ธัมมะ ธัมโม โน ธัมมะชะโย
Group Blog
 
 
กุมภาพันธ์ 2553
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28 
 
9 กุมภาพันธ์ 2553
 
All Blogs
 

พ ร ะ ฉั น น ะ (ผู้เคยอวดดื้อถือดี)


ผู้ที่ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์นั้น มิได้หมายถึงว่าจะต้องเป็นคนดีมาโดยตลอดก็หาไม่ บางท่านอย่างเช่น พระองคุลีมาล ท่านก็เคยเป็นโจรผู้กระเดื่องนามมาก่อน แต่ภายหลังเมื่อได้มาสดับธรรม จึงทำให้กลับใจได้ และมาปฏิบัติจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในที่สุด

ชีวประวัติของพระอรหันต์ประเภทที่ว่า “ต้นร้ายปลายดี” นี้นอกจากพระองคุลิมาลแล้ว ที่น่าจะกล่าวถึงอีกสักองค์หนึ่งก็คือ พระฉันนะ

พระฉันนะองค์นี้ ก่อนบวชได้เป็นผู้ใกล้ชิดกับเจ้าชายสิทธัตถะมาก่อน จึงทำให้สำคัญตนว่าใหญ่กว่าผู้อื่น ใครจะมาว่ากล่าวสิ่งใดไม่ได้ทั้งสิ้น จนถึงกับพระบรมศาสดาสั่งให้ลงโทษ เมื่อใกล้เวลาที่พระองค์จะปรินิพพาน

แต่อาศัยที่เป็นผู้มีกุศลแต่หนหลัง เคยสร้างมามาก จึงทำให้คิดได้และปฏิบัติธรรมจนสำเร็จอรหัตเป็นพระอรหันต์ไปอีกองค์หนึ่ง หลังจากที่พระบรมศาสดาได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว

สำหรับชีวประวัติโดยละเอียดนั้นจะขอนำมาเล่าให้ฟังในลำดับต่อไปนี้ โดยจะขอเริ่มจากประวัติครั้งอดีตชาติเป็นอันดับแรก



กุศลกรรมครั้งอดีต

ท่านพระฉันนะนี้ ความจริงท่านก็ได้เคยสร้างกุศลอันยิ่งมาในสำนักของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อนแล้ว

เมื่อครั้งที่ท่านยังเวียนว่ายตายเกิดเพื่อสร้างสมบารมีอยู่นั้น ชาติหนึ่งท่านได้มาเกิดในตระกูล ๆ หนึ่ง ซึ่งตรงกับสมัยของสิทธัตถะสัมมาสัมพุทธเจ้า (คนละองค์กับพระสมณโคดม พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน

(พระสิทธัตถะพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าถัดย้อนจากพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันขึ้นไป ๙ พระองค์ - ผู้เรียบเรียง)

ครั้นท่านฉันนะเจริญวัยเติบใหญ่ขึ้น อยู่มาวันหนึ่ง เขาได้แลเห็นพระสัทธัตถสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่งก็เกิดความเลื่อมใสขึ้นมาทันที จึงไปเที่ยวหาใบไม้ที่มีสัมผัสอันอ่อนนุ่มมาถวาย และเก็บดอกไม้มาโปรยลงรอบ ๆ สถานที่ประทับนั้น

ด้วยผลานิสงส์ของบุญกุศลนั้น ได้ส่งผลให้ท่านฉันนะได้ไปเกิดในเทวโลกและมนุษยโลกอยู่เป็นเวลานาน



สหชาติ ๗

นอกจากนั้น ท่านฉันนะยังได้เคยสร้างกุศลบารมีร่วมกับพระสมณโคดมพุทธเจ้า สมัยที่เป็นพระโพธิสัตว์อีกหลายชาติ จึงได้เป็นแรงกุศลส่งผลให้ท่านฉันนะได้มาเป็น “สหชาติ” คือเกิดวันเดือนปีเดียวกับพระมหาบุรุษ (พระพุทธเจ้า)

สหชาติที่เกิดพร้อมกับพระมหาบุรุษนั้นคือ

๑. พระนางพิมพา
๒. นายฉันนะ
๓. กาฬูทายีอำมาตย์
๔. พระอานนท์
๕. ม้ากัณฐกะ
๖. ต้นมหาโพธิ์
๗. ขุมทรัพย์ทั้งสี่




คนสนิทผู้ติดตาม

ในชาติปัจจุบัน ท่านฉันนะได้กลับมาเกิดเป็นบุตรของนางทาสีแห่งพระเจ้าสุทโธทนะมหาราชและได้เป็นผู้ใกล้ชิดกับเจ้าชายสิทธัตถะ ถึงขนาดที่ว่าได้เป็นผู้ติดตามเจ้าชายสิทธัตถะในขณะที่หนีบวชทีเดียว

โดยมีรายละเอียดอยู่ว่า ในวันที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดสินพระทัยจะเสด็จออกบวชนั้น ตรงกับวันที่พระราหุลประสูตพอดี

วันนั้น พอพระองค์ทรงสดับข่าวการประสูติของพระราหุลเท่านั้น ก็ให้เกิดความเสน่หาในพระโอรสเป็นอย่างมาก

พระองค์ทรงรู้ว่า ความรักความเยื่อใยในพระโอรสนี้จะเป็นบ่วงที่คอยหน่วงเหนี่ยวไม่ให้พระองค์หลุดพ้นไปจากกองทุกข์ทั้งมวลได้ พระองค์จึงได้ตกลงพระทัยที่จะหาหนทางตัดเครื่องผูกนั้น

ประกอบกับได้ทอดพระเนตรเห็นอากัปกิริยาของหมู่นางบำเรอทั้งหลายมีอาการน่าสลดสังเวช

บางนางก็นอนน้ำลายไหล บางนางก็นอนละเมอเพ้อพก บางนางก็นอนเปลือยกาย เป็นต้น เป็นเหตุให้พระองค์ทรงสลดพระทัย ทรงเบื่อหน่าย ทรงพิจารณาเห็นโทษแห่งกามคุณ ทรงเห็นอานิสงส์ในการเสด็จออกทรงผนวช

จึงทรงปลุกนายฉันนะให้ลุกขึ้น และรับสั่งให้นำม้ากัณฐกะมาถวาย นายฉันนะก็ได้ไปทำตามรับสั่งของเจ้าชายสิทธัตถะในทันที

พระมหาบุรุษได้เสด็จขึ้นทรงม้ากัณฐกะ โดยมีนายฉันนะเป็นสหายตามเสด็จไปด้วย

จนกระทั่งเสด็จถึงแม่น้ำอโนมา เจ้าชายสิทธัตถะจึงได้เสด็จลงจากหลังม้า และตรัสสั่งนายฉันนะว่า


“ท่านจงนำเครื่องประดับพร้อมด้วยม้ากัณฐกะนี้กลับไป เราจักบรรพชา”



หลังจากนั้นจึงได้เปลื้องเครื่องทรงออก แล้วส่งให้นายฉันนะเพื่อนำกลับไปถวายพระราชบิดายังกรุงกบิลพัสดุ์

ฝ่ายนายฉันนะเมื่อรับเครื่องทรงจากพระมหาบุรุษแล้ว ก็จงจูงม้ากัณฐกะเดินกลับไป

ฝ่ายม้ากัณฐกะนั้น เป็นม้าคู่บารมีของเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อต้องมาพลัดพรากจากผู้เป็นนายไปเช่นนี้จึงทำให้เกิดความเสียใจสุดที่จะพรรณนา

ปรากฏว่ายังไม่ทันถึงกรุงกบิลพัสดุ์ ม้ากัณฐกะก็สิ้นใจตายลงเสียก่อนในระหว่างทาง

แต่ด้วยอานิสงส์ที่มีจิตใจซื่อตรงภักดีต่อพระมหาบุรุษจึงทำให้ไปเกิดเป็นกัณฐกเทพบุตรอยู่ในดาวดึงส์เทวโลก มีนางเทพอัปสร ๑,๐๐๐ นาง เป็นบริวาร

ส่วนนายฉันนะนั้น เมื่อเห็นม้ากัณฐกะตายไปแล้ว ก็ให้มีความรู้สึกสงสารม้ากัณฐกะเป็นอย่างยิ่ง ได้พร่ำพรรณนาถึงคุณความดีต่าง ๆ ของม้านั้น แล้วได้เปลื้องเครื่องประดับม้าออก นำกลับมาสู่กรุงกบิลพัสดุ์

เมื่อถึงกรุงกบิลพัสดุ์แล้วพระเจ้าสุทโธทนะได้ตรัสถามถึงพระราชโอรส

นายฉันนะจึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องทรงของเจ้าชายสิทธัตถะกับทั้งเครื่องประดับม้าแล้วจึงได้กราบบังคมทูลเรื่องทั้งปวงให้ทรงสดับ จึงทำให้พระประยูรญาติทั้งหลายคลายความโศกเศร้าลง



ฉันนะออกบวช

ภายหลังเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็ได้เสด็จไปโปรดพระประยูรญา๖ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าสุทโธทนะ ที่ทรงมีพระบรมราชโองการให้กาฬุทายีอำมาตย์ไปกราบทูลนิมนต์มา

ในครั้งนั้นนายฉันนะได้เห็นพระพุทธาธิคุณ เกิดความเลื่อมใส ศรัทธา จึงออกบวชในพระพุทธศาสนา

แต่ครั้นท่านฉันนะได้บวชเป็นพระแล้ว ท่านกลับถือสิทธิ์ว่าพระพุทธเจ้าเป็นของเรา พระธรรมเป็นของเรา พระสงฆ์เป็นของเรา

เหตุที่ท่านถืดอตัวนี้ก็เพราะความรักในพระพุทธเจ้า

เมื่อท่านไม่อาจตัดความรักในพระพุทธเจ้าได้ จึงไม่ได้กระทำสมณธรรม

ครั้นไม่ได้กระทำสมณธรรมก็เลยทำให้ไม่ได้บรรลุมรรคผลอะไรเลย



ทั้งดื้อ ทั้งถือดี

ในเมื่อท่านพระฉันนะเป็นพระปุถุชนเช่นนี้ ก็จึงทำให้ท่านได้กระทำการล่วงเกิน โดยการไปด่าว่าพระอัครสาวกทั้งสอง เป็นทำนองอวดอ้างความสำคัญของตัวท่านว่า


“เมื่อครั้งที่เราติดตามพระมหาบุรุษ คราวที่พระมหาบุรุษเสด็จออกบวชนั้น เราไม่เห็นใคร ๆ แม้สักคนเดียว ...

แต่มาบัดนี้ พวกนี้มากล่าวว่าเราชื่อสารีบุตร เราชื่อโมคคัลาน์ เราเป็นอัครสาวก”



พระบรมศาสดาได้ทรงทราบเรื่องนั้นจากพระภิกษุทั้งหลาย จึงมีรับสั่งให้ตามพระฉันนะมาเฝ้า แล้วตรัสสั่งสอน

พระฉันนะก็นั่งฟังแต่โดยดี แต่พอกลับจากที่เฝ้าแล้ว ก็ได้ไปด่าพระเถระทั้งหลายอีก

พระบรมศาสดาทรงทราบก็รับสั่งให้พระฉันนะเข้าเฝ้า แล้วตรัสสั่งสอนอยู่ถึง ๓ ครั้ง โดยตรัสสอนว่า


“ฉันนะ อัครสาวกทั้ง ๒ เป็นกัลยาณมิตรของเธอ เป็นอุดมบุรุษ (บุรุษชั้นสูง) เธอจงคบกัลยาณมิตรเช่นนี้”


จากนั้นจึงได้ตรัสคาถาภาษิตว่า


“บุคคลไม่ควรคบปาปมิตร (มิตรชั่ว) ไม่ควรคบบุรุษต่ำช้า

ควรคบกัลยาณมิตร (มิตรที่ดี) ควรคบแต่อุดมบุรุษ”



เมื่อเทศน์จบ บุคคลเป็นจำนวนมากก็ได้บรรลุอริยผล มีโสดาปัตติผลเป็นต้น

ส่วนพระฉันนะถึงจะได้ฟังพระโอวาทของพระบรมศาสดาแล้ว ก็ยังด่าว่าพระภิกษุทั้งหลายอยู่เหมือนเดิม

พระบรมศาสดาจึงตรัสกับพระภิกษุท้งหลายว่า


“เมื่อตถาคตยังอยู่ พวกเธอไม่สามารถที่จะทำให้พระฉันนะรู้สำนึกได้ นอกเสียจากเมื่อตถาคตปรินิพพานไปแล้ว จึงจักสามารถกระทำได้”


พอใกล้เวลาที่พระบรมศาสดาจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระอานนท์ได้กราบทูลถามว่า


“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคข้าพระองค์ทั้งหลายจะปฏิบัติต่อพระฉันนะอย่างไร พระเจ้าข้า”


พระบรมศาสดาทรงตรัสสั่งว่า


“อานนท์ พวกเธอควรลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ”



ใครจะรับหน้าที่ ?

การลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะนั้น ในคัมภีร์จุลวรรค แห่งพระวินัยปิฎกได้กล่าวไว้ ความว่า

หลังจากที่พระบรมศาสดาได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว พระอานนท์ได้กล่าวขึ้นต่อหน้าพระเถระทั้งหลายว่า


“ข้าแต่ท่านทั้งหลายผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสั่งข้าพเจ้าไว้ในเวลาก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า


อานนท์ เมื่อตถาคตล่วงลับไปแล้ว สงฆ์จงลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะเถิด”


พระเถระทั้งหลายจึงถามว่า


“ท่านอานนท์ ท่านได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าหรือเปล่าว่า พรหมทัณฑ์นั้นได้แก่อะไร?”


พระอานนท์ได้ตอบว่า


“ข้าพเจ้าได้กราบทูลถามแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสอรรถาธิบายว่า

พระฉันนะประสงค์จะกระทำสิ่งใด ก็ปล่อยให้กระทำตามประสงค์ ไม่ต้องไปว่ากล่าวสั่งสอนพระฉันนะ”


พระเถระทั้งหลายจึงกล่าวว่า ...


“ถ้าอย่างนั้น ท่านอานน์จงเป็นผู้ลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะเถิด”



ซึ่งเป็นอันว่า พระอานนท์ได้รับหน้าที่เป็นผู้ลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะด้วยเหตุนี้



ถูกลงพรหมทัณฑ์

เมื่อได้รับหน้าที่แล้ว พระอานนท์พร้อมด้วยภิกษุหลายรูปจึงได้มุ่งไปยังวัดโฆสิตาราม ซึ่งพระฉันนะพำนักอยู่

พอไปถึง พระอานนท์จึงได้กล่าวกับพระฉันนะว่า


“ท่านฉันนะ คณะสงฆ์ได้มีบัญชาให้ข้าพเจ้ามาลงพรหมทัณฑ์แก่ท่าน”


พระฉันนะได้ฟังก็สงสัย จึงได้ถามว่า


“ข้าแต่ท่านอานนท์ พรหมทัณฑ์นั้นได้แก่สิ่งใด ?”


เพื่อเป็นการปลดเปลื้องข้อสงสัยนั้น พระอานนท์จึงได้ตอบชี้แจงว่า


“พรหมทัณฑ์นั้น ได้แก่การไม่ว่ากล่าว ไม่ตักเตือน ไม่สั่งสอน ท่านประสงค์จะพูด จะกระทำอะไรก็ได้ตามใจท่าน ไม่ให้พระภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือนเป็นอันขาด”


พระฉันนะได้ฟังคำอธิบายเช่นนั้น ก็รู้สำนึกได้ทันทีว่า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะความอวดดื้อถือดีของตัวเองแท้ ๆ จึงทำให้คณะสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์กับตนเช่นนี้

ในเมื่อคณะสงฆ์พร้อมใจกันไม่คบหาสมาคมกับพระฉันนะ อีกทั้งไม่ว่ากล่าวตักเตือนใด ๆ ทั้งสิ้นก็จึงเป็นเหตุทำให้พระฉันนะเกิดความอึดอัดใจ จึงได้หลีกออกจากหมู่ไปอยู่แต่คนเดียว ตั้งใจเจริญสมณธรรม มิได้ประมาทขาดสติ มีความเพียรมุ่งเผากิเลสให้พินาศ มีจิตใจแน่วแน่ที่จะทำลายกิเลสให้ขาดจากกมลสันดาน


ท่านบำเพ็ญเพียรไม่นานเท่าไรนัก ก็ได้ทำให้แจ้งซึ่งคุณธรรมพิเศษอันยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนมาบรรพชาในพระธรรมวินัยพึงปรารถนา

ท่านได้รู้ชัดแล้วว่า ความเกิดสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้ถึงที่สุดแล้ว กิจที่ควรกระทำได้กระทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำไม่มีอีกแล้ว

เป็นอันว่าในท้ายที่สุด พระฉันนะผู้เคยอวดดื้อถือดีก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ไปอีกองค์หนึ่ง แต่ได้เป็นหลังจากที่พระบรมศาสดาปรินิพพานไปแล้ว



ขอให้ระงับพรหมทัณฑ์

ครั้นพระฉันนะเถระบรรลุพระอรหัตผลแล้ว ก็จึงได้เข้าไปหาพระอานนท์ แล้วกล่าวว่า


“ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ขอท่านจงระงับพรหมทัณฑ์ของกระผมเสียในบัดนี้เถิด”


ท่านพระอานนท์จึงได้กล่าวว่า


“ท่านฉันนะ ท่านได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันใด พรหมทัณฑ์ของท่านก็ระงับในวันนั้นนั่นแหละ”


จึงเป็นอันว่า พรหมทัณฑ์ได้ระงับไปโดยปริยาย หลังจากที่ท่านพระฉันนะได้บรรลุภูมิธรรมถึงขั้นอรหัตผลแล้ว



ข้อคิดปิดท้าย

จากเรื่องของท่านพระฉันนะนี่จะเห็นได้ว่า การทำตนเป็นคนอวดดื้อถือดี้นั้น ไม่เคยให้ผลดีแก่ผู้ใดเลย และนอกจากนั้นยังทำให้ผู้ที่อยู่รอบข้างเกิดความเอือมระอาอีกด้วย

ฉะนั้นท่านที่ได้อ่านเรื่องแล้ว ก็จงอย่าได้อวดดื้อ อย่าได้ถือดี เฉกเช่นที่ท่านพระฉันนะเคยทำมาในอดีตเลย




 

Create Date : 09 กุมภาพันธ์ 2553
0 comments
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2553 14:38:13 น.
Counter : 4349 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


hollowpig
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]





CursorsFree Cursors
Friends' blogs
[Add hollowpig's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.