กรกฏาคม 2553
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
5 กรกฏาคม 2553

ผลวิจัย

จากโครงการวิจัยที่ปุ้มทำตอนจบปอโทที่จุฬา เรื่อง “ความคาดหวังของผู้ปกครองต่อพัฒนาการเด็กและการให้บริการของศูนย์พัฒนาการเด็กเล็กเอกชน”(Guardians’ Expectation on Child Development and Services of Private Child Development Center) .. วัตถุประสงค์หลักของการศึกษาตอนนั้น คือ

1) เพื่อดูการประเมินความพึงพอใจของผู้ปกครองเปรียบเทียบกับความคาดหวังที่มีในด้านบริการจากศูนย์พัฒนาการเด็กเล็กเอกชน

กรณีนี้ คือ ปุ้มดูว่า ผู้ปกครองเนี่ย เค้าเสียเงินทองมากมาย พาลูกมาเสริมพัฒนาการ .. ย้ำว่า เสริมนะคะ ไม่ใช่กระตุ้น .. เพื่ออะไร เพราะลูกก็เป็นเด็กที่มีพัฒนาการปกติ ดังนั้น สิ่งที่เค้าคาดหวัง และสิ่งที่เค้าได้รับนั้น ตอบสนองความพึงพอใจของเค้าได้หรือไม่ ยังไง

2) เพื่อดูความสอดคล้องระหว่างความคาดหวังของผู้ปกครองที่มีต่อพัฒนาการเด็กกับระดับพัฒนาการปกติของเด็ก

ผลของอันนี้ค่อนข้างน่าสนใจม๊ากกกก มากกก ทีเดียวแหล่ะ ปุ้มใช้แบบสอบถาม สัมภาษณ์ผู้ปกครองเกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูกที่เค้าทำได้แล้ว หรือ คิดว่าลูกน่าจะทำได้ ณ ขณะนั้น แล้วก็เอามาเทียบกับ item ต่างๆ ในระดับอายุของเด็ก ที่มีอยู่ในแบบ Denver II .. แล้วก็พบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีความคาดหวังต่อพัฒนาการเด็กที่สอดคล้องกับระดับพัฒนาการปกติของเด็ก คือ ไม่ได้คาดหวังมากกว่า หรือ ต่ำกว่าความสามารถของเด็กในวัยนั้นๆ



นั่นล่ะ จากสิ่งที่ปุ้มศึกษามา ทำให้รู้ว่า สมัยนี้ผู้ปกครองรู้มากขึ้นค่ะ อาจจะเป็นเพราะเทคโนโลยีเปิดกว้าง สามารถค้นคว้าหาข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายมากขึ้น ดังนั้น ถ้ารักจะทำอาชีพนี้แบบจริงจัง ปุ้มก็ควรจะมีความรู้มากพอที่จะทำให้คนอื่นเชื่อถือเราได้อ่ะนะ T_T

อ่อ .. ต้องแม่นศัพท์แพทย์ กับ ศัพท์เฉพาะทางด้วย เง๊อออ





ข้อความด้านล่างปุ้มตัดมาจาก บทที่ 4 ของผลการวิจัยที่เคยทำไว้ หวังว่า จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครองทุกคนไม่มากก็น้อยค่ะ



พัฒนาการเด็ก
ผลการวิจัยสนับสนุนว่า ในกลุ่มผู้ปกครองทั้ง 3 กลุ่มนั้น มีความสอดคล้องระหว่างความคาดหวังที่มีต่อพัฒนาการเด็กกับระดับพัฒนาการปกติของเด็ก กล่าวคือ กลุ่มผู้ปกครองทั้ง 3 กลุ่มนั้น ส่วนใหญ่แล้วมีความคาดหวังในความสามารถของเด็กเหมาะสมกับพัฒนาการตามวัยของเด็ก ทั้งนี้ น่าจะเป็นเพราะผู้ปกครองกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีการศึกษาดี มีฐานะดี และใส่ใจต่อพัฒนาการของเด็ก เพราะผู้ปกครองกลุ่มนี้เต็มใจที่จะพาเด็กมารับการเสริมพัฒนาการ และยังให้ความร่วมมือในการสัมภาษณ์เป็นอย่างดี

ศูนย์พัฒนาการเด็กเล็กเอกชนเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้สังเกตการเรียนรู้ของเด็ก ช่วยให้ผู้ปกครองรู้จักเด็กของตนดีขึ้น และรู้สึกกระตือรือร้นที่จะนำวิธีเล่นและเทคนิคต่างๆที่ตนสังเกตเห็นจากศูนย์ไปทดลองเล่นกับเด็กของตนที่บ้าน (Gilles, 1995) ซึ่งจากการสัมภาษณ์ผู้ปกครองพบว่า ผู้ปกครองบางท่านไม่ทราบมาก่อนว่า เด็กของตนชอบเล่นของเล่นประเภทนี้ และคิดว่าจะหาของเล่นลักษณะเดียวกันไปเล่นกับเด็กที่บ้าน ทำให้ผู้ปกครองเข้าใจและสามารถคาดหวังให้เด็กมีพัฒนาการได้เหมาะสมตามวัยของเด็ก

อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยพบว่า ผู้ปกครองมีการประเมินความคาดหวังในบางข้อกระทงต่ำกว่าพัฒนาการตามวัยของเด็ก และบางข้อกระทงสูงกว่าพัฒนาการตามวัยของเด็ก แต่ก็เป็นส่วนน้อยและถือว่าเป็นเรื่องปกติของผู้ปกครองโดยทั่วไป เนื่องจาก การประเมินได้ตรงกับพัฒนาการตามวัยปกติทุกข้อกระทงนั้น ต้องอาศัยแบบวัดทางจิตวิทยาและทดสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักจิตวิทยาพัฒนาการ สำหรับข้อกระทงที่มีการประเมินต่ำกว่าพัฒนาการตามวัยของเด็กนั้น อาจมีสาเหตุมาจากการที่ผู้ปกครองออกไปประกอบอาชีพนอกบ้าน ทำให้มีเวลาอยู่กับเด็กเฉพาะช่วงเวลาหลังเลิกงานหรือช่วงวันหยุดเท่านั้น จึงไม่มีโอกาสติดตามพัฒนาการของลูกอย่างใกล้ชิด ซึ่งเมื่อผู้ปกครองให้คำตอบในการสัมภาษณ์ว่า ไม่แน่ใจ หรือไม่เคยเห็นว่าเด็กทำได้ ผู้วิจัยจะบันทึกว่า เด็กยังไม่สามารถทำสิ่งนั้นๆ ได้ อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ปกครองส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถให้คำตอบในการสัมภาษณ์ เพราะไม่แน่ใจในพัฒนาการของเด็กนั้น ได้กล่าวกับผู้วิจัยว่า ตนจะต้องให้เวลาลูกมากกว่านี้ และมีความรู้สึกผิดที่ไม่ทราบเกี่ยวกับพัฒนาการของลูก ในขณะเดียวกันก็เกิดความ รู้สึกตื่นเต้นที่จะทดสอบพัฒนาการใหม่ๆ ของลูกว่า ลูกสามารถทำสิ่งเหล่านั้นได้แล้วหรือไม่ ซึ่งนับว่าเป็นข้อดี ในทางกลับกัน หากพบว่า ผู้ปกครองมีการประเมินความสามารถของเด็กต่ำกว่าพัฒนาการตามวัยของเด็กอยู่ในจำนวนที่สูงในข้อกระทงส่วนใหญ่ ก็อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า ผู้ปกครองมีแนวโน้มที่จะไม่สนใจเด็ก ไม่รู้จักเด็ก หรือเด็กอาจมีความผิดปกติบางอย่าง ซึ่งผู้ปกครองควรให้ความสนใจอย่างเร่งด่วน เพราะโดยปกติแล้วผู้ปกครองมีแนวโน้มที่จะประเมินเด็กของตนสูงกว่าความเป็นจริงเล็กน้อย เพราะอยากให้เด็กดูเก่งในสายตาคนอื่น (Cholvanich, 1994, อ้างถึงใน ศิริพร นิราพันธ์, 2547)

ในขณะที่ผู้ปกครองอีกส่วนหนึ่งซึ่งมีจำนวนน้อยเช่นกัน มีความคาดหวังสูงกว่าพัฒนาการตามวัยของเด็ก ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการที่ผู้ปกครองพาเด็กไปเข้าร่วมกิจกรรมเสริมพัฒนาการ และส่วนใหญ่มักมีความคาดหวังว่า เด็กจะต้องมีพัฒนาการที่ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งถือว่า เป็นเรื่องปกติที่ผู้ปกครองจะมีความคาดหวังที่สูงเหมือนดังที่กล่าวไปข้างต้น คือ ผู้ปกครองส่วนใหญ่มักเกิดความรู้สึกเข้าข้างเด็กและมักรายงานว่า เด็กมีความสามารถสูงกว่าเด็กอื่นในวัยเดียวกัน เช่น การพูดคุยกับผู้อื่นในลักษณะอวดอ้างความสามารถของเด็ก เป็นต้น ซึ่งบางครั้งความคาดหวังที่สูงกว่าพัฒนาการตามวัยของเด็กนั้นอาจก่อให้เกิดความกดดันและความเครียดทั้งในเด็กและผู้ปกครอง กล่าวคือ เมื่อเด็กไม่สามารถมีพัฒนาการตามที่ผู้ปกครองคาดหวัง ผู้ปกครองอาจจะบังคับหรือเคี่ยวเข็ญให้เด็กทำกิจกรรม โดยลืมคำนึงถึงความเหมาะสมของพัฒนาการเมื่อเทียบกับอายุของเด็กและความสมัครใจของเด็ก ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นโทษกับตัวเด็กมากกว่าเป็นประโยชน์

เป็นที่น่าสังเกตว่า พัฒนาการด้านที่มีแนวโน้มว่า ผู้ปกครองจะประเมินความสามารถของเด็กได้เหมาะสมกับพัฒนาการตามวัยของเด็กต่ำกว่าด้านอื่นๆ คือ พัฒนาการด้านภาษา ซึ่งอาจเป็นเพราะ การประเมินด้านภาษาเป็นการประเมินที่ยากที่สุดในการวัดพัฒนาการเด็ก กล่าวคือ ถ้าผู้ประเมินไม่มีความคุ้ยเคยกับเด็ก หรือพลาดโอกาสได้ยินเด็กพูดหรือออกเสียง ผู้ประเมินมักจะประเมินว่า เด็กยังไม่สามารถทำได้ ทำให้การประเมินพัฒนาการในด้านนี้มีความถูกต้องต่ำกว่าพัฒนาการด้านอื่น และประเมินได้ยากกว่าพัฒนาการด้านอื่นอีกด้วย(Bortolus, et. al., 2002)

แม้ผู้ปกครองทั้งในบิดาและมารดามีการประเมินความสามารถของเด็กที่ต่ำกว่าหรือสูงกว่าพัฒนาการตามวัยของเด็ก แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับปกติ เพราะผู้ปกครองที่พาเด็กมาเสริมพัฒนาการสามารถประเมินความสามารถของเด็กได้เหมาะสม ซึ่งงานวิจัยนี้สอดคล้องกับงานวิจัยของ ศิริพร นิราพันธ์ (2547) ที่เสนอว่า ผู้ปกครองสามารถประเมินพัฒนาการเด็กได้อย่างน่าเชื่อถือ หากมีการใช้ข้อคำถามที่ชัดเจน มีการใช้ภาษาที่เหมาะสมและเข้าใจง่าย

ครอบครัวถือเป็นปัจจัยหลักที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กมากที่สุด ผู้ปกครองจึงเป็นผู้ที่ต้องเฝ้าดูและสังเกตพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กอย่างใกล้ชิด ดังที่ Egbert และSayre (2002) ได้ศึกษาไว้ว่า ผู้ปกครองที่มีการศึกษา หรือมีความรู้โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการของเด็ก จะทำให้ผู้ปกครองสังเกตและเข้าใจในลักษณะหรือรูปแบบการแสดงออก รวมไปถึงความคิดของเด็กในแต่ละวัยได้อย่างเหมาะสม ดังนั้น ผู้ปกครองกลุ่มนี้จะสามารถคาดหวังถึงสิ่งที่เป็นไปได้จริงในช่วงวัยที่เหมาะสมของเด็ก ในขณะที่ผู้ปกครองที่มีการศึกษาน้อยหรือไม่ได้ใกล้ชิดกับเด็ก หรือไม่ได้เลี้ยงด้วยตนเอง มักจะคาดหวังในสิ่งที่สูงเกินความเป็นจริงหรือต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งกรณีหลังสามารถแก้ไขได้โดยการปรับทัศนคติเกี่ยวกับพัฒนาการเด็กของผู้ปกครอง เช่น การให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับพัฒนาการเด็กในแต่ละช่วงวัยแก่กลุ่มผู้ปกครองที่มีความคาดหวังสูงกว่าหรือต่ำกว่าความเป็นจริง เป็นต้น


แหล่งอ้างอิง: ฐิติพร สุวณิชย์ (2550)




 

Create Date : 05 กรกฎาคม 2553
0 comments
Last Update : 5 กรกฎาคม 2553 21:58:59 น.
Counter : 415 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แม่ครู
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




สวัสดีค่ะ ^^ เป็นนักจิตวิทยาพัฒนาการค่ะ สอนกระตุ้นพัฒนาการในเด็กพิเศษก่อนวัยเรียนในกรุงเทพ .. เป็นที่ปรึกษาให้ร้านขายของเล่น "แม่ครู" ด้วยค่ะ .. ยินดีที่ได้รู้จักทุกคนค่ะ
[Add แม่ครู's blog to your web]