ธัมมะ ธัมโม โน ธัมมะชะโย
Group Blog
 
 
กุมภาพันธ์ 2553
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28 
 
9 กุมภาพันธ์ 2553
 
All Blogs
 
พ ร ะ กุ ณ ฑ ธ า น เ ถ ร ะ (ผู้เป็นเลิศทางด้านจับสลากเป็นรูปแรก)

ก่อนอื่นใคร่ขอทำควมเข้าใจกับคำว่า “จับสลาก” ในทางฝ่ายสงฆ์เสียก่อน ว่าหมายความว่าอย่างไร ?

“สลาก” เขาแปลว่า ซี่ไม้

ในเวลามีของถวายไม่เหมือนกัน หรือของไม่พอแก่พระ หรือเวลามีกิจนิมนต์ที่เจ้าภาพไม่ได้นิมนต์ทั้งหมด หรือเป็นพุทธประสงค์ที่จะทรงนำพาไปเฉพาะบางส่วน ก็ต้องใช้วิธีจับสลาก

ในกรณีที่ต้องมีการจับสลากนี้ ท่านพระกุณฑธานเถระ ท่านมักจะขับสลากได้เป็นรูปแรกเสมอ ทั้งนี้ก็เป็นด้วยอำนาจแห่งคุณความดีและบารมีของท่านนั่นเอง

สำหรับบุญที่ท่านได้สร้างไว้ และส่งผลทำให้ท่านได้เป็นเลิศทางด้านจับสลากนั้น จะได้เล่าให้ฟังตอนท้าย ๆ ของเรื่องนี้

ส่วนตอนนี้เรามาศึกษาชีวประวัติอันน่าสนใจของท่านพระกุณฑธานเถระกันก่อนดีกว่า


กุณฑะ + ธานะ

พระกุณฑธานเถระนั้น แต่เดิมชื่อ “ธานะ” เกิดในพระนครสาวัตถี ในตระกูลพราหมณ์ตระกูลหนึ่ง

ในเมื่อท่านเกิดมาในตระกูลพราหมณ์ การศึกษาเบื้องต้นของท่านจึงต้องเรียนวิชาไตรเพทอันเป็นวิชาประจำตระกูลของพราหมณ์

ต่อมาเมื่อเติบใหญ่แล้ว ท่านก็ได้มาบวชในพระพุทธศาสนาเพราะได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วเกิดความเลื่อมใส

และนับแต่วันที่อุปสมบทมาก็ได้มีเหตุการณ์อันทำให้ท่านพระธานะต้องประสบกับความอัปยศอดสู โดยที่ท่านเองก็ได้ได้รู้ตัวไม่ และจากเหตุนี้ก็ทำให้ท่านต้องถูกเรียกชื่อด้วยคำนำหน้าชื่ออันไม่เป็นมงคลนามเลย ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่า มีรูปผู้หญิงมาปรากฎอยู่ข้างหลัง และคอยติดตามท่านไปทุกหนทุกแห่ง

รูปหญิงนั้นได้เที่ยวติดตามไปข้างหลังอยู่เป็นนิจ แต่ท่านไม่เห็นรูปหญิงนั้นหรอก มีประชาชนเท่านั้นที่แลเห็น

และตั้งแต่รูปหญิงมาปรากฎอยู่ข้างหลังท่านเช่นนั้น ประชาชนจึงพากันเรียกชื่อของท่านโดยเพิ่มคำนำหน้าชื่อเป็น “กุณฑธานะ” หรือ “โกณฑธานะ” ก็เรียก ซึ่งก็มีความหมายว่า ท่านพระธานะผู้ลามก


ต้องโทษกรรม

ชื่อเสียงเรียงนามของพระกุณฑธานะเถระ อันเป็นไปในเรื่องที่ไม่ดีเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ทำให้ท่านเสียชื่อโดยที่ท่านไม่รู้ตัวเลย เข้าทำนองที่ว่า นอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น แต่กลับต้องตกมาเป็นแพะรับบาปในเรื่องนั้น

แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ถ้าจะพิจารณากันถึงเหตุผลต่าง ๆ ด้วยตาเนื้อและปัญญาของปุถุชน คงจะไม่ได้คำตอบตรงตามเป็นจริงแน่

เพราะว่าตาเนื้อและปัญญาของปุถุชนนั้น มองดูหรือรู้อะไรได้ไม่ลึกซึ้ง ยังมีการเข้าใจผิดไขว้เขว โทษนั่น โทษนี่ โทษคนอื่นบ้าง โทษเทวดาฟ้าดินบ้าง เหล่านี้เป็นต้น โดยไม่ยอมโทษตนเองหรือบาปกรรมของตนเองเลย

ฉะนั้นจึงพิจารณาเหตุผลต่าง ๆ สู้พระอริยะไม่ได้ เพราะท่านใช้ตาปัญญา และปัญญาของท่านผู้หมดกิเลสแล้ว การที่ท่านจะไปโทษผู้อื่น หรือสิ่งอื่นนั้นท่านไม่นิยมกระทำ

ขั้นแรกท่านจะต้องดูที่ตัวของท่านก่อน และการดู ท่านก็ดูที่ “กรรม” คือการกระทำ ว่าผลอย่างนั้น มาจาก “บุญกรรม” คือการทำดี หรือ “บาปกรรม” คือการทำชั่ว ท่านไม่ยอมตีโพยตีพาย โทษอะไรต่อมิอะไรชนิดไร้เหตุผล

การพิจารณาเหตุผลของพระอริยะทั้งหลาย ย่อมจะสวนทางกันกับปุถุชนอยู่บ่อย ๆ เนื่องจากปัญญานั้นเป็นคนละระดับกัน

หลังการพิจารณาเรื่องกรรมตามอย่างที่พระอริยะทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ทรงกระทำไว้เป็นตัวอย่าง ก็คือพิจารณาถึงอดีตกรรมและปัจจุบันกรรมว่าเราได้ทำดีหรือชั่วอะไรไว้บ้าง อันจะส่งผลดีผลขั่วให้กับเราในปัจจุบันและอนาคต

ข้อนี้จะเห็นได้จากเรื่องของพระพุณฑธานเถระที่เกิดเรื่องเสื่อมเสีย จนถึงกับมีชื่อที่มีความหมายในทางไม่ดีมานำหน้าชื่อนั้นก็เนื่องมาจากอดีตกรรมที่ท่านได้เคยทำบาปเอาไว้ เมื่อครั้งที่ท่านเกิดเป็นภุมเทวดา คือเทวดาที่อาศัยอยู่ ณ ภาคพื้น ในสมัยแห่ง กัสสปพุทธเจ้า โน้น ทั้งนี้โดยมีเรื่องเล่ากันมาว่า


อุโบสถกรรมในแต่ละยุค

ในครั้งนั้นยังมีพระภิกษุ ๒ รูป ซึ่งเป็นสหธรรมิกที่มีความสนิทชิดชอบกันมาก

วันหนึ่งท่านทั้งสองได้ชวนกันออกจากที่พักเพื่อไปทำอุโบสถกรรมอันเป็นกิจวัตรที่พระทุกรูปจะต้องกระทำตามพุทธบัญญัติ

ซึ่งการทำอุโบสถกรรมนั้นท่านมีจุดหมายเพื่อให้พระภิกษุทุกรูปได้มาประชุมกัน เพื่อฟังพระปาติโมกข์ คือพระวินัยที่เป็นข้อห้ามของพระและเพื่อเป็นการตราจดูความประพฤติปฏิบัติ ว่าถูกหรือผิดอย่างไร จะได้แก้ไขข้อที่ผิดให้มีความเสมอภาคกันในทางปฏิบัติพระวินัย

แต่กำหนดเวลาการทำอุโบสถกรรมนั้น จะมีกำหนดระยะเวลาเป็นไปตามพระชนมายุของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ ซึ่งไม่เหมือนกัน

ถ้าเป็นกาลเวลาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงมีพระชนมายุยืนนานมาก ๆ การกระทำอุโบสถกรรมนั้น อาจจะมีกำหนด ๖ ปี จึงมีครั้งหนึ่ง หรือลดต่ำลงมาเป็น ๑ ปีต่อครั้งหนึ่ง หรือ ๖ เดือนต่อครั้งหนึ่ง

แต่สำหรับในยุคของพระสมณโคดมพุทธเจ้าของเรานี้ การทำอุโบสถกรรมได้กำหนดให้ทำ ๑๕ วันต่อครั้งหนึ่ง คือทำทุกกึ่งเดือน

ส่วนในสมัยศาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้านั้น ๖ เดือนจึงมีขึ้นครั้งหนึ่ง


ภุมเทวดา ผู้มิจฉาทิฏฐิ

ขณะเมื่อพระภิกษุทั้ง ๒ รูปกำลังมุ่งไปสู่โรคอุโบสถอย่างมีความสุขนั้น
ภุมเทวดาได้ห็นความสนิทชิดชอบของพระภิกษุทั้ง ๒ รูปนั้นแล้ว ก็คิดว่า


“ภิกษุ ๒ รูปนี้มีความชอบพอกันยิ่งนัก รักใคร่สามัคคีกันมาก .... เราจะทำไฉนหนอ จึงจะให้ท่านทั้ง ๒ นี้ แตกคอกันได้”


เอาเข้าแล้วไหมล่ะ เจอเทวดาอันธพาลเข้าให้แล้ว พระท่านอยู่ของท่านดี ๆ ก็คิดจะหาทางแกล้งให้ท่านผิดใจกัน ... อย่างนี้แหละที่ท่านเรียกว่า เทวดามิจฉาทิฏฐิ

หลังจากที่ภุมเทวดาผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ คิดหาอุบายที่จะทำลายมิตรภาพของพระภิกษุทั้ง ๒ รูปนั้นแล้ว ก็ได้เฝ้าสพยายามติดตามไปคอยหาโอกาสที่จะกลั่นแกล้ง


ภาพลวงตาพาเข้าใจผิด

และเวลาที่ภุมเทวดารอคอยก็มาถึง เมื่อพระภิกษุรูปหนึ่งเอ่ยปากฝากจีวรไว้กับพระภิกษุอีกรูปหนึ่งผู้เป็นสหาย และบอกให้รออยู่สักครู่หนึ่ง ว่าแล้วก็แวะออกไปถ่ายอุจจาระ

ในขณะนั้น ภุมเทวดาถือโอกาสปลงกายเป็นสตรีที่สวยงามแล้วแสร้งเดินตามมาข้างหลังของพระเถระ ในตอนที่พระเถระได้ถ่ายอุจจาระปัสสาวะเสร็จ แล้วเดินออกมาจากระหว่างพุ่มไม้

ภุมเทวดาแปลงที่แสร้งเดินตามหลังพระเถระมานั้น มิใช่เดินมาเฉย ๆ แต่กลับแสดงกิริยาเสมือนหนึ่งว่า ได้ร่วมหลับนอนกับพระเถระนั้นมา คือทำเป็นสลัดผม นุ่งห่มผ้า ปัดสันหลัง คล้ายกับเปื้อนฝุ่น แล้วออกไปยืนอยู่ข้างหนึ่งและพอสังเกตเห็นว่า พระภิกษุรูปที่ยืนรออยู่ข้างนอกได้เห็นตนแล้ว ก็ทำทีเดินจากไป

ฝ่ายพระภิกษุที่ยืนรออยู่เมื่อเห็นกิริยาของภุมเทวดาแฝงก็สำคัญผิดคิดว่าเป็นผู้หญิงจริง ๆ จึงเกิดความเสียใจว่า


“โอ้ ! เสียแรงที่เราอุตส่าห์คบหากับภิกษุนี้มาเสียนมนาน ถ้าเรารู้เสียแต่แรกว่าจะเป็นพระทุศีลเช่นนี้ เราจะไม่ยอมคบหาด้วยเลย”


เมื่อคิดเช่นนี้แล้ว พอพระภิกษุผู้เป็นสหายเดินมาถึงก็จึงยื่นจีวรให้พลางกล่าวว่า


“ท่านจงเอาจีวรของท่านคืนไป ผมจะไม่ขอร่วมทางกับท่านอีกแล้ว เพราะว่าศีลของท่านขาดแล้ว”


พระภิกษุรูปนั้น อุทานขึ้นมาด้วยความงุนงง


“อะไรกัน ! ก็ผมไม่ได้ทำอะไรผิดนี่ ศีลของผมจะขาดไปได้ยังไง”


“ท่านจะพูดว่าไม่ได้ทำผิดได้ยังไงกัน ก็ผมยืนอยู่ที่นี่ ได้เห็นหญิงสาวคนหนึ่งเดินตามหลังท่านออกมาเมื่อตะกี้นี้เอง แล้วท่านจะมาปฏิเสธว่า ศีลของท่านไม่ขาดได้ยังไง”



พระเถระผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิดแต่ต้องตกเป็นคนผิดโดยไม่รู้ตัว ฟังพระภิกษุผู้เป็นสหายพูดใส่ร้ายดังนี้ ก็มีความรู้สึกเสมือนหนึ่งว่าฟ้าผ่าลงบนศีรษะยังได้กล่าวยืนยันว่า


“ขอท่านอย่าได้พูดปรักปรำผมเลย เรื่องชั่วเช่นนี้ ผมไม่ได้ทำจริง ๆ ขอรับ”


“ท่านอย่าปฏิเสธเลย ก็ผมเห็นกับตา ผมจะเชื่อท่านได้ยังไง”


พระภิกษุที่ยืนรอพูดด้วยความมั่นใจ โดยถือเอาการมองเห็นของตนเป็นใหญ่ ... ว่าแล้วก็เดินแยกทางจากพระภิกษุผู้เป็นสหายไป

เป็นอันว่ามิตรภาพที่มีต่อกันมาเป็นเวลานานปี ก็ต้องมาสิ้นสุดลงเสียตรงนี้ น่าเสียดายเหลือเกินที่ต้องมาร้าวฉานกันด้วยเรื่องที่ไม่เป็นจริง

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เป็นด้วยอำนาจแห่งภุมเทวดาผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ที่ได้สร้างภาพลวงตาจนเกิดการเข้าใจผิดกันขึ้น

และนี่แหละคือบุพกรรมฝ่ายบาปของพระกุณฑธานเถระในชาติหนึ่ง ที่ได้เกิดเป็นภุมเทวดาแล้วสร้างกรรมอันเป็นบาปเอาไว้



ร้อนรน ด้วยผลบาป

ด้วยวิบากแห่งกรรมอันเป็นบาปนั้น ก็ได้ส่งผลทำให้ภุมเทวดาต้องไปเกิดในอเวจีมหานรก หมกไหม้อยู่ตลอดพุทธันดรหนึ่ง (ช่วงเวลาที่ว่างจากพระพุทธเจ้า คือช่วงเวลาหลังจากที่พระพุทธเจ้าองค์หนึ่งนิพพานแล้ว กับที่พระพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งจะมาตรัสรู้)


(พระสมณโคดมพุทธเจ้าปัจจุบันเป็นพระพุทธเจ้าถัดจากพระกัสสปพุทธเจ้า - ผู้เรียบเรียง)


ลุมาถึงศาสนาแห่งพระสมณโคดมพุทธเจ้าของเราทั้งหลายนี้ภุมเทวดาผู้ไปไหม้อยู่ในนรกนั้นก็ได้กลับมาเกิดในตระกูลพราหมณ์ที่กรุงสาวัตถี โดยมีชื่อว่า ธานะ และเมื่อเติบโตก็ได้มาบวชในพระพุทธศาสนา

และนับจากวันที่บวชแล้วก็ปรากฎว่ามีรูปผู้หญิงคอยติดตามท่านอยู่เสมอ (ภาพลวงตาอันเกิดจากผลบาปที่ทำไว้ ตั้งแต่สมัยเป็นภุมเทวดา) จนเป็นเหตุทำให้หมู่ชนกล่าวขานกันไปทั่ว



ฟ้องให้จัดการ

อย่าว่าแต่ประชาชนจะโจษขานกันโดยทั่วไปเลย แม้แต่พระภิกษุทั้งหลายที่ได้เห็นพระกุณฑธานเถระ ว่ามีผู้หญิงคอยติดตามไปข้างหลัง ในเวลาเที่ยวบิณฑบาตก็ยังได้นำความนี้ไปบอกท่านอนาถบิณฑเศรษฐีว่า

“ท่านเศรษฐี ขอท่านจงได้ขับไล่ภิกษุผู้ทุศีลนี้ให้ออกไปจากวิหารของท่านเสียเถิด ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกัน ไม่ให้เกิดความเสียหายแก่พระภิกษุผู้ประพฤติปฏิบัติชอบทั้งหลาย”


ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเมื่อได้ยินคำกล่าวของภิกษุเช่นนั้นก็จึงได้ย้อนถามไปว่า


“อ้าว! แล้วพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ประทับอยู่ในพระวิหารหรอกหรือ ?”

“ประทับอยู่ ... ท่านเศรษฐี”

“ข้าแต่พระคุณเจ้า ก็ในเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระวิหาร พระองค์คงจะทรงทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดี เอาไว้เป็นพระธุระของพระองค์เถิด”



เมื่อพระภิกษุทั้งหลาย เมื่อเห็นว่าท่านเศรษฐีไม่ให้ความร่วมมือด้วย จึงพากันไปหานางวิสาขามหาอุบาสิกา แล้วเล่าเรื่องของพระกุณฑธานเถระให้ฟัง หวังจะให้ช่วยขับไล่พระกุณฑธานเถระออกจากวัดไป

นางวิสาขามหาอุบาสิกาก็ได้ให้คำตอบแก่พระภิกษุเหล่านั้นเช่นเดียวกับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี

ชะรอยว่าท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีและนางวิสาขามหาอุบาสิกาคงจะถือหลักที่ว่า “ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์ ปลงอนิจจา ขืนพูดว่าจะพาตัว บาปชั่วชาติ”

เพราะท่านทั้งสองก็เป็นผู้อยู่ใกล้พระและรู้เรื่องของพระดีท่านจึงไม่ยอมเกี่ยวข้อง “เรื่องของพระ ปล่อยให้พระท่านชำระกันเอง”

พระภิกษุทั้งหลายเมื่อเห็นว่าท่านอนาถบิณกเศรษฐีและนางวิสาขามหาอุบาสิกาไม่ยอมกระทำตามคำขอร้อง จึงพร้อมกันไปแจ้งเรื่องนั้นแด่พระเจ้าโกศลว่า

“ขอถวายพระพรมหาบพิตร มีพระภิกษุผู้ทุศีลรูปหนึ่ง ชื่อว่าพระกุณฑธานะได้พาผู้หญิงคนหนึ่งเที่ยวไป กระทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่พระภิกษุทั้งปวง ขอมหาบพิตรจงทรงขับไล่พระกุณฑธานะให้ออกไปจากแว่นแคว้นของพระองค์เถิด”

พระเจ้าโกศลได้ตรัสถามว่า

“แล้วพระกุณฑธานะนั้นอยู่ที่ไหน”

“อยู่ที่วิหาร ขอถวายพระพร”


เมื่อทรงที่พักของพระกุณฑธานเถระแล้ว จึงตรัสว่า


“ถ้าอย่างนั้น ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายจงกลับไปก่อนเถิด แล้วโยมจะไปจับภิกษุนั่นเอง”


พอถึงเวลาเย็น พระราชาจึงเสด็จไปยังวิหารพร้อมด้วยพวกราชบุรุษ



เจอเรื่องประหลาด !

เมื่อเสด็จถึง จึงให้พวกราชบุรุษรายล้อมเสนาสนะของพระกุณฑธานเถระไว้ ส่วนพระองค์ก็ได้เสด็จบ่ายพระพักตร์ ทรงมุ่งไปสู่ที่อยู่ของพระกุณฑธานเถระนั้น

ฝ่ายพระกุณฑธานเถระเมื่อได้ยินเสียงอึกทึกครึกโครมในบริเวณกุฎิของท่าน ท่านจึงออกจากกุฎิไปยืนดูอยู่ที่หน้ามุข

ขณะนั้น ! พระเจ้าโกศลได้ทอดพระเนตรมาที่พระกุณฑธานเถระ ซึ่งกำลังยืนอยู่ที่ทหน้ามุขก็ได้ทรงเห็นเป็นภาพผู้หญิงยืนอยู่ข้างหลัง

พอพระกุณฑธานเถระเห็นว่าพระราชาเสด็จมา ก็จึงเข้าไปนั่งในกุฎิ
พระราชาเห็นเช่นนั้นก็จึงได้รีบเสด็จตามขึ้นไปบนกุฎิ ด้วยทรงหวังจะพิสูจน์ให้รู้ข้อเท็จจริง


แต่ที่ไหนได้ พอขึ้นไปถึงกุฎิผู้หญิงที่เห็นเมื่อสักครู่ไม่ร็หายไปไหนเสียแล้ว มองดูตามที่ต่าง ๆ ก็ไม่พบ จึงได้ตรัสถามว่า

“เอ๊ะ ! เมื่อครู่นี้ โยมได้เห็นหญิงคนหน่งยืนอยู่ ณ ที่นี้ ขณะนี้เขาไปไหนเสียล่ะ”

“อาตมาภาพไม่เห็นมีผู้หญิงที่ไหนเลย ... ขอถวายพระพร”

“ท่านจะตอบว่าไม่เห็นได้ยังไง ก็ในเมื่อตะกี้นี้โยมยังเห็นอยู่เลยนี่นา”



พิสูจน์ดูให้รู้แน่

ถึงพระราชาจะตรัสย้ำดังนั้น แต่พระกุณฑธานเถระก็ยังย้ำคำเดิมว่าไม่เห็นอยู่เช่นเดิม ทำให้พระราชารู้สึกแปลกพระทัย จึงใคร่จะทดลองดูใหม่ แต่ผลที่ได้ก็ปรากฎว่าเหมือนเดิม

คือตอนที่พระกุณฑธานเถระยืนอยู่ที่หน้ามุข ก็จะเห็นรูปผู้หญิงยืนอยู่ข้างหลัง แต่พอเจ้าไปใกล้ ๆ รูปหญิงนั้นก็จะหายไป

พอรูปผู้หญิงนั้นหายไป พระราชาจึงได้ตรัสถามอีกว่า


“หญิงนั้นไปอยู่ไหน !”


พระกุณฑธานเถระตอบว่า

“ขอถวายพระพรมหาบพิตรอาตมภาพไม่เห็นจริง ๆ”


เมื่อเห็นว่าพระราชายังไม่ทรงเชื่อ ก็จึงได้ถวายพระพรชี้แจงว่า


“ขอถวายพระพรมหาบพิตร มิใช่แต่มหาบพิตรเท่านั้นที่ทรงแลเห็นรูปผู้หญิงมาปรากฎอยู่ข้างหลังของอาตมภาพ แม้แต่ประชาชนชาวแว่นแคว้นก็พากันกล่าวว่ามีหญิงเดินตามหลังอาตมภาพไป แต่อาตมภาพก็ไม่เคยเห็นเลย”


เมื่อพระกุณฑธานเถระชี้แจงให้พระราชาฟังดังนี้แล้ว พระราชาก็ทรงแน่พระทัยว่า ผู้หญิงที่เห็นนั้นต้องเป็นรูปหญิงที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจบาปกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่



ให้ไล่ กลับบำรุง

เป็นอันว่าหลังจากที่พระราชาเกิดความเข้าพระทัยในเรื่องจากที่เกิดขึ้นกับพระกุณฑธานเถระแล้ว ก็จึงได้ตรัสนิมนต์ว่า


“เมื่อเกิดมีรูปหญิงเดินตามไปข้างหลังพระคุณเจ้าอย่างนี้ แล้วไม่มีใครใส่บาตรพระคุณเจ้า ก็ขอให้พระคุณเจ้าจงไปที่วังของโยมเถิด โยมจะเป็นผู้บำรุงพระคุณเจ้าด้วยปัจจัยทั้ง ๔ เอง”


ครั้นตรัสดังนี้แล้วก็เสด็จนิวัติกลับพระราชวังของพระองค์

ฝ่ายพวกภิกษุผุ้เป็นโจทก์รู้สึกไม่พอใจในการกระทำของพระราชาที่ได้ตรัสอาราธนาพระกุณฑธานเถระให้ไปรับบิณฑบาตในพระราชวัง ซึ่งเป็นการผิดความประสงค์ของพระภิกษุผู้เป็นโจทก์เหล่านั้น

พระภิกษุผู้เป็นโจทก์เหล่านั้นจึงได้พากันกล่าวติเตียนพระราชว่า


“จงดูการกระทำของพระราชาเถิด พวกเราบอกให้ขับไล่พระกุณฑธานะนี้ออกไปเสียจากวิหาร กลัมานิมนต์เพื่อจะถวายปัจจัย ๔ เป็นการช่วยให้ท่านได้รับความสุขสมบูรณ์เสียอีก”


ทนไม่ไหวแล้วนะ !

ฝ่ายพระกุณฑธานเถระในตอนก่อนนั้น ท่านเคยถูกภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอย่างเสีย ๆ หาย ๆ ท่านก็เป็นผู้เงียบเฉย ไม่ยอมโต้ตอบตรงกับคติที่
ว่า “แพ้เป็นพระ” ท่านจึงรักษาความเป็นพระเอาไว้โดยการเป็นผู้นิ่งเฉยเสีย

แต่มาในตอนหลังนี้ เมื่อท่านได้รับการพิสูจน์จากพระราชาว่า ท่านเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ แต่พระภิกษุทั้งหลายยังไม่ยอมรับการทรงตัดสินของพระราชานั้น ทั้ง ๆ ที่พระราชาก็เป็นผู้ที่พระภิกษุทั้งหลายถวายพระพรเชิญมาท่านจึงนึกไม่พอใจในการกระทำของพระภิกษุเหล่านั้น ที่ยังเที่ยวพูดว่า หาว่าท่านเป็นพระลามก เป็นผู้ทุศีล

ท่านจึงกล่าวโต้ตอบขึ้นบ้างว่า


“ท่านทั้งหลายนั่นแหละเป็นผู้ทุศีล เป็นผู้ลามก แม้อุปัชฌาย์อาจารย์ของท่านทั้งหลาย ก็ชั่วช้าไม่ผิดอะไรกับพวกท่าน”


พวกพระภิกษุผู้เป็นโจทก์ได้เที่ยวพูดให้ร้ายแก่พระกุณฑธานเถระมาเป็นเวลานาน โดยไม่เคยคิดที่จะเอาใจเขามาใส่ใจเราหรือเอาใจเราไปใส่ใขจเขาดูบ้างว่า ผู้ที่ถูกนินทาว่าร้ายจะเกิดความรู้สึกเจ็บปวดใจสักแค่ไหน

ครั้นมาถูกพระกุณฑธานเถระพูดว่าเอาให้บ้าง ก็รู้สึกเจ็บใจทนไม่ไหว พากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลฟ้องว่า


“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระกุณฑธานะได้ด่าว่าพวกข้าพระองค์ว่า เป็นผู้ทุศีล เป็นผู้ลามากพระเจ้าข้า”


พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระประสงค์จะทรงทราบความจริงในเรื่องนี้ จึงทรงรับสั่งให้หาพระกุณฑธานะมาเข้าเฝ้า และตรัสถามว่า

“กุณฑธานะได้ยินข่าวว่าเธอพูดด่าพวกภิกษุเหล่านี้ว่าเป็นผู้ทุศีล เป็นผู้ลามก จริงหรือเปล่า”

“จริง พระเจ้าข้า”

“เธอกล่าวเช่นนั้นเพราะเหตุไร กุณฑธานะ”

“ก็เพราะว่า ภิกษุเหล่านี้พากันมาด่าว่าข้าพระองค์ก่อน .... จ้าพระองค์มิได้ชั่วช้าเช่นนั้น จึงรู้สึกเจ็บใวจ ทนไม่ไหว จึงกล่าวตอบไปบ้าง พระเจ้าข้า”




เป็นเพราะเหตุใด ?

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับคำกราบทูลของพระกุณฑธานเถระดังนี้แล้ว ก็จึงตรัสถามพระภิกษุทั้งหลายผู้เป็นโจทก์บ้างว่า


“ภิกษุทั้งหลาย เหตุใดพวกเธอจึงพากันว่ากล่าวกุณฑธานะนี้”


พวกพระภิกษุเหล่านั้นจึงพากันกราบทูลว่า


“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุที่พวกข้าพระองค์ว่ากล่าวก็เพราะพวกข้าพระองค์ได้เห็นผู้หญิงคนหนึ่งเที่ยวเดินตามพระกุณฑธานเถระไปทุกหนทุกแห่ง ซึ่งเป็นการไม่สมควรแก่สมณะเลย พวกข้าพระองค์เห็นแล้วจึงได้ว่ากล่าวออกไปเช่นนั้น พระเจ้าข้า”


พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อได้สดับคำกราบทูลเช่นนั้น จึงได้หันกลับไปถามพระกุณฑธานเถระบ้างว่า


“การที่ภิกษุทั้งหลายเห็นว่ามีผู้หญิงเดินตามหลังเธอไปนั้นจริงหรือเปล่าล่ะ กุณฑธานะ”

“จริง พระเจ้าข้า”

“แล้วที่เธอว่ากล่าวภิกษุทั้งหลายนั้น เธอได้เห็นผู้หญิงเดินตามหลังพวกภิกษุเหล่านี้หรืออย่างไร”

“ข้าพระองค์ไม่ได้เห็นหรอกพระเจ้าข้า”




พุทธดำรัสที่ตรัสเตือน

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามจนทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว จึงได้ตรัสเตือนสติพระกุณฑธานเถระว่า


“กุณฑธานะ ก็ในเมื่อเธอไม่ได้เห็นผู้หญิงเดินตามหลัง พวกภิกษุเหล่านี้ แต่เหตุไฉนเธอจึงได้ว่ากล่าวภิกษุเหล่านี้ ...

เธอรู้ไหมว่า การว่ากล่าวคนอื่นโดยไม่มีมูลความจริงเช่นนั้นเป็นการไม่สมควรเลย


เธอควรจะเข้าใจว่าเรื่องไม่ดีซึ่งเกิดขึ้นกับเธอนี้ ก็เพราะอาศัยความเห็นผิดของเธอในชาติก่อน แล้วมาบัดนี้ทำไมเธอยังจะมีความเห็นผิดอีกเล่า”


พระภิกษุทั้งหลายต้องการจะทราบเรื่องในอดีตของพระกุณฑธานเถระ จึงได้พากันกราบทูลถามว่า


“พระกุณฑธานะนี้เคยกระทำอกุศลอะไรมาในอดีตชาติก่อน พระเจ้าข้า”


พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงแสดงบุพกรรมของพระกุณฑธานเถระให้พระภิกษุทั้งหลายได้ฟัง ดังที่ได้กล่าวมาในตอนต้นว่า บาปกรรมของพระกุณฑธานเถระนี้ มีมาแต่เมื่อชาติที่เกิดเป็นภุมเทวดา

หลังจากนั้นพระองค์ได้ตรัสสอนพระกุณฑธานเถระต่อไปอีกว่า


“กุณฑธานะ การที่เธอต้องมาประสบกับเหตุการณ์อันแปลกประหลาดนี้ ก็เพราะบาปกรรมที่เธอเคยทำไว้อย่างนี้

ฉะนั้นต่อแต่นี้ไป เธออย่าได้ว่ากล่าวอะไรแก่ภิกษุทั้งหลายอีกนะ เธอจงนิ่ง เพราะเมื่อเธอทำอย่างนี้ได้ เธอก็จะถึงซึ่งนิพพาน”


เมื่อตรัสเตือนดังนี้แล้ว ก็จึงได้ตรัสเป็นธรรมภาษิตว่า


“เธออย่ากล่าวคำหยาบต่อใคร ๆ เพราะผู้ที่ถูกเธอว่าแล้วจะว่าตอบเธอ

การโต้เถียงกันย่อมเป็นทุกข์ โทษแห่งการโต้ตอบกันจะพึงมีแก่เธอ

ถ้าเธอทำตนให้นิ่งเงียบ เธอจะถึงซึ่งนิพพาน การโต้เถียงกันจะไม่มีแก่เธอ”



เมื่อธรรมเทศนาจบลง ก็ปรากฎว่าได้มีผู้บรรลุมรรคผลเป็นจำนวนมาก

ส่วนพระกุณฑธานเถระก็ได้ดำรงตนอยู่ในพระโอวาทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานแล้วได้บำเพ็ญสมณธรรมจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในที่สุด

และภายหลังจากที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว รูปผู้หญิงที่ปราฎคอยติดตามท่านก็หายไป และไม่มาปรากฎให้ใคร ๆ เห็นอีกเลย



เลิศทางจับสลาก

พระกุณฑธานเถระนี้ ดังที่ได้กล่าวมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า ท่านเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายทางด้านจับสลากได้เป็นรูปแรก

ทั้งนี้ก็เป็นด้วยอำนาจแห่งบุญกุศลแต่หนหลัง ซึ่งท่านได้สร้างไว้

ถ้าจะถามว่าท่านสร้างบุญอะไรไว้ ?

ท่านก็ได้กล่าวไว้ว่า ...


ในอดีตชาตินั้น พระกุณฑธานเถระได้กเกิดขึ้นในเรือนของผู้มีตระกูล ๆ หนึ่ง ในเมืองหงสาวดี ซึ่งตรกงับพุทธกาลแห่งพระปทุมุตรพุทธเจ้า

(พระปทุมุตรพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าถัดย้อนจากพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันขึ้นไป ๑๕ พระองค์ - ผู้เรียบเรียง)


วันหนึ่งท่านได้ไปฟังธรรมที่พระวิหาร ได้เห็นพระปทุมุตรพุทธเจ้าทรงแต่งตั้งพระภิกษุรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าพระภิกษุทั้งหลายทางด้านจับสลากได้เป็นรูปแรก ก็นึกพอใจอยากจะได้ตำแหน่งนั้นบ้าง จึงกระทำกุศลในสำนักของพระปทุมุตรพุทธเจ้า แล้วตั้งความปรารถนาหวังจะให้ได้รับตำแหน่งเช่นนั้น

พระปทุมุตรพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่า ความปรารถนาของกุลบุตรนี้ไม่มีอะไรขัดข้อง จึงทรงพยากรณ์ว่า


“ความปรารถนาของเธอจักสำเร็จในศาสนาของพระสมณะโคดมพุทธเจ้า โน้น”


กุณฑธานะกุลบุตรได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว ก็ให้เกิดความดีใจเป็นล้นพ้น และพยายามกระทำกุศลต่อมาจนตลอดชีวิต

พอตายจากชาตินั้นก็ได้ท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษย์โลกมาโดยลำดับ

จวบจนมาถึงศาสนาของ กัสสปพุทธเจ้า ท่านจึงได้มาเกิดเป็นภุมเทวดา และได้มาสร้างกรรมชั่วด้วยการแปลงตนเป็นผู้หญิง เข้าไปทำลายมิตรภาพของพระภิกษุ ๒ รูปให้แตกจากกัน บาปกรรมนั้นจึงมาทำให้ท่านต้องได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักในชาตินี้

แต่ส่วนบุญกรรมที่ท่านได้ทำไว้ ก็ได้ส่งผลทำให้ท่านได้เป็นผู้เลิศกว่าพระภิกษุทั้งหลายทางด้านจับสลากได้เป็นรูปแรกเสมอ

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เป็นด้วยท่านได้เศษบำเพ็ญบุญ และเคยตั้งความปรารถนาเอาไว้ตั้งแต่ในอดีตชาตินั่นเอง




Create Date : 09 กุมภาพันธ์ 2553
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2553 14:43:50 น. 0 comments
Counter : 1023 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

hollowpig
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]





CursorsFree Cursors
Friends' blogs
[Add hollowpig's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.