ธัมมะ ธัมโม โน ธัมมะชะโย
Group Blog
 
 
กุมภาพันธ์ 2553
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28 
 
10 กุมภาพันธ์ 2553
 
All Blogs
 

พ ร ะ ปุ ณ ณ เ ถ ร ะ (ผู้ชนะอย่างงดงามด้วยขันติ)




ในโอวาทปาฏิโมกข์ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า


“ขันตี ปรมัง ตโป ตีติกขา” (ความอดทนเป็นตบะอย่างยิ่ง)


โดยเฉพาะนักบวช ความอดทนมีความจำเป็นที่จะต้องใช้มากเป็นพิเศษ อย่างเช่นในกรณีที่ออกเผยแผ่ประกาศศาสนา เพราะจะต้องผจญกับคนหลายรูปแบบ ซึ่งบางครั้งคนเหล่านั้นก็มักจะมาก่อกวน ทำความลำบากใจให้ จึงจำเป็นที่จะต้องใช้ความอดทนดังกล่าวแล้ว

ผู้ที่ตั้งมั่นอยู่ในขันติธรรมความอดทนนี้ ย่อมจะมีชีวิตที่สงบสุข ไม่มีเวรมีภัยกับใคร ทำให้เป็นผู้มีสเน่ห์ ดึงดูดใจให้คนรอบข้างเกิดความรักใคร่ในผู้นั้นได้โดยง่าย

ถ้าจะกล่าวถึงพระสงฆ์ที่ท่านดำรงตนอยู่ในขันติธรรม ในครั้งพุทธกาลก็มีอยู่หลายองค์

แต่มีอยู่องค์หนึ่งซึ่งน่าจะกล่าวถึงในที่นี้ ก็คือ “พระปุณณเถระ” ซึ่งท่านได้อาศัยขันติธรรมนี้เป็นเครื่องช่วยเผยแผ่พระศาสนา จนประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง



๙๑ กัปนับย้อนหลัง

ก่อนที่พระปุณณเถระท่านจะได้เป็นพระอรหันต์ในศาสนาพระสมณโคดมของเรานี้

นับย้อนจากนี้ไป ๙๑ กัป ท่านได้เคยเกิดมาในตระกูลพราหมณ์ ซึ่งในครั้งนั้น เมื่อท่านเจริญวัยใหญ่ขึ้นมา ท่านก็ได้ศึกษาศิลปวิทยาไปตามโลกวิสัย

แต่เมื่อเรียนจบ แทนที่ท่านจะใช้ศิลปวิทยาที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาให้เป็นประโยชน์ในชีวิตฆราวาสท่านกลับไม่สนใจ

สิ่งที่ท่านสนใจก็คือการออกบวช ทั้งที่เพราะได้พิจารณาเห็นโทษในกามคุณอารมณ์ต่าง ๆ อันเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งจิตใจให้ติดอยู่ในความรักใคร่ ให้ติดอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันมีโทษทุกข์มากกว่าสุข

ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้ตัดสินใจออกบวชเป็นดาบสอยู่ในป่าหิมพานต์



กุศลกรรมครั้งอดีต

ในครั้งนั้น ยังมีพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ซึ่งพักอยู่ที่เงื้อมภูเขาใกล้ ๆ กับบรรณศษลาของดาบสนั้น ท่านเกิดอาพาธหนักมากแล้วก็ปรินิพพาน ณ เงื้อมภูเขานั้น

ในครั้งนั้น ยังมีพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ซึ่งพักอยู่ที่เงื้อมภูเขาใกล้ ๆ กับบรรณศาลาของดาบสนั้น ท่านเกิดอาพาธหนักมากแล้วก็ปรินิพพาน ณ เงื้อมภูเขานั้น

แต่ในเวลาที่พระปัจเจกพุทธเจ้าปริพพานนั้น ได้มีปรากฏการณ์อันน่าอัศจรรย์ เกิดเป็นแสงสว่างโพลงไปทั่วบริเวณนั้นชวนให้ผู้พบเห็นต้องประหลาดใจ

เมื่อดาบสได้เห็นแสงสว่างที่กำลังโชติช่วงอยู่นั้น ก็เกิดประหลาดใจว่า แสงสว่างนี้เกิดขึ้นด้วยเหตุอันใดหนอ

เพื่อขจัดความสงสัยในหัวใจดาบสนั้นจึงได้ออกจากบรรณศาลาไปเที่ยวค้นหาเหตุที่ทำให้เกิดแสง

ก็เผอิญได้ไปพบพระปัจเจกพุทธเจ้าปรินิพพานอยู่ที่เงื้อมภูเขา

เมื่อเห็นเช่นนั้น ก็จึงรู้ได้ทันทีว่า แสงเจิดจ้าทำให้สว่างเหมือนกลางวันนั้น เกิดมาจากการปรินิพานของพระปัจเจกพุทธเจ้านี่เอง

จึงได้ไปหาไม้หาฟืนมาก่อเป็นเชิงตะกอน และเก็บเอาหญ้ามากระทำเป็นเชื้อไฟ จัดการเผาสรีระของพระปัจเจกพุทธเจ้า

พอเผาเสร็จแล้ว ก็จึงได้นำน้ำหอมมารดอัฐิธาตุของพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น

ในคราวนั้น มีเทพบุตรองค์หนึ่งมาปรากฎร่างอยู๋กลางอากาศพลางกล่าวว่า


“ดีแล้ว สัตบุรุษ ท่านได้กระทำสิ่งอันเป็นกุศล อันจะส่งผลให้ท่านได้ไปเกิดในสุคตันสุขสบาย”


ปรากฎว่าเป็นจริงตามนั้น เพราะเมื่อดาบสได้สิ้นชีพจากชาตินั้นแล้ว ก็ได้ขึ้นไปเกิดเป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์ และตายเกิดอยู่แต่ในกำเนิดเทวดาและมนุษย์ ไม่เคยไปเกิดในทุคติภูมิเลย

ทั้งนี้ก็เป็นด้วยบุญญานุภาพที่ท่านได้ทำการเผาศพพระปัจเจกพุทธเจ้า และรดน้ำหอมบูชาอัฐิธาตุของพระปัจเจกพุทธเจ้านั่นเอง



ขายค้าเป็นอาชีพ

ครั้นล่วงมาถึงสมัยของพระสมณโคดมพุทธเจ้าของเราทั้งหลายนี้ ท่านก็ได้มาเกิดในตระกูลคฤหบดีที่เป็นพ่อค้า โดยได้นามว่า “ปุณณะ” ซึ่งแปลว่า ผู้เต็มไปด้วยความประสงค์

บ้านของท่านอยู่แถว ๆ ท่าเรือ สุ ป า ร ก ะ ในแว่นแคว้น สุณาปรันตชนบท

ท่านปุณณะนั้น ท่านมีน้องชายอยู่อีกคนหนึ่ง ชื่อว่า “จุลปุณณะ”

ท่านและน้องชายได้ร่วมกันประกอบอาชีพค้าขายตามอย่างบรรพบุรุษ โดยมีกองเกวียนอยู่ประมาณ ๕๐๐ เล่ม

แต่วิธีการออกไปหาซื้อของมาขายและการนำของไปขายนั้นจะต้องใช้วิธีผลัดกันไป ผลัดกันอยู่

กล่าวคือ ถ้าน้องชายไป พี่ชายก็อยู่เฝ้าบ้าน และเวลาพี่ชายไปน้องชายก็อยู่เฝ้าบ้าน โดยทั้งสองจะปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือกันด้วยดีเสมอมา ไม่มีการเกี่ยงงอนและเอารัดเอาเปรียบกันเลย สมานสามัคคีกันดี เปรียบเสมือนมือขวากับมือซ้ายฉันนั้น




เลื่อมใสเมื่อได้ฟัง

ครั้นถึงคราวที่ท่านปุณณะต้องนำกองเกวียนออกไปค้าขายยังชนบทต่าง ๆ ท่านก็ให้จุลปุณณะน้องชายอยู่เฝ้าบ้าน ส่วนตนเองคุมกองเกวียน ๕๐๐ เล่ม พร้อมด้วยบริวารเป็นจำนวนมาก ออกจากแคว้นสุณาปรันตะ เที่ยวค้าขายเรื่อยไปตามชนบทต่าง ๆ จนกระทั่งไปถึงกรุงสาวัตถี จึงพักกองเกวียนไว้ในที่ใกล้กับวัดเชตวันมหาวิหาร

หลังจากรับประทานอาหารแล้ว ก็ได้นั่งพักผ่อนร่วมอยู่กับบริวาร ในสถานที่อันสำราญแห่งหนึ่ง

ในเช้าวันนั้น ประชาชนชาวกรุงสาวัตถี เมื่อบริโภคอาหารเช้าเสร็จแล้ว ก็ได้ตั้งใจอธิษฐานอุโบสถ แล้วห่มผ้าเฉวียงไหล่ที่สะอาด แล้วถือเครื่องสักการะบูชา มีดอกไม้ของหอมเป็นต้น ต่างมุ่งหน้าไปวัดเชตวันมหาวิหาร ทางประตูทักษิณ ซึ่งเป็นที่ประทับของพระพุทธองค์

เมื่อท่านปุณณะเห็นผู้คนเป็นจำนวนมากพากันเดินไปเป็นทิวแถวเช่นนั้น ก็ให้นึกสงสัยจึงถามว่า


“ท่านทั้งหลายจะพากันไปไหนครับ”


คนหนึ่งในกลุ่มนั้นได้ตอบชี้แจงว่า


“ท่านไม่ทราบหรอกหรือว่าบัดนี้ พระรัตนตรัยคือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ได้บังเกิดขึ้นแล้วในโลก พวกเราจะพากันไปฟังธรรมในสำนักของพระบรมศาสดา”


ครั้นปุณณะหัวหน้าพ่อค้าได้ฟังคำว่า “พระพุทธเจ้า” เท่านั้นก็ให้เกิดความรู้สึกปีติซาบซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย จึงได้พาบริวารร่วมเดินทางไปกับประชาชนชาวกรุงสาวัตถี เพื่อไปฟังพระธรรมเทศนาจากพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า

เมื่อไปถึงวัดเชตวัน ท่านก็ได้ไปนั่งฟังพระธรรมเทศนาอยู่ภายนอกที่ประชุม ไม่กล้าเข้าไปภายในเพราะตนเป็นคนใหม่ ยังไม่รู้จักขนบธรรมเนียมประเพณี

ขณะที่นั่งฟังธรรมอยู่นั้นท่านก็ได้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาคิดอยากจะออกบวช

เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมจบลง ท่านปุณณะได้เข้าไปเฝ้า เพื่อกราบทูลนิมนต์ให้เสด็จไปเสวยภัตตาหารในที่พักของตนในวันรุ่งขึ้น

เมื่อทราบว่า พระพุทธองค์ทรงรับการกราบทูลนิมนต์ของตนแล้ว ท่านก็จึงให้ถวายบังคมลากลับไป



อุปสมบทหมดห่วงใย

พอรุ่งอรุณ ท่านปุณณะและบริวารก็ได้สร้างประรำขึ้น พร้อมกับตกแต่งให่สวยงาม และปูลาดอาสนะสำหรับพระสงฆ์ แล้วได้ถวายมหาทานแก่พระภิกษุสงห์โดยมีพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นประธาน

เวลาเสร็จจากการเสวยแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสอนุโมทนา แล้วเสด็จกลับ

หลังจากรับประทานอาหารเช้าแล้ว ท่านปุณณะได้ตั้งจิตอธิษฐานอุโบสถศีล แล้วเรียกคนรักษาคลังมาชี้แจงเรื่องทั้งปวงให้ทราบโดยตลอด และบอกมอบทรัพย์สมบัติทั้งปวงให้แก่จุลปุณณะผู้เป็นน้องชาย โดยท่านได้บอกกับนายคลังว่า


“นี่แน่ะนายคลัง ท่านจงยกทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ทั้งสิ้นให้แก่น้องชายของเรา และช่วยบอกน้องชายของเราด้วยว่าเราจะออกบวชในพระพุทธศาสนา”


ครั้นบอกมอบทรัพย์สมบัติให้แก่น้องชาย จนหมดห่วงหมดกังวลในเรื่องนี้แล้ว ท่านปุณณะก็จึงได้ออกบวชในสำนักของพระบรมศาสดา



โอวาทพระศาสดา

หลังจากบวชแล้ว ท่านก็มิได้ปล่อยให้วันเวลาล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ ได้ตั้งใจเจริญพระกรรมฐานมาโดยตลอด แต่ถึงกระนั้น ผลของพระกรรมฐานก็หาได้ปรากฎขึ้นกับท่านไม่

ท่านพระปุณณะจึงได้ครุ่นคิดพิจารณว่า


“สถานที่นี้ไม่เป็นที่สบายแก่เรา ควรที่เราจะได้เรียนพระกรรมฐานจากพระบรมศาสดา แล้วกลับไปสู่บ้านเมืองของเรา จึงจะเป็นที่สบายใจ”


ครั้นท่านคิดดังนี้แล้ว ในตอนเย็นวันนั้น ท่านจึงได้เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ถวายบังคมแล้วก็ได้นั่งลงในที่ซึ่งสมควรแก่ตนและกราบทูลขึ้นว่า


“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าข้าพระองค์มีความประสงค์จะขอฟังธรรมจากพระองค์ แล้วจะหลีกออกจากหมู่ อยู่แต่ลำพังเพียงผู้เดียว จะเป็นผู้ตั้งตนอยู่ในคาวมไม่ประมาท จะกระทำความเพียรเผากิเลสให้พินาศ มีจิตใจส่งไปเพื่อมรรคผลนิพพาน

ขอพระองค์จงทรงสอนพระธรรมนั้นโดยย่อ แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิดพระเจ้าข้า”




เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับคำกราบทูลนั้นแล้ว ก็จึงได้มีพระพุทธดำรัสตรัสว่า


“ปุณณะ ถ้าอย่างนั้นเธอจงตั้งใจฟังให้ดี ตถาคตจะแสดงธรรมแต่โดยย่อ ให้เธอฟังในบัดนี้”


ท่านพระปุณณะได้กราบทูลรับว่า


“ข้าพระองค์จะตั้งใจฟังพระเจ้าข้า”


หลังจากนั้น พระพุทธองค์จึงได้เริ่มแสดงธรรมแต่โดยย่อมีความอยู่ว่า


“ปุณณะ รู ป ทั้งหลายที่ต้องรู้สึก (เห็น) ด้วย ต า อันเป็นรูปที่น่าต้องการ น่ารักใคร่ชอบใจมีอยู่

ถ้าภิกษุเพลิดเพลินยินดี ยึดมั่นซึ่งรูปนั้น เราตถาคตกล่าวว่า ความเพลิดเพลินนั้น เป็นเหตุให้เกิดทุกข์”

“ปุณณะ เ สี ย ง ทั้งหลายที่ต้องรู้สึก (รับฟัง) ด้วย หู

ก ลิ่ น ทั้งหลายที่ต้องรู้สึก (ดม) ด้วย จ มู ก

ร ส ทั้งหลายที่ต้องรู้สึก (ลิ้ม) ด้วย ลิ้ น

โ ผ ฏ ฐั พ พ ะ ทั้งหลายที่ต้องรู้สึก (ถูกต้อง) ด้วย ก า ย

ธ ร ร ม า ร ม ณ์ ทั้งหลายที่ต้องรู้สึกด้วย ใ จ . . . อันเป็นที่ต้องการรักใคร่ชอบใจมีอยู่

ถ้าภิกษุเพลิดเพลินยินดี และยึดมั่นต่อเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารามณ์เหล่านั้น ความเพลิดเพลินก็เกิดขึ้น

ค ว า ม เ พ ลิ ด เ พ ลิ น นั้ น ตถาคตกล่าวว่า เ ป็ น เ ห ตุ ใ ห้ เ กิ ด ทุ ก ข์ ”

“ปุณณะ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่ต้องรู้สึกด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่น่าต้องการรักใคร่พอใจมีอยู่

ถ้าภิกษุไม่เพลิดเพลินยินดี และไม่ยึดมั่นในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์เหล่านั้น ความเพลิดเพลินก็ดับไป

ตถาคตกล่าวว่า ค ว า ม ดั บ ไ ป แ ห่ ง ค ว า ม เ พ ลิ ด เ พ ลิ น นั้ น เ ป็ น ค ว า ม ดั บ ทุ ก ข์ ”





ยังดี ที่ไม่ ...

“ปุณณะ เธอได้รับโอวาทโดยย่อของตถาคตแล้ว เธอจะไปอยู่ในชนบทไหน”


ท่านพระปุณณะได้กราบทูลว่า


“ข้าพระองค์ได้รับพระโอวาทโดยย่อของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จักไปอยู่ในแว่นแคว้น สุณาปรันตะ พระเจ้าข้า”



เมื่อท่านปุณณะทูลตอบว่า จะไปอยู่แว่นแคว้นสุณาปรันตะ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสกับท่านพระปุณณะว่า


“ปุณณะ ชาวแว่นแคว้นสุณาปรันตะ เป็นพวกดุร้าย หยาบคาย ถ้าสมมติว่าชาวแว่นแคว้นสุณาปรันตะจักด่าว่า เธอจะทำอย่างไร”


ท่านพระปุณณะกราบทูลตอบว่า


“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ถ้าชาวแว่นแคว้นสุณาปรันตะด่าว่าข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะคิดเสียว่า ชาวแว่นแคว้นสุณาปรันตะนี้ดีมาก ที่พวกเขาไม่ใช้มือตบต่อเราพระเจ้าข้า”

“ปุณณะ ถ้าชาวแว่นแคว้นสุณาปรันตะใช้มือตบต่อเธอ เธอจักคิดอย่างไร”


“ข้าพระองค์จะคิดว่า ชาวแว่นแคว้นสุณาปรันตะนี้ดีมาก ที่ไม่ขว้างเราด้วยก้อนหิน พระเจ้าข้า”

“ถ้าหากชาวแว่นแคว้นสุณาปรันตะขว้างเธอด้วยก้อนหิน เธอจักคิดอย่างไร”

“ข้าพระองค์จักคิดว่า ชาวแว่นแคว้นสุณาปรันตะนี้ดีมาก ที่ไม่นำเอาไม้ค้อนมาตีเรา พระเจ้าข้า”

“ถ้าชาวแว่นแคว้นสุณาปรันตะนำเอาไม้ค้อนมาตีเธอ แล้วเธอจักคิดอย่างไร?”

“ข้าพระองค์จักคิดว่า ชาวแว่นแคว้นสุณาปรันตะนี้ดีมาก ที่ไม่ฟันแทงเราด้วยศาสตรา พระเจ้าข้า”

“ถ้าชาวแว่นแคว้นสุณาปรันตะฟันแทงเธอด้วยศาสตรา เธอจักคิดอย่างไรปุณณะ”

“ข้าพระองค์จักคิดว่า ชาวแว่นแคว้นสุณาปรันตะนี้ดีมาก ที่พวกเขาไม่ฆ่าเราเสียด้วยศาสตราอันคมกล้า พระเจ้าข้า”

“ปุณณะ ถ้าหากชาวแว่นแคว้นสุณาปรันตะฆ่าเธอด้วยศาสตราอันคมกล้า แล้วเธอจักคิดอย่างไร

“ข้าพระองค์จักคิดว่า พวกสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เกลียดชังเบื่องหน่ายร่างกายและชีวิตแล้วแสวงหาศาสตรามาฆ่าตนเอง แต่เราก็ได้ศาสตรามาโดยไม่ต้องเสียเวลาแสวงหา พระเจ้าข้า”



พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงประทานสาธุการว่า


“ดีแล้ว ๆ ปุณณะ เธอเป็นผู้ประกอบด้วยความข่มใจ ความสงบใจได้อย่างนี้ จะสามารถอยู่ในแว่นแคว้นสุณาปรันตะได้ เธอประสงค์จะไปเมื่อไรก็จงไปเถิด”



เมื่อท่านพระปุณณะได้รับพระพุทธานุญาตแล้ว จึงลุกขึ้นถวายบังคมลา และกระทำประทักษิณ คือการเวียนขวา ได้แก่การเดินเวียนรอบ โดยหันแขนขวาเข้าหาพระผู้มีพระภาคเจ้า




สมความตั้งใจ

ครั้นกระทำประทักษิณแล้วก็ได้กลับมาจัดแจงเก็บที่นั่งที่นอนไว้ให้เรียบร้อย แล้วถือบาตรและจีวรออกเดินทางไปสู่แว่นแคว้นสุณาปรันตะ

เรื่องการเดินทางของท่านเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีอุปสรรคและก็ได้บรรลุถึงแว่นแคว้นสุณาปรันตะ สมดังความตั้งใจ

ในพรรษาแรกที่ท่านมาอยู่ที่แว่นแคว้นสุณาปรันตะนั้น ท่านได้เร่งปรารภความเพียรอย่างเต็มที่

จนในที่สุดท่านก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคลขั้นสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา



สองปาฏิหาริย์ที่ต้องใช้

ทางด้านการเผยแพร่พระพุทธศาสนานั้น นับว่าท่านพระปุณณะสามารถทำการเผยแพร่ได้อย่างมีประสิทธิภาพดีเยี่ยม เพราะทำให้พระพุทธศาสนาเป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับนับถือของประชาชนแว่นแคว้นสุณาปรันตะเกือบทั่วทั้งแคว้น

อุบายวิธีทีท่านใช้ในการเผยแพร่ ก็ได้แก่ อนุสาสนีปาฏิหารยิ์ คือการสั่งสอนเป็นอัศจรรย์ สามารถพูดโน้มน้าวจิตใจผู้ฟังได้เห็นคล้อยตามและพร้อมที่จะปฏิบัติตาม

แต่ในบางครั้ง ถ้าสอนด้วยคำพูดไม่บังเกิดผล ท่านก็อาจจะต้องใช้ อิทธิปาฏิหาริย์ คือบันดาลฤทธิ์ต่าง ๆ ให้เห็นเป็นอัศจรรย์อันจะน้อมนำให้ผู้ที่พบเห็นเกิดความเลื่อมใสได้ ซึ่งเรื่องนี้จะขอยกตัวอย่างมาให้ฟังสักเรื่องหนึ่งโดยเรื่องมีอยู่ว่า



ไม้จันทน์แดง

ภายในพรรษาแรกนั้น วันหนึ่งได้มีพวกพ่อค้า ๕๐๐ คน มี จุลปุณณะ เป็นต้น ได้จัดสินค้าลงบรรทุกในเรือ เพื่อนำไปขายยังฝั่งมหาสมุทรอีกฟากหนึ่ง

แต่ก่อนที่จะลงเรือ น้องชายของพระปุณณะได้นำอาหารมาถวายแก่พระพี่ชาย

พอหลังจากได้สมาทานศีลแล้ว ก็จึงได้กล่าวกับพระปุณณะขึ้นว่า


“ข้าแต่หลวงพี่ ธรรมดาของมหาสมุทรนั้นย่อมมีภัยอันตรายมาก ขอให้หลวงพี่ได้โปรดแผ่เมตตาคุ้มครองป้องกันภัยให้กับผมด้วย”


เมื่อกล่าวดังนี้แล้ว จึงได้นมัสการลาไปลงเรือ เรือได้แล่นฝ่าท้องมหาสมุทรจนมาถึงเกาะน้อยแห่งหนึ่ง พวกคนที่อยู่บนเรือก็พากันลงจากเรือแล้วขึ้นไปบนเกาะ ด้วยหวังที่จะแสวงหาสิ่งอันจะเสบียงอาหารในการเดินทางต่อไป

แต่อนิจจา บนเกาะนั้นไม่มีสิ่งใดที่พอจะเป็นเสบียงอาหารได้เลย นอกจากไม้จันทน์ซึ่งมีอยู่ดกดื่น

ชายคนหนึ่งได้ลองถากไม้จันทน์ดู ก็รู้ว่าเป็นไม้จันทน์แดงจึงได้บอกกล่วาแก่เพื่อน ๆ ว่า


“การที่พวกเราพากันมาค้าขายก็เพื่อหวังโชคลาภ

อันว่าโชคลาภอย่างอื่นที่จะยิ่งไปกว่าไม้จันทน์แดงนี้ ย่อมมี่

ไม้จันทน์แดงนี้ แม้ว่าเป็นท่อนยาวเพียง ๔ นิ้ว ก็มีราคาตั้งแสนทีเดียว ฉะนั้นควรที่พวกเราจะทิ้งสินค้าอื่น ๆ เสีย”



พวกเพื่อน ๆ ที่ไปด้วยกันต่างก็เห็นดีด้วย จึงกระทำตามคำแนะนำของชายนั้น โดยพากันตัดเอาไม้จันทน์แดงในป่าบนเกาะน้อยนั้น ลงบรรทุกในเรือจนเต็มลำ



อมนุษย์

ฝ่ายอมนุษย์ทั้งหลายซึ่งสิงสถิตอยู่ในป่าไม้จันทน์แดงนั้นต่างพากันโกรธกริ้วด้วยคิดว่าพวกมนุษย์เหล่านี้กระทำให้ป่าย่อยยับหมด ฉะนั้นพวกเขาจะต้องฆ่ามนุษย์พวกนี้ให้ได้

เมื่อคิดเช่นนั้นแล้วจึงได้กล่าวแก่กันและกันว่า


“ถ้าเราจะฆ่ามนุษย์เหล่านี้ให้ตายบนเกาะนี้ ก็จะทำให้สถานที่นี้มิแต่ซากศพเต็มเกลื่อนกล่นไปทั่วเกาะ

พวกเราจำต้องรอให้เรือของพวกมนุษย์เหล่านี้แล่นออกไปถึงกลางมหาสมุทรเสียก่อน แล้วจึงค่อยล่มเรือจึงจะเป็นการดี เพราะจะไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งมาพบร่องรอยแห่งซากศพ”



พอพวกพ่อค้าเหล่านั้นนำเรือออกจากเกาะไปไม่นานเท่าไร พวกอมนุษย์ก็ได้พร้อมใจกันมาบันดาลให้เห็นสิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัวต่าง ๆ

พวกพ่อค้าเมื่อเกิดความกลัวต่างก็เคารพนบไหว้ บอกเล่าต่อสิ่งที่ตนเคารพนับถือ เช่น บางคนนับถือเทวดา ก็บอกกล่าวเทวดาให้ช่วยเหลือ หรือบางคนนับืถอพระพรหม เจ้าพ่อ เจ้าป่า เจ้าเขา หรือใครนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรก็บอกกล่าวขอร้องกันอึงคะนึงไปหมด



พระปุณณะปาฏิหาริย์

แต่สำหรับจุลปุณณะ ผู้เป็นน้องชายของพระปุณณเถระนั้นแทนที่จะบอกกล่าว เจ้าป่า เจ้าเขาให้ช่วยเหลือ กลับยืนนิ่ง ระลึกถึงพระปุณณะผู้เป็นพี่ชาย โดยตั้งจิตว่า


“ขอให้หลวงพี่ปุณณะจงได้เป็นที่พึ่งของผมด้วยเถิด”

ในขณะที่จุลปุณณะนึกอยู่เช่นนั้น พระปุณณเถระก็ทราบได้ด้วยกระแสญาณ ว่าขณะนี้น้องชายกำลังมีภัย ท่านจึงได้อาศัยอำนาจแห่งฌานอภิญญา อธิษฐานใหเกิดฤทธิ์เหาะลอยไปในอากาศในทันที

ชั่วระยะไม่นาน พระปุณณเถระก็มาปรากฎอยู่ท่ามกลางท้องฟ้า ต่อหน้าจุลปุณณะผู้เป็นน้องชาย

กล่าวฝ่ายพวกอมนุษย์เหล่านั้น พอได้แลเห็นพระเถระเหาะมาในนภากาศเช่นนั้น ต่างก็พากันแตกหนีกระจัดกระเจิง

เมื่อสิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัวทั้งหลายหายไป พวกพ่อค้าจึงค่อยสร่างจากความหวาดกลัว มีจิตใจนิยมยินดีในอิทธิฤทธิ์ของพระเถระ

เมื่อพวกพ่อค้ากลับมาถึงบ้านของตน ๆ แล้ว ต่างคนต่างก็ได้เล่าเรื่องอันน่าตระหนกตกใจและอิทธิปาฏิหาริย์ของพระปุณณเถระให้ลูกและเมียของตนฟัง

หลังจากนั้นจึงได้ชักชวนลูกและเมียไปฟังธรรม และแสดงตนเป็นอุบาสก อุบาสิกา ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ คือการยึดเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง เลิกนับถือสิ่งที่ไร้เหตุผลอย่างอื่น

ในครั้งนั้นปรากฎว่า มีผู้มีประกาศตนเป็นอุบาสิก ๕๐๐ คน อุบาสิก ๕๐๐ คน

นี่แสดงให้เห็นว่า การแสดงอิทธิปาฏิหาริย์นั้น ถ้ารู้จักเวลาและโอกาสที่จะแสดงแล้ว ก็ย่อมจะโน้มน้อมจิตใจผู้คนให้นิยมเลื่อมใสได้โดยง่าย อย่างเช่นพระปุณณเถระเป็นตัวอย่าง

ฉะนั้นพระปุณณเถระจึงนับถือว่าเป็นพระอรหันต์อีกองค์หนึ่งที่ได้บำเพ็ญประโยชน์เพื่อพระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวาง

โดยเฉพาะที่แว่นแคว้นสุณาปรันตะ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน ท่านได้กลับไปเผยแพร่พระศาสนาจนผู้คนในแว่นแคว้นนั้น ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนากันเป็นจำนวนมาก



คาถาภาษิต

ท่านพระปุณณเถระได้ดำรงชนมายุสังขาร อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ท่านก็นิพพาน

แต่ก่อนที่ท่านจะนิพพานท่านได้เคยกล่าวคาถาภาษิตไว้บทหนึ่ง ซึ่งปรากฎมีอยู่ใน คัมภีร์ขุททกนิกาย เถรคาถา มีความอยู่ว่า


“ศีลเป็นเลิศในโลกนี้ ส่วนปัญญาเป็นของประเสริฐสุด บุคคลในโลกมนุษย์และสวรรค์ ย่อมชนะด้วยศีลและปัญญา”




พุทธดำรัสตัดสงสัย

หลังจากที่พระปุณณเถระได้ดับขันธ์เข้าสู่นิพพานแล้ว ได้มีภิกษุหลายรูปกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า


“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระปุณณะได้รับพระโอวาทโดยย่อจากพระผู้มีพระภาคเจ้า บัดนี้ได้มรณภาพไปแล้ว ท่านพระปุณณะนั้นมีคติอย่างไร ไปเกิดในภพไหน พระเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสตอบว่า


“ภิกษุทั้งหลาย ปุณณะเป็นบัณฑิต ปุณณะได้บรรลุถึงซึ่งโลกุตรธรรม ไม่กระทำให้ตถาคตลำบากเปล่าด้วยการแสดงธรรม ปุณณะได้นิพพานแล้ว”

พระภิกษุเหล่านั้น เมื่อได้ฟังพระพุทธดำรัสตรัสรับรองเช่นนั้น ก็ทำให้สิ้นความสงสัยและมีความชื่นชมยินดีต่อพระปุณณเถระเป็นอย่างยิ่ง



อนุสรณ์แห่งความดี

ถึงแม้ว่าพระปุณณเถระจะดับขันธ์นิพพานไปแล้วก็ตาม แต่เกียรติคุณความดีที่ท่านเป็นผู้ทรงขันติธรรม และกระทำประโยชน์ให้แก่ประชาชนไว้มากมาย

บุคคลทั้งหลายจึงได้กระทำการบูชาศพท่านอยู่ตลอด ๗ วัน แล้วช่วยกันเผาศพ และเก็บอัฐิธาตุของท่านก่อเจดีย์บรรจุไว้บูชา เพื่อเป็นอนุสาวรีย์เทิดทูนความดีของท่านต่อไปในอนาคตให้นานเท่านาน





 

Create Date : 10 กุมภาพันธ์ 2553
1 comments
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2553 10:50:00 น.
Counter : 492 Pageviews.

 

 

โดย: หาแฟนตัวเป็นเกลียว 10 กุมภาพันธ์ 2553 11:22:35 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


hollowpig
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]





CursorsFree Cursors
Friends' blogs
[Add hollowpig's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.