เมื่อตะวันยอแสง..เรี่ยวแรงก็เริ่มอ่อนล้า..พักลงตรงนี่ที่เดิมแล้วหลับตา..
Group Blog
 
 
มกราคม 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
27 มกราคม 2555
 
All Blogs
 

ตามติดชีวิตปัจจุบัน ของคนบนปก ฅ ฅน






เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก นิตยสาร ฅ ฅน ,เฟชบุ๊ก แฟนเพจ หมอล็อต หมอสัตว์ป่า

รอยยิ้ม คราบน้ำตา ความประทับใจ ความซาบซึ้ง คือสิ่งที่คุณผู้อ่านนิตยสาร ฅ ฅน ได้รับมาตลอด 6 ปีเต็ม หลังจากนิตยสาร ฅ ฅน ได้ตีแผ่เรื่องราวชีวิตของผู้คนมากหน้าหลายตาที่มีความน่าสนใจ และควรค่าที่จะได้รับการยกย่องในเรื่องต่าง ๆ แม้ว่าเรื่องราวของพวกเขาจะผ่านสายตาเราไปหลายปีแล้ว แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมา บุคคลที่ขึ้นปก ฅ ฅน ก็ยังดำเนินชีวิตต่อไปตามเส้นทางของพวกเขา ซึ่งวันนี้ นิตยสาร ฅ ฅน ฉบับเดือนมกราคม ปี 2555 ขอกลับไปติดตามบุคคลที่เคยขึ้นปกบางส่วนกันดูอีกครั้ง







ปู่เย็น เฒ่าทระนงแห่งลุ่มน้ำเพชรบุรี

เชื่อได้เลยว่า ไม่มีใครลืมภาพของเฒ่าทระนงที่อาศัยอยู่บนเรือริมแม่น้ำเพชรบุรีอย่าง "ปู่เย็น แก้วมะณี" ไปได้แน่นอน แม้ว่า "ปู่เย็น" จะสิ้นบุญไปตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2551 แต่ ณ วันนี้ ผู้คนแถวริมสะพานเชิงลำไยก็ยังคงพูดถึง "ปู่เย็น" อยู่ไม่สร่างซา ว่า ณ จุดนี้ คือจุดที่เรือของปู่เย็นจอดอาศัยอยู่เพียงลำพัง หรือจุดนั้น คือบ้านเดิมที่ "ปู่เย็น" เคยอาศัยอยู่กับภรรยา

นอกจากนั้นแล้ว "เรือ" ซึ่งเป็นบ้านหลังสุดท้ายของปู่เย็น ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถพระราชทานให้ยังถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้าไปศึกษา และรับรู้ว่า "ปู่เย็น" คือ แบบอย่างของบุคคลที่เข้าใจความพอเพียง และความเรียบง่ายในชีวิตอย่างแท้จริง








รัตนา สัจจเทพ กับบ้านสีขาวหลังใหม่อันอบอุ่น

เจ้าของตำนานบ้านสีดำอันโด่งดังเมื่อเกือบ 7 ปีก่อน "รัตนา สัจจเทพ" เธอพยายามต่อสู้เรียกร้องค่าชดเชยจากกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความเป็นธรรมให้ตัวเอง หลังจากบ้านที่เธอซื้อมาด้วยน้ำพักน้ำแรงกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ทั้งที่เป็นความผิดพลาดเกิดจากความบกพร่องในการควบคุม และตรวจสอบอาคารของเจ้าหน้าที่ ที่ปล่อยให้ผู้ประกอบการสร้างบ้านหลังนี้ขึ้นโดนเจตนาจะฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นเหตุให้บ้านของเธอต้องถูกรื้อถอนไปต่อหน้าต่อตา ซ้ำเธอยังถูกข่มขู่สารพัด และหลังจากนั้น เมื่อ "รัตนา สัจจเทพ" จะไปซื้อบ้านที่ไหนก็ดูจะยากลำบาก เพราะเจ้าของโครงการต่างไม่ขายให้ เนื่องจากกลัวจะถูกเธอฟ้องร้อง ในที่สุด เธอจึงต้องหอบลูกมากางเต็นท์นอนหน้าศาลากลางกรุงเทพมหานคร

จากวันนั้นผ่านไป วันนี้ "รัตนา สัจจเทพ" ได้บ้านแสนอบอุ่นกลับมาอีกครั้ง หลังจากลูก ๆ ทั้งสองคนของเธอปลอมตัวเป็นคู่แต่งงาน และเปลี่ยนชื่อนามสกุลใหม่ทั้งหมด เพื่อขอซื้อบ้าน จนในที่สุด ครอบครัวสัจจเทพก็ได้บ้านหลังใหม่ แม้ว่าในอดีตที่ผ่านมา ลูก ๆ ของเธอจะถูกสังคมคนรอบข้างกดดันอย่างหนัก เพียงเพราะเธอเป็นลูกของสตรีหัวใจเพชรที่ชื่อว่า "รัตนา สัจจเทพ" แต่ ณ วันนี้ ความสุขได้กลับคืนสู่ครอบครัวนี้แล้ว

"การสู้ครั้งนี้ ผลสำเร็จเกิดขึ้นได้เพราะกองทัพสื่อมวลชน ถ้าไม่มีสื่อมวลชนในวันนั้น เรื่องที่พี่โดนรังแกจะไม่ถูกเปิดเผยขึ้น เพราะฉะนั้น สื่อมวลชนคือผู้ชนะ" รัตนา ยืนยัน







ชาตรี โสวรรณตระกูล คนบ้าทุเรียน

หลังจากนิตยสาร ฅ ฅน ฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ.2549 วางแผง ก็ทำให้ "ชาตรี โสวรรณตระกูล" ชาวสวนทุเรียนถูกเพื่อนแซวทันทีที่ได้ขึ้นปกหนังสือเล่มนั้น และทำให้ชาวสวนผู้ปลูกทุเรียนคนนี้ เข้าใจแล้วว่า สิ่งที่เขากำลังทำอยู่มีคุณค่า เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วยกับวิธีการของเขา

ทุกวันนี้ ชาวสวนบ้าทุเรียนคนนี้ จึงยังคงปลูกทุเรียนจากเมล็ด ไม่ปลูกส้มโอตามคำแนะนำของใครต่อใคร นอกจากนั้นแล้ว เขายังคงปลูกทุเรียนตามธรรมชาติ ไม่ใส่สารเคมี และปีนเก็บทุกลูกดังเดิมตามที่พ่อสอนสั่งมาช้านาน ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้สารเคมีเร่งผลิตทุเรียน เพื่อส่งออกไปขายเมืองนอกเหมือนสวนอื่น ๆ นอกจากนั้นแล้ว "สับปะรด" และ "กล้วยน้ำว้า" ในสวนธรรมชาติของ "ชาตรี โสวรรณตระกูล" ก็ยังให้ผลผลิตที่มีคุณภาพกว่าสวนอื่น ๆ เป็นที่ต้องการของตลาด หลังจากที่เขาใช้ธรรมชาติมาพัฒนาดินให้อุดมสมบูรณ์มากขึ้น

"ผมอยู่กับสวนทุกวัน นอนเรือนหลังคามุงจาก ใช้ชีวิตใกล้ชิดกับเขา เลยเห็นทุกอย่างในระบบนิเวศคมชัด แต่ถ้าใครถามว่า ระบบนิเวศที่ว่านั้นเป็นอย่างไร ก็คงตอบได้ยาก..." ชาตรี บอก








ยายไฮ ขันจันทา กับการต่อสู้เพื่อผืนดินทำกิน

ชื่อของ "ยายไฮ ขันจันทา" หรือ "แม่ใหญ่ไฮ" เป็นที่รู้จักในนามของหญิงชราผู้ที่ต่อสู้เรียกร้องให้รัฐบาล จ่ายค่าชดเชยเยียวยาผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนห้วยละห้ามาอย่างยาวนานถึง 32 ปี จนในที่สุด เมื่อปี พ.ศ.2552 ยายไฮก็ได้รับเงินชดเชยความเสียหายดังที่ต่อสู้มาอย่างทรหดอดทน และชีวิตที่มีความสุขของหญิงชราวัย 82 ปี ก็กำลังจะกลับมาดังเดิม








แต่ถึงกระนั้น บรรดาลูก ๆ หลาน ๆ ของแม่ใหญ่ไฮ ก็ยังถูกหน่วยงานราชการพยายามจับผิดอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเข้าไปติดต่องาน หรือแม้กระทั่งเข้าเรียนหนังสือ ขณะที่ "เพชร" ลูกสาวของยายไฮ ก็หัดทำนาใหม่อีกครั้ง หลังจากผืนนาของแม่ถูกน้ำท่วมตั้งแต่หลายสิบปีก่อนที่เธอยังเป็นเด็กตัวเล็ก ๆ เธอจึงเกิดมาเป็นลูกชาวนาที่ทำนาไม่เป็น แต่เธอก็ยืนยันจะทำนาต่อไป แม้ว่าลูก ๆ ของแม่ใหญ่ไฮบางคนจะคิดต่างไปจากเธอ และทำให้ละครที่เริ่มต้นด้วยเรื่องราวความคิดเห็นที่แตกต่างกันภายในครอบครัวจะยังดำเนินไปอีกนานโดยที่ยังไม่มีตอนจบ









หมอล็อต แพทย์สัตว์ป่าผู้มุ่งมั่นสร้างโลกใบสวย

กว่าเก้าปีที่ "หมอล็อต" นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน มุ่งมั่นทำงานรักษาสัตว์ป่า ณ วันนี้ หมอล็อต บอกกับเราว่า เขากำลังสร้างบทบาทใหม่ในการรักษาดูแลสัตว์ป่า โดยการเป็นสัตวแพทย์เพื่อโลกใบสวย มากกว่าการมุ่งรักษาเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่เขากำลังทำคือการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพให้คงอยู่ และฟื้นฟูให้ดีขึ้น ภายในโลกกลม ๆ ที่พร้อมจะเกิดวิกฤติทางธรรมชาติอยู่ทุกนาที

นอกจากนั้นแล้ว หมอล็อต ซึ่งปัจจุบันไม่ได้เป็นนายสัตวแพทย์แต่เพียงอย่างเดียว แต่เขายังสวมหมวกผู้บริหารในฐานะที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ สัตว์และพันธุ์พืชของวุฒิสภา แต่ถึงกระนั้น วิถีชีวิตเดิม ๆ ของหมอล็อตก็ยังไม่เปลี่ยนไปตามตำแหน่งและความรับผิดชอบที่สูงขึ้น

อีกงานหนึ่งที่ หมอล็อต ทำอยู่ก็คือ การเป็นอาจารย์พิเศษในคณะสัตวแพทยศาสตร์ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งทำให้หมอล็อตผุดโครงการ Mouth to Mouth ขึ้นมา เพื่อขยายองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์ในสังคมด้วยการบอกต่อ ซึ่งสามารถทำให้การรับรู้เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ

"อย่างหมอถือเข็มถือมีดรักษาได้หนึ่งตัว แต่หมอถือไมค์รักษาได้เป็นร้อยตัว แต่ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า เราจะละเลยต่อการรักษาโดยตรงเช่นที่เคยทำไป เพียงแต่เรามองการแก้ปัญหาข้ามขั้นไปสู่ภาพใหญ่ ที่จะเอื้อให้การขับเคลื่อนคลี่คลายไปได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น" นายสัตวแพทย์หนุ่มแจง






ขวัญ+เพชร สองพี่น้องธาลัสซีเมีย

"ขวัญ" และ "เพชร" คือสองพี่น้องที่ป่วยด้วยโรคธาลัสซีเมียทั้งคู่ แต่พวกเขาไม่เคยกลัวความตายที่จะมาเยือน ตรงกันข้าม ทั้งสองพี่น้องกลับมองโลกในแง่ดี ด้วยหัวใจอันทรงพลัง พวกเธอบริหารหัวใจได้เข้มแข็ง และส่งต่อความเข้มแข็งนั้นสู่ผู้อื่นด้วยการเดินทางไปเป็นวิทยากรเกี่ยวกับการเผชิญความตาย เพื่อสร้างกำลังใจให้ผู้อื่นอีกมากมาย

นั่นคือเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน แต่ ณ วันนี้ "เพชร" ได้บอกลากับพี่สาวไปแล้ว หลังจาก "ขวัญ" เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2554 และกลายเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่ "ขวัญ" สามารถต่อสู้กับโรคธาลัลซีเมียได้มาเกือบ 29 ปี ขณะที่น้องสาว "เพชร" กับแม่หลับตานิ่งภาวนาให้พี่สาวไปสู่สุคติ

"การจากไปของพี่ ทำให้หนูอยากจะใช้ชีวิตให้มีความสุขมากกว่าเดิม" เพชร บอก








ตุ้ม เรือโฟม วีรชนคนรักถิ่น

ตุ้ม จันทิวา บุญญากร เขาเป็นนักประดิษฐ์คนยากแห่งปากคลองบางโหลง ที่สมัยก่อนเคยผ่านชีวิตเกกมะเหรกเกเรมานับไม่ถ้วน แต่ปัจจุบันนักประมงผู้บ้าขี่เรือโฟมคนนี้หันหลังให้กับสิ่งไม่ดีแล้วทุกอย่าง พร้อมกับส่งผ่านความเมตตาและปรารถนาไปให้พวกเด็ก ๆ ที่คิดผิด จนกลับตัวกลับใจตามเขาได้ด้วย

"ผมเคยเกมาก่อน จึงชี้แนะพวกเขาได้ เวลาสอนผมมักพูดเล่นพูดหยอก ส่วนใหญ่เด็กมันก็ฟัง คือถ้าเราหวังให้สิ่งแวดล้อมอยู่ต่อไปได้ เราต้องอบรมสั่งสอนกับเด็กนี่แหละ บอกเขาให้เข้าใจ หน้าที่ของคนรุ่นเราซึ่งคงอยู่อีกไม่นานก็คือ ฝากแผ่นดินท้องทะเลไว้ในมือเด็ก และนี่คือสิ่งที่ผมพยายามบอก พยายามสอนเด็กรุ่นใหม่ให้รักและหวงแหน"

อย่างไรก็ตาม ตุ้ม ก็ยังคงเผชิญกับปัญหาเดิม ๆ คือมีนายทุนพยายามจะเข้ามาสร้างท่าเรือน้ำลึกบริเวณหัวโม่ง โดยพยายามจะดึงโครงการให้ไปลงในพื้นที่ของตนเองบริเวณปากน้ำชุมพร แต่ ตุ้ม มองว่า หากทำเช่นนั้น สภาพเดิมของหัวโม่งที่เคยเอื้อประโยชน์ให้กับประมงพื้นบ้านย่อมไม่เหลือหลอ ซึ่งต้องส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านแน่นอน แม้แต่ระบบนิเวศของสัตว์น้ำก็ต้องเปลี่ยนแปลง ซึ่งนี่คงเป็นสิ่งที่ ตุ้ม เรือโฟม คนนี้ต้องเดินหน้าต่อสู้ต่อไป แม้ว่าชาวบ้านคนอื่นจะเห็นด้วยกับเขา แต่ไม่กล้าต่อสู้กับความมีอิทธิพล






ปลายพู่กัน ของคนช่างฝัน... เอกชัย วรรณแก้ว

เมื่อหลายปีก่อน เราได้รู้จักกับ "เอก" เอกชัย วรรณแก้ว จิตรกรหนุ่มผู้พิการแขน แต่เมื่อหัวใจไม่พิการ "เอก" จึงใช้พรสวรรค์ของตัวเองในการใช้ปากคาบพู่กันวาดรูป จนกลายเป็นผลงานที่สวยงามมิแพ้คนมือดี ขณะเดียวกัน งานศิลปะของเขายังสร้างรายได้ให้หนุ่มสมถะคนนี้เลี้ยงดูตัวเองได้โดยไม่ต้องเป็นภาระให้ใคร

"เพราะฝันว่าอยากเป็นอาจารย์สินวาดรูปตั้งแต่ตอน ป.1 ถึงวันนี้ ผมก็ยังอยากเป็นอาจารย์สอนศิลปะให้กับเด็ก ๆ ที่ต้องการโอกาสแบบผม"






คำพูดมุ่งมั่นคำนี้เอง ทำให้ "เอก" เดินหน้าขอทุนจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเปิดสอนศิลปะให้กับเด็ก ๆ ที่ปรารถนาจะได้รับโอกาสเรียนศิลปะ อย่างที่เขาเคยได้รับมาก่อน แล้วรู้ว่าโอกาสคือสิ่งที่มีค่าที่สุด โดยเจ้าตัววางแผนการสอนไว้ทั้งหมดแล้ว ขาดแต่เพียงความสำเร็จที่ยังไม่เห็นเป็นรูปเป็นร่างมากนัก แต่ "เอก" ก็บอกว่า ณ วันนี้ เขาเดินมาได้ครึ่งทางแล้ว ใน 365 วัน จะต้องมีสักวันหนึ่งที่ต้องเป็นของพวกเรา







มิสป่าตอง เทพีงามแห่งเมืองภูเก็ต

แม้ว่าป่าตอง จังหวัดภูเก็ตจะเป็นเมืองที่ดูวุ่นวายสับสนไม่น้อย ตามสภาพเมืองแห่งการท่องเที่ยว แต่ก็ยังเป็นสถานที่ที่ "มิสป่าตอง" หญิงชราวัย 76 ปี ยอมนั่งรถกว่า 30 กิโลเมตรเพื่อไปเยือนทุก ๆ วัน และยังคงนั่งอยู่กับคนขายรองเท้าหน้าธนาคารกสิกรไทย สาขาป่าตอง เช่นเดิม ก่อนจะย้ายตัวเองมานั่งอยู่หน้าร้านอาหารของลุงแมว ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามในช่วงเวลากลางคืน และกลายเป็นแม่ย่านางเรียกแขกเข้าร้านไปโดยปริยาย

หลายคนไม่รู้ว่า จริง ๆ แล้ว มิสป่าตอง ซึ่งพื้นเพเป็นคนพิษณุโลกไม่ได้เป็นคนยากจนอย่างที่ใคร ๆ มอง กลับกัน มิสป่าตอง มีลูกหลานที่มีฐานะร่ำรวยไม่น้อย และพยายามจะรับเธอกลับไปอยู่ด้วย แต่ถูกหญิงชราปฏิเสธ ทุกวันนี้ มิสป่าตอง จึงเลี้ยงชีพด้วยรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ได้รับจากลุงแมว และการได้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หลังจากนายกเทศมนตรีทำบัตรประชาชนให้ เพื่อมิสจะได้มีบ้านเลขที่ และมีสิทธิ์รับเงินตามที่รัฐจ่ายให้

ทุกวันนี้ มิสป่าตอง ก็ยังคงเชื่อว่า หากวันไหนเธอไม่ได้มาเยือนที่แห่งนี้ คนจะไม่มาเที่ยวที่นี่ และทุกวัน เธอก็ยังรอคอยดีเตอร์ยอดรักของเธออย่างเชื่อมั่น แม้ว่าเขาคนนั้นอาจจะไม่ได้อยู่ในโลกนี้แล้วก็ตาม แต่เธอก็ยังบอกใครต่อใครว่า เธอเป็นแฟนลูกชายเข้าของห้างคาร์ฟูร์ สาขาภูเก็ต อยู่เช่นเดิม




หมอแป้น คุณหมอหมอลำผู้มุ่งมั่น

อาชีพ "หมอลำ" กับ "คุณหมอ" อาจจะดูเป็นเส้นทางที่ไม่น่าจะมาบรรจบกันได้ แต่ นพ.สุชาติ ทองแป้น ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า เขาสามารถทำทั้งสองอาชีพพร้อม ๆ กันได้ หากใจรัก นั่นจึงทำให้ ณ วันนี้ นพ.สุชาติ หรือ หมอแป้น ก็ยังคงแสดงหมอลำอยู่เหมือนเดิม สิ่งที่แตกต่างก็คือ สมัยนี้มีนักดนตรีและแดนเซอร์ครบวงแล้ว ต่างกับสมัยก่อนที่ยังใช้คาราโอเกะ

ขณะที่งานในชุดเสื้อกราวน์สีขาว คุณหมอก็มิได้ขาดตกบกพร่อง ทุกวันนี้ คุณหมอแห่งโรงพยาบาลมหาสารคามคนนี้จะออกชุมชนอาทิตย์ละสองครั้ง และเยี่ยมบ้านคนไข้อาทิตย์ละครั้ง ออกศูนย์สุขภาพชุมชนอาทิตย์ละสองครั้ง เพื่อแนะนำผู้ป่วยให้รู้จักป้องกันโรค และใช้ธรรมะกล่อมเกลาอาการผู้ป่วยผสมผสานกับการรักษาทางการแพทย์

วันนี้ แม้หน้าที่และความรับผิดชอบในการดูแลผู้ป่วยจะมากมายสักเพียงใด แต่ปณิธานของแพทย์ผู้มุ่งหมายในคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไม่เคยลดถอย







เทพ โพธิ์งาม กับอารมณ์ขันบนความเป็นธรรมชาติ

จากอดีตนักแสดงตลกผู้โด่งดังที่เคยล้มลุกคลุกคลาน วันนี้ ป๋าเทพ พ้นจากภาวะล้มละลายไปแล้ว แต่ยังมีหนี้สินอื่น ๆ อยู่ราว ๆ 7-8 ล้านบาท และชายวัยหกสิบกว่าปีคนนี้ ก็หันหน้าเข้าหาธรรมชาติอย่างเต็มตัว และหมั่นไถ่ชีวิตสัตว์สารพัดชนิด เข้ามาเลี้ยงไว้ในไร่ "อภัยทาน" ที่สร้างขึ้นในจังหวัดราชบุรี เจ้าตัวบอกว่า เมื่อใดที่รู้สึกเบื่อ เขาก็จะมุ่งหน้ามายังไร่แห่งนี้ สถานที่ที่ไม่มีการเบียดเบียน แต่เป็นสถานที่ต่อลมหายใจให้กับเขามานานกว่า 20 ปีแล้ว แม้ว่าเศรษฐกิจจะฝืดเคือง และรายจ่ายในไร่แห่งนี้ก็สูงไม่น้อย แต่ เทพ โพธิ์งาม ก็ไม่สามารถตัดใจทิ้งสัตว์พวกนี้ไปได้ เพราะความรู้สึกผูกพัน

"สัตว์มันยิ่งกว่าคน ไอ้คนนี่ไม่เท่าไหร่หรอก แต่สัตว์นี่เราต้องซื้อฟางซื้ออาหารให้เขา อย่างหมานี่ก็ข้าววันละสองถังแล้ว เราอยากให้เขากินดี วัวควายก็ต้องปลูกหญ้าซื้อเขาให้ เดี๋ยวนี้ฟางลูกหนึ่งก็ 30 กว่าบาทแล้ว ซื้อมาทีหนึ่งก็หลายร้อยลูก กินราวเดือนหนึ่งก็หมด บางทีเงินเราก็ขาดมือบ้าง ก็ดัน ๆ กันไปอย่างนั้นแหละ มีอะไรก็ขาย ขายจนจะหมดอยู่แล้วเนี่ย" ดาราตลกรุ่นใหญ่หัวเราะ

ป๋าเทพ ยังวิจารณ์ถึงภาคการเกษตรด้วยว่า
โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่เอารัดเอาเปรียบภาคการเกษตรอย่างมาก อย่างเช่นเขาเองก็ล้มเหลวมาหลายครั้ง ต้องดิ้นรนมาโดยตลอด แต่ก็ไม่เคยถอดใจและไม่คิดว่าที่่ผ่านมาคือความล้มเหลว แต่เป็นการเรียนรู้ที่ในชีวิตหนึ่งเกิดมาแล้วต้องกระโดดโลดเต้นให้เต็มที่ และคือกำไรชีวิตที่ประเมินมูลค่าไม่ได้







หมอเขียว บนเส้นทางแพทย์วิถีพุทธ


ใจเพชร กล้าจน เป็นที่รู้จักในนาม "หมอเขียว" ซึ่งรักษาอาการป่วยด้วยวิถีแห่งพุทธศาสนา ปัจจุบัน หมอเขียว ต้องรับภาระในการอบรมคนจำนวนมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คนเราป่วยกันมากขึ้นเนื่องจากการใช้ชีวิตอย่างไม่สมดุล ซึ่งเขาก็ได้แนะนำให้ศึกษาคำสอนของพระพุทธองค์ช่วยบำบัด

ส่วนการออกแบบหลักสูตร "แพทย์ทางเลือกวิถีธรรม" ที่เขาเคยตั้งเป้าหมายไว้นั้น หมอเขียว บอกว่า ต้องชะลอแผนนี้ไว้ก่อน เพราะมีปัญหาหลายเรื่อง และกลัวองค์ความรู้จะเพี้ยน อีกทั้งยังไม่ต้องการให้คนมาเรียนวิชานี้ เพียงเพื่อได้รับประกาศนียบัตรรับรอง แต่ไม่ได้ตั้งใจนำไปใช้ช่วยเหลือคนสมกับเป็น "แพทย์วิถีธรรม" ที่มีคุณธรรมจริง ๆ







ชุดปฏิบัติการเหยี่ยวดง ทีมเก็บกู้ระเบิดแห่งบางนรา

เสียงระเบิดดังสนั่นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2554 เกือบจะพรากเอาชีวิตของร้อยตำรวจตรีแชน วรงคไพสิฐ และลูกทีมเหยี่ยวดงผู้กล้าแห่งบางนราไป แต่โชคดีที่พวกเขาปลอดภัย และทำงานต่อทันทีที่ลุกขึ้นจากเตียง เหตุการณ์ในวันนั้น ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างกับทีมกู้ระเบิดแห่งนราธิวาส เพราะล่าสุด ทีมของดาบแชนได้รับอนุมัติอุปกรณ์ที่ทันสมัยขึ้นที่จะช่วยให้เขาและลูกทีมมั่นใจในความปลอดภัย เมื่อต้องลงสนามผจญกับระเบิด












ดาบแชน ยอมรับว่า หลังจากออกรายการทีวี ก็ทำให้ทีมเหยี่ยวดงเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทำให้เกิดการปรับโครงสร้างรูปแบบของทีมใหม่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนั้นแล้ว ยังมีประชาชนร่วมด้วยช่วยเหลืออย่างมาก อย่างบริษัทเอกชนที่ทำเกี่ยวกับเครื่องตัดสัญญาณถึงกับเดินทางมานำรถไปติดตั้งเครื่องตัดสัญญาณให้ใหม่ ทั้งที่ราคาสูงมาก แต่ทุกสิ่งก็เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมผู้กล้าแห่งบางนรา ทำเอาพวกเขาซาบซึ้งใจไม่น้อย และหากใครถามว่า "เมื่อไรจะปลดระวาง" หัวหน้าทีมเหยี่ยวดงก็ตอบอย่างชัดเจนว่า

"ถ้าเหตุการณ์ยังเป็นแบบนี้ก็ยังอยากทำงานอยู่ เพราะพี่อยากให้บ้านพี่กลับมาเหมือนเดิม"








ตุ๊หล่าง ผู้รักศรัทธาอาชีพชาวนา

แก่นคำหล้า พิลาน้อย หรือ ตุ๊หล่าง เขาเป็นเด็กหนุ่มลูกอีสานชาวจังหวัดยโสธร ที่ตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่กับพื้นที่สีเขียวอย่างเต็มตัว ด้วยความรักและเคารพในอาชีพ "ชาวนา" ซึ่งเป็นกำลังหลักของสังคมและโลกใบนี้ เจ้าตัวเน้นการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง และมุ่งมั่นพัฒนาการเกษตรให้ดีขึ้น ปัจจุบัน ชายหนุ่มวัยสามสิบก็ยังคงพัฒนาการเกษตรอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องระบบการปลูกข้าว กระจายข้าวพันธุ์พื้นเมืองไปยังชาวบ้าน เพื่อไม่ให้ข้าวสูญพันธุ์

นอกจากนั้น ตุ๊หล่าง ยังอดแสดงความเป็นห่วงไม่ได้ว่า ในภายภาคหน้าหากเกิดวิกฤติใด ๆ ขึ้นในประเทศ รวมทั้งการเปิดประตูสู่การค้าเสรีอาเซียน พืชพันธุ์พื้นเมืองอาจถูกตีด้วยพืช GMO จนหมด โดยเฉพาะพันธุ์ข้าวที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษที่ให้ผลผลิตในปริมาณพอเพียงกับการใช้ในครัวเรือน คงจะสูญพันธุ์หมดแน่ เมื่อระบบทุนนิยมเข้ามามากขึ้น ทำให้คนมุ่งเน้นการเพาะปลูกที่ได้ปริมาณมากกว่าคุณภาพ และนอกจากเรื่องนี้แล้ว เรื่องอุทกภัยก็เป็นสิ่งที่น่าห่วงเช่นกัน

"น้ำท่วม เข้าใจนะ...ที่ลุ่มภาคกลางเสี่ยงน้ำท่วม วิกฤตินี้จะต้องวางแผนพัฒนาพันธุ์ข้าว วางแผนการปลูกข้าว เพราะในหน้าแล้งน้ำจะขาดอีก แต่เราจะเอาประโยชน์จากวิกฤติได้หรือเปล่า" ตุ๊หล่าง ทิ้งท้ายอย่างน่าคิด

แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านไปเท่าใด แต่สำหรับคนต้นแบบจากปกนิตยสาร ฅ ฅน ก็ยังคงมีทัศนคติที่ไม่ต่างไปจากเดิม ขณะที่บางคนอาจจะมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ก็เป็นไปในทางที่ดีขึ้น มีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น เชื่อว่าเรื่องราวของทุกคน คงเป็นบทเรียนแห่งชีวิตให้อีกหลาย ๆ ชีวิตได้ดีทีเดียว





ขอขอบคุณข้อมูลจาก



  • Kapook





  •  

    Create Date : 27 มกราคม 2555
    0 comments
    Last Update : 27 มกราคม 2555 20:41:53 น.
    Counter : 5890 Pageviews.

    ชื่อ :
    Comment :
      *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
     


    สาว17
    Location :
    ลูกสาวเมืองสิงห์ Germany

    [ดู Profile ทั้งหมด]

    ฝากข้อความหลังไมค์
    Rss Feed
    Smember
    ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




    Color Codes ป้ามด







    เพื่อรักษาไว้ซึ่งชีวิตครอบครัว
    มีบางครั้งที่เราต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ
    มีบ้างบางครั้งที่เราต้องเลิกทำในสิ่งที่ชอบ
    เพื่อความก้าวหน้าของชีวิตครอบครัว
    มีบ่อยครั้งที่เราต้องรู้จักใช้สติ
    ต้องรู้จัก อดทน และให้อภัย
    ดูอย่างต้นไม้ซิ
    มันไม่เคยที่จะผืนลิขิตของฤดูกาล
    มันไม่คิดจะขัดธรรมชาติ
    เมื่อถึงคราวต้องทิ้งใบก็ยินยอมแต่โดยดี
    อดทนและอดทน
    เพื่อผลิใบ และดอกผลเมื่อฝนมา
    เพราะเมื่อเวลามาถึงทุกสิ่งจะดำเนินไป
    ชีวิตที่เรียบง่ายคือชีวิตที่มีสุข








    Free Hit Counter ทีเว็บมาสเตอร์ รวมพลคนทำเว็บ
    Google
    New Comments
    Friends' blogs
    [Add สาว17's blog to your web]
    Links
     

     Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.