเพียงเชือกเส้นเล็กๆที่บอกไม่ได้ว่าคืออะไร ดึงรั้งชีวิตไว้ไม่ให้ลอยละลิ่วไปกับสายลมแรง


และหากมีใครสักคนกำลังโหยหากำลังใจ บล็อกเล็กๆนี้ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่หัวใจกำลังอ่อนล้า อยากให้รู้ว่า ที่ตรงนี้ก็มีคนๆหนึ่งยืนอยู่เป็นเพื่อนทุกข์ เพื่อนสุข เพื่อนร้องไห้ เพื่อนหัวเราะ และยินดีที่จะให้กำลังใจคุณเสมอครับ













ขอบคุณที่เข้ามาเที่ยวคับ
Google
Friends' blogs
[Add เติบโตและยั่งยืน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.