Khantī paramam tapo tītikkhā [Buddhist Proverbs]
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
23 พฤศจิกายน 2554
 
All Blogs
 
หมากรุกไทย - ๑๒ รูปแบบ หมากไล่-หมากหนี

ผมว่าเสน่ห์อย่างหนึ่งของหมากรุกไทยคือ การเปิดโอกาสให้ผู้เล่นฝ่ายที่เป็นรอง สามารถเดินเพื่อหาเสมอได้ โดยการนับศักดิ์กระดาน ซึ่งรูปหมากไล่-หมากหนี เพื่อนับศักดิ์กระดานนี้ มีรูปแบบตามที่ปรากฏใน เพลงยาวกระบวรไล่หมากรุก ซึ่งประพันธ์โดย หลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) ในส่วนของการนับศักดิ์กระดาน โดยมีอยู่ ๑๒ รูปแบบ ดังนี้ครับ


.....อนึ่งหมากหนีมีเบี้ยเขี่ยเขี้ยวขับ ......... ติดกำกับอยู่กับขุนไม่ห่างหัน
ข้างหมากไล่ไล่รุกเข้ารุมรัน .................. สามเบี้ยกันกั้นสังกัดสังเกตจำ
หมากไล่สามหนีเอาหนึ่งคำนึงนับ ............. ตามบังคับหกสิบสี่เปนที่ขำ
โดยกำหนดบทระเบียบเทียบประจำ ........ ถ้าเกินกำหนดกล่าวเสมอกัน

.....อีกหมากไล่หมากหนีดีทั้งคู่ ............. มีเรืออยู่คนละลำปล้ำขับขัน
ข้างหมากไล่ได้เบี้ยช่วยบังกัน .............. ไขว้ผูกพันเบื้องหลังพอบังสกนธ์
หมากรูปนี้มักจะมีอยู่บ่อยบ่อย .............. จงคิดคอยดูอย่าเฟือนเลือนฉงน
ทั้งเบี้ยเทียมเทียบถูกผูกจำนน .............. นิยมผลหกสิบสี่ที่สัญญา
แม้ไม่จนพ้นคำนวณคำนึงเสนอ ............. ก็เสมอเหมือนตำหรับตำราว่า
อย่าเลินเล่อเผลอพล้ำให้พลั้งตา ........... จงไตร่ตราตรึกตริดำริตรอง

.....อีกชื่อมีชี้ชัดถนัดแน่ ..................... เรียกกลหอกข้างแคร่สำเนาสนอง
มีเบี้ยเดียวเลี้ยวลดบทละบอง ............... ยกย้ายย่องแอบขุนจุนประจำ
พวกหมากไล่ได้ท่าก็ฝ่าแฝง ................. โคนทะแยงเยื้องย่างสามขุมขำ
ผูกกระชับกับเบี้ยคลอเคลียคลำ ............ รวมรุมร่ำรุกรบตลบไป
ไล่ไม่จนพ้นพิกัดบัญญัติยก ................. เกินเกณฑ์หกสิบสี่สิ้นสงสัย
ทั้งสองข้างต่างแต้มไม่ต่ำไกล .............. ก็ยอมให้สมเสมอเสมือนกัน

.....อีกจับม้าอุประการประกอบชอบ ....... แบบระบอบหมากหนีท่วงทีขัน
มีม้ามิ่งวิ่งหลบไม่รบรัน ....................... ข้างหนึ่งนั้นสองเบี้ยแซกเซียซุน
กับโคนหนึ่งขึงท่าโถมสมทบ ................ ม้าเลี้ยวหลบหลีกแฉลบเข้าแอบขุน
ต่างคุมท่าหาทางจะรุกรุน .................... เมียงมุ่งมุ่นมองขะมักเขม้นตา
มีเกณฑ์ย่างอย่างกำหนดหกสิบสี่ .......... แม้หมากหนีหนีไม่พ้นก็จนท่า
ตามพิกัดจัดไว้ในตำรา ....................... พึงวิจารณจงให้เจนใจ

.....อีกกลลูกติดแม่แน่กำหนด ............. โดยแบบบทเบื้องบรรพ์ธิบายไข
ข้างหมากหนีมีเรือเฝือแฝงไป .............. กับเบี้ยหงายวางไว้จังหวะกัน
ข้างหมากไล่ได้โคนกับเบี้ยหงาย .......... แลเรือรายรุกเรียงเคียงกระสัน
ไล่ไม่จนพ้นหกสิบสี่พลัน .................... เพราะโคนกันขุนกุมคุมเชิงชน

.....หณุมานอาสาท่านว่าไว้ ................. ข้างหมากไล่เรือกับม้าอย่าฉงน
อีกเบี้ยหงายรายคุมโคนระคน .............. ม้าผจญโจมบุกเข้ารุกรัน
ข้างหมากหนีมีเรือคอยรารับ ................ โคนกำกับเคียงข้างไม่ห่างหัน
ต่างประชิดติดต่อไม่รอกัน .................. กำหนดนั้นหกสิบสี่มีอัตรา

.....ควายสู้เสือเหลือลำบากพวกหมากหนี ..... คือโคนมีอยู่กับเบี้ยไม่เสียท่า
คอยป้องปิดติดแว้งทะแยงตา .................... เข้ารับหน้ากันรุกทุกกระบวน
ข้างหมากไล่ได้เรือไว้กับเม็ด .................... คอยลอดเล็ดล้อมเลี้ยวตลบหวน
มีเกณฑ์กฎบทบังคับนับจำนวน .................. ไม่จนถ้วนหกสิบสี่เสมอกัน

.....อีกอู่ทองหนีห่าน่าสลด ....................... กำหนดบทหมากไล่ไม่ผิดผัน
มีโคนหนึ่งเบี้ยสามพองามกัน .................... เข้าโรมรันโอบอ้อมเที่ยวล้อมราย
ข้างหมากหนีมีเรือลำเดียวเดี่ยว ................. เข้าเกี้ยวเกี่ยวรุกกระชั้นเหมาะมั่นหมาย
ไม่จนแต้มจนตาตามธิบาย ....................... กำหนดหมายหกสิบสี่เสมอตัว

.....พรานไล่เนื้อหมากไล่ไม่เข็ดขาม .......... มีเบี้ยสามม้าเดี่ยวขับเขี้ยวขั้ว
ข้างหมากหนีเรือหนึ่งจำเพาะตัว ................. พวกไล่พัวพันสะกดสกัดทาง
ไม่จนจบครบหกสิบสี่ท่า .......................... ก็ต่างรากันเองทั้งสองข้าง
จงจำจดบทระยะจังหวะวาง ....................... อย่าหลงทางลืมทิ้งทำเลกล

.....นกกระจาบทำรังข้างหมากหนี .............. นั้นเบี้ยมีอยู่กับม้าท่าสับสน
ข้างหมากไล่ได้เรือเจือระคน .................... เข้าปะปนเบี้ยหงายรายระดม
เรือกับม้าท่าทีก็พอสู้ .............................. ตำราครูกล่าวไว้ให้เห็นสม
หกสิบสี่หนีได้โดยนิยม ........................... เข้าเกลือกกลมแอบเบี้ยไม่เสียที
ถ้าเบี้ยผูกถูกกันท่านให้ต่อ ....................... เอาเบี้ยล่อรอรับขับให้หนี
ข้างหมากไล่ก็จะเหลิงในเชิงที .................. ถึงแต้มมีก็คงหมดกำลังลง

.....อีกกลหนึ่งนามคลื่นกระทบฝั่ง ............. นิยมหวังอย่าแหนงระแวงหลง
ข้างหมากหนีโคนหนึ่งพึงจำนง .................. ทะแยงยงเยื้องท่าคอยรารับ
หมากไล่มีม้าหนึ่งกับเบี้ยสอง ................... เข้าล้อมป้องหลังโคนโผนขยับ
ม้าก็รุกคลุกเคล้าเข้าสำทับ ...................... โคนหลบลับแอบขุนคอยคุมที
ทั้งสองข้างต่างแต้มไม่ตกต่ำ ................... จบเกณฑ์กำหนดนับหกสิบสี่
เปนเขตขั้นสัญญาอย่างพอดี .................. ก็ต่างมีส่วนสมเสมอกัน

.....หมูหลบหอกกลอกกลิ้งสิ่งสังเกต ......... ฝ่ายประเภทหมากหนีวิธีสรร
โคนกับเรือเฝือแฝงช่วยแรงกัน ................ หมากไล่นั้นเรือคู่จู่ประจำ
ขนานเรียงเคียงคู่ขนาบล้อม ................... เข้าโอบอ้อมแอบรุกบุกกระหน่ำ
ข้างหมากหนีลี้ซุ่มเข้ามุมทำ .................... ในที่ขำโคนเคียงเรียงประนัง
ถึงจะรุกคลุกขลุมตลุมไล่ ....................... เรือกันไว้มิได้หวั่นถวิลหวัง
เรือกับโคนสู้กันขันประดัง ...................... ตามบทบังคับไว้ในตำรา
แม้นครบยกหกสิบสี่มิจนแต้ม ................. ในกลแกมเกณฑ์นับตำหรับว่า
ทั้งสองข้างต่างเสมอเหมือนสัญญา ........... ก็เลิกลาละลดงดกันไป



สรุปทั้ง ๑๒ รูปแบบ

รูปแบบที่ ๑
ฝ่ายไล่: ขุน, เบี้ยหงาย ๓ (ผูกและเทียม)
ฝ่ายหนี: ขุน, เบี้ยหงาย ๑




รูปแบบที่ ๒
ฝ่ายไล่: ขุน, เรือ ๑, เบี้ยหงาย ๒ (ผูก หรือ เทียม ก็ได้)
ฝ่ายหนี: ขุน, เรือ ๑




รูปแบบที่ ๓ หอกข้างแคร่
ฝ่ายไล่: ขุน, โคน ๑, เบี้ยหงาย ๑
ฝ่ายหนี: ขุน, เบี้ยหงาย ๑




รูปแบบที่ ๔ จับม้าอุประการ
ฝ่ายไล่: ขุน, โคน ๑, เบี้ยหงาย ๒ (เทียม)
ฝ่ายหนี: ขุน, ม้า ๑




รูปแบบที่ ๕ ลูกติดแม่
ฝ่ายไล่: ขุน, เรือ ๑, โคน ๑, เบี้ยหงาย ๑
ฝ่ายหนี: ขุน, เรือ ๑, เบี้ยหงาย ๑




รูปแบบที่ ๖ หนุมาณอาสา
ฝ่ายไล่: ขุน, เรือ ๑, ม้า ๑, เบี้ยหงาย ๑
ฝ่ายหนี: ขุน, เรือ ๑, โคน ๑




รูปแบบที่ ๗ ควายสู้เสือ
ฝ่ายไล่: ขุน, เรือ ๑, เม็ด ๑ (เบี้ยหงาย ๑)
ฝ่ายหนี: ขุน, โคน ๑, เบี้ยหงาย ๑ (ไม่ตรงกับเม็ดหรือเบี้ยหงายฝ่ายไล่)




รูปแบบที่ ๘ อู่ทองหนีห่า
ฝ่ายไล่: ขุน, โคน ๑, เบี้ยหงาย ๓ (ผูกและเทียม)
ฝ่ายหนี: ขุน, เรือ ๑




รูปแบบที่ ๙ พรานไล่เนื้อ
ฝ่ายไล่: ขุน, ม้า ๑, เบี้ยหงาย ๓ (ผูกและเทียม)
ฝ่ายหนี: ขุน, เรือ ๑




รูปแบบที่ ๑๐ นกกระจาบทำรัง
ฝ่ายไล่: ขุน, เรือ ๑, เบี้ยหงาย ๑
ฝ่ายหนี: ขุน, ม้า ๑, เบี้ยหงาย ๑ (ตรงกันกับฝ่ายไล่)




รูปแบบที่ ๑๑ คลื่นกระทบฝั่ง
ฝ่ายไล่: ขุน, ม้า ๑, เบี้ยหงาย ๒
ฝ่ายหนี: ขุน, โคน ๑




รูปแบบที่ ๑๒ หมูหลบหอก
ฝ่ายไล่: ขุน, เรือ ๒
ฝ่ายหนี: ขุน, เรือ ๑, โคน ๑




ในทัศนะของผม หากเรามีความชำนาญทั้งในการไล่และการหนีทั้ง ๑๒ รูปแบบนี้ ก็น่าจะทำให้การเดินหมากรุกของเรานั้น อย่างน้อยจะแพ้ยาก และน่าจะจัดได้ว่าเป็นมือดีคนหนึ่งครับ




อ้างอิง
- หมากรุกไทย โดย นายแพทย์ ประกอบ บุญไทย
- สนุกกับหมากรุกไทย โดย วินัย ลิ้มดำรงค์ชิต
- ภาพประกอบภาพแรก จากโค้ดของ ThaiBG.com
- ภาพประกอบ ๑๑ ภาพต่อมา จากหนังสือ หลักการและวิธีการเดินหมากรุกไทย โดย สุนทร ศราภัยวานิช


Create Date : 23 พฤศจิกายน 2554
Last Update : 19 กรกฎาคม 2555 9:53:04 น. 0 comments
Counter : 2876 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

อุปนิกขิต
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




อุปนิกขิต น. คนสอดแนม, จารบุรุษ



Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
New Comments
Friends' blogs
[Add อุปนิกขิต's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.