นโม ตัสส ภควโตฯ มหาพลานุภาพ มหานมัสการที่คาดไม่ถึง
นโม ตัสส ภควโตฯ มหาพลานุภาพ มหานมัสการที่คาดไม่ถึง
ความนอบน้อม อันถึงพร้อมด้วยกาย วาจา ใจ ต่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นบรมศาสดาแห่งมวลมนุษย์และทวยเทพ มีอานิสงส์ โดยข้อปฏิบัติที่ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนา คือ การเจริญพระพุทธคุณด้วยบทว่า "นโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ" ซึ่งโบราณาจารย์เรียกว่า "มหานมัสการ"
"มหานมัสการ" คือ บทน้อมนอบที่สำคัญยิ่ง ในพระไตรปิฏก มีปรากฏบุคคลผู้สาธยายบทนี้ เป็นคำอุทานที่ไม่ใช่พุทธภาษิต กล่าวคือ พระพุทธเจ้ามิได้ทรงตรัสเป็นพุทธภาษิตด้วยพระองค์เอง แต่เป็นข้อความและเรื่องราวที่มีปรากฏในพระบาลีหลายแห่งทั้งความมุ่งหมายที่แตกต่างกัน คือ บางท่านได้รับกิตติศัพท์อันสูงส่งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็เปล่งอุทานขึ้นด้วยความเลื่อมใส บางท่านเปล่งด้วยความพลั่งปาก แต่ทวาเป็นไปในทางที่ดี บางท่านก็เปล่งขึ้นด้วยตั้งใจจะเทิดทูนพระพุทธคุณเพื่อยึดเหนี่ยวเอาพระพุทธคุณมาเป็นอารมณ์ป้องกันภยันตรายที่จะมาเบียดเบียน อาทิ ท่านท้าวสักกะ , พรหมายุพราหมณ์ , ชาณุสโสณิพราหมณ์ , นางธนัญชานี , ลูกชายของนายทารุสากฏิกะ เป็นต้น
ภายหลังพุทธปรินิพพาน พระอรหันตเจ้าทั้งหลาย ได้ยกบทนี้ขึ้นสู่สังคายนาไว้ในพระสูตรต่างๆ และใช้เป็นคำนมัสการขึ้นต้น เป็นแบบอย่างของชาวพุทธสืบต่อมา เช่น ใช้เป็นคำนอบน้อมเริ่มต้นก่อนรจนาคัมภีร์ เป็นต้น ฉะนั้น ชาวพุทธจึงนิยมสวดบทนมัสการนี้นำ ก่อนที่จะสวดบริกรรมมนต์บทอื่น และนิยมเขียนไว้เป็นเบื้องแรกของคัมภีร์
บท "มหานมัสการ" นี้ มีความสั้นกะทัดรัด แต่สามารถรวบยอดพรรณนาความสำคัญ ๓ อย่าง คือ พระมหากรุณาธิคุณ(ภควโต) ,พระวิสุทธิคุณ(อรหโต) , และ พระปัญญาธิคุณ(สัมมาสัมพุทธัสสะ) ของพระพุทธองค์ตามลำดับได้อย่างน่าอัศจรรย์
พระพุทธคุณทั้ง ๓ บทนี้ เป็นรากเหง้าเค้ามูลให้บังเกิดพุทธคุณทั้งปวงนับประมาณมิได้ มีความงามในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด เพียบพร้อมด้วยศัพท์และอรรถ มีความวิจิตรพิสดารด้วยนัยะหลากหลาย
พระพุทธคุณทั้ง ๓ บทนี้ ประเสริฐยิ่งนัก เพราะทำให้เวไนยสัตว์ตลอดกว่า ๒,๕๐๐ ปี ตราบจนถึงกาลบัดนี้ ได้มีโอกาสศึกษา ปฏิบัติพระธรรมตามความตรัสรู้ ได้รักษาชีวิตให้ดำเนินอยู่ในกุศล และมีโอกาสยกระดับจิตใจ สติปัญญาให้สูงยิ่งๆ ขึ้น ลดละทุกข์ได้ตามลำดับ จนถึงความสิ้นทุกข์โดยสิ้นเชิงได้ ฉะนั้น การสาธยายบท "มหานมัสการ" นี้ ด้วยความนอบน้อม จึงถือว่าเป็นการเจริญ "พุทธานุสสติกรรมฐาน"
การน้อมรำลึกถึงพระพุทธคุณเป็นสิ่งสำคัญ ผู้สวดบริกรรมหรือสาธยาย ไม่ควรสวดหรือสาธยายนอบน้อมถึงพระพุทธคุณเฉพาะเวลากราบไหว้พระสวดมนต์ หรือประกอบพิธีกรรมการกุศลเท่านั้น แต่ ควรระลึกนอบน้อมทุกเวลาที่มีโอกาส ดังเช่น นางธนัญชานีไม่ว่านางจะไอ จาม หรือแม้สะดุดลื่น หกล้ม ก็จะระลึกถึงพระพุทธคุณ แล้วเปล่งอุทานนอบน้อมว่า "นโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ" ทุกครั้ง
การบำเพ็ญบุญด้วยการเจริญพระพุทธคุณ ด้วยจิตศรัทธาเลื่อมใส จนเกิดความปิติปราโมทย์ด้วยความดื่มด่ำในพระพุทธคุณ จัดเป็นกระแสห้วงบุญอันใหญ่หลวง ที่ยังกิริยาการนอบน้อมให้สำเร็จเป็นไปทุก ๆ (ชวนจิต) ๗ ขณะ ตลอดหลายแสนโกฎิครั้ง กระแสบุญนั้นเป็นบุญไพศาล มีอานุภาพมาก มีอานิสงส์มาก เพราะเจริญในเนื้อนาบุญอันสูงสุด คือ พระพุทธเจ้า ย่อมส่งผลให้ผู้นอบน้อมบูชานั้น ได้รับผลทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งที่เป็น "โลกิยะ" และ "โลกุตตระ"
ผลที่เป็นโลกิยะ ได้แก่ ทำให้แคล้วคลาดจากอุปสรรคอันตราย , ทำให้ขจัดภัยและความหวาดกลัว , ความตกใจ , ความขนพองสยองเกล้า , ประสบความสวัสดี , ความเจริญรุ่งเรือง , ได้รับชัยชนะ , มีสุขภาพอนามัยดี , มีอายุยืน , สมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ , ชักนำให้เกิดในสุคติภพ
ผลที่เป็นโลกุตตระ ได้แก่ อริยผล ๔ ประการคือ โสตาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล และอรหัตตผล เพราะผู้ระลึกถึงพระพุทธคุณด้วยความนอบน้อมอยู่เนื่อง ๆ ย่อมก่อให้เกิดศรัทธาที่ตั้งมั่นอันเป็นเหตุให้เกิดความปิติปราโมทย์ที่มีกำลังมากในขณะนั้น ครั้นเจริญสติตามรู้ความปิติปราโมทย์นั้นเป็นอารมณ์ ก็สามารถบรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลได้โดยพลัน ดังเช่น พระปุสสเทวเถระผู้อยู่ที่กัฏฐอันธการวิหาร บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ และพระนางอสันธิมิตตา อัครมเหสีของพระเจ้าอโศกมหาราชบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน
อานุภาพของบทมหานมัสการ "นโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ" อันประกอบด้วยพระพุทธคุณ ๓ ประการ ที่บุคคลผู้สวดบริกรรม หรือสาธยายด้วยจิตที่มีสมาธิแน่วแน่ น้อมระลึกพระพุทธคุณเป็นอารมณ์ด้วยทวารทั้ง ๓ จะแผ่ไปถึงแสนโกฏจักรวาฬ ทำให้ผู้สวดหรือผู้สาธยายได้รับอานิสงส์มหาศาลประมาณมิได้ เฉกเช่นคนที่ไม่ได้รับประทานอาหาร ย่อมไม่อาจรับรู้รสอาหารและผลของการรับประทานอาหารได้ พุทธบริษัทควรหมั่นสวดสาธยายบทมหานมัสการ หรือบทสวดมนต์อื่นๆ ด้วยการน้อมระลึกถึงพระพุทธคุณอยู่เนื่องๆ เถิด บุญราศีโกฏฐานอันนั้น ย่อมมีผลานิสงส์อันยิ่งใหญ่ ฉะนี้แล
Create Date : 26 ตุลาคม 2552 |
|
1 comments |
Last Update : 26 ตุลาคม 2552 10:17:51 น. |
Counter : 1308 Pageviews. |
|
|
|
//board.palungjit.com/f17/%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A1-%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%AA-%E0%B8%A0%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B9%82%E0%B8%95%E0%B8%AF-%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E-%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87-210531.html