งาสาร ฤาห่อนเหี้ยน หดคืน คำกล่าว สาธุชนยืน อย่างนั้น
Group Blog
 
 
เมษายน 2553
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
13 เมษายน 2553
 
All Blogs
 
ยุทธภูมิ ดอยยาว-ดอยผาหม่น







ในพื้นที่ชายแดนไทย – ลาว ตั้งแต่อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ อำเภอเวียงแก่น อำเภอขุนตาล อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย และ อำเภอเชียงคำ อำเภอภูซาง อำเภอปง อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ในอดีตเคยมีการสู้รบอย่างรุนแรง ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐ กับกลุ่มผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงจากการปกครองจาก ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ให้เป็นระบอบคอมมิวนิสต์

ทั่วทั้งพื้นที่ปฏิบัติการเคยเป็นพื้นที่ ที่มีสถานการณ์การสู้รบ ระหว่างผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์กับฝ่ายรัฐ สถานการณ์การต่อสู้ได้ยุติลงเมื่อ ปี ๒๕๒๕ นับว่าไม่นานเลย บุคคลที่เคยมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ยังคงอยู่ทั้ง สองฝ่าย ดังนั้นบุคคลทั่วไปจึงควรที่จะได้รับรู้เหตุการณ์ในอดีตเพื่อจะได้เป็นข้อเตือนใจ ของคนไทยต่อไป

วีรกรรมดอยยาว-ดอยผาหม่น เป็นอีก บทเรียนหนึ่ง ที่ยืนยันถึงบทบาทของกองทัพในการเป็นผู้พิทักษ์ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ขณะที่ฝ่ายผู้ก่อการร้ายที่ต้องการล้มล้างอำนาจรัฐเพื่อเปลี่ยนแปลง ระบอบการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ด้วยการปฏิบัติการสงครามประชาชน ถูกกดดันด้วยการปฏิบัติการทางทหารอย่างรุนแรง ผสมผสานด้วยการดำเนินนโยบายทางด้านการเมืองเปิดโอกาสให้วางอาวุธ และมาต่อสู้ทางการเมืองในรัฐสภา ด้วยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๖๖/๒๓

กองทัพได้ถูกจำกัดบทบาทอยู่นอกวง ของการต่อสู้ทางการเมืองด้วย วลีที่ว่าทหารต้องไม่ยุ่งกับการเมือง

แต่โดยแท้จริงแล้วตามหลักการสงครามยืดเยื้อของ เหมา เจ๋อตุง ถือว่า สงครามคือการต่อเนื่องของการเมือง

สงครามก็คือการเมืองและตัวสงครามเองก็คือการปฏิบัติการที่มีลักษณะการเมือง
ตั้งแต่โบราณกาลเป็นต้นมา ไม่มีสงครามใดๆเลยที่ไม่มีลักษณะการเมืองติดอยู่

เมื่ออุปสรรคถูกขจัดไป ความมุ่งหมายทางการเมืองบรรลุผล สงครามก็ยุติ ถ้าอุปสรรคยังขจัดไม่หมดสิ้น สงครามก็จะต้องดำเนินต่อไปเพื่อบรรลุผลให้ตลอด

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า การ เมืองคือสงครามที่ไม่หลั่งเลือด และสงครามคือการเมืองที่หลั่งเลือด

ในสถานการณ์ สงครามประชาชน บทบาท ลีลาของการปฏิบัติการทางทหารควรจะเป็นอย่างไร เป็นปัญหาที่ต้องมีการพัฒนาคำตอบอยู่ตลอดเวลา

สถานการณ์การต่อสู้ในขณะนั้นสรุปได้ดังนี้

พคท.ได้แบ่งพื้นที่ในการปฏิบัติงานเป็น ๕ เขตงาน คือ
๑.เขตงาน ๕๒ ครอบคลุมพื้นที่ ดอยหลวง เขตติดต่ออ.เชียงของ,อ.เทิง,อ.เวียงชัย,อ.แม่จันและ อ.เชียงแสน
มีกำลังติดอาวุธประมาณ ๑๐๐ คน ลักษณะการปฏิบัติ เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ หาสมาชิกกับราษฎรชาวเขา มีการปฏิบัติต่อเจ้าหน้าที่อย่างรุนแรงเมื่อมีโอกาส บริเวณที่เคลื่อนไหวได้แก่ บ.เย้าขุนแม่เปา( P.C. ๑๗๐๔),เย้าขุนแม่คำ( P.C.๓๖๔๒) บ.เย้าดอยหลวง( P.C.๓๙๔๖)ดอยขุนต๋ำ( P.C.๑๖๑๐)

๒.เขตงาน ๘ ครอบคลุมพื้นที่ดอยยาว ดอยผาหม่น อยู่ในเขต อ.เชียงของและอ.เทิง
มีกำลังติดอาวุธประมาณ ๖๐๐ คน มวลชนส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าม้งให้การสนับสนุน ผกค.ประมาณ ๒๓๐๐ คน ลักษณะการปฏิบัติ คือขัดขวางการปฏิบัติงานของ เจ้าหน้าที่ในการสร้างเส้นทาง และการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคง มีการขยายงานมวชนลงสู่พื้นราบโดยเฉพาะเขตรอยต่อ อ.พาน กับ อ.แม่สรวย บริเวณที่เคลื่อนไหวได้แก่ ห้วยจะยิน(๔๔๙๘)(บก.เขตงาน ๘),ดอยสันป่าก่อ(๓๓๔๙๑๓),ขุนห้วยป่าตาล(๓๖๙๓),ขุนห้วยโป่ง(๓๗๘๘),บ.เล่าอู(๔๘๙๘๘๔),บ.เซ่งเม้ง(๔๗๙๙๓๘),บ.เล่าเจอ(๕๐๙๙๐๙),ดอยม่อนซัวยิ่ง(๕๐๙๘),ดอยม่อนเคอ(๔๖๐๑),บ.ห้วยส้าน(๔๖๗๖),หมู่บ้านจัดตั้งได้แก่บ.ธงแดง(๔๓๐๑),บ.ธงรบ(๓๗๙๓)บ.ห้วยคุ(๕๔๐๓),บ.ห้วยหาน(๕๕๐๑)บ.ห้วยเหี๊ยะ(๕๓๙๗)

๓.เขตงาน ๙ ครอบคลุมพื้นที่ ดอยน้ำสา ดอยภูลังกา อยู่ในเขต อ.เชียงคำ และอ.ปง จว.พะเยา
มีกำลังติดอาวุธ ประมาณ ๔๐๐ คน มีมวลชนในพื้นที่ให้การสนับสนุน ประมาณ ๑๒๐๐ คน ฐานที่มั่นได้แก่ ดอยน้ำสา (๕๕๖๒),บ.แม้วหม้อ(๕๒๔๔),บ.ขุนน้ำลาว(๖๐๔๘)และบ.ขุนน้ำยาว(๖๙๖๑)ซึ่งอย่ในเขตรอยต่อ ของอ.ปงกับ อ.ท่าวังผา จว.น่าน มวลชนที่ให้การสนับสนุนได้แก่ บ.น้ำสา,บ.ป่ากล้วย,บ.ห้วยแฝก,บ.น้ำโต้ม,บ.แม้วหม้อ,บ.เย้าผาแดง,บ.เย้าหนองห้า,บ.เย้าต้นผึ้ง,บ.ใหม่ปางค่า,บ.ปางมะโอ

๔.เขตงาน ๗ ครอบคลุมพื้นที่ ดอยผาจิและลำน้ำสาว อยู่ในเขตรอยต่อของอ.ปง,อ.เชียงม่วน จว.พะเยา และกิ่งอ.บ้านหลวง,อ.ท่าวังผา จว.น่าน
มีกำลังติดอาวุธประมาณ ๕๐๐ คน มีมวลชนในพื้นที่ให้การสนับสนุนประมาณ ๒๐๐๐ คน ความเคลื่อนไหวที่สำคัญได้แก่ ขัดขวางการส่งกำลังของเจ้าหน้าที่ในการเข้าโจมตีฐานที่มั่น ดอยผาจิ - ผาช้างน้อย และขยายงานมวลชนลงสู่พื้นราบจากดอยผาจิเข้าสู่ อ.เชียงม่วน,อ.ปง จว.พะเยา และ อ.สอง จว.แพร่ รวมทั้งส่งสมาชิกชั้นนำไปเผยแพร่และชี้นำในเขตงานใหม่ จว.แม่ฮ่องสอน - จว.เชียงใหม่,จว.ลำพูนและจว.ลำปาง

๕.เขตงาน ๘/๑ ครอบคลุมพื้นที่ อ.พาน - อ.แม่สรวย จว.เชียงราย และอ.วังเหนือ จว.ลำปาง
มีกำลังติดอาวุธประมาณ ๑๒๐ คน การปฏิบัติที่สำคัญ ได้แก่การขยายงานมวลชน การโฆษณาชวนเชื่อหาสมาชิก จัดตั้งแนวร่วมในพื้นที่ ส่งสมาชิกไปฝึกอบรมในเขตงาน ๘ และ สปป.ลาว การสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์รวมทั้งการก่อการร้ายด้วยการลอบโจมตีเจ้าหน้าที่

สรุปกำลังผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในพื้นที่จว.เชียงราย - พะเยา

- กำลังติดอาวุธ ประมาณ ๑๖๐๐ - ๑๘๐๐ คน
- มวลชนให้การสนับสนุน ประมาณ ๖๐๐๐ - ๗๐๐๐ คน

เหตุการณ์และการปฏิบัติที่สำคัญสรุปได้คือ

๑. เมื่อ ๑๗ เม.ย. ๑๑ ผกค.ประมาณ ๘๐ - ๑๐๐ คนเข้าโจมตีฐานของตชด.ที่ บ.ห้วยคุ อ.เชียงของ ตชด.เสียชีวิต ๑๕ นาย

๒. เมื่อ ๒๐ ก.ย. ๑๓ ผกค.กลุ่มดอยหลวงได้ลวงเจ้าหน้าที่ ว่าจะเข้ามอบตัว เมื่อเจ้าหน้าที่ไปรับตัวที่บ.ห้วยกว๊าน ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน แต่กลับซุ่มโจมตี เจ้าหน้าที่ ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๓ นายคือ
- นายประหยัด สมานมิตร ผู้ว่าราชการ จว.เชียงราย
- พ.ต.อ.ศรีเดช ภูมิประหมัน รองผอ.ปค.เขต เชียงราย
- พ.อ.จำเนียร มีสง่า ผช.หน.ขว.ทภ.๓

๓. ยุทธการผาลาด (เป็นการฝึกร่วมประจำปี ๒๕๑๔)เมื่อ ๑ - ๓๐ เม.ย. ๑๔ บริเวณพื้นที่ฐานปฏิบัติการของผกค.ที่ดอยสันป่าก่อ,บ.เล่าอู,บ.ห้วยส้าน,ดอยน้ำสา,บ.แม้วหม้อในพื้นที่ อ.เชียงของ,อ.เทิงจว.เชียงรายและอ.เชียงคำ จว.พะเยา รวมมีกำลังพลเข้าปฏิบัติการ รวม ๕,๔๑๕ นาย
สรุปผล
- ฝ่ายเราเสียชีวิต ๒๒ นาย บาดเจ็บ ๗๘ นาย
- ฝ่าย ผกค.เสียชีวิต ๓๒๔ คน บาดเจ็บ ๖๐ คน

๔. ยุทธการผาภูมิ เป็นการฝึกร่วมประจำปี ๒๕๑๗ ระหว่าง๓ เหล่าทัพ ร่วมกับกำลังตำรวจ และพลเรือน เป็นการฝึกในลักษณะ ปฏิบัติจริง มีกองทัพบกเป็นผู้รับผิดชอบ ห้วงเวลาในการปฏิบัติคือ ๑ พ.ย. ๑๖ ถึง ๑๒ ม.ค. ๑๗ กำหนดพื้นที่เป้าหมายเป็น ๓ พื้นที่ คือ
-พื้นที่ดอยยาว – ดอยผาหม่น ซึ่งอยู่ในพื้นที่ อ.เชียงของ,อ.เทิง,จว.เชียงราย
- พื้นที่ แม้วหม้อ – ภูลังกา อ.เชียงคำ
- พื้นที่ดอยผาจิ – ผาช้างน้อย อ.ปง,อ.เชียงม่วน จว.พะเยา และ อ.เมือง จว.น่าน
๔.๑ สรุปยอดกำลังพล
ทบ. ๖,๙๒๕ นาย ทร. ๑,๒๗๔ นาย
ทอ. ๑,๗๗๒ นาย ตร. ๖๑๗ นาย
ชขส. ๑๘๗ นาย ชข.ชด. ๒๕ นาย
รวมทั้งสิ้น ๑๒,๑๘๗ นาย
๔.๒ สรุปผลการปฏิบัติ
๔.๒.๑ ฝ่ายเรา
-เสียชีวิต จากการรบ ๙ นาย ทางธุรการ ๖ นาย
- บาดเจ็บ จากการรบ ๕๑ นาย ทางธุรการ๓๒ นาย
๔.๒.๒ ผกค.
- เสียชีวิต ( ยึดศพได้ ๕ ศพ ) คาดว่าตาย ๕๐ คน
- บาดเจ็บประมาณ ๑๐๐ คน

๕. ยุทธการเกรียงไกร ๑๗ เมื่อ ๒๕ พ.ย. - ๖ ธ.ค. ๑๗
พื้นที่ ดอยยาว - ดอยผาหม่น
ภารกิจ ลว.กวาดล้าง ค้นหา ทำลาย
หน่วยปฏิบัติ ฉก.พล.๔ จัดตั้ง ทก.ยว. ๒ ประกอบด้วย ร้อย.ร.๔๗๒และ ร้อย.ร.๔๗๓
สรุปผล
- ฝ่ายเราเสียชีวิต ๒ นาย บาดเจ็บ ๑๓ นาย
- ผกค. ตรวจการเห็นบาดเจ็บ/ตาย ๕ คน

๖. ยุทธการเสนีย์ เมื่อ๙ - ๑๗ ก.พ. ๑๘
พื้นที่ ดอยยาว - ห้วยจะยิน กวาดล้าง ทำลาย ผกค.
ฉก.พล.๔
ทก.ยว.๑ ประกอบด้วย ร้อย.ร.๔๔๑,ร้อย.ร.๔๔๒,ร้อย.ร.๔๔๓(-)
ทก.ยว.๒ ประกอบด้วย ร้อย.ร.๔๗๑,ร้อย.ร.๔๗๒,ร้อย.ร.๔๗๓(-)
สรุปผล
ฝ่ายเรา
- เสีย ชีวิต ๙ นาย
- บาดเจ็บ สาหัส ๔๙ นาย , เล็กน้อย ๑๘ นาย
- สุนัข ตาย ๑ ตัว
ผกค.
- ตรวจพบถูกยิง บาดเจ็บ/ตาย ๗ คน
- ทราบภายหลัง เสียชีวิต ๕๗ คน บาดเจ็บ ๒๙ คน

๗. ผกค.ซุ่มโจมตีราษฎร อ.แม่สรวย ที่ บ.ห้วยไคร้ ต.ตับเต่า อ.เทิง จว.เชียงราย เมื่อ ๓ มี.ค. ๒๐ -ราษฎร กลับจากการฝึก บ.ปางค่า ถูกซุ่มที่ บ.ห้วยไคร้
- ราษฎร เสียชีวิต ๒๗ คน บาดเจ็บ๑๔ คน (ทหาร ๑ คน)

๘. วีรกรรมขุนห้วยโป่ง ๒๐ - ๒๓ ม.ค. ๒๑ กวาดล้างทำลายผกค.บริเวณ ขุนห้วยโป่ง
หน่วยปฏิบัติ ทก.ยว. ๒ ประกอบด้วย ร้อย.ร.๔๗๑และร้อย.ร.๔๗๒
สรุปผล
ฝ่ายเรา
- เสียชีวิต ๑ นาย บาดเจ็บสาหัส ๗ นาย เล็กน้อย ๑๗ นาย
ผกค.ทราบจากแหล่งข่าว
- เสียชีวิต ๗๐ คน บาดเจ็บ๓๕ คน
ผกค. ถอนตัวจาก ขุนห้วยโป่งไปอยู่ขุนห้วยจะยิน ทำให้สามารสร้างเส้นทาง บ.ป่าบง - บ.ปางค่า

๙. วีรกรรม ร.ท.ทายาท คล่องตรวจโรคและร.ท.ปิยวิพากษ์ เปี่ยมญาติ ณ บ.ไฮ้ ต.ตับเต่า อ.เทิง จว. ช.ร. เมื่อ๑๗ มี.ค. ๒๒

๑๐. วีรกรรมยึดเนิน ห้วยตีนตก ปี ๒๕๒๒ - ๒๕๒๓
หน่วยปฏิบัติ พัน.ร. ๔๗๓
ภารกิจ เข้าแย่งยึดพื้นที่อิทธิพลของผกค.เพื่อสนับสนุนการสร้างทางสายบ.ปี้ - บ.ปางค่า - บ.ลุง
สรุปผล
- การยึดห้วยตีนตก ๒ พ.ค.๒๒ จัดกำลัง ๓ ร้อย.ร.
ฝ่ายเรา เสียชีวิต ๗ คน บาดเจ็บ ๑๙ คน
ผกค. ไม่ทราบการสูญเสีย
- การยึดเนิน ๔๗๑ ๔ ก.ค.๒๒ จัดกำลัง๒ ร้อย.ร.
ฝ่ายเรา เสียชีวิต ๘ นาย บาดเจ็บ ๒๘ นาย
- การยึดเนิน ๘๒๔ ๑ ก.พ. ๒๓ จัดกำลัง ๑ ร้อย.ร. ,ชุดคุ้มกันสร้างทาง ๑๕๐ นาย
ฝ่ายเรา เสียชีวิต ๕ นาย บาดเจ็บ ๑๒ นาย
ผกค. เสียชีวิต ๑๒ นาย บาดเจ็บ ๒๒ นาย
- การยึดเนิน ๗๖๐ เมื่อ๘ พ.ค. ๒๓ จัดกำลัง๑ ร้อย.ร.,ชุดคุ้มกันสร้างทาง ๒๘๐ คน
ฝ่ายเรา เสียชีวิต ๗ นาย บาดเจ็บ ๒๗ นาย
ผกค.เสียชีวิต ๑๗ นาย บาดเจ็บ ๒๔ นาย

๑๑. ยุทธการอิทธิชัย ๒๓ วีรกรรมยึดดอย ม่อนเคอ ปี ๒๕๒๓
เมื่อ ๑๑ ส.ค. ๒๓ พัน.ร.๔๗๓ จำนวน ๑๖ ชป. ทหารพราน และตชด. ๕ ชป. ซึ่งเป็นกำลังที่จัดจากร้อย.ร. ๔๗๓๑,ร้อย.ร.๔๗๓๒และร้อย.ร.๔๗๑๓ ภารกิจ แย่งยึด ดอยม่อนเคอ ซึ่งเป็นเขตฐานที่มั่นของผกค.
สรุปผล สามารถยึดที่หมายได้
- ฝ่ายเราเสียชีวิต ๑ นาย บาดเจ็บ ๒๐ นาย (สาหัส ๘ นาย)

๑๒. ยุทธการเกรียงไกร วีรกรรมที่เนิน๑๑๘๘ พญาพิภักดิ์ สันดอยยาว ๑๙ - ๓๐ พ.ค. ๒๔
ภารกิจ กวาดล้าง ผกค.บริเวณ เนิน๑๑๘๘ ดอยพญาพิภักดิ์ หน่วยปฏิบัติ จัดกำลัง เข้าตี ๔ ทิศทาง ประกอบด้วยหน่วยต่างๆคือ
- พัน.ร.๔๗๑ จัดกำลังจำนวน ๒๔ ชป. - ร้อย. ๓ ตชด. - ร้อย.อส.
- ทพ. - มว.ช. - มว.สุนัขสงคราม
- ชุด ผตน.ป.
ผล สามารถยึดเนินพญาพิภักดิ์ และเนิน ๑๐๒๐ สถาปนาเป็นฐานที่มั่นถาวรได้สำเร็จ
ฝ่ายเราเสียชีวิต ๓ นาย บาดเจ็บ ๑๔ นาย
ผกค.เสียชีวิต ๒๓ คน บาดเจ็บ ๕๐ คน

๑๓. การเข้ายึดดอยผาจิ สลายเขตงาน ๗ ของผกค. ๒๒ มี.ค. ๒๕
กำลังที่ใช้
- พ.ต.ท.๓๑ - พ.ต.ท. ๓๒
- พัน.ร.ผสม ๗๔๒ - ทหารพรานจู่โจมค่ายปักธงชัย
- อส.จ.น่าน
สามารถสลายเขตงาน ๗ ของผกค.ลงได้ ยุติการสู้รบลงตั้งแต่นั้นมา



- - - - - - - - พ.อ.สาธิต ศรีสุวรรณ- - - - - - - - -




Create Date : 13 เมษายน 2553
Last Update : 13 เมษายน 2553 9:52:43 น. 29 comments
Counter : 11434 Pageviews.

 
เขียนเอาคนเดียว เง่า


โดย: ลูกคอมมิวนิสต์ IP: 118.172.73.202 วันที่: 5 พฤศจิกายน 2553 เวลา:15:23:41 น.  

 
เป็นเหตุการณ์สำคัญของชาติครับ มีการบันทึกเรื่องราวไว้โดยต่อเนื่อง ผู้อยู่ในเหตุการณ์จำนวนมาก ก็ยังมีชีวิตอยู่ครับ เหตุการณ์ยุติลง เมื่อพ.ศ.๒๕๒๕ ซึ่งไม่นานนัก ประมาณ ๒๕ ปี มานี้เอง ถ้าไม่เชื่อลองถามคุณพ่อ คุณแม่ลองถามของคุณดูก็ได้ครับ แต่ถ้าท่านเหล่านั้นเสียชีวิตหมดแล้วก็ลองถาม น้า อา ที่ยังมีชีวิต อยู่ดูก็ได้ครับ


โดย: sathit 1 (sathit 1 ) วันที่: 5 ธันวาคม 2553 เวลา:22:52:29 น.  

 
จำได้ว่า ที่สุสานบ้านห้วยหมอเฒ่า อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย มีการทำพิธีเผา 21ศพ ชาวอำเภอแม่สรวย ที่เสียชีวิตจากการซุ่มโจมตีประชาชนที่ไปฝึกบ้านปางคา-บ้านห้วยไคร้ เมื่อ ปี2520 ชาวบ้านห้วยหมอเฒ่า อายุ 40 ปีจำได้ดีคำว่า.. 21 ศพ


โดย: คนแม่สรวย IP: 49.49.59.83 วันที่: 7 เมษายน 2554 เวลา:20:44:55 น.  

 
วันนี้ได้กลับมาทำงานบนถนนสาย ๑๑๕๕ อีกครั้ง(ชุดชพส.)หลังจากที่ตอนนั้นอายุ ๒๐ เศษๆ เคยมาทำงานที่ฐานฯเนิน ๘๒๔ เปลี่ยนไปมากเจริญตามสมัย ๘๒๔ ถูกปาดเปนที่ราบข่าวว่าจะสร้างเปนอะไรสักอย่าง เราจำสภาพเดิมได้รู้สึกใจหวิวๆ และไม่อยากเชื่อว่าที่นี่จะเปนสมรภูมิเก่าที่คร่าชีวิตทั้งสองฝ่ายเปนจำนวนมากที่สำคัญเราเกือบได้เปนเขยที่นี่ด้วยซำ เพื่อนๆนักรบเก่าถ้าว่างลองมาดู รำลึกถึงความหลังบ้างก้อได้นะคับ
อดีต ๑๒๒ คับ


โดย: ทหารแก่ IP: 118.172.89.45 วันที่: 9 พฤศจิกายน 2554 เวลา:18:18:07 น.  

 
รู้สึกยินดีมากครับ ที่บุคคลที่เคยมีส่วนร่วม/อยู่ในยุคสมัยในเหตุการณ์ มาร่วมยืนยัน/รำลึกความหลัง เพราะคนรุ่นใหม่ที่เกิดหลังปีพ.ศ. ๒๕๑๕ ส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงบทเรียนสำคัญของชาติ และอาจจะไม่เชื่อว่ามีเหตุการณ์เช่นนั้นจริงๆ เช่น ความเห็นหนึ่ง ก็เข้าใจเอาว่าเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นเอง ทำให้ประวัติศาสตร์ต้องซ้ำรอยอยู่เรื่อยไปครับ


โดย: sathit (sathit 1 ) วันที่: 11 พฤศจิกายน 2554 เวลา:15:05:16 น.  

 
รู้สึกยินดีมากครับ ที่บุคคลที่เคยมีส่วนร่วม/อยู่ในยุคสมัยในเหตุการณ์ มาร่วมยืนยัน/รำลึกความหลัง เพราะคนรุ่นใหม่ที่เกิดหลังปีพ.ศ. ๒๕๑๕ ส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงบทเรียนสำคัญของชาติ และอาจจะไม่เชื่อว่ามีเหตุการณ์เช่นนั้นจริงๆ เช่น ความเห็น ที่หนึ่ง ก็เข้าใจเอาว่าเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นเอง ทำให้ประวัติศาสตร์ต้องซ้ำรอยอยู่เรื่อยไปครับ


โดย: sathit (sathit 1 ) วันที่: 11 พฤศจิกายน 2554 เวลา:15:08:55 น.  

 
เท่าที่จำได้ สุสานห้วยหมอเฒ่า จะไม่ใช่ 21 ไม่แน่ใจตัวเลขพ่อของเพื่อนเคยเล่าให้ฟังสมัยเรียน อยู่ แม่สรวยวิทยาคม เมื่อปี 2531


โดย: หลัง 15 แม่สรวยวิทยาคม IP: 101.109.119.79 วันที่: 21 พฤศจิกายน 2555 เวลา:22:29:51 น.  

 
ผมเองใช้ชีวิตอยู่ในค่ายเม๊งรายมหาราชในช่วงปี 2511-2515 ได้รับทราบเหตุหารณ์ต่างๆ ในช่วงนั้นเป็นอย่างดีครับ ขอขอบคุณที่นำบางช่วงมานำเสนอครับ


โดย: ลูกทหาร IP: 124.122.54.101 วันที่: 29 มกราคม 2556 เวลา:15:09:09 น.  

 
กองพล93 หายไปไหน นิยายสนุกดี ทหารไทยเป็นพระเอก


โดย: กองพล93 IP: 27.145.37.13 วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:16:42:24 น.  

 
กองพล 93 ไม่ได้หายไปไหนครับ ก่อนเหตุการณ์นี้อดีตทหารจีนที่พ่ายแพ้สงครามปฏิวัติของเหมาเจ๋อตุง และมวลชน(หมายถึงครอบครัว ญาติพี่น้อง) ส่วนหนึ่งหลบหนีไปอยู่เกาะไต้หวัน ส่วนหนึ่ง คือกองทัพที่๓ และกองทัพที่๕ อพยพหลบหนีลงมาทางใต้ อยู่ในประเทศพม่า แต่รัฐบาลพม่าไม่ยอมรับ และมีการปราบปรามอย่างรุนแรง จึงได้หลบหนีต่อมาอยู่บริเวณแนวชายแดนไทย ไทย ร่วมกับสหประชาชาติ ได้อพยพ บางส่วนไปอยู่ที่เกาะไต้หวันร่วมกับส่วนที่แตกพ่ายไปก่อนแล้ว แต่ก็ยังมี อดีตทหาร และครอบครัวอีกจำนวนหนึ่งไม่ต้องการไป ทางการไทยในสมัยนั้นจึงให้ตั้งถิ่นฐานเป็นหมู่บ้าน บริเวณชายแดน ตั้งแต่จว.แม่ฮ่องสอน - เชียงใหม่ - เชียงราย โดย เป็นหมู่บ้านของอดีตทหารและครอบครัวจำนวน ๑๓ หมู่บ้าน นอกจากนี้แล้วยังมีหมู่บ้าน ของพลเรือนอื่นๆ ที่อพยพหลบหนีมาด้วยอีก ๕๓ หมู่บ้าน รวม เป็น๖๙ หมู่บ้าน มีสถานเป็นผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายยังไม่มีสถานเป็นคนไทย ต่อมาเมื่อเกิดสถานการณ์การสู้รบ ระหว่าง พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับ ทางการไทย รัฐบาลในสมัยนั้นเห็นว่า อดีตทหารจีนคณะชาติหรือที่เรียกกันว่ากองพล ๙๓ เป็นศัตรูกับคอมมิวนิสต์อยู่แล้ว จึงได้มีการให้จัดกำลังเข้าร่วมในการปราบปรามผกค.ด้วย ซึ่งก็ถือว่าเป็นกำลัง ฝ่ายเรา ซึ่งกองพล ๙๓ ก็ได้ร่วมรบ อย่างเข้มแข็ง และมีส่วนช่วยให้ การปฏิบัติภารกิจของทางการไทยประสบความสำเร็จ ทางการจึงตอบแทนด้วยการพิจารณาให้สัญชาติไทย แก่อดีตทหารจีนเหล่านี้และครอบครัว โดยพิจารณาทะยอยให้เป็นปีๆไป แต่น่าเสียดายด้วยกระบวนการพิจารณาให้สัญชาติ มีปัจจัยหลายๆอย่างมาเกี่ยวข้อง ทำให้อดีตทหารกองพล๙๓ และครอบครัวอีกจำนวนหนึ่งก็ตกหล่นยังไม่ได้สัญชาติ แต่จีนฮ่ออพยพ ที่อยู่ตามหมู่บ้านในเขตภายในซึ่งไม่ได้ไปร่วมรบ มุ่งแต่ทำมาหากินร่ำรวย กลับได้สัญชาติไทยเป็นจำนวนมาก รายละเอียดเหล่านี้มีอีกมากครับ ถ้าสื่อสารกันไม่ดี ก็อาจจะ ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในบางประการได้ครับ


โดย: sathit 1 (sathit 1 ) วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:10:30:18 น.  

 
หาอ่านข้อมูล ฝั่ง ทปท จะเป็นอีกแบบ คนละเรื่องเดียวกัน หนังสือ ทปท เยอะแยะ เช่น หมอในป่า จากดอยยาวถึงผาจิ เป็นต้น ตาจะได้สว่าง คนไทยที่ถูกทหารไม่ดีสมัยก่อนยิงหัว ไม่มีที่ไป ก็เข้าป่าเท่านั้นแหละ ไม่ได้เป็นคนเลว


โดย: 55 IP: 223.204.249.175 วันที่: 22 พฤศจิกายน 2556 เวลา:11:51:28 น.  

 
เห็นด้วยครับ เราควรเอาประวัติศาสตร์มาเป็นบทเรียนเพื่อสร้างปัจจุบันและอนาคตให้ดีที่สุด จะไม่เอาประวัติศาสตร์มาเป็นข้อขัดแย้งครับ เพราะไม่มีใครสามารถแก้ไขอดีตได้ครับ ในห้วงเวลาหนึ่งๆ สถานการณ์หนึ่งๆ แต่ละคนต่างก็มีเหตุผลของแต่ละคนในการปฏิบัติเช่นนั้น
แม้แต่ในคุก ถ้าเราไปถามนักโทษที่ถูกลงโทษส่วนใหญ่ก็มีเหตุผลความจำเป็นที่ต้องทำไปเช่นนั้นครับ


โดย: sathit 1 วันที่: 23 พฤศจิกายน 2556 เวลา:19:52:34 น.  

 
แม้แต่ในสถานการ์ปัจจุบัน เหตุการณ์ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าเราไปสอบถามฝ่ายผู้ก่อการร้าย หรือฝ่ายตรงข้ามกับอำนาจรัฐ ก็จะได้ข้อมูล คำตอบ ไม่ตรงกับที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่เข้าใจครับ ถือว่าเป็นความปกติที่ต้องเป็นเช่นนั้นครับ


โดย: sathit 1 วันที่: 23 พฤศจิกายน 2556 เวลา:20:13:05 น.  

 
ผมเพิ่งขึ้นไปไหว้ศาลลุงโกเรีย(ร.ท.ทายาทฯ) เมื่อวันเสาร์ที่ 8 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมาครับ ตอนแรกเห็นรูปในinternet นั้น ส่วนมากสลับรูปกันกับ ร.ท.ปิยวิพากษ์ อีกทั้งผมรับราชการที่กรมทางหลวง เลยคิดว่าน่าจะประสานหน่วยงานตัวเองในเชียงรายให้ประสานผู้ดูแลเปลี่ยนรูปให้ถูกต้อง แต่ปัจจุบันรูปถูกต้องแล้วครับ คุณพ่อของลุงโกเรีย(พล.ท.ยุทธศักดิ์ฯ)ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ ส่วนมากจะพักอยู่บ้านที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ส่วนน้องชายลุงโกเรียมี 2 ท่าน ท่านนึงเป็นทหารบกเกษียณยศ พลเอก เมื่อไม่กี่ปีนี้เองครับ ส่วนอีกท่านนึงเป็นอาจารย์คณะสถาปัตย์ฯ ศิลปากร ดีใจที่พี่ทำ blog เรื่องนี้ไว้ครับ เพราะตอนลุงเสียผมเพิ่งอายุแค่ 3 ขวบครึ่ง


โดย: พงศกร IP: 125.25.205.225 วันที่: 25 มีนาคม 2557 เวลา:1:44:07 น.  

 
ขอบคุณคุณพงศกรครับ ที่ช่วยเป็นพยานเหตุการณ์ที่อ้างอิงได้ เพราะ เหตุการณ์ต่างๆได้ยุติไปเมื่อประมาณปีพ.ศ.๒๕๒๖ ดังนั้นเชื่อว่าคนไทยที่เกิดหลังปี พ.ศ.๒๕๑๖ ไม่ค่อยจะทราบเรื่องราวต่างๆและไม่เชื่อว่ามีเรื่องราวเช่นนั้นจริงๆจึงไม่ตระหนักถึงบทเรียนอันเจ็บปวดจากการต่อสู้ของคนไทยด้วยกัน ผมและผู้ใต้บังคับบัญชาของหน่วยเฉพาะกิจทหารพรานจู่โจมซึ่งไปรับผิดชอบพื้นที่นั้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๙ จึงได้ช่วยกันสร้างศาลารำลึกวีระกรรมฯนี้ขึ้นมาด้วยหวังว่าอย่างน้อยก็จะได้มีส่วนเตือนใจคนไทยให้ รักสามัคคีกัน โดยไม่มีเจตนาจะ ทำให้ใครต้องได้รับความเสียหาย ครับ แต่การรักษาดูแลสถานที่ ผมก็ไม่มีโอกาสได้ไปดู คาดว่าคงจะเสื่อมโทรมไปมาก ถ้ามีโอกาสและมีทรัพยากรพอจะไปฟื้นฟูให้สมเกียรติ วีระชนทั้งหลายต่อไปครับ


โดย: sathit 1 วันที่: 29 มีนาคม 2557 เวลา:20:09:57 น.  

 
กรุณาช่วยใช้ศัพท์ให้เป็นแบบเดียวกันได้ไหมเดี่ยวก็เสียชีวิต,ตาย,นาย,คนเอาสักอย่าง


โดย: Chumpol Manpattanakarn IP: 157.7.205.214 วันที่: 14 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา:20:51:43 น.  

 
กรุณาช่วยใช้ศัพท์ให้เป็นแบบเดียวกันได้ไหมเดี่ยวก็เสียชีวิต,ตาย,นาย,คนเอาสักอย่าง


โดย: Chumpol Manpattanakarn IP: 157.7.205.214 วันที่: 14 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา:20:52:28 น.  

 
ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจในข้อมูลที่ได้นำเสนออย่างจริงจัง
เป็นเช่นนั้นจริงๆครับ ศักดิ์ฐานะของการใช้คำต่อบุคคลแต่ละประเภทมีความแตกต่างกันครับ เหมือนช้าง เรียกเป็นเชือก แมวเรียกเป็นตัว
เช่นเดียวกันครับจำนวนทหารเรียกเป็นนาย
คนธรรมดา เรียกเป็นคนครับ
เรียกผูัพลีชีพเพื่อชาติว่าเสียชีวิตครับ


โดย: sathit 1 วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา:15:21:54 น.  

 
เล่าเรื่องชุบมือเปิบได้เก่งจัง ดอยยาวดอยผาหม่น แม้วหม้อ น้ำสา ผาจิ เขาค้อ ผลงานของ ตชด.กับ กองพล 93 ทั้งสิ้น ทหารไทย 3 เหล่าทัพที่ร่วมรบเป็นฝ่ายอำนายการและระดับเสนาธิการก็เป็นทหารจาก บก.ทหารสูงสุด


โดย: K.Annob IP: 1.20.157.85 วันที่: 5 สิงหาคม 2558 เวลา:9:48:59 น.  

 
นักรบรุ่นหลัง อยู่ฝ่ายอำนวยการ ทำหน้าที่ฝ่ายอำนวยการซึ่งส่งกำลังบำรุงเสียเป็นส่วนใหญ่ ฝ่ายเสนาธิการไปจาก บก.ทหารสูงสุด ส่วนหน้า(ต่อมาเปลี่ยนเป็น ศอร.บก.ทหารสูงสุด) กำลังรบหลัก เป็นกองพล 93 , ตชด. , บ.ตร. และ ทอ.(นักบินทั้ง ตร.และ ทอ.บินเข้าพื้นที่สู้รบเกือบทุกวันนะครับ ส่วน ตชด.กับ ก๊กมินตั๋ง อยู่ภาคพื้นดินรบตลอดปีไม่มีชื่อ อ้อ ! ทบ.เห็นมี หน่วยปืนใหญ่ ไปตั้งสนับสนุนอยู่ที่ บ.ยางฮอม ผมให้เกียรติเคยใช้ท่านด้วยความเคารพ 2 ครั้ง ครั้งแรกในการรบที่ บ.พญาพิภักดิ์ และครั้งที่ 2 ที่ บ.ผาแล แต่ปืนใหญ่คุณก็รู้ว่าอยู่แนวไหนของสนามรบ ... รายงานประวัติศาสตร์บนอนุสรณ์สถานที่ถ้ำง๊อบและแม่สะลองก็มีแต่ชื่อพวกคุณนั่นแหละไปทำโน่นนี่นั่น(ฝ่ายช่วยรบ) แต่ฝ่ายอื่นที่สู้รบจริงอยู่ในพื้นที่สู้รบและต้องได้รับบาดเจ็บ คุณก็ไม่ได้ให้เกียรตินักรบไทยด้วยกันที่ต่างเหล่าทัพกรมกองกับพวกคุณ เพราะคุณทำเป็นจำชื่อเขาเหล่านั้นไม่ได้ คุณเพียงบันทึกว่าเจ้าหน้าที่ถูกยิง เราท่านก็เป็นข้าฯใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทใต้พระบารมีปกเกล้าฯมาด้วยกันนั่นแหละ...ใส่ชื่อนักรบคนไทยที่ไม่ใช่พวกคุณมันเสียหายตรงไหน เมื่อร่ำร้องขอส่วนแบ่งแห่งเกียรติศักดิ์นักรบไทยก็ยินดีจะแบ่งให้ แต่นี่ ชะเอย..เล่นชุบมือเปิบ น่าอายมาก ยิ่งเรื่องที่ดอยพญาพิภักดิ์(บนดอยยาว) ยิ่งไม่อยากเล่านะ เออหนอ..ช่างไม่เกรงกลัวพระบารมีแห่งองค์สมเด็จพระสยามเทวาธิราชเจ้าแม้แต่น้อยเลยนะ ยุทธการที่ ทบ.ทำที่ บ.ปอเหนือ ป.ใต้ มี ฉก.พล.ร.9 (พล.อ.อรุณ ทวาทะศิน เป็น ผบ.) สนธิกำลังกับกองพล 93 เท่านั้นที่เห็นว่ารบชนะ นอกนั้นทั้งที่ก่อนหน้าและหลังไม่อยากทับถม


โดย: K.Annob IP: 1.20.157.85 วันที่: 5 สิงหาคม 2558 เวลา:11:09:18 น.  

 
เรียน พี่อรรณนพ ครับ
ประเทศไทยเราผ่านวิกฤตมาก็หลายครั้งหลายหน แต่คนไทยเราไม่ค่อยได้รับการส่งเสริมให้เรียนรู้ และศึกษาประวัติศาสตร์
วิกฤตครั้งหนึ่งในหลายๆครั้งของประเทศไทยก็คือการต่อสู้ในยุคสงครามเย็น ซึ่งยุติการใช้อาวุธอย่างเด็ดขาดจริงๆเมื่อ เม.ย.๒๕๒๕ เมื่อฐานผาจิแตก
ดังนั้นคนไทยที่พอจะรับรู้เรื่องราว จดจำอะไรได้บ้างในขณะนั้นก็น่าจะอายุประมาณ ๑๕ ปี คือคนที่เกิดประมาณปีพ.ศ. ๒๕๑๐
ถ้านับมาถึงปัจจุบันคนที่เกิดปีพ.ศ. ๒๕๑๐ ปัจจุบันอายุคงประมาณ ๔๘ ปี ก็พอจะกล่าวกว้างๆได้ว่า ณ ปัจจุบันคนที่อายุน้อยกว่า ๔๘ ปี คงจะไม่ได้รับรู้ ซึมซับเรื่องราวอันเจ็บปวดของคนไทยในอดีตที่เราต้องมารบกันเอง
สำหรับเรื่องราวที่ผมได้บันทึกไว้ในบล๊อกนี้ เป็นภาพกว้างของสถานการณ์โดยมีความมุ่งหมาย เพื่อให้คนรุ่นหลังพอจะได้รับรู้เรื่องราวในอดีตไว้บ้างครับ ไม่ได้มุ่งหวังจะให้ได้หน้าตา ชื่อเสียง หรือความดีความชอบ/ผลประโยชน์อะไรครับเพราะจิตใจผมผ่านเลยจุดนั้นมาแล้วครับ
ผมเชื่อว่าพี่เข้าใจดีในความแตกต่างระหว่าง การสงครามกับการรบครับ
ในรายละเอียดของการรบแต่ละพื้นที่ ที่พี่เคยมีส่วนร่วม พี่สามารถเผยแพร่ด้วยวิธีการต่างๆให้คนรุ่นหลังได้รับทราบได้ครับเพื่อประโยชน์ของชาติ เป็นส่วนรวมครับ
ผมต้องขอโทษพี่เป็นอย่างสูงนะครับถ้าบทความของผมไม่รอบคอบพอ อาจจะทำให้พี่ต้องได้รับความกระทบกระเทือนจิตใจแต่ก็ต้องขอบพระคุณพี่ด้วยความจริงใจที่กรุณาแสดงความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา ให้ทราบครับ
สำหรับ การปฏิบัติงานของกองพล ๙๓ ผมเคยเขียนถึงในการตอบความเห็นในบล๊อกนี้ ด้วยความเห็นใจไปแล้ว โดยสรุปคือ
- ในส่วนกำลังทหารและครอบครัวของกองพล ๙๓ (อดีต ทจช.)หลังจากที่ทางการไทยโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ใช้งานเขาในการรบแล้วก็จัดให้ไปอยู่ที่หมู่บ้าน ชายแดน ๑๓ หมู่บ้าน( แม่ฮ่องสอน/บ้านแม่ออ, เชียงใหม่บ้าน แกน้อย,หนองอุก,ถ้ำง๊อบ,สันมะกอกหวาน,บ้านหลวง,หัวเมืองงาม,เชียงราย บ้านแม่สะลอง,ห้วยมุ,แม่แอบ,ผาตั้ง แต่การดูแลก็ไม่เรียบร้อยนักโดยเฉพาะเรื่องสัญชาติ
- จีนฮ่ออพยพอีกจำนวนมาก ได้รับอนุญาตให้เข้ามาตั้งหมู่บ้านอยู่ในพื้นที่ตอนในจำนวนมาก อีก ๕๓ หมู่บ้าน มีความเป็นอยู่และได้รับการดูแลที่ดีกว่า อดีต ทจช.เสียอีก ได้สัญชาติก็มากกว่า
ก็ต้องช่วยกันแก้ปัญหาต่อไปครับ
ขอบคุณพี่มากนะครับ ถ้ามีข้อมูลต้องการแลกเปลี่ยนเป็นส่วนตัวเชฺิญได้นะครับ ที่ sathitsri@gmail.com ครับ


โดย: sathit 1 วันที่: 9 สิงหาคม 2558 เวลา:10:20:42 น.  

 
เมื่อตอนเป็นเด็กทุกๆคืนจะได้ยินเสียงระเบิด เสียงอาวุธปืนสงครามระดมยิงกัน เป็นการสู้รบที่ดุเดือด ในพื้นที่ อ.ขุนตาล ซึ่งแต่เดิมคือ อ.เทิง ที่บ้านเคยถูกทหารและน่าจะเป็นสันติบาล เข้าตรวจค้น เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าฝักใฝ่ คอมมิวนิสต์ ตอนนั้นเป็นเด็กกลัวมาก ปี 2525 ในหลวง รัชกาล ที่ ๙ เสด็จดังน้ำทิพย์ชโลมแผ่นดิน ทุกอย่างก็คลี่คลาย ปัจจุบันทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดแล้ว ไม่มีสงครามแย่งชิงประชาชน มีแต่สงครามยาเสพติด ( อ.ขุนตาล จ.เชียงราย พื้นที่นี้มีประวัติศาสตร์ที่น้อยคนนักที่จะรู้)


โดย: เบญจรัตน์ IP: 118.172.85.17 วันที่: 14 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา:11:39:11 น.  

 
คุณพ่อเป็นตชด.เคยรบที่นี่ที่บ้านมีรูปภาพเก่าๆช่วงสงครามของพ่อและกลุ่มเพื่อนช่วงต่อสู้ เก็บใว้เยาะมากและหลังรูปภาพแต่ละใบได้เขียนชื่อบุคคล กิจกรรม สถานที่อย่างละเอียด อาจเป็นประโยชน์ คุณพ่อด.ต.อดุลย์ ตะนะวิไชย เสียชีวิตหลายปีแล้ว อยากได้รูปภาพหรือข้อมูลติดต่อมาได้ครับ แอ๊ดเพื่อนมาทางLINE ID (den0861881874den) ขอบพระคุณครับ


โดย: เอกวีร์ ตะนะวิไชย IP: 157.7.52.183 วันที่: 4 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา:21:49:55 น.  

 
คุณพ่อเป็นตชด.เคยรบที่นี่ที่บ้านมีรูปภาพเก่าๆช่วงสงครามของพ่อและกลุ่มเพื่อนช่วงต่อสู้ เก็บใว้เยาะมากและหลังรูปภาพแต่ละใบได้เขียนชื่อบุคคล กิจกรรม สถานที่อย่างละเอียด อาจเป็นประโยชน์ คุณพ่อด.ต.อดุลย์ ตะนะวิไชย เสียชีวิตหลายปีแล้ว อยากได้รูปภาพหรือข้อมูลติดต่อมาได้ครับ แอ๊ดเพื่อนมาทางLINE ID (den0861881874den) ขอบพระคุณครับ


โดย: เอกวีร์ ตะนะวิไชย IP: 157.7.52.183 วันที่: 4 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา:21:49:59 น.  

 
ผมได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งเขียนโดยอดีต ผบ.ป.พัน 7 ได้ทราบเรื่องราวของนักรบ ทจช. ที่มาช่วยกองทัพรบ ดอยยาว ดอยผาหม่น ผาตั้ง รวมถึงการไปรบที่สมรภูมิเขาค้อ ได้เห็นชื่อยุทธการเกรียงเหวิน (ชื่อพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ + ชื่อนายพลหลี่เหวินฝาน กับนายพลต้วนซีเหวิน)และพันเอก เฉิน โหมว ซิว ได้จินตนาการเห็นความลำบากยากเข็ญของ ทจช.ในยุคนั้น


โดย: นักเรียน รด. IP: 125.25.92.252 วันที่: 10 พฤษภาคม 2561 เวลา:15:41:31 น.  

 
ผมสนใจเรื่องราวของ ทจช.มาก จริงๆ บังเอิญเมื่อ 3 วันก่อนได้พบอดีต ทจช.คนหนึ่ง ผมได้คุยกับเขาเรื่องราววีรกรรมของ ทจช. เขาดีใจมากที่มีคนสนใจเรื่องราวประวัติของ ทจช. เขาเล่าว่าตอนกลับจากการรบที่เข้าค้อ(เขาย่า) กลับมาเยี่ยงวีรบุรุษ มีการจัดขบวนต้อนรับที่สนามบินกองบิน 416 ชร. เขาเอารูปมาอวด ผมสงสารเขามากเพราะขบวนที่มาต้อนรับเขามีแต่ครอบครัวชาวจีน ไม่เห็นมีคนไทยไปต้อนรับเลย(คงเพราะไม่รู้)


โดย: นักเรียน รด. IP: 125.25.92.252 วันที่: 10 พฤษภาคม 2561 เวลา:15:53:24 น.  

 
แต่อย่างไรก็ดีก็มีนักรบ ทบ.ไทยพลีชีพเพื่อชาติไม่น้อย มีอนุเสาวรีย์ผู้เสียสละ อยู่หน้า บก.พัน กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 17 ทุกวันที่ 5 ก.ย. ของทุกปีจะมีพิธีรำลึกถึงผู้เสียสละ ผบ.พัน ร.17/3 ที่ผมจะนึกถึงเป็นคนแรกเสมอคือพันโทวิโรจน์ ทองมิตร (ยศขณะนั้น) ที่เป็นท่านหนึ่งที่สร้างประวัติศาสตร์การรบในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ส่วน ผบ.จทบ.เชียงราย ที่ผมไม่เคยลืมเลยคือ พันเอกอิทธิ สิมารักษ์ ที่ท่านได้พลีชีพเพื่อชาติที่เขาค้อ (ทั้งหมดเป็นความเห็นส่วนตัวทั้ง 3 โพสต์นะครับ)


โดย: นักเรียน รด. IP: 125.25.92.252 วันที่: 10 พฤษภาคม 2561 เวลา:16:09:17 น.  

 
เธซเธ™เนˆเธงเธขเธ„เธนเน‰เธกเธเธฑเธ™เธเธฒเธฃเธชเธฃเน‰เธฒเธ‡เธ—เธฒเธ‡เธชเธฒเธขเธ›เธฒเธ‡เธ„เนˆเธฒ-เธšเน‰เธฒเธ™เธฅเธธเธ‡เธ•เธฑเน‰เธ‡เนเธ•เนˆเธ›เธต2519-เธ–เธถเธ‡2524เธ„เธฃเธฑเธš-เธซเธ™เนˆเธงเธขเธเธฃเธฐเธ—เธดเธ‡เนเธ”เธ‡


โดย: เธˆเธณเธ™เธ‡เธ„เนŒ เธเธฒเธฃเธญเธธเธ”เธซเธ™เธธเธ™ IP: 139.99.104.93 วันที่: 20 เมษายน 2562 เวลา:0:04:20 น.  

 
ผมพึ่งผ่านไปมาวันนี้(16/5/64)สภาพสถานที่รำลึกวีรกรรมดูทรุดโทรมพอสมควรครับ


โดย: ชุมพล จันประภาพ IP: 223.24.190.83 วันที่: 16 พฤษภาคม 2564 เวลา:18:05:11 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sathit 1
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add sathit 1's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.