|
| 1 | 2 |
3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 |
10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 |
17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 |
24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 |
31 | |
|
|
|
|
|
|
|
เตรียมรับมือ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคม คนชรา
ทางออกผู้สูงอายุ จุดประกายระบบบำนาญแห่งชาติ วันที่ : 27/04/2009
ทางออกผู้สูงอายุ จุดประกายระบบบำนาญแห่งชาติ
//www.thainhf.org/index.php?module=news&page2=detail&id=240
...สถิติคนชราครองโลก
...ปี"53 ยอดคนแก่กระฉูดล้าน ผุดศูนย์ฟื้นฟูรับมือ
... พม.คาดอีก 15 ปี คนแก่เพิ่มอีก 20%
...คนแก่ถูกทิ้งไว้ลำพังเพิ่มทุกปี
วันผู้สูงอายุ 13 เมษายนปีนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ผู้สูงอายุที่ต้องอยู่คนเดียวเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดปี 2550 ตัวเลขผู้สูงอายุที่ถูกทิ้งไว้ลำพังมีสูงถึงร้อยละ 7.7 สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการขาดคนดูแล ส่วนที่อยู่กับครอบครัวก็ได้รับผลกระทบเพราะลูกหลานต้องออกไปทำงานนอกบ้าน หรือบางบ้านลูกหลานนิยมแยกครอบครัวออกไปอยู่ตามลำพัง
นี่คือพาดหัวข่าวและข้อมูลที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า โครงสร้างประชากรของประเทศไทยที่กำลังก้าวสู่สังคมคนชราอย่างมีนัยสำคัญ
เอาเข้าจริงแล้ว การก้าวสู่สังคมวัยชราแบบเต็มขั้นของประเทศไทยทำให้หลายฝ่ายเร่งหามาตรการรองรับ แม้ว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ดำเนินการนโยบายเร่งด่วนขยายเบี้ยยังชีพ 500 บาท ให้ครอบคลุมประชาชนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่นักวิชาการและปราชญ์ชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นว่ายังไม่เพียงพอ
ที่สำคัญคือในอนาคตอันใกล้ เมื่อจำนวนคนชราเพิ่มสูงขึ้น ภาระงบประมาณที่รัฐต้องจ่ายก็ต้องสูงขึ้น คำถามใหญ่ที่จะตามมาคือ รัฐจะเอาเงินจากไหนมาจ่าย...?
หลากหลายข้อเสนอที่นำเสนอผ่านเวทีต่างๆ ล่าสุดได้ข้อสรุปที่น่าสนใจ ในเรื่อง "การออกแบบระบบบำนาญแห่งชาติ" โดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ใช้เวลาศึกษานานกว่า 2 ปี ก่อนจะเคาะรูปแบบ ของการจ่ายบำนาญแห่งชาติออกมาเป็น 2 ระบบ นำเสนอผ่านเวที ราชดำเนินเสวนา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เรื่อง "บำนาญแห่งชาติ หลักประกันรายได้ยามชรา"
"ประชาชาติธุรกิจ" นำเสนอเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้
2 รูปแบบระบบบำนาญแห่งชาติ
ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านหลักประกันทางสังคม ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคม ทีดีอาร์ไอ เห็นว่า มีความจำเป็นที่ประชาชนควรจะมีระบบบำนาญแห่งชาติ เนื่องจากทุกวันนี้จำนวนคนไทยวัยทำงานประมาณ 44 ล้านคน มีกว่า 30 ล้านคน ที่ยังไม่มีหลักประกันด้านรายได้เมื่อเข้าสู่ วัยชรา ซึ่งคนเหล่านี้มีอาชีพที่มีรายได้ไม่แน่นอน เมื่อเข้าสู่วัยชราจะมีความเสี่ยงต่อภาวะความยากจนข้นแค้นได้สูง
ถ้ารอให้รัฐสงเคราะห์อาจจะทำให้ต้องอยู่อย่างยากลำบาก เพราะเงินสงเคราะห์เบี้ยยังชีพอาจจะไม่เพียงพอต่อค่าอาหาร เช่น ค่าของเงินสงเคราะห์ 500 บาท ใน 20 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่าลดลงเหลือ 300 บาท ถ้าอัตราเงินเฟ้อของอาหารประมาณร้อยละ 2 ต่อปี จะเห็นว่าไม่พอรับประทาน
หรือถ้าหวังให้รัฐเพิ่มเบี้ยสงเคราะห์ อาจจะลำบาก เราไม่ทราบว่ารัฐจะสามารถ ช่วยเหลือเพิ่มขึ้นได้หรือไม่ นอกจากนี้การเพิ่มเบี้ยสงเคราะห์จะเป็นภาระเงินงบฯสูงมาก เนื่องจากสัดส่วนประชากรสูงอายุ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากประมาณร้อยละ 12 ในปี พ.ศ.2553 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 26.0 ในปี พ.ศ.2593 (อีก 40 ปีข้างหน้า)
ดังนั้นระบบบำนาญแห่งชาติจะให้ความสำคัญกับการออมของประชาชน โดยภาครัฐอำนวยความสะดวกและช่วยให้ความมั่นใจว่า เงินที่ออมจะสามารถเกิดดอกผลพอที่ประชาชนจะใช้ยามที่ชราภาพ
ดร.วรวรรณเสนอถึงรูปแบบระบบบำนาญว่า ขณะนี้นักวิชาการจากหลายสถาบัน รวมถึงผู้นำชุมชน และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้คุยกันหลายรอบแล้ว เกี่ยวกับรูปแบบของระบบบำนาญแห่งชาติ ซึ่งข้อเสนอเบื้องต้นมี 2 รูปแบบ คือ
รูปแบบที่ 1 ประชาชนอายุ 15-59 ปี ทุกคนต้องออมอย่างต่ำเดือนละ 100 บาท และรัฐช่วยสมทบออมอีกเดือนละ 50 บาท เมื่อเกษียณอายุมีบำนาญสองส่วน ส่วนแรกเป็นบำนาญพื้นฐานคนละ 500 บาทต่อเดือนได้จากรัฐ ส่วนที่สองเป็นบำนาญที่มาจากการออมของแต่ละคนและที่รัฐช่วยสมทบ ถ้าออมมากก็ได้รับบำนาญมาก เงินบำนาญจ่ายให้แก่ทุกคนที่ออม และจ่ายจนกระทั่งเสียชีวิต
รูปแบบที่ 2 ประชาชนอายุ 20-59 ปี ทุกคนต้องออมอย่างต่ำเดือนละ 50 บาท โดยไม่มีการสมทบจากรัฐ สิทธิประโยชน์ จะต่างจากแบบที่หนึ่ง คือเมื่อเกษียณอายุได้บำนาญสองส่วน ส่วนแรกเป็นบำนาญ พื้นฐานคนละ 500 บาทต่อเดือน รัฐเป็นผู้จ่ายให้ และส่วนที่สองมาจากการออมของแต่ละคน ถ้าออมมากก็ได้รับบำนาญมาก เงินบำนาญทั้งสองส่วนจะจ่ายให้จนกระทั่งเสียชีวิต ไม่เพียงเท่านั้นในระบบนี้ ถ้าผู้ออมหรือผู้รับบำนาญเสียชีวิต ก็จะมีเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือให้แก่ครอบครัว หรือถ้าผู้รับบำนาญเสียชีวิตก่อนที่จะใช้เงินออมหมด ก็ให้คืนเงินออมที่ได้นั้นให้แก่ญาติคล้ายกับเป็นบำเหน็จตกทอด
แต่อย่างไรก็ตามรูปแบบไหนจะเหมาะสมที่จะนำมาใช้กับสังคมไทยมากที่สุด จะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของภาครัฐ เพราะหากโครงการนี้รัฐบาลไม่ผลักดัน โอกาสเกิดก็แทบจะเป็นศูนย์
ดร.วรวรรณขยายความเรื่องนี้ต่อไปว่า ในการให้ความเชื่อมั่นกับภาคประชาชนในเรื่องการลงทุนในระบบบำนาญแห่งชาติ จะต้องมีกฎหมายการจัดตั้งกองทุนบำนาญแห่งชาติมารองรับ เพื่อให้มีการตั้งคณะกรรมการบริหารการลงทุน และมีผู้บริหารที่เป็นมืออาชีพมาบริหารจัดการกองทุนให้มีความโปร่งใส โดยกฎหมายจะเขียนให้มีความรัดกุมที่สุดเพื่อความมั่นคงของกองทุนในอนาคต
แน่นอนว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ถ้าความเสี่ยงสูงก็มักจะได้ผลตอบแทนสูง ถ้าความเสี่ยงต่ำก็มีแนวโน้มจะได้ผลตอบแทนที่ต่ำด้วย ดังนั้นการบริหารการลงทุนควรแยกเป็นแผนการลงทุนหลายแบบ เพื่อให้ผู้ออมมีโอกาสเลือกว่าต้องการระดับผลตอบแทนสูง (เสี่ยงสูง) หรือผลตอบแทนต่ำ (เสี่ยงต่ำ) เช่น ผู้ที่ต้องการความเสี่ยงต่ำ อาจจะเลือกแผนการลงทุนที่เน้นพันธบัตรซึ่งให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าแผนอื่นๆ ตรงนี้ ผู้ออมสามารถทำได้
"ระบบบำนาญแห่งชาติจะไม่ซ้ำซ้อนกับระบบอื่น เนื่องจากประชาชนที่มีสิทธิในการสมทบเงินออมยังไม่มีหลักประกันด้านรายได้ที่มั่นคง จริงอยู่ที่ผู้ประกันตนภายใต้ระบบประกันสังคมจะมีบำนาญชราภาพในอนาคต แต่ปัญหาการจ่ายเงินบำนาญของกองทุนประกันสังคมจะทำให้กองทุนไม่ยั่งยืน ดังนั้นประชาชนกลุ่มนี้ก็จะอยู่ในภาวะเสี่ยงได้ ที่สำคัญผู้ประกันตนส่วนใหญ่มักมีการเปลี่ยนงานอยู่เสมอ และบางครั้งก็ออกจากระบบประกันสังคมไปเลย ทำให้โอกาสที่จะไม่มีสิทธิได้รับบำนาญนั้นมีมาก"
ดร.วรวรรณตอบคำถาม พร้อมอธิบายต่อว่า เมื่อมีกองทุนบำนาญแห่งชาติก็ต้องมีกฎหมายร่างขึ้นมาใหม่ กฎหมายใหม่จะต้องกำหนดให้กองทุนบำนาญแห่งชาติเป็นนิติบุคคล มีอำนาจในการเก็บเงินออมจากประชาชน เมื่อเก็บเงินก็ต้องมีคนบริหาร ดังนั้นในกฎหมายจะต้องกำหนดให้คัดเลือกคณะกรรมการบริหารกองทุนอย่างไร
เรากำหนดว่าก่อนที่จะคัดเลือกคณะกรรมการ ต้องมีคณะกรรมการสรรหาคนที่จะมาเป็นผู้บริหาร โดยประธานคณะกรรมการสรรหาได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ส่วนคณะกรรมการสรรหาจำนวน 8 ท่าน ได้จากการเสนอของตัวแทนฝ่ายต่างๆ โดยให้ความสำคัญกับตัวแทนภาคประชาชนมากกว่าภาครัฐ กรรมการสรรหาจำนวน 4 ท่าน อาจได้จากการเสนอของตัวแทน อบต. และเทศบาลใน 4 ภาค อีก 1 ท่านได้รับการเสนอจากตัวแทนเขตใน กทม. และอีก 3 ท่านได้จากการเสนอโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และเลขาธิการ ก.ล.ต.
ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะต้องรายงานผลการดำเนินงานกองทุนต่อรัฐสภาทุก 3 เดือน เพื่อลดปัญหาในเรื่องความเสี่ยงต่างๆ
ถึงเวลาสร้างหลักประกันรายได้ผู้สูงอายุ
น.พ.ถาวร สกุลพาณิชย์ ผู้อำนวยการโครงการปฏิรูประบบสุขภาพ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หนึ่งในคณะทำงานที่ได้ลงไปศึกษาเรื่องนี้ กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และคาดการณ์ได้ว่า สภาพสังคมไทยในอนาคต การที่จะเป็นครอบครัวใหญ่อยู่ด้วยกันจะน้อยลงเรื่อยๆ แต่จะเป็นครอบครัวเดี่ยวหรือมีผู้สูงอายุที่ต้องดูแลตัวเองสูงขึ้น ฉะนั้นหลักประกันรายได้ผู้สูงอายุควรจะเกิดขึ้น
แม้รัฐบาลเริ่มหลักประกันด้วยเบี้ยยังชีพ แต่จริงๆ แล้วยังไม่พอที่จะทำให้เราได้ปัจจัย 4 ในอนาคต ฉะนั้นจึงคิดว่าถ้าเป็นไปได้ ในอนาคตเราตั้งความหวังว่า ผู้สูงอายุควรจะมีการันตีขั้นต่ำระดับหนึ่งว่าสามารถดำรงชีวิตได้อย่างสมศักดิ์ศรีเมื่ออายุเยอะขึ้น แต่เบี้ยยังชีพอย่างเดียวไม่เพียงพอ ถ้าเราบอกว่า เขาจะต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องอื่นอีก อย่างเช่นที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ดังนั้นการที่มีหลักประกันมั่นคงด้านรายได้ควรจะต้องมี
น.พ.ถาวรให้ข้อมูลว่า การทำระบบบำนาญให้ผู้สูงอายุมีหลักการใหญ่อยู่ 3 ข้อ นั่นคือ 1.เพื่อต้องการให้เกิดการร่วมทุกข์ร่วมสุขของคนในสังคม 2.ต้องการทำบำนาญคือการสะสมเงินให้กับตัวเอง และ 3.หากสะสมเงินออมได้มากก็จะสามารถประกันความเสี่ยงให้กับตนเองได้
ซึ่งหลักการทั้ง 3 ข้อนี้ใช้ในการออกแบบระบบบำนาญในหลายประเทศทั้งในญี่ปุ่นและยุโรป โดยเขาคิดแบบง่ายๆ ว่า จัดระบบขึ้นมาและก็ทำทั้ง 3 เรื่องนี้
แต่สักพักหนึ่งก็เกิดปัญหาว่า เมื่อประเทศเหล่านี้มีผู้สูงอายุเยอะขึ้น เขาก็เริ่มวิเคราะห์ว่าที่เขาคิดไว้นั้นหยาบไป แต่ช่วงหลังก็มีนักคิดหลายท่านเสนอว่า แบ่งระบบบำนาญเป็นระบบบันได 3 ขั้น
ขั้นแรก เรื่องร่วมทุกข์ร่วมสุข ก็ดูแค่ว่าพออยู่ได้ และมีการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เพื่อเป็นการรับประกันว่าอย่างน้อย ยากจนยังไงก็ต้องได้บำนาญในระดับหนึ่ง
ขั้นสอง เป็นเรื่องการสะสมให้ตัวเอง ก็คิดว่าใครที่มีรายได้เยอะ ก็สามารถสะสมได้เยอะ แล้วรายได้ที่สะสมได้เยอะ ก็จะเป็นผลตอบแทนในอนาคต ซึ่งถ้ารัฐต้องการก็สามารถเข้าไปกำกับให้เกิดส่วนนี้ได้
ส่วนขั้นที่ 3 เรื่องประกันความเสี่ยง ก็อาจจะเหมือนกับเราไปซื้อหุ้น ซื้อกองทุน ถ้าต้องการเยอะก็ลงทุนเยอะ ซึ่ง ณ วันนี้ ที่มีการพูดคุยกันคือ ขั้นที่ 1 และ 2
ดังนั้นที่เราเน้นมาก คือคนที่ไม่มีนายจ้าง ส่วนกลุ่มที่มีนายจ้างอยู่แล้ว ระบบประกันสังคม เขามีการออกแบบระบบสิทธิประโยชน์ชราภาพอยู่ แต่แนวทางคล้ายๆ กัน แต่ยังไม่เหมือนทีเดียว ฉะนั้นถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะทำให้เหมือนกันหมด ก็อาจจะเป็นไปได้
แต่วันนี้สิ่งที่เราเสนอ คงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องตัดสินใจกันต่อว่า อาจจะทำได้ทั้ง 2 แบบ ส่วนที่มีนายจ้างก็ทำต่อไป ส่วนที่ยังไม่มีก็ทำให้เกิดขึ้นมา คนบริหารอาจจะเป็นคนละกลุ่มกัน แต่ในที่สุดแล้วหนีไม่พ้นต้องคุยกันอยู่ดีว่า แม้จะบริหารรวมหรือแยกกัน สิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานที่คนไทยทุกคนต้องได้รับควรจะเป็นเท่าไหร่
บำนาญแห่งชาติ
หนทางสร้างหลักประกันรายได้ที่ยั่งยืน
ผศ.สถิตพงศ์ ธนวิริยะกุล ผู้จัดการชุดโครงการพัฒนาผู้สูงอายุไทย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) มองไปในทิศทางเดียวกันว่า นโยบายเร่งด่วนในการขยายเบี้ยยังชีพ 500 บาทของรัฐบาล ถือเป็นการสร้างรัฐสวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุอย่างถ้วนหน้า แต่ปัญหาสำคัญก็คือภาระทางการเงินการคลังที่ต้องเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต รัฐจะต้องจัดเก็บภาษีต่างๆ เพิ่มขึ้นมาทดแทนอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามจังหวะนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้มีการทบทวนสร้างระบบบำนาญแห่งชาติที่มีความยั่งยืนและพอเพียงในรูปแบบของการพึ่งพาตนเอง ส่งเสริมให้ประชาชนมีนิสัยการออมในระยะยาวนับแต่วัยแรงงานจนถึงวัยเกษียณอายุ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 53 ระบุว่า บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์ และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพมีสิทธิได้รับสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะอย่างสมศักดิ์ศรี และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ และในมาตรา 84 (4) ระบุให้จัดให้มีการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราแก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างทั่วถึง
การสร้างหลักประกันด้านรายได้สำหรับผู้สูงอายุที่เหมาะสมเท่านั้นเป็นแนวทางที่ถูกต้อง ในส่วน "เบี้ยยังชีพ" มิใช่เป็นวิธีการเดียวที่สามารถใช้เพื่อจัดการกับปัญหาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพการณ์ปัจจุบันที่สังคมไทยเปลี่ยนแปลงสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีความเข้มข้นมากขึ้น เรามิอาจจะละเลยที่จะพิจารณาเรื่องผู้สูงอายุในอนาคตได้
เงินเบี้ยยังชีพเพียง 500 บาท สำหรับอนาคตนั้นคงไม่เพียงพอ แต่การจะเพิ่มเบี้ยยังชีพให้มากขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นภาระทางการเงินการคลังของรัฐอย่างมากอันอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาในด้านต่างๆ ด้วยเหตุนี้ประชาชนทุกๆ คนควรมีการตระเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ด้วยการออมระยะยาวนับตั้งแต่วัยแรงงานจนถึงวัยเกษียณ นั่นก็คือการสร้างระบบบำนาญแห่งชาติ
ข้อเสนอระบบบำนาญแห่งชาติที่จะจัดตั้งขึ้นนี้ ควรกำหนดจากพื้นฐานนโยบายการจ่ายเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุอย่างถ้วนหน้า 500 บาทต่อเดือน โดยปรับให้เบี้ยยังชีพนี้เข้ามาเป็นส่วนของเงินสมทบของรัฐ คือเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นบำนาญพื้นฐานที่รัฐจ่ายให้กับผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ที่อยู่ในระบบบำนาญแห่งชาติ และกำหนดให้มีการบังคับออมเป็นบัญชีการออมรายบุคคล เพื่อให้เป็นบำนาญส่วนเพิ่มจากบำนาญพื้นฐาน 500 บาท ตามความสามารถในการออมของแต่ละคน โดยกำหนดการออมบังคับ ขั้นต่ำที่ 50 บาทต่อเดือน ขั้นสูงที่ 500 บาทต่อเดือน นับตั้งแต่วัยแรงงานอายุ 20 ปีถึง 59 ปี ทั้งนี้คาดหวังว่าเงินบำนาญที่มาจากส่วนการออมของประชาชนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่เงินสมทบจากรัฐจะคงที่
ระบบบำนาญแห่งชาติออกแบบมาเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการดูแลตัวเองยามชราภาพโดยบังคับให้มีการออม แม้ว่าจะไม่บังคับการออมก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนจะไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อบำนาญชราภาพ ความจริงแล้วเงินที่รัฐบาลจ่ายนั้นก็มาจากภาษีอากรของประชาชน ถ้าหากเป็นภาระทางการเงินการคลัง รัฐบาลต้องมาเก็บภาษีจากประชาชนเพิ่มขึ้นในรูปแบบต่างๆ ประชาชนก็ย่อมต้องจ่ายอยู่ดี
การออกแบบระบบบำนาญแห่งชาตินี้จึงได้พิจารณาออกแบบให้มีความผสมผสานระหว่างสิ่งที่ภาคการเมืองสัญญาว่าจะจ่ายเบี้ยยังชีพ 500 บาทต่อเดือนให้กับผู้สูงอายุทุกคนตลอดไป กับการกำหนดบังคับการออมเป็นบัญชีรายบุคคลที่ขั้นต่ำ 50 บาทต่อเดือน ซึ่งจะทำให้เงินบำนาญที่ผู้สูงอายุจะได้รับมากกว่า 500 บาทต่อเดือนตามความสามารถในการออม ผู้สูงอายุก็จะมีหลักประกันที่มั่นคงยิ่งขึ้น และยังเพิ่มแรงจูงใจในเรื่องของบำเหน็จตกทอด และเงินฌาปนกิจสงเคราะห์อีกด้วย
ผศ.สถิตพงศ์เชื่อว่า หากไม่กำหนดให้มีการออมภาคบังคับในระบบบำนาญแห่งชาติแล้ว ทำนายได้เลยว่าการจ่ายเบี้ยยังชีพ 500 บาทต่อเดือนจะหยุดไว้ไม่อยู่ จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นภาระทางการเงินการคลังของประเทศอย่างแน่นอนในอนาคต ซึ่งรัฐก็ต้องเก็บภาษีต่างๆ มาทดแทนอย่างแน่นอน ซึ่งนั่นหมายถึงภาระของลูกหลานที่เพิ่มขึ้น
สุดท้ายก็ต้องกระทบกับระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ประชาชนก็ต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งเราไม่ต้องการให้ประชาชนแบมือขอรับการสงเคราะห์แต่อย่างเดียว แต่ละคนควรมีศักดิ์ศรีและควรจัดการรับผิดชอบความเสี่ยงของตนเองด้วยการออม อันเป็นสิ่งที่จะต้องสร้างทัศนคติในเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผศ.สถิตพงศ์มองว่า สุดท้ายแล้วต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินอนาคตตนเอง ว่าชีวิตหลังเกษียนจะเป็นอย่างไร หากอยากอยู่แบบพอมีพอกิน ก็เลือกออมน้อยๆ แต่หากอยากอยู่อย่างสบายก็เลือกออมให้มากขึ้น เพราะระบบบำนาญแห่งชาติจะช่วยในการจัดสรรเงินออมให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น.-
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 13 เมย.52
Create Date : 06 มกราคม 2553 |
Last Update : 6 มกราคม 2553 11:09:07 น. |
|
4 comments
|
Counter : 652 Pageviews. |
 |
|
|
โดย: จิตติ จักรวาลวิบูลย IP: 124.121.91.173 วันที่: 6 มกราคม 2553 เวลา:13:48:51 น. |
|
|
|
โดย: da IP: 124.120.8.106 วันที่: 6 มกราคม 2553 เวลา:15:30:32 น. |
|
|
|
โดย: นะ IP: 124.121.232.27 วันที่: 12 มกราคม 2553 เวลา:11:12:30 น. |
|
|
|
โดย: นะ IP: 124.121.232.27 วันที่: 12 มกราคม 2553 เวลา:11:20:21 น. |
|
|
|
| |
|
|
ตามอีเมลนี้นะคะ ขอบพระคุณค่ะ
jitti1950@hotmail.com