Group Blog
 
 
มีนาคม 2552
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
17 มีนาคม 2552
 
All Blogs
 
บทที่ 11 การค้าที่เป็นธรรม (Fair trade) ปะทะ การค้าเสรี (Free trade)

บทที่ 11
การค้าที่เป็นธรรม (Fair trade) ปะทะ การค้าเสรี (Free trade)

“ผมเดาเอาว่าคุณสามารถร้องขอให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงในเรื่องพื้นฐานของความเป็นธรรมถ้าหากคุณคิดว่าจริงๆแล้วรัฐบาลสามารถทำบางอย่างให้เกิดผลดีได้ แต่โดยทั่วไปแล้ว “การค้าที่เป็นธรรม” (Fair trade) หรือ “ตลาดแข่งขันที่เท่าเทียมกัน” (leveling the playing field) เป็นการถอดคำพูดที่เปล่งออกมาแล้วโดนใจผู้บริโภคเท่านั้น อันที่จริงก็คือการควบคุมดูแลการทุ่มตลาด (dumping) นั่นเอง”

“การทุ่มตลาดคืออะไรเหรอ?”

“การทุ่มตลาดคือการขายสินค้าที่ต่ำกว่าต้นทุน”

“แล้วทำไมผู้ผลิตถึงขายสินค้าต่ำกว่าต้นทุนล่ะ?”

“ก็เพราะพวกเขาต้องการสร้างความแตกต่างด้วยปริมาณการขาย แต่โทษทีนั่นเป็นมุขตลกที่แป้กไปแล้วเมื่อ 150 ปีก่อน คำถามที่ถูก คือ เหตุใดพวกผู้จำหน่ายจึงยอมขายขาดทุน? คำตอบข้อหนึ่งที่ได้อาจเป็นการเจาะตลาดสหรัฐฯ ทำลายหรือบั่นทอนคู่แข่งขันชาวอเมริกัน และอาศัยความได้เปรียบจากจุดนั้นเพื่อตักตวงผลประโยชน์จากผู้บริโภคชาวอเมริกันด้วยการขึ้นราคาสินค้า”

“แต่เหตุผลมันไม่เข้าท่าเลย, เดฟ หลังจากผู้จำหน่ายเจาะตลาดอเมริกันได้แล้วมันจะต้องขึ้นราคาให้สูงกว่าระดับเดิมเพื่อชดเชยผลขาดทุนที่เสียไปในตอนแรก จึงเป็นการตั้งตนเป็นศัตรูกับผู้บริโภค ผู้ผลิตชาวอเมริกันซึ่งแม้จะยังไม่มีทุนรอนพอที่จะแข่งขันกับการตัดราคาในระยะแรกได้ก็อาจพบว่านั่นเป็นช่องทางทำกำไรจากการกลับคืนสู่ตลาดอีกครั้ง และผู้ทุ่มตลาดก็จะไม่สามารถชดเชยการขาดทุนในตอนต้นได้ด้วยการลดราคากลับไปคงอยู่ในระดับเดิม ดูเหมือนกลยุทธ์นี้จะสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงมาก”

“บราโว, เอ็ด, สุดยอดมากๆ! แต่ก็มีข้อแก้ตัวไว้เป็นทางเลือกเหมือนกันนะ สมมติว่าบริษัทญี่ปุ่นลดราคาสินค้าให้ต่ำกว่าทุนและบริษัทอเมริกันในอุตสาหกรรมก็สามารถสู้ราคาได้ ถ้าบริษัทญี่ปุ่นมีน้ำอดน้ำทนซักหน่อยแล้วมันก็สามารถผลักดันบริษัทอเมริกันให้ออกไปจากธุรกิจได้ แต่ถ้าหากการปิดโรงงานและเปิดใหม่อีกครั้งมันมีต้นทุนสูงมากๆ เสียแล้วนั้นบริษัทอเมริกันก็อาจเลือกที่จะปิดเฉพาะส่วนสินค้านั้นๆ แทนที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเข้ามาและออกไปจากวงจรทางธุรกิจ”

“แต่พวกเขาไม่ต้องถึงกับปิดตัวลงก็ได้นี่, เดฟ พวกเขาทั้งหมดนั่นก็แค่ต้องปฏิเสธการต่อสู้กับการหั่นราคาของญี่ปุ่นในช่วงเริ่มต้น”

“แต่แล้วใครจะซื้อของจากพวกเขาล่ะถ้าหากยังตั้งราคาแพงอยู่อย่างนั้นเล่า, เอ็ด?”

“มันก็แล้วแต่นะ ถ้าหากไม่มีใครซื้อของจากบริษัทอเมริกันเสียแล้วพวกญี่ปุ่นก็จะพบว่าตัวเองกำลังผลิตสินค้าป้อนตลาดทั่วทั้งสหรัฐฯ ด้วยราคาที่พวกเขาต้องขาดทุน พวกเขาจะไม่ใช่แค่ดูดเอากำลังการผลิตจากบริษัทอเมริกันไปเท่านั้นแต่ยังต้องผลิตให้มากขึ้นกว่าเดิมด้วย เนื่องจากพวกเขาได้ใช้กลยุทธ์ราคาที่ถูกลงไปกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคแล้ว สิ่งนี้มันคงจะทำให้พวกเขาต้องหลังหักเองอย่างแน่นอน เมื่อเป็นเช่นนี้พวกญี่ปุ่นอาจจำเป็นต้องจำกัดปริมาณสินค้าที่พวกเขาต้องการจำหน่ายในราคาถูกๆ เพื่อหลีกเลี่ยงผลขาดทุนมหาศาล นี่จึงเปิดทางให้บริษัทอเมริกันยังคงยอดขายและกำไรไว้ได้ด้วยสินค้าราคาเดิม”

“ผมปรบมือให้คุณอีกครั้งเลย, เอ็ด แต่โชคไม่ดีที่การใช้ตรรกะของคุณมันใช้โน้มน้าวทุกๆคนไม่ได้ ในที่สุดมันก็ยังเกิดคำถามโผล่มาให้เห็นอีกอยู่ดี เช่น ท้ายที่สุดแล้วบริษัทต่างชาติที่ถูกกล่าวหาว่าทุ่มตลาดนั้นก็ยังสามารถขึ้นราคาได้สำเร็จอยู่หรือเปล่า?”

“เออ ก็ใช่นะ”

“บริษัทต่างชาติได้ก้าวเข้ามาครอบงำอุตสาหกรรมในหลายต่อหลายแห่ง เพราะพวกเขากดราคาสินค้าลง บริษัทอเมริกันหลายแห่งต่างออกจากธุรกิจหรือเปลี่ยนไปผลิตอย่างอื่น แม้กระทั่งการแข่งขันกับอเมริกันจะไม่มีอยู่แล้วแต่ราคาก็ยังคงถูกอยู่อย่างนั้น สินค้าบริโภคทุกประเภทที่ผลิตในต่างประเทศ เช่น นาฬิกา, เครื่องคิดเลข และกล้องถ่ายรูป กลายเป็นของราคาถูกและเป็นอย่างนั้นไปเรื่อยๆ โทรทัศน์ที่เราได้เห็นในเซอร์กิต ซิตี้นั่นเป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบมาก ดูเหมือนว่าบริษัทในเอเชียที่โดนกล่าวหาว่าทำการทุ่มตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สามารถตั้งราคาในระดับที่ต่ำกว่าต้นทุนเป็นไปตามข้อกล่าวหาได้แทบจะตลอดกาล”

“แต่นั่นมันเป็นไปไม่ได้!”

“ถูกต้อง บางทีบริษัทต่างชาติกำลังดำเนินกิจการของพวกเขาแบบการกุศลด้วยการขายสินค้าให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันด้วยราคาต่ำกว่าทุน ซึ่งดูเหมือนไม่น่าจะเป็นไปได้ ดังนั้นบางทีพวกเขาอาจไม่ได้ทำการทุ่มตลาดมาตั้งแต่แรกเลยก็เป็นได้”

“แต่ถ้าพวกเขาไม่ได้ทุ่มตลาดจะเกิดอะไรขึ้นล่ะ?”

“คุณมองไม่เห็นเหรอ?”

“พวกเขาต้องได้เปรียบในเรื่องต้นทุนบางอย่างแน่ๆ”

“ใช่แล้ว”

“ผมคิดถึงความได้เปรียบด้านต้นทุนได้ 2 แบบนะ, เดฟ หนึ่งคือพวกเขาผลิตโทรทัศน์หรือสินค้าบางอย่างได้ดีกว่าเรา แต่ข้อได้เปรียบอย่างที่สองอาจเป็นเรื่องไม่เป็นธรรมอยู่สักหน่อย บางทีรัฐบาลของพวกเขาอาจกำลังอุดหนุนการผลิตอยู่ก็เป็นได้”

“นั่นเป็นเหตุผลที่ใช้อ้างโดยทั่วไปของพวกผู้ผลิตอเมริกันที่พยายามจะแข่งขันให้ได้ แต่ข้อแก้ตัวของพวกเขาส่วนใหญ่แล้วไม่เกี่ยวกับเรื่องนั้นเลย ลองพิจารณากรณีที่โลดโผนดูสักหน่อยที่รัฐบาลญี่ปุ่นอุดหนุนการผลิตโทรทัศน์หรือรถยนต์อย่างหนักซึ่งชาวอเมริกันก็ได้เห็นความจริงข้อนี้ของพวกญี่ปุ่นมาแล้ว คุณคิดอย่างไรกับสิ่งที่เป็นประโยชน์ยิ่งใหญ่ต่อประเทศชาติในการที่ให้ต่างชาติใช้ทุนและแรงงานที่มีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ยผลิตสินค้าให้แก่คุณโดยปราศจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใดๆเลยล่ะ? มันดูเหมือนเป็นโลกสุดแสนสวยงามสำหรับสหรัฐฯ เลยนะ”

“แต่, เดฟ ถ้าหากรัฐบาลญี่ปุ่นให้เงินอุดหนุนผู้ผลิตชาวญี่ปุ่นและทำให้ผู้ผลิตอเมริกันต้องล้มละลายแล้วก็เท่ากับเราอยู่ใต้ความอนุเคราะห์ของพวกเขานะ พวกเราได้ปิดโรงงานรถยนต์และโทรทัศน์ลงไปแล้ว และพวกญี่ปุ่นก็ยังสามารถขึ้นราคาได้อีกต่างหาก”

“ข้อแก้ตัวที่ว่านี้ฟังดูเหมือนกับที่ถูกคุณปฏิเสธไปแล้วอย่างมากเลยล่ะ”

“ผมปฏิเสธข้อแก้ตัวที่ว่าบริษัทต่างชาติอาจได้รับผลขาดทุนมหาศาลในระยะสั้นๆ และชดเชยผลขาดทุนนั้นได้ด้วยการขยับราคาสินค้าให้สูงขึ้นในอนาคตโดยหวังว่าบริษัทอเมริกันอาจไม่กลับเข้ามาในตลาดอีกหนหนึ่ง แต่ในกรณีการอุดหนุนของรัฐบาลนี้ทำให้รัฐบาลซึมซับเอาผลขาดทุนนั้นไป พวกบริษัทญี่ปุ่นถึงไม่ต้องเป็นห่วงถึงผลขาดทุนเลยเมื่อพิจารณาใช้แผนตัดราคา”

“มาลองพิจารณาประเด็นปัญหาจากอีกด้านหนึ่งของแปซิฟิกกันดูบ้าง ข้าวในประเทศญี่ปุ่นมีต้นทุนสูงกว่าราคาในสหรัฐฯ ถึง 5 เท่า เนื่องจากข้อจำกัดการนำเข้าจากต่างประเทศของญี่ปุ่น สมมติว่าญี่ปุ่นได้อนุญาตให้นำเข้าข้าวจากสหรัฐฯ เข้าประเทศได้ และสมมติว่าชาวนาของสหรัฐฯ สามารถปลูกข้าวรองรับความต้องการข้าวของญี่ปุ่นได้ในราคาถูกจนชาวนาญี่ปุ่นพบว่าไม่สามารถทำกำไรได้จากการปลูกข้าวอีกต่อไปแล้ว คุณคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น?”

“ถึงที่สุดแล้วญี่ปุ่นก็อาจถมที่นาของพวกเขาไปเลย และสหรัฐฯ ก็อาจมีสิทธิผูกขาด พวกเขาอาจขึ้นราคาและเอาเปรียบญี่ปุ่นได้ แล้วพวกญี่ปุ่นจะสามารถรื้อฟื้นที่นาพวกนั้นขึ้นมาได้อย่างไรกันล่ะ? พวกเขาไม่อาจทำได้หรอก –มันมีต้นทุนสูงเกินไป และถ้าหากว่าพวกเขาพยายามเริ่มต้นด้วยการถูๆไถๆกันไปก่อนแล้ว พวกเขาจะรู้ได้อย่างไรกันว่าสหรัฐฯ จะไม่กดราคาให้ต่ำลงอีกจนทำให้พวกเขาต้องขาดทุนเป็นเงินมหาศาล? หากผมเป็นคนหลงใหลในข้าวของญี่ปุ่นแล้วผมก็คงจะกลัวเหตุการณ์อย่างนี้มากเลยทีเดียว”

“ลองบอกผมซิ, เอ็ด คุณจะซื้อไม้สำหรับทำตู้โทรทัศน์ของคุณได้ที่ไหนบ้าง?”

“ที่บริษัทผลิตไม้ท่อนนอกชิคาโกแห่งหนึ่งน่ะ”

“คุณเคยเป็นห่วงมั้ยว่าพวกเขาอาจขึ้นราคากับคุณเป็นสองเท่าหรือแม้แต่ขึ้นราคาไปอีกร้อยละ 25 ในชั่วข้ามคืน?”

“ไม่เลย”

“ทำไมถึงไม่ล่ะ?”

“ก็เขารู้ว่าผมจะไปทำธุรกิจกับเจ้าอื่นน่ะสิ”

“แล้วคุณรู้ได้อย่างไรกันว่าเจ้าใหม่นั่นจะไม่พยายามขึ้นราคาอย่างที่คู่ค้าเก่าของคุณต้องการจะทำล่ะ?”

“ผมก็แค่ปฏิเสธแล้วก็เรียกหาเจ้าอื่น นอกจากเจ้าใหม่ที่ต้องการทำธุรกิจกับผมแล้วเขาก็ควรลดราคาเพื่อจูงใจให้ผมทำธุรกิจกับเขาด้วย”

“คุณไม่คิดหรือว่าการกดดันแบบเดียวกันของการแข่งขันระหว่างคู่ค้านั้นอาจเป็นการคุ้มครองชาวนาข้าวในสหรัฐฯ ในการตักตวงผลประโยชน์จากพวกญี่ปุ่นหากวันหนึ่งญี่ปุ่นกลายเป็น “ผู้พึ่งพิง” ข้าวจากสหรัฐฯ? มันมีชาวนาข้าวในสหรัฐฯ อีกมากที่กำลังแข่งขันกันแย่งลูกค้าชาวญี่ปุ่น แต่ถ้าหากว่ารัฐบาลสหรัฐฯ เข้ามาคุมตลาดข้าวและพยายามสร้างตลาดผูกขาดขนาดใหญ่เพื่อหาประโยชน์กับพวกญี่ปุ่นแล้วพวกญี่ปุ่นก็ยังสามารถหันไปหาประเทศอื่นๆได้อีก เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วถ้าข้าวไม่ได้ปลูกขึ้นเฉพาะในสถานที่ซึ่งมีอยู่จำกัดแล้ว พวกญี่ปุ่นก็ไม่จำเป็นจะต้องไปกังวลอะไรกับเรื่องนั้น”

“ถ้าอย่างนั้นทำไมญี่ปุ่นจึงกีดกันข้าวของสหรัฐฯ กันล่ะ?”

“แล้วทำไมผู้ผลิตโทรทัศน์ชาวอเมริกันพยายามกีดกันโทรทัศน์ของญี่ปุ่นกันล่ะ? โอ้! เขาอาจพูดถึงการคุ้มครองผู้บริโภคอเมริกันจากสินค้าต่างประเทศที่ต้อยต่ำได้แต่นั่นมันไม่ได้เป็นเรื่องจริงในตอนนี้อีกแล้วใช่มั้ย?”

“ตกลงๆ ผมเห็นประเด็นแล้ว คุณกำลังบอกว่าบริษัทอเมริกันออกจากธุรกิจไปก็เพราะญี่ปุ่นสามารถผลิตสินค้าได้ถูกกว่า การแข่งขันกันในหมู่บริษัทญี่ปุ่นและบริษัทจากประเทศอื่นๆ ช่วยรักษาราคาให้ต่ำลง ทั้งญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ต่างมั่งคั่งขึ้นทั้งคู่ และการทุ่มตลาดไม่มีทางที่จะเป็นกลยุทธ์ซึ่งสามารถทำกำไรได้”

“ถูกต้อง, แต่โชคไม่ดีที่การนำเข้าสินค้าในสหรัฐฯซึ่งเราเคยพบเห็นมาก่อนนั้น กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ไม่ได้ตีความการทุ่มตลาดว่าเป็นการขายที่ต่ำกว่าต้นทุน กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดว่าผู้ผลิตต่างชาติทุ่มตลาดตัดราคาในสหรัฐฯ ได้จนกว่าจะต่ำกว่าราคาในตลาดภูมิลำเนา จึงหมายถึงว่าผู้ผลิตสามารถขายสินค้าต่ำกว่าต้นทุนในสหรัฐฯ ได้”

“มันจะเป็นอย่างนั้นจริงใช่มั้ย, เดฟ?”

“ก็อาจเป็นได้นะ แต่คงไม่อาจเป็นไปได้เลยสำหรับเหตุผลที่เราคุยกันก่อนหน้านี้ ราคาสินค้าสามารถแบ่งแยกออกเป็นสองตลาดได้ด้วยเหตุผลเบาปัญญาว่าเป็นเพราะความผันผวนของค่าเงินในระยะสั้นๆ หรือกำหนดเงื่อนไขตลาดให้แยกออกจากกัน ส่วนแตกต่างของราคาที่ประเมินไม่ได้หมายถึงแรงกระตุ้นให้ทุ่มตลาดบ้างเป็นครั้งคราวเลย อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้รู้สึกสนใจในประเด็นประเด็นปัญหาพวกนี้ เมื่อมีการร้องขอโอกาสที่เสมอกันกับคู่แข่งขันต่างชาติจากบริษัทอเมริกันแล้ว กระทรวงพาณิชย์ก็ทำการเปรียบเทียบจากราคาทั้งสองนี้เป็นหลัก”

“ช่างดูตรงไปตรงมาเสียจริง”

“ก็ไม่หรอกนะ กระทรวงพาณิชย์จะใช้ราคาเฉลี่ยในภูมิลำเนาของตลาดต่างชาติย้อนไปก่อนหน้านั้นอีกหกเดือน โดยแท้จริงแล้วถ้ามีการซื้อขายใดๆเกิดขึ้นสหรัฐฯ โดยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยแล้วก็หมายความว่าราคาเฉลี่ยของสหรัฐฯ แพงกว่าราคาเฉลี่ยของต่างชาติ ต้องแจ้งข้อหาแก่ผู้ผลิตต่างชาติว่ามีความผิดฐานทุ่มตลาด เพราะฉะนั้นความผันผวนของราคาสินค้าหรือราคาแลกเปลี่ยนในตลาดปกติจึงสามารถนำไปสู่การพิจารณาตัดสินการทุ่มตลาดได้ กระทรวงพาณิชย์ยังเคยพิจารณาเกี่ยวกับการประเมินคุณภาพและด้านอื่นๆเกี่ยวกับสินค้าอย่างไม่เจาะจงอีกหลายครั้ง แต่การเมืองก็มักกดดันให้พวกเขาค้นพบการทุ่มตลาดเมื่อไม่มีอะไรเกิดขึ้นที่นั่นแล้ว”

“คุณพิสูจน์ได้มั้ยว่ามีการเลือกปฏิบัติต่อพวกเขาน่ะ, เดฟ?”

“ระหว่างปี 1986 ถึง 1992 กระทรวงพาณิชย์สืบคดีที่มีการกล่าวหาว่ามีความผิดฐานทุ่มตลาด 251 คดี และพวกเขาพบหลักฐานการกระทำผิดจริงถึงร้อยละ 97”
“นั่นมันก็ดูสูงอยู่นะ แล้วเกิดอะไรขึ้นหลังจากกระทรวงพาณิชย์ตรวจพบความผิดของผู้ผลิตต่างชาติกันล่ะ?”

“ค่าธรรมเนียมต่อต้านการทุ่มตลาดจึงได้รับการยัดเยียดเข้ามาในสินค้าแต่ละหน่วยที่ขายไปน่ะสิ อัตราการจัดเก็บค่าธรรมเนียมนี้เท่ากับส่วนต่างระหว่างราคาที่เป็นธรรมซึ่งคำนวณโดยกระทรวงพาณิชย์ กับราคาสินค้าในสหรัฐฯ”

“ถ้าอย่างนั้นมันก็เหมือนกับการเก็บภาษีนำเข้าน่ะสิ”

“โคตรจะเหมือนเลยล่ะ อย่างเช่นถ้าราคาสินค้าที่ “เป็นธรรม” ตั้งอยู่ที่ 8 ดอลลาร์และสินค้าต่างชาติในสหรัฐฯ แต่ละหน่วยมีราคา 6 ดอลลาร์ ดังนั้นผู้ผลิตต่างชาติจึงต้องชำระส่วนต่างอีก 2 ดอลลาร์ต่อสินค้าทุกหน่วยที่ขายในสหรัฐฯ มันมีผลคล้ายกับจัดเก็บภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 33 เลย เมื่อถึงช่วงปลายทศวรรษ 1980 อัตราค่าปรับโดยเฉลี่ยคือมากกว่าร้อยละ 50 ของราคาสินค้าในสหรัฐฯ คุณจะเห็นได้ว่าระเบียบการต่อต้านการทุ่มตลาดไปกระตุ้นให้พวกต่างชาติปรับราคาสินค้าของพวกเขาให้แพงขึ้นเพื่อเลี่ยงการถูกปรับ ผู้บริโภคจึงได้รับผลกระทบเชิงลบไปในนามของ “ความเป็นธรรม” ระหว่างปี 1985 ถึง 1989 สินค้าต่างประเภทกันมากกว่า 50 ชนิดถูกบังคับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่อต้านการทุ่มตลาดหรืออากรการดื้อแพ่งซึ่งเป็นค่าปรับอย่างเดียวกัน ในเวลานั้นพลเรือนสหรัฐฯ โดยเฉลี่ยต่างถือว่าการทุ่มตลาดเป็นปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่เผชิญร่วมกัน ขณะที่จริงๆแล้ว มันอาจไม่เคยเกิดขึ้นจริงๆ เลยก็เป็นได้”

“แต่คดีพวกนั้นในบางส่วนก็อาจถือได้ว่าเป็นการทุ่มตลาดที่แท้จริงได้นี่, เดฟ”

“มันไม่น่าจะเกิดขึ้นได้อย่างยิ่งเลยล่ะ ตัวอย่างที่ผมชอบยกอยู่เสมอๆ คือ มันเป็นเรื่องที่ต่างไปจากปกติ โดยเฉพาะสำหรับสินค้าที่มาจากกลุ่มประเทศสังคมนิยม (Communist countries) อย่างเช่น โปแลนด์ที่ครั้งหนึ่งก็เคยถูกกล่าวหาว่ากระทำการทุ่มตลาดรถไฟฟ้าในสนามกอล์ฟในตลาดสหรัฐฯ ทั้งที่ไม่มีการจำหน่ายรถดังกล่าวในโปแลนด์เลย มันยากที่จะเชื่อว่ามีการทุ่มตลาดเกิดขึ้น แต่ทางกระทรวงพาณิชย์ก็ต้องดำเนินคดีอยู่ดี พวกเขาทำอย่างไรงั้นหรือ? เมื่อไม่มีราคาในโปแลนด์มาเทียบเคียงในฐานะ “ราคาที่เป็นธรรม” กรณีนี้กระทรวงพาณิชย์จึงค้นหาเอาประเทศที่มีสภาวะเศรษฐกิจใกล้เคียงกับของโปแลนด์ พวกเขาเลือกแคนาดา พวกเขาเปรียบเทียบราคารถไฟฟ้าในสนามกอล์ฟที่ผลิตโดยพวกแคนาเดียนและขายในแคนาดากับราคารถไฟฟ้าที่ผลิตโดยพวกโปลิชแต่ขายในสหรัฐฯ”

“คุณหมายความว่าพวกเขาไม่ได้ใช้ราคาซึ่งผู้ผลิตชาวโปลิชขายในแคนาดางั้นหรือ?”

“ไม่เลย พวกเขาใช้ราคาที่ผู้ผลิตชาวแคนาเดียนตั้งขายในประเทศของตนและสมมติเอาว่ามันเท่ากับราคาที่บริษัทชาวโปลิชอาจจะตั้งขายในประเทศโปแลนด์ด้วย”

“มันจะเกินไปหน่อยแล้วมั้ง”

“เห็นด้วยเลย แต่ลองดูก่อนซิ แม้เราพบว่ามีการใช้คำนิยามอันช่างคิดกันขึ้นมาเช่นนี้ แต่ในอีกไม่กี่ปีให้หลัง มีการพิจารณากันใหม่อีกครั้ง คราวนี้รัฐบาลไม่ได้ใช้แคนาดาอีกแล้วล่ะ”

“อ้าว ทำไมล่ะ?”

“ใครจะรู้เล่า? มันอาจจะเป็นเพราะถ้าหากคุณใช้แคนาดาแล้วไม่อาจสร้างความลำบากใจได้มากพอล่ะมั้ง? กระทรวงพาณิชย์จึงได้เริ่มใหม่ในแบบที่ต่างออกไปซึ่งกฎหมายอนุญาตให้เรียกว่า “มูลค่าที่สร้างขึ้น” (constructed value) มันเป็นการประมาณตัวเลขต้นทุนขึ้นมาจากนั้นก็บวกด้วยร้อยละ 8 ของกำไรจึงจะได้ราคาที่อาจจะตรงกับราคาตลาดในต่างประเทศ”

“แล้วพวกเขาประมาณค่าต้นทุนกันได้อย่างไรกัน?”

“เป็นอย่างที่คุณคิดนั่นล่ะ ระยะห่างของช่วงประมาณการที่คุณจะใช้ได้มันค่อนข้างกว้าง ขึ้นอยู่กับว่าคุณจัดการกับพวกรายจ่ายประจำกับส่วนอื่นๆที่เหลืออย่างไร สัดส่วนร้อยละ 8 เป็นตัวเลขที่กำหนดขึ้นเอาเองล้วนๆ และค่อนข้างจะเปลี่ยนมโนทัศน์เรื่องการขายต่ำกว่าต้นทุนไปพอสมควร สำหรับสินค้าจากกลุ่มประเทศสังคมนิยมแล้วมันมีอะไรที่ต้องครุ่นคิดมากกว่านั้น เพราะโปแลนด์เป็นประเทศสังคมนิยม ค่าแรงงานและต้นทุนอย่างอื่นถูกตั้งไว้อย่างหลอกๆ ไม่ได้เป็นไปตามตลาด การใช้อัตราค่าแรงงานของโปแลนด์อาจทำให้ต้นทุนที่ประเมินมีมูลค่าต่ำ, ราคาสินค้าโปลิชที่ประเมินมีมูลค่าต่ำ จนไม่มีหลักฐานเอาผิดในเรื่องการทุ่มตลาด ด้วยเหตุนี้กระทรวงพาณิชย์จึงหันไปใช้อัตราค่าแรงงานของสเปนแทน”

“สเปน! ทำไมต้องสเปน?”

“ผมรู้ว่ามันยากที่จะเชื่อได้ แต่มันก็เป็นการอุปโลกน์ขึ้นมาอีกนั่นล่ะ ผู้ผลิตต่างชาติอยากจะเลี่ยงการถูกปรักปรำในข้อหาทุ่มตลาดจึงกรอกแบบสอบถามภาษาอังกฤษเป็นร้อยหน้าจากนั้นก็ถูกปรับเป็นเงินก้อนใหญ่ที่เลี่ยงไม่ได้ เพราะผู้ผลิตที่ระวังเนื้อระวังตัวไม่อาจมีความคิดแตกฉานพอจะรู้ว่าทางกระทรวงจะเลือกประเทศใดมาใช้พิจารณาจนกว่าการทุ่มตลาดจะเกิดขึ้นแล้ว คุณพอจะเห็นเลยใช่มั้ยว่ากระบวนการพวกนี้มีผลอย่างไรต่อแรงจูงใจในการแข่งขันด้านราคาของพวกผู้ป้อนสินค้าต่างชาติ”

“แต่มันก็อาจจะมีบางคดีที่กระทรวงพาณิชย์ตรวจพบความผิดของผู้ป้อนสินค้าต่างชาติในข้อหาทุ่มตลาดและราคาสินค้าก็ต่ำกว่าต้นทุนจริงๆน่ะ”

“มันก็เป็นไปได้นะและอาจจะจริงด้วย ผู้บริโภคอาจได้ประโยชน์ แต่สมมติว่าคุณต้องการที่จะหยุดพฤติกรรมอย่างนี้จริงจังแล้ว คุณรู้รึเปล่าล่ะว่าเหตุใดกฎหมายใช้บังคับกับการทุ่มตลาดถึงแม้จะมีที่ใช้ได้ผลดีสักฉบับก็เหอะมันจึงดูเหมือนจะให้ผลลัพธ์ในทางกลับกัน? การนำกฎหมายไปปฏิบัตินั้นอยู่ในมือของพวกนักการเมือง แทนที่จะมีความเป็นธรรมคุณกลับได้โลกที่กระทรวงพาณิชย์ใช้กระบวนการที่อุปโลกน์ขึ้นมาและยังพบว่ามีการทุ่มตลาดอยู่ถึงร้อยละ 97 ของทั้งหมด ในที่สุดแล้วผู้บริโภคก็กลายเป็นผู้พ่ายแพ้ แม้ว่ารัฐบาลกำลังหยุดการทุ่มตลาดจากต้นตออยู่ก็ตาม แต่ยังไงๆ ก็ยังมีผลข้างเคียงอื่นที่แฝงเร้นอยู่ในกฎหมายต่อต้านการทุ่มตลาดของสหรัฐ”

“มันคืออะไรหรือ, เดฟ?”

“ก็ได้ความเป็นธรรมกลับคืนมายังไงล่ะ ต่างชาติทั้งหลายต่างตอบโต้กฎหมายของสหรัฐฯ ด้วยการสถาปนาการต่อต้านการทุ่มตลาดเป็นของตัวเองโดยอิงตัวแบบจากกฎหมายสหรัฐฯ ตัวอย่างเช่น มอนซานโต (Monsanto) เคยวางจำหน่าย นูตราสวีท (Nutrasweet) ขนมหวานที่มีปริมาณแคลอรีต่ำในแถบยุโรปรวมถึงสหรัฐฯ ด้วย นูตราสวีทได้รับความคุ้มครองจากสิทธิบัตร แต่แล้วเมื่อสิทธิบัตรในยุโรปหมดอายุลงก่อนในสหรัฐฯ มอนซานโตจึงเผชิญกับการแข่งขันในแถบยุโรป ลองทายดูสิว่านูตราสวีทมีราคาถูกลง ณ ที่ใด?”

“ในยุโรปสิ เพราะมอนซานโตเจอการแข่งขันที่นั่น”

“ถูกต้อง แต่เพราะราคาในยุโรปถูกลงกว่าในสหรัฐฯ ชาวยุโรปจึงถูกยัดเยียดค่าธรรมเนียมต่อต้านการทุ่มตลาดหรือภาษีนำเข้าร้อยละ 75 จากนูตราสวีทที่จำหน่ายในยุโรป ถึงแม้ว่ามอนซานโตจะขายในราคาสูงกว่าต้นทุนอยู่แล้วในทั้งสองประเทศก็ตาม มอนซานโตจึงสร้างโรงงานนูตราสวีทในยุโรปเสียเลย ไม่ใช่เพราะว่ามีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์หรอก แต่ก็แค่หลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมร้อยละ 75 เท่านั้นเอง แม้ว่าตัวแทนผู้ผลิตนูตราสวีทชาวยุโรปต่างร่ำรวยถ้วนหน้าจากการที่ผู้บริโภคในยุโรปต้องจ่ายแพงขึ้นแต่โลกทั้งโลกกลับจนลงเพราะการค้าที่เคยเกิดขึ้นมันลดน้อยลง”

“โอเค, เดฟ ผมรู้แล้วว่ากฎหมายที่บังคับใช้กับการทุ่มตลาดสร้างต้นทุนอย่างมากให้แก่การสร้างตลาดแข่งขันที่เท่าเทียมกันได้อย่างไร แล้วมีการสร้างตลาดแข่งขันเท่าเทียมกันหนทางอื่นอีกหรือเปล่าที่ช่วยกระตุ้นให้มีการค้ามากยิ่งขึ้นด้วยน่ะ?”

“วิธีซึ่งเป็นที่นิยมกันมากคือการข่มขู่พวกต่างชาติว่าจะมีการเอาคืนถ้าหากพวกเขาไม่ลดอุปสรรคทางการค้าของพวกเขาลง”

“แล้วมันใช้การได้มั้ย?”

“ผมยังนึกตัวอย่างมาอธิบายไม่ได้เลย แต่อุปสรรคทางการค้าไม่ได้มีขึ้นเพียงเพราะทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่น่าเชื่อถืออ้างว่าพวกมันเป็นผลดีต่อประเทศชาติหรอกนะ พวกมันมีไว้เพื่อใช้ปรนเปรอผู้ผลิตภายในประเทศ ยังจำกรณีข้าวของญี่ปุ่นได้มั้ย? ระบบการเมืองของญี่ปุ่นให้น้ำหนักกับคะแนนเสียงจากชนบทอย่างไม่ได้สัดส่วนกัน ด้วยเหตุนี้ผู้ปลูกข้าวของญี่ปุ่นจึงมีอำนาจมากจนเกินควร ภัยคุกคามจากภาษีนำเข้าที่มีต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ของญี่ปุ่นจะกระตุ้นเตือนให้รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดโอกาสให้มีการนำเข้าข้าวจากสหรัฐฯ หรือไม่? อุปสรรคดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้อำนาจทางการเมืองของผู้ปลูกข้าวของญี่ปุ่นที่มีต่อรัฐสภาลดน้อยลง ลองถามตัวเองดูสิ, เอ็ด ชาวอเมริกันจะรู้สึกอย่างไรถ้าหากพวกญี่ปุ่นขู่สหรัฐฯ ด้วยเงื่อนไขแบบเดียวกัน”

“แต่ถ้าหากผลลัพธ์จากภาษีนำเข้าที่เสมอภาคกันและการลดขนาดโควตายังใช้การไม่ได้แล้วพวกต่างชาติจะทำอะไรต่อไปเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าล่ะ?”

“คุณก็แค่ทำมันอย่างสุดความสามารถเพื่อพลเรือนของคุณเองและเปิดตลาดของคุณรับสินค้าที่มาจากทั่วทุกมุมโลก ถ้าหากญี่ปุ่นไม่นำเข้าข้าวหรือรถยนต์ของสหรัฐฯ อย่างที่เคยพูดไว้ เมื่อนั้นก็มองข้ามพวกเขาไปเสีย อนุญาตให้รถยนต์ของพวกเขาเข้ามาในสหรัฐฯ โดยปลอดภาษีนำเข้าและไม่จำกัดจำนวน ให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันได้ใช้รถยนต์ในราคาถูก สหรัฐฯ จะกลายเป็นชาติที่มั่งคั่งจนประเทศอื่นๆ ในโลกสังเกตเห็น ประเทศอังกฤษของผมก็เคยใช้นโยบายแบบนี้เป๊ะๆ ซึ่งทำให้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่มาแล้วในศตวรรษที่ 19”

“แต่เหตุใดจึงไม่ใช้การยัดเยียดภาษีนำเข้าไปกดดันให้พวกต่างชาติลดภาษีนำเข้าของพวกเขาลงล่ะ?”

“ก็มีบ้าง ถ้าหากอุปสรรคเช่นนั้นมีประสิทธิผล แต่หลังจากพ้นช่วงนั้นแล้ว อุปสรรคดังกล่าวที่ไม่ได้ถูกยกเลิกจะไม่ได้รับความน่าเชื่อถืออีกต่อไป ถ้าหากคุณต้องการจะรักษาความไว้เนื้อเชื่อใจแล้วในที่สุดคุณก็ต้องยกเลิกสิ่งกีดขวางและการยัดเยียดภาษีนำเข้าทิ้งไปภายใต้บริบทของการเปิดตลาดกับพันธมิตรทางการค้าของคุณ”

“ถ้าเช่นนั้นมันดูแย่หรือเปล่าล่ะ?”

“แน่นอนสิ ถ้าการสร้างผลกระทบต่ออุปสรรคทางการค้าของพวกต่างชาติมันล้มเหลวและสุดท้ายก็จบลงด้วยการทำร้ายผู้บริโภคชาวอเมริกัน ยิ่งไปกว่านั้นมันยังไม่ได้สร้างแรงดลใจอย่างจริงจังอีกด้วย ความเป็นไปได้ที่ว่าภาษีนำเข้าจะกระตุ้นให้พวกต่างชาติลดอุปสรรคทางการค้าของพวกเขาลงกลับเปิดทางให้นักการเมืองสายคุ้มกันทางการค้าหยิบชิ้นปลามันไปสวาปาม ลองนึกถึงวุฒิสมาชิกที่มีภูมิลำเนาอยู่ในมิชิแกน (Michigan) หรือมิสซูรี่ (Missouri) ที่เต็มไปด้วยโรงงานรถยนต์ตั้งอยู่ที่นั่นดูสิ คนพวกนี้เป็นพวกกีดกันการค้ามาอย่างคงเส้นคงวาเชียวล่ะ ถึงจะมีความพยายามขึ้นค่าแรงอีกเล็กน้อย แต่ก็เป็นเสียงที่ดังพอดูในหมู่คนงานกลุ่มเล็กๆ ในภูมิลำเนาของเขา”

“ก็นั่นมันเป็นงานของเขาไม่ใช่เหรอ?”

“ผมไม่อาจพูดอย่างนั้นได้ ถึงแม้ว่าผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงของเขาที่ซื้อรถยนต์และทำงานในอุตสาหกรรมอื่นๆ จะได้ประโยชน์อย่างทั่วถึงเพิ่มมากขึ้น แต่ด้วยการยื่นมือเข้าช่วยเหลือผู้มีสิทธิลงคะแนนเพียงกลุ่มเดียวกลับทำให้เขาสร้างผลเสียหายร้ายแรงไปในวงกว้าง ผมอาจจะขุ่นเคืองใจน้อยกว่านี้ ถ้านักการเมืองเป็นพวกเปิดเผยตรงไปตรงมามากขึ้น แต่การที่เขาได้ขึ้นชื่อว่าเป็นพวกคุ้มกันทางการค้าและคุณกลับได้รับการทักทายด้วยภาพที่น่าตื่นตระหนกและสยดสยองอย่าง “ผมน่ะหรือเป็นพวกคุ้มกันทางการค้า? คุณประเมินผิดแล้วครับ ผมถือหางการค้าเสรี และผมก็ยังอยู่ข้างการค้าที่เป็นธรรมด้วย ลองถ้าพวกต่างชาติใช้การค้าเสรีสิ ผมก็เอากับเขาด้วย อันที่จริงเราจะกระตุ้นให้พวกเขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าเสรี เราจะทำโทษเขาด้วยภาษีนำเข้าจนกว่าพวกเขาจะกำจัดภาษีของพวกเขาด้วย ไม่ใช่เพื่อปรนเปรอผลตอบแทนพิเศษแก่ผู้ผลิตหัตถอุตสาหกรรมและคนงานโรงงานรถยนต์ที่อุทิศตนให้แก่การหาเสียงของผมและผู้ลงคะแนนเลือกผมเท่านั้น โอ้! ไม่ ความรักชาติต่างหากที่เป็นแรงดลใจของผม และเราจะกระตุ้นให้พวกที่เหลือในโลกได้เห็นแสงสว่าง” การพูดอย่างนี้คือการหาประโยชน์เข้าตัวโดยถูกอำพรางอยู่ใต้ความรักชาติและความหวังดีต่อผู้อื่นเพียงเพื่อเป้าหมายในการโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น ยังไม่มีหลักฐานปรากฎว่ามีมาตรการใดที่มีประสิทธิผลต่อการลดระดับอุปสรรคทางการค้าของประเทศอื่นๆ พวกเขาจึงมุ่งรักษาอัตราค่าแรงในมิสซูรี่และมิชิแกนให้สูงกว่าปล่อยให้มันเกิดผลตรงข้ามกัน”

“มันเหมือนกับเรื่องอลิซในดินแดนมหัศจรรย์ (Alice-in-Wonderland) เลยนะที่เรียกตัวเองว่าพวกการค้าเสรี (Free Trader) ขณะที่ออกเสียงให้กับการเก็บภาษีนำเข้าอยู่เสมอๆ น่ะ”

“คนอย่างวุฒิสมาชิกพวกนั้นมีข้ออ้างที่จะกู้ภาพลักษณ์ตัวเองในที่สาธารณะได้ตลอดล่ะ พวกเขาจะบอกคุณว่าการค้าเสรีใช้การได้ดีเฉพาะแต่ในทฤษฏี หรือไม่ก็การค้าเสรีจะใช้การได้ดีถ้าหากประเทศที่เหลือในโลกเดินตามการค้าเสรีด้วย มันเป็นข้อแก้ตัวที่มีสำนวนโก้หรูเอาไว้ใช้ปกปิดกลิ่นอายของความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น”

“แล้วแนวคิดที่ว่าการค้าเสรีจะใช้การได้ดีถ้าหากทุกคนเดินไปเหมือนกันหมดเป็นความจริงหรือเปล่าล่ะ?”

“เหตุใดมันจึงควรเป็นอย่างนั้นล่ะ? ทำไมประโยชน์ที่สหรัฐฯ ได้จากการค้าเสรีจึงจำเป็นต้องมีสมมติฐานที่ว่าถ้าทุกชาติเดินตามการค้าเสรีล่ะ? ผมขอพูดง่ายๆเลยนะ สมมติว่าชาวนายุโรปใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อกีดกันสินค้าจากไร่ของสหรัฐฯ สหรัฐฯ ก็อาจยอมรับหรือปฏิเสธสินค้าจากยุโรปได้เช่นกัน แบบไหนส่งผลดีต่อสหรัฐฯ มากกว่ากันล่ะ? ถ้าการปฏิเสธสินค้ายุโรปมิได้เป็นเหตุทำให้พวกเขาเปลี่ยนแปลงนโยบาย แม้ว่าสิ่งที่กำลังทำลงไปทั้งหมดนั้นสร้างแต่ผลเสียร้ายแรงต่อพลเรือนของตนแล้ว ก็เท่ากับรัฐบาลยุโรปเห็นว่าการทำร้ายตัวเองเป็นเรื่องที่เหมาะสม”

“ถ้าอย่างนั้นกลยุทธ์ที่ดีที่สุดก็คือการสนับสนุนการค้าเสรีไปเพียงฝ่ายเดียวน่ะสิ”

“ใช่แล้ว แม้ว่าสหรัฐฯ ได้ใช้การจูงใจในรูปแบบพหุภาคี (multilateral) และพยายามดึงประเทศทั้งหมดในโลกมาร่วมกันลดอุปสรรคจากภาษีนำเข้าแต่ก็ใช้เวลามากกว่าครึ่งหนึ่งของศตวรรษที่ 20 มันเป็นภารกิจของ “ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า” (the General Agreement on Tariffs and Trade) หรือเรียกอีกอย่างว่า แกตต์ (GATT)”

“แล้วมันใช้การได้มั้ย?”

“ในภาพรวมแกตต์ก็ประสบความสำเร็จ อุปสรรคทางการค้าลดน้อยลงและการค้าทั่วโลกเพิ่มขึ้นหลายเท่าระหว่างช่วงที่มีข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้น แต่ก็ยังติดปัญหาอยู่บ้างก็คือชาติที่เข้าร่วมการค้าเสรียังสามารถกีดกันทางการค้าด้วยการยัดเยียดค่าธรรมเนียมต่อต้านการทุ่มตลาดอย่างที่เราเคยคุยกันได้อยู่ รวมถึงพวกชาติต่างๆพวกนั้นยังค้นพบวิธีการที่จะพยายามหรือใช้กลอุบายต่อข้อตกลงนี้ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้บรรดาประเทศในโลกจึงต่างจัดทำกลไกไว้ใช้สำหรับวินิจฉัยข้อพิพาทและจัดการประชุมเพื่อเจรจาซึ่งอาจช่วยขยายการค้าเสรีให้ไปไกลยิ่งขึ้น พวกเขาจึงได้เลือกชื่อที่ไม่ค่อยจะเหมาะสมว่า “องค์การการค้าโลก” (World Trade Organization) หรือ “ดับบลิวทีโอ” (WTO) การใส่คำว่า “โลก” ในชื่อองค์การเปิดโอกาสให้ผู้เป็นปฏิปักษ์กับการค้าเสรีใส่ไคล้ดับบลิวทีโอว่าเป็นเหมือนรัฐบาลโลกที่น่าอุบาทว์อีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อความมีอธิปไตยของชาติ”

“แล้วมันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า?”

“ถ้าหากคุณลงนามข้อตกลงเพื่อที่จะเดินตามการค้าเสรีและคุณคาดหวังว่าประเทศอื่นในโลกจะทำแบบเดียวกันแล้ว คุณจะล้มเลิกสิทธิการกีดกันสินค้าต่างชาติบางส่วนโดยไม่ต้องการถอนตัวจากข้อตกลงหรือเปล่าล่ะ แต่ดับบลิวทีโอไม่มีกำลังตำรวจหรือความสามารถในการบังคับใช้นะ ขอผมเล่าอะไรให้คุณฟังหน่อย ชาวอเมริกันจะกลายเป็นพวกวิตกกังวลต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเมื่อถึงช่วงปลายศตวรรษที่ 20”

“สิ่งแวดล้อมรึ?”

“มันเชื่อมโยงกับสิ่งที่คุณอาจจะเรียกว่า “การอนุรักษ์” (conservation) –ความวิตกกังวลต่อเรื่องอากาศ, น้ำที่สะอาด และการรักษาไว้ซึ่งธรรมชาติรวมถึงชีวิตสัตว์ป่า”

“มันฟังดูดีนะ”

“ใช่แล้ว สหรัฐฯ ได้ผ่านร่างกฎหมายที่เรียกว่า “กฎหมายอากาศสดใส” (Clean Air Act) เพื่อสร้างความมั่นใจว่าบริษัทต่างๆ จะไม่แพร่กระจายสารเคมีซึ่งทำอันตรายต่อสุขภาพไปในอากาศ ส่วนหนึ่งของกฎหมายนี้กล่าวถึง “ความสะอาด” ของการจำหน่ายเชื้อเพลิงรถยนต์ในสหรัฐฯ ด้วย มีน้ำมันเชื้อเพลิงบางประเภทผลิตสารเคมีมากกว่าประเภทอื่นๆ เมื่อมีการปรับปรุงกฎระเบียบในปี 1990 โรงกลั่นของต่างชาติต้องเผชิญกับมาตรฐานที่สูงขึ้นกว่าที่พวกสหรัฐฯ เจอ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเป็นผลจากการโน้มน้าวของพวกบริษัทอเมริกันที่ต้องการกีดกันคู่แข่งขันจากต่างชาติ”

“เกิดอะไรขึ้นบ้างล่ะ?”

“คู่แข่งต่างชาติพวกนั้นร้องเรียนไปยังดับบลิวทีโอว่าเป็นการละเมิดต่อดับบลิวทีโอ เนื่องจากบริษัทอเมริกันได้รับการตรวจสอบมาตรฐานที่ต่ำกว่า พวกคู่แข่งต่างชาติพวกนั้นพูดถูก และพวกเขาได้รับชนะเรื่องนี้ในดับบลิวทีโอ”

“ชัยชนะนั่นหมายถึงอะไร? ดับบลิวทีโอสามารถเปลี่ยนกฎหมายอเมริกันได้หรือ?”

“ไม่เลย จำได้มั้ย ดับบลิวทีโอไม่มีกลไกการบังคับใดๆ เลย เมื่อสหรัฐฯ แพ้คดีในดับบลิวทีโอ พวกเขาก็มีแค่สองทางเลือก หนึ่ง, พวกเขาก็อาจเพิกเฉยต่อการบังคับคดีนั้นได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดทางให้พวกต่างชาติที่เคยถูกแบ่งแยกว่าไม่ใช่พวกเดียวกันสามารถตอบโต้สินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ด้วยการจัดเก็บภาษีนำเข้าขณะที่ยังยอมจำนนต่อแกตต์อยู่ด้วย แทนที่การลงโทษที่ไร้ประสิทธิผลและโหลยโท่ยนี้จะไปมีผลต่อสหรัฐฯ ในทางตรงข้ามกลับเป็นนโยบายที่วกมาทำร้ายเหยื่อผู้ร้องเรียนแทน สอง, สหรัฐฯ สามารถทบทวนกฎระเบียบว่าด้วยสิ่งแวดล้อมใหม่เพื่อกำหนดมาตรการที่เท่าเทียมกันกับของสหรัฐฯ ให้แก่ผู้ป้อนสินค้าต่างชาติ ซึ่งสหรัฐฯเลือกทำข้อที่สอง”

“ก็ดูมีเหตุมีผลดี แล้วทำไมยังคงมีข้อกังขาเกี่ยวกับดับบลิวทีโออยู่ล่ะ?”

“มีบางคนรู้สึกว่าสหรัฐฯ ควรมีสิทธิที่จะกีดกันสินค้าต่างชาติภายใต้กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมน่ะสิ แล้วเหตุใดดับบลิวทีโอจึงควรมีความเห็นอะไรซักอย่างเกี่ยวกับกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ ล่ะ? ก็เพราะในขณะที่มันดูมีเหตุมีผลดีอยู่มันก็หมายถึงว่าผู้ผลิตภายในประเทศสามารถใช้กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องมือกีดกันคู่แข่งขันต่างชาติได้ด้วยน่ะสิ ถ้าคุณต้องการอากาศที่สะอาดขึ้นแล้ว มันอาจจะดีกว่าหากคุณใช้การตรวจสอบมาตรฐานระดับสูงกับผู้ผลิตอเมริกันและต่างชาติแทนที่จะปล่อยบริษัทอเมริกันให้ผ่านไปง่ายๆ ขณะที่พวกต่างชาติได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มงวด ส่วนพวกอื่นๆ ที่ต่อต้านดับบลิวทีโอก็แค่พยายามจะดึงการเคลื่อนไหวของการค้าเสรีให้ช้าลง กระบวนการทั้งหมดนั่นเริ่มต้นจากข้อตกลงการค้าเสรีในกลุ่มเล็กๆ ระหว่างสหรัฐฯ ลงนามกับเม็กซิโก และแคนาดา เรียกว่า “ข้อตกลงการค้าเสรีทวีปอเมริกาเหนือ” (the North America Free Trade Agreement) หรือ “นาฟต้า” (NAFTA) ไม่มีใครจดจำได้เลยว่าแคนาดาก็อยู่ในข้อตกลงเหมือนกัน เพราะความสนใจทั้งหมดพุ่งเป้าไปที่เม็กซิโก”




Create Date : 17 มีนาคม 2552
Last Update : 17 มีนาคม 2552 23:39:12 น. 0 comments
Counter : 654 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Winnie The PeeH
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add Winnie The PeeH's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.